ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปัญหาของราษฎรเรื่องการยึดแย่งที่ดินและกรณีบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

11
เมษายน
2567
ภาพชาวนาในทุ่งรังสิตสมัยบุกเบิกยังไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ทำนา
ที่มา : หนังสือประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457
โดย สุนทรี อาสะไวย์

 

ปัญหาของราษฎรจากการยึดแย่งที่ดินของชาวนาและเกษตรกรไทยมีมากว่าศตวรรษโดยเฉพาะที่ทุ่งรังสิตนับตั้งแต่ทศวรรษ 2430 กรณีบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจนถึงทศวรรษ 2560 ในมือของกลุ่มทุนและพรรคการเมือง และปัญหาชาวนาสยาม และการแย่งยึดที่ดินก่อนการอภิวัฒน์คือสิ่งที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนตระหนักรู้ตั้งแต่วัยเยาว์จากเรื่องที่นาของครอบครัวและเพื่อนบ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนพัฒนาความคิดความรู้และวางแผนที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความไม่เสมอภาคในสังคมสยามผ่านการอภิวัฒน์ 2475

 

ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของชาวนาในทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์

 

ความคิดและความสนใจเรื่องปัญหาชาวนาของนายปรีดี พนมยงค์ ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วัยเด็กปรีดี เล่าว่า

“เมื่อเริ่มจำความได้ก็เห็นเคหสถานของครอบครัวที่ตกทอดมาจากปู่ย่า ซึ่งแสดงความเป็นครอบครัวที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ผู้มีอันจะกิน” เปรียบเทียบได้กับการแบ่งชนชั้นที่นักวิชาการสมัยใหม่เรียกว่า “นายทุนชั้นกลาง” ...มิใช่นายทุนสมัยใหม่ (Modern Capitalist)...

ปู่ย่าผมมีบุตรชายหญิงหลายคน ซึ่งได้รับส่วนแบ่งมรดกไปประกอบอาชีพ... บิดาผมเลือกอาชีพทำนา จึงประสบชะตากรรมอย่างชาวนาซึ่งกระทบถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว

ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป...”

ก่อนจากสยามไปศึกษาต่อยังฝรั่งเศสทางนายปรีดีได้เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วพบว่าที่นาของครอบครัวราว 200 ไร่ นั้นประสบปัญหา ได้แก่ บิดาทำนาคนเดียวไม่ไหว บางปีจึงให้เช่า หรือต้องเสียค่ากรอกนา ไร่ละ 4 บาท และยังถูกขโมยควาย นาของบิดาปรีดีที่วังน้อยเป็นนาฟางลอย ซึ่งเสียค่านาอยู่ที่ขั้นเบญจะหมายถึง วัดค่านาจากเท่าที่ทำนาได้แล้วเก็บไร่ละสลึง เพราะบริเวณนั้นดินเปรี้ยวมากจึงทำนาไม่ค่อยดี[1]

นายปรีดียังได้บันทึกอุปสรรคในการเป็นชาวนาบิดาไว้ในเวลาต่อมาว่า

นายเสียงได้ทําการหักร้างถางพงที่ว่างเปล่าที่ตําบลอู่ตะเภา ในสมัยที่ทุ่งบริเวณนั้นมีช้างป่าก่อนที่ทางราชการจัดตั้งอําเภออุทัยน้อย (ปัจจุบันอําเภอวังน้อย) นายเสียงได้ทํานาในที่หักร้างไว้นั้นโดยต้องทําการต่อสู้ช้างที่มารบกวนคอยกินต้นข้าว การทํานาไม่ได้ผลเพราะฝนแล้งบ้าง หรือบางปีมีน้ําท่วมมากบ้าง อีกทั้งมีเพลี้ยคอยรบกวนต้นข้าว ครั้นต่อมาบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลทําการขุดคลองได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่ดินซึ่งนายเสียงหักร้างไว้นั้น นายเสียงก็จําต้องจ่ายเงินให้บริษัทเป็นค่าขุดคลองตามอัตรา นายเสียงไม่มีเงินของตนเองจึงจําต้องยืมเงินผู้อื่นมาจ่ายให้บริษัท ซึ่งทําให้นายเสียงมีหนี้สินที่มีอยู่แล้วเนื่องจากการทํานาไม่ได้ผลฐานะของนายเสียงได้เปลี่ยนจากนายทุนน้อยในเมืองมาเป็นชาวนาผู้มีทุนน้อยในชนบทที่กําลังอัตคัดขัดสนมีหนี้สินยิ่งขึ้น

นายเสียงต้องต่อสู้กับการอัตคัดมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งโครงการชลประทานป่าสักใต้ของรัฐบาลขยายไปถึงบริเวณที่นาของนายเสียงจึงช่วยให้นายเสียงกลับฟื้นเป็นชาวนานายทุนน้อยแห่งชนบท

ส่วนปัญหาเรื่องบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามกับครอบครัวของนายปรีดีเกิดมาจากสมัยบิดาและนายฮ้อ ลุงของนายปรีดีได้ซึ่งมีกรณีที่ดินในเขตอำเภออุทัยต้องย้ายไปขึ้นกับอำเภอวังน้อยและต่อมาบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่บิดาและนายฮ้อบุกเบิกจับจองไว้โดยนายปรีดีชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องการแย่งยึดที่ดินจากบริษัทดังกล่าวต่อครอบครัวของตนไว้ว่า

“...ในสัมปทานที่รัฐบาลให้แก่บริษัทนั้น มีความว่าถ้าบริษัทได้ขุดคลอง ไปถึงที่ใดก็ให้ถือบริเวณ 40 เส้น ตั้งแต่ฝั่งคลองแต่ละฝั่งเป็นของบริษัทนั้น แต่บริษัทก็ให้สิทธิแก่ผู้จับจองไว้ก่อนแล้วที่เสียค่าขุดคลองในอัตราไร่ละ 4 บาท เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จับจองไว้ก่อนนั้น เจ้าคุณกรุง (พระยาไชยวิชิตฯ (นาค)) ในนามคุณแดงกับคุณซัน (บุตรชายอีกคนหนึ่งของเจ้าคุณไชยวิชิตฯ ซึ่งต่อมา ได้รับราชการเป็น ขุนวิวัฒนาการ) นายฮ้อ นายเสียงจึงต้องเสียเงินให้บริษัท คนละประมาณ 200 ไร่ นายเสียงมีความคิดที่จะปรับปรุงวิธีการทํานาให้ดีขึ้นหลายอย่าง เมื่อคิดอะไรได้ก็ไปกรุงเทพฯ เพื่อเรียนท่านเจ้าพระยายมราช (มหา อํามาตย์นายก อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ผู้ซึ่งเป็นบุตรเขยของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาสตรา)”

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

 


ม.ร.ว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ์

 

ก่อนที่นายปรีดีจะถึงแก่อสัญกรรมเพียง 1 ปี ยังได้อธิบายเรื่องบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามอย่างละเอียดแก่ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กับ ดร.กาญจนา แก้วเทพ ในระหว่างการสัมภาษณ์ที่บ้านชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525 ไว้อีกว่า

ผมขอพูดให้เข้าใจพื้นฐานของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม คือสมัยนั้น (พ.ศ. 2433 ในสมัยรัชกาลที่ 5) แถวบริเวณลุ่มแม่น้ําเจ้าพระยาส่วนที่ห่างฝั่งแม่น้ําไปไกลๆ นั้นยังมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า รัชกาลที่ 5 ได้ให้สัมปทานการขุดคลองแก่นายทุนหลายราย นอกจากบริษัทขุดคลองคูนาสยามแล้วก็มีผู้ได้สัมปทานขุดคลองพระยาบันลือ ฯลฯ เมื่อขุดคลองแล้ว ที่ดินทั้งสองฝั่งยื่นขึ้นไป 40 เส้น หรือ 30 เส้น ก็ได้ให้แก่เจ้าของบริษัทที่ขุดคลอง

ส่วนทุ่งรังสิตทั้งหมดซึ่งเดี๋ยวนี้เจริญแล้ว แต่ก่อนนี้เป็นทุ่งช้างจริงๆ ในปีที่ผมได้ทุนรัฐบาลไปเรียนฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2463 นั้น ก่อนจะจากสยามไป ผมได้ไปบ้านที่อยุธยาแล้วสังเกตกลางทุ่งนายังเห็นช้าง จําได้ตะคุ่มๆ โดยมากมันมักจะอยู่กัน 2 ตัว ถึงเวลาที่มีข้าวมันก็มากันหลายตัว บริษัทขุดคลองคูนาสยามนี้ตั้งโดย 3 หุ้นใหญ่ หุ้นหนึ่งคือพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และ ม.ร.ว.สุวพันธ์ ลูกคนโตของพระองค์เจ้าสาย และพระปฏิบัติราชประสงค์เป็นชาวเยอรมันชื่อมูลเลอร์ (นายเออร์ วิน มูลเลอร์ ผู้ก่อตั้งห้าง บี.กริม) แต่ว่าใครที่ไปจับจองอยู่แล้ว เช่นบิดาผม ลุงผม ท่านไปไล่ช้าง ผมก็เกิดแล้วแต่คลับคล้ายคลับคลา การจับจองที่ดินว่างเปล่าต้องต่อสู้กับช้าง เมื่อบริษัทขุดคลองฯ ไปแล้วยื่นขึ้นไป 2 ฝั่งคลองก็ คือเป็นที่ของบริษัทใครจับจองอยู่แล้วก็เสีย “ค่ากรอกนา” ไร่ละ 4 บาท เรื่องเป็นเช่นนี้ บิดาผมจึงได้มีที่ดินอยู่ที่นั่น แต่ว่านาตั้ง 200 ไร่ ทําคนเดียวก็ไม่ไหวก็ให้เขาเช่าไปบางปี ทีแรกก็ทํานาเอง บิดาผมมีควาย 5-6 ตัว ผมยังจําได้ว่า ขโมยเอาไปหมดเลย ชาวนาเดือดร้อนหลายอย่าง รวมทั้งขโมยควาย[2]

จากประสบการณ์ข้างต้นนายปรีดีพบว่าปัญหาหลักของชาวนาในสยามคือ การแย่งยึดที่ดินและไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจากทั้งส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นซ้ำยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นายปรีดีสนใจเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสยามโดยเริ่มศึกษาการปฏิรูปจากระบบรัฐสภาของอังกฤษ เป็นต้น รวมทั้งสนใจบทบาทและหน้าที่ตำรวจชาวนาของฝรั่งเศสจนได้เขียนปาฐกถาเรื่องตำรวจชาวนาขึ้นขณะที่เรียนอยู่กรุงปารีส และต่อมานายปรีดีได้ลงเรียนวิชาเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองจนกลายมาเป็นรากฐานความคิดในการอภิวัฒน์เพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างชนชั้นและเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตามปฏิญญาที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

เรื่องการยึดแย่งที่ดินและกรณีบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม

 


พระบรมราชโองการ ประกาศบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม
๒๘ ตุลาคม ๒๔๔๒

 

บริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด (Siam Canals, Lands and Irrigation Company) เป็นบริษัทเอกชนที่จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2431 ในชื่อ กอมปนีขุดคลองแลคูนาสยามเพื่อดำเนินงานขออนุญาตขุดคลองตามโครงการรังสิต ในระยะแรกมีผู้ร่วมหุ้น 4 คน คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค), นายโยคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี และนายยม (เจ้าสัวยม พิศลยบุตร) หรือหลวงสาทรราชายุตก์ หากต่อมาเจ้าสัวยมไม่ได้เข้าร่วมดำเนินงาน และมี ม.ร.ว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทนโดยมีนายโยคิม แกรซี เป็นผู้จัดการบริษัทฯ

บริษัทได้รับหนังสือสัญญาพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองรังสิต วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2431 ให้บริษัททำการขุดคลองได้เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2431 ข้อ 8 ระบุว่าบริษัทจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐบาลโดยคิดจากส่วนกำไรที่บริษัทได้รับร้อยละ 20  รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทขุดคลองสายแรกคือใน พ.ศ. 2433 โดยบริษัทได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของกรรมสิทธิ์ที่ดินสองฝั่งคลองที่ขุดตลอดทั้งลำคลอง บริษัทได้ใช้เครื่องจักรและแรงงานคนในการขุดคลองตั้งแต่ พ.ศ. 2433-2439  ในระหว่างปี 2444–2447 สามารถขุดคลองได้มากเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 3,000 เส้น และลดลงในปีต่อๆ มา

โครงการสำคัญของบริษัทฯ นี้ อาทิ การก่อสร้างระบบคลองในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดปทุมธานีที่เรียกว่า ทุ่งรังสิต โดยขุดคลองสายใหญ่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงไปยังแม่น้ำนครนายก และยังสร้างประตูระบายน้ำสำหรับควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูกและสร้างประตูเรือสัญจรเพื่อการคมนาคม กระทั่ง พ.ศ. 2447 บริษัทฯ นำเงินจากผลกำไรจากการขุดคลองที่ทุ่งรังสิตไปลงทุนขุดคลองในโครงการทุ่งนครนายก เป็นต้น

 


คลองรังสิตขุดขึ้นครั้งแรกโดยบริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม

 

จากประวัติย่อของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม เราแทบจะไม่ทราบรายละเอียดสำคัญและไม่เห็นความทุกข์ยากของราษฎรสามัญที่เกิดขึ้นในยุคนั้นแต่เมื่อศึกษาจากงานวิชาการและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประกอบกันจะพบข้อสังเกตบางประการที่เป็นปัญหาพื้นฐานของโครงสร้างเศรษฐกิจและความไม่เสมอภาคในสังคมไทยดังต่อไปนี้

 


ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม
ขอรับตราจองนาตำบลคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ๑๙ มกราคม ๒๔๔๓

 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ เสนอการวิเคราะห์เรื่องการขุดคลองและเจ้าที่ดินก่อนและหลังการตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามไว้ว่าในทศวรรษ 2410 ตัวเร่งกระบวนการจับจองที่ดินในสยามมาจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ต้องการข้าวส่งออกจากสยามมีสูงจนทำให้ที่ดินในการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะรอบจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคนมาจับจองจำนวนมาก และการขุดคลองใหม่ขึ้นก็ทำให้เกิดการจับจองที่ดินเช่นเดียวกัน และเศรษฐกิจการส่งออกข้าวนี้ได้นำไปสู่ระบบเจ้าที่ดินและผู้เช่านาโดยขุนนางและสมาชิกราชวงศ์ได้ลงทุนขุดคลองและสร้างระบบการผลิตขึ้นภายใต้เจ้าที่ดินขนาดใหญ่

กระทั่งใน พ.ศ. 2420 ได้มีประกาศของรัฐบาลได้กำหนดให้ทางการเป็นผู้จัดการโครงการขุดคลอง และจัดแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งให้ประชาชนจับจองโดยเฉพาะ และมีระเบียบบางประการระบุว่า “ชาวบ้านอาจจะได้ที่ดินโดยการซื้อหรือเอาแรงงานมาแลกโดยมาช่วยขุดคลองเพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน”

ทั้งนี้ ปรากฏว่านโยบายของรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรื่องที่ดินนั้นทางพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานที่ดินดีที่สุดในเขตบุกเบิกใหม่แก่เจ้านายและขุนนางจำนวนมาก และยังถือครองที่ดินเป็นแนวตามคลองที่ขุดใหม่อีกด้วยซึ่้งขุนนางท่านสำคัญที่ได้รับการพระราชทานที่ดินหรือสัมปทานที่ดิน อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และหุ้นส่วนได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามขึ้นเพื่อขุดคลองรังสิตและจากความสำเร็จของการขุดคลองรังสิตจึงเป็นต้นแบบให้เจ้านายท่านอื่นๆ เสนอโครงการขุดคลองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินและทำกำไรในกรุงเทพฯ อาทิ พ.ศ. 2442 กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเสนอโครงการขุดคลองและพัฒนาที่ดินกว่า 360,000 ไร่ทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ

 


ประกาศอนุญาตขุดคลอง ๖ มิถุนายน. ๒๔๓๔

 

โครงการขุดคลองระหว่างทศวรรษ 2400 และทศวรรษ 2440 นั้นจะมีการถือครองที่ดินและโครงการขุดคลองโดยสมาชิกราชวงศ์และตระกูลใหญ่อาทิ สนิทวงศ์ ได้ครอบครองที่ดินผืนใหญ่จำนวนมาก[3] นอกจากนี้เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่สามารถจัดดำเนินการกับที่ดินของเขาได้สองวิธี วิธีแรก ใช้แรงงานของทาสสินไถ่ บ่าวไพร่ และแรงงานเท่าที่จำเป็นเพื่อหักร้างถางพงทำการเพาะปลูก เช่นวิธีของพระยาไชยวิชิตที่ซื้อที่ดินจำนวน 720 ไร่ทางตอนเหนือของคลองรังสิตใน พ.ศ. 2437 แล้วมอบให้แก่ทาสสินไถ่กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ทำ และวิธีที่สอง เจ้าที่ดินเข้าไปดำเนินการปรับปรุงที่ดินเอง อาทิ กรณีที่ ม.ร.ว.ถัด สีหศักดิ์สนิทวงศ์ ชุมสาย หลานของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และ ม.ร.ว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ได้เข้าไปดำเนินการและอยู่อาศัยในที่ดินเอง และตื่นเช้าเพื่อมาดูแลคนงานเนื่องจากมีทัศนคติว่า ไร่นาเปรียบเสมือนครอบครัว[4]

 


บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามดำเนินการขุดคลองที่รังสิต

 

ย้อนกลับไปยุคก่อนการขุดคลองจะพบว่าสังคมชนบทในเขตรังสิตมีชาวนาอยู่จำนวนไม่มากนักและส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโดยจะเช่านาจากเจ้าของที่ดินทำเป็นรายปีไปและชาวนาที่เข้ามาทำนาในโครงการรังสิตมีปัญหาหลักอยู่ที่ไม่มีทุนและที่ดินในการทำนาทำให้เริ่มมีหลักฐานของการกู้ยืมเงินจากผู้ที่มีฐานะดี ขณะที่ในงานศึกษาเรื่องประวัติคลองรังสิตของสุนทรี อาสะไวย์ ได้เสนอให้เห็นการจัดสรรที่ดินโดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ตามเงื่อนไขของสัญญาขุดคลองที่บริษัทได้ทํากับรัฐบาลกรรมสิทธิ์ในที่ดินของบริษัทไว้ ในข้อ 4 มีใจความสำคัญในเรื่อง สัญญาพระบรมราชานุญาตขุดคลอง พ.ศ. 2431 ดังต่อไปนี้

1. ในการที่บริษัทขุดคลองด้วยทุนของบริษัทๆ มีสิทธิที่จะจับจองที่ริมฝั่งคลองฝั่งละ 40 เส้น นับตั้งแต่วันที่ได้ลงมือขุดคลองทั้งนี้เฉพาะในที่ที่ไม่มีผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของหวงห้ามไว้เดิม

2. ที่ดินดังกล่าวผู้ใดจะเข้ามาจับจองโดยบริษัทไม่อนุญาตไม่ได้ และบริษัทมีสิทธิที่จะขายที่นั้นให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ตามต้องการ

และสัญญาอนุญาตขุดคลองรังสิต พ.ศ. 2433 ข้อ 2, 3 และ 4 มีใจความว่า

1. ถ้าบริษัทขุดคลองผ่านที่ไร่นา เรือกสวนของราษฎรผู้ใด ซึ่งมีโฉนดตราจอง มีเจ้าของหวงห้ามอยู่ ถ้าบริษัทต้องการที่ให้ตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ห้ามมิให้อ้างอํานาจที่ได้รับอนุญาตยึดเอาที่เปล่าๆ หรืออ้างอํานาจอื่นที่ผิดจากความยุติธรรม ยกเว้นในที่กว้าง 6 วา ซึ่งจะขุดคลองเท่านั้นที่เจ้าของจะขัดขวางไม่ได้

2. ที่ที่บริษัทขุดคลอง บริษัทจะหวงห้ามจับจองไว้ได้ตั้งแต่ลงมือขุดคลอง และจะต้องรับโฉนดตราสารตามพระราชบัญญัติ และจะหวงห้ามที่ไว้ได้ตามกําหนดอายุตราจองตามพระราชบัญญัติเท่านั้น

3. ผู้รับที่ดินต่อจากบริษัท ถ้าบริษัทยังไม่ได้รับโฉนด ให้ผู้นั้นรับโฉนดจากเจ้าพนักงาน ถ้าบริษัทได้รับโฉนดตราสารไว้แล้ว ผู้รับที่ดินต่อจะต้องนําโฉนดมาสลักหลังกระทรวงเกษตรฯ ลงทะเบียนต่อเจ้าพนักงานจึงจะมีสิทธิหวงห้ามที่ดินต่อไป

จากสัญญาข้างต้นทำให้บริษัทได้ค่าตอบแทนในการขุดคลองจากสิทธิการจับจองหวงห้ามที่ดินริมฝั่งคลองไว้ในส่วนไม่มีผู้ใดจับจอง แต่ในส่วนที่มีผู้จับจองไว้แล้วเดิมทางบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากรัฐบาลมองว่าการขุดคลองเป็นประโยชน์ หากกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะเป็นของบริษัทอย่างสมบูรณ์ต่อเมื่อบริษัทรับโฉนด คือหนังสือสําหรับที่จากรัฐบาล ซึ่งจะต้องเป็นไปตามแบบของการจับจองโดยทั่วไป 

 


รายชื่อเจ้าของที่ดินซึ่งมีหลักฐานว่าได้ซื้อที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม

 

จากหลักฐานเรื่องการจัดสรรที่ดินพบว่า บริษัทจัดการแบ่งและขายที่ดินได้ก่อนที่ทางบริษัทจะเริ่มขุดคลองโดยทางบริษัทได้ใช้วิธีประกาศชักชวนให้คนมาลงชื่อเพื่อจับจองและจ่ายเงินให้แก่บริษัท ซึ่งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามเรียกว่า “ช่วยเสียค่าขุดคลองกรอกทีดิน

บริษัท ใช้วิธีการให้ผู้ซื้อดังกล่าวผ่อนชําระเงินให้ แก่บริษัทเป็นงวด เช่น ประกาศบริษัทในปี พ.ศ. 2442 และ 2445 ได้กําหนดว่าค่าขุดคลองนี้ (คลองขนาด 5 วา) จะไม่เกินไร่ละ 4 บาท บริษัทจะเรียกเงินมัดจําครั้งแรกเมื่อผู้ซื้อมาลงชื่อในแผนที่ที่ดินของบริษัท เมื่อบริษัทเริ่มตั้งเครื่องจักรเพื่อลงมือขุดคลอง 1 บาท และส่วนที่เหลือจะเรียกเก็บเมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ

สุนทรีวิเคราะห์ว่า การจัดสรรที่ดินโดยบริษัทในลักษณะนี้เป็นการจัดการของบริษัทโดยตรงที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การจะทําให้ผู้ซื้อมั่นใจในสิทธิของตนเหนือที่นั้น และมีหลักฐานที่จะยึดถือเพื่อแสดงสิทธิของตน บริษัทจึงทําหนังสือชนิดหนึ่งให้เมื่อมีการชําระเงินในการขายที่ดังกล่าว เรียกว่า ใบกรอก ใบตรอกหรือตัวกรอก ซึ่งผู้ซื้อจึงยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่นั้นอย่างสมบูรณ์โดยจะมีสิทธิได้ก็ต่อเมื่อบริษัทขุดคลองเสร็จและรัฐบาลจัดการออกตราจองให้แก่บริษัท หรือให้แก่ ผู้ซื้อในที่สุด[5]

ผลจากการจัดสรรที่ดินโดยรัฐบาลและโดยบริษัทดังกล่าวทําให้มีการออกหนังสือ สําคัญเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายชนิดจนเกิดความสับสนในทางปฏิบัติ มีการออกหนังสือทับซ้อน เกิดความไม่ชอบธรรมและเป็นสาเหตุของการวิวาทอ้างสิทธิในที่ดิน ที่สำคัญคือ ทำให้ราษฎรเจ้าของที่ดินเดิมเกิดความเดือดร้อน

 

คดีการวิวาทในที่ดิน ชายชุดดำ และปัญหาความเหลื่อมล้ำก่อนการอภิวัฒน์

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดสรรที่ดินจนนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินก่อนระยะที่รัฐบาลจัดให้มีการออกโฉนดแผนที่อันเป็นหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่มั่นคง เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2444 พบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติโดยเฉพาะโครงการขุดคลองที่ทุ่งรังสิต

ปัญหาวิวาทสำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่ เรื่องหนังสือสําคัญสําหรับที่ดิน ในขณะนั้นคือตราจองรัฐบาลจัดออกให้ปีละ 1 ครั้ง เมื่อมีการประเมินนาเพื่อเรียกเก็บภาษี เมื่อการเก็บภาษีเสร็จสิ้นก็หยุดออกตราจอง การออกตราจองทําได้ไม่ทั่วถึง ราษฎรที่ต้องการได้ที่ในระยะที่ไม่มีการจัดออกตราจองจึงทําได้เพียงใบเหยียบย่ําของ กํานัน ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปี หรือไม่ก็ทํามาหากินไปโดยไม่มีหนังสือส่งผลให้ราษฎรจำนวนหนึ่งขาดหลักฐานการอ้างสิทธิในที่ดินของตนจากบริษัทฯ ที่ขุดคลองจนเกิดเป็นคดีวิวาทขึ้น

สุนทรีเสนอว่ามีกลุ่มวิวาทเรื่องการจัดสรรที่ดินที่สืบเนื่องมาจากการขุดคลองแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1  กลุ่มผู้มีบรรดาศักดิ์ กลุ่มที่ 2 กลุ่มราษฎรถือใบตรอกของบริษัท และกลุ่มที่ 3 กลุ่มราษฎรสามัญที่ไม่มีใบสำคัญ ไม่มีพรรคพวก และถูกทำร้ายร่างกาย อาทิ กรณีชายชุดดำทำร้ายราษฎรสามัญในยุคนั้น เป็นต้น

ตัวอย่างคดีวิวาทเรื่องยึดแย่งที่ดินของราษฎรอาทิ คดีพระเสวีนรานุการ (พ.ศ. 2433-2442) มีสาเหตุมาจากการจัดออกตราจองของรัฐบาลในเขตเมืองปทุมธานี ใน พ.ศ. 2433 สมัยที่พระเสวีนรานุการเมื่อครั้งเป็นหลวงภักดีรณชิตได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงเสนาประจําปี พ.ศ. 2432 ออกรังวัดเก็บค่านาและออกตราจองในเขตนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เขตที่จัดออกตราจองดังกล่าวซึ่งได้รวมเอาบริเวณที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ขุดคลองเข้าไว้ และขณะที่ไปออกตราจองก็เป็นเวลาใกล้เคียงกับที่การเริ่มขุดคลองของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขุดคลองตามหนังสืออนุญาต วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 และได้รับอนุญาตให้ปักกรุยเขตคลองตามท้องตราของกระทรวงเกษตรฯ ถึงกรมการเมืองปทุมธานีลงวันที่เดียวกัน

และการออกตราจองของพระเสวีตามคําให้การของขุนกลางกรมการเมืองปทุมฯ ซึ่งเป็นผู้กํากับข้าหลวงออกรังวัดบอกว่าเริ่มออกตราจองเมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2433 ถ้าพิจารณากําหนดวันทั้งสองนี้ พระเสวีก็มีสิทธิที่จะออกตราจองได้ เมื่อเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบสวน ปรากฏในคําให้การของพระพิทักษ์ นายเปีย และพระเสวี ต่างยืนยันว่า ไม่ทราบเรื่องที่บริษัทได้รับอนุญาตขุดคลองแน่ชัด ส่วนราษฎรก็ให้การว่าได้ถือใบเหยียบย่ําอยู่ก่อน เมื่อถึง พ.ศ. 2433 กํานันป่าวร้องให้ไปขอรับตราจองจึงไปรับ และยืนยันว่าได้ทํานาแล้วใน พ.ศ. 2433 ท้ายที่สุดคณะกรรมการฯ ครั้งนั้นตกลงเห็นพ้องกันว่า ตราจองที่ราษฎรนํามายื่นนั้นเป็นตราสุจริตเพราะมีอายุแก่วันกว่าหนังสืออนุญาตขุดคลอง ทั้งนี้โดยถือเอาวันที่ออกหนังสืออนุญาตขุดคลอง คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นวันเริ่มที่บริษัทจะมีอํานาจหวงห้ามที่ดินได้ตามสัญญาจึงตัดสินคดีในปี พ.ศ. 2439 ให้ถือว่า ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ในที่นานั้นถูกต้องตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยที่นาและสัญญาขุดคลอง

อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตในการตัดสินครั้งนี้คือ แม้กรรมการฯ จะตัดสินให้ราษฎรชนะคดีแต่โดยความเห็นส่วนตัวเองทางกรรมการฯ เห็นว่าเจตนาในการออกตราจองของพระเสวีครั้งนี้ไม่สู้สุจริตนัก ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ถึงกรมหมื่นสมมติฯ ว่า “พระยาวรเดชแจ้งออกมาเองว่า ผู้ไปจับจองนาได้จองก่อนบริษัทลงมือขุดคลองเพียงเดือนเดียว เป็นการจองดักหน้าตรงๆ แต่ครั้นจะตัดสินไปตามความจริงใจ ก็เกรงอยู่ด้วยไม่มีหลักจึงได้ตัดเอาวันอนุญาตเป็นหลัก”

ต่อมาปรากฏว่า คําตัดสินของคณะกรรมการไม่เป็นที่พอใจของบริษัท เพราะจะมีผลถึงการออกตราจองของพระเสรีรายอื่นๆ ในเขตรังสิตด้วยใน พ.ศ. 2440 บริษัทจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา กล่าวโทษคําตัดสินของคณะกรรมการฯ ดังนี้จะเห็นได้ว่าการยึดแย่งที่ดินมิใช่เป็นเพียงปัญหาระหว่างชนชั้นนำกับราษฎรสามัญเท่านั้นแต่ยังมีความละเอียดอ่อนในแง่ของคดีวิวาทที่ชี้ให้เห็นว่ามีความไม่ลงรอยกันระหว่างทัศนะของสมาชิกในราชวงศ์ ชนชั้นสูง และศาลผู้ตัดสินคดีความฯ อีกด้วย[6]

 


ที่มา: โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Dr. Robert Larimore Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ทางดินและการเกษตร ชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น. University of Wisconsin-Milwaukee Libraries

 

จากอดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 1 ศตวรรษ ปัญหาชาวนาโดยเฉพาะการยึดแย่งที่ดิน ณ ทุ่งรังสิต สะท้อนปัญหาของเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ในประเทศไทยว่ายังคงเป็นวัฏจักรที่ชาวนายังยากไร้ ไร้ที่ดินทำกินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ ถูกขูดรีดค่าเช่าที่นาและนำไปสู่ข้อพิพาทกับนายทุนและอำนาจรัฐ รวมทั้งการถูกใช้ความรุนแรง อาทิ การถูกลอบสังหาร หรือถูกจับกุมคุมขังอย่างอยุติธรรม และที่ดินราษฎรในยุคปัจจุบันได้ถูกแย่งยึดจากนายทุนและนักการเมืองที่สังกัดพรรคการเมืองเป็นการส่งต่อความไม่เป็นธรรมและสะท้อนให้เห็นปัญหาการยึดแย่งที่ดินของเกษตรชาวนาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

 

ภาพประกอบ: ราชกิจจานุเบกษา สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุนทรี อาสะไวย์ และ University of Wisconsin-Milwaukee Libraries

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง ที่ดินตำบลคลองหกวาฝั่งเหนือคลองรังสิตประยุรศักดิ์ ๒๙ ธ.ค. ๒๔๔๓, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๔๐, หน้า ๕๖๒.
  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ขอรับตราจองนาตำบลคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ๑๙ ม.ค. ๒๔๔๓. เล่ม ๑๗, ตอนที่ ๔๓, หน้า ๖๐๙-๖๑๒.
  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง ที่ดินบริษัทขุดคลองและคูนาสยามลิมิเตด ๑๓ พ.ย. ๒๔๕๘, เล่ม ๓๒, หน้า ๑๘๒๐.
  • ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขุดคลอง ๑๔ ธ.ค. ๒๔๕๕, เล่ม ๒๙ ง, หน้า ๒๑๒๑.
  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ขอรับตราจอง ตำบลคลองซอยต่างๆ แห่งคลองรังสิต ๙ เม.ย. ๒๔๔๗. เล่ม ๒๑, ตอนที่ ๒, หน้า ๑๙.
  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ขอรับตราจองนาตำบลคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ๑๙ ม.ค. ๒๔๔๓. เล่ม ๑๗, ตอนที่ ๔๓, หน้า ๖๐๙-๖๑๒.
  • ราชกิจจานุเบกษา. พระบรมราชโองการ ประกาศบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ๒๘ ต.ค. ๒๔๔๒. เล่ม ๑๖, ตอนที่ ๓๑, หน้า ๔๔๗-๔๔๙.
  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศอนุญาตขุดคลอง ๖ มิ.ย. ๒๔๓๔, เล่ม ๘, ตอนที่ ๑๐, หน้า ๘๐-๘๒.
  • ราชกิจจานุเบกษา. หนังสืออนุญาตขุดคลอง ๒๓ พ.ค. ๒๔๓๔. เล่ม ๘,  ตอนที่ ๘, หน้า ๖๕.
  • ราชกิจจานุเบกษา. สัญญาพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลอง ๙ พ.ค. ๒๔๓๔. เล่ม ๘, ตอนที่ ๖, หน้า ๔๒-๔๖.

หนังสือภาษาไทย :

  • คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525)
  • เจมส์ ซี. อินแกรม, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970, แปลโดย ชูศรี มณีพฤกษ์ และเฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)
  • เดวิด บรูซ จอห์นสตัน, สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ. 2423-2473 แปลโดย พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม และคณะฯ (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530)
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก, 2542)
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
  • ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ พิมพ์ครั้งที่ 3 (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2546)
  • เฟรด เพียซ, นักแย่งยึดที่ดิน: การต่อสู้ครั้งใหม่ ใครคือเจ้าของผืนดิน แปลโดย กิตติพล เอี่ยมกมล (กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2559)
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549)
  • สุนทรี อาสะไวย์, ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2391-2457 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530)
  • อภิชาต สถิตนิรามัย, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)

หนังสือภาษาอังกฤษ :

  • Akira, Suehiro, Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 (Chiang Mai: Silkworm Book, 1996)
  • Scott, Jame. C, The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast Asia (New Haven: Yale University Press, 1977)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (3 กันยายน 2566). ชีวิตชาวนาที่คลองรังสิตสมัยร.5 เป็นทุกข์จากโจร โรคระบาด และเจ้าของนาทำนาบนหลังคน. https://www.silpa-mag.com/history/article_50108
  • ภีรดา. (13 มิถุนายน 2565). การแย่งยึดที่ดินระลอกแรกระหว่างราษฎรและทุนศักดินา. https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1135

 


[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก, 2542), น. 22, 26-27.

[2] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549)

[3]  ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ พิมพ์ครั้งที่ 3 (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2546), 21-23.

[4] เดวิด บรูซ จอห์นสตัน, สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ. 2423-2473 แปลโดย พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม และคณะฯ (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530), 57.

[5] สุนทรี อาสะไวย์, ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2391-2457 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530),  67-69.

[6] สุนทรี อาสะไวย์, ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2391-2457 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530), 73-74.