ภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรมีเจตนาที่จะผลักดันนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งคือ การปฏิรูปที่ดิน โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อหลักที่ 3 ของหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่า “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”[1]
แนวทางการปฏิรูปที่ดินเริ่มต้นปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักดังจะได้กล่าวถึงต่อไป ในบทความนี้จะเริ่มต้นจากการฉายภาพสภาพเศรษฐกิจและสังคมสยามก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นจะได้อธิบายแนวทางการปฏิรูปที่ดินที่กำหนดไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ และปิดท้ายด้วยความพยายามในการปฏิรูปเรื่องการถือครองที่ดินในช่วงของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่ของกลุ่มคณะราษฎรหลังการอภิวัฒน์
สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทย
ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองสภาพเศรษฐกิจและสังคมในเวลานั้นเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 มาได้ไม่นาน แม้สยามจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจของในฟากทวีปยุโรปได้รับผลกระทบก็ย่อมส่งผลต่อสังคมสยามไปด้วย อันเนื่องจากการผนวกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398
เมื่อเศรษฐกิจในยุโรปตกต่ำลงเพราะพิษของสงคราม จึงส่งผลให้ข้าว, ไม้สัก, ดีบุก และยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกราคาต่ำลงและขายในตลาดต่างประเทศไม่ได้ราคาอย่างที่คาดหวังไว้ ทำให้สยามมีรายได้ลดลงจากเดิม ในปี พ.ศ. 2473 รัฐบาลสยามในขณะนั้นจึงแก้ปัญหาโดยการตัดทอนรายจ่ายเพื่อให้งบประมาณไม่ขาดดุลด้วยการลดค่าตอบแทนข้าราชการและลดงบประมาณทางทหารลง[2]
อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงของราคาสินค้า การลดค่าตอบแทนข้าราชการและลดงบประมาณทหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรากฐานของปัญหาในสังคมไทยเวลานั้น เพราะปัญหาหลักของสังคมไทยในเวลาดังกล่าวคือการมีอาชีพหลักเพียง 2 ประการคือ ข้าราชการ และเกษตรกร
กล่าวเฉพาะเกษตรกร ราษฎรสยามที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรในเวลานั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก จากการสำรวจของคาร์ล ซี ซิมเมอร์แมน (Carl C. Zimmerman) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันซึ่งรัฐบาลสยามจ้างให้สำรวจเศรษฐกิจของชนบทในปี พ.ศ. 2473 พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ของสยามทำอาชีพเป็นชาวนาโดยเช่านาจากเจ้าของที่ดินเป็นส่วนใหญ่ โดยสัดส่วนการเช่าที่ดินแบ่งตามจำนวนภาคได้ดังนี้ ใน ภาคกลาง ชาวนาที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองอยู่ราวร้อยละ 36, ใน ภาคเหนือ ร้อยละ 27, ภาคใต้ ร้อยละ 14 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18 โดยเฉพาะจังหวัดธัญญบุรี (ถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี) พบว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าที่ดินในราวร้อยละ 85 โดยเช่าที่ดินจากบริษัทที่เข้ามาพัฒนาขุดคลองและพัฒนาที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมในขณะนั้น เช่น บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด และชนชั้นปกครองของสยามในเวลานั้น[3]
สภาพที่ดินมีลักษณะเป็นแปลงเล็กๆ กระจัดกระจายกันอยู่ในเจ้าของหลายคน (รายละเอียดปรากฏตามตารางแนบท้าย) ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินทำได้ไม่เต็มศักยภาพ โดยชาวนาคนหนึ่งมีที่ดินที่ต้องใช้ทำนากระจายอยู่ห่างกัน และแปลงหนึ่งมีเนื้อที่เพียงงานเดียว[4] ทำให้ชาวนาต้องใช้แรงกายในการทำนามาก และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงที่ดินเพื่อทำนาเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่กลับได้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบกับการทำนามีต้นทุนหลายประการ อาทิ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแก่เงินกู้มาลงทุนทำนา ค่าเช่านา ภาษีโคกระบือ อากรค่านา และเงินค่ารัชชูปการ ซึ่งมีลักษณะซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรม ผลผลิตจากการเพาะปลูกจึงตอบสนองเพียงพอแค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้น[5]
ตารางแสดงเจ้าของที่ดิน 5 อันดับแรกและกำไรจากการถือครองที่ดินในเขตรังสิต
ชื่อ/สังกัด | ปี (พ.ศ.) | จำนวนที่ (ไร่) | ราคาตอนซื้อโดยประมาณ | ราคาในปี พ.ศ. 2468 หลังเขื่อนป่าสัก [ประมาณการกำไร] (อัตราผลตอบแทนต่อปี) |
---|---|---|---|---|
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ ประวัติ (ต้นราชสกุลเกษมศรี) |
2442 | 17,945 | 406,813 | 1,435,600 – 1,794,500 [1,028,787 – 1,387,687] (4.97 – 5.87%) |
บริษัทลำไทร จำกัด | 2441 - 2442 | 9,000 | 117,765 | 720,000 – 900,000 [602,235 – 782,235] (7.07 – 7.98%) |
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพศาสตร์ ศุภกิจ (ต้นราชสกุลทองแถม) |
2441 | 7,000 | 24,500 | 560,000 – 700,000 [535,500 - 675,500] (12.29 – 13.22%) |
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนราธิปพระพันธ์พงศ์ (ต้นราชสกุล วรวรรณ) |
- | 7,000 | 24,500 | 560,000 – 700,000 [535,500 - 675,500] (12.29 – 13.22%) |
บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด | 2443 | 6,584 | 189,850 | 526,720 – 658,400 [336,780 – 468,550] (4.17 – 5.1%) |
การถือครองที่ดินแปลงใหญ่โดยเจ้าของที่ดินชนชั้นสูงซึ่งอยู่อาศัยนอกพื้นที่ อาทิ กรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตพื้นที่รังสิต เป็นผลมาจากการให้สัมปทานในการขุดคลอง[6] ขณะที่ราษฎรที่บุกเบิกจับจองที่ดินนั้นเข้าใจว่าตนมีสิทธิในที่ดินจากการเข้าไปหักร้างถางพงและทำประโยชน์ โดยไม่ได้ตระหนักถึงระบบกรรมสิทธิ์ที่ถูกนำเข้ามาใช้ใหม่แทนที่การครอบครองที่ดินแบบเดิม[7] ทำให้การครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ไม่มีความหมาย จนนำมาสู่การเกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินกับชาวนาที่เข้าไปบุกเบิกจับจองและทำประโยชน์ในที่ดินในฐานะผู้เช่า ทั้งในแง่ของการปลอมเอกสารสิทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งเรื่องเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ออกโดยหน่วยงานหลายหน่วยงานในเวลาเดียวกัน หรือการขับไล่ชาวนาที่เข้าไปบุกเบิกจับจองที่ดินตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราค่าเช่านา[8]
แนวทางการปฏิรูปที่ดินที่กำหนดไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ
ภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) รับบทบาทในการจัดทำ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ซึ่งเรื่องหนึ่งที่นายปรีดีได้เสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจคือ การปฏิรูปการถือครองที่ดิน
สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจคือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศสยามในเวลานั้นจากเดิมเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่รัฐมีบทบาทจำกัดและปล่อยให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปตามกลไกตลาด[9] มาสู่การเป็นสังคมนิยมแบบสหกรณ์ (cooperative socialism) โดยเน้นการจัดสรรทรัพยากรโดยรัฐเข้ามามีบทบาทในการวางแผนทางเศรษฐกิจแล้วใช้สหกรณ์เป็นหน่วยในการปฏิบัติตามนโยบายเพื่อจัดสรรทรัพยากร[10]
ในแง่วิธีการจัดหาที่ดินนั้นนายปรีดีเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า
“...รัฐบาลจะซื้อที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมา ก็เชื่อว่าชาวนาเจ้าของที่ดินผู้รับจำนองทั้งหลายคงจะยินดีมิใช่น้อย เพราะการที่ตนยังคงมีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดิน หรือยังยึดที่ดินไว้เป็นประกันมีแต่จะขาดทุนอย่างเดียว การซื้อที่ดินกลับคืนมานี้เป็นวิธีต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์”[11]
กล่าวคือ รัฐบาลควรจะดำเนินการโดยการซื้อที่ดินจากเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ เนื่องจากในเวลานั้นราคาที่ดินลดลงและเจ้าของที่ดินไม่สามารถเก็บหนี้ค่าเช่าที่ดินจากชาวนาได้ เพราะชาวนาทำนาขาดทุน การขายที่ดินให้กับรัฐบาลจึงเป็นวิธีการดีที่สุดที่เจ้าของที่ดินจะได้ประโยชน์จากราคาที่ดิน โดยการซื้อคืนที่ดินนี้ นายปรีดีเสนอให้มีการออกใบกู้เงินให้เจ้าของถือไว้ตามราคาที่ดิน และให้ถือว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล (คล้ายกับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน) รัฐบาลจะดำเนินการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนั้น ซึ่งในทรรศนะของนายปรีดีมองว่า วิธีการนี้ดีกว่าการถือโฉนดที่ดินหรือหนังสือสำคัญเอาไว้ในสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากตอนนี้เจ้าของที่ดินไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากการเป็นเจ้าหนี้
นอกจากนี้ การได้ที่ดินของรัฐบาลมาโดยวิธีการนี้ไม่ได้เป็นการบังคับยึดที่ดินมา แต่เป็นการใช้วิธีการซื้อคืนที่ดินจากเจ้าของที่ดินโดยสมัครใจ และเป็นการซื้อคืนเฉพาะที่ดินเพื่อการประกอบกิจการทางเศรษฐกิจ อาทิ ที่นาหรือที่ไร่เท่านั้น ไม่รวมถึงที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย[12]
เมื่อพิจารณาถึงแรงจูงใจในการร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ นายปรีดีได้ชี้แจงต่อคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ร่างขึ้นตามแนวทางแบบสังคมนิยมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ โดยตนเห็นว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมต้องเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อกัน[13] ตามปรัชญาภราดรภาพนิยมที่นายปรีดียึดถือ[14] การที่รัฐเข้ามาจัดสรรที่ดินจึงเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังมองเห็นความจริงของสังคมว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยของบุคคลคนหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแรงงานของตนเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นจากสังคมและฝูงชนโดยรอบที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขและร่วมประกันภัยต่อกัน[15]
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของนายปรีดีถูกต่อต้านจากรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พร้อมกับการนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธเค้าโครงการเศรษฐกิจ[16]
อนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจคือ คำอธิบายของ อภิชาต สถิตนิรมัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ ซึ่งได้กล่าวว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจที่มีการกำหนดให้รัฐซื้อที่ดินจากเอกชนมาเป็นของรัฐ ส่งผลกระทบต่อชนชั้นปกครองในเวลานั้นรวมถึงราชสำนักที่เป็นเจ้าของพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดในประเทศ การปฏิรูปที่ดินจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะยอมรับได้ของชนชั้นนำสยาม เพราะที่ดินถือเป็นแหล่งสร้างความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนำ โดยอภิชาตและอิสร์กุลอ้างถึงงานของ สุเอฮิโระว่า ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 การถือครองที่ดินของพระคลังข้างที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับการลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่อื่นๆ อาทิ กิจการรถไฟฟ้า ธนาคาร การเดินเรือ ซึ่งให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเพียงร้อยละ 4-12 เท่านั้น[17]
ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำไปสู่การทำรัฐประหารเงียบโดยการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีผลเป็นการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนท้ายที่สุดในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนานำอำนาจคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย พร้อมยุติบทบาทของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวความพยายามในการปฏิรูปที่ดินตามเค้าโครงการเศรษฐกิจได้สะดุดหยุดลง และต่อมาในปี พ.ศ. 2476 พระยาโกมารกุลมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้เสนอแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าแทนการปฏิรูปที่ดินตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ[18]
แนวทางการปฏิรูปที่ดินสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
การปฏิรูปที่ดินถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงปี พ.ศ. 2491 – 2500 นโยบายการปฏิรูปที่ดินของจอมพล ป. เป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การตกอยู่ภายใต้พันธะของความตกลงสมบูรณ์แบบทำให้ประเทศไทยมีหน้าที่จะต้องส่งข้าวเพื่อชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม[19] ทำให้ราคาส่งออกข้าวกลับมามีราคาเพิ่มสูงขึ้นและเกิดการสะสมที่ดินอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ปัญหาแรงงานล้นเกินยังมีส่วนให้เกิดแรงกดดันของประชากรต่อที่ดินเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินตามมา[20]
นอกจากนี้ ด้วยสภาพทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ระหว่างการเมืองแบบสามเส้า ทำให้จอมพล ป. อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การดึงเอาการสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชน และการรับนโยบายจากสหรัฐอเมริกาจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม[21] กรณีดังกล่าวจึงนำมาสู่การตรากฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการยกเลิกโฉนดที่ดินที่ออกโดยมิชอบเพื่อแย่งชิงสิทธิกับประชาชน และยกเลิกการออกโฉนดที่ไม่เป็นธรรมแล้วนำไปจัดสรรใหม่ให้กับประชาชน[22]
อีกประการหนึ่งที่รัฐบาลจอมพล ป. ได้ดำเนินการ คือ การจำกัดการถือครองที่ดิน กล่าวคือพยายามเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยการตราประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งกำหนดห้ามมิให้ถือครองที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ ถ้าเกินกว่า 50 ไร่ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด[23] อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่านโยบายดังกล่าวนี้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากรัฐบาลในเวลานั้นยอมแก้ไขร่างประมวลกฎหมายที่ดินโดยไม่ให้มีผลย้อนหลัง ทำให้ไม่กระทบต่อชนชั้นนำที่ครอบครองที่ดินในเวลานั้น[24] แต่ในความเป็นจริงนโยบายการจำกัดการถือครองที่ดินของจอมพล ป. ก็ต้องสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์[25]
กล่าวได้ว่าปัญหาการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทยมีส่วนสำคัญมาจากแรงจูงใจทางการเมืองของชนชั้นนำในสังคมไทยในเวลานั้น ที่มีส่วนในการขัดขวางกระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองในแต่ละช่วงเวลา แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทว่า ปัจจัยสำคัญที่ชนชั้นนำไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปที่ดินเนื่องจากการปฏิรูปจะกระทบต่อความมั่งคั่งเดิมและประโยชน์ที่พึงรักษาไว้จากความเหลื่อมล้ำในสังคม
[1] หลัก 6 ประการนี้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของคำปฏิญาณคนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 1; ดู สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญ) (28 มิถุนายน 2475), หน้า 6.
[2] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1: สภาพเศรษฐกิจและสังคม และความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ’. (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 22 มิถุนายน 2563).สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566.
[3] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม (ซิม วีระไวทยะ แปล, พิมพ์ครั้งที่ 2, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 2525), หน้า 18 – 20.
[4] เพิ่งอ้าง, หน้า 20.
[5] เพิ่งอ้าง, หน้า 32.
[6] อภิชาต สถิตนิรมัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา : สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน (มติชน, 2564), หน้า 42.
[7] ผู้เขียนพัฒนาแนวคิดเรื่องนี้มาจากกรอบการวิเคราะห์ของ รองศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์; ดู อคิน รพีพัฒน์, ‘กำเนิดรหัสหมายสลัม/ชุมชนแออัด’ ใน อคิน รพีพัฒน์ (หัวหน้าโครงการ) โครงการวิจัยและปฏิบัติการวิวัฒนาการชุมชนแออัดและองค์กรชุมชนแออัดในเมือง (รายงานวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2541).
[8] ดู กิตติกาญจน์ หาญกุล, ‘บทวิเคราะห์ข้อขัดแย้งเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินและกลไกการแก้ไขปัญหา : ศึกษาเฉพาะกรณีที่ดินในเขตชลประทานทุ่งรังสิต’ (2550) 1 วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,หน้า 32, 37-38.
[9] ข้อสังเกตคือ การทำงานโดยกลไกตลาดในเวลานั้นไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรเนื่องจากมีการผูกขาดทางเศรษฐกิจอยูกับกลุ่มชนชั้นนำ และธุรกิจทุนต่างประเทศ ดู พอพันธ์ อุยยานนท์, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2564) 105-106.
[10] ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, สร้างสังคมไทยให้เป็นรัฐสวัสดิการ : ข้อคิดจากปรีดี พนมยงค์ ถึงยุคปัจจุบัน (เสมสิกขาลัย, 2564) 32-33; เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘การอธิบายขยายความเค้าโครงการเศรษฐกิจ’ ใน ณภัทร ปัญกาญจน์ (บรรณาธิการ) รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2564), หน้า 71.
[11] ปรีดี พนมยงค์, ‘ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์), สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566.
[12] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘การอธิบายขยายความเค้าโครงการเศรษฐกิจ’ (เชิงอรรถ 10), หน้า 88 – 91.
[13] สันติสุข โสภณสิริ, เค้าโครงการเศรษฐกิจ (โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส สำหรับเด็กและเยาวชน 2542), หน้า 107.
[14] ดู เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2563), สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566.
[15] สันติสุข โสภณสิริ (เชิงอรรถ 13), หน้า 107 – 108.
[16] ณัฐพล ใจจริง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะไม่ใช่ผู้เขียนพระบรมราชวินิจฉัยตัวจริง ข้อสังเกตดังกล่าวมีความน่าสนใจในทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่มีนัยต่อการพิจารณาในเรื่องนี้; ดู ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝในฝันอันเหลือเชื่อ (ฟ้าเดียวกัน, 2566), หน้า 237 - 287.
[17] อภิชาต สถิตนิรมัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ, (เชิงอรรถ 6), หน้า 74.
[18] เพิ่งอ้าง, หน้า 72.
[19] ดู เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ความตกลงสมบูรณ์แบบและปัญหาข้าว’, (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 26 สิงหาคม 2563), สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566.
[20] อภิชาต สถิตนิรมัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ (เชิงอรรถ 6), หน้า 82.
[21] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ‘การกำหนดนโยบายจัดสรรที่ดินในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2491-2500)’ (2553) 2 วารสารสถาบันพระปกเกล้า 1, หน้า 1-6. ..สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566.
[22] อภิชาต สถิตนิรมัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ (เชิงอรรถ 6), หน้า 82.
[23] พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 58 ทวิ
[24] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ‘กระบวนการกำหนดนโยบายที่ดินในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2475-2500’ (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2553), หน้า 158 – 174.
[25] ประชาไท, ‘จอมพล ป.กับการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ-จุดริเริ่มการปฏิรูปเพื่อกระจายการถือครองที่ดินแก่ ปชช. หลัง 2475’, (ประชาไท, 22 มกราคม 2565), สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566.
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- สมุดปกเหลือง
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ปรีดี พนมยงค์
- คณะราษฎร
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- สนธิสัญญาเบาว์ริง
- บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด
- คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน
- ซิม วีระไวทยะ
- พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ
- บริษัทลำไทร จำกัด
- พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนราธิปพระพันธ์พงศ์
- อภิชาต สถิตนิรมัย
- อิสร์กุล อุณหเกตุ
- กิตติกาญจน์ หาญกุล
- ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
- สันติสุข โสภณสิริ
- ณัฐพล ใจจริง
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์