Focus
- 8 ธันวาคม 2484 เป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศของไทยนับตั้งแต่นั้น นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ในรัฐบาลและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เล่าเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียด
- บทความนี้มาจากบันทึกลายมือเรื่องโมฆสงครามของนายปรีดี และยังเสนอให้เห็นการที่นายปรีดีได้โต้แย้งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในงานเขียนของนายดิเรก ชัยนาม บางประการและใช้หลักฐานชั้นต้นประเภทรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี การประชุมฯ ด่วนและลับ รวมทั้งการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
-1-
เพราะเหตุที่ได้มีการปรับปรุงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีภายหลังสงบศึกอินโดจีนดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในบทที่ 6 ซึ่งจอมพล ป. กุมอำนาจการเมืองและการทหารไว้เด็ดขาดโดยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ผู้มีอำนาจรองลงไปคือ พล.ต.อ.อดุลซึ่งเป็นทั้งอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ตำแหน่งเพิ่มเป็นรองนายกรัฐมนตรี ส่วนนายดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีบอกให้รู้เรื่องบ้าง ไม่ให้รู้บ้าง เพราะบางเรื่องจอมพล ป. ทำเองเป็นการลับเฉพาะกับผู้เป็นสื่อติดต่อกับญี่ปุ่น คือ นายวนิช ปานะนนท์ ดังนั้น เฉพาะตัวข้าพเจ้าซึ่งมีหน้าที่เฉพาะการคลังและเป็นผู้ค้านจอมพล ป.ในนโยบายสำคัญ ๆ หลายเรื่องแล้ว ก็ยิ่งไม่รู้เรื่องแผนการลับของจอมพล ป.
เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้รับทราบความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในตอนกลางวันของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตามที่นายดิเรกฯ เขียนเล่มที่อ้างข้างตัน คือ เรื่องที่ทูตอังกฤษแจ้งนายดิเรกฯ เป็นการด่วนว่าเครื่องบินตรวจการอังกฤษเห็นกองเรือรบญี่ปุ่นมาจากแหลมเวียดนามได้กำลังอยู่ในบริเวณอ่าวไทย ซึ่งนายดิเรกฯ รายงานให้จอมพล ป. ทราบ ได้แก่ พล.ต.อ.อดุลฯ ด้วย แต่มิได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบขณะนั้น เพราะต้องระวังตัวมิให้ผิดวินัย
-2-
นายดิเรกฯ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างแล้วว่า เวลาประมาณ 19 น.ของวันที่ 7 นั้น พล.ต.อ.อดุลฯ มาที่บ้านนายดิเรกฯเพื่อรับประทานอาหารด้วยกัน แต่ยังไม่ทันลงมือ ก็ได้รับโทรศัพท์จากวังสวนกุหลาบอันเป็นทำเนียบนายก ร.ม.ต. ให้รีบไปที่นั่น ต่อมาอีกประมาณครึ่งชั่วโมง นายดิเรกได้รับโทรศัพท์ให้ไปที่วังสวนกุหลาบ เมื่อไปถึงพบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ทูตทหารบก เรือ ญี่ปุ่น ล่าม และนายวนิช ปานะนนท์นั่งรวมอยู่ด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นขอพบนายก ร.ม.ต. ก็พบไม่ได้ ขอพบรองนายก ร.ม.ต. ก็พบไม่ได้ จึงแจ้งแก่นายดิเรกฯ ขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านแดนไทย ฯลฯ นายดิเรกฯ ตอบเป็นใจความว่าผู้มีอำนาจสั่งการนั้น คือ นายกรัฐมนตรีผู้เดียวเท่านั้น แต่จะรีบรายงานรองนายก ร.ม.ต. ให้เรียกประชุม ค.ร.ม. โดยด่วน
ต่อมาเวลาประมาณ 23 น. ข้าพเจ้าจึงได้รับโทรศัพท์จากสำนักเลขาธิการ ค.ร.ม.ให้มาประชุมเป็นการด่วน ข้าพเจ้าก็รีบมาทันที พบรองนายก ร.ม.ต. คือ พล.ต.อ.อดุลฯและ นายดิเรกฯ ซึ่งรายงานผลที่ได้พบกับฝ่ายทูตญี่ปุ่น รองนายก ร.ม.ต. ขอให้ข้าพเจ้าร่วมกับนายดิเรกฯ และ ม.จ.วรรณฯ ไปเจรจาขอให้รอการยกพลขึ้นไทยไว้ก่อน ให้คอยนายกฯกลับมาสั่งการ
ข้าพเจ้าถามรองนายก ร.ม.ต. ผู้นี้ว่า จอมพล ป. ไปไหน ได้รับคำตอบว่าไม่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าไปทางไหนข้าพเจ้าบอกว่า ถามนายทหารที่ใกล้ชิดดูว่าไปทางไหน รองนายกฯตอบว่า ถามแล้วไม่มีใครรู้ ๆ แต่ว่าขับรถยนต์ออกจากทำเนียบตั้งแต่เวลาบ่ายแล้วยังไม่กลับมา ข้าพเจ้าจึงบอกว่าทางรถยนต์จากกรุงเทพฯ (สมัยนั้น) ที่ไปไกลได้คือสายชลบุรี, อรัญประเทศ, ลพบุรี ขอให้ลองมอบรัฐมนตรีคนใดไปตามหา ครั้นแล้วพระเวชยันตร์ฯมาถึงก็มอบให้ท่านผู้นี้เอารถยนต์ไปตามเส้นทางอรัญประเทศที่คะเนว่าจอมพล ป. อาจไปทางนั้น
เมื่อข้าพเจ้าไปถึงห้องรับแขกวังสวนกุหลาบ ฝ่ายทูตญี่ปุ่นได้ขอให้ข้าพเจ้าเห็นในไมตรีระหว่างชาติไทยกับญี่ปุ่น โดยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปยังมลายาและพม่าของอังกฤษ ขออย่าให้ทหารไทยต้านทาน ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าหรือรัฐมนตรีอื่นใดไม่มีอำนาจสั่งนอกจากจอมพล ป. คนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกใหม่ จึงขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นอดใจรอจอมพล ป. ซึ่งเราได้ส่งรัฐมนตรีไปตามอย่างรีบด่วนแล้ว ฝ่ายญี่ปุ่นว่านายดิเรกฯ กับพระองค์เจ้าวรรณฯ ก็ได้ตอบทำนองนี้ แต่ญี่ปุ่นมีความจำเป็นด่วนเพื่อมิให้เสียเลือดเนื้อทหารทั้งสองฝ่าย จึงขอให้ข้าพเจ้าแจ้งแก่พล.ต.อ.อดุล หรือพล.ท.หลวงพรหมโยธีให้สั่งการทางทหาร ข้าพเจ้าขอตัวออกมาพบ พล.ต.ไชย ประทีปะเสน นายทหารคนสนิทของจอมพล ป. เพื่อถามถึงจอมพล ป. ว่าไปไหน พล.ต.ไชยฯ บอกว่าจอมพล ป. ขับรถออกไปตั้งแต่เวลาบ่ายแต่ไม่บอกว่าจะไปไหน ตอนนี้ทำให้ข้าพเจ้าแปลกใจมากว่าเหตุใดจอมพล ป. จะไปไหนจึงไม่บอกแม้แต่นายทหารคนสนิทซึ่งเป็นทั้งเพื่อนก่อการ 24 มิถุนายนด้วย ข้าพเจ้าจึงกระซิบถามพล.ต.ไชยฯ ต่อไปว่า คำสั่งประจำของทางทหารมีอย่างไร เมื่อมีกองทหารต่างชาติรุกมา ได้รับตอบว่าทหารไทยต้องทำการต่อสู้ข้าพเจ้าเข้าห้องรับแขกบอกฝ่ายญี่ปุ่นขอให้รอจอมพล ป. ซึ่งคงกลับมาในไม่ช้านี้ เพราะขอให้รัฐมนตรีนายหนึ่งรีบไปตามหาอย่างรีบด่วน แล้วข้าพเจ้าก็ปลีกตัวออกมา กลับไปยังตึกประชุมคณะรัฐมนตรี
ระหว่างนั้น พล.ต.อ.อดุลฯได้รับรายงานทยอยมาว่า ทหารญี่ปุ่นขึ้นที่บางแสน, ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการปะทะกับทหารตำรวจและราษฎรไทยอาสาสมัคร แล้วได้ข่าวทางทหารว่า ได้มีปะทะกับทหารญี่ปุ่นที่ยกขึ้นบกที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา
-3-
เวลาย่ำรุ่งเศษจอมพล ป. จึงกลับมาเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี ดังที่นายดิเรก ชัยนามได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างแล้วดังต่อไปนี้
“เวลาประมาณ 7 นาฬิกา จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีมาถึงที่ประชุม พลตำรวจเอกอดุลย์ได้ให้ข้าพเจ้ารายงานเหตุการณ์ดังได้กล่าวแล้วอีกครั้งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ารายงานไปยังไม่ทันจบ นายกรัฐมนตรีถามขึ้นว่า ‘แล้วเราจะตกลงใจทำอย่างไรกันแน่ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอว่า ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างไรแน่ ใคร่เสนอให้พิจารณาทางได้ทางเสียว่า ถ้ายอมจะเสียหายอย่างใด ถ้าไม่ยอมเราจะเสียหายอย่างใด ทั้งนี้เพื่อระวังไม่ให้โลกวิจารณ์เราได้ เพราะเกี่ยวประวัติศาสตร์ นายกรัฐมนตรีตอบว่า ในขณะนี้เราไม่มีเวลาที่จะอภิปราย เพราะญี่ปุ่นกำลังเข้าเมืองเราแล้ว ขอทราบความเห็นเท่านั้น ว่าจะยอมหรือไม่ยอม แล้วหันไปถามรัฐมนตรีบางนาย ซึ่งรับผิดชอบในการทหารว่าสู้ไหวหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าสู้ไม่ไหว พลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัสได้อภิปรายทางได้ทางเสีย โดยสรุปก็คือเราไม่มีหนทางที่จะต่อสู้อย่างใด และฝ่ายสัมพันธมิตรก็มาช่วยอะไรเราไม่ได้ นายกรัฐมนตรีได้ถามความเห็นรัฐมนตรีอื่นต่อไปอีกสองสามนาย ซึ่งก็เห็นด้วยว่าไม่มีทางสู้ประการใด
ในที่สุดนายกรัฐมนตรีจึงประกาศว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้านเพราะเราไม่มีกำลัง อังกฤษเอง สหรัฐอเมริกาเอง ก็เคยให้รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเร่งให้ช่วย ก็ได้ความว่าไม่มีอะไรจะช่วยครั้นแล้วนายกรัฐมนตรีก็ลุกออกไปพบกับคณะทูตญี่ปุ่น แต่จะพูดอย่างไรกันโดยละเอียด ข้าพเจ้าไม่ทราบ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ลุกตามไปด้วย ต่อมาอีกประมาณครึ่งชั่วโมงนายกรัฐมนตรีได้นำนายวนิช ปานะนนท์ เข้ามาในที่ประชุม และให้นายวนิชชี้แจงว่าญี่ปุ่นเสนออย่างไร นายวนิชชี้แจงว่า คณะทูตญี่ปุ่นเสนอว่า มีแผนการที่จะขอความร่วมมือจากไทย 3 แผน แผนที่หนึ่ง คือญี่ปุ่นเพียงขอเดินทหารผ่านไทยไปเท่านั้น แผนที่สอง ไทยกับญี่ปุ่นทำสัญญาพันธมิตรกันเพื่อป้องกันประเทศไทยและแผนที่สามไทยกับญี่ปุ่นประกาศเป็นสหายสงคราม ร่วมรุกร่วมรบต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา และในการนี้ ญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ดินแดนที่ไทยเสียแก่อังกฤษและฝรั่งเศสกลับคืนมาทั้งหมด
คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีความเห็นแตกต่างเป็นหลายฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรรับแผนที่สาม เพราะไหน ๆ จะให้ญี่ปุ่นผ่านทั้งที ก็ควรเอาประโยชน์ให้เต็มที่ ฝ่ายที่สองไม่ออกความเห็นข้าพเจ้าในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า เมื่อเราต้องยอมญี่ปุ่น เพราะเราสู้ไม่ได้ อย่างมากก็เป็นเพียงยอมให้ผ่าน ถ้าเราเอาแผนอื่นโลกต้องวิจารณ์เราแน่นอนว่าที่แถลงไว้ว่าจะเป็นกลางอย่างเคร่งครัดนั้น ความจริงก็สมคบกับญี่ปุ่นและไม่เพียงยอมญี่ปุ่นเพราะสู้ไม่ได้ แต่กลับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ในการนี้พลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส กับนายปรีดี พนมยงค์ ได้สนับสนุนความเห็นของข้าพเจ้า ในที่สุดที่ประชุมลงมติให้รับเพียงแผนที่หนึ่ง”
ข้าพเจ้าขอกล่าวเพิ่มเติมบันทึกของนายดิเรกฯว่า ในขณะอภิปรายกันนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวด้วยว่า ขอให้รัฐบาลคิดถึงดำมั่นที่แถลงต่อประชาชนหลายครั้งให้สู้กองทหารต่างชาติที่บุกรุกเข้ามา และได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบซึ่งออกใช้เมื่อไม่กี่วันที่แล้วมา ถ้ารัฐบาลเองกลับดำเนินต่างกับที่พูดกับประชาชนไว้แล้ว ใครจะเชื่อรัฐบาลได้ ตอนนี้หลวงพิบูลฯ แสดงอาการไม่พอใจจึงพูดตัดบทข้าพเจ้าตามที่นายดิเรกฯ เขียนไว้หนังสือนั้น
อนึ่ง ข้าพเจ้าขอคัดบทความของนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาพิมพ์ไว้เพิ่มเติมดั่งต่อไปนี้
“สังเกตเห็นว่า รัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องกับข้อเสนอของ พล.ต.อ.อดุลย์ อดุลยเดชจรัส (ให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยและว่าญี่ปุ่นไม่เรียกร้องให้ไทยทำสงครามกับอังกฤษและอเมริกา) และเมื่อได้มีการอภิปรายกันเป็นเวลาพอสมควรแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ได้ตัดสินใจสั่งให้หยุดยิงและระงับการต่อสู้ ยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านได้เมื่อเวลา 7.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพราะเห็นว่า ถ้าขืนสู้รบกับกองทหารญี่ปุ่นต่อไปก็เท่ากับฆ่าตัวตายเปล่าๆ ส่วนที่ตกลงกันได้แค่ไหนหรืออย่างไรนั้น ขอให้รอฟังผลการเจรจากันทางการทูตต่อไป นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า
“ความจริงเจตนาของญี่ปุ่นนั้น เท่าที่ได้เคยติดต่อกันมานานแล้ว ญี่ปุ่นขอให้ฝ่ายเราพิจารณาให้ดีว่า
(1) เราจะเข้าเป็นพันธมิตรกับเขาหรือไม่
(2) ถ้าเราไม่เข้ากับเขา เราก็ต้องรบกับเขา หรือ
(3) ให้เราทำเฉยๆ เสียโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เวลาเขายกทหารผ่านประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เคยนำเอามาพูดกันในคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณากันจริงจังอะไรลงไป เพราะไม่นึกว่า เรื่องจะเกิดขึ้นเร็วถึงเพียงนี้ จู่ ๆ โตโจก็เดินพรวด ๆ เข้ามา”
ความในวงเล็บ 3 นั้น นายทวีฯ บันทึกไว้ตามคำพูดของจอมพล ป. เอง จอมพล ป. อาจเคยนำเรื่องมาหารือในคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ โดยในการประชุมที่ว่านั้นข้าพเจ้าติดราชการอื่น
ต่อจากที่นายดิเรกฯเขียนไว้ว่า เมื่อได้สั่งให้ทหารไทยหยุดรบญี่ปุ่นแล้ว จอมพล ป. ได้ออกจากคณะรัฐมนตรีไปพบฝ่ายญี่ปุ่นโดยนายดิเรกฯ มิได้ออกไปพบด้วยนั้น ต่อมาภายหลังนายดิเรกฯ ได้ออกไปพบด้วยแล้วกลับมาพร้อมด้วยจอมพล ป. ตามที่นายทวีฯบันทึกไว้ดั่งต่อไปนี้
“ได้มีการเจรจากันอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็กลับเข้าสู่ห้องประชุม และได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอมาเพื่อให้ฝ่ายไทยเลือกเอาว่าจะตกลงรับข้อเสนอข้อใด คือ
(1) จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นไตรภาคี ตามกติกาสัญญาไตรภาคีฉบับลงวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 ซึ่งได้มีการลงนามกันระหว่างผู้นำของประเทศเยอรมันนี ประเทศอิตาลี และประเทศญี่ปุ่น ดังที่เราเรียกกันว่า “อักษะประเทศ” หรือ
(2 ) ประเทศไทยจะให้ความร่วมมือทางทหารกับประเทศญี่ปุ่น โดยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย และอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นทุกประการในการที่กองทัพญี่ปุ่นจะเดินทัพผ่านไปนั้น กับทั้งจะได้จัดการโดยทันทีเพื่อป้องกันการปะทะอันอาจเกิดมีขึ้นระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารไทย หรือ
(3) ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นทำสัญญาพันธไมตรีทางทหารรวมรบร่วมรุกและร่วมการป้องกันร่วมกัน
ทั้งนี้ญี่ปุ่นจะให้หลักประกันว่า เอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย จะได้รับความเคารพนับถือ และเขาจะร่วมมือกับประเทศไทยในการที่จะเอาดินแดนซึ่งประเทศได้เสียไปคืนมา จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณากันดูว่าเราจะเลือกเอาอย่างไหน แต่ก่อนอื่นนั้นขอเสนอให้มีการหยุดยิงกันเสียก่อน หากอย่างไรเราจะรบกันอีกก็เอา หรือจะร่วมมือกับเขาก็เอา คือ เอาทั้งนั้น ขอให้พิจารณาดูให้ดีก็แล้วกัน
นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวว่า ตามรูปที่ญี่ปุ่นเสนอมานี้ เขาไม่ยอมให้เราทำตามแบบที่ พล.ต.อ.อดุลย์ อดุลยเดชจรัส เสนอใช่ไหม เพราะตามข้อเสนอของเขานั้น ดูคล้ายเป็นทำนองว่า ถ้าหากเราไม่รบกับเขา ก็ต้องยอมเป็นพวกเดียวกับเขา เช่นนี้ใช่หรือไม่ ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันในข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่นอยู่นาน จนในที่สุดเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นว่าบรรดารัฐมนตรีในคณะมีความลังเลใจไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรถูกแล้ว ก็ได้พูดขึ้นมาว่าเรื่องมีอยู่ว่าเราจะรบเขาหรือไม่รบเท่านั้นเอง รัฐมนตรีทุกคนต่างมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจอยู่ในลักษณะเข้าตาจนด้วยกันทั้งนั้น ใจหนึ่งก็อยากรบ เพราะความแค้นเคืองที่เห็นญี่ปุ่นมาข่มเหงล่วงละเมิดอธิปไตยของเรา
แต่อีกใจหนึ่งก็ทราบดีว่า หากเรารบกับญี่ปุ่นก็เท่ากับฆ่าตัวตายเท่านั้นเอง เพราะไม่มีทางสู้ได้เลย ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อเราสั่งให้หยุดยิงและวินิจฉัยไปในทางที่เราจะไม่รบกับญี่ปุ่นแล้ว เราก็ควรจะตกลงกับเขาด้วยว่าเราจะไม่รบกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือจะไม่รบอังกฤษและอเมริกาด้วย และควรจะเอาแบบประเทศเดนมาร์กให้แต่ทางผ่านไปเท่านั้น แต่เราจะไม่ช่วยอะไรหมด เพราะตามข้อเสนอของญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องการร่วมมือทางทหารทั้งนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ให้เดินทัพผ่านอย่างเดียว จึงเห็นว่า เราควรร่างข้อตกลงของเราเองมาดูกันเสียใหม่ ให้เป็นไปในรูปให้แต่ทางผ่านอย่างเดียว
เมื่อได้ถกเถียงกันจนเป็นที่พอใจแล้ว รู้สึกว่ารัฐมนตรีส่วนมากเห็นควรมอบเรื่องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลและเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดย่อมทราบสถานการณ์ทั่วไปได้ดี ทั้งในแง่การทหารและการเมืองว่าควรจะตกลงใจอย่างไรจึงจะเป็นการเหมาะสม รัฐมนตรีส่วนมากก็ได้ออกความคิดเห็นไปในทางที่ไม่ประสงค์จะร่วมมือกับญี่ปุ่นและไม่ต้องการจะสู้รบกับญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงได้กล่าวขึ้นว่า ความจริงเราก็ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นกลางของเราแล้ว อังกฤษและอเมริกาคงจะว่าเราไม่ได้และคงเห็นใจเราบ้าง
ในที่สุดเมื่อเวลา 7.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 นายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งให้หยุดยิงและได้มอบให้พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นายดิเรก ชัยนาม กับนายวนิช ปานะนนท์เป็นผู้แทนไปเจรจากับญี่ปุ่น ครั้นเวลาประมาณ 10.10 น. คณะผู้แทนที่ไปเจรจาก็กลับเข้าสู่ที่ประชุม และแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าฝ่ายญี่ปุ่นยอมตกลงและเขาได้กล่าวว่าเมื่อเราได้ตกลงกันเช่นนี้แล้ว เรายังจะต้องมีการตกลงกันในทางเศรษฐกิจกับการคลังอีก แต่ไม่ต้องใส่ไว้ในข้อตกลงที่จะเซ็นกันในเรื่องการทหารดอก เขาจะได้ขอเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเอง นายปรีดี พนมยงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้กล่าวขึ้นว่า เรื่องเอกราชและอธิปไตยของเรานั้นญี่ปุ่นจะต้องเคารพอย่างเคร่งครัดและที่เราได้ตกลงกับเขานี้ก็เฉพาะเรื่องทหารอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน จะมาเอาเรื่องอื่นเช่นเรื่องการเศรษฐกิจและการคลังมาพัวพันด้วยไม่ได้ ขอให้ทำความเข้าใจกับญี่ปุ่นตามนี้ให้เป็นที่แจ่มแจ้งด้วย ที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับข้อท้วงติงของนายปรีดี พนมยงค์ จึงได้มอบให้คณะผู้แทนชุดเดิมไปทำความเข้าใจกับฝ่ายญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีหลักการในการเจรจาอยู่ 4 ข้อว่า
(1) การที่ยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่น นำทหารเดินผ่านดินแดนของประเทศไทยนี้ ต้องไม่ปลดอาวุธทหารไทย
(2) เรื่องกองทัพญี่ปุ่นขอผ่านนั้น จะเพียงแต่ผ่านเท่านั้นจะไม่พักอยู่ที่กรุงเทพฯ
(3) ข้อตกลงที่จะตกลงกันนี้ ให้มีขีดจำกัดเฉพาะในเรื่องการทหารเท่านั้น และ
(4) ข้อตกลงนี้เป็นอันเด็ดขาด จะไม่มีข้ออะไรเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังอีก
เมื่อได้ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วรัฐบาลก็ได้ออกคำแถลงการณ์ และเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เวลา 11.55 น. ก็ได้เลิกการประชุม ซึ่งได้ประชุมกันมาตลอดทั้งคืน”
-4 -
นายก ร.ม.ต.ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งให้ทหารไทยหยุดการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นแล้ว ระหว่างที่คณะรัฐมนตรียังอภิปรายร่างข้อตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่นอยู่นั้น ผู้บังคับการทหารที่ชุมทางคอหงส์ (บริเวณหาดใหญ่) ได้โทรเลขด่วนย้อนมาว่า ขอให้จอมพล ป. ยืนยันคำสั่งอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่นอน ทั้งนี้ข้าพเจ้าเข้าใจได้ดีว่า ผู้บังคับการทหาร ณ ที่นั้นต้องการความแน่นอนเพื่อป้องกันมิให้ผิดพลาด และยิ่งไปกว่านั้นก็อาจเข้าใจว่าตามนโยบายเดิมของรัฐบาลที่โฆษณานั้น มีเสียงในทางที่ให้เข้าใจว่า ต้องสู้ญี่ปุ่นที่คุกคาม เพราะตามวิธีทหารนั้น ก็คงมีการฝึกที่เรียกตามภาษาแบบอังกฤษว่า “Staff exercise” โดยสมมติว่าใครเป็นข้าศึกอยู่ก่อนแล้ว ถ้าหากกองบัญชาการทหารสูงสุดได้ฝึกนายทหารผู้ใหญ่โดยมีการสมมติว่า ญี่ปุ่นจะเป็นข้าศึกในอนาคตอันใกล้แล้ว ผู้บังคับการทหารนั้นก็อาจฉงนได้ว่า เหตุใดจึงมีคำสั่งให้หยุดสู้ญี่ปุ่น ซึ่งกองทหารไทยนั้นได้ตั้งแนวยันญี่ปุ่นมิให้รุกคืบหน้าเข้ามาแล้ว
กองทหารได้หยุดยิงตามคำสั่งจอมพล ป. แต่กองตำรวจที่ประจวบคีรีขันธ์ยังไม่ได้รับคำสั่ง จึงถอยไปยึดแนวต้านทานอยู่หลังเนินดินทิศตะวันตกเพื่อยันทหารญี่ปุ่นอีก 1 วันจนคำสั่งมาถึงแล้วจึงหยุดรบ
-5-
เมื่อฝ่ายรัฐบาลไทยตกลงกับญี่ปุ่นดั่งกล่าวแล้ว ในตอนบ่ายวันนั้นเองนายดิเรกฯ ได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้เชิญทูตต่าง ๆ รวมทั้งทูตอังกฤษและอเมริกันมาพบ เพื่อรับทราบเรื่องที่ฝ่ายไทยจำเป็นต้องยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านประเทศไทย นายดิเรกฯได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างแล้วรับรองใจความที่เอกสารทางการสหรัฐได้ตีพิมพ์ขึ้นภายหลังสงครามว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกานั้นว่า ตรงกันกับที่นายดิเรกรับคำสั่งแจ้งแก่ทูตอังกฤษอเมริกันว่า
“ในการสนทนากับทูตอังกฤษ ๆ ได้ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าอังกฤษเอาทหารเข้ามาเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ไทยจะต่อต้านอังกฤษหรือไม่ รัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ตอบไปแล้วว่าจะไม่ต่อต้าน ทูตอังกฤษได้พูดโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรี ๆ ได้ยืนยันรับรองความเห็นของรัฐมนตรี (นายดิเรกฯ)”
แต่ครั้นทหารอังกฤษยกเข้ามาทางเบตง ตำรวจไทยที่รักษาชายแดนนั้นได้ปะทะต่อสู้ จึงทำให้ฝ่ายอังกฤษงง
หมายเหตุ:
- คงอักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
- ปรีดี พนมยงค์, “กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย” ใน โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), 137-149.