ผู้ก่อการรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการ เริ่มแรกบรรดาผู้ก่อการต่างคนต่างคิดทั้งหมดมี 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีพวกพ้องของตนโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้ง 4 กลุ่มมาพบปะและรู้ความประสงค์ซึ่งกันและกันเมื่อตอนแสวงหาสมัครพรรคพวก จากนั้นจึงสามารถทำงานร่วมกันเป็นคณะเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ประการแรกเป็นทหารบกด้วยกัน ประการที่สอง ส่วนมากรู้จักกันสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย และประการสุดท้าย มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ผู้ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มสายต่างๆ ในรัฐประหารได้แก่ [1]
กลุ่มที่หนึ่ง สายพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า
'พลโท ผิน ชุณหะวัณ' จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกันกับ 'จอมพล แปลก พิบูลสงคราม' ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มียศพันตรี เป็นหัวหน้าทหารฝ่ายเสนาธิการทหาร ประจำกองพลที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี ผู้บัญชาการกองพลใช้ให้มาสืบข่าวที่กรุงเทพฯ จึงถูกนายทหารผู้ก่อการในคณะราษฎรสอบสวนในข้อหาจะทำปฏิวัติซ้อน แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวไป เมื่อเกิดสงครามอินโดจีน ได้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคอีสาน และต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 3 (นครราชสีมา) สังกัดกองทัพพายัพ นำทหารเข้ายึดเมืองเชียงตุงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อสงครามยุติลง ถูกปลดเป็นนายทหารนอกประจำการอายุ 56 ปี ในสายนี้มี 'พันเอก เผ่า ศรียานนท์' นายทหารนอกประจำการบุตรเขยเป็นผู้ช่วยพันเอก เผ่า ศรียานนท์ เคยเป็นทหารคนสนิทของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม
กลุ่มที่สอง สายนาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) เป็นหัวหน้า
'นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม' จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเมื่อ 'พระยาพหลพลพยุหเสนา' เป็นหัวหน้ายึดอำนาจการเมืองจากรัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดาอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้มอบหมายให้นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม กับ นายทหารจำนวนหนึ่งนำจดหมายไปแจ้งแก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเพื่อให้รัฐบาลลาออก สมัยกบฏบวรเดชได้ทำการรบกับฝ่ายกบฏที่ดอนเมือง ได้รับบาดเจ็บหูพิการข้างหนึ่ง จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ก่อนสงครามได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและระหว่างสงครามเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐบาลชุดจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่ง เคยชวนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หนีออกไปทางชายแดนด้านประเทศพม่าเพื่อจัดตั้งรัฐบาลอิสระนอกประเทศ แต่ต้องเลิกแผนการเพราะไม่แน่ใจว่าจะเล็ดลอดการตรวจตราของญี่ปุ่นไปได้[2] นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม จึงได้เดินผ่านอินโดจีน ไปยังประเทศจีนลับๆ แต่เพียงผู้เดียว หลังสงครามเป็นนายทหารนอกประจำการและเป็นสมาชิกพฤฒสภา อายุ 57 ปี
กลุ่มที่สาม สายพันโท ก้าน จำนงภูมิเวท (จำนง ศิวะแพทย์) เป็นหัวหน้า
'พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท' จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 2 เคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงจังหวัดต่างๆ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ หลังสงครามเป็นนายทหารนอกประจำการ และเป็นสมาชิกพฤฒสภา อายุ 44 ปี สายนี้มีร้อยเอก ขุนปรีชารณเสฏฐ์ (เลื่อน ปรีชาแจ่ม) เป็นผู้ช่วย ร้อยเอก ขุนปรีชารณเสฎฐ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นทหารช่างประจำกองพันทหารช่าง นายทหารคนสนิทเจ้ากรมพลาธิการสนาม สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา หลังสงครามถูกปลดเป็นทหารนอกประจำการ
