ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และอนาคตการเปลี่ยนแปลง

1
พฤษภาคม
2567

Focus

  • บทความนี้ผู้เขียนนำเสนอเรื่องแรงงานในสองส่วน ส่วนแรกคือ ลักษณะโครงสร้างแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย และส่วนที่สองคือ จิตสำนึกทางชนชั้นและโอกาสการเปลี่ยนแปลงสังคม
  • ลักษณะโครงสร้างแรงงานของไทยมีการเปลี่ยนผ่านสำคัญใน 3 ยุค ได้แก่ ยุคแรกราว 30-40 ปีก่อนจะมีลักษณะการเปลี่ยนผ่านจากแรงงานภาคเกษตรสู่แรงงานอุตสาหกรรม และเกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการนคราภิวัฒน์ (Urbanization) ยุคที่สองคือ ช่วงทศวรรษ 2520 ระบบอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตทางเทคโนโลยีที่เพิ่มปริมาณการจ้างแรงงาน และยุคที่สามในปัจจุบัน ที่แรงงานต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มทุนในระบบการเมืองที่ลดทอนจิตสำนึกทางชนชั้นของแรงงาน โดยผู้เขียนยังเสนอถึงงานศึกษาของ Owen Jones เรื่อง Chavs; The Demonization of English Working class ว่ามีกระบวนการทำลายรัฐสวัสดิการในอังกฤษอย่างต่อเนื่องและมีการทำลายจิตสำนึกของชนชั้นแรงงานไปพร้อมกัน
  • สหภาพแรงงานในยุคปัจจุบันหรือในช่วงทศวรรษ 2560 เป็นการรวมตัวของสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ที่มีการรวมตัวกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ทางสังคมหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อต้านระบอบอำนาจนิยม และมีข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการอีกด้วย

 

วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงานสากล และทุกครั้งสิ่งที่มีคำถามมาต่อเนื่องหลายสิบปีคือ “ใครคือแรงงาน” ไม่ใช่แค่ในบริบทของสังคมไทย แต่คำถามนี้ล้วนเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในบริบทสากลเช่นกัน Owen Jones ได้เขียนหนังสือเรื่อง Chavs The Demonization of English Working class โดยสาระสำคัญชี้ให้เห็นกระบวนการทำลายรัฐสวัสดิการในอังกฤษที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดขึ้นผ่านเงื่อนไขการผ่านกฎหมาย และการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากการทำลายจิตสำนึกของชนชั้นแรงงาน จนไม่เหลือผู้คนที่รู้สึกอยากปกป้องรัฐสวัสดิการอีกต่อไป

 


Chavs The Demonization of English Working class by Owen Jones
ที่มาของภาพ: Verso books

 

ในบทความนี้ผู้เขียนจะพิจารณาสองส่วนประกอบด้วย ลักษณะโครงสร้างแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย และ ส่วนที่สอง จิตสำนึกทางชนชั้นและโอกาสการเปลี่ยนแปลงสังคม

หากย้อนไปเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน สิ่งที่เราจะเห็นคือการเปลี่ยนผ่านจากแรงงานภาคเกษตรสู่แรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับระบบเกษตรกรรมแบบยังชีพหรือกึ่งยังชีพ และเกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการนคราภิวัฒน์ (Urbanization) การขยายตัวของเมืองใหญ่ เมืองอุตสาหกรรม อันสร้างความแตกต่างทางรายได้ระหว่างเมืองและชนบท แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของ ความเปราะบางมหาศาลของชีวิตผู้คนในระบบอุตสาหกรรม การเสื่อมถอยของคุณภาพชีวิต ค่าจ้าง เมื่อดูที่ปลายทางผู้คนที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2520 เมื่อพวกเขาเกษียณอายุในราวปี 2560 พวกเขาได้อะไรบ้างจากการทำงาน ไม่มีหลักประกันยามเกษียณ หนี้สิน รวมถึงปัญหาสุขภาพที่จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งกลายเป็นโรคประจำตัวของชนชั้นแรงงานไทย

ขณะที่เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศ และทุนการเงินทำให้ลักษณะการจ้างงานมีการเปลี่ยนแปลงไป เริ่มต้นจากการเติบโตของธุรกิจเพื่อเน้นการส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น ปริมาณการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดสู่ระบบการผลิตแบบหลังสายพาน (Post-Fordism) ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ประกอบกับการปกครองประเทศที่ลุ่มๆ ดอนๆ กับการรัฐประหาน การสืบทอดอำนาจและรัฐราชการ ส่งผลให้กฎหมายแรงงานเองไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ และการจูงใจกลุ่มทุนของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาก็ยังคงใช้หลักการเดิมคือ ค่าแรงต่ำ ภาษีต่ำ เทคโนโลยีต่ำ และอำนาจต่อรองต่ำ จำนวนสหภาพแรงงานที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้กระบวนการสะสมทุนแบบยืดหยุ่นมากขึ้น

จนในปัจจุบันหากกล่าวโดยสรุป มีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างประจำ ประมาณ 17 ล้านคน ขณะอีกกว่า 20 ล้านคนเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างประจำ ภาษาทางการเรียกว่าแรงงานนอกระบบ แต่สำหรับผู้เขียนแล้วสภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นสภาพสมัครใจ เราจะเห็นรูปแบบการจ้างมากมายที่เป็นการทำงานแบบประจำแต่กลับจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รายชิ้น รายสมัครใจของผู้จ้าง ตั้งแต่เศรษฐกิจการจ้างผ่านแพลตฟอร์มสมัยใหม่ แรงงานสร้างสรรค์  แรงงานศิลปิน  แรงงานภาคบริการ แรงงานรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งผู้เป็นนายจ้างเหนือแรงงานตัวเอง (Self Employed) พร้อมกันกับในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมก็เปิดโอกาสให้เกิดการจ้างแบบยืดหยุ่น ที่คนแบกรับความเสี่ยงแทนผู้ประกอบการกลับกลายเป็นผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ในที่สุด หรือที่ Guy Standing เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าการขยายตัวของ “แรงงานเสี่ยง Precariat” แรงงานที่แบกรับความเสี่ยงแทนชนชั้นนายทุน พร้อมกับถูกทำให้เกระจัดกระจายและขาดจิตสำนึกทางชนชั้น

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงจุดนี้ย่อมมีคำถามเช่นกันว่า หากสภาพโครงสร้างแรงงานในปัจจุบัน รวมถึงกับอำนาจของกลุ่มทุนในระบบการเมือง จึงย่อมดูเหมือนว่าจิตสำนึกทางชนชั้นดูจะหายไป และเมื่อจิตสำนึกทางชนชั้นหายไปโอกาสการเปลี่ยนแปลงเพื่อชนชั้นแรงงานก็ย่อมจะหายไปด้วย แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียน ข้อสังเกตสำคัญคือการเกิดการรวมตัวของแรงงานรุ่นใหม่อย่างมากมาย ที่ท้าทายต่อโครงสร้างการสะสมทุนในปัจจุบัน เช่น กลุ่มสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ที่เริ่มตั้งคำถามถึงสถานะของแพทย์ในฐานะผู้ใช้แรงงาน มากกว่าผู้เสียสละในองค์กร มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มตน สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ยังขยายเครือข่ายสู่ผู้ปฏิบัติงานภาคส่วนต่างๆ ที่มีอำนาจต่อรองต่ำกว่า รวมถึงการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการไปพร้อมกัน

“สหภาพแรงงานสร้างสรรค์” เป็นอีกตัวอย่างของกลุ่มแรงงานที่แม้ลักษณะการทำงานจะกระจัดกระจาย แต่มีข้อเสนอร่วมหลายอย่างที่ท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นระบบกรรมสิทธิ์ร่วม หรือข้อเสนอว่าด้วยการประกันรายได้ศิลปิน เช่นเดียวกับสหภาพบาริสตา ในเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ก็เป็นตัวแทนที่ชี้ให้เห็นว่า การเติบโตของของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้ส่งดอกผลสู่ผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวของกลุ่มแรงงานในธุรกิจร้านกาแฟเป็นสัญลักษณ์ของการกระจายตัวของแรงงานที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นรูปแบบใหม่เช่นกัน

ข้อสังเกตสำคัญตามตัวอย่างที่ผู้เขียนได้ยกมานี้ การรวมตัวของสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ ไม่ได้มีจุดร่วมด้วยผลประโยชน์ทางอาชีพอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงผลประโยชน์ของสังคม อันหมายถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจนิยม รวมถึงมีข้อเรียกร้องใหญ่อย่างรัฐสวัสดิการด้วย

และจุดเปลี่ยนจากการขยายตัวของจิตสำนึกทางชนชั้นนี้ คือเครื่องหมายสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าโครงสร้างแรงงาน และโครงสร้างของการสะสมทุนจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร

 

บรรณานุกรม :

  • Owen, Jones. Chavs: The Demonization of the Working Class (New York: Verso, 2012)