Focus
- ชัยธวัช ตุลาธน เสนอว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นประมุขอยู่เพียงแต่ว่าเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดย ‘ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง’ ไม่ใช้อำนาจทางการเมืองหรือการบริหารด้วยพระองค์เอง โดยใช้รูปแบบการเมืองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งยึดหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา (Parliamentary Supremacy) ปัจจุบันนี้ภารกิจดังกล่าวนี้ก็ยังไม่สำเร็จ
- ในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยไม่มีทางสมบูรณ์ได้ เสนอว่าระบอบประชาธิปไตยอาจจะเป็นโครงการที่ไม่สิ้นสุด หมายความว่า แม้ว่าเราจะผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยในแง่หลักการพื้นฐานแล้ว เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว การต่อสู้ทางประชาธิปไตยก็จะลึกลงไปเรื่อยๆ ซับซ้อนลงไปเรื่อย ๆ อีก
- ใจความสำคัญของบทความคือ เรื่องเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตยในความหมายที่ว่า เราไม่มีความขัดแย้งหรือความเห็นต่างกัน อาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือทั่วโลก และอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรนึกถึงสังคมไหนๆ เลยที่มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดทุกเรื่องใช่ไหม ถ้าอยากเห็นเอกภาพในความหมายนั้นมันอาจจะกลายเป็นสังคมที่ไม่พึงปรารถนาก็ได้ เพราะฉะนั้น ผมว่าความคิดเห็นแตกต่าง เป็นเรื่องปกติ และควรจะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยด้วย แล้วก็ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไม่ว่าในประเทศไทยหรือทั่วโลก ก็เป็นเรื่องปกติที่เราไม่มีเอกภาพสมบูรณ์ขนาดนั้น เพียงแต่ว่าแน่นอน ในแต่ละช่วงระยะเวลามันอาจจะมีประเด็นร่วม เป็นประเด็นร่วมของแต่ละกลุ่มที่ แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันในรายละเอียดบางประเด็น ก็สามารถร่วมกันได้ในแต่ละยุคสมัยในแต่ละบริบท
วรรณภา ติระสังขะ
ภาพกว้างของความมุ่งหมาย บทเรียนจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 24 มิถุนายน ในสายตามุมมองของแต่ละท่านที่แต่ละท่านมีจุดยืน ตำแหน่งแห่งที่ นึกถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป ตั้งแต่วันนั้น 2475 จนถึงวันนี้เป็นอย่างไร
เราได้เรียนรู้อะไรจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ในขบวนการประชาธิปไตยความเป็นและหรือไม่เป็นเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตยสำคัญหรือไม่อย่างไร ท่านมองความเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันว่ายังมีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง เราจะสามารถเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตได้อย่างไร และเราจะหวังและไปถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้หรือไม่อย่างไร
ชัยธวัช ตุลาธน
เมื่อกี้คือคำถามแรก อันดับแรกต้องขออภัยสถาบันปรีดีด้วย และก็ผู้ฟังด้วยว่าหลังจากที่ได้ตบปากรับคำมาร่วมงานในวันนี้แต่มีงานอื่นมาแทรกต้องไปร่วมงานของรัฐสภาในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน คำถามยาวมาก ไม่ทราบว่าจะตอบครบไหม
สำหรับผมเองหากเราพูดถึง 24 มิถุนายน 2475 ความหมายมันคืออะไร สำหรับผมมันก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มันก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบที่ในยุคนั้นเรียกว่าระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ หลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคย คนยุคใหม่ทำไมเราไม่เรียกประชาธิปไตย เพราะในยุคนั้นประชาธิปไตยจะใช้เฉพาะสำหรับระบอบการเมืองที่ประมุขของรัฐมากจากการเลือกตั้งเท่านั้นของในยุคนั้น แต่ในยุคนี้ไม่จำกัดอยู่เพียงเท่านั้นแล้ว ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดีใช้คำนี้อยู่บ่อยๆ คือ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ”
หนึ่งคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ยังมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ แต่เพียงว่าทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แล้วก็ ‘ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง’ ไม่ใช้อำนาจในทางการเมืองและการบริหารด้วยพระองค์เอง และใช้รูปแบบการเมืองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภายึดหลักการเรื่อง อำนาจสูงสุดของรัฐสภา หรือ Parliamentary Supremacy นั่นก็คือ เป็นเจตนาเป็นความหมาย ซึ่งก็ต้องบอกว่าสุดท้ายเวลาผ่านไปภารกิจนี้ก็ยังไม่สำเร็จ แล้วก็บทบาทของคณะราษฎรที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง เรียกว่า ถูกจำกัด และประสบความพ่ายแพ้ในทางการเมืองที่เป็นจริงหลังรัฐประหารครั้งแรกที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญในปี 2489 เพื่อจบบทบาทของคณะราษฎร เรียกว่า อาจจะโดยสมบูรณ์อย่างเป็นทางการในช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
ในระหว่างทางตั้งแต่เริ่มแรกก็การอภิวัฒน์หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ถูกตอบโต้ตลอดเวลานับตั้งแต่ปีแรก นำโดยกลุ่มที่เรียกว่า Ultra-royalist หรือที่ท่านอาจารย์ปรีดีเรียกว่า ‘ผู้เกินกว่าราชา’ ซึ่งการโต้การอภิวัฒน์ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนระบอบใหม่คือ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ราชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนเดิมเพียงแต่พยายามที่จะปรับแต่งใหม่ ทำให้ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญกลายไปเป็นระบอบอื่นแบบแอบแฝงซึ่งอาจจะเรียกได้หลายชื่อ ปัจจุบันชื่อล่าสุด ที่ผมเริ่มเห็นมีการเรียกถึงอย่างเป็นระบบมากขึ้น ‘ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’ เปลี่ยนคำว่า ‘ใต้’ เป็น ‘ตาม’ ซึ่งนี่ก็น่าสนใจสำหรับนักวิชาการหรือนักประชาธิปไตยที่ต้องศึกษาติดตามต่อไปว่ามันคืออะไร วันนี้ก็มีการฉายภาพยนตร์โต้อภิวัฒน์ 2475 ในโรงหนังแข่งกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ ต้องยอมรับว่าภารกิจ จุดมุ่งหมายในการอภิวัฒน์ 2475 นั้นยังไม่สำเร็จและยังมีการต่อสู้โต้กันไปโต้กันมาอยู่ตลอดเวลา นั่นคือประการที่หนึ่ง
ถามว่า ในคำถามสุดท้ายว่า ‘เราจะไปประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ไหม’ คือ คิดว่าประชาธิปไตยมันอาจจะไม่มีทางสมบูรณ์ ในความเข้าใจของผม ที่อาจารย์ปรีดีพูดถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ จุดเน้นท่านเน้นว่ามันไม่ใช่ในมิติการเมืองเท่านั้น แต่ต้องประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจด้วย ต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจด้วย อันนี้เป็นความหมายอันเป็นสาระสำคัญของอาจารย์ปรีดี แต่อยากจะบอกว่าไม่ว่าความหมายนี้หรือความหมายที่กว้างกว่านั้น ระบอบประชาธิปไตยอาจจะเป็นโครงการที่ไม่สิ้นสุด หมายความว่า แม้ว่าเราจะผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยในแง่หลักการพื้นฐานแล้ว เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว การต่อสู้ทางประชาธิปไตยก็จะลึกลงไปเรื่อยๆ ซับซ้อนลงไปเรื่อยๆ อีก
สมมติว่าเรื่องประชาธิปไตยในทางการเมืองขั้นพื้นฐานเราไม่มีปัญหาแล้ว เราก็ต้องไปต่อสู้กันอีก ประชาธิปไตยทางเพศ ประชาธิปไตยทางอาหาร ประชาธิปไตยทางภูมิอากาศ ไม่รู้ว่าจะลึกไปถึงแบบไหนใช่ไหม เราอาจจะต้องพูดถึงในยุคสมัยอนาคต พูดกันประชาธิปไตยทางดิจิทัล ทางเทคโนโลยี คุณจะเอายังไงกับ AI (อัลกอลิทึม) ไปถึงเรื่องนู้น เพราะฉะนั้นเนี่ย มันไม่สิ้นสุด คือถ้า เมื่อไม่กี่วันนี้เราดีใจเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช่ไหม ถ้าเราเอาเรื่องนี้เข้าไปถามคณะราษฎรในยุคนั้น อาจจะต่อต้านก็ได้นึกออกไหม คือ ชุดคุณค่ามันเปลี่ยนไปตลอดเวลาตามยุคสมัย ดังนั้นก็ต้องบอกว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์ อาจจะบรรลุเมื่อไหร่ก็คงบอกไม่ได้ มีแต่ว่าเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ ลงลึกไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าประเทศไทยนั้นเรายังสู้กันในเรื่องประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานกันอยู่เลยแค่นั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสะท้อนใจ
ประเด็นถัดไปผมเข้าใจว่า ดูหัวข้อวันนี้แล้วดูเหมือนผู้จัดให้ความสำคัญหรือมีความกังวลหรือคำถามตัวโตๆ เกี่ยวกับความขัดแย้งในฝ่ายประชาธิปไตยในขบวนการประชาธิปไตยทั้งมิติของพรรคการเมือง นักกิจกรรมทางการเมือง ปัญญาชน รวมถึงประชาชนฝ่ายต่างๆ ตั้งหัวข้อมาว่าเป็นเรื่อง ‘เอกภาพ’ เอกภาพในขบวนการประชาธิปไตย ทีนี้ผมเองคิดอย่างไรกับเรื่องเอกภาพในความหมายนี้ แน่นอนในเรื่องเอกภาพมันก็มีความสำคัญ อย่างเราพูดง่ายๆ สามัคคี คือพลัง ถ้าเรามีความเป็นเอกภาพ เรามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมันก็มีพลังมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ของผม ผมอาจจะมีประสบการณ์น้อยสุดบนเวทีนี้ แต่ว่าผมคิดว่า เอกภาพของขบวนการประชาธิปไตยในความหมายที่ว่า เราไม่มีความขัดแย้งหรือความเห็นต่างกัน อาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือทั่วโลก และอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรนึกถึงสังคมไหนๆ เลยที่มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดทุกเรื่องใช่ไหม ถ้าอยากเห็นเอกภาพในความหมายนั้นมันอาจจะกลายเป็นสังคมที่ไม่พึงปรารถนาก็ได้
เพราะฉะนั้น ผมว่าความคิดเห็นแตกต่างเป็นเรื่องปกติ และควรจะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยด้วย แล้วก็ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไม่ว่าในประเทศไทยหรือทั่วโลก ก็เป็นเรื่องปกติที่เราไม่มีเอกภาพสมบูรณ์ขนาดนั้น เพียงแต่ว่าแน่นอน ในแต่ละช่วงระยะเวลามันอาจจะมีประเด็นร่วมของแต่ละกลุ่มที่แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันในรายละเอียดบางประเด็น ก็สามารถร่วมกันได้ในแต่ละยุคสมัยในแต่ละบริบททางการเมือง แต่สิ่งที่ผมคิดว่าอาจจะสำคัญกว่าเอกภาพในความหมาย คือ ผมคิดว่าขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไปของเอกภาพในมิติที่เป็นเอกภาพระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ และนี่อาจจะเป็นปัญหาอันหนึ่งในขบวนการประชาธิปไตยของไทยในยุคสมัยที่ผ่านมาด้วยอย่างน้อยในยุคสมัยที่ผมอาจจะได้มีประสบการณ์สัมผัสโดยตรง
ซึ่งผมว่าสำคัญ คือการผลักดันเพื่อประชาธิปไตยในแต่ละกลุ่ม ในแต่ละพรรคการเมือง ในแต่ละฝักฝ่ายประชาชนแต่ละกลุ่มอาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนกันถูกไหมครับ เป้าหมายสุดท้ายอาจจะไม่เหมือนกัน วิธีการคิดแตกต่างกันได้ แต่ผมคิดว่าการผลักดันแต่ละเรื่อง เราอาจจะมีท่าทีและจุดยืนไม่เหมือนกัน ในแต่ละสถานการณ์ บางคนบางกลุ่มอาจจะเห็นว่าบางเรื่องเร็วไป บางเรื่องช้าไป เรื่องนี้ต้องถอยไว้ก่อน เรื่องนี้ต้องรุกไว้ก่อน เรื่องนี้ยังไม่จำเป็นใช่ไหม แต่ไม่ว่าจะเห็นยังไง วิธีการมันยืดหยุ่นได้ พลิกแพลงได้ตามสถานการณ์ แต่ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไรในทุกจังวะก้าวต้องไม่ไปลดทอนเป้าหมาย คุณค่าที่เราอยากเห็น ยังไปไม่ถึงไม่เป็นไร ไปยอดมะพร้าวไม่เป็นไร ยังไม่ถึงดวงดาวแต่ไปแค่ยอดมะพร้าว การไปยอดมะพร้าวต้องไม่เป็นการไปโดยไปลดทอน ทำลาย คุณค่าของเป้าหมายที่เราอยากไป หรือร้ายกว่านั้นไปดึงให้เป้าหมายนั้นไปทำให้เกิดอุปสรรคที่เราจะไปถึง ผมให้ความสำคัญตรงนี้
ก่อนจะมีคำถามอีกสักเล็กน้อยเพราะผู้จัดอยากให้ผมสะท้อนประสบการณ์ในยุคที่ผมเติบโตมา ก็คือหลังสุดเลยตั้งแต่ 2535 เป็นต้นมา ผมคิดว่าเรื่องมันเยอะมาก จะพูดยังไงให้กระชับแต่ผมให้ภาพรวมๆ อย่างนี้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะสะท้อนปัญหาให้เห็นอย่างที่ผมพูดหลังพฤษภา’35 เป็นต้นมา แน่นอนว่าเพิ่งผ่านการต่อสู้ที่เราเรียกว่าเราขับไล่ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ขับไล่นายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะปฏิวัติที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ตอนนั้นเราชูคำขวัญว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง พอสุจินดาลงจากตำแหน่งทางแกนนำประชาธิปไตยที่ขับไล่สุจินดาเพิ่งชูคำขวัญว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพอหันไปมองนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ในสภาฯ ก็ไม่อยากได้ ไม่กี่วันหลังจากนั้นมีบางกลุ่มเรียกร้อง ‘นายกพระราชทาน’ อยากได้นายกคนดีมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นไหม ขบวนการประชาธิปไตยเรามีอะไรแบบนี้เสมอ แล้วสุดท้ายเราก็ได้ คุณอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพในสมัยที่สองแล้วเราก็แฮปปี้กันหมด อันนี้เป็นความน่าสนใจของขบวนการประชาธิปไตยในยุคนั้น
ในยุคนั้น (พฤษภา’35) คืออะไร พูดง่ายๆ ก็คือ สุดท้าย “เราก็ไม่อยากได้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร” แต่ในขณะเดียวกันขบวนการประชาธิปไตยไทยก็ไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนี่ยังเป็นปัญหาที่ยังสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐประหารเมื่อปี 2534 ที่จริงมีคนต่อต้านคณะรัฐประหารน้อยมาก คนส่วนใหญ่ดีใจเพราะได้ขับไล่รัฐบาลที่เราเห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นบุฟเฟต์คาบิเน็ต (Buffet Cabinet) แล้วหลังจากปี 2535 เป็นต้นมา หมุดหมายสำคัญการปฏิรูปธงเขียว คือมีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 นะครับ แล้วเราเคยยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด
แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไป ประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาด้วยวิธีคิดที่มีปัญหาจนมาถึงปัจจุบันบางส่วนด้วย บางส่วนด้วยก็คือ ยอมรับแหละว่าต้องมีประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง อยากเห็นรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน ไม่ไว้วางใจนักการเมืองจากการเลือกตั้งก็เลยออกแบบองค์กรอิสระเต็มไปหมดโดยหวังว่าองค์กรพวกนี่แหละจะมาตรวจสอบ กำกับ ควบคุมนักการเมืองเลวๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง ความคิดแบบนี้ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ น่าสนใจนะครับว่าไม่มีการพูดถึงการเพิ่มอำนาจสูงสุดของรัฐสภาเลย ไม่สนใจรัฐสภาด้วยว่าควรจะมีอำนาจแค่ไหน แต่เห็นชอบอยากยิ่งกับการพยายามที่จะลดอำนาจของสภาฯ ลดอำนาจของผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง ไปเพิ่มอำนาจให้นายกฯ แต่ลดอำนาจสภาผู้แทนราษฎรลงนี่เป็นตัวอย่างของความย้อนแย้ง
ขณะที่นอกสภานั้นในยุคสมัยนั้น ในทางความคิดที่เติบโตมาก คือความคิดที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง เกิดขึ้นจากบริบทอย่างที่ผมบอก คือมาจากความไม่ไว้วางใจลักษณะที่เป็นประชาธิปไตย เป็นหัวก้าวหน้า ไม่เอาเผด็จการ แน่นอนว่าไม่เอากลุ่มทุนผูกขาด ต้องการความเป็นธรรม แต่ไม่มีความเชื่อมันและศรัทธราในประชาธิปไตยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่คาดหวัง ไม่เอาความหวังไปฝากไว้ประชาธิปไตยตัวแทน ซึ่งเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามากในต่างประเทศ แต่ในบริบทสังคมไทยมีปัญหา เพราะว่าโดยไม่ตั้งใจ แนวคิดแบบนี้กลายไปหนุนเสริมการลดทอน และทำลายอำนาจการเมืองของพี่น้องประชาชนที่แสดงออกผ่านระบบรัฐสภา ผ่านการเลือกตั้งซึ่งยังเป็นปมปัญหาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น หลายคนที่เราเห็นว่าไปเป็นเคยเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้า นักกิจกรรมทางการเมืองหัวก้าวหน้า แล้วทำไมไปเป็นเสื้อเหลืองเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันมีรากโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่ทราบที่ไปด้วยกันกับกลุ่มอนุรักษนิยมซึ่งต่อต้าน ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างที่คณะราษฎรอยากสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไปด้วยกันได้เลยนะครับคือ ลดทอนความสำคัญของระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อันนี้ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญจนถึงทุกวันนี้อยู่ ดังนั้น จึงเป็นตัวอย่างว่าวิธีการและเป้าหมายคือคุณตรวจสอบรัฐบาลที่คุณไม่ชอบได้ แต่ต้องไม่เลยเส้นที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์จนไปทำลายความชอบธรรมประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งเสียเอง อันนี้เบื้องต้นผมขอแค่นี้ก่อน
วรรณภา ติระสังขะ
ภารกิจที่ยังไม่สำเร็จแบบนี้ และรวมถึงการไม่ไปลดทอนของการทำงาน วิธีการอื่นๆ ในขบวนการประชาธิปไตย บทบาทของพรรคการเมืองที่ดี ที่ควรจะเป็น หรือที่จะเป็นตัวแสดงหนึ่งในการขับเคลื่อนหรือขบวนการประชาธิปไตย ควรจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง
ชัยธวัช ตุลาธน
ต่อจากเมื่อครู่อีกสักนิดหนึ่งและเอามาเชื่อมโยงกับเรื่องพรรคการเมืองว่าความความลักลั่น ความมีปัญหาในด้านอีกฝั่งก็มี พอเราปกป้องนักการเมืองจากการเลือกตั้งมากๆ จากการต้านรัฐประหารแล้วมันมีช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลายปีตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาทำให้เกิดการปกป้องพิทักษ์นักการเมืองจากการเลือกตั้งแบบสุดขั้วไปอีกแบบ ในแบบที่แตะไม่ได้ ถ้าแตะเท่ากับคุณเป็นอนุรักษนิยม ถ้าคุณวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองที่เป็นอยู่เท่ากับคุณเป็นฝ่ายรัฐประหาร เสื้อเหลือง อันนี้ก็สวิง (Swing) ไปอีกแบบนึง
ทีนี้กลับมาตรงนี้กลับมาคำถามของอาจารย์เมื่อกี้ว่า พรรคการเมืองจะมีบทบาทอย่างไร คิดว่าในบริบทปัจจุบันคือช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเห็นชัดว่า ปมความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญมากๆ ก็คือ การปะทะกันระหว่างในแง่ของอำนาจว่าอำนาจสูงสุดในประเทศนี้อยู่ที่ใคร เป็นอำนาจของประชาชน หรืออำนาจอื่นที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน โดยพื้นที่ที่แสดงออกอย่างมีนัยยะสำคัญมากๆ ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาที่ต่อสู้กันตอนนี้ในเชิงสถาบันทางการเมืองดังนั้นเมื่อพื้นที่ของสภาฯ เป็นพื้นที่สำคัญมากๆ ในบริบทความขัดแย้งในปัจจุบัน พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญมากตามตัวไปด้วย ซึ่งเป็นบรรยากาศทางการเมืองที่ความคิดต่างไปมากจากยุคที่ผมเรียกว่า ความคิดแบบประชาธิปไตยทางตรงเฟื่องฟู ยุคนั้นผมพูดได้เลยว่านักวิชาการ ปัญญาชน หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวก้าวหน้าแทบไม่สนใจเรื่องการออกแบบสถาบันทางการเมือง แทบไม่สนใจ ไม่ให้ค่า แต่ในยุคปัจจุบันสำคัญมากๆ ทุกรายละเอียด และพรรคการเมืองจะมีบทบาทสำคัญ
ดังนั้น ก่อนที่จะบอกว่าพรรคการเมืองจะมีบทบาทอย่างไร ผมบอกว่า สำหรับพี่น้องประชาชนแล้วพรรคการเมืองมีความสำคัญมากๆ และละทิ้งไม่ได้ ถ้าพรรคการเมืองที่มีอยู่ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการและเป้าหมายทางประชาธิปไตย เป้าหมายของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ได้ก็ต้องช่วยกันสร้างพรรคการเมืองแบบนั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง ช่วยกันทำ ไม่สามารถละทิ้งพรรคการเมืองได้ ผมคิดว่าแล้วพรรคการเมืองทำอะไรได้บ้าง ในบริบทแบบนี้สิ่งที่พรรคการเมืองทำได้ แน่นอนว่าต้องต่อสู้ผลักดันวาระประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมในระดับในเชิงระบบ และเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าเราจะต้องผลักดันการปฏิรูปกองทัพ ผลักดันการออกแบบสถาบันทางการเมืองใหม่ ไม่ว่าจะรูปแบบรัฐธรรมนูญหรือการตีความกฎหมายอะไรแบบนี้เพื่อเพิ่มอำนาจของประชาชนไปให้ได้เรื่อยๆ ในขณะเดียวกันถ้าพรรคการเมืองเราเข้าใจภูมิหลังของปัญหาของประชาธิปไตยอย่างที่บอกว่ามันไม่ได้มีปัญหาอย่างเดียวว่ามีฝั่งอนุรักษนิยมที่คอยทำลายประชาธิปไตยแต่มันมีปัญหาอีกแง่หนึ่งด้วยที่ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของพรรคการเมืองรวมถึงนักการเมืองมันที่หลายสิบปีที่ผ่านมามันไม่สามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้ ดังนั้น มันจึงสุ่มเสี่ยงในเวลาที่เกิดวิกฤติ เกิดปัญหาทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนไม่สนใจที่จะปกป้องระบบรัฐสภา ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง รวมถึงไม่ปกป้องพรรคการเมืองด้วย
ดังนั้น พรรคการเมืองนอกจากจะไปผลักดันวาระประชาธิปไตยแล้วต้องมีส่วนสำคัญในการกลับมาสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนต่อระบบรัฐสภาให้ได้ ส่วนจะมีความคิดเห็นแตกต่างนั้น ผมคิดว่าความคิดเห็นแตกต่างกันนั้นต้องไม่นำไปสู่การใช้วิธีการที่ไปลดทอนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเสียเอง ผมยกตัวอย่าง พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน แน่นอนเรามีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ มีหลายเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยแต่เรามีเส้นของมันอยู่แต่เราจะไม่ค้าน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายบริหารด้วยวิธีการอะไรก็ได้ ถ้าเราเห็นว่าวิธีการแบบนี้ ความคิดแบบนี้มันชวนให้สังคมเลี้ยวขวา หรือยูเทิร์นห่างออกจากคุณค่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยเราต้องไม่ทำ ยกเป็นตัวอย่าง คือเวลามันไม่มาก อาจเล่าให้เป็นรูปธรรม เห็นชัดมากขึ้นได้
วรรณภา ติระสังขะ
ภารกิจที่ยังไม่สำเร็จและพวกเราก็เป็นส่วนหนึ่ง รวมถึงพรรคการเมือง บทบาทของพรรคการเมือง บทบาทของประชาชน แล้วก็คิดว่าการสร้างดุลยภาพที่สำคัญของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ดึงกันไปดึงกันมาให้ได้ดุลมากที่สุด และไม่ลดทอนกันและกันเอง ก็ควรส่งเสริมกันและกัน เป็นสิ่งที่คุณชัยธวัชฝากไว้ให้กับพวกเรา
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/YVb4lfLzWIE?si=YxynccePR8-K5Juj
ที่มา : PRIDI Talk #26: 92 ปี อภิวัฒน์สยาม “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” เนื่องในวาระ 92 ปี อภิวัฒน์สยาม วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น.-17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์