ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ถอดบทเรียนการเลือก สว. ระบบเลือกคนดีที่ไม่ยึดโยงและไม่สะท้อนความหลากหลาย

23
สิงหาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอประเด็นการเมืองไทยร่วมสมัยจากการที่ประเทศไทยได้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. ชุดใหม่ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ สว. ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) โดย สว. ชุดนี้นับเป็นชุดที่ 13 ซึ่งมีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเป็น สว. ชุดแรกที่มาจากกระบวนการตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ สว. ชุดนี้มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของประชาชน 20 กลุ่มอาชีพ (ประเภท) ผ่านการเลือก (selection) ไม่ใช่เลือกตั้ง (election) โดยให้ผู้สมัครทั้ง 20 กลุ่มอาชีพเลือกกันเองใน 3 ระดับคือ อำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่าเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและแปลกประหลาด
  • ความแตกต่างระหว่าง สว. ชุดปัจจุบันกับ สว. ชุดก่อน (ชุดที่ 12) ที่เด่นชัดคือวิธีการได้มาของ สว. ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง โดย สว. ชุดก่อนมีที่มาจากการเลือกของ คสช. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยการตั้งสมาชิกและคนในกลุ่มเครือข่ายให้มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ อดีตสมาชิกในคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ปรึกษา และตลอดจนถึงผู้นำเหล่าทัพ ซึ่ง สว. ชุดก่อนมาพร้อมด้วยอำนาจทางการเมืองที่พิเศษเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ได้ อาทิ การมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยเพิ่งมีสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. ชุดใหม่ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ สว. ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) โดย สว. ชุดนี้นับเป็นชุดที่ 13 นับตั้งแต่ประเทศไทยมี สว. มาตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2489

ความแตกต่างระหว่าง สว. ชุดปัจจุบันกับ สว. ชุดก่อน (ชุดที่ 12) ก็คือ วิธีการได้มาของ สว. ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง โดย สว. ชุดก่อนมีที่มาจากการเลือกของ คสช. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยการตั้งสมาชิกและคนในกลุ่มเครือข่ายให้มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ อดีตสมาชิกในคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ปรึกษา และตลอดจนถึงผู้นำเหล่าทัพ ซึ่ง สว. ชุดก่อนมาพร้อมด้วยอำนาจทางการเมืองที่พิเศษเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ได้ อาทิ การมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วน สว. ชุดปัจจุบัน แม้จะมีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เหมือนกัน แต่ สว. ชุดนี้เป็นชุดแรกที่มาจากกระบวนการตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ สว. ชุดนี้มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของประชาชน 20 กลุ่มอาชีพ (ประเภท) ผ่านการเลือก (selection) ไม่ใช่เลือกตั้ง (election) โดยให้ผู้สมัครทั้ง 20 กลุ่มอาชีพเลือกกันเองใน 3 ระดับคือ อำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและแปลกประหลาด โดยความซับซ้อนและแปลกประหลาดนี้เป็นผลมาจากเจตนารมณ์อันดีของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

 

ระบบเลือกคนดี เพื่อหลีกเลี่ยงกลไกหรือกับดักทางการเมือง

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดที่มาของ สว. ไว้ว่า “วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้”  ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการเลือกกันเองของประชาชน

เมื่อย้อนกลับไปอ่านเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้คือ การเลือกกันเองในหมู่ประชาชนที่มีความประสงค์จะเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เกิดอย่างแท้จริง และได้ผู้สมัครที่มีประสบการณ์หลากหลายจากทุกภาคส่วน รวมถึงหลีกเลี่ยงกลไกหรือกับดักทางการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะการที่ผู้สมัครถูกกีดกันหรือถูกคัดกรองโดยองค์กรหรือพรรคการเมืองใด

กระบวนการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฯ ฉบับผ่านๆ มา ซึ่งใช้วิธีการเลือกตั้ง การสรรหา และการผสมผสานกันระหว่างการเลือกตั้งและสรรหา ซึ่งในสายตาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ มองว่าเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตหรือร่วมมือกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการเมือง ในลักษณะเดียวกันกับที่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้ง สว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 ว่า สว. ที่ได้มาเป็นสภาผัวเมีย

ระบบการได้มาซึ่ง สว. นี้จึงเป็นระบบใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อนตลอดหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย สิ่งนี้จึงอาจถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจและเป็นความกล้าหาญชาญชัยของผู้เสนอระบบการได้มาซึ่ง สว. ในครั้งนี้ โดยคาดหมายว่าจะได้คนดีที่มีความสามารถและลดการแทรกแซงทางการเมือง โดย สว. แต่ละคนจะเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่หลากหลายจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน  ระบบนี้จึงเหมือนสร้างขึ้นบทเจตนาที่ดี และต้องการให้ประชาชนได้ผู้แทนที่เป็นคนดีมีคุณภาพ  ทว่า ระบบการเลือก สว. นี้สัมฤทธิ์ผลสมดังเจตนารมณ์จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

 

การสร้างผู้แทนที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ จะต้องการให้ประชาชนเข้าไปเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในความเป็นจริงประชาชนทั่วๆ ไปแทบไม่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการเลือก สว. จริงๆ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป คนที่จะมีสิทธิลงคะแนนเสียงจึงมีเฉพาะกลุ่มผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น จึงจะมีสิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลเป็น สว.

จากสภาพดังกล่าว ทำให้ในความเป็นจริงประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการดังกล่าวอย่างแท้จริง และไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน เพราะประชาชนที่ควรจะเป็นนั้นไม่ใช่แค่ผู้สมัครเป็น สว. ที่ลงสมัครเลือกกันเอง แต่ประชาชนชาวไทยทุกคนควรจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือก สว. เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป

นอกจาการเรื่องการลงคะแนนเสียงแล้ว ในช่วงแรกของการเลือก สว. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดหลักเกณฑ์ถึงขนาดว่า ผู้สมัคร สว. ไม่สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลการแนะนำตัวผู้สมัครต่อประชาชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และทำให้ผู้สมัคร สว. คนอื่นๆ สามารถที่จะทำความรู้จักผู้สมัครล่วงหน้าได้  แม้ว่าในท้ายที่สุดศาลปกครองกลางจะได้มีคำวินิจฉัยเพื่อเพิกถอนหลักเกณฑ์ดังกล่าว  แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนว่าการไม่ได้ให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในด้านของประชาชน แม้เจตนารมณ์จะกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบการเลือก สว. ทำได้เพียงการเป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น  ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ อาทิ iLaw และภาคีเครือข่าย ก็ได้เข้าไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

กระบวนการเลือกซับซ้อนทำให้เกิดความงุนงง

นอกจากความไม่ยึดโยงกับประชาชนในข้างต้นแล้ว ระบบเลือก สว. ยังมีความซับซ้อน กล่าวคือ การเลือก สว. ครั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้แบ่งกลุ่มอาชีพ (ประเภท) ของ สว. ออกเป็น 20 กลุ่ม ตามประเภทความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม

  • กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  • กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  • กลุ่มการศึกษา
  • กลุ่มสาธารณสุข
  • กลุ่มทำนา ทำไร่
  • กลุ่มทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์
  • กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
  • กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
  • กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
  • กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
  • กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
  • กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม
  • กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
  • กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา
  • กลุ่มประชาสังคม
  • กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
  • กลุ่มอาชีพอิสระ
  • กลุ่มสตรี
  • กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์
  • กลุ่มอื่น ๆ

 

โดยในการรับสมัคร สว. ผู้สมัครจะต้องระบุกลุ่มที่ตัวเองจะสังกัด โดยผู้สมัคร 1 คนเลือกได้เพียง 1 กลุ่มเท่านั้น และผู้มีคุณสมบัติจะต้องไปสมัคร สว. ณ อำเภอหรือเขตที่ตนมีความเกี่ยวโยงกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • อำเภอที่เกิด
  • อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
  • อำเภอที่ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
  • อำเภอที่เคยทำงาน หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าสองปี
  • อำเภอของสถานศึกษาที่เคยศึกษาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาตั้งอยู่

 

แค่เริ่มต้นมาในขั้นตอนนี้ก็มีความงุนงงเล็กน้อยแล้วว่าผู้สมัครจะเลือกอยู่ในกลุ่มใด เพราะคนหนึ่งคนอาจจะมีบทบาทหรือสถานะในหลายด้าน ซึ่งบทบาทหรือสถานะแต่ละด้านอาจจะมีบทบาทมากหรือน้อยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น นางสาว A เกิดที่กรุงเทพฯ รับราชการทหารและเป็นอาจารย์สอนอยู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจังหวัดนครนายก โดยสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงมีงานอดิเรกเป็นคนสะสมผ้าไทยส่งประกวด และมีธุรกิจส่วนตัวเป็นเจ้าของโรงแรมที่จังหวัดชลบุรี ในกรณีแบบนี้จะเห็นได้ว่า นางสาว A สามารถที่จะเข้ารับสมัครในกลุ่มอาชีพได้มากกว่า 1 กลุ่ม อาทิ นางสาว A อาจจะสมัครในกลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา สตรี วัฒนธรรม การท่องเที่ยว SMEs ฯลฯ แล้วแต่จะนางสาว A คิดได้ว่าตนมีบทบาทหรือสถานะใดบ้างที่จะสร้างโอกาสให้ตัวเองได้รับการเลือก

ไม่เพียงแค่ในเชิงบทบาทและสถานะที่ทำให้นางสาว A มีตัวเลือกได้แล้ว ในกรณีนี้นางสาว A ก็อาจจะเลือกที่สมัครได้จากหลาย ๆ สถานที่ ๆ นางสาว A สัมพันธ์ อาทิ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านเกิด แม้ตอนหลังนางสาว A จะไม่ได้กลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกเลยก็ได้ หรืออำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ที่นางสาว A สอนหนังสือประจำ หรือจังหวัดชลบุรีที่นางสาว A มีโรงแรมอยู่

ปัญหาสำคัญของการเลือกกลุ่มอาชีพอย่างอิสระหรือการเลือกพื้นที่อย่างอิสระในลักษณะนี้ก็คือ นางสาว A อาจจะมีความสัมพันธ์กับบทบาท สถานะ หรือสถานที่นั้นมากหรือน้อยก็ได้ ซึ่งสุดท้ายสิ่งนี้อาจจะทำให้นางสาว A ไม่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนของกลุ่มในระบบการเลือก สว. ทำให้การสมัคร สว. กลายเป็นการเกมกลยุทธ์ (strategic game) กล่าวคือ ผู้สมัคร สว. แต่ละคนจะต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียของกลุ่มและพื้นที่ๆ ตนจะสมัคร รวมถึงต้องพิจารณาว่าพื้นที่ใดที่ตนจะได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์ อาทิ พื้นที่ๆ ลง จะได้รับเสียงลงคะแนนสนับสนุนจากผู้สมัคร สว. คนอื่น ๆ ในกลุ่ม หรือกลุ่มอื่นๆ เมื่อต้องโหวตข้าม ซึ่งประเด็นนี้จะได้มีการอธิบายต่อไป ผลก็คือ ระบบการเลือกนี้ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่ต้องการหลีกเลี่ยงกลไกหรือกับดักทางการเมือง เพราะระบบการเลือกนี้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการจัดตั้งคนมาลงคะแนนสนับสนุน

นอกจากนี้ ระบบการเลือกแบบนี้ ยังทำให้เกิดสถานการณ์ที่ในบางเขตการเลือกไม่มีผู้สมัครในกลุ่มอาชีพนั้น ๆ เลย เนื่องจากผู้สมัครอาจเลือกเขตที่ตัวเองลงโดยได้เปรียบที่สุด

ไม่เพียงแต่ความงุนงงที่เกิดขึ้นจากระบบสังกัดกลุ่มและพื้นที่สมัคร อีกปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือระบบการเลือก สว. ที่ตามกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกใน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ  ซึ่งตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างที่กำหนดให้มีการเลือกใน 3 ระดับก็เพื่อให้ขบวนการเลือกอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยประชาชนในแต่ละอำเภอสามารถเลือกกลุ่มที่ตนเองสังกัด และร่วมเลือกบุคคลที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มได้  โดยในแต่ละระดับนั้นขั้นตอนการเลือกจะต้องทำ 2 ครั้งคือ การเลือกกันเอง ซึ่งเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มผู้สมัคร สว. แต่ละกลุ่ม และการเลือกไขว้ ซึ่งเป็นการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มผู้สมัคร สว. แต่ละกลุ่มที่ต่างกัน โดยการเลือกไขว้เป็นผลมาจากการจับสลากแบ่งสายเลือกไข้วกัน ดังปรากฏตามรูปภาพข้างท้ายนี้

 


ที่มา: iLaw (2567)

 

อย่างไรก็ดี ส่วนที่มีปัญหามากที่สุดก็คือ การเลือกไขว้ ซึ่งเหตุที่กฎหมายกำหนดให้มีการเลือกไขว้นั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ มีเจตนารมณ์เพื่อไม่ให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสมยอมกันให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ

ด้วยเจตนาอันดีของผู้ร่างข้างต้นที่ต้องการให้การเลือก สว. ปราศจากการสมยอมกัน (ในเชิงหลักการ)  ทำให้เกิดสถานการณ์ที่แปลกประหลาด กล่าวคือ เมื่อมีการจับสลากไขว้สายในกลุ่มเพื่อลงคะแนนเสียงกัน สายๆ หนึ่งจะประกอบไปด้วยตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ผสมกันไม่เกิน 4 สายและแต่ละสายไม่เกิน 3 – 5 กลุ่ม ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้สมัคร สว. กลุ่มหนึ่งต้องไปลงคะแนนเลือกผู้สมัคร สว. อีกกลุ่มหนึ่ง (ข้ามสาย) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ตลก เพราะผู้ลงคะแนนเลือกมาจากคนละสายกัน ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าบุคคลที่ตนเลือกนั้นมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือความถนัดสามารถในสาขาของกลุ่มที่เขาสังกัดจริงหรือไม่ ข้อมูลเดียวผู้สมัคร สว. นำมาใช้ในการตัดสินใจจึงเป็นเพียงข้อมูลแนะนำตัว (สว.3) ที่กำหนดให้ระบุประวัติความยาวไม่เกิน 5 บรรทัดเท่านั้น รวมถึงจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับประชาชนที่เข้าไปติดตามสถานการณ์การเลือกตั้ง พบว่าในทางปฏิบัติแต่ละเขตการเลือกก็มีแนวปฏิบัติที่ไม่ตรงกันในการให้ผู้สมัครแนะนำตัว เนื่องจากบางเขตเปิดโอกาสให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้ ในขณะที่บางเขตก็ไม่อนุญาตให้ผู้สมัครแนะนำตัว เพียงแต่กำหนดให้ผู้สมัคร สว. อ่านเอกสาร สว.3 เพื่อทำความรู้จักผู้สมัครโดยเบื้องต้นเท่านั้น

สภาพดังกล่าวข้างต้นคือ ปัญหาในเชิงระบบการเลือก สว. ที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้ระบบเลือก สว. ใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

ความไม่หลากหลายของ สว. อย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากสภาพปัญหาที่เกิดจากตัวระบบการเลือก สว. แล้ว ผลที่ได้รับจากการเลือก สว. ก็ไม่ได้เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร ไม่ใช่เพราะตัวบุคคลที่ได้มาดำรงตำแหน่ง แต่เป็นผลในภาพรวมที่เกิดขึ้นจากระบบการเลือก สว.

ในด้านความไม่หลากหลายของ สว. จากการศึกษาผลการเลือก สว. ในระดับประเทศ ซึ่งจะได้บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็น สว. ทั้ง 200 คน พบว่าแม้จะมีการแบ่งกลุ่ม สว. ออกเป็น 20 กลุ่มอาชีพ (ประเภท) เพื่อให้มีความหลากหลายในด้านความรู้และประสบการณ์จากอาชีพ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลเบื้องหลังของ สว. ชุดปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ทั้งภูมิหลังการงาน เพศ อายุ และระดับการศึกษาของ สว. ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความหลากหลายขนาดนั้น

 


ที่มา:  E-Public Law (2567)

 

ในเรื่องภูมิหลังการงาน หากนำ สว. ชุดปัจจุบันมาจำแนกเป็นกลุ่มที่เคยประกอบอาชีพโดยไม่สังกัด 20 กลุ่มอาชีพข้างต้น จะสามารถจำแนก สว. ออกได้เป็น 10 สาขาอาชีพ ข้าราชการ ผู้ประกอบวิชาชีพ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง นักวิชาการ เจ้าของกิจการ นักการเมือง เกษตรกร พนักงาน/ลูกจ้าง สื่อมวลชน และอื่นๆ พบว่า สว. ส่วนใหญ่มาจากสาขาอาชีพรับราชการและเป็นเจ้าของกิจการ โดยทั้งสองสาขามีจำนวน สว. สาขาละ 57 คน คิดเป็นร้อยละ 28.5 ต่อสาขาของจำนวน สว. ทั้งหมด ส่วนสาขอาชีพที่ลองลงมาคือ พนักงาน/ลูกจ้างมีจำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวน สว. ทั้งหมด

ในด้านเพศของ สว. ชุดปัจจุบันพบว่า สว. ชุดที่ 13 นี้ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นเพศชาย 155 คน คิดเป็นร้อยละ 77.5 ของจำนวน สว. ทั้งหมด และเป็นผู้หญิง 45 คน คิดเป็นร้อยละ 22.5 ของจำนวน สว. ทั้งหมด เมื่อพิจารณาในเชิงรายละเอียด จะเห็นได้ว่าในหลายๆ สาขาแทบไม่มี สว. ที่เป็นผู้หญิงเลย อาทิ กลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มกฎหมาย กลุ่มการศึกษา กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

เช่นเดียวกันกับในด้านอายุ สว. ไทยค่อนไปในทางจะเป็นสภาของผู้สูงอายุ  ทั้งนี้ พบว่าอายุเฉลี่ยของ สว. ปัจจุบันอยู่ที่ 58 ปี โดยอายุต่ำสุดอยู่ที่ 40 ปี และอายุสูงสุดอยู่ที่ 78 ปี

 


ที่มา: E-Public Law Project (2567)

 

เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปในรอบของการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาจากการเก็บข้อมูลของ DataHatch ได้นำข้อมูลผลการเลือกใน 3 ระดับคือ ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศมาวิเคราะห์พบว่า ยิ่งเลือก สว. ในรอบที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มที่ สว. ไทยจะเป็นผู้ชายและมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

 


ที่มา: DataHatch (2567)

 

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดของกลุ่มขนาดใหญ่ที่รวมหลายสาขาอาชีพเข้าด้วยกัน อาทิ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น เนื่องจากทั้งสองกลุ่มเป็นการรวมคนที่มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้านมารวมอยู่ภายใต้กลุ่มเดียวกัน ทำให้กลุ่มมีขนาดใหญ่และอาจจะมีความขัดแย้งในเชิงเป้าหมายที่แตกต่างกัน จนทำให้เกิดการขัดกันระหว่างเป้าหมายของสมาชิกภายในกลุ่ม และเกิดการคัดออกเมื่อมีการลงคะแนนเลือกในรอบการเลือกกันเองภายในกลุ่ม และอาจจะถูกตัดออกจากการเลือกไขว้สาย

 

ทิ้งท้ายเล็กน้อย

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการออกแบบระบบการเลือก สว. โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบระบบอย่างเพียงพอของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ลำพังเฉพาะการมีเจตนาที่ดีอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการออกแบบระบบ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผลของการเลือก สว. จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ประชาชนชาวไทยเพิ่งจะได้ผู้แทนของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญในสภาสูงชุดใหม่ (แม้ว่าในความเป็นจริงบุคคลเหล่านี้จะไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนเลยก็ตาม) สิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการที่ผู้แทนเหล่านี้จะทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชนอย่างเต็มที่จริง ๆ

 

หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณวิศรุต อาศุวณิชย์พันธุ์ เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้ไปสังเกตการณ์การเลือก สว. ในครั้งนี้ ที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้เขียนบทความ ในส่วนของข้อมูล สว. ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์สัดส่วน สว. ประสบการณ์ และประวัติการสมัครมาจากเอกสาร สว.3 และเว็บไซต์ของ iLaw The Standard และ BBC ไทย