ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความมุ่งหมายของการสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยามโดย คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน

4
สิงหาคม
2567

Focus

  • การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยามโดยคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน เป็นผลงานการแปลชิ้นสำคัญของนายซิม วีระไวทยะ งานชิ้นนี้เป็นงานสำรวจเศรษฐกิจสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฉบับสมบูรณ์ชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของชาวสยามในภูมิภาคและท้องถิ่น
  • งานชิ้นนี้ของคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน เป็นงานสำรวจทางเศรษฐกิจที่นายปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎรได้นำมาอ้างถึงเป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจเพื่อการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ว่าเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงการกระจายอำนาจและทรัพยากรสู่ท้องถิ่นสยามส่งผลให้ราษฎรทุกข์ยาก และยากไร้โดยรัฐไทยควรจะกระจายความเสมอภาคทางเศรษฐกิจให้แก่ราษฎรทั่วทั้งประเทศ

 


การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยามโดยคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน เป็นผลงานการแปลชิ้นสำคัญของนายซิม วีระไวทยะ ในปี 2477
ที่มา : หอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 

 

บทนำ

การสํารวจนี้เรียกว่า “การสํารวจปัญหาเศรษฐกิจตาม ชนบทในประเทศสยาม” เนื่องด้วยความเป็นไปและลักษณะ ของประเทศต่างกันทุกภาค การสํารวจนี้จึงกว้างขวางกว่าการ สํารวจท้องที่ ในชนบทโดยฉะเพาะ เหตนในชั้นแรกก่อนที่ จะลงมือสํารวจ จึงจําเป็นต้องวางโครงการและความมุ่งหมาย ของการสํารวจไว้ เพื่อคัดเลือกลักษณะสําคัญแห่งประพฤติ เหตุต่าง ๆ มาประกอบกับการพิจารณาในการเรียบเรียงรายงาน

 

ลักษณะแห่งการสํารวจ

ความมุ่งหมายของการสํารวจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าความ เป็นอยู่ในชนบทเกี่ยวข้องแก่โภคทรัพย์ของประเทศและความ เจริญอย่างไร เหตุที่ต้องสนใจในความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ของชาวชนบทนั้น ก็เพราะว่าชาวชนบทเป็นชนชั้นสําคัญที่สุดของประเทศสยาม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศต้อง อาศัยความสมบูรณ์ และลักษณะแห่งความเป็นอยู่ของราษฎร ชั้นนนี้เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะเช่นนี้มิใช่เป็นแต่ประเทศสยามประเทศเดียวเท่านั้น ประเทศอื่น ๆ ในทวีปอาเซียและประเทศ ตะวันตกก็ย่อมอาศัยความเป็นอยู่ของราษฎรชาวชนบทเช่นเดียวกัน แม้แต่ประเทศที่มีเมืองใหญ่ ๆ อันเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศเป็นจํานวนมาก ไม่เร็วก็ช้าจะเห็นว่าลักษณะแห่งการเศรษฐกิจและการสมาคมของชุมนุมชน เช่นนั้น ต้องมีความสัมพันธ์กับลักษณะแห่งเศรษฐกิจและการสมาคมของราษฎรชาวชนบท

ความมุ่งหมายอันสูงในการสํารวจนี้บรรลุความสําเร็จพร้อมด้วยการรวบรวมและจําแนกข้อความต่างๆ และทั้งได้วางโครงการทํานุบํารุงให้ประเทศเจริญยิ่งขึ้นด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง จึงหวังว่าประชาชนจะเอาใจใส่ในรายงาน ซึ่งได้รวบรวมขึ้นไว้นี้อย่างจริงจัง และคงจะพิจารณาให้ทราบซึ้ง ถึงความสําคัญแห่งงานนี้ด้วย ข้อความในรายงานนี้อาจจะพลั้งเผลอไปหรือคลาดเคลื่อนได้บ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะมีเวลาน้อยสําหรับเรียบเรียงรายงานนี้เทียบกับโครงการแห่งการสํารวจที่กําหนดไว้ในชั้นต้น จึงหวังว่าผู้อ่านทั้งหลายจะไม่ด่วนทอดทิ้งรายงานนี้เลยทีเดียว คงจะตัดทอนฉะเพาะส่วนที่พลาดพลั้งออกเสียและถือว่าส่วนที่เหลืออยู่นั้นเป็น ข้อความที่ถูกต้องสําหรับใช้ในการบํารุงความเจริญของประเทศสยามในภายหน้า นอกจากนี้ยังหวังต่อไปว่ารายงานนี้จะไม่ถูกทอดทิ้งเสียทั้งหมดที่เดียว แม้ความเห็นนี้จะแตกต่างกับความเห็นของท่านที่สนใจในเรื่องต่างๆ อันเกี่ยวกับความเจริญของประเทศ เพราะว่าความเป็นไปของมนุษย์เรานี้ซับซ้อนกันมากและเป็นของที่เข้าใจยาก คณะสํารวจได้พยายามสอดส่องดูความเจริญ ของ ประเทศสยามเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้พิจารณาจากหลักว่า “มีอะไรที่จะต้องทําบ้าง” อย่างเดียวไม่ แต่ได้วินิจฉัยอย่างรอบคอบจากหลักว่า “มีอะไรที่จะทําได้ บ้าง” เป็นสําคัญและหลักเกณฑ์อันนี้ (“อะไรที่จะทําได้บ้าง”) ได้พิจารณาตามสติปัญญาของมนุษย์และลักษณะการ ของเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่ในทุก ๆ ประเทศในยามขับขันเช่นว่านี้

ก่อนที่จะบรรยายถึงวิธีสํารวจจําเป็นต้องชี้แจงให้ทราบว่าความเห็นในรายงานนี้กับสภาพแห่งความจริงที่ปรากฏในรายงานนี้กับสภาพแห่งความจริงที่ปรากฏในรายงานนี้ มิได้มุ่งหมายจะให้เป็นการกระทบกระเทือนแก่สยามอย่างใดเลย[1] ประเทศใดที่เจริญและมีรัฐบาลที่สามารถและแข็งแรงอย่างประเทศสยาม ย่อมเต็มใจให้สํารวจปัญหาต่าง ๆ ในทางเศรษฐกิจอย่างเปิดเผยและพยายามที่จะจัดการทํานุบํารุงประเทศตามแนวโครงการเศรษฐกิจเป็นกิจลักษณะผลของการสํารวจนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศสยามไม่มีเหตุผลที่จะต้องละอายในความเจริญเพียงเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ประเทศสยามเป็นประเทศ ที่มีความเจริญอยู่ในระดับไม่ต่ํา มีรัฐบาลที่มั่นคง โภคทรัพย์ของประเทศก็ได้ทวีขึ้นเป็นลําดับมีโอกาสที่จะรุ่งเรืองในอนาคตกาล ถ้าคํานวณดูอย่างถี่ถ้วนแล้วจะเห็นว่า รายได้คิดถัวและค่าใช้จ่ายสําหรับการกินอยู่ของชาวสยามสูงกว่าประเทศบางประเทศในทวีปเอเซีย

ถ้าหาก[2]ว่าประเทศสยามยังอยู่ล้าหลังในเวลานี้ เนื่องจากมีพลเมืองน้อยคิดเทียบกับขนาดของเนื้อที่ และมีอัตราตายสูงหรือขาดการทํานุบํารุงในทางโภคทรัพย์บางอย่างก็ไม่เป็นการยากที่จะค้นหาเหตุผล เพราะประเทศสยามขาดลักษณะบางอย่าง อันเป็นเหตุให้เสียเปรียบในทางโภคกิจ การกสิกรรมในประเทศสยาม ซึ่งราษฎรทํากันอยู่ในเวลานี้เป็นวิธีที่ใช้เนื้อที่เพาะปลูกมาก (extensive) ต่างกับวิธีที่ใช้เนื้อที่เพาะปลูกน้อยและพยายามทวีพืชผลให้ มากขึ้น (intensive) เช่นบางประเทศในทวีปอาเซียกําลังเริ่มใช้วิธีที่ 2 อยู่แต่ว่าเราต้องคิดว่าความเจริญและการก้าวหน้า แห่งกสิกรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง ย่อมดําเนินตามความสามารถในทางกสิกรรม นําเอาสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่มาใช้ในการก่อกําเนิดผลทางโภคทรัพย์[3](production)

ปัญหาแห่งการบํารุงกสิกรรมและโภคทรัพย์ของประเทศสยามนั้นมิใช่ จะเกี่ยวในข้อที่ร่างกายของพลเมืองไม่สมบูรณ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ย่อมเป็นปัญหาเกี่ยวแก่ช่องทางที่จะปฏิบัติในอนาคตอีกด้วย รายได้ของประเทศสยามในเวลานี้เหมาะกับความต้องการของพลเมืองฉะเพาะ ในเวลาปัจจุบันรายได้ของประชาชนมากขึ้นและจํานวนพลเมืองทวีขึ้น ความต้องการของพลเมืองก็ต้องเพิ่มขึ้น และโอกาสที่จะบํารุงโภคกิจตลอดจนการบํารุงประเทศก็จะทวีตาม

ลักษณะของการสํารวจอีกข้อหนึ่ง ก็คือการงานอันใหญ่ นี้เป็นการสํารวจขั้นแรกโดยวางหลักไว้อย่างกว้าง เพื่อให้ เกิดความสนใจในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ โดยฉะเพาะในภายหน้า เรื่องต่างๆที่จะต้องทําการสํารวจกันโดยฉะเพาะนั้น จะช่วยบํารุงความเจริญและเพิ่มพูนรายได้ของประชาชน จึงหวังว่าการสํารวจคราวนี้จะไม่เป็นการสํารวจครั้งสุดท้าย ในการสํารวจคราวนี้ได้พิจารณาถึงปัญหาต่าง ๆ จากความเห็น ของผู้ชํานาญในเรื่องนั้น ๆ รายงานนี้กล่าวถึงเรื่องต่าง ๆ เช่น รายได้เป็นตัวเงิน รายได้เป็นวัตถุ วิธีการเพาะปลูก การขายสินค้า กสิกรรม การหาเงินทุนสําหรับกสิกรรม และหนี้สินของชาวชนบท สุขภาพ อาหาร ปัญหาในทางเศรษฐกิจของภาคต่าง ๆ และปัญหาอื่น ๆ ที่สําคัญ

ในการสํารวจนี้ถึงแม้จะมีผู้ชํานาญ กระทําการร่วมมือด้วยกันหลายคนก็จริง แต่ก็เป็นการงานของคณะบุคคลซึ่งรวมกันเป็นคณะเดียว และรายงานที่เรียบเรียงขึ้นเป็นรายงานของคณะนี้ ข้อความต่าง ๆ อันเกี่ยวแก่การออกความเห็น ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานนี้ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนของบุคคลทั้งคณะ การสํารวจนี้ได้กระทําร่วมมือด้วยกันตั้งแต่ต้น มาไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งแยกออกจากคณะเลย นอกจากการสอบสวนเรื่องต่าง ๆ ตามหน้าที่ซึ่งแบ่งปันกันไว้แต่เดิมแล้วเจ้าหน้าที่ทุกคนยังต้องช่วยวินิจฉัยปัญหาอื่น ๆ อีกด้วย ผู้ที่ชํานาญในทางแพทย์มิได้ศึกษาฉะเพาะการงานในทางแพทย์อย่างเดียวแต่ได้พิจารณาความเป็นอยู่ในทางเศรษฐกิจและการกสิกรรมของประชาชนด้วย นักโภคศาสตร์ และนักกสิกรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ ได้สอบถามถึงความเป็นอยู่ของราษฎรในทางสาธารณสุขด้วยเหมือนกัน

รายงานนี้จะเปรียบคล้ายกับตึกซึ่งได้ก่อสร้างขึ้นเสร็จแล้ว คือได้ทดลองตรวจตราอย่างถี่ถ้วน และก่อสร้างโดยอาศัยกําลังของคณะตั้งแต่รากจนถึงหลังคา ไม่แต่เป็นเพียงเครื่องประกอบการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่บนพื้นดินเท่านั้น ยังเป็นเครื่องประกอบการก่อสร้างอื่น ๆ อีกด้วยแต่มีลักษณะคล้ายกับตึกซึ่งได้สร้างขึ้นเสร็จแล้ว คือได้ทดลองตรวจตราอย่างถี่ถ้วนและก่อสร้างโดยอาศัยกําลังของคณะตั้งแต่รากจนถึงหลังคา

ลักษณะสําคัญแห่งการสํารวจอีกอย่างหนึ่งคือ สํารวจนี้มิได้มุ่งฉะเพาะแต่การงานในทางปฏิบัติอย่างเดียวยังได้พิจารณาปัญหาต่าง ๆ ตามหลักวิชาการแห่งวิทยาศาสตร์ อันเป็นทางที่จะช่วยให้การงานในทางปฏิบัติเป็นผลสําเร็จในภายหน้าด้วยเหมือนกัน ข้อความซึ่งได้รวบรวมไว้และนํามากล่าวในรายงานนี้ได้คัดเลือกรวบรวมขึ้นเป็นหมวดเป็นหมู่และจําแนกออกเป็นรายการต่าง ๆ ตามวิธีแห่งวิทยาศาสตร์ ปัญหาต่าง ๆ ที่เห็นว่าสําคัญนั้น คณะนี้หาได้วินิจฉัยตามความคิดเห็นของตนฝ่ายเดียวไม่ แต่ได้อาศัยความเห็นและความแนะนําของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ เพื่อนํามาประกอบการเรียบเรียงรายงานนี้ด้วย

อนึ่งการสํารวจคราวนี้หาใช่เป็นการงาน ซึ่งมุ่งหมายรวบรวมผลต่าง ๆ และอาศัยความชํานาญของผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ไม่ ข้อความต่าง ๆ การรวบรวมและการจัดระเบียบทางสถิติอันปรากฎอยู่ในรายงานนี้สําเร็จได้ด้วยกําลังกายกําลังปัญญาของเจ้าหน้าที่ในคณะสํารวจ นับตั้งแต่หัวหน้าชนสูงลงมาจนถึงผู้ช่วยชั้นต่ำทั้งสิ้น

 


ภาพชาวนาในทุ่งรังสิตสมัยบุกเบิกยังไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ทำนาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ที่มา : เพจเมืองไทยวันนี้

 

ถึงแม้รายงานนี้จะได้กล่าวถึงความตกต่ําแห่งการกสิกรรมอันกระทบกระเทือนถึงฐานะของชาวนาและการที่ควรจะส่งเสริมการกสิกรรมให้ดียิ่งขึ้นก็ดี นอกจากนั้นยังแนะนำวิธีแก้ไขการตกต่ำในทางกสิกรรมอีกด้วย แต่การสํารวจคราวนี้ก็มิได้มุ่งหมายสํารวจฉะเพาะ ความตกต่ำแห่งการกสิกรรมแต่อย่างเดียวการสํารวจได้ใช้หลักอาศัยรายได้ในปีธรรมดาก่อนที่ราคาสินค้าตกต่ำทั่วประเทศสยามเป็นเกณฑ์ โดยเหตุนี้จึงจําเป็นต้องเอาผลที่ได้จากการกสิกรรม ในปี พ.ศ. 2472 (ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1930) เป็นหลักคํานวณรายได้และรายจ่ายสําหรับปี 2473 (ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1930 จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ.1931)

การที่คณะสํารวจต้องเลือกระยะเวลาที่กล่าวไว้ข้างต้นมาสอบถามรายได้และรายจ่ายของครอบครัวชาวนานั้น มีเหตุผลหลายประการ คือการสํารวจนี้ได้เริ่มทําเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2473 ก่อนเวลาที่ชาวนาเก็บเกี่ยวและขายข้าว ซึ่งทําไว้ในปี พ.ศ. 2472 ในระยะเวลา 1 ปีเต็ม จําเป็นต้องเก็บจํานวนรายได้จากการขายข้าวในปลายปี พ.ศ.2472 กับในต้นปี พ.ศ. 2473 เข้ามาพิจารณาและคํานวณด้วย ตามปกติชาวนาส่วนมากอาศัยเงินที่ได้จากการขายผลที่เก็บเกี่ยวได้ในปีก่อนสําหรับจับจ่ายใช้สอยในปีต่อไป ถ้าการปลูกข้าวในปีใดให้ผลดีชาวนาก็หมดหนี้สิน และมีเงินทองเหลืออยู่บ้างสําหรับใช้จ่าย ชาวนาหวังอยู่เสมอว่าการทำนาจะได้ผลดี และเตรียม เงินทองไว้เพื่อใช้จ่ายในการทํานา (ค่าจ้างแรงงาน) ตามที่เคยปฏิบัติมา ฉะนั้นเมื่อเอารายจ่ายในปีหลังที่สุดหักออกเสีย เงินที่เหลืออยู่ย่อมมาจากรายได้อันเนื่องจากการขายข้าวนั้นเอง

พอลงมือกระทําการสํารวจได้ไม่นาน ความตกต่ำทางโภคกิจก็เริ่มกระทบกระเทือนฐานะของชาวนา ถึงอย่างนั้นก็ดีคณะสํารวจได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะสํารวจความเป็นอยู่ของชาวชนบทตามปกติสภาพ โดยไม่คํานึงถึงความปั่นป่วนแห่งโภคกิจเลย และจะได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวนาในเวลาปกติ

ทั้งการสํารวจนี้จะได้ผล 2 ทางคือ

1.  การพิจารณา ผลของโภคภัย อันกระทบกระเทือน ฐานะแห่งเศรษฐกิจของชาวนา

2.  การพิจารณาความเป็นไปต่าง ๆ ในทางโภคกิจ ใน เมื่อกสิกรรมกลับฟื้นตัวและอยู่ในปกติสภาพ

การสํารวจนี้ได้ตกลงกันไว้แต่แรกว่าจะรวบรวมผลต่าง ๆ ที่สอบสวนได้จากทุกภาคในประเทศสยามสําหรับเวลา 1 ปี เพื่อนํามาพิจารณาในการเรียบเรียงรายงาน ถึงแม้ว่าสํารวจในภาคต่าง ๆ ได้ใช้เวลา 2 ปี ทําการติดต่อกัน คือ เริ่มกระทําการสํารวจตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2473 และเสร็จการสํารวจในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2474 การงานทุกอย่างที่คณะสํารวจได้กระทําไปนั้น ก็ได้อนุโลมตาม เวลาและแนวโครงการที่กําหนดไว้ในเบื้องต้น

แม้ว่าได้วางหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างรอบคอบไว้แล้ว คณะสํารวจก็ยังต้องประสพ ความลําบากหลายอย่างหลายประการ ตามที่ได้สอบถามจากปากค่าของชาวชนบท รายได้จากพืชผลในปีหลังที่สุด มักสับสนกับรายได้ในปีก่อน ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะราษฎรส่วนมากไม่สามารถแยกรายได้และรายจ่ายสําหรับปี พ.ศ. 2473 และปี พ.ศ. 2474 ให้ออกจากกันได้เลย ถึงกระนั้นก็ดี คณะสํารวจได้พยายามดําเนินตามหลักซึ่งวางไว้อยู่เสมอ โดยสอบถามรายได้จากพืชผลในปี พ.ศ. 2472 ให้ใกล้ชิดกับความจริงที่สุด การสํารวจในท้องที่ต่าง ๆ ได้เสร็จสิ้น เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2474

 


ภาพการค้าขายทางน้ำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ที่มา : เพจเมืองไทยวันนี้

 

การสํารวจนี้ถึงแม้จะอยู่ในเวลา โภคภัยก็ดี โครงการไว้แต่เบื้องต้นแล้ว สําหรับแผนงานที่ต้องใช้เวลา ทำนาน ราษฎรในประเทศสยามได้ทํานามาเป็นเวลาหลายร้อยปี บางปีได้ผลดี บางปีได้ผลเลว เช่นเดียวกับทําธุระการงานอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวแก่การค้ากําไร ความมุ่งหมายของคณะนี้คือ การสํารวจฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชนบทตามปกติ แต่ในระหว่างกระทําการสํารวจนี้ การตกต่ำทางโภคกิจได้บังเกิดขึ้น คณะสํารวจจึงต้องพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความฝืดเคืองในทางค้าขายอีกด้วย และออกความเห็นในการแก้ไขปัญหาอันยุ่งยากต่างๆ แต่ปัญหาแก้ความยุ่งยากในสมัยโภคภัยนี้  ใคร ๆ ย่อมทราบดีแล้วว่า วิธีป้องกันหรือกําจัดโรคภัยซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ เคยใช้นั้น ไม่สามารถแก้ไข ความปั่นป่วน ทางโภคกิจให้เบาบางลงได้ การกู้ฐานะในทางโภคกิจให้เข้าสู่สภาพเดิมนั้น จะต้องแก้ไขตามมูลเหตุอันก่อให้เกิดความผิดทั่วไป

วิธีบำบัดโภคภัยนี้จะต้องใช้เวลาช้านานและต้องทํานุบํารุงการอุตสาหกรรมของประเทศให้มั่นคง วิธีนี้เป็นวิธีที่แน่นอน และจะช่วยเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของประเทศ ถ้านานาประเทศ สามารถแก้ไขโภคภัยอันร้ายแรง ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต้องประสพให้เบาบางลงได้โดยเร็วก็จะเป็นสิ่งที่น่าชมเชย ถึงแม้ว่าในเวลานี้การก้าวหน้าแห่งโภคศาสตร์แพร่หลายทั่วโลก การตกต่ำแม้แต่ใครจะมิชอบก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ วิธีตั้งราคาสินค้าต่าง ๆ ในเวลาที่ฉุกเฉินให้อยู่คงที่ เพื่อป้องกัน ไม่ให้ราคานั้นตกลงไปอีก ไม่เคยเป็นผลสําเร็จ ถึงอย่างไรก็ดี การตกต่ำทางโภคกิจครั้งนี้เป็นบทเรียน และเป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีแก่นานาชาติและเอกชน ในการที่จะต้องค้นหาทางที่จะแก้ไขความปั่นป่วนนั้น ถ้าโภคภัยอันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จะบังเกิดขึ้นอีกในภายหน้า หรือเขยิบเวลาให้เนิ่นช้าออกไป ก็นับว่าชาติหรือเอกชนนั้นโดยทั่วไปได้เห็นเป็นการก้าวหน้าอย่างหนึ่ง

ลักษณะการตอนท้ายของการสํารวจนี้คณะสํารวจหาได้ศึกษาฉะเพาะประพฤติการณ์ในทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ตามวิธีของนักโภคศาสตร์บางท่านที่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ไม่ อีกประการหนึ่ง การสํารวจครั้งนี้เป็นการสํารวจทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างอื่น เพราะเหตุว่าทุกเรื่องได้พิจารณาตามหลักของเศรษฐกิจและสมาคมวิทยาอันเป็นทางที่ควรจะทํานุบํารุงประเทศสยาม

ในสิ่งสําคัญอย่างหนึ่งแห่งการทําให้เกิดโภคทรัพย์ คือแรงงานของมนุษย์ สิ่งที่เกี่ยวแก่ความสามารถของแรงงานนี้ คือสุขภาพแห่งร่างกาย อาหาร ศีลธรรมอันดีและโอกาสที่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมือง และโภคทรัพย์ ในทางเศรษฐกิจที่มีอยู่นั้นเป็น หลักสําคัญมานานแล้วสําหรับก่อกําเนิดโภคทรัพย์ และความสุขสมบูรณ์ ถ้าในตําบลใดมีโจรผู้ร้ายชุกชุม จนชาวบ้านต้องนําเอาสัตว์พาหนะของตนมารักษาในบ้าน แทนที่จะปล่อยให้อยู่ริมหนองหรือในป่าหญ้า ซึ่งไม่ห่างจากบ้านเท่าใด ในตําบลที่มีสภาพเช่นนั้นกําลังแรงสัตว์พาหนะย่อมลดถอยลง เนื่องจากอาหารไม่บริบูรณ์ และผลในทางโภคซึ่งชาวนาพึงจะได้รับจากนาแปลงนั้น ๆ ย่อมลดน้อยตามลงด้วย

ถ้าชาวนาจะต้องปลูก ห้างหรือกระท่อมไว้ใช้ในการเฝ้าข้าวในขณะที่กําลังเก็บเกี่ยวอยู่ เพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย ความสามารถของชาวนาในทางการงานจะลดหย่อนลง เพราะต้องสละแรงงานเพิ่มเติมในการที่ต้องออกไปเฝ้าข้าวในนาของตน ผลในทางโภคกิจซึ่งตนจะได้รับนั้นก็ขาดไป ในการสํารวจคราวนี้ใคร่ประสงค์จะแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในทางเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องกับความเป็นไปต่าง ๆ เหล่านี้

 

วิธีการสํารวจ

ผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ 4 กระทรวงได้มาประชุมกันโดยอนุมัติจากรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หัวหน้าคณะได้ร้องขอให้รัฐบาลจัดส่งผู้มีความชํานาญการงานแผนกต่าง ๆ มาช่วยในการสํารวจ คณะสํารวจได้ประชุมกัน ณ ที่กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นเวลา 1 เดือนเศษและได้ปรึกษาหารือกันถึงปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนการคิดร่างแบบสํารวจและการคัดเลือกตําบลตัวอย่าง ซึ่งจะกระทําการสํารวจ เจ้าหน้าที่เหล่านี้พร้อมด้วยผู้ช่วยกับผู้ชํานาญอื่น ๆ ได้ช่วยกันร่างแบบสํารวจสําหรับใช้สอบถามราษฎรในชนบท และได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมแล้ว แบบสํารวจเหล่านี้ ได้นําไปใช้ในตําบลต่าง ๆ เมื่อได้กระทําการสํารวจตําบลแรกเสร็จแล้ว ได้มีการแก้ไขแบบสํารวจให้เหมาะกับความเป็นอยู่ของชาวชนบทยิ่งขึ้น ข้อความใดที่เห็นว่าควรเพิ่มเติมก็ได้จัดการพิมพ์ขึ้น แล้วคุณสํารวจได้ออกไปสอบถามข้อความบางอย่างในตําบลแรกที่ยังบกพร่องอยู่อีกครั้งหนึ่ง การเรียบเรียงแบบสํารวจได้ใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะจะต้องเก็บนําข้อความที่สําคัญทั้งหมดมาใช้ในการเรียบเรียงรายงาน

เจ้าหน้าที่ทุกคนซึ่งทําการสํารวจได้ใช้ความระมัดระวังมากในการสอบถามข้อความต่าง ๆ และตรวจตราการงานที่ได้กระทําไปแล้วอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นระเบียบอันเดียวกันการงานทุกอย่าง อันเกี่ยวแก่การสํารวจได้สอบทาน และตรวจตราอย่างน้อย 2 ครั้ง ส่วนแบบสํารวจที่ได้ลงข้อความแล้วได้ตรวจทาน 3 ครั้ง ก่อนที่จะอนุญาตให้ราษฎรกลับไปบ้านได้ ที่ต้องปฏิบัติกันดังนี้ ก็เพราะจะป้องกันมิให้มีข้อบกพร่องอันเนื่องจากการซักถามข้อความอย่างเดียวกันเกิดขึ้นได้ หรือบางคราวอาจมีประพฤติเหตุที่สําคัญและควรจดจําไว้ เพื่อเอามาประกอบกับการพิจารณาความเป็นอยู่ของราษฎร การสํารวจตามวิธีนี้ถ้าใช้คนงานทํางานอย่างเดียวกันหลายคนจะไม่ได้ประโยชน์เท่าใด ถ้าผู้ซักถามตั้งคําถามต่าง ๆ โดยลําพังตนเอง ข้อความที่ซักถามได้นั้นอาจจะผิดเพี้ยนกัน โดยเหตุนี้การสํารวจเศรษฐกิจ ตามชนบทในครั้งนี้จึงต้องคอย กวดขันอยู่เสมอตั้งแต่ต้นมือจนเสร็จการสํารวจ

การติดต่อกับราษฎรนับว่าเป็นกิจการที่สําคัญเหมือนกัน วิธีเข้าใกล้ชิดราษฎร เพื่อซักถามข้อความต่าง ๆ มีอยู่ 2 วิธี  วิธีหนึ่งคือการใช้อํานาจของรัฐบาลบังคับให้ราษฎรตอบคําถามต่าง ๆ ตามความจริงวิธีที่ 2 คือ กระทําตนเสมอราษฎรซักถามข้อความต่าง ๆ คล้ายเพื่อนฝูง

ในอารยประเทศการสํารวจสํามะโนครัวดําเนินตามวิธีแรก โดยใช้อํานาจแห่งกฎหมาย ถ้าผู้ใดปฏิเสธการตอบคําถามหรือบอกข้อความซึ่งเจ้าพนักงานซักถามไม่ตรงกับความจริง รัฐบาลจะใช้อํานาจทางกฎหมายบังคับ ถึงแม้จะไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายการสํารวจเศรษฐกิจตามชนบทในประเทศสยามเป็นผลสําเร็จ ปราศจากอุปสรรคทั้งปวงนั้น เป็นเพราะความยําเกรงของราษฎร ซึ่งมีต่อเจ้าหน้าที่ประการหนึ่งและเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนแสดงตนเป็นกันเองกับราษฎรอีกประการหนึ่ง ชาวนาไทย (คนที่อาศัยอยู่ในเมือง ก็เป็นเช่นเดียวกัน) มีลักษณะอันดีอยู่ 2 ประการ คือมีความเคารพยําเกรงต่อรัฐบาลและศาสนา ทั้งนี้เป็นเพราะได้รับความอบรมอันดีมาเป็นเวลาช้านาน การสํารวจคราวนี้ได้รับความช่วยเหลือ และเอื้อเฟื้อจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และความอนุเคราะห์ของคณะสงฆ์เป็นอย่างดี เจ้าพนักงานได้อาศัยศาลาวัดเป็นที่ประชุมราษฎร พระสงฆ์ได้ช่วยเหลือชัดเจนและชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจความประสงค์ของการสํารวจอย่างชัดเจน

นอกจากอาศัยอํานาจแห่งรัฐบาล และความเลื่อมใสในทางศาสนาแล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งทําการสํารวจยังได้แสดงตนเป็นกันเองกับราษฎรโดยประสงค์จะให้ราษฎรบอกความจริงมากที่สุด ก่อนเริ่มสอบถามราษฎรเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ชี้แจง ให้หัวหน้าครอบครัวเข้าใจความประสงค์ของการสํารวจอย่างชัดนายแพทย์ได้ตรวจโรค ผู้ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวทุกคน นอกจากนั้นยังแจกยาให้อีกด้วย โดยไม่เรียกร้องเอาเงินค่ายานั้นเลย แพทย์หลวงและแพทย์จังหวัด ซึ่งรับราชการในจังหวัดต่าง ๆ ได้มาสมทบกับคณะสํารวจในขณะที่ทําการสํารวจในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อช่วยในการตรวจโรคต่างๆ บางคราวนายแพทย์ที่อยู่ในคณะสํารวจได้ผ่าตัดเล็กน้อยให้ราษฎรบางคนด้วย

เมื่อได้ทําการสํารวจรายได้รายจ่ายของครอบครัวเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหลายต่างแยกย้ายกันออกไปในหมู่บ้านราษฎรพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อศึกษาความเป็นไปของตําบลตามหน้าที่ซึ่งแบ่งปันกันไว้ในชั้นเดิมการสํารวจความเป็นไปของตําบลต่าง ๆ ต้องใช้ความระมัดระวังในการซักถามเช่นอย่างเดียวกับการสอบถามรายได้รายจ่ายเพื่อเป็นหลักในการสอบทานกับคำบอกเล่าของราษฎรเป็นรายครอบครัว ส่วนพวกแพทย์ก็ออกไปตามบ้านราษฎรเพื่อตรวจโรคผู้ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวทุกคน

ราษฎรที่ถูกเรียกมาประชุมเดินออกจากบ้านมาถึงศาลาที่ประชุมไม่เกิน 15-20 นาที และมีต้องรอคอยนานจนถึงกับเสีย การงานทางบ้านก่อนฤดูฝนคณะสํารวจได้ทําการสํารวจในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ในภาคกลางได้ทําการสํารวจในระหว่างฤดูฝน การสํารวจโดยวิธีอื่นซึ่งจะให้ได้ผลดียิ่งไปกว่าการสํารวจครั้งนี้ย่อมเป็นการยากอยู่ คณะสํารวจเชื่อมั่นว่าการงานทุกอย่างได้กระทําไปอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ใกล้ชิดกับความจริง

การสอบถามงบประมาณรายได้รายจ่ายจากหัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งต้องใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงการซักถามข้อความอื่น ๆ และการตรวจโรคหัวหน้าของครอบครัวต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที

การรวบรวมสถิติและจําแนกตัวเลขต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ก็ได้กระทํากันอย่างละเอียดในระหว่างที่ออกไปทําการสํารวจครั้งนี้ บุคคลภายนอกหลายคนมีความเห็นว่าวิธีซักถามอย่างนี้จะไม่ได้ความจริงเลย คณะสํารวจจึงได้เชิญผู้ที่ไม่ใคร่จะเชื่อถือในวิธีสํารวจและฟังวิธีซักถามด้วยตนเองแล้ว ไม่มีสักรายเดียวที่สงสัยว่าการสํารวจจะไม่เป็นผลสําเร็จ ในระหว่างที่ออกไปทําการสํารวจตามท้องที่คณะสำรวจได้สอบทานสอบทานตัวเลขที่เก็บมาได้นั้นตามวิธีแห่งสถิติอีกครั้งหนึ่ง เช่น เส้นระดับแห่งการแบ่งปันทรัพย์ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนคิดกับตัวเลขที่ถูกตามวิธีแห่งสถิติจําเป็นต้องคํานวณตัวเลข ที่คลาดเคลื่อนไว้และคิดเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของตัวเลขที่ใกล้ชิดกับความจริง วิธีนี้เป็นการตรวจตราตามสติกําลังปัญญาของมนุษย์ ฯลฯ เมื่อได้ทําการสอบสวนข้อความต่าง ๆ ที่ได้มาจากชาวชนบทอย่างละเอียด และทั้งได้พิจารณางานที่ได้ปฎิบัติไปแล้วอย่างรอบคอบ คณะสํารวจจึงมีความเห็นว่าตัวเลขต่าง ๆ ที่รวบรวมได้นั้นใกล้ชิดกับความจริงและพอใช้เป็นหลักในการพิจารณาฐานะแห่งเศรษฐกิจของชาวชนบท ได้ก่อนการโภคภัยในทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น

 

การเลื่อนหมู่บ้าน

การสํารวจเศรษฐกิจในประเทศสยามได้แบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ:- ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง คณะสํารวจได้ตกลงกันว่าจะทํา
การสํารวจในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะสําคัญ 2 ประการ คือ ความเป็นอยู่ของพลเมือง และการก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจของราษฎร โดยเหตุนี้จึงตกลงจะทํา
การสํารวจในภาคเหนือ 12 ตําบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ตําบล ภาคใต้ 8 ตําบล และภาคกลาง 12 ตําบล รวมทั้งสิ้นเป็น 40 ตำบลด้วยกัน

การกําหนดจํานวนครอบครัวที่จะทําการสํารวจในตําบลหนึ่งนั้น อาศัยความชํานาญที่เคยกระทํามาแล้ว และวิธีแห่งสถิติเป็นหลัก นักสถิติมีความเห็นว่าการสํารวจ ในหมู่คนจํานวนมาก ที่มีฐานะต่างกันเช่นนักเรียนมหาวิทยาลัย จะเป็นผลสําเร็จ ถ้าคัดเลือกเพียง 35 รายมาเป็นหลักในการพิจารณาส่วนการเลือกบุคคลรายตัวนั้นใช้วิธีเลือกตามบุญตามกรรม วิธีสํารวจรายได้รายจ่ายของครอบครัวในประเทศอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าคัดเลือกครอบครัวให้ครบจํานวน 50 โดยมีครอบครัวที่มีฐานะดีปานกลางและต่ำปะปนกันตามสภาพที่เป็นอยู่ ผลของการสํารวจนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงได้เลย แม้ว่าหมู่บ้านตัวอย่างจะมีจํานวนครอบครัวมากสักเท่าใด ในการศึกษาความเป็นอยู่ของชาวชนบทจําเป็นต้องใช้ระดับแห่งรายได้ของครอบครัว (ระดับรายได้แห่งครอบครัวต่างกันตามฐานะ) เป็นหลักในการพิจารณาความเป็นไปของหมู่บ้านที่คัดเลือกไว้ เมื่อได้กระทําการสํารวจ 40 ครอบครัวสําเร็จแล้ว และเห็นว่าระดับแห่งรายได้ของครอบครัวมิได้ผิดเพี้ยนกันมาก

ขณะสํารวจจึงได้ตกลงจะทําการสํารวจ 50 ครอบครัวในตําบลหนึ่ง เพื่อให้การคัดเลือกหมู่บ้านตัวอย่างทุกแห่งให้มีลักษณะถูกต้องกับความเป็นอยู่ของชาวชนบทโดยทั่ว ๆ ไป คณะสํารวจได้เอารายได้ของครอบครัวซึ่งสอบถามแล้วนั้น มาสอบทานกับความเป็นไปของตําบลนั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งการเปรียบเทียบตามวิธีนี้แสดงให้เห็นว่าความเป็นไปของหมู่บ้านตัวอย่างถูกต้องกับระดับแห่งรายได้ของชาวนาเพื่อให้ข้อความต่าง ๆ และตัวเลขถูกต้องกับความเป็นไปของตําบลซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับตําบลอื่น ๆ ทั่วจังหวัด คณะสํารวจหาได้คัดเลือกครอบครัว ในตําบลซึ่งทําการสํารวจนั้นตามบุญตามกรรมเท่านั้นไม่ เลือกได้ใช้วิธีดังต่อไปนี้ คือ ในตําบลที่มีมากกว่า 50 หลัง ได้เลือกบ้านหนึ่งเว้นบ้านหนึ่ง หรือเว้นหลาย ๆ บ้านแล้วเลือกหนึ่งบ้านหนึ่งตามจํานวนที่กําหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อจะคัดเลือกบ้านเรือนของราษฎรให้ทั่วหมู่บ้านจนครบตามจํานวนที่ต้องการ เพื่อให้ได้ตัวอย่างจริง ๆ

คณะสํารวจได้คัดเลือกจังหวัดต่าง ๆ ที่จะทําการสํารวจโดยอาศัยความแนะนําของกระทรวงต่าง ๆ ส่วนอําเภอหรือหมู่บ้านตัวอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้คัดเลือกให้ ตามลักษณะที่คณะสํารวจได้ชี้แจงไว้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองย่อมรู้จักและคุ้นเคยความเป็นอยู่ในท้องที่ได้ดี

ตัวเลขต่าง ๆ ที่เก็บได้จากการสํารวจในตําบลของอําเภอเมือง แสดงให้เห็นว่าฐานะของราษฎรสูงกว่าในอําเภออื่น ๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปเพื่อมิให้ฐานะของราษฎรในอําเภอต่าง ๆ ผิดเพี้ยนกันมากคณะสำรวจได้ตั้งวางหลักเกณฑ์ไว้ว่าหมู่บ้านตัวอย่าง ซึ่งจะทําการสํารวจนั้นจะต้องตั้งอยู่ห่างจากศาลารัฐบาลอย่างน้อย 5 กิโลเมตร นอกจากนี้คณะสํารวจยังได้ทําการสํารวจบางจังหวัดที่มีความสมบูรณ์น้อยกว่าจังหวัดปานกลางอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลพอชดเชยกัน ผู้ที่เคยศึกษาความเป็นอยู่ของชาวนา ในประเทศต่าง ๆ ทางทิศตะวันออกจะเห็นว่า ฐานะในทางเศรษฐกิจของชาวนาในตําบลซึ่งตั้งอยู่ห่างกับจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับฐานะของราษฎรในตําบล ซึ่งอยู่ห่างออกไปทั้ง 100 กิโลเมตร โดยเหตุนี้จึงเห็นว่าในการคัดเลือกตําบลตัวอย่างได้ใช้ความระมัดระวังมากพอและตัวเลขที่รวบรวมได้นั้นจะใกล้ชิดกับความจริง

ตําบลต่าง ๆ ที่ได้ออกไปทําการสํารวจนั้น ปรากฏนามใน ตารางที่ 1 และอยู่ในจังหวัดใดบ้างปรากฏในแผนที่หน้าต้นแล้ว ต่อไปนี้จะไม่ขอกล่าวนามของตําบลอีก แต่จะกล่าวนามของจังหวัดแทน เพราะว่าในประเทศสยามมีตําบลหลาย พันตําบล และบางตําบลที่มีนามซ้ํากัน คนไทยที่เป็นนักอ่านคงจะรู้จักนามจังหวัดดี

 

ข้อความที่สอบสวนได้

ในตอนต้นได้กล่าวแล้วว่า คณะสํารวจได้ใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อจะให้ข้อความที่สอบถามได้นั้นเป็นที่น่าเชื่อได้แน่นอน ในระหว่างทําการสํารวจได้สอบถามข้อความต่าง ๆ อันเกี่ยวแก่การโภคกิจ ความเป็นไปในท้องที่และข้อความทั่วไป, ค้นหาสถิติโรคต่าง ๆ และจําแนกเหตุที่ตายไว้ แม้ว่าได้กําหนดเวลาสําหรับทําการสํารวจไว้เพียงปีเดียวเท่านั้น แต่ก็ได้ใช้เจ้าหน้าที่มากคนด้วยกัน จํานวนเจ้าพนักงานที่ออกไปสํารวจในท้องที่ราว 15-18 คน 8-12 คน มีหน้าที่รวบรวมสถิติต่าง ๆ และกรอกตัวเลขลงในแบบต่าง ๆ ถ้าจะให้บุคคลคนเดียวกระทําการสํารวจ จะต้องใช้เวลา 20-25 ปี

เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดในเรื่องการงานที่ต้องปฏิบัติและมิให้ข้อความที่สอบถามได้นั้นผิดเพี้ยนกัน ได้ใช้วิธีทําการรวมกันทั้งหมดตั้งแต่ต้น การงานที่สํารวจในคราวนี้ไม่เคยแบ่งออกมากกว่า 2 แผนกเลย คือ 1. เจ้าหน้าที่ซึ่งออกไปทําการสํารวจในท้องที่ต่าง ๆ 2. เจ้าหน้าที่ซึ่งรวบสถิติต่าง ๆ ต่อเมื่อเสร็จการสํารวจในท้องที่แล้วจึงได้แบ่งการงานออกเป็น 2 แผนก คือ 1. การรวบรวมสถิติ 2. จําแนกตัวเลขต่าง ๆ โดยค้นหาลักษณะที่สําคัญเพื่อนําเอามาพิจารณาในการเรียบเรียงรายงาน

