ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปิดกั้นหรือเปิดกว้าง: เสียงประชาชนกับการเลือกวุฒิสภา

20
พฤษภาคม
2567

Focus

  • จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยที่เป็นต้นทางบทบัญญัติของการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยชี้จุดตั้งต้นของปัญหาว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดหากคณะรัฐประหารที่ทำสำเร็จคือผู้ที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ กล่าวคือมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่จะคุ้มครองยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันคือสิ่งที่มีไว้เพื่อที่จะทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของประชาชนซึ่งส่งผลต่อบทบาท อำนาจ หน้าที่ของสว. เพราะว่าเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการไปในทิศทางเดียวกันกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
  • ปัญหาในระยะเปลี่ยนผ่านของการเมืองในระบบรัฐสภาปัจจุบันคือ การออกแบบระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ตั้งแต่การรับสมัครสว. ว่าเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพนั้นหรือไม่ แต่ระบบไม่ได้เอื้อให้ผู้มีสิทธิเลือกสว. ทราบถึงคุณสมบัติคือไม่มีข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้นส่งผลให้ความเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพจึงไม่มี และมีแนวโน้มว่าการเลือกสว. ครั้งนี้จะไม่มีความยึดโยงกับประชาชนกล่าวคือ ประชาชนไม่รู้จักผู้สมัครสว. ประชาชนไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ เป็นต้น
  • ข้อเสนอในอนาคตเกี่ยวกับการเลือกสว. ชุดใหม่อาทิ กกต. ต้องยกเลิกระเบียบในเรื่องที่ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิ้ลทีวี สื่อต่างๆ และควรผลักดันให้มีสว. อย่างน้อย 67 คนขึ้นไป ที่พร้อมจะสนับสนุนยกมือผ่านการแก้รัไขฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแนะนำตัวต่อวิทยุ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จจะนำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับการคัดเลือกสว.

 

จาตุรนต์ ฉายแสง :

ผู้จัดประสานผมว่าให้ช่วยพูดถึงสว. จะพูดถึงเขายังไง แต่ว่าผมไม่ได้มองเป็นเรื่องสว. ชุดที่แล้วเป็นคนดีหรือคนไม่ดี มันเป็นเรื่องของระบบมากกว่า สว. ในอดีตที่เป็นประเด็นถกกันเรื่องว่าสว. ควรจะเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่อันนี้คือเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ประเด็นนั้น ถ้าในช่วงปี 2522-2529, 2521-2529 เขาก็ใช้ให้สว. มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ มีผลทำให้พรรคการเมืองก็รู้ว่าถ้าจะตั้งรัฐบาลสว. คือกำลังสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นใครคุมสว. ได้ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองก็เข้าไปร่วม

 

 

อันนี้คือครั้งที่ถือว่ามีบทบาทมีนัยยะสำคัญแต่ถ้าเทียบกับ 5 ปีมานี้มันเป็นคนละเรื่องเลย เพราะว่า 5 ปีมานี้มันหนักหนากว่านั้นมากเพราะเขาให้สว. มีอำนาจตั้งแต่รับรององค์กรอิสระ ตุลาการปกครองสูงสุด อัยการสูงสุดซึ่งเราฟังดูแล้วหลายๆ ท่านก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่จริงๆ แล้วก็คือว่ามันเป็นการรับรองตุลาการศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุดโดยผู้ที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร จริงๆ แล้วมันคือระบบอะไร มีการเลือกนายกฯ อันนี้ก็เป็นตามบทเฉพาะกาล มีการพิจารณากฎหมายปฏิรูป ก็ด้วยสว. ทำให้ต้องพิจารณากฎหมายสำคัญๆ 2 สภาฯ ซึ่งเขาก็ทำกันมา การกำกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป อันนี้เราจะเห็นว่าถ้ากำกับให้ดีให้ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปมันก็จะไม่เกิดการปฏิรูปเพราะยุทธศาสตร์ชาติมีไว้สำหรับดองประเทศ แต่ทีนี้สว. ชุดที่ผ่านมาก็ไม่ได้ไปดูว่ามีการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและลงโทษเนื่องจากว่าผู้ที่ใช้อำนาจเป็นพวกเดียวกัน ถ้าเราเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง สมมติเป็นในช่วงที่ผ่านมา ป่านนี้สว. อาจจะเล่นงานจนถอดถอนรัฐมนตรี ถอดถอนนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เนื่องจากไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่โดยรวมๆ ระบบนี้มันให้อำนาจสว. อย่างมากกว่าที่เคยมีมาในอดีต แต่ที่สำคัญคือว่ามาจากการแต่งตั้งด้วยเป็นระบบที่ก้าวหน้ากว่าระบบก่อนหน้านั้นนิดนึง

ก่อนหน้านั้นคือระบบที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่ประเทศไหนๆ ในโลกจะมีได้ ก็คือให้ผู้ยึดอำนาจมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยทั้งสาม ไม่ใช่แค่รับรองตุลาการปกครองสูงสุด อัยการสูงสุดเลย เขาสามารถจะปลดประธานศาลฎีกาก็ได้ สั่งปลดสั่งประหารชีวิตสั่งอะไรได้หมดโดยหัวหน้าคสช. แล้วเราอยู่กันมา 5 ปีตามระบบแบบนี้ 5 ปีจาก 2557-2562 หลังจากนั้นเราอยู่ภายใต้ระบบที่สว. มีอำนาจมากมายมหาศาลโดยที่ก็ยังมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ก็เขาได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างสมบูรณ์โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ คือว่าเขาออกแบบไว้ว่ารัฐธรรมนูญต้องจะผ่านได้จะแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องมีสว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 วิธีไม่ให้ผ่านก็ง่ายๆ นิดเดียวก็คือไม่ไปออกเสียง ไม่ออกเสียง งดออกเสียงซึ่งเขาาก็ได้ทำมาแล้ว

เพราะฉะนั้นสว. ได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างสมบูรณ์ในการที่ฝ่ายออกแบบมาเพื่อที่จะให้มีองค์กรคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งและให้มันมีอำนาจเหนือกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภามีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎรก็คือเป็นระบบที่มันก็คือไม่เป็นไปประชาธิปไตยอย่างยิ่ง อันนี้สว. ก็ได้ทำหน้าที่แล้ว ถ้าจะฝากก็ฝากว่าบางท่านที่อาจจะรู้สึกขัดต่อจิตสำนึกอยู่บ้างในการทำหน้าที่ที่ผ่านมาก็ดีใจด้วยที่จะพ้นหน้าที่ไป ส่วนท่านที่มีความสุขมากที่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ก็ขอแสดงความเสียใจด้วยที่ท่านจะพ้นไปแล้ว ในระหว่างนี้ถ้าจะขอบ้างก็คือว่าช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ช่วงที่รักษาการมันไม่มีกติกาเหมือนรัฐบาลรักษาการแต่ว่าอะไรที่ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ต้องทำจะดีกว่า

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ครับผม ก็หวังว่าอย่าเพิ่งรีบเปิดประชุม อย่าเพิ่งรีบเอาวาระเข้านะให้ชุดต่อไปที่มีความชอบธรรมเขามีความชอบธรรมกว่าไม่ได้มีมากนักหรอกก็มาเถอะนะครับ พี่ๆ อย่าเพิ่งรีบโหวตอะไรตอนนี้นะครับ

 

 

จาตุรนต์ ฉายแสง :

ประเด็นเรื่องวุฒิสภาเมื่อก่อนก็คือว่าเป็นพี่เลี้ยง สภาพี่เลี้ยง ควรจะมีสภาพี่เลี้ยงหรือไม่ ไม่จำเป็นก็ได้ ประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเมื่อก่อนก็คือว่าประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนและเพื่อให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร วิวัฒนาการที่ผ่านมามันน่าตกใจผ่านมาพอมาถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญคืออะไร รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่กฎหมายสูงสุดเพราะว่าถ้ามีผู้นำกองทัพยึดอำนาจเมื่อไหร่ศาลและศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่าอันนั้นคือรัฏฐาธิปัตย์ ก็คือมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่จะคุ้มครองยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันคือสิ่งที่มีไว้เพื่อที่จะทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของประชาชนอันนี้คือหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ แล้วบทบาทอำนาจหน้าที่ของสว. มันก็เป็นวิวัฒนาการไปทