ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สะท้อนอดีต ก้าวสู่อนาคต : ฉากสุดท้ายก่อนประชาธิปไตยสมบูรณ์

21
พฤษภาคม
2567

Focus

  • พริษฐ์ วัชรสินธุ อภิปรายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเกี่ยวกับวุฒิสภาและบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา(สว.)คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต อดีตคือการมองย้อนไปถึงบทบาทของสว. 250 คนที่ผ่านมา ปัจจุบันก็คือกระบวนการคัดเลือกสว. ชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้น และอนาคตคือความคาดหวังต่อหน้าที่ของสว. อาทิ ว่าต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  • ปัญหาที่เป็นรูปธรรมของวุฒิสภาชุดที่ผ่านมาคือต้นทางจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งออกแบบและถูกใช้เพื่อสร้างระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และแสดงให้เห็นถึงกลไกที่สว. ใช้ในการแช่แข็งประชาธิปไตยในประเทศไทยไว้ 3 ประการ ได้แก่ กลไกที่ 1 บทบาทของสว. ในการมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี กลไกที่ 2 คืออำนาจในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกลไกที่ 3 คืออำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็องค์กรอิสระ
  • ประเด็นสำคัญคือ การคัดเลือกสว. ชุดใหม่ 200 คนในปัจจุบันมี 4 ประเด็นสำคัญคือ ประเด็นที่ 1 คือโครงสร้างอำนาจและที่มาของสว. ชุดใหม่ยังไม่ใช่โครงสร้างตามมาตรฐานประชาธิปไตย ประเด็นที่ 2 โครงสร้างและที่มาของสว. ยังถูกล็อคไว้ด้วยรัฐธรรมนูญหรือในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ประเด็นที่ 3 ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย และประเด็นที่ 4 คือแม้ว่ากติกาไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าสากลแต่สว. ชุดใหม่จะต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และชี้ให้เห็นระเบียบของกกต. ในเรื่องสว.ในปัจจุบันคืออุปสรรคสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขและตระหนักถึง

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

ในวงเสวนารอบที่จะจัดในวันนี้ผมตั้งใจว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต อดีตก็คือมองย้อนไปถึงบทบาทของสว. 250 คนที่ผ่านมา ปัจจุบันก็คือกระบวนการคัดเลือกสว. ชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้น แล้วก็อนาคตคือโจทย์ที่ว่าถ้าเรามีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการแก้รัฐธรรมนูญเราควรหรือไม่ควรจะมีวุฒิสภาหรือหากจะมีจะมีเช่นไร แต่ในรอบแรกขออนุญาตลงลึกไปในส่วนของอดีตนะครับ เพราะว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับคำถามที่คุณยิ่งชีพโยนมาเกี่ยวกับการประเมินผลงานแล้วก็บทบาทของสว. 250 คนที่ผ่านมา

ผมคิดว่าถ้าสรุปสั้นๆ ผมเห็นคล้ายกับอาจารย์ประจักษ์ก็คือว่าสว. ชุด 250 คนประสบความสำเร็จมาก คือประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ตามวัตถุประสงค์ แล้วก็ตามเหตุผลในการมีอยู่ของสว. ชุดบทเฉพาะกาลนี้ นั่นก็คือเป้าหมายในการแช่แข็งประชาธิปไตยในประเทศไทย เป้าหมายในการรักษาระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็เป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย แต่ต้องยอมรับว่าเขาประสบความสำเร็จนะครับ ถามว่าทำไมเราถึงมองเป้าหมายและวัตถุประสงค์เขาเป็นเช่นนี้ก็ต้องเชื่อมโยงกลับไปว่าต้นกำเนิดของสว.ชุด 250 คนมาจากไหน

 

 

สว. 250 คนก็มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 นะครับ ซึ่งแน่นอนผมเชื่อว่าหลายท่านในที่นี้ก็เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มากระบวนการเนื้อหาที่ไม่ชอบทำทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีเนื้อหาที่ไปขยายอำนาจของหลายสถาบันทางการเมืองหลายกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้มาการเลือกตั้งของประชาชนแต่สามารถเข้ามาขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้งได้ และสามารถถูกควบคุมโดยกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารที่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา ในบรรดากลไกสถาบันทางการเมืองที่มีคุณสมบัติเช่นนั้นผมคิดว่าวุฒิสภาที่ผ่านมานี่แหละน่าจะเป็นรูปธรรมที่สุด เพราะว่าเราจะเห็นว่าในบรรดา 250 คนทั้งหมดในบทเฉพาะการมี 194 คนที่คสช. จิ้มเลยมี 6 คนที่เป็นผบ. เหล่าทัพ แล้วก็มี 50 คนที่ตอนแรกก็ดูเหมือนแต่ว่ามีการคัดเลือกกันเองระหว่างกลุ่มอาชีพ แต่ท้ายสุดแล้วคือคัดเลือกให้เหลือ 200 คนแต่ 50 คนจาก 200 คนขึ้นมาคสช. ก็จิ้มอยู่ดี ดังนั้นเรียกได้ว่าสว. 250 คนมีที่มาที่แทบจะถูกควบคุมโดยคสช. อย่างเบ็ดเสร็จ แต่กลับมีอำนาจสูงมากไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ หรือว่าอำนาจในการยับยั้บการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นผมคิดว่าวุฒิสภาชุดที่ผ่านมาเป็นรูปธรรมที่สุดของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกใช้เพื่อพยายามจะสร้างระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเราก็ได้เห็นถึงผลงานสำคัญของสว. อยู่หลักๆ เลย ผมว่า 3 อย่างจะเป็น 3 กลไกที่สว. ใช้ในการแช่แข็งประชาธิปไตยในประเทศไทย

กลไกที่ 1 แน่นอนคือบทบาทของสว. ในการมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าสว. ชุดนี้ก็ประสบความสำเร็จในการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่จะรักษาระบบการเมืองที่เป็นอยู่ปัจจุบันหรือมีความมีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมือง เราเห็นผลงานตรงนี้ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก็คือหลังการเลือกตั้งปี 2562 การใช้ฤทธิ์เดชของสว. 250 คนตอนปี 2562 มันอาจจะไม่ได้โจ่งแจ้งเพราะเขามักจะให้เหตุผลใช่ไหมครับ ว่าตอนที่มีการเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เข้ามารัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐหรือว่ากลุ่มพรรคการเมืองที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ มีเกิน 250 คนแล้ว

แต่สิ่งที่เราต้องอย่าลืมก็คือว่าเราไม่มีทางรู้ว่าพรรคการเมืองที่ตัดสินใจไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและไปสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ตัดสินใจเพราะว่าเห็นด้วยกับอุดมการณ์อันนั้นจริงๆ หรือตัดสินใจเพราะว่าเขารู้ว่าไปร่วมกับพรรคอื่น พรรคแกนนำอื่น ร่วมกับแคนดิเดตนายกคนอื่นก็ไม่มีทางที่สว. กลุ่มนี้จะยกมือให้เพราะท้ายที่สุดแล้วสว. กลุ่มนี้ก็จะยกมือให้เฉพาะกรณีที่พลเอก ประยุทธ์นั้นสามารถกลับมาเป็นนายกได้ แต่พอมาปี 2566 นี้ผมว่าโจ่งแจ้งมากนะครับ เพราะว่าในครั้งแรกที่มีการเสนอชื่อนายรัฐมนตรีก็มีการรวมกลุ่มกันของ 8 พรรคนะครับ นำโดยพรรคก้าวไกล ที่รวมกันแล้วมีส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรตามระบบรัฐสภา ปกติควรจะตั้งรัฐบาลได้มีส.ส. 300 กว่าคน แต่ก็กลายเป็นว่าท้ายสุดแล้วผลที่ออกมาคือว่าคุณพิธาก็ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกนะครับ ในบรรดาสว. ทั้งหมดมีโหวตเห็นชอบแค่ 13 คนจาก 250 คน แล้วผมคิดว่าการเปรียบเทียบบทบาทของสว. ปี 2562 กับ 2566 ก็ยิ่งตอกย้ำว่าสว. หลายคนมีเจตนาที่จะแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลจริงๆ เพราะถ้าจำได้ว่ามีสว. บางคนบอกว่าปี 2562 เหตุผลที่โหวตให้กับพลเอก ประยุทธ์เป็นนายกเพราะว่าพลเอก ประยุทธ์รวบรวมเสียงได้เกิน 250 ส.ส.

แต่พอมาปี 2566 คุณพิธาทำได้เหมือนกันกับไม่โหวตให้ แสดงว่าไม่ได้มีความคงเส้นคงวาในหลักการเลย มีเจตนาจริงๆ ในการเข้ามาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล และถ้ามองย้อนกลับไปผมคิดว่ามองย้อนไปถึงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่มันใช้เวลาหลายเดือนทั้งปี 2562 กับ 2566 ผมคิดว่าวิธีการที่จะอธิบายให้คนที่ไม่ได้คุ้นเคยกันเมืองไทยเข้าใจได้ง่ายที่สุด คือท้ายสุดแล้วสว. 250 คนที่ผ่านมาก็คือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถ้ามองในบริบทวันนั้นสว. คือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนผมคิดว่ามันชัดเจนมาก ก็คือเป็น 2 ก้อน 250 คนที่ดูมีบทบาทในการกำหนดว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลครับ

ส่วนผลงานประเภทที่ 2 หรือกลไกที่ 2 ก็คืออำนาจในการยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่อาจารย์สิริพรรณได้เกริ่นไว้นะครับ เพราะท้ายสุดแล้วสิ่งที่มันเป็นพินัยกรรมของคสช. แล้วก็สิ่งที่มันรักษาไว้ซึ่งระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็คือรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วก็มีการเสนอ 26 ร่างฯ การพิจารณาของรัฐสภาผ่านมาแค่ 1 ร่าง คือเรื่องของระบบเลือกตั้งแต่ที่มันน่าตกใจกว่านั้นผมแชร์ 2 อย่าง อย่างที่ 1 คือในบรรดามีทั้งหมด 26 ร่างใช่ไหมครับ 1 ร่างที่ผ่านไปได้ แต่มีอยู่ 19 ร่างที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนแต่ไม่ได้เสียง 1 ใน 3 ของสว. ที่จำเป็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือถ้ามองไปมากกว่านั้นมี 18 ร่างนะครับ 18 ร่างที่ได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ของส.ส. คือได้ฉันทมติร่วมกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลแล้วแสดงว่าเป็นฉันทมติของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่มีหลายเฉดความคิดระดับหนึ่ง แต่กลับไม่ได้เสียง 1 ใน 3 ของสว. ที่จำเป็นต่อการแก้ไข