ในการสํารวจครั้งนี้คณะสํารวจได้นําเครื่องชั่งตวงวัดและเครื่องตรวจโรคไปด้วย และทั้งได้ตรวจตราความแน่นอนของเครื่องเหล่านี้อยู่เสมอ เพื่อมิให้คลาดเคลื่อนได้ ในการก่อสร้างนักวิศวกรรมศาสตร์จําเป็นต้องคํานวณ ความต้านทานที่จะต้องรับน้ำหนักให้มากขึ้นอีก 5-6 เท่า ฉันใด สําหรับการงานในทางสมาคมวิทยาก็ต้องใช้ความระมัดระวังให้มากกว่านี้ฉันนั้น เพราะความเป็นไปแห่งชีวิตของมนุษย์เรานี่ซับซ้อนและยุ่งยากมาก

 

รายละเอียดแห่งปัญหาต่าง ๆ ที่ได้ทําการสํารวจ

 


โรงงานในสยามเมื่อทศวรรษ 2470-2480

 

ในชั้นต้นเริ่มบรรยายสภาพแห่งความเป็นอยู่ในการเศรษฐกิจ โดยกล่าวถึงลักษณะสําคัญบางอย่างของครอบครัวชาวนาแล้วกล่าวถึงรายได้ที่เป็นเงินสดและรายจ่าย ต่อจากนี้อธิบายค่าใช้จ่ายในการทํานา การเสียภาษีอากร (ภาษีโดยตรง) เงินกําไรและการลงทุน ในบทต่อไปกล่าวถึงโภคทรัพย์ และฐานะในทางเศรษฐกิจของครอบครัวชาวนา ในบทที่ 6 อธิบายค่าใช้จ่ายสําหรับการกินอยู่ ข้อความในบทที่ 7 เกี่ยวกับการคำนวณรายได้ของชาวชนบททั่วประเทศสยามสําหรับ พ.ศ. 2473 (เดือนเมษายน ค.ศ. 1929 เดือนมีนาคม ค.ศ.1930) ในบทอื่น ๆ กล่าวถึงวิธีการเพาะปลูกที่ปฏิบัติกันอยู่ในเวลานี้ การขายสินค้ากสิกรรม ทุนสําหรับการกสิกรรมและปัญหาแห่งหนี้สินของชาวนา สุขภาพ อาหาร และปัญหาในทางเศรษฐกิจของภาคต่าง ๆ ในบทสุดท้ายกล่าวถึงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอันเป็นทางทํานุบํารุงประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น

 

โอกาสของการสํารวจ

ตั้งแต่การหัตถกรรมเริ่มก้าวหน้าในศตวรรษที่ 19 แห่งคริสตศักราช และอารยธรรมของประเทศยุโรปเผยแผ่เข้ามาในประเทศต่าง ๆ ทางตะวันออกอย่างรวดเร็ว ประเทศสยามต้องเข้าผจญและแก้ปัญหา 2 ข้อ คือ 1. การเลือกอารยธรรมบางสิ่งบางอย่างที่เหมาะแก่ประเทศ 2. การรักษาอิสรภาพแห่งเอกราช ข้อที่ 2 นี้ได้แก้วนเสร็จสิ้นแล้ว เวลานี้นานาประเทศได้ยอมยกเลิกลักษณะนอกอาณาเขตต์ (Extra-territoriality) และสันนิบาตชาติก็ได้รับประเทศสยามเข้าเป็นสมาชิกแล้ว

อารยธรรมตามแบบของอารยประเทศที่ประเทศสยามได้นํามาใช้นั้น คือ 1. ความสะดวกในทางคมนาคม 2. ฐานะการกินอยู่และการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ ประเทศสยามได้จัดการบํารุงการคมนาคมภายในบ้างแล้วความเจริญในทางคมนาคมจึงก้าวหน้ามากกว่าบางประเทศทางตะวันออก ปัญหาซึ่งกําลังดําริที่อยู่ในเวลาปัจจุบัน ก็คือการบํารุงในทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่คาบเกี่ยวเนื่องกับการบํารุงกสิกรรมของประเทศด้วย

ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นไม่ควรคิดว่า อารยธรรมตามแบบอารยประเทศจะให้ผลดีแก่ประเทศสยามเสมอไป ทุกประเทศย่อมมีอารยธรรมของตนเองให้เหมาะแก่ความเป็นอยู่ของประชาชน ฉะนั้นไม่ควรเลิกอารยธรรมเสียทั้งหมดเว้นแต่จารีตประเพณีนั้นจะสุดสิ้นไปเอง ในการจัดการทํานุบํารุงประเทศตามแบบของอารยประเทศ ประเทศสยามควรทราบดีว่าสิ่งใดที่นํามาจากอารยธรรมประเทศ เหมาะแก่ความเป็นอยู่และให้คุณประโยชน์แก่ประชาชน และสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงวิธีแห่งการเพาะปลูกให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้จะต้องดําเนินในทํานองเดียวกัน

 

 

     

    ภาคผนวก:

    ตำบลที่สำรวจ

     

     

    หมายเหตุ:

    • บทความนี้เป็นบทนำของหนังสือการสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยามโดยคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยนายซิม วีระไวทยะ 

    บรรณานุกรม

    • ซิมเมอร์แมน, คาร์ล ซี., การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม. แปลโดย ซิม วีระไวทยะ (พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2477)

      


    [1]  โดยปกติการสํารวจเศรษฐกิจย่อมขยายสภาพความจริง อาณาประชาราษฎรได้รับเดือดร้อนอย่างใด ย่อมก่อให้ปวงชนสํานึกถึงความเป็นอยู่ของคนหมู่มากและพยายามที่จะแก้ไขซึ่งบางคราวอาจถึงแก่ก่อให้เกิดการปฏิวัติก็ได้ ฉะนั้นหมอชิมเมอร์แมนจึงออกตัวเสียก่อน (ผู้แปล)

    [2] ขอท่านผู้อ่านได้โปรดสังเกตความระมัดระวังของหมอซิมเมอร์แมน ที่กล่าวติชมประเทศเราเป็นอย่างไร?

    [3] ประเทศสยามขาดการบํารุงในการประดิษฐกรรม (ผู้แปล)