ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สงวน ตุลารักษ์ กับหนังสือต้องห้ามแนวสังคมนิยม

18
มิถุนายน
2566

Focus

  • สงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน มีอาชีพเป็นทนายความ ทำงานใกล้ชิดกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หลังการปฏิวัติสยาม เขาได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้ไปพบปะพูดคุยกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อสนับสนุนการอภิวัฒน์ แต่เป็นเพราะการพูดที่รุนแรง และกระทบกระเทือนผู้อื่นมากเกินไป คณะราษฎรจึงระงับการพูดของเขา และตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ออกไปเผยแพร่ตามหัวเมืองแทน
  • สงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้นิยมในความคิดสังคมนิยม และจัดทำหนังสือพิมพ์ “24 มิถุนา” ตีพิมพ์บทความหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยม เช่น การตีพิมพ์งานแปลของหลวงเดชสหกรณ์เรื่อง “โซเซียลิสม์โซชลิสต์คืออะไร” และการเขียนบทความที่แสดงออกถึงความเป็นปีกซ้ายในคณะราษฎร
  • ทางราชการไทยภายใต้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาสั่งยุติการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ “24 มิถุนา” และต่อมาคืองานแปลของเขาจากหนังสือ “What Socialism means” ของจอห์น วิลเลียม นีชอว์ (John William Kneeshaw, 1878-1960) นักสังคมนิยมอังกฤษ ตีพิมพ์ในชื่อภาษาไทยว่า “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร” อันเป็นเรื่องลัทธิสังคมนิยมจากประสบการณ์ของประเทศอังกฤษ โดยพิจารณาเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เผยแผ่ลัทธิอันรัฐบาลไม่พึงปรารถนา
  • สงวน ตุลารักษ์ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย แต่หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้ขอลี้ภัยในประเทศจีน และถูกจับกุมคุมขังในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยข้อกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์หลังนิวัตคืนประเทศไทย

 

‘นายสงวน ตุลารักษ์’ (18 มิถุนายน 2445 - 15 พฤษภาคม 2538) เป็นคณะราษฎรสายพลเรือน นักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์ นักสังคมนิยม ข้าราชการกรมราชทัณฑ์และโรงงานยาสูบ สมาชิกคนสำคัญของเสรีไทย รัฐมนตรีในช่วงหลังสงคราม และเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนคนแรก สงวนเป็นบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เคยมีชีวิตทางการเมืองที่โดดเด่นหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่กลับต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองจากกรณีพระยามโนปกรณ์นิติธาดายึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เขาได้ขอลี้ภัยทางการเมืองและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นเหตุให้เขาต้องถูกจับกุมคุมขัง หลังนิวัตสู่ประเทศไทยจากประเทศจีน ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

สงวน ตุลารักษ์
สงวน ตุลารักษ์

 

ถึงแม้ว่านายสงวนจะเป็นบุคคลหัวก้าวหน้าทางการเมืองไทยที่มีสีสันและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทยในหลายด้าน แต่งานเขียนส่วนใหญ่กลับนำเสนอชีวิตในช่วงการปฏิบัติงานในขบวนการเสรีไทยเป็นหลัก ดังปรากฏได้จากหนังสืออนุสรณ์งานศพของนายสงวน ตุลารักษ์ (จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2538) โดยมีการกล่าวถึงชีวิตในช่วงเวลาอื่นน้อยมาก

ดังนั้นในโอกาสครบรอบปีที่ 91 แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และ 18 มิถุนายน 2445 ในวาระ 121 ปี ชาตกาล นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเรื่องราวของนายสงวนในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในฐานะสมาชิกคณะราษฎรปีกซ้ายที่มีแนวคิดสังคมนิยม และต้องเผชิญกับวิบากกรรมทางการเมือง ด้วยข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์ เนื่องมาจากการเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมในสังคมไทยและความใกล้ชิดกับนายปรีดี ส่งผลให้งานแปลของเขาคือ “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร” กลายเป็นหนังสือต้องห้ามหลังการยึดอำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

 

สงวน ตุลารักษ์ กับการอภิวัฒน์ 2475

นายสงวน ตุลารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 ในครอบครัวชาวจีนสยามที่ประกอบอาชีพกสิกรในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เขาจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2464 และได้รับทราบเรื่องราวการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสและรัสเซียขณะที่เรียนโรงเรียนแห่งนี้เช่นกัน จากนั้นสงวนได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม กระทั่งสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2468[1]

นายสงวนประกอบอาชีพทนายความกับเพื่อนๆ ที่สำนักงานทนายความผดุงธรรม ทำให้เขาได้พบกับนายซิม วีระไวทยะ ซึ่งทำงานที่เดียวกัน รวมถึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายนายปรีดี พนมยงค์ ผ่านการประสานงานของนายกลึง พนมยงค์ (หลวงอรรถกิติกำจร) น้องชายต่างมารดาของนายปรีดี เมื่อนายสงวนได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรแล้ว จึงชักชวนสมัครพรรคพวกของตนจากเครือข่ายนักเรียนโรงเรียนกฎหมายเนติบัณฑิต รวมถึงญาติและชาวบ้านในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมตายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ทั้งนี้ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นายสงวนได้ร่วมสมทบกับคณะราษฎรสายทหาร ที่นำโดยพระประศาสน์พิทยายุทธ (นายวัน ชูถิ่น) เพื่อควบคุมตัวนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (นายสวาสดิ์ บุนนาค) นายทหารเสนาธิการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ณ บ้านพักริมกระทรวงเกษตราธิการ ถนนพระพิพิธ (สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน)[2] เมื่อคณะราษฎรสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ นายสงวนจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรสมัยแรก

หลังการอภิวัฒน์สยาม นายสงวน ตุลารักษ์ ได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้ไปพบปะพูดคุยกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนตามสถานศึกษาต่างๆ อาทิ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยนายสงวนได้เล่าถึงเหตุการณ์นี้ในภายหลังความว่า

 

“วันรุ่งขึ้นของการก่อการฯ เป็นผู้ออกมาพูดและพบปะกับนักศึกษาและประชาชน โดยไปพูดตามโรงเรียนต่างๆ หลายโรง เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความเป็นประชาธิปไตย ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่าปฏิวัติทำไม และอธิบายถึงผลดีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่โรงเรียนกฎหมาย ที่ศิริราช และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงถึงสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต ซึ่งปรากฏว่าเมื่อไปพูดแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้านในการก่อการครั้งนั้นเลย แต่ต่อมาการพูดก็ถูกระงับ เพราะพูดรุนแรง กระทบกระเทือนผู้อื่นมากเกินไป ทางคณะราษฎรก็สั่งให้หยุดพูด แล้วคณะราษฎรได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ออกไปเผยแพร่ตามหัวเมืองด้วย ซึ่งเรื่องการบ้านการเมืองในสมัยนั้น ยังไม่มีใครกล้าพูด กล้าวิจารณ์นัก”[3]

 

หนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา

ถึงแม้ว่านายสงวนจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 แต่เขาก็ยังให้การสนับสนุนการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรผ่านการทำหนังสือพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนด้วย เนื่องจากหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์ของคณะราษฎร และคนกลุ่มนี้ได้ใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นยุยงใหประชาชนเกิดความเข้าใจผิดแก่คณะราษฎร ดังนั้นคณะราษฎรสายพลเรือนที่ใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ อย่างนายสงวน ตุลารักษ์ และนายซิม วีระไวทยะ จึงได้ออกหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา และหนังสือพิมพ์สจฺจํ ตามลำดับ เพื่อทำหน้าที่คอยเขียนบทความตอบโต้บทความที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรบนหน้าหนังสือพิมพ์ ตลอดจนเผยแพร่บทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ[4]

จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง “The Communist Movement in Thailand” สมศักดิ์ได้กล่าวถึงนายสงวนว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายปรีดี และหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ไม่นาน นายสงวนได้ทำหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “24 มิถุนา” จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 อีกทั้งยังได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ “24 มิ ถุนา ฉบับวันอาทิตย์” ขึ้นอีกฉบับด้วย

แม้ว่าหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ที่จัดเก็บที่หอสมุดแห่งชาติจะมีจำนวนน้อยมาก และปัจจุบันหนังสือพิมพ์เหล่านี้ชำรุดมากจนไม่สามารถให้บริการได้ แต่จากการศึกษาของนักวิชาการที่เคยค้นคว้าหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ต่างชี้ให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์นี้มีความเป็นซ้ายผ่านการนำเสนอเรื่องราวการวิพากษ์ศักดินาและชื่นชมประเทศคอมมิวนิสต์ จนเป็นเหตุให้ตำรวจมีคำสั่งลงวันที่ 5 สิงหาคม 2475 ถึง นายสงวน ตุลารักษ์ เจ้าของและ บ.ก. หนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ถอนใบอนุญาตเป็นเจ้าของและ บ.ก. กำหนดการถอน 3 วันจากการวิจารณ์เจ้านาย[5]

ทั้งนี้สมศักดิ์ได้วิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับหนังสือพิมพ์ทั่วไปในยุคสมัยดังกล่าวที่ประกอบด้วยเรื่องราวขบขัน นวนิยายชวนฝัน เรื่องเบ็ดเตล็ด บทกวี บทความต่างๆ รวมถึงการ์ตูนที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทย อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา กลับโดดเด่นผ่านการนำเสนอประเด็นความยากจน ความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของข้าราชการที่เป็นเจ้านายของประชาชน[6] ยิ่งไปกว่านั้นหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ยังตีพิมพ์บทความหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยม ตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง “สหกรณ์ในสยาม” ในหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนาฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2475 ที่นำเสนอรูปแบบสหกรณ์ครบรูปเพื่อแก้ปัญหาความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และปัญหาการว่างงาน[7] หรือการตีพิมพ์งานแปลของหลวงเดชสหกรณ์เรื่อง “โซชลิสต์คืออะไร” ในหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนาตั้งแต่ฉบับวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่)[8]

นอกจากนี้ นายสงวนยังเขียนบทความที่แสดงออกถึงความเป็นปีกซ้ายในคณะราษฎรโดยแสดงความชื่นชมประเทศสหภาพโซเวียตในหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ตัวอย่างเช่น วิทยาศาสตร์รัสเซียกำลังก้าวหน้าขึ้นเป็นผลของการปฏิวัติและการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดของรัฐบาลโซเวียต หรือประชาชนในเขตลุ่มน้ำวอลก้าสามารถอ่านออกเขียนได้และได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่การปฏิวัติรัสเซีย[9]

แม้ว่าหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา จะแสดงออกถึงความเป็นซ้ายผ่านการนำเสนอเรื่องราวของเลนิน-สตาลิน และชี้ชวนให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่เออิจิ มูราชิมา เห็นว่าการนำเสนอเรื่องราวหรือความเป็นซ้ายมิได้หมายความว่า หนังสือพิมพ์นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์สยาม[10]

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ว่าการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมในสังคมไทย เริ่มต้นจากปัญญาชนนักเรียนนอกของสยามจำนวนหนึ่งได้นำแนวคิดเศรษฐกิจสังคมนิยมมาเผยแพร่ อาทิ พระสารสาสน์พลขัณฑ์ (นายลอง สุนทานนท์) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) หลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล.เดช สนิทวงศ์) รวมถึงการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับสังคมนิยมในหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ของนายสงวน ตุลารักษ์ แต่งานเหล่านี้กลับไม่ได้ก่อผลอย่างไรต่อการจัดตั้งและการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศสยาม เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์สยามดำเนินงานในกลุ่มชาวจีนและชาวเวียดนามในประเทศสยาม[11] ยิ่งไปกว่านั้น หลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 พรรคคอมมิวนิสต์สยามยังมีท่าทีไม่สนับสนุนคณะราษฎร ดังปรากฏการเคลื่อนไหวแจกใบปลิวตามสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อโจมตีคณะราษฎร และทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สยามที่เป็นชาวจีนและชาวเวียดนามถูกจับกุมและเนรเทศหลายครั้ง[12]

อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ของนายสงวน ตุลารักษ์ กลับดำเนินกิจการได้ไม่ถึงขวบปี ต้องเลิกกิจการไปจากเหตุผลทางการเมืองในช่วงปลายปี พ.ศ. 2475 โดยหนังสือ “ชำแหละ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” ของสุพจน์ ด่านตระกูล ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายสงวน ว่า “หนังสือพิมพ์ 24 มิถุนานั้น ออกโดยทุนรอนของคุณสงวนเอง แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญอยู่ในขณะนั้นได้ขอร้องให้คุณสงวนหยุดกิจการหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนาเสีย โดยพระยาราชวังสันยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้ คุณสงวนบอกว่าเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จึงยินยอมเลิกกิจการหนังสือพิมพ์ตามคำขอร้องของพระยาราชวังสัน และพระยาราชวังสันก็จ่ายเงินให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พอใช้หนี้สินค่ากระดาษและโรงพิมพ์”[13]

ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่าหนังสือพิมพ์แนวซ้ายอย่าง “หนังสือพิมพ์สจฺจํ” ของนายซิม วีระไวทยะ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา เท่าใดนัก โดยนายปรีดีได้กล่าวว่า “เวลานั้นเป็นสมัยที่โลกหวาดสะดุ้งในเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ ความเห็นในหนังสือพิมพ์สจฺจํ ก็ดี ข้อความที่โต้ตอบกับความเห็นของบุคคลบางคนในคณะการเมืองอื่นก็ดี บังเกิดทำให้มีการถูกป้ายสีตั้งแต่สีเรื่อๆ จนกระทั่งแดงจัดขึ้นทุกวัน ในที่สุดก็เกิดมีความเข้าใจผิด หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์โดยผสมผเสเหตุผลหลายอย่างจนกระทั่งเทียบชื่อหนังสือพิมพ์สจฺจํ ว่าตรงกับหนังสือพิมพ์ Pravda ของโซเวียต”[14] ดังนั้นรัฐบาลพระยามโนฯ จึงขอร้องให้นายซิมเลิกกิจการ “หนังสือพิมพ์สจฺจํ”

 

หนังสือต้องห้าม “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร”

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) นายสงวน ตุลารักษ์ ได้แปลหนังสือ “What Socialism means” ของจอห์น วิลเลียม นีชอว์ (John William Kneeshaw, 1878-1960) นักสังคมนิยมอังกฤษ และตีพิมพ์ในชื่อภาษาไทยว่า “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร” มีจำนวน 29 หน้า จัดจำหน่ายในราคา 5 สตางค์ โดยมีคณะศานติเชิงสะพานพุทธที่รับจ้างพิมพ์หนังสือและตำราเป็นผู้พิมพ์หนังสือเล่มนี้

 

John William Kneeshaw (https://redrosecollections.lancashire.gov.uk/view-item?i=277702&WINID=1686969381254)
John William Kneeshaw
(ที่มา : Red Rose Collections)

 

หนังสือ “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร” น่าจะเป็นหนึ่งในชุดหนังสือแปลแนวสังคมนิยมที่นายสงวนจะจัดพิมพ์อีกหลายเล่ม ดังปรากฏจากโฆษณาท้ายเล่มที่ระบุว่าจะตีพิมพ์หนังสือแปล “แนวความคิดทั่วไปข้างโซเชียลิสม์” (The Common Sense of Socialism) ของแอลแบน กอร์ดอน (Alban Gordon, 1890-1947) ในเร็วๆ นี้

 

 

จากคำนำของหนังสือ “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร” นายสงวนได้อธิบายจุดมุ่งหมายของการแปลหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเอกาธิปไตยมาเป็นแบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการประกาศหลัก 6 ประการเป็น “ทางดำเนินไปสู่ศรีอาริยภูมิ ดินแดนอันถึงแล้วซึ่งความสุขกายสบายใจ” โดยนายสงวนมีความเห็นว่าข้อสำคัญที่สุดในหลัก 6 ประการ คือ การวางโครงการเศรษฐกิจ “เพราะเศรษฐกิจดีแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีตามและทำนุบำรุงสะดวกขึ้น ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำแล้วก็หมดหนทางจะทำนุบำรุงการใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งความเปนเอกราชก็จะรักษาไว้ไม่อยู่”[15]

นายสงวนยังชี้ให้เห็นว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจมีหลายแนวทางและแตกต่างไม่ลงรอยกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องค้นคว้าหาตำราเพื่อเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจให้มากขึ้น ประกอบกับมี “ท่านผู้ใจดีผู้หนึ่ง” ซึ่งนายสงวนมิได้ระบุว่าเป็นผู้ใด ส่งตำราเศรษฐกิจภาษาต่างประเทศมาให้อ่านหลายเล่ม โดยในการแปลหนังสือนั้น นายสงวนได้รับคำแนะนำในการแปลหนังสือจากหลวงไพจิตรวิทยการ (หม่อมหลวงไพจิตร สุทัศน์) ผู้แปลและเรียบเรียงหนังสือ “แนวคิดเบื้องต้นในเศรษฐวิทยาของชาร์ลสจี๊ด” (La premiere notion de l’économie politique) ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2476[16] นอกจากนี้ในตอนท้ายของคำนำ นายสงวนยังหวังว่าหนังสือแปลของเขาจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรและผู้แทนตำบลที่จะออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรอีกด้วย

เมื่อพิจารณาเนื้อหาของหนังสือ “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร” เป็นการกล่าวถึงลัทธิสังคมนิยมจากประสบการณ์ของประเทศอังกฤษ เริ่มต้นจากการพิจารณาความหมายของคำว่า “โซเชียลิสม์” หรือลัทธิสังคมนิยมจากปทานุกรมฉบับต่างๆ ซึ่งโดยมากให้นิยามในทิศทางเดียวกันว่า ลัทธิสังคมนิยมเป็นแนวความคิดทางเศรษฐวิทยาที่พยายามสร้างสังคมมนุษย์แผนใหม่ผ่านการร่วมมือกันประกอบกิจการแทนที่จะทำการแข่งขันกัน จากนั้นได้กล่าวถึงการอธิบายลัทธิสังคมนิยมของคณะทอรี่ (Tory) ซึ่งเป็นพวกเจ้ายศนายเงิน อนุรักษนิยม และเสรีนิยม โดยคณะทอรี่ได้สร้างภาพความน่าหวาดกลัวของลัทธิสังคมนิยมไม่ต่างจากคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ “พระมหากษัตริย์จะสุดสิ้นและริปับลิกบอลเชวิกจะขึ้นปกครอง, ศาสนาจะล้มเลิก; บ้านช่องจะถูกทำลาย, การแต่งงานคงจะเปนเพียงการตกลงระหว่างกันเอง; การหย่าจะทำกันได้ตามใจสมัคร, เด็กๆ จะถูกพรากจากมารดาไปเปนทรัพย์สินของประเทศ”[17] จากทรรศนะข้างต้นหนังสือได้ชี้ว่าความเห็นของพวกทอรี่เกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมเป็นการหลอกลวงและโฆษณาห่างไกลจากความจริงมากและไม่ตรงกับการอธิบายลัทธิคอมมิวนิสต์ตามปทานุกรมต่างๆ

ประเด็นถัดมาของหนังสือได้กล่าวถึงสภาพความจริงต่างๆ ในประเทศอังกฤษและพลเมืองของอังกฤษที่ทำให้ลัทธิสังคมนิยมได้รับความนิยมมากขึ้น กล่าวคือ พลเมืองอังกฤษเกือบ 40 ล้านคนไม่ได้รับการบำรุงจากชาติให้มั่งคั่ง ประชาชนต่างกดขี่กันอันเป็นผลจากกฎป่าเถื่อนที่ว่า “ต่างคนต่างทำเอาเอง” ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาดินแดนอังกฤษพบว่ารัฐสภายังไม่สามารถแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้นพลเมืองเพียง 2,500 คน จึงเป็นเจ้าของที่ดินกึ่งหนึ่งของเกรทบริเตนและไอแลนด์ โดยดินแดนที่มีเจ้าของต่างถูกล้อมรั้วหวงห้ามไว้เป็นสวนของคนมั่งมี ขณะที่ประชากรชั้นกรรมกรทั้งชายหญิงต้องอยู่กันอย่างแออัดตามเมืองใหญ่ พวกเขาต่างประสบความทุกข์ยากและขาดแคลนอาหาร[18]

นอกจากนี้หนังสือยังวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มชนชั้นเจ้านายอังกฤษที่มีความมั่งคั่ง ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา โดยอาศัยส่วนแบ่งจากมรดกของราชตระกูลแต่ไม่ต้องทำงานอะไรเลย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนอย่างน่าสังเวช ดำเนินชีวิตด้วยความแร้นแค้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้ได้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ[19]

หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายเหตุผลของความเหลื่อมล้ำในประเทศอังกฤษว่า คนมั่งมีร่ำรวยจนล้นเหลือมิใช่เพราะพวกเขาทำงานหนัก แต่พวกเขาเป็นเจ้าของที่ดิน ทางรถไฟ บ่อแร่ โรงงาน เรือกำปั่น โรงร้านต่างๆ โดยไม่ยอมแบ่งปันให้คนอื่นๆ ในบริเตน ส่วนคนจนมิได้จนเพราะความเกียจคร้านหรือไม่เอาถ่าน แต่เกิดจากพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลยนอกจากตัวเขาเอง[20] ดังนั้นหนังสือจึงเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบลัทธิโซเชียลลิสม์ เพื่อให้เกิด “บริเตนสำหรับชาวบริติษ” ผ่านการประกาศใช้พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์แห่งชาติ โดยให้อำนาจแก่ชาติในการถือกรรมสิทธิ์ ดังปรากฏข้อความในหนังสือว่า “บ้านเกิดเมืองนอนของเราจะต้องเลิกเปนกรรมสิทธิของเอกชน. มันจะต้องทำให้เปนทรัพย์สมบัติของชาวบริติษ. เหมืองแร่, โรงงาน, โรงร้าน และทางรถไฟด้วย”[21] โดยกิจการทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศอังกฤษต้องเป็นของชาวอังกฤษทุกๆ คน อันทำให้เกิดความรู้สึกเห็นประโยชน์ของสาธารณะมากกว่าความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ชีวิตเช่นนี้จะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ถ้วนหน้ากัน และทำให้การกดขี่และการประทุษร้ายทุกอย่างหมดสิ้นไป[22]

แม้ว่าหนังสือแปลเล่มนี้จะอ่านยากจากคุณภาพการแปลที่ไม่ดีนักของนายสงวน แต่จากสาระสำคัญของหนังสือที่มีลักษณะเป็นงานเขียนที่มีความเป็นซ้ายโดยอ้างอิงประสบการณ์จากประเทศอังกฤษเป็นหลัก โดยมีการกล่าวถึงการยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์เอกชนให้มาเป็นของรัฐเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีกับคนจน ดังนั้นงานแปลชิ้นนี้น่าสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้อ่านบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษนิยม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจังหวะเวลาของการเผยแพร่หนังสือแปลเล่มนี้คือ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) ถือเป็นช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและกลุ่มอนุรักษนิยมที่นำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ปรากฏอย่างเปิดเผยนับตั้งแต่การยุบเลิกสมาคมคณะราษฎรในปลายเดือนมกราคม เพื่อทำลายสมาคมการเมืองที่เป็นฐานอำนาจให้แก่คณะราษฎร

ความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งทวีมากขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพระยามโนฯ ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้นกลุ่มอนุรักษนิยมทั้งขุนนางอาวุโสและคณะราษฎรปีกขวาในรัฐบาลพระยามโนฯ จึงต่อต้านเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และเป็นเหตุให้พระยามโนฯ ชิงยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ก่อนที่นายปรีดีจะนำเค้าโครงการเศรษฐกิจเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจตลอดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) ได้ส่งผลกระทบต่อหนังสือแปลแนวสังคมนิยมของนายสงวน ตุลารักษ์ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเขาเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายปรีดี มีผลงานต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเป็นซ้ายอย่างเปิดเผย ดังนั้นการจัดจำหน่ายหนังสือแปลของนายสงวนจึงเริ่มถูกเฝ้าระวังจากทางราชการ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลได้มีหนังสือมาที่กระทรวงมหาดไทยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) เพื่อแจ้งว่าหนังสือของสงวนมีเนื้อหาขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลพระยามโนฯ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังไม่กล้าจัดการอะไร เนื่องจากนายสงวนเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการฯ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[23]

ขณะที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) ได้ลงข่าวหัวว่า “ลัทธิโซเชียลิสม์ เปนปัญหาขึ้นแล้ว” กล่าวถึงหม่อมเจ้าสุรวุฒิ เทวกุล ผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดสมุทรสาคร มีคำสั่งห้ามร้านค้าจำหน่ายหนังสือแปลของนายสงวน ดังนั้นนายสงวนจึงทำรายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ ขอให้ไต่สวนและระงับคำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่าหนังสือแปลเล่มนี้เป็นการให้ความรู้และไม่ผิดกฎหมาย[24]

 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อพระยามโนฯ ยึดอำนาจได้สำเร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 ตามมาด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 การเนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงตีพิมพ์เผยแพร่บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกขาวอย่างกว้างขวาง จนเป็นจุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์[25] สถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ส่งผลให้คณะราษฎรสายพลเรือนที่ใกล้ชิดนายปรีดีอย่างนายสงวน ตุลารักษ์ ต้องหนีภัยการเมืองเช่นกัน โดยออกจากพระนครไปทำนาและเลี้ยงปลาที่ตำบลบางเหี้ย (คลองด่านในปัจจุบัน) อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ[26]

ยิ่งไปกว่านั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันถัดมาหลังจากพระยามโนฯ ยึดอำนาจ คณะรัฐมนตรีได้นำเรื่องหนังสือแปล “ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร” ของนายสงวนมาพิจารณา และสุดท้ายที่ประชุมได้ตกลงว่า “สมุดลัทธิโซเซียลิสม์ของนายสงวน ตุลารักษ์นั้น เป็นหนังสือที่เผยแผ่ลัทธิอันรัฐบาลไม่พึงปรารถนา ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศห้ามการขายและหนังสือที่เหลืออยู่ให้ริบมาเสียให้สิ้น”[27]

จากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นสอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลพระยามโนฯ ในการควบคุมทางการเมืองและการนำเสนอความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองตามกฎหมายคอมมิวนิสต์ ดังนั้นหนังสือแปลแนวสังคมนิยมของสงวนจึงกลายเป็นเอกสารต้องห้ามของทางราชการทันที โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2476 ให้เจ้าหน้าที่ตามมณฑลต่างๆ สำรวจว่ายังมีการขายหนังสือเล่มดังกล่าวของนายสงวนตามร้านค้าอยู่หรือไม่ และหากตรวจพบให้เก็บหรือทำลายเสียภายใน 2 วัน[28] ส่งผลให้หลักฐานที่สะท้อนการเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมในสังคมไทยหลังการอภิวัฒน์ 2475 ได้หายไปจากสังคมไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่งเช่นเดียวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์[29]

 

บรรณานุกรม

หนังสือภาษาไทย

  • คณะกรรมการอำนวยการจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย ร่วมกับองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานโครงการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย. กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย (2475-2525). กรุงเทพฯ: โครงการกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, 2525.
  • จอห์น วิลเลียม นีชอว์. ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร. แปลโดยสงวน ตุลารักษ์. พระนคร, โรงพิมพ์ 24 มิถุนาฯ, 2475.
  • ณัฐพล ใจจริง. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556.
  • ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475. กรุงเทพฯ: บริษัทส่องศยาม จำกัด, 2535.
  • พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม, บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2520.
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. ชำแหละดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สันติธรรม. 2517.
  • หลวงไพจิตรวิทยการ. แนวคิดเบื้องต้นในเศรษฐวิทยาของชาร์ลสจี๊ด. พระนคร: โรงพิมพ์สจฺจํฯ, 2476.
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน ตุลารักษ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2538. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2538.
  • เออิจิ มูราชิมา, การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1924-1941. แปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

วารสาร

  • สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. “ประวัติการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยามม,” ศิลปวัฒนธรรม 28. 6 (เมษายน 2550) หน้า 142-157.
  • สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. “ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย,” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 26, 2 (ธันวาคม 2546-พฤษภาคม 2547) หน้า 151 - 179.

วิทยานิพนธ์ภาษาไทย

  • ธงชัย พึ่งกันไทย. “ลัทธิคอมมิวนิสต์ และนโยบายต่อต้านของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2468 - 2500,” .วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.

วิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษ

  • Somsak Jeamteerasakul. “The Communist Movement in Thailand,” Ph.D.thesis. Department of Politics. Monash University, 1991.

หนังสือพิมพ์

  • “ลัทธิโซเชียลิสม์ เปนปัญหาขึ้นแล้ว,” ใน ศรีกรุง, 10 มีนาคม 2475, น. 16.

เอกสารราชการ

  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (2 เมษายน 2476).
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี (13)มท.2.4/5 ให้สั่งเจ้าหน้าที่สำรวจดูหนังสือ “ลัทธิโซเซียลิสม์ หมายความว่าอะไร” ที่นายสงวน ตุลารักษ์ พิมพ์ออกจำหน่าย ว่ายังมีขายที่ร้านใดบ้างก็ให้สั่งห้ามไม่ให้จำหน่ายและให้เจ้าของเก็บทำลายเสีย (5 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2476).

 


[1] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสงวน ตุลารักษ์ (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2538), น. 17-18.

[2] “อดีตมองปัจจุบัน นายสงวน ตุลารักษ์,” ใน คณะกรรมการอำนวยการจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย ร่วมกับองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานโครงการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย, กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย (2475-2525) (กรุงเทพฯ: โครงการกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, 2525), น. 41-42.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 42.

[4] “ประวัตินายซิม วีระไวทยะ,” ใน ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475 (กรุงเทพฯ: บริษัทส่องศยาม จำกัด, 2535), น. 12. (อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายวีระ วีระไวทยะ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 22 พฤศจิกายน 2535)

[5] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand,” (Ph.D.thesis, Department of Politics, Monash University, 1991), p. 98; เออิจิ มูราชิมา, การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1924-1941, แปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), น. 152; ดู “ภาคผนวก รายการถอนใบอนุญาตเป็นเจ้าของบก.หนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2475,” ใน พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม, บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2520).

[6] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand,” pp. 98.

[7] Ibid., pp. 99.

[8] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ประวัติการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม” ศิลปวัฒนธรรม 28, 6 (เมษายน 2550): 145.

[9] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand,” pp. 100.

[10] เออิจิ มูราชิมา, การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1924-1941, แปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), น. 152.

[11] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ประวัติการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม”: 145.

[12] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย,” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 26, 2 (ธันวาคม 2546-พฤษภาคม 2547): 157.

[13] สุพจน์ ด่านตระกูล, ชำแหละดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2517), น. 34.

[14] “ประวัตินายซิม วีระไวทยะ,” น. 12-14.

[15] จอห์น วิลเลียม นีชอว์, ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร, แปลโดยสงวน ตุลารักษ์ (พระนคร, โรงพิมพ์ 24 มิถุนาฯ, 2475), น. ข.

[16] หลวงไพจิตรวิทยการ, แนวคิดเบื้องต้นในเศรษฐวิทยาของชาร์ลสจี๊ด (พระนคร : โรงพิมพ์สจฺจํฯ, 2476).

[17] จอห์น วิลเลียม นีชอว์, ลัทธิโซเซียลิสม์หมายความว่าอะไร, น. 5.

[18] เรื่องเดียวกัน, น. 6-14.

[19] เรื่องเดียวกัน, น. 15-19.

[20] เรื่องเดียวกัน, น. 20-21.

[21] เรื่องเดียวกัน, น. 24.

[22] เรื่องเดียวกัน, น. 25-26.

[23] ธงชัย พึ่งกันไทย, “ลัทธิคอมมิวนิสต์ และนโยบายต่อต้านของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2468 - 2500,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521), น. 191.

[24] “ลัทธิโซเชียลิสม์ เปนปัญหาขึ้นแล้ว,” ใน ศรีกรุง (10 มีนาคม 2475), น. 16.

[25] ณัฐพล ใจจริง, “วิวาทะเค้าโครงการเศรษฐกิจกับบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยและการเมืองของการผลิตซ้ำ,” ใน ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556), น. 251.

[26] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสงวน ตุลารักษ์, น. 18.

[27] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (2 เมษายน 2476).

[28] จากรายงานของมณฑลจันทบุรีและมณฑลนครราชสีมา ได้มีการเก็บและทำลายหนังสือของสงวนจากร้านค้าเป็นจำนวน 18 เล่มและ 41 เล่มตามลำดับ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี (13)มท.2.4/5 ให้สั่งเจ้าหน้าที่สำรวจดูหนังสือ “ลัทธิโซเซียลิสม์ หมายความว่าอะไร” ที่นายสงวน ตุลารักษ์ พิมพ์ออกจำหน่าย ว่ายังมีขายที่ร้านใดบ้างก็ให้สั่งห้ามไม่ให้จำหน่ายและให้เจ้าของเก็บทำลายเสีย (5 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2476).

[29] อย่างไรก็ตามเอกสารต้องห้ามอย่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีจะได้รับการรื้อฟื้นและเริ่มกลับมาตีพิมพ์ซ้ำในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ดู ณัฐพล ใจจริง, “วิวาทะเค้าโครงการเศรษฐกิจกับบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยและการเมืองของการผลิตซ้ำ,” น. 240-244.