จากประเทศไทยเมื่อ ๑๒ เมษายน ต่อมาอีก ๓ วัน ดร. ปรีดี พนมยงค์ ภริยาและสหายร่วมชีวิต ๓ คนก็ลุถึงสิงคโปร์ ที่สิงคโปร์นั้น นักการเมืองผู้ถูกป้ายสีว่าเป็นคอมมูนิสต์ ได้รับการต้อนรับจากคนไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกขอร้องให้พักอยู่ที่บ้านคหบดีไทยในเมืองนั้นผู้หนึ่ง คือนายเทียมซิว ทิพยมนต์ เพื่อรอเรือเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส
ในโอกาศที่พักอยู่ที่เมืองสิงคโปร์นั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ มิได้รอดพ้นสายตาของนักหนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ และหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสส์ไปได้ ฉะนั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ จึงต้องให้สัมภาษณ์แก่ผู้แทนหนังสือพิมพ์นั้นในวันหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ด้วยความรู้สึกอันจริงใจของท่าน ตามเจตนาดีที่ท่านมีอยู่ต่อชาติบ้านเมือง
“ดร. ปรีดี พนมยงค์ ว่า ถ้าสยามไม่เปิดสภาฯ คณะรัฐมนตรีอาจบริหารราชการขัดกับรัฐธรรมนูญได้ แต่รัฐธรรมนูญสยามจะยังคงอยู่ชั่วกัลปาวสาน” ดร. ปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้าขอปฏิเสธในข้อที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์” ตอบผู้แทนหนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ “มีหนังสือพิมพ์หลายฉะบับลงข่าวว่า เท่าที่ข้าพเจ้าไม่ลงรอยกันกับสมาชิกอื่นแห่งคณะรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากข้าพเจ้ามีหัวไปในทางลัทธิคอมมูนิสม์ แท้จริงความคิด ของข้าพเจ้าเป็นไปในแนวลัทธิโซเซียลิสม์ของรัฐบาล ที่ดำเนินการเพื่อราษฎรต่างหาก แต่ความคิดของข้าพเจ้าในแนวนี้ บังเอิญไม่เป็นที่เห็นพ้องด้วยกับสมาชิกอื่นแห่งคณะรัฐมนตรี”
และเมื่อผู้แทนหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสส์ ถาม ดร. ปรีดี พนมยงค์ตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมูนิสต์ และทั้งมิได้นิยมแม้แต่น้อยเลย ข้าพเจ้าจะยอมรับแต่ว่า ข้าพเจ้าเป็นราดิคัล และเป็นราดิคัลที่เป็นไปในแนวของลัทธิโซเซียลิสม์ แต่ไม่ใช่คอมมูนิสต์แน่ๆ”
หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสส์ ได้ลงกล่าวขวัญถึง ดร. ปรีดี พนมยงค์มากมาย ว่า ดร. ปรีดีฯ ผู้นี้ เป็นผู้มีส่วนร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยคราวที่แล้วมานี้เป็นส่วนใหญ่ และการที่การเปลี่ยนแปลงทำไปได้สำเร็จคราวนี้ ก็โดยการกระทำของพวกหนุ่มๆ และมีบุคคลชั้นกลางที่มีการศึกษาเป็นอย่างดีทำการสนับสนุนอยู่เป็นส่วนมาก เท่าที่พวกนี้ทำการเปลี่ยนแปลง การปกครองเป็นแบบใหม่ ความประสงค์ก็เพื่อจะนำประเทศให้เจริญทันสมัยเท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากแต่เดิมมา ความเจริญของประเทศไทยล่าช้ามากไม่ทันเพื่อนฝูง ฉะนั้นพวกก่อการเหล่านี้จึงมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะเข้าพยุงประเทศให้ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญเร็วยิ่งขึ้น
ดร. ปรีดี พนมยงค์ เคยมีตำแหน่งเป็นสมาชิกผู้หนึ่งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๘ นาย ความมุ่งหมายของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ก็หวังจะชักนำสมาชิกแห่งคณะรัฐมนตรีเหล่านี้ไปในทางที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศ ตามแนวความคิดของตน แต่ทว่าสมาชิกเหล่านี้บางคนไม่เห็นพ้องด้วย ฉะนั้นเมื่อ ดร. ปรีดี พนมยงค์ รู้ว่าสมาชิกเหล่านั้นมีความเห็นขัดกับตนเลยลาออก
ดร. ปรีดี พนมยงค์ มิได้ถูกขับไล่ไสส่งมาจากประเทศไทยตามข่าวที่เล่าลือกันนั้นเลย แต่เท่าที่จากประเทศไทยมาก็เพื่อไปดูภาวะการณ์เศรษฐกิจในทวีปยุโรป นอกจากนั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ มีหนังสือรับรองจากรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลไทยติดตัวมาด้วย ซึ่งข้อความในหนังสือฉบับนั้นชี้แจงให้ทราบว่า ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้นี้เป็นคนสัญชาติไทย และทั้งเป็นข้าราชการชั้นสูงของรัฐบาลด้วย และขอร้องต่อผู้ที่ได้ทราบความนี้แล้ว ได้ให้ความเอื้อเฟื้อและความสะดวกแก่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ด้วย
สำหรับปัญหาที่ว่า ดร. ปรีดี พนมยงค์จะกลับคืนมาสู่ประเทศสยามเมื่อไรนั้น หนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์กล่าวตามที่ทราบจาก ดร. ปรีดี พนมยงค์เองว่า การกลับของ ดร. ปรีดีฯ อาจจะเป็นต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในวงการของคณะรัฐบาลเสียใหม่ก็ได้
ขณะเมื่อถูกถามถึงเรื่องว่า สำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีขึ้นในประเทศไทยนี้ ตามความเห็นของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าจะคงยืดยาวถาวรต่อไป หรืออาจจะถึงที่สุดลงได้นั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดเลยว่าจะถึงที่สุดลงได้” และกล่าวต่อไปว่า “แต่แรกมาก็มีสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติงานร่วมมือไปกับคณะรัฐมนตรี แต่สภาฯ นี้ได้ถูกปิดเสียแล้วและยังไม่มีการเลือกสมาชิกแห่งสภาขึ้นใหม่ ตลอดจนยังไม่มีประกาศกำหนดแน่นอนด้วยว่าจะเลือกตั้งกันเมื่อใด การที่ไม่มีสภาฯ ทำการร่วมมือไปกับคณะรัฐมนตรีนี้แหละ เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีบริหารการปกครองไปคนละแนวกับรัฐธรรมนูญก็ได้ ซึ่งถ้าแหละจะแก้เรื่องนี้ให้สำเร็จเรียบร้อยก็มีหนทางเดียวเท่านั้นคือ จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ เสียโดยเร็วเท่าที่จะทำได้”
นี่คือข้อความที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น
ดร. ปรีดี พนมยงค์และภริยา ลาสหายร่วมชีวิต หลวงทัศนัยนิยมศึก ร.ท. ทวน วิชัยขัทคะ และจรูญ สืบแสงเดินทางต่อไปยังมืองท่ามาร์แซลล์ และจับรถไฟที่นั่นต่อไปยังนครปารีส และพำนักเงียบๆ อยู่ที่ชานนครนั้น ได้ใช้เวลาส่วนมากค้นคว้าศึกษาวิชาการที่เคยเล่าเรียนมา และพบปะสนทนากับนักเศรษฐกิจ นักการเมืองผู้เชี่ยวชาญซึ่งส่วนมากเป็นศาสตราจารย์ของ ดร. ปรีดี พนมยงค์มาก่อน และเมื่อมีโอกาสก็เดินทางข้ามไปยังอังกฤษ เพื่อเยี่ยมมิตรสหายและดูสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นด้วย ความหวังที่จะกลับสู่เมืองไทยของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ขึ้นอยู่กับการกระทำของเพื่อนร่วมสาบาลและยึดมั่นอยู่ในอุดมคติเท่านั้น และสำหรับเวลานี้ก็คือการรอ รอเท่านั้น
ภายหลังที่มีการยึดอำนาจครั้งที่ ๒ ขับไล่พระยามโนฯ ไปแล้วเหตุการณ์สำหรับ ดร. ปรีดี พนมยงค์ก็คลี่คลาย ราษฎรทั้งหลายมีความเข้าใจในการกระทำของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ดีขึ้น และรู้ต่อไปตลอดจนการกระทำอันมิชอบของพระยามโนฯ การใส่ร้ายต่อ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้หวังดีต่อชาติและต่อระบอบประชาธิปไตย แต่ถึงเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ดร. ปรีดี พนมยงค์ก็ยังคงสงบเงียบอยู่ในนครปารีสต่อมา
แต่เหตุการณ์ในเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ได้เป็นที่สนใจของราษฎรไทยอย่างยิ่ง ได้มีการโจทย์จัน และวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ กล่าวโดยฉะเพาะ ก็คือ เมื่อพระยามโนฯ ซึ่งราษฎรไทยถือว่าเป็นศัตรูทางการเมืองของดร. ปรีดี พ้นตำแหน่งและหมดอำนาจแล้วเพราะพระยามโนฯ ทำมิชอบ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งพระยามโนฯ ขับไล่ออกไปอย่างสุภาพนั้นก็ควรจะกลับมา และเข้าบริหารราชการ เพราะราษฎรมีความเชื่อมั่นในฝีมือและความสามารถของ ดร. ปรีดี พนมยงค์
หนังสือพิมพ์ที่ดี อันเป็นตัวแทนของราษฎรนอกสภาฯ ได้กล่าวถึงข่าวเล่าลือเกี่ยวกับการกลับของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ กันทั่วๆ ไป บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ได้ขอเข้าสัมภาษณ์พระยาพหลฯ ถึงเรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณนายกฯ ได้กล่าวว่า
“ในขณะนี้ ผมยังไม่คิดจะเชิญตัวหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมา เพราะหลวงประดิษฐ์ฯ ถูกสงสัยว่าเป็นคอมมูนิสต์ ผมเองก็ถูกสงสัยอยู่เหมือนกัน ถ้าผมเรียกหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมาเวลานี้เรื่องมันก็จะไปกันใหญ่ ผมก็เลยกลายเป็นคอมมูนิสต์ไปเลย
ความจริงหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคนดีมาก ทำงานจริง น่าเห็นใจ แต่จะเรียกกลับมายังไม่ได้ จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย เมื่อนั้นแหละจึงจะเรียกตัวกลับเอามา แต่มิใช่จะเชิญให้อยู่ตำแหน่งใด ผมต้องการให้ผู้แทนราษฎรนั่นแหละเป็นกรรมการซักฟอกความมัวหมองของหลวงประดิษฐ์ฯ ให้ขาวสะอาดเมื่อผู้แทนราษฎรพิศูจน์ว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ใช่เป็นคอมนูนิสต์แล้ว ก็จะได้หาตำแหน่งให้ร่วมมือทำความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศและความสุขสมบูรณ์ให้แก่ประชาชนสืบไป แต่ถ้าพิศูจน์ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมูนิสต์ ก็ต้องจัดการไปอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก การซักฟอกหลวงประดิษฐ์ฯ พวกผมจะเป็นผู้ซักฟอกไม่ได้ เดี๋ยวจะหาว่าเป็นพวกเดียวกัน”
นอกจากในเมืองไทยแล้ว ในต่างประเทศเหตุการณ์นี้ก็ได้เป็นที่สนใจของบรรดานักการ เมือง หนังสือพิมพ์ตลอดจนสำนักงานสื่อข่าวสากลอยู่ไม่น้อย เพราะบุคคลเหล่านั้นย่อมทราบดีว่า ดร. ปรีดี พนมยงค์ มีความสำคัญเกี่ยวแก่เหตุการณ์และประเทศไทยอยู่อย่างไร ฉะนั้นผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ซึ่งประจำอยู่ในนครปารีสจึงได้แสวงหาที่พำนักของดร. ปรีดี พนมยงค์ และพยายามจนพบดร. ปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๗ นั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า
“ขณะนี้ข้าพเจ้ากำลังเดินนโยบายแห่งการคอย และเฝ้าดูภาวะการณ์ในกรุงสยาม เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๗๕ ข้าพเจ้าได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ทูลถวายถึงนโยบายของข้าพเจ้า ซึ่งมีรูปการที่ปรากฏมาแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีความมุ่งมาตรจะทำลายล้างลัทธิคนมีเงิน
สิ่งที่ข้าพเจ้าพึงปรารถนาก็คือ เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของราษฎรเท่านั้น และทั้งข้าพเจ้าประสงค์อย่างยิ่งที่จะผดุงชาติไทยให้ได้ประกอบการอุตสาหกรรมและการงานทั่วๆ ไป ลัทธิคอมมูนิสม์ในกรุงสยามมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าจะกล่าวตามใจชอบของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีจุดมุ่งไปในทางเดียวกับพรรคเลเบอร์ (พรรคกรรมกร) ในอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง”
เมื่อผู้แทนรอยเตอร์ถามถึง เรื่องที่ฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมืองกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์นั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ ตอบว่า
“ข้าพเจ้ามิได้เป็นคอมมูนิสต์อย่างที่บางคนเข้าใจ และไม่เคยคิดต่อกับสมาคมสากลคอมมูนิสต์ยุคที่ ๓ เลย การที่ข้าพเจ้าออกจากประเทศไทยมาเช่นนี้ ก็เพราะข้าพเจ้าไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากขึ้นและโดยความเห็นชอบของรัฐบุรุษผู้ใหญ่บางท่านที่ข้าพเจ้าเคารพอยู่”
ผู้แทนรอยเตอร์ได้ถามต่อไปว่า บัดนี้คณะของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ได้ยึดอำนาจการปกครองคืนได้ดังเดิมแล้ว ดร. ปรีดี มีความคิดเห็นอย่างไร ดร. ปรีดี พนมยงค์ ตอบว่า
“ถูกแล้ว ในเวลานี้ นายทหารชั้นหัวหน้าแห่งกองทัพสยามได้ยึดอำนาจการปกครองและได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เปิดสภาฯ ใช้รัฐธรรมนูญดั่งเดิม และนั่นเองเป็นทางให้ฐานะของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็ไม่พึงประสงค์จะกลับสยาม เว้นแต่จะมีผู้ขอร้องมา”
ตลอดเวลาของการพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ดร. ปรีดี พมยงค์ มีแต่ความรู้สึกเป็นห่วง และกังวลต่อ อนาคตของชาติไทยอย่างที่สุด วิญญาณของการปฏิวัติยังกรุ่นและร้อนแรงอยู่ในจิตใจไม่เสื่อมคลาย ความรับผิดชอบต่อประชาราษฎร ตามคำสัญญา ๖ ประการของคณะราษฎรนั้น เป็นคำสัญญาที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ต้องนำความสุขความสมบูรณ์มาสู่ราษฎร ต้องสร้างเอกราชทางเศรษฐกิจให้แก่ชาติ “มันสมอง” ของคณะราษฎรผู้ทำการปฏิวัติจะยอมให้การปฏิวัติครั้งนี้ เป็นแต่การเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินจากองค์เดียวมาเป็นหลายคนแทนไม่ได้
แต่เหตุการณ์ในเมืองไทยภายหลังการยึดอำนาจครั้งที่ ๒ แล้ว ในคณะราษฎรก็เริ่มมีการแตกแยกกันอีก เกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่เกิดมาแล้วครั้งก่อน เมื่อผู้ที่หลงไหลในอำนาจ อยากเป็นใหญ่เป็นโตเมื่อได้อำนาจมา ก็เริ่มแผ้วทางไปสู่ตำแหน่งและอำนาจที่ยิ่งใหญ่ต่อไปโดยมิคำนึงถึงความสามารถของตน พระยาพหลฯ เริ่มรู้สึกลำบากใจในการเห็นแก่ตัวเช่นนี้ แต่ท่าน ท่านเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อชาติและต่อประชาราษฎร จะยอมให้บุคคลเช่นนั้นนำชาติไปไม่ได้เป็นอันขาด ฉะนั้นท่านเจ้าคุณจึงต้องทนต่อมา
ดร. ปรีดี พนมยงค์ ภายหลังที่ได้เฝ้าคอยเหตุการณ์ และได้รับจดหมายข่าวคราวจากเพื่อนร่วมตายแจ้งเหตุการณ์ในเมืองไทยแล้ว ก็ได้มีจดหมายถามมายังเพื่อนฝูง และโดยเฉพาะถามผู้ที่ทรงอำนาจอยู่ในเวลานั้นด้วย คำตอบที่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้รับจากเพื่อนในกรุงเทพฯ ก็คือ ส่วนหนึ่งซึ่งส่วนมากเป็นฝ่ายพลเรือน ต้องการให้กลับ และให้กลับโดยเร็ว เพื่อเข้าร่วมในการบริหาร อีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้กลับ ที่ไม่ต้องการให้กลับนี้ เป็นเพราะเพื่อนเหล่านั้นหวังดีก็มี โดยให้เหตุว่า ข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ซักฟอกให้ขาวสะอาด ควรรอไปจนกว่าเหตุการณ์แจ่มใสยิ่งกว่านี้ ส่วนอีกพวกหนึ่ง ที่ไม่ต้องการให้กลับนั้น เป็นการไม่ต้องการให้กลับตลอดไป
ทั้งนี้เพราะพวกนี้กันท่าดร. ปรีดี เพราะเขาถือว่า ดร. ปรีดี พนมยงค์เป็นคู่แข่งขันกับตนในทางการงานและถ้าดร. ปรีดี กลับมาเมืองไทยและเข้าบริหารแล้วความปรีชาสามารถของ ดร. ปรีดี พนมยงค์จะเป็นสิ่งที่กีดกันการแสวงหาอำนาจของเขา ซึ่งความข้อนี้สำหรับผู้ที่จิตใจเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา โดยไม่คำนึงถึงอุดมคติและประโยชน์ของชาติแล้ว เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างมาก ตรงข้ามดร. ปรีดี พนมยงค์ ไม่เคยแข่งขัน ไม่เคยปัดขาใคร ตั้งหน้าทำความดีให้แก่ชาติ สร้างความเจริญให้แก่ชาติตลอดมา และต่อไปตราบเท่าชีวิตจะหาไม่
เมื่อคำตอบจากเพื่อน ผู้เคยร่วมสาบาลเป็นเช่นนี้ และเพื่อนทั้งหลายที่เคยปฏิญาณว่า จะทำการปฏิวัติเพื่อสร้างประเทศชาติให้รุ่งเรืองยังเป็นอยู่เช่นนี้ ได้ทำให้ ดร. ปรีดี พนมยงค์ รู้สึกเสียใจและเบื่อหน่ายมาก และลงตกใจที่จะไม่กลับเมืองไทย แต่ต้องการจะเดินทางไปประเทศสเปญเพื่อดูภาวะการเมืองและการเศรษฐกิจของประเทศนั้น สถานฑูตสเปญในกรุงปารีสพร้อมที่จะวีซาหนังสือเดินทางให้ ถ้าสถานฑูตไทยออกหนังสือรับรองให้ก่อน ดร. ปรีดี พนมยงค์จึงไปพบ มจ. อมรทัต กฤดากร ราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส แต่ดร. ปรีดี พนมยงค์ผิดหวัง อัครราชฑูตแจ้งว่าตนไม่มีอำนาจที่จะรับรอง ต้องถามมายังกระทรวงการต่างประเทศในกรุงเทพฯ เสียก่อน และรับที่จะถามโดยเร็วที่สุด ขอให้รอ
คณะรัฐมนตรีชุดพระยาพหลฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ก่อการ ๕ นาย และ ๖ นายรวมทั้งพระยาพหลฯ ๒ นายเป็นพลเรือน คือ หลวงนฤเบศร์มานิต และหลวงสิริราชไมตรี ส่วนนอกจากนั้นเป็นขุนนางเก่าผู้มีความนิยมในระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตาม ๒ หรือ ๓ คนในจำนวนนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามมีอำนาจยิ่งใหญ่ ก็ได้กลายเป็นศัตรูทางการเมืองอย่างสำคัญของหลวงพิบูลฯ
การเคลื่อนไหวของพวกเจ้าและขุนนางเก่า ที่ต้องเสียอำนาจอับวาสนาก็ยังคงมีต่อมาอีกซึ่งทำความหนักใจให้แก่คณะราษฎรเป็นอันมาก โอกาสที่จะบริหารราชการไปโดยไม่ต้องพวักพะวงก็ไม่มี เพราะคอยระแวงศัตรูทางการเมืองอยู่เสมอ การจับกุมผู้คิดร้ายต่อคณะและต่อระบอบการปกครองก็ได้เกิดมีขึ้น เป็นการกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยใน และบรรดาขุนนางที่นิยมระบอบประชาธิปไตยและเข้าร่วมบริหารก็รู้สึกเบื่อหน่าย เพราะการแสดงความทะเยอทะยานของผู้มีอำนาจบางคนในคณะรัฐมนตรี พระยาพหลฯ ผู้เป็นนายกฯ มีความรู้สึกว่า ถ้า ดร. ปรีดี พนมยงค์กลับมาร่วมราชการบริหารด้วย ก็จะเป็นที่เบาใจและไว้วางใจได้ในงานบริหารด้านพลเรือน ท่านเจ้าคุณคิดอยู่เช่นนี้ แต่ในขณะนั้นท่านเจ้าคุณเองก็ตกอยู่ในฐานะคับใจเป็นอันมาก คับใจเพราะคนที่ทะเยอทะยานจนลืมตัว และคอยคัดค้าน ที่ ดร. ปรีดี พนมยงค์จะกลับมา
แต่เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับรายงานของฑูตไทยที่ปารีส แจ้งเรื่อง ดร. ปรีดี พนมยงค์จะไปสเปญ และเมื่อเสนอเรื่องต่อเจ้าคุณนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี บุคคลเหล่านี้มีความตกอกตกใจเป็นอันมาก เพราะทราบว่าสเปญเวลานั้นได้ทำการปฏิวัติใหม่ๆ และมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ อันที่จริงก็เป็นความวิตกจนเกินเหตุ ดร. ปรีดี พนมยงค์ต้องการไปสเปญก็เพื่อดูภาวะการเมืองและการเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นอีก ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องได้ ดร. ปรีดี พนมยงศ์มาเป็นกำลังสำคัญในการบริหาร รัฐบาลจึงตกลงเรียกตัว ดร. ปรีดี พนมยงค์กลับ แต่ด้วยควันความอันมีพระยามโนฯ ได้ก่อไว้ยังไม่จางหายไปหมดเพราะพวกพระยามโนฯ ยังคอยกระพือต่อมารัฐบาลจึงได้ออกแถลงการณ์การณ์ฉบับหนึ่งว่า
“โดยที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รับรองว่า พร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ในอันที่จะดำเนินการตามหลักนโยบาย ซึ่งรัฐบาลวางไว้แล้วในการโภคกิจ กล่าวคือ
๑. รักษาประโยชน์ของชนทุกเหล่า และสมานประโยชน์นั้นให้กลมกลืนกัน โดยชนทุกชั้นทุกเหล่าช่วยกันบำรุงเศรษฐกิจของชาติ
๒. ให้ที่ดินของประเทศที่ยังว่างเปล่าอยู่มาก เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น
๓. ให้ราษฎรมีช่องทางประกอบการเลี้ยงชีพโดยครบถ้วนหน้า
๔. ให้คนไทยเลื่อมใสในทางกสิกรรม อุสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยวิธีที่รัฐบาลให้ความสะดวก ความช่วยเหลือ การฝึกฝน การร่วมมือ และการควบคุมเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นๆ ได้รับผลเต็มที่ที่ตนได้และมีลู่ทางผ่อนความหนักของหนี้สินที่มีอยู่ให้เบาลง
๕. ให้สินค้าขาออกของประเทศมีมากอย่างและมีปริมาณยิ่งขึ้น
๖. ให้ฐานะการเป็นอยู่ของคนไทย เขยิบดีขึ้นเป็นขั้นๆ เป็นอันดับไป
อนึ่ง ในการที่จะดำเนินการไปสู่จุดมุ่งหมายข้างต้นนั้น รัฐบาลจะไม่ใช้วิธีใหม่ใดๆ ที่จะบังคับซื้อที่ดิน และบังคับจ้างแรงงานดังนี้
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมารับราชการเป็นรัฐมนตรีสืบไป”
ดร. ปรีดี พนมยงค์พร้อมด้วยภริยา ได้เดินทางออกจากนครปารีสและลงเรือฮาโคนี่มารู ที่ท่าเมืองมาแซลล์ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๗๖ ถึงสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ที่ท่าเรือสิงคโปร์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้พบกับหลวงเสรีเริงฤทธิ์กับคณะอันเป็นผู้แทนที่รัฐบาลจัดออกไปรับตั้งแต่วันที่ ๑๘ ของเดือนนั้น
นอกจากผู้แทนของรัฐบาลแล้ว ดร. ปรีดี พนมยงค์ ยังได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากชาวสิงคโปร์และกงสุลไทยระหว่างที่พักรอเรือ เรือลำเก่าคือเรือโกล่าอยู่ที่สถานกงสุลนั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ได้ปฏิเสธอย่างสุภาพต่อคำเชิญที่จะให้มีการเลี้ยงต้อนรับของพ่อค้าไทยจีนชาวสิงคโปร์
ในวันที่ ๒๕ กันยายน ดร. ปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยภริยา และคณะผู้ที่ไปรับ ก็ได้อำลาเมืองสิงคโปร์ลงเรือโกล่า ออกจากท่าตัดเข้าสู่อ่าวไทยมายังกรุงเทพพระมหานคร รวมเวลาที่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ต้องไปไช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลาถึง ๕ เดือนครึ่ง
หมายเหตุ :
- อักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
บทความในหนังสือ :
- ไสว สุทธิพิทักษ์, “วิวัฒนาการแห่งการเมืองและการเศรษฐกิจ” ใน ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2526), น.290-303.