กลุ่มที่สี่ สายพันเอกสวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย เป็นหัวหน้า
'พันเอก สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย' จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เคยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก เป็นหัวหน้าสายคนเดียวที่เป็นนายทหารประจำการ คือ เป็นเจ้ากรมเกียกกายทหารบก อายุ 48 ปี สายนี้มีพันเอก สถิต สถิตยุทธการ เป็นผู้ช่วย พันเอก สถิต สถิตยุทธการจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เคยร่วมคณะทูตไทยไปเจริญสันถวไมตรีที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อเจรจาเรื่องดินแดนอินโดจีน เป็นนายทหารประจำกรมเสนาธิการทหาร อายุ 47 ปี
การประชุมปรึกษาหารือของคณะรัฐประหารไม่ได้กำหนดสถานที่ประชุมโดยเฉพาะ เมื่อมีเรื่องอะไรมักชวนกันนั่งรถยนต์ปรึกษากันตามทาง[3] คณะรัฐประหารตกลงกันมอบให้จอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นหัวหน้ารัฐประหาร โดยให้สายนายพล ผิน ชุณหะวัณ และ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้ติดต่อชักชวน[4] ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า คณะทหารผู้คิดทำรัฐประหารส่วนมากไม่มีบทบาททางการเมืองมาก่อน จึงไม่แน่ใจว่าทหารส่วนอื่น ๆ จะให้ความร่วมมือสนับสนุนหรือไม่ ตลอดจนความนิยมจากประชาชน ส่วนจอมพล แปลก พิบูลสงคราม แม้ว่าในขณะนั้นไม่ได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่บังคับบัญชา แต่ก็เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจใหม่ในหมู่ทหาร[5] เนื่องจากเป็นผู้นำในวงการทหารมาเป็นเวลายาวนาน กล่าวได้ว่า คณะผู้คิดทำรัฐประหารมีอำนาจด้านกำลังอาวุธ (physical) แต่ขาดอำนาจในแง่ที่เป็นสัญลักษณ์ (symbol) จึงต้องเชิญจอมพล แปลก พิบูลสงครามมาเป็นหัวหน้า
'พันเอก ศิลป ศิลปศรชัย รัตนวราหะ' นายทหารนอกประจำการเป็นผู้รับหน้าที่ติดต่อระหว่างคณะทหารกับจอมพล แปล พิบูลสงคราม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รัฐบาลสงสัย เพราะเหตุว่าพันเอก ศิลป ศิลปศรชัย รัตนวราหะ เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยจอมพล แปลกเป็นรัฐมนตรี และเมื่อจอมพล แปลกหมดอำนาจทางการเมืองก็ไปมาหาสู่กันอย่างเสมอ ดังนั้นตำรวจจึงไม่ระแวงสงสัย[6] คณะรัฐประหารยังได้ชักชวนมาทาบทามพลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก กับ พลตรี วีรวัฒน์ วีรวัฒนโยธิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1 ซึ่งควบคุมกำลังทหารในกรุงเทพฯ แต่ทั้งสองคนปฏิเสธ[7] ในด้านเงินทุนใช้จ่ายดำเนินการ นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ออกทุน[8]
คณะรัฐประหารได้ตั้งวัตถุประสงค์ในการทำรัฐประหาร ดังนี้
- การกระทำรัฐประหาร เป็นการกระทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
- การกระทำรัฐประหาร เพื่อล้มล้างรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวสัดิ์ แล้วสถาปนารัฐบาลขึ้นใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประพฤติตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
- การกระทำรัฐประหาร เพื่อเชิดชูเกียรติของทหารบกที่ถูกเหยียบย่ำทำลายให้กลับคืนดีดังเดิม และเพื่อปรับปรุงให้มีเกียรติและสมรรถภาพเข้มแข็งยิ่งขึ้น
- การกระทำรัฐประหาร เพื่อแก้ไของค์การปกครองที่เสื่อมโทรมลงให้คงดีมีสมรรถภาพ และแก้ไขการเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพของประชาชนให้ถูกลง ให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดีตามสมควรแก่ฐานะความเป็นอยู่
- การกระทำรัฐประหาร เพื่อจัดการสืบหาตัวผู้ร้าย ผู้ลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ และ จัดการฟ้องร้องลงโทษตามกฎหมาย
- การกระทำรัฐประหาร เพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เชิดชูบวรพุทธศาสนาให้สถิตถาวรสืบไป
คณะรัฐประหารได้ดำเนินการเรื่อยมากจนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2490 จึงได้มีการประชุมที่บ้านของ 'พันเอก สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย' ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวังของสมเด็จพระมาตุจฉา ถนนพระราม 6 ตำบลปทุมวัน พระนคร ที่ประชุมตกลงที่จะลงมือกระทำการรัฐประหารโดยเร็ว เนื่องจากสืบทราบมาว่ามีผู้คิดจะทำรัฐประหารหลายคณะ
ร้อยตรี ทองคำ ยิ้มกำภู ผู้ทำหน้าที่เป็นโหรดูฤกษ์ยาม กำหนดเอาวันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นวันทำการ โดยอ้างว่า “ได้ตรวจดูดวงชะตาของคนสำคัญโดยละเอียดถี่ถ้วน เช่น ดวงชะตาของนายปรีดี พนมยงค์ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และพลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ล้วนแต่เข้าสู่ดวงบาปเคราะห์ ส่วนดวงชะตาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ทุกคนล้วนแล้วแต่มีกำลัง มีโชคดี เป็นศุภเคราะห์ แสดงว่าจะทำการใหญ่สำเร็จสมมโนรถ”[9]
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความปิติยินดีเห็นคล้อยตาม ถ้าพูดถึงในแง่ของขวัญและกำลังใจ ก็ถือว่าร้อยตรี ทองคำ ยิ้มกำภู “ได้ใช้วิชาโหรบำรุงขวัญของคณะผู้ก่อการเป็นอย่างดี”[10]
ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารนัดประชุมใหญ่ที่บ้านนายโกมล พหลโยธิน แต่ต้องงดการประชุมเพราะสมาชิกคนสำคัญๆ ไม่มาประชุม เนื่องจากติดราชการสาบานธง และได้รับแจ้งว่า 'พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส' รู้เรื่องการจะทำรัฐประหาร และ วางแผนการจับกุม
ที่มา: ตัดตอนและแก้ไขเล็กน้อย สุชิน ตันติกุล, “ผลสะท้อนการเมืองของรัฐประหาร พ.ศ.2490”, (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2517, 66-70, สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2564,
[1] ว.ช. ประสังสิต (วิชัย ประสังสิต), ปฏิวัติรัฐประหารและกบฏจราจลในสมัยประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย, (พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทรัฐภักดี จำกัด, 2492) หน้า 169
[2] นายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ), X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย (พระนคร : โรงพิมพ์ไทยพานิช, 2489), หน้า 46-47
[3] ว.ช. ประสังสิต, เรื่องเดิม, หน้า 182
[4] จอมพล ผิน ชุณหะวัณ, ชีวิตกับเหตุการณ์ของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ (พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2513), หน้า 84
[5] David Wilson, Politics in thailand. Ithaca, (N.Y.: Cornell University Press, 1962) หน้า 179
[6] ว.ช. ประสังสิต, เรื่องเดิม, หน้า 175
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 178, 207
[8] สัมภาษณ์จอมพล ผิน ชุณหะวัณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2513
[9] ว.ช. ประสังสิต, เรื่องเดิม, หน้า 184
[10] ว.ช. ประสังสิต, เรื่องเดิม, หน้า 185
- รัฐประหาร 2490
- สุชิน ตันติกุล
- รัฐประหาร
- รัฐประหารซ้อน
- เผด็จการทหาร
- ผิน ชุณหะวัณ
- นายร้อยทหารบก
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- คณะราษฎร
- อภิวัฒน์ 2475
- สงครามอินโดจีน
- กองทัพพายัพ
- เชียงตุง
- สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา
- เผ่า ศรียานนท์
- กาจ กาจสงคราม
- เทียน เก่งระดมยิง
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- กบฏบวรเดช
- สมาชิกพฤฒสภา
- ก้าน จำนงภูมิเวท
- อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์
- ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ
- ขุนปรีชารณเสฏฐ์
- สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย
- กรมยุทธโยธาทหารบก
- เจ้ากรมเกียกกายทหารบก
- สถิต สถิตยุทธการ
- คณะทูตสันถวไมตรี
- ศิลป ศิลปศรชัย รัตนวราหะ
- วีรวัฒน์ วีรวัฒนโยธิน
- ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- กรณีสวรรคตร.8
- ลัทธิคอมมิวนิสต์
- ทองคำ ยิ้มกำภู
- โกมล พหลโยธิน
- มาลัย ชูพินิจ
- ขบวนการเสรีไทย