และอันที่รูปธรรมที่สุดผมก็คือการยกเลิกมาตรา 272 ที่ถูกเสนอหลายครั้ง แต่ว่ามีครั้งหนึ่งตอนปิดเดือนมิถุนายน 2564 ได้เสียงสนับสนุนจากส.ส. 440 คน คิดเป็น 88% ของตัวแทนประชาชนแต่ว่ากลับได้การสนับสนุนสว. เพียงแค่ 20 เสียงเท่านั้น แล้วถ้ามองลึกลงไปถึงการแก้ที่สำเร็จเรื่องระบบเลือกตั้งก็ตั้งคำถามต่อได้ว่าทำไมสว. ถึงยอมแก้เกี่ยวกับเรื่องระบบเลือกตั้ง ถ้ามองแบบผิวเผินเราอาจจะคิดว่ามันเป็นเพราะมันเป็นการแก้ที่ไม่ได้กระทบอำนาจสว. แต่ผมมองเลวร้ายกว่านั้นอีกนะครับ ผมมองว่าท้ายสุดแล้วการที่สว. คนไหนจะลงมติสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการแก้ไขระบบเลือกตั้งตรงนั้น มันก็มีข่าวนะครับ เป็นเพราะว่าสว. ที่ลงมติคำนึงถึงโอกาสหรือผลกระทบต่อความสำเร็จทางการเมืองของคนที่มีอิทธิพลเหนือเขา เพราะถ้าจำได้ตอนนั้นมีสว. 2 กลุ่มใช่ไหมครับ กลุ่มหนึ่งสนับสนุนการแก้ไขระบบเลือกตั้งจากฉบับ 2560 มาเป็นระบบเลือกตั้งใหม่ที่เป็นบัตร 2 ใบและคำนวณแบบคู่ขนาน ซึ่งแน่นอนเป็นระบบที่ในเชิงวิชาการให้ความได้เปรียบกับพรรคการเมืองที่ถนัดแบบแบ่งเขตมากกว่าแบบบัญชีรายชื่อ

ดังนั้นจะมีสว. บางกลุ่มที่ก็อาจจะมีความเชื่อมโยงหรือว่ามีคนบอกว่าเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่มีความถนัดเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตก็ลงมติเห็นชอบการแก้ระบบเลือกตั้ง ในขณะที่สว. อีกกลุ่มนึงที่มีความเชื่อมโยงกับอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่อาจจะท้ายที่สุดแล้วเราเห็นจากผลการเลือกตั้ง 2566 ว่าถนัดแบบบัญชีรายชื่อมากกว่าเขตก็ไม่ลงสนับสนุนให้กับการแก้ระบบเลือกตั้งครั้งนั้น คือท้ายสุดแล้วมันก็ไม่ได้เป็นการลงมติเพื่อต้องการจะแก้ไขให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เป็นการลงมติตามคนที่มีอิทธิพลเหนือเขาและผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นกับเขา แล้วก็ท้ายสุดสั้นๆ คืออำนาจในการรับรอง

ข้อที่ 3 หรือกลไกที่ 3 คืออำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็องค์กรอิสระนะครับ เราจะเห็นว่ามีการใช้อำนาจเข้ามาปฏิเสธการรับรองบุคลากรหลายคนในองค์กรเหล่านี้นะครับ แล้วก็ถูกตั้งคำถามว่ามันเกี่ยวข้องกับทัศนคติทางการเมืองของผู้ที่ถูกเสนอชื่อหรือเปล่า อย่างเช่นในปี 2564 ขออภัยครับปี 2565 เคยมีการเสนอชื่ออาจารย์ท่านหนึ่งมาเป็นกรรมการป.ป.ช. แต่ว่าถูกสว. ปฏิเสธ แล้วก็มีข่าวออกมาเผยแพร่เบื้องต้นน่าจะสำนักข่าวอิสระที่มีการบอกว่าสว. ให้ข้อมูลว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าถูกมองว่ามีทัศนคติที่ไม่เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล ณ เวลานั้นหรือว่าไม่เป็นถ้าใช้คำพูดให้เป๊ะๆ คือมีพฤติกรรมและแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยม

ดังนั้นมันก็เลยนำมาสู่คำถามว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ดี องค์กรอิสระก็ดีที่เราคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง เราได้คนที่มีความเป็นกลางจริงหรือเปล่าหรือถึงแม้พอคัดเลือกไปแล้วแล้วคนเหล่านั้นปฏิบัติหน้าที่เป็นกลางจริงสิ่งที่มันตามมาคือการทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นหรือว่าลดความเชื่อมั่นในองค์กรเหล่านี้ลงแล้วเราไม่สามารถมีระบบการเมืองที่เข้มแข็งได้ ทางประชาชนไม่สามารถเชื่อมั่นได้ในความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็องค์กรอิสระ

ดังนั้นนี่คือ 3 กลไก 3 อำนาจที่สว. ชุดนี้ใช้ในการประสบความสำเร็จในการรักษาระบบการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า อยากจะฝากอะไรกับสว .ชุดนี้ชุดที่ผ่านมานะครับ ผมคิดว่าสำคัญที่สุดข้อความสำคัญที่สุดก็คือว่าเวลาของท่านหมดแล้วนะครับ ดังนั้นขออย่าพยายามทวนเข็มนาฬิกา ขออย่าพยายามตีความว่าอำนาจบทเฉพาะกาลยังคงมีอยู่ อย่าพยายามตีรวนให้กระบวนการคัดเลือกสว. ชุดใหม่มันล่าช้า ถูกประกาศผลล่าช้า และทำให้สว. ชุดนี้รักษาการต่อไปได้และอะไรก็ตามที่ยังคงมีอำนาจเชิงกฎหมายอยู่ก็ตระหนักไว้เสมอนะครับว่าอย่าพยายามไปตัดสินใจที่ไปผูกมัดอนาคตของประเทศในช่วงรักษาการต่อดีครับ

 

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

รอบแรกผมพูดไปแล้วถึงอดีต คือบทบาทของสว. ชุดก่อนหน้านี้ 250 คนแล้วก็เหลือหัวข้อเรื่องปัจจุบันและอนาคตเดี๋ยวจะเริ่มปัจจุบันก่อนถ้าเวลาเหลือจะมาต่ออนาคตถ้าไม่เหลือก็เดี๋ยวทดไปรอบต่อไป สำหรับเรื่องของปัจจุบันก็คือการคัดเลือกสว. ชุดใหม่ 200 คนผมคิดว่าผมมี 4 ประเด็นหลักที่อยากจะสื่อสารแล้วก็จะพยายามไม่ซ้ำกับสิ่งที่วิทยากรคนอื่นพูดมาแล้วมากจนเกินไปนะครับ

ประเด็นที่ 1 ผมคิดว่าก็จำเป็นต้องย้ำแล้วก็ตอกย้ำเพราะว่าโครงสร้างอำนาจแล้วก็ที่มาของสว. ชุดใหม่ก็ยังคงห่างไกลจากโครงสร้างที่ควรจะเป็นตามมาตรฐานประชาธิปไตย คือผมจะพูดเสมอว่าเกณฑ์หรือไม้บรรทัดที่เราสามารถใช้ได้ในการประเมินว่าวุฒิสภาในประเทศใดมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ มีความชอบธรรมทำทางประชาธิปไตยหรือไม่คือความสมดุลกันระหว่างอำนาจและก็ที่มา ซึ่งความจริงนี้เป็นไม้บรรทัดที่ใช้ได้สำหรับสถาบันการเมืองอื่นด้วยเช่นกัน แล้วเราก็จะเห็นว่าประเทศที่เขามีความเป็นประชาธิปไตยหรือว่าถูกจัดสรรว่าเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ Full Democracy ในดัชนีประชาธิปไตยก็มักจะยึดไม้บรรทัดตัวนี้นะครับ

เราจะเห็นว่าถ้าเกิดว่าประเทศไหนมีสว. ที่มีอำนาจเยอะ อย่างเช่นตัวอย่างของ Senate ของสหรัฐอเมริกาที่อาจารย์สิริพรรณยกตัวอย่างขึ้นมาก็จะต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่เราเห็นว่าประเทศไหนที่อาจจะมีสว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเช่นสหราชอาณาจักรก็จะเห็นว่าอำนาจที่เขามีก็จะไม่สูง อำนาจในเชิงกฎหมายทำได้มากที่สุดคือชะลอร่างกฎหมาย 1 ปีแต่มันมีประเพณีวัฒนธรรมทางการเมืองที่มันไปลดอำนาจมากกว่านั้นด้วย ก็คือว่าสว. อังกฤษถึงแม้จะมีอำนาจในการชะลอร่างกฎหมาย 1 ปีแต่มันจะมีธรรมเนียม 2 ตัวที่น่าสนใจอันหนึ่งเขาเรียกว่า (เสียงเบา-กองบรรณาธิการ) Convention ก็คือว่าถ้ากฎหมายเป็นกฎหมายที่เชื่อมโยงกับนโยบายที่ถูกสื่อสารและรณรงค์ช่วงการเลือกตั้งสว. จะไม่ใช้อำนาจในการชะลอร่างกฎหมาย อีกธรรมเนียมหนึ่งก็คือว่าถ้าเกิดว่ากฎหมายนั้นถูกเสนอขึ้นมาโดยส.ส. แล้วเกี่ยวข้องกับการเงิน เช่นเป็นการเพิ่มรายได้รัฐจากการจัดการปฏิรูประบบภาษีหรือว่าเกี่ยวกับการใช้จ่ายสว. ก็จะไม่ชะลอ

ดังนั้นจะเห็นว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบหากสว. มาจากการแต่งตั้งซึ่งเป็นส่วนน้อยก็จะเห็นว่าอำนาจไม่ได้เยอะทั้งในเชิงของกฎหมายแล้วก็ในเชิงของประเพณีวัฒนธรรมในเชิงปฏิบัตินะครับ เพราะฉะนั้นสว. ชุดใหม่ก็ต้องยอมรับว่าสมดุลนี้อาจจะดีกว่าชุดที่แล้วสักนิดนึงเพราะอย่างน้อยก็มีที่มาที่ผ่านการคัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครไม่ได้ถูกจิ้มโดยคสช. เป็นหลัก แล้วก็อาจจะดีขึ้นแล้วนิดนึงในมุมที่ว่าอำนาจก็ไม่ได้ล้นฟ้าถึงขั้นจะเลือกนายกได้แต่อำนาจที่เหลือยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นถึงแม้ถ้าเรามองว่าสว. ชุด 250 คนอำนาจสูงมากที่มามีความยึดโยงกับประชาชนต่ำขนาดนี้พอมาชุดปัจจุบันมันอาจจะใกล้เคียงกันนิดนึงแต่ก็ยังไม่ได้สมดุลนะครับ สุดท้ายแล้วอำนาจที่สว. ชุดใหม่จะมีก็ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับหรือว่าในบริบทของสว. ที่ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อันนี้คือประเด็นที่ 1 ที่ผมคิดว่าต้องจำให้ชัดเจนครับ

ประเด็นที่ 2 ก็คือว่าหากเรายึดกติกาแล้วก็โครงสร้างอำนาจที่มาเช่นนี้ที่ก็ยังห่างไกลจากมาตรฐานประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ที่ถูกล็อคไว้ในรัฐธรรมนูญก็ดีหรือในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ก็อาจจะแก้ไขไม่ทันแล้ว เราสามารถตั้งเป้าหมายอะไรได้บ้างที่พยายามจะทำให้ความเสียหายมันน้อยที่สุดเหมือนที่คุณจาตุรนต์พูด ผมคิดว่ามี 2 เป้าหมายที่สำคัญนะครับ เป้าหมายที่ 1 คือทำยังไงให้ประชาชนอย่างพวกเราร่วมกันกดดันแล้วก็เรียกร้องให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจจากสว. ชุดเก่ามาชุดใหม่มันราบรื่นและรวดเร็วที่สุด พูดง่ายๆ คือทำยังไงให้มันไม่ยื้อเรื่องของปฏิทินในการคัดเลือกสว. ออกไปเพราะยังยื้อออกไปเท่าไหร่สว. ที่ถูกจิ้มโดยคสช. 250 คนก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนานเท่านั้น แล้วจากบทสัมภาษณ์ของสว. ไม่กี่วันก่อนหน้านี้บางท่านก็ดูไม่ได้มีความเคอะเขินในการใช้อำนาจรักษาการตรงนั้นเลยนะครับ

ส่วนเป้าหมายที่ 2  คือทำยังไงให้ถึงแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนทั่วไปไม่ได้มีสิทธิ์ไปเลือกสว. กระบวนการคัดเลือกกันเองมันใกล้เคียงกับการเลือกตั้งมากที่สุด ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดซึ่งผมคิดว่ามีหลายมิติ ในมุมหนึ่งคือเราอยากให้จำนวนผู้สมัครเยอะที่สุดเพราะยิ่งผู้สมัครเยอะในมุมหนึ่งมันก็เกิดการแข่งขันเราเชื่อว่าแข่งขันเข้มข้นก็จะคัดกรองสว. ที่มีความเหมาะสมมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าใครกังวลใจว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่มีการจัดตั้งหรือว่าสนับสนุนทุนให้บางคนมาสมัครเป็นผู้สมัครเพื่อไปเลือกคนในโพยตัวเองนะครับยิ่งเรามีผู้สมัครเยอะเท่าไหร่มันก็จะทำให้ตรงนั้นมันจางลงก็มีประสิทธิภาพน้อยลง

แต่นอกจากจำนวนผู้สมัครแล้วผมคิดว่าเราก็อยากเห็นบรรยากาศการคัดเลือกสว. ถึงแม้ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งก็จริงแต่เป็นบรรยากาศที่ผู้สมัครสามารถรณรงค์ได้เต็มที่ สื่อสารได้เต็มที่ว่านอกจากเขามีประสบการณ์ในอดีตอย่างไรเขามีมุมมองต่ออนาคตต่อประเทศอย่างไร มีมุมมองต่อการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร มีเกณฑ์ในการจะใช้เพื่อรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอย่างไร เราอยากจะเห็นข้อมูลเหล่านี้มันถูกเผยแพร่ให้ประชาชนในวงกว้างที่สุดถึงแม้บางคนอาจจะไม่ได้มีสิทธิ์เลือกสว. ก็ตาม เราอยากเห็นประชาชนที่แม้ไม่มีสิทธิ์เลือก ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ไม่สามารถไปโหวตได้ว่าใครจะเป็นสว. อย่างน้อยมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่าชื่อนี้รู้จักนะ เคยทำงานด้วย เคยติดตามเหมาะสมไม่เหมาะสมอย่างไรนะครับ ผมคิดว่านี่คือบรรยากาศที่เราอยากจะเห็นรวมไปถึงเมื่อมีการคัดเลือกแล้วทำยังไงให้ประชาชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การตรวจสอบว่าไม่มีอะไรไม่ชอบมาพากลได้อย่างกว้างขวางที่สุด

ฉะนั้น ผมคิดว่าประเด็นที่ 2 ที่อยากสื่อสารเกี่ยวกับปัจจุบันคือเป้าหมายที่กำหนดร่วมกันได้ภายใต้กติกาที่ก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตย ณ เวลานี้ คือ 1 ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านเชิงอำนาจ หรือเปลี่ยนผ่านอำนาจจากสว. ชุดเก่ามาชุดใหม่ราบรื่นและรวดเร็วที่สุด แล้วก็ 2 ทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะมีได้ภายใต้ข้อจำกัด

ประเด็นที่ 3 ก็คือว่าประตูมันอาจจะแคบ ประชาชนอาจจะมีส่วนร่วมได้ไม่มากเท่ากับการเลือกตั้งประตูมันอาจจะแคบอยู่ แต่ 2 เป้าหมายที่ผมพูดเมื่อสักครู่ ประตูมันจะแคบมากหรือแคบน้อยตัวละครที่สำคัญมากคือกกต. แล้วเราจะเห็นว่าเมื่อเอา 2 เป้าหมายที่ผมพูดเมื่อสักครู่มาจับที่ผ่านมากกต. ยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไรที่ผมคิดว่าจะช่วยให้ 2 เป้าหมายนี้ถูกบรรลุได้อย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเป้าหมายที่ 1 เรื่องการเปลี่ยนผ่านอำนาจให้ราบรื่นอย่างที่ผมตั้งข้อสังเกตุไว้ว่าในระเบียบข้อที่ 154 ของพ.ร.บ. สว. ไม่ได้เขียนกำหนดกรอบเวลาชัดเจน ถ้าการเลือกตั้งส.ส. เขาจะเขียนชัดเจนว่ากกต. จะต้องรับรองหรือว่าประกาศผลภายในกี่วันหลังจากการเลือกตั้ง แต่พอเป็นระเบียบข้อ 154 ของสว. ไม่ได้เขียนว่าจะต้องภายในกี่วัน เขียนแค่ว่าให้กกต. ประกาศผลเมื่อเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องสุจริตและเที่ยงธรรม

นั่นหมายความว่าถ้าสมมติว่ากระบวนการที่มันก็ซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วมันมีความคลุมเครือและนำไปสู่ข้อร้องเรียนจำนวนมากก็มีความเป็นไปได้ว่ากกต. อาจจะไม่กล้าประกาศและยืนยันว่าการเลือกที่ผ่านมาเป็นไปโดยถูกต้องสุจริตและเที่ยงธรรม และทำให้อาจจะไม่กล้าประกาศรับรองผลการคัดเลือกแล้วก็ทำให้สว. ชุดปัจจุบันรักษาการต่อไปเรื่อยๆ ผมเคยถามตัวแทนกกต. ในประชุมกรรมมาธิการพัฒนาการเมืองก็ต้องบอกว่าตัวแทนกกต. ท่านนั้นก็พูดว่าในมุมมองส่วนตัวเขามันควรจะมีความชัดเจนและควรจะมีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่เขาก็ยังไม่สามารถพูดแทนองค์กรเขาได้นะครับ

 

 

ดังนั้นผมคิดว่าข้อเรียกร้องที่ยิงไปที่กกต. ข้อที่ 1 ในประเด็นนี้คือถ้ากกต. ออกมายืนยันว่าถึงแม้กฎหมายไม่ได้บังคับแต่กกต. จะประกาศผลการคัดเลือกสว. ภายในกี่วันให้ความชัดเจนกับประชาชน ผมคิดว่าอันนี้จะคลายข้อกังวลในประเด็นที่ 1 ได้ ส่วนประเด็นที่ 2 ก็คือเป้าหมายเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างที่หลายท่านพูดไปแล้วว่าจะภาพฝันที่ผมพูดไว้นะว่าประชาชนมีส่วนร่วมยังไงได้บ้างภายใต้ข้อจำกัดของกติกา ก็จะเห็นว่ากกต. หรือว่าระเบียบการแนะนำตัวของกกต. ก็ทลายความฝันไปหลายอย่างมากเพราะกลายเป็นว่าคนที่เป็นผู้สมัครก็ปัจจุบันจะพูดถึงตัวเองได้ก็มีข้อจำกัดแค่ 5 บรรทัดแล้วก็เหมือนกับจะมีการสื่อสารออกมาก็พูดได้แค่เฉพาะอดีตประสบการณ์ พูดถึงมุมมองต่ออนาคตไม่ได้จะทำให้คนรับรู้ถึง 5 บรรทัดนั้นก็กลายเป็นว่าให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ไม่ได้ต้องส่งให้กับผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนไม่ได้ ประชาชนทั่วไปสมมติมีความเห็นว่าคนนี้เหมาะสมหรือไม่ ก่อนจะมีความเห็นประชาชนทั่วไปอยากจะรู้ว่าใครลงมาสมัครเป็นสว. ก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลได้ยากขึ้น แม้กกต. วันก่อนสัปดาห์ที่แล้วยืนยันตามที่เคยยืนยันกับในกรรมาธิการพัฒนาการเมืองว่าจะเผยแพร่ชื่อผู้สมัครทุกอำเภอใช่ไหมครับ ทุกอาชีพหลังจากที่มีการประกาศรายชื่อแล้ว แต่ผมเห็นบทสัมภาษณ์ล่าสุดจากตัวแทนกกต. อีกท่านหนึ่งก็กลับพูดว่าอาจจะทำแค่เฉพาะในการคัดเลือกระดับที่ 2 หรือระดับจังหวัดขึ้นไปนะครับ

ดังนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงข้อมูลรายชื่อผู้สมัครได้เมื่อไร แล้วเข้าถึงแล้วประชาชนจะแสดงความเห็นได้มากน้อยแค่ไหนก็ดูมีความคลุมเครืออีกเพราะระเบียบก็ไปพูดถึงตำแหน่งที่เรียกว่าผู้ช่วยแนะนำตัวผู้สมัครสว. ก็เลยเกิดปัญหาว่าถ้าผมไม่ได้เป็นผู้ช่วยหรือประชาชนไม่ได้เป็นผู้ช่วยผู้สมัครสว. แล้วสามารถพูดถึงข้อดีข้อเสียของสว. แต่ละคนได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรนะครับ ดังนั้นข้อเสนอที่ 2 ที่ยิงไปที่กกต. ก็คือว่าอยากให้ทบทวนระเบียบการแนะนำตัวตรงนี้นะครับ แล้วก็ทำให้บรรยากาศเปิดกว้างที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ประเด็นที่ 3 ก็คือว่าเพื่อบรรลุ 2 เป้าหมายควรจะมีความชัดเจนเรื่องของกรอบเวลาในการประกาศผลแล้ว ก็ควรจะมีการทบทวนระเบียบการแนะนำตัว

ส่วนประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ 4 เกี่ยวข้องกับปัจุบัน ก็คือว่าแม้กติกาอาจจะไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยมากเท่าสากล แม้ 2 เป้าหมายที่เราพูดไว้ก็ดูเหมือนจะเจออุปสรรคหลายอย่างที่ในรูปแบบของระเบียบของกกต. ที่ออกมามีความไม่ชัดเจนที่ยังไม่ได้ปรากฏ แต่ผมก็อยากจะเชิญชวนให้ประชาชนนั้นให้ความสำคัญ คือผมคิดว่าในภาพรวมระยะยาวเรารู้อยู่แล้วว่าสว. ชุดใหม่มีอำนาจแค่ไหนรวมไปถึงการรับรององค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง Ilaw และหลายคนให้ข้อมูลด้วยซ้ำว่าจะได้มีโอกาสรับรองกี่คนในช่วง 4 ปีข้างหน้า แต่ผมเอาแค่เฉพาะหน้าก่อนเลยสิ่งที่สว. ชุดใหม่จะมีบทบาทสำคัญมากว่าภายใน 2-3 เดือนแรกของการปฏิบัติหน้าที่ คือการกำหนดทิศทางเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือโอกาสในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งถ้าเราทำสำเร็จเราไม่ต้องมาคุยเรื่องนี้เลย เพราะบทบาทสว. ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีสว. อยู่หรือไม่ จะมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญแค่ไหน จะยังมีอำนาจในการรับรององค์กรอิสระอยู่หรือไม่มันขึ้นอยู่กับสสร. ที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้มันมี 4 ข้อที่ผมคิดว่าสว. ชุดใหม่จะต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องและก็เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ข้อที่ 1 คือพ.ร.บ. ประชามติ รัฐบาลเขาประกาศแล้วว่าจะไม่มีการเดินหน้าจัดทำประชามติรอบแรกจาก 3 รอบจนกระทั่งมีการแก้ไขพ.ร.บ. ประชามติ ตอนนี้ฝั่งสภาผู้แทน ความจริงในเชิงของสมาชิกสภาผู้แทนพร้อมแล้ว เรามี 2 ร่าง ร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างของพรรคก้าวไกลตอนนี้รอแค่เมื่อไหร่ครม. จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประชามติตรงนี้ แต่ผ่านไปแล้วก็จะไปเจอด่านสว. นะครับว่าจะพิจารณาได้รวดเร็วหรือไม่รวดเร็วแค่ไหนอันนี้ข้อที่ 1

ข้อที่ 2 คือคำถามประชามติ สมมติจะเดินหน้าต่อด้วยประชามติ 3 ครั้ง ปัจจุบันทางรัฐบาลเขาก็มีคำถามของเขาแล้ว ที่เป็นคำถามว่าเห็นชอบหรือไม่ให้จัดทำฉบับใหม่โดยไม่แก้บท 1 บท 2 ทั้งภาคประชาชนก็มีคำถามที่เสนอไปแล้วแต่ยังไม่ได้คำตอบว่าตกลงรัฐบาลมีมุมมองอย่างไร อีกกลไกหนึ่งที่สามารถเสนอคำถามได้นอกจากรัฐบาล ภาคประชาชนก็คือสภา ซึ่งกลไกก็คือส.ส. อาจจะเสนอก่อน ถ้าผ่านสภาผู้แทนก็จะไปถึงสว. ดังนั้นถ้าพรรคก้าวไกลเปิดสมัยประชุมมา ไหนๆ ก็ต้องแก้พ.ร.บ. ประชามติไปแล้ว เราเปิดญัตติเสนอคำถามประชามติขอคำถามแบบเปิดกว้างเห็นชอบหรือไม่ให้มีการจัดทำฉบับใหม่ และเกิดสมมติมีส.ส. บางคนจากฝั่งรัฐบาลที่อาจจะไม่ได้เห็นตรงกับมติของครม. ที่ออกมา มาสนับสนุนคำถามนี้ผ่านสภาผู้แทนไปได้ก็จะไปรอลุ้นว่าสว. ชุดใหม่จะโหวตเห็นชอบกับคำถามนี้หรือไม่

ข้อที่ 3 ก็คือว่าเมื่อมันถึงจุดที่ต้องมาคุยกันเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้มาตรา 256 แล้วก็เพิ่มหมวดเรื่องสสร. สว. ก็จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันกำหนดว่าสสร. นั้นจะมีอำนาจที่มายังไงนะครับ แล้วผมก็ยืนยันมาตลอดถ้าหากเราต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มันมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากที่สุด สสร. ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100%

แล้วก็ข้อสุดท้าย ข้อที่ 4 คือหากสมมติเปิดสมัยประชุมสภามาแล้ว เห็นว่ามีสว. ชุดใหม่มาแล้ว เกิดสมมุติผมหรือพรรคก้าวไกลอยากจะลองเสนอแก้รายมาตราระหว่างทางในเมื่อเรารู้ว่ากว่าจะได้ฉบับใหม่ใช้เวลาปี 2 ปี ลองแก้ระหว่างทางรายมาตราเรื่องอำนาจสว. เรื่องที่มาอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระก็จะเป็นบททดสอบเหมือนกันว่าสว. ชุดใหม่จะโหวตให้กับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรายมาตรา เกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ ทางการเมืองนี้อย่างไรนะครับ ดังนั้นไม่ต้องมองไปไกลถึง 4 ปีแต่เอาแค่ 2-3 เดือนข้างหน้าก็มี 4 จุดสำคัญและที่สว. ชุดใหม่นั้นจะมีส่วนเกี่ยวข้องและจะกำหนดทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็การปฏิรูปการเมืองไทย

ครับผม ขอบคุณครับก็ฝากงานให้สว. ชุดใหม่เต็มไปหมดเลยนะครับ หวังว่าในปี 2567 เราจะมีสว. ไม่น้อยกว่า 67 คนที่จะเดินหน้าพาเราไปสู่รัฐธรรมนูญประชาชน ถ้าเกินนั้นร้อยมากกว่าร้อยยิ่งดีนะครับ ก็ญัตติต่างๆ ที่คุณพริษฐ์ว่าเมื่อเข้าไปก็จะได้มีเสียงสนับสนุนในสภานะครับ

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

เพื่อไม่ให้ซ้ำผมโยนหัวข้อเรื่องสภาเดี่ยวแล้วกันไม่มีเวลาลงรายละเอียดละ แต่ว่าผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญที่ยังไงคงต้องพิจารณาแล้วผมคิดว่าสว. ชุดใหม่ก็ควรจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาโจทย์นี้และคิดในมุมที่ว่าจะสนับสนุนสภาเดี่ยวหรือไม่บนพื้นฐานของว่ามันเป็นประโยชน์กับประเทศหรือเปล่า ไม่ได้บนพื้นฐานว่าตัวเองจะสูญเสียอำนาจหรือเปล่า ผมคิดว่าเรื่องสภาเดี่ยวการไม่มีวุฒิสภาและมีแค่สภาผู้แทนเพราะว่าข้อดีเราเห็นกันอยู่แล้วว่ามีบางข้อดีที่ชัดเจน เช่นถูกกว่าถ้าเอาแค่เงินเดือนสว. ของผู้ช่วย เข้าใจว่าปัจจุบันคิดประมาณ 500 ล้านต่อปีถ้าเป็น 250 คน ถ้าเป็น 200 คนก็อาจจะลดลงมาอยู่นิดหนึ่ง แล้วก็รวดเร็วกว่าในบริบทของโลกที่มันมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย ออกกฎหมายเร็วจะเห็นว่าถ้ามันมีสภาเดี่ยวมันก็พิจารณากฎหมายได้ทันควันกว่า

ทาง 101 PUB เขาคำนวณมาว่ากฎหมายฉบับหนึ่งเฉลี่ยใช้เวลา 414 วันผ่าน 2 สภา โดยประมาณ 60-160 วันใช้ไปในชั้นของวุฒิสภา ดังนั้นมันก็สามารถประหยัดเวลาได้ 15-40% อันนี้ข้อดีผมคิดว่าชัด แต่สิ่งที่อยากจะฉายให้เห็นด้วยก็คือว่าเหตุผลที่บางคนอาจจะเคยมีว่าจำเป็นต้องมีวุฒิสภาผมคิดว่ามันเป็นเหตุผลที่มันอาจจะสำหรับบริบทของโลกปัจจุบัน มันอาจจะไม่ได้มีเหตุผลมากเท่าที่เคยมีแล้ว 3 ข้อ

ข้อที่ 1 บางคนจะบอกว่าต้องมีสว. เป็นตัวแทนของพื้นที่ ก็ต้องตอบกลับไปว่าในมุมหนึ่งเราเป็นรัฐเดี่ยว เราไม่ได้มีความจำเป็นเหมือนกับสหพันธรัฐที่ต้องมีสว. ที่เป็นตัวแทนของมลรัฐเหมือนกับสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าคุณบอกว่าแม้เป็นรัฐเดี่ยวต้องมีสว. ที่เป็นตัวแทนจังหวัด ผมคิดว่าพี่น้องที่ภูเก็ต หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด พิษณุโลกสิ่งที่เขาอยากได้มากที่สุดอาจจะไม่ใช่สว. จากจังหวัดเขา แต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้เขาได้เลือกผู้ว่าหรือว่าผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเองแล้วก็ทำให้ท้องถิ่นเขามีอำนาจและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเขามากกว่า

เหตุผลที่ 2 บางคนจะบอกว่าสว. ต้องเป็นตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญ แต่ผมคิดว่าถ้าเราอยากให้มีผู้เชี่ยวชาญมามีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมาย มันก็แปลกนะว่าเราเอาไปไว้ในช่วงสุดท้ายในการกลั่นกรอง ความจริงถ้าเราตั้งโจทย์ตรงนั้นจริงๆ มันอาจจะมีประโยชน์กว่าในการดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นแต่มันก็ต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ดังนั้นผมคิดว่าถ้าเราตั้งโจทย์เรื่องอยากมีผู้เชี่ยวชาญมามีส่วนร่วมผมคิดว่าทางออกที่อาจจะตรงจุดมากกว่าไม่ใช่การมีวุฒิสภา

แต่ว่าคือการที่ไปแก้กฎหมายพรรคการเมืองทำให้พรรคการเมืองสามารถระดมทุนจากการสนับสนุนของประชาชนได้ไม่ต้องพึ่งทุนของบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ต้องพึ่งทุนของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เพื่อให้พรรคการเมืองมีเสรีภาพในการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้สมัครที่มาเสนอกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งการเพิ่มแรงจูงใจให้พรรคการเมืองหรือว่าส.ส. เสนอผู้เชี่ยวชาญมาเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณากฎหมาย ก็จะเป็นวิธีการทำให้เรามีผู้เชี่ยวชาญมามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการพิจารณากฎหมายโดยที่ยังคงมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

ส่วนข้อสุดท้ายหลายคนคาดหวังให้สว. ทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล แต่ผมก็เห็นเช่นกันว่าความจริงแล้วมันอาจจะมีวิธีการในการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่นคุณอาจจะติดอาวุธสภา โดยการแก้รัฐธรรมนูญให้นายกต้องเป็นส.ส. เพื่อให้ฝ่ายบริหารต้องมารายงานกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเข้มข้นขึ้น คุณอาจจะแก้ข้อบังคับ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ประธานคณะกรรมมาธิการที่เกี่ยวข้องการตรวจสอบต้องมาจากฝ่ายค้านไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร หรือว่าป้องกันสูตรสำเร็จที่ว่ารัฐมนตรีพรรคไหน หรือว่าพรรคไหนมีรัฐมนตรีกระทรวงไหนคณะกรรมมาธิการของที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้นก็จะเป็นประธานจากพรรคการเมืองนั้น หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นการติดอาวุธประชาชนในภาพรวมเข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบ หรือถ้าเรามองเคยมองว่าสว. มีบทบาทในการชะลอร่างกฎหมาย

หากส.ส ผ่านทำไมเราไม่เอาอำนาจนั้นให้กับประชาชน ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่เกิดสมมติสภาผู้แทนผ่านกฎหมายที่ประชาชนไม่เห็นด้วยจริง อาจจะเข้าชื่อมีส่วนในการร่างออกกฎหมายได้ ดังนั้นผมคิดว่าอันนี้คือภาพรวมว่ามันเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อว่าข้อดีที่เราเคยเห็นหรือว่าเคยใช้เพื่อมาอธิบายว่าจำเป็นต้องมีวุฒิสภาในโลกปัจจุบัน มันอาจจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการอื่นนะครับ

แล้วก็ทิ้งท้ายประโยคเดียวว่าฝากอะไรกับสว. ชุดใหม่ 200 คนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามผมคิดว่าท้ายสุดก็อยากให้ทุกท่านทำงานด้วยความตระหนัก ว่าแม้อำนาจที่ท่านมีมันอาจจะมากกว่าที่ท่านควรจะมีในฐานะตัวแทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ผมเชื่อว่าถ้าท่านใช้อำนาจอย่างรับผิดชอบเพื่อปกป้องประชาธิปไตย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะขัดกับตำแหน่งและอำนาจของตนเอง ใช้อำนาจเพื่อคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็กรรมการองค์กรอิสระที่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริง แล้วก็ใช้อำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลทุกชุดอย่างเข้มข้นแล้วก็ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ผมเชื่อว่าประชาชนก็พร้อมจะปกป้องแล้วก็สนับสนุนการทำงานของท่าน แม้ว่าประชาชนอาจจะไม่เลือกท่านเข้ามา

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=feXERmBEXlc

 

ที่มา : เสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 :  PRIDI Talks #25 เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.