ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 27)

11
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์ ชี้ให้เห็นในบันทึกประกอบคำประท้วงว่า พล.ท.ประยูรฯ บิดเบือนและอ้างในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า ในประเด็นหลักคือ การชักจูงเพื่อนทั้ง 5 ท่านในการเข้าร่วมการอภิวัฒน์สยาม ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก) ดร.ตั้ว ลพานุกรม และนายแนบ พหลโยธิน
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
ข้อ 21. เรื่องพิเคราะห์เรื่องที่บางคนถือเอาว่า ร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง” เพื่อน 5 คน
เริ่มประชุมก่อตั้งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่บ้าน ร.ท.ประยูรฯ

 

ข้อ 21.

พิเคราะห์เรื่องที่บางคนถือเอาว่าร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง” เพื่อน 5 คน

เริ่มประชุมก่อตั้งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่บ้านร.ท.ประยูรฯ

เรื่องที่บางคนถือเขาว่าร.ท.ประยูรฯ “ชักจูง” ข้าพเจ้านั้น—ข้าพเจ้าได้ชี้แจงไว้แล้วในข้อ 18. ว่าความจริงเป็นอย่างไร ส่วนเพื่อนอีก 4 คนได้วายชนม์ไปตามลำดับก่อนที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนหนังสือเล่มนั้นคือ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (หลวงทัศนัยนิยมศึก), ดร.ตั้ว พลานุกรม, ร.ท.แปลกฯ(หลวงพิบูลสงคราม) นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งแต่ละคนไม่มีโอกาสที่จะชี้แจงความจริงว่าถูก “ชักจูง” โดย ร.ท.ประยูรฯ หรือไม่

ปัจจุบันนี้บุคคลที่ พล.ท.ประยูรฯอ้างว่าไปประชุมที่บ้านของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่คือ พล.ท.ประยูรฯ, ข้าพเจ้า (ปรีดี) และหลวงสิริราชไมตรี พล.ท.ประยูรฯ จึงให้ความชอบแก่ข้าพเจ้าโดยเขียนไว้—หลายแห่งในหนังสือของท่านว่าข้าพเจ้าชักชวนได้แต่–หลวงสิริราชไมตรีคนเดียวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ในหน้า 96-97 ว่านักเรียนกรุงปารีสมีความรักใคร่ศรัทธาชอบพอข้าพเจ้าทั่วไป

ข้าพเจ้าจึงขอเสนอท่านที่มีใจเป็นธรรมพิเคราะห์เหตุที่ร.ท.ประยูรฯอ้างว่าชักชวนหรือที่บางคนถือเอาว่าเป็น การ “ชักจูง” ร.ท.แปลกฯ, ร.ต.ทัศนัยฯ, ดร.ตั้วฯ, นายแนบฯ, ดังต่อไปนี้

(1)

เหตุชักชวนหรือ “ชักจูง” ร.ท.แปลกฯ

พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสก็ได้พบกับ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมากได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก) ซึ่งเป็นญาติโยงสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกำแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณและชักชวนให้มาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง”

ข้าพเจ้าขอเสนอข้อสังเกตเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรม ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1

พล.ท.ประยูรฯเขียนถึงสถานที่ซึ่งท่าน “ชักจูง” ร.ท.แปลกฯ ไว้ข้างบนนั้นคือบริเวณที่อยู่รวมกันกับร.ท.ประยูรฯ ซึ่งหมายถึง “ลาตินควอเตอร์”ที่ปารีส แต่ในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯหน้า 102-104 ซึ่งข้าพเจ้าได้ตัดมาลงพิมพ์ไว้ในข้อ 20 (2) นั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้เปลี่ยนสถานที่แห่งใหม่ว่าท่านได้ชวน ร.ท.แปลกฯ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ชายแดนฝรั่งเศสกับเยอรมนีภายหลังรัชกาลที่ 6 สวรรคตแล้ว ดังปรากฏตามข้อเขียนของท่านซึ่งข้าพเจ้าขอพิมพ์ซ้ำไว้อีกครั้งหนึ่งเพื่อความสดวกของท่านที่จะพิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศเยอรมัน กับท่านจอมพลป.พิบูลสงคราม เมื่อตอนเดินทางกลับเข้าประเทศฝรั่งเศสถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเหยียดหยาม หาว่าเป็นประเทศที่อยู่ในเครือการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน ในที่สุดเมื่อถกเถียงกันอยู่พักหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสก็จำนน แต่ก็บอกว่าเป็นเมืองเหาเมืองหมัด จะรู้จักได้อย่างไร ควรจะมาอยู่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเสียจะได้รุ่งเรือง ทำให้จอมพลป.พิบูลสงครามเดือดดาล และบอกกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสว่า ระวังให้ดีเถอะ สักวันหนึ่งไอ้หมัดไอ้เหาจะกัดให้ประเทศฝรั่งเศสเน่าไปทั้งชาติ ข้าพเจ้าจึงได้ถือโอกาสชวนจอมพลป.พิบูลสงครามให้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อปราบฝรั่งเศสเอาดินแดนคืน

ซึ่งท่านจอมพลกําลังขุ่นแค้นตกลงใจบอกเอาเลย จึงได้เพื่อนร่วมคิด คู่ชีวิตที่สำคัญที่สุดมาร่วมมือร่วมคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันต่อไป”

เมื่อได้เพื่อนร่วมคิดร่วมตายครบ 7 คน ก็ได้นัดประชุมกันที่บ้านของข้าพเจ้า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467 ดังกล่าว”

ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมก็ย่อมสังเกตได้ว่าพล.ท.ประยูรฯ เขียนสถานที่ซึ่งท่านชวน

ร.ท.แปลกฯ นั้น 2 แห่งอย่างละเอียดลออขัดกันไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน จึงมิใช่สารคดี

 

 

ประการที่ 2

ข้าพเจ้ามิได้ตั้งตนเป็น “ผู้กว้างขวาง” แห่ง “ลาตินควอเตอร์” ซึ่ง ร.ท.ประยูรฯ อยู่ในบริเวณนั้น หากพล.ท.ประยูรฯ นั้นเองได้กล่าวไว้ถึงการที่ท่านไปกรุงปารีสในหนังสือของท่านหน้า 96-100 มีความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้า(ประยูรฯ) ได้ไปพบคุณปรีดี พนมยงค์ ส่งจดหมายคุณควง อภัยวงศ์ ไปให้อ่านก็ลุกขึ้นกุลีกุจอต้อนรับข้าพเจ้าอย่างเป็นกันเอง และช่วยจัดหาที่อยู่ให้มาอยู่ใกล้ๆกันที่ในลาตินควอเตอร์ และช่วยจัดหาครูพิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสกับจัดหาโรงเรียนสอนภาษาฝรั่งเศสให้อีกด้วย คุณปรีดี พนมยงค์เป็นผู้มีบุคลิกลักษณะที่มีนะเมตตาดี นักเรียนในกรุงปารีสมีความรักใคร่ศรัทธาชอบพอกันทั่วไป”

ฉนั้นเมื่อมีเพื่อนนักเรียนคนใดต้องการให้ข้าพเจ้าช่วยเหลือเกี่ยวกับที่อยู่และคำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษาข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติดังที่ปฏิบัติต่อ ร.ท.ประยูรฯ  นั้น บางคนก็เรียกข้าพเจ้าว่า “อาจารย์” ส่วนบางคนเช่น ร.ต.ทัศนัยเรียกข้าพเจ้าว่า “ผู้บังคับการ”

ประการที่ 3

โดยเฉพาะร.ท.แปลกฯ นั้น เดิมท่านอยู่ในครอบครัวฝรั่งเศสบริเวณ “เอควอ” เช้าวันหนึ่งก่อนร.ท.ประยูรฯ ไปถึงกรุงปารีส ร.ท.แปลกฯ ไปพบข้าพเจ้าในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นสภานายก “สามัคยานุเคราะห์สมาคม แจ้งข้าพเจ้าทราบว่าเจ้าของบ้านฝรั่งเศสนั้นได้เอาเปรียบมากและบริการไม่ดี ร.ท.แปลกฯ จึงขอให้ข้าพเจ้าหาห้องเช่าใหม่ที่อยู่ใกล้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงบอกร.ท.แปลกฯว่ามีห้องว่างติดกับห้องที่ข้าพเจ้าเช่าอยู่ในอาคารหมายเลข 10 ถนนเดส์การ์มส์" ( Rue des Carmes ) ร.ท.แปลกจึงเช่าห้องนั้นและวานข้าพเจ้าหาครูพิเศษสอนคณิตศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อเตรียมเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่

เราทั้งสองได้พบปะกันแทบทุกวัน และบางครั้งก็ได้ทำอาหารไทยที่ครัวเล็กติดกับห้องเช่านั้นรับประทานด้วยกัน จึงย่อมจะต้องปรารภกันบ้างถึงความคิดที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ก่อนที่ร.ท.ประยูรฯชวนร.ท.แปลกฯ ไปทัศนาจรที่เยอรมันภายหลังสวรรคตรัชกาลที่ 6

ประการที่ 4

ส่วนการที่ ร.ท.แปลกฯเคยเป็นเพื่อนร่วมเรียน ณ โรงเรียนนายร้อยนั้นก็เป็นความจริงตามที่พล.ท.ประยูรฯ กล่าว แต่เท่าที่ร.ท.แปลกฯ ปรารภกับข้าพเจ้านั้นท่านผู้มีจิตสำนึกของท่านที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ก่อนที่ท่านไปทัศนาจรเยอรมนีกับร.ท.ประยูรฯ และก่อนที่ท่านถูกพนักงานตรวจคนเข้าเมืองฝรั่งเศสใช้วาจาดูหมิ่นเมืองไทยว่าเมืองเหาเมืองหมัด

(2)

เหตุชักชวนหรือ “ชักจูง” ร.ต.ทัศนัยฯ

ตามที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ดังกล่าวใน (ก) ข้างบนนั้น พล.ท.ประยูรฯ อ้างเหตุความเป็นญาติห่าง ๆ กับร.ต.ทัศนัยฯ และท่านเป็นผู้ชวนร.ต.ทัศนัยฯ มาอยู่รวมกันในบริเวณ บริเวณนั้นก็ต้องหมายถึง “ลาตินควอเตอร์” ดังที่ กล่าวแล้วใน (1)

ร.ต.ทัศนัยฯ นั้นเป็นพระญาติสนิทของหม่อมเจ้าทองทีฆายุ ผู้ช่วยทูตทหารบกสยามสมัยนั้น…[ต้นฉบับมีข้อความที่ขีดฆ่า-กองบรรณาธิการ] ม.จ.ทองฑีฆายุเป็นผู้ดูแลการเล่าเรียนของร.ต.ทัศนัยฯ เมื่อร.ต.ทัศนัยฯ ถึงปารีสแล้ว ม.จ.ทองฑีฆายุฯ ได้ขอให้ข้าพเจ้าในฐานะสภานายกสมามัคยานุเคราะห์สมาคม จัดหาห้องเช่าเยื้องกับบ้านที่ข้าพเจ้าเช่าห้องอยู่และช่วยหาครูภาษาฝรั่งเศสให้แก่ร.ต.ทัศนัยฯ ด้วย ร.ต.ทัศนัยฯ จึงมีความสนิทสนมกับข้าพเจ้าและได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการบ้านการเมืองกับข้าพเจ้าและร.ท.แปลกฯ และร.ท.ประยูรฯ ข้าพเจ้าขอให้เกียรติ ร.ต.ทัศนัยฯ ว่าเมื่อเราต่างปรารภต่อกันแล้วจึงตกลงกันคิดเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ โดยข้าพเจ้ามิได้ “ชักจูง” ร.ต.ทัศนัยฯ

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ท.ประยูรฯ อ้างความเป็นญาติกับร.ต.ทัศนัยฯ ซึ่งบางคนคิดว่า ร.ต.ทัศนัยฯ เชื่อถือ พล.ท.ประยูรฯ มากนั้น แต่เหตุไฉนความปรากฏในหนังสือของ พล.ท.ประยูรฯ หน้า 259 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ให้หลวงประดิษฐ์ไปฝรั่งเศส

ตกลงในที่สุดก็เป็นอันจัดการให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปอยู่ในฝรั่งเศส ได้มีเรื่องโวยวายในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองกันมาก พ.ท.หลวงทัศนัยนิยมศึกถึงกับสตาร์ทรถถังออกเตรียมบุกวังปารุสกวัน

พ.ท.หลวงพิบูลสงครามต้องวิ่งวุ่นห้ามทัพ และปลอบโยนให้ใจเย็น ๆ ไว้จะหาทางแก้ไขกันต่อไป”

กรณีเกิดขึ้นเมื่อคุณประยูรเลขาธิการคณะกรรมการราษฎรและเป็นรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นได้เป็นตัวการสำคัญคนหนึ่งในการร่วมมือกับพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีทำการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 นั้นแล้ว รัฐบาลนั้นได้เนรเทศปรีดีไปอยู่ฝรั่งเศส ฉนั้นถ้าหากหลวงทัศนัยนิยมศึกมีความนิยมเชื่อถือคุณประยูรฯ ที่ได้รับชวนร่วมเปลี่ยนการปกครองแล้ว ท่านผู้นี้ก็น่าจะต้องไม่คิดต่อต้านคุณประยูรฯ กับรัฐบาลพระยามโนฯ อนึ่งนอกจากการกระทำดังที่พล.ท.ประยูรฯกล่าวไว้แล้ว หลวงทัศนัยฯ พร้อมด้วยร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ และนายจรูญ สืบแสง ยังกล้าเดินทางไปส่งปรีดีกับภรรยาถึงปีนังกึ่งแสดงถึงมิตรภาพอันดีที่หลวงทัศนัยฯ และร.ท.ทวนฯ กับนายจรูญมีต่อปรีดี

(3)

เหตุชักชวนหรือ “ชักจูง” ดร.ตั้ว ลพานุกรม

พล.ท.ประยูรฯ ไม่กล่าวถึงเหตุที่ท่านชักชวนดร.ตั้วฯ ท่านกล่าวเพียงว่า “ข้าพเจ้า (ประยูรฯ) ได้เดินทางไปชวนดร.ตั้ว ลพานุกรมจากสวิตเซอร์แลนด์

บางท่านอาจเข้าใจผิดว่าการชวนดร.ตั้วฯ ที่ศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นั้นผู้ชวนมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ แต่เพื่อนนักเรียนไทยในสวิตเซอร์แลนด์รุ่นเดียวกับดร.ตั้วฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ดีและนักเรียนไทยในฝรั่งเศสสมัยดร.ตั้วฯ ก็ดีนั้น ทราบอยู่แล้วว่านักเรียนในสวิตเซอร์แลนด์สมัยนั้นรวมทั้งดร.ตั้วฯ ด้วยเป็นนักเรียนในความดูแลของสถานทูตสยามประจำกรุงปารีสซึ่งได้จัดให้นักเรียนไทยจากสวิตเซอร์แลนด์ได้มาพักผ่อนในกรุงปารีสปีละ 2 ครั้ง คือระหว่างวันหยุดตรุษฝรั่งและวันหยุดเทศกาล “อินเตอร์”(ฝรั่งเศสเรียกว่า “Pâques”) และเมื่อได้มีสามัคยานุเคราะห์สมาคมขึ้นแล้วนักเรียนไทยจากสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้มาร่วมประชุมประจำปีระหว่างฤดูร้อนเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมอีกด้วย ผู้ใดจะชักชวนดร.ตั้วฯ คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นก็ไม่ต้องเดินทางจากปารีสเป็นระยะทางยาวประมาณ 600 กิโลเมตรจึงจะถึงที่อยู่ของนายตั้วฯ ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ ฉนั้นควรรอโอกาสที่นายตั้วฯเดินทางมาฝรั่งเศสในระหว่างเวลาหยุดเรียนดังกล่าวนั้น ผู้ชักชวนหรือ “ผู้ชักจูง” ก็จะประหยัดรายจ่ายได้มาก

อันที่จริงดร.ตั้วฯ พบปะสนทนากับปรีดีในระหว่างเวลาหลายปีก่อนที่ร.ท.ประยูรฯ ไปถึงปารีส และดร.ตั้วฯ เป็นกรรมการสามัคยานุเคราะห์สมาคมชุดที่ 3 ร่วมกับปรีดี

(4)

เหตุชักชวนหรือ “ชักจูง” นายแนบ พหลโยธิน

พล.ท.ประยูรฯไม่กล่าวถึงเหตุที่ท่านมักชวนนายแนบฯ ท่านกล่าวเพียงว่า “ข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวนดร.ตั้ว ลพานุกรม จากสวิตเซอร์แลนด์กับนายแนบ พหลโยธินซึ่ง

ศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในกรุงปารีสเข้ามาอีกผู้หนึ่ง

ข้าพเจ้า(ปรีดี)ขอให้ข้อสังเกตแก่ท่านที่ปรารถนาสัจจะว่าข้าพเจ้ารู้จักนายแนบฯ ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) ขณะที่นายแนบฯ อยู่ที่ “สโต๊กนิววิงตัน” ชานกรุงลอนดอน และขณะนั้น ร.ท.ประยูรฯ ยังอยู่ในเมืองไทย

ต่อมาในค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2408) นายแนบฯ สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว ท่านพี่เขยของนายแนบฯ คือ ท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ขณะเป็น “พระยาจินดาภิรมย์” อธิบดีศาลฎีกาได้สนับสนุนให้นายแนบฯ เดินทางมาฝรั่งเศสเพื่อพบกับปรีดีปรึกษาถึงการที่นายแนบฯ ต้องการศึกษาต่อเพื่อได้ปริญญาเอกมหาวิทยาลัยปารีส ข้าพเจ้าก็ได้ให้คำแนะนำตามสมควร นายแนบฯ จึงย้ายจากอังกฤษมาอยู่ในปารีสซึ่งข้าพเจ้าในฐานะสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคมได้จัดให้นายแนบฯ มาอาศัยอยู่ในเขตเดียวกับข้าพเจ้า นายแนบฯ จึงสนิทสนมกับข้าพเจ้าทั้งในด้านเพื่อนและในด้านแนะนำการศึกษา ข้าพเจ้าขอให้เกียรตินายแนบฯ ว่าเราต่างปรารภกันแล้วตกลงกันที่จะเปลี่ยนการปกครองฯ.

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรคตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :