Focus
- จากการเรืองอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำกองทัพเยอรมันเข้ารุกรานหลายประเทศในทวีปยุโรปและการกระทำได้ไปสู่ความขัดแย้งที่เป็นจุดเริ่มของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
- ทางด้านสถานการณ์ของประเทศไทย สมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามฯ การพ่ายแพ้ของกองทัพฝรั่งเศสในทวีปยุโรป การเรียกร้องดินแดนของประชาชนไทยทำให้กองทัพไทยและกองทัพฝรั่งเศสในอินโดจีนเกิดการต่อสู้ระหว่างกัน และกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทและจะขยายอิทธิพลเข้าสู่ประเทศไทยในเวลาต่อมา
- บทความนี้ของนายปรีดี พนมยงค์ จากบันทึกประวัติศาสตร์เรื่องโมฆสงครามสะท้อนให้เห็นกระบวนทัศน์สันติวิธีของนายปรีดีตั้งแต่ก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
-1-
ภายหลังที่ฮิตเลอร์ได้ประสบความสำเร็จในการผนวกดินแดนของเชคโกสโลวาเกียต่อจากความสำเร็จที่ได้ผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมันแล้วภายในรัฐบาลไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญ คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลาออกเนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม พ.ศ. 2482 หลวงพิบูลสงครามซึ่งเลื่อนยศเป็นนายพลตรีดังกล่าวท้ายบทที่ 2 นั้น ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง และนายดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
รัฐบาลไทยได้ตกลงทำกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกันกับอังกฤษ, ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940)
เพียงลองวันต่อมา คือในวันที่ 14 เดือนเดียวกันนั้น กองทัพเยอรมันยึดกรุงปารีสได้โดยรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศเป็นเมืองเปิด ต่อมาวันที่ 22 เดือนเดียวกันนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้จอมพลเปแตง (Pétain) ลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมัน ยอมให้เยอรมันยึดครองดินแดนฝรั่งเศสส่วนหนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ย้ายรัฐบาลไปตั้งอยู่ที่เมืองวิชี (Vichy) ในดินแดนฝรั่งเศลที่ปลอดจากการยึดครองของเยอรมัน
ส่วนทางด้านอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ญี่ปุ่นบีบบังคับรัฐบาลฝรั่งเศสให้ปิดพรมแดนระหว่างอินโดจีนกับประเทศจีนและให้ญี่ปุ่นควบคุมเมืองท่าและเมืองสำคัญหลายแห่งในอินโดจีน อีกทั้งขอร้องที่จะนำทหารญี่ปุ่นเข้ามาในอินโดจีน
-2-
ข้าพเจ้าได้ไปสนทนากับนายกรัฐมนตรีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์ ข้าพเจ้าเสนอความเห็นว่า สมควรที่ฝ่ายไทยจะเปิดการเจรจากับฝรั่งเศสให้คืนดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ไปจากไทยโดยมีเหตุผลว่า ดินแดนที่ฝ่ายไทยได้มอบให้ฝรั่งเศสไปนั้น ก็เพื่อให้อยู่ในอารักขา (Protectorat) ของฝรั่งเศส แต่เมื่อฝรั่งเศสยอมแพ้เยอรมันและยอมต่อการคุกคามของญี่ปุ่น ก็แสดงว่าฝรั่งเศสไม่มีสมรรถภาพในการเป็นรัฐอารักขา จึงควรที่จะโอนดินแดนนั้นกลับมาให้ไทยปกครองตามเดิม การเจรจานั้นทำอย่างสันติ ถ้าฝรั่งเศสไม่ยอมตกลง เราก็มีเหตุผลที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้เป็นผู้วินิจฉัย (ต่างกับกรณีปรับปรุงเส้นเขตแดนแม่น้ำโขงและเขาพระวิหารในสมัยที่ฝรั่งเศส ยังไม่แสดงให้ประจักษ์ถึงการไร้สมรรถภาพ ในการเป็นรัฐอารักขา)
นายกรัฐมนตรีตอบว่าจะลองเอาไปคิดดู แต่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยนั้นจะได้ทาบทามกับฝรั่งเศสและประเทศใดบ้าง ขณะนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ ต่อมาจึงทราบจากนายดิเรกว่า ได้มีการทาบทามทูตฝรั่งเศสและขอความเห็นใจทูตอังกฤษ, อเมริกัน, เยอรมัน, อิตาเลียน แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้น นายดิเรกเขียนไว้ในหนังสือ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2” ว่า นายกฯบอกกับนายดิเรกว่านายกฯ “ได้ใช้ให้บุคคลอื่นติดต่ออย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว”
–3-
ฝ่ายผู้นิยมแผ่อำนาจแบบนาซีได้สร้างมติมหาชนขึ้นเพื่อหนุนหลวงพิบูลฯให้จำใจต้องใช้วิธีทำสงคราม การเดินขบวนได้จัดให้มีขึ้นในประเทศไทยเพื่อเรียกร้องเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส บางขบวนได้ทำหีบศพจำลองแห่ไปตามถนนในกรุงเทพฯและบางจังหวัดโดยสมมติว่าเป็นหีบศพนายจันทา ซึ่งเป็นคนจังหวัดหนองคายที่ข้ามไปเวียงจันทน์แล้วถูกตำรวจของฝรั่งเศสยิงตาย เนื่องจากไม่มีหนังสือเดินทาง ทั้งนี้เป็นมหกรรมที่ครึกครื้นสำหรับวัยรุ่นสมัยนั้นที่เดินขบวนถือคบเพลิงในเวลากลางคืนด้วย นายจันทากลายเป็นวีรบุรุษที่ผู้เดินขบวนได้ให้เกียรติไว้อย่างสูง โดยผู้จัดเดินขบวนจะถือเอาเป็นเหตุสำคัญเหตุหนึ่งที่เกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านเคียดแค้นฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น แต่ครั้นฝ่ายไทยขอค่าทำขวัญจากฝรั่งเศสให้แก่ครอบครัวนายจันทา ฝรั่งเศสก็ยอมให้ ฝ่ายผู้จัดเดินขบวนซึ่งรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนก็ยังไม่พอใจ คือ เรียกร้องให้เดินขบวนเพื่อให้รัฐบาลใช้กำลังทหารไปยึดเอาดินแดนเดิมของไทยกลับคืนมา นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ถูกชักชวนให้ไปร่วมเดินขบวนกับนักศึกษาอื่น ๆ
เมื่อข้าพเจ้าทราบเรื่องจึงได้นัดประชุมนักศึกษา ม.ธ.ก. ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้ประศาสน์การ เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าผู้จัดให้มีเต็งขบวนมีกโลบายทีจะให้ผู้เดินขบวนเป็นฝ่ายรับผิดชอบถ้าหากฝรั่งเศสเกิดขึ้น รัฐบาลก็จะแก้ตัวได้ว่า เพราะมีผู้เรียกร้องให้กำลังทหารไปเอาดินแดนคืนมา รัฐบาลจึงก็ต้องทำตามมติมหาชน (ที่รัฐมนตรีบางคนสร้างขึ้นเอง) ข้าพเจ้าชี้แจงนักศึกษาว่า นักศึกษาที่จะเดินขบวนจะตกเป็นฝ่ายรับผิดชอบถ้าผู้มีอำนาจทางทหารใช้กำลังทหารไปยึดเอาดินแดนมา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ต้องเสียชีวิตทหารไปโดยได้ผลไม่คุ้มค่า เพราะสงครามด้านยุโรปนั้นเป็นเพียงชัยชนะชุดแรกของเยอรมันเท่านั้น ถ้าสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะขั้นสุดท้าย ก็จะสนับสนุนให้ฝรั่งเศสเรียกเอาดินแดนที่เราได้มาด้วยกำลังอาวุธกลับคืนให้แก่ฝรั่งเศส
ข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรเจรจาโดยสันติวิธีที่จะได้ดินแดนเดิมของไทยกลับคืนมา (ขณะนั้นข้าพเจ้ามิได้เปิดเผยสาส์นของนายคอร์เดลฮัลล์ ร.ม.ต.ว่าการต่างประเทศอเมริกันที่มีถึงข้าพเจ้าระหว่างเป็น ร.ม.ต.ว่าการต่างประเทศที่เตือนทุกประเทศมิให้ใช้กำลังทหารบุกรุกดินแดนชาติอื่นทำนองฮิตเลอร์ทำในยุโรป และต่อมาอุปทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯได้นำสาส์นนี้ให้แก่นายดิเรกฯ ร.ม.ต.ช่วยว่าการเพื่อเสนอ พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อตระหนักถึงท่าทีของรัฐบาลอเมริกันภายใต้ประธานาธิบดีรูสเวลท์ ข้าพเจ้ามีได้เปิดเผยว่า ทูตอังกฤษเคยบอกว่า ถ้าฝรั่งเศสจะมอบดินแดนเดิมของไทยให้แก่ญี่ปุ่นแล้ว ก็มอบคืนให้ไทยเจ้าของเดิมดีกว่า การเปิดเผยเอกสารลับและการสนทนาลับกับทางต่างประเทศนั้น จะเปิดเผยต่อมหาชนยังไม่ได้ตามมารยาทนอกจากได้รับความยินยอมก่อน) ข้าพเจ้าได้เดือนนักศึกษาว่าเป็นปัญญาชนต้องใช้สติและปัญญาอย่างรับผิดชอบ อย่าหลงเชื่อคำชักจูงที่จะก่อสงคราม (ภายหลังที่ข้าพเจ้ามาอยู่ปารีสตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ได้มีนักศึกษาเก่า ม.ธ.ก. บางคนมาพบข้าพเจ้าและได้กล่าวระลึกความหลังขึ้นเองว่า เขาจำความที่ข้าพเจ้าเตือนครั้งนั้นได้)
-4-
ส่วนทางนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศด้วยนั้น ในชั้นแรกก็ดำเนินวิธีเจรจาทางการทูต แต่เมื่อมีการสร้างมติมหาชนให้ใช้กำลังอาวุธด้วยแล้ว นายกรัฐมนตรีก็กล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุกระจายเสียงขอบใจและรับความเห็นของผู้เดินขบวน ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยนั้น ได้สั่งเรียกทหารกองหนุนเข้าประจำการเพิ่มขึ้นและตระเตรียมการรบตามอัตราศึก ได้ขอให้กระทรวงการคลังตั้งงบประมาณเพิ่มเติมโดยจ่ายจากเงินคงคลังหลายสิบล้านบาท (เงินขณะนั้น) ข้าพเจ้าจำต้องจ่ายให้เพราะเห็นแก่ทหารที่ถูกเรียกเข้าประจำอัตราศึกจะได้เงินเดือนและค่าใช้สอยโดยไม่อัดคัด นอกจากนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ผู้สนับสนุนเดินขบวนและผู้เดินขบวนแสดงว่ารักชาติและยอมเสียสละเพื่อชาติ จึงได้ออกพันธบัตรช่วยชาติขึ้น ข้าพเจ้าได้สละเงินเดือน 1 เดือนซื้อพันธบัตรนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ที่เรียกร้องให้เดินขบวนได้สละเงินซื้อพันธบัตรช่วยชาติ เพราะบางทีอาจคิดว่าได้ค่าใช้จ่ายจากเงินคงคลังของรัฐแล้ว
นายกรัฐมนตรีได้สั่งกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเรียกร้องจากฝรั่งเศสให้ปรับปรุงเขตแดนกับไทย และให้คืนดินแดนที่เป็นมณฑลบูรพาเดิมของไทยและดินแดนบางส่วนบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ไทย หรือรับรองว่า ถ้าจะต้องโอนดินแดนนี้ให้แก่ชาติอื่นก็ต้องคืนให้ไทยก่อน แต่ฝรั่งเศสได้ตอบปฏิเสธ
ต่อมารัฐบาลไทยได้แถลงว่า ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินล่วงล้ำน่านฟ้าไทยหลายสิบครั้ง เป็นการท้าทายและมีการล่วงล้ำชายแดนกับเตรียมทหารที่จะคุกคามไทย ดั่งนี้แสดงว่า จอมพลเปแตงที่เป็นอาจารย์วิชาทหารได้ละทิ้งคำสอนของตนเสียแล้ว โดยคิดทำศึก 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งจะรบกับไทยและอีกด้านหนึ่งทำลังถูกญี่ปุ่นคุกคามอยู่ข้างหลัง จอมพลเปแตงไม่สำนึกว่า ฝ่ายฝรั่งเศสยอมแพ้ฮิตเลอร์เหลือทหารไม่เท่าใดและในอินโดจีนก็มีทหารอยู่ประมาณ 25,000 คนเศษ จะส่งจากฝรั่งเศสหรือจากอาณานิคมยื่นมาเพิ่มเติมในอินโดจีนก็ทำได้ลำบาก ราษฎรในอาณานิคมอื่นๆ หลายแห่งก็ตกอยู่ภายใต้นายพลเดอโกลด์แห่งฝรั่งเศสเสรีที่คุกคามแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศสอยู่เอง ยิ่งกว่าทำศึก 2 ด้านแล้วฝรั่งเศสยังทำศึกอีกด้านหนึ่งรวมเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ ภายในอินโดจีน มีขบวนการเวียดมินห์ ที่จัดตั้งกองกำลังขึ้นทางทิศเหนือของอินโดจีนแล้ว แต่อาจเป็นเพราะจอมพลเปแตงหน้ามืดตามัวขึ้นมา จึงคิดทำศึกถึง 3 ด้านในอินโดจีน
-5-
ครั้นถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 กองทัพไทยที่เตรียมพร้อมอยู่ชายแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ได้เปิดฉากการรบโดยรุกเข้าไปในดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ถามหลวงพิบูลฯว่า เริ่มรบเข้าแล้วหรือหลวงพิบูลฯตอบว่ายังไม่ทันออกคำสั่ง แต่มีกองพันไทยกองพันหนึ่งที่ตั้งอยู่ชายแดนนานเข้าก็ทนไม่ไหวจึงรุกไปก่อน ฉะนั้น หลวงพิบูลฯว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ปล่อยเลยตามเลย จึงออกคำสั่งรบภายหลัง
ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนกองทัพไทยก็ยึดได้ส่วนหนึ่งแห่งรัฐหลวงพระบาง, สำโรง, จงกัล, กุมเรียง, ห้วยเขมร, ตะวันตกของไพลิน และรุกเข้าไปยึดพื้นที่ห่างจากศรีโสภณประมาณ 17 กิโลเมตรเท่านั้น ถึงตอนนี้ฝรั่งเศสได้ต้านทานเหนียวแน่นขึ้น กองทัพไทยได้ใช้วิธีเอาปืนใหญ่ระดมยิงเครื่องกีดขวางและส่งเครื่องบินไปรังควานแนวหลังฝรั่งเศส แต่ต้องใช้เวลารอคอยอยู่หลายวันที่แนวรบนั้น ก่อนที่จะรุกคืบหน้าต่อไป
ระหว่างนั้นรัฐบาลอังกฤษได้ปรึกษากับรัฐบาลอเมริกันที่จะเข้าไกล่เกลี่ยระหว่างไทยกับฝรั่งเศส รัฐบาลอเมริกันเห็นว่าจะไม่ได้ผลแต่ก็พร้อมที่จะขอให้ไทยกับฝรั่งเศสเจรจากันเองโดยอังกฤษและสหรัฐอเมริกาช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง
ฝ่ายญี่ปุ่นก็แถลงว่า ญี่ปุ่นไม่อาจนิ่งเฉยดูดายต่อกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ครั้นถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2484 วิทยุโตเกียวประกาศว่า รัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสตอบตกลงให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ย หลวงพิบูลฯมิได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบก่อนว่า เจรจาตกลงกับญี่ปุ่นว่าอย่างไร หากตกลงไปแล้วจึงแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ ดังปรากฏความในหนังสือที่นายดิเรกพิมพ์ขึ้นเล่มที่อ้างไว้แล้ว มีความตอนหนึ่งว่าดั่งนี้
“วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) วิทยุโตเกียวประกาศว่า รัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสได้ตอบตกลงให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว ในวันเดียวกันนั้นเอง พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ญี่ปุ่นได้เสนอมา โดยที่ไม่มีทางอื่นจะปฏิเสธ จึงได้ตอบตกลงไปแล้วอย่างไรก็ดี เรื่องญี่ปุ่นเสนอเข้ามาไกล่เกลี่ยนี้ ข้าพเจ้า (นายดิเรก) ทราบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในนาทีสุดท้ายก่อนญี่ปุ่นประกาศทางวิทยุกระจายเสียงประมาณวันหนึ่ง และก็ได้รับคำสั่งให้รักษาเป็นความลับอย่างยิ่ง ฉะนั้น เมื่อทูตอเมริกันมาซักถามถึงเรื่องนี้ว่า ญี่ปุ่นเสนอมาตั้งแต่เมื่อไร ข้าพเจ้าจึงตอบตรง ๆ ว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบ”
ครั้นแล้วได้หยุดรบทุกแนวรบนาฬิกาตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484 เวลา 10 นาฬิกา และมีพิธีลงนามข้อตกลงสงบศึกบนเอรบญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941)
-6-
ต่อจากนั้น รัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาทำความสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศสที่โตเกียว ต้องใช้เวลาเกือบ 2 เดือนจึงสามารถตกลงลงนามย่อ อันเป็นการลงนามชั่วคราวในอนุสัญญาเช่นว่านั้นได้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) และลงนามถาวรได้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนปีนั้น ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ญี่ปุ่นต้องใช้อิทธิพลบังคับฝรั่งเศสจึงยอมตกลงให้ไทยได้คืนดินแดนหลวงพระบางฝั่งขวาและดินแดนจำปาศักดิ์ตรงข้ามปากเซ ดินแดนในกัมพูชาที่ฝรั่งเศสได้ไปเมื่อ พ.ศ. 2446 ศรีโสภณและพระตะบองจดฝั่งทะเลสาบ แต่เสียมราฐกับนครวัดยังคงเป็นของฝรั่งเศสดินแดนในกัมพูชาเส้นขีดโค้งจากเวิ้งนครวัดลงไปถึงแม่น้ำโขงตอนใต้สตรึงเตง (เชียงแดง) ถือร่องน้ำลึกในลำน้ำโขงเป็นเส้นปันเขตแดน ส่วนเกาะดอนที่อยู่ขวาของร่องน้ำลึกเป็นของไทย
-7-
การที่ฝ่ายผู้แทนไทยต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการเจรจาที่โตเกียวจึงได้มีการลงนามอักษรย่อเป็นการชั่วคราวกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยอมโอนดินแดนอินโดจีนบางส่วนกลับมาให้ไทยนั้น ถ้าเราจะใช้ความสังเกต ก็อาจฉงนได้ว่า ทำไมใช้เวลานานเกินไปถ้าฝรั่งเศสยอมแพ้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้บอกให้ฝ่ายไทยรับรู้ว่า ฝ่ายฝรั่งเศสกับญี่ปุ่นได้มีหนังสือแลกเปลี่ยนกันใจความว่ารัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้ฝรั่งเศสตกลงยินยอมโดยไม่มีเงื่อนไข ฝ่ายฝรั่งเศสแจ้งว่าโดยสถานการณ์เช่นนี้ฝรั่งเศสจึงจำต้องยอม ซึ่งเป็นการสงวนสิทธิที่ฝรั่งเศสจะอ้างในภายหลังว่าความตกลงนั้นเป็นโมฆะ เพราะทำไปโดยถูกบังคับ คณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศสภายใต้นายพลเดอโกลล์ ได้แถลงไม่รับรู้ข้อตกลงกับไทยนี้ และถือว่าสถานะสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับไทยคงมีอยู่นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) อันเป็นเรื่องที่ฝรั่งเศสคิดว่า ฝ่ายไทยเริ่มเปิดฉากสงคราม โดยส่งเครื่องบินไปโจมตีอินโดจีนของฝรั่งเศส ถ้าเสร็จศึกด้านยุโรปและฝรั่งเศสเสรีได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะทำสงครามกับไทยต่อไป ข่าวที่ฝรั่งเศสฝ่ายจอมพลเปแตงยอมลงนามโดยถูกบังคับจากญี่ปุ่น และฝ่ายนายพลเดอโกลล์ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะนั้น ข่าววิทยุสัมพันธมิตรได้กระจายออกไปโดยคนที่รับฟังรู้กัน แต่วิทยุไทยไม่ยอมแจ้งความจริงนี้แก่ราษฎรไทยให้รู้ว่า ที่ได้คืนดินแดนบางส่วนนั้น เป็นชัยชนะถาวรหรือมีเงื่อนไข
เมื่อนายพลเดอโกลล์ได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในปารีสภายหลังได้ขับไล่กองทัพเยอรมันออกไปแล้ว ก็ได้แจ้งท่าทีนี้ต่อผู้แทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดังปรากฏข้อความในบันทึกของอุปทูตอเมริกันที่ปารีสดั่งต่อไปนี้
851G. 011/8-2245
The French Embassy to the Department of State
[Translation]
No.621
Washington, August, 22, 1945.
The French Embassy presents its compliments to the Department of State and has the honor to inform it, on instructions of its Government, that the position of the latter concerning the territories belonging to the Indo-Chinese Union which were seized by Siam on the basis of the Franco-Thai Peace Treaty of May 9, 1941, is as follows :
The status of these territories must not be submitted to arbitration. France considers herself as completely justified in law to resume the administration of the Cambodian and Laotian territories which were wrested from her by violence. These territories were annexed by Siam in violation of the treaty which it had concluded with the French Government on June 12, 1940. This annexation, which was entirely unjustified, could be elected only with the support of Japan. The letters exchanged on March 11, 1941, in Tokyo between the French Ambassador to Japan and the Japanese Foreign Minister stipulate that the Imperial Government recommends “the unconditional acceptance by the French Government” of its plan for settling the Franco-Thai dispute. It specifies that “the French Government, in spite of the fact that neither the local situation nor the fortune of arm oblige it to renounce the benefits of the treaty which was freely negotiated and concluded between it and the Bangkok Government, is disposed under present circumstances to accede to the requests of the Japanese Government.” The violence dealt the French Government by Japan is thus expressly brought out in the terms of the letters exchanged between their representatives. Under these conditions the Franco-Thai Peace Treaty of May 9, 1941, has on juridical value, even if France should be considered as responsible for the actions of the Government of M. Arsene Henry. Neither the French National Committee of London nor the Provisional Government of the French Republic has ever recognized the validity of this treaty, and the statements of the French National Committee of December 8, 1941, as well as those of the French Committee of National Liberation of December 8, 1943, formally laid claim to the territories of the Indo-Chinese Union occupied by Siam. The French Embassy begs the Department of State to take cognizance of this declaration of the French Government’s position concerning the territories in question and take this occasion to renew the assurances of its highest consideration.
-8-
ส่วนชาติไทยต้องเสียอะไรเป็นค่าตอบแทนในการได้ดินแดนคืนมานั้น ขอให้ผู้อ่านสังเกตพิธีสารระหว่างญี่ปุ่นกับไทยดั่งต่อไปนี้
พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจกันในทางการเมือง
รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น
มีความปรารถนาเท่าเทียมกันในอันจะรักษาสันติภาพในเอเชียตะวันออก
อาศัยเจตนารมณ์สันติและมิตรภาพ ซึ่งได้อำนวยการจัดทำสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๔๐ และมีความปรารถนาจริงใจเท่าเทียมกันที่จะคงดำเนินในทางนี้
ใคร่จะยังเสถียรภาพให้แก่สัมพันธไมตรี ซึ่งเพิ่งกลับสถาปนาขึ้นระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส
จึงได้ทำความตกลงกันดังต่อไปนี้
๑. รัฐบาลญี่ปุ่นให้ประกันแก่รัฐบาลไทย ในลักษณะเด็ดขาดและถอนคืนไม่ได้ แห่งความระงับการขัดกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส อันเป็นผลสืบจากการไกล่เกลี่ยของรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องแต่อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๔๑ และบรรดาเอกสารภาคผนวก
๒.รัฐบาลไทยสนองรับหลักประกันของรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าวแล้ว และจะพยายามรักษาสันติภาพในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพยายามสถาปนาสัมพันธไมตรีแห่งเพื่อนบ้านที่ดีกับทั้งบำรุงเศรษฐสัมพันธ์อันสนิทระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น
รัฐบาลไทยแถลงไว้ด้วยว่า ไม่มีเจตนาที่จะทำความตกลงหรือความเข้าใจใดๆ กับประเทศภายนอก เพื่อร่วมมือกันทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหาร ในสภาพที่จะให้รัฐบาลไทยขัดกับญี่ปุ่นโดยตรงหรือโดยทางอ้อม
๓. พิธีสารนี้ จะได้รับสัตยาบัน และจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ โตกิโอ ภายในสองเดือนหลังจากวันลงนาม
พิธีสารนี้จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ้าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เป็นสำคัญ
ทำคู่กันเป็นสองฉบับ เป็นภาษาไทยและญี่ปุ่น ณ โตกิโอเมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีลโยวาที่สิบหก
(ประทับตรา) วรรณไวทยากร
(ประทับตรา) ศรีเสนา
น.อ. ศิลปศัสตราคม (ประทับตรา)
วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)
(ประทับตรา) มัตสุโอกะ โยสุเก (อักษรญี่ปุ่น)
(ประทับตรา) มัดสุมิยะ ฮาจิเม (อักษรญี่ปุ่น)
ตามความในข้อ 2 แห่งพิธีสารนั้น โดยนัยยะแล้วก็เท่ากับรัฐบาลไทยยอมเข้าอยู่ในสิ่งซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า “ระบบใหม่แห่งมหาเอเชียตะวันออก” (New Order in Greater East Asia) ซึ่งญี่ปุ่นสถาปนาขึ้นอย่างที่ฮิตเลอร์ต้องการสถาปนาในยุโรปที่เรียกว่า “ระบบใหม่แห่งยุโรป” (New Order in Europe) อันเป็นบันไดขั้นแรกของญี่ปุ่นที่จะก้าวไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียตะวันออก” (Co-Prosperity in Greater- East Asia) จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ทหารไทยผู้เสียสละเพื่อประเทศชาติมิได้ทราบความจริงทั่วถึงกันถึงผลแห่งความเสียสละเพื่อได้ดินแดนเดิมของชาติกลับคืนมา แต่ชาติส่วนรวมต้องตกไปอยู่ใต้อิทธิพลของญี่ปุ่นซึ่งไม่ใช่ความผิดของทหารที่ทำตามคำสั่ง
-9-
นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยนั้นทราบว่า การทำสงครามในอินโดจีนโดยไม่มีประกาศสงครามและไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นโมฆะจึงได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2484 มีข้อความดังต่อไปนี้
ท่านประธานสภาฯ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
ข้าพเจ้ามีความเสียใจอย่างยิ่ง ที่จะรายงานให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ในระหว่างปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาครั้งสุดท้ายนี้ ชาติของเราได้มีกรณีพิพาทอย่างรุนแรง ถึงกับต้องใช้กองทัพบางส่วนเข้าทำการรบชาติฝรั่งเศส ซึ่งปกครองประเทศอินโดจีนและเขมร และก่อนที่จะได้ทำการรบนั้น รัฐบาลสำนึกอยู่ดีว่าการพิพาทกับประเทศใดประเทศหนึ่งถึงต้องใช้กำลังกองทัพเข้าประหัตประหารกันนั้น รัฐบาลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จึงจะเป็นไปตามวิถีทางในระบอบการปกครองของประเทศไทย แต่เนื่องด้วยรัฐบาลนี้มีนโยบายเป็นมิตรที่ดีกับนานาชาติทั่วกัน ยิ่งการใช้กองทัพรุกรานประเทศอื่นด้วยแล้ว ไม่มีความคิดแม้แต่เล็กน้อยในองค์การของรัฐบาลนี้เลย จึงในฐานะดั่งนี้เมื่อประเทศชาติของเราถูกชาติฝรั่งเศสในอินโดจีนและเขมรทำการรุกรานก่อนโดยไม่รู้ตัวในคราวนี้รัฐบาลจึงไม่มีโอกาสจะได้เสนอรับความเห็นร่วมกันเสียก่อนได้ลงมือทำการรบ หวังว่าท่านผู้มีเกียรติ ณ ที่นี้คงจะได้ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อข้าพเจ้าและรัฐบาลโดยทั่วกัน
หมายเหตุ:
- คงอักขรและการสะกดตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
- ปรีดี พนมยงค์. “สงครามอินโดจีนโดยไม่มีประกาศสงคราม” ใน, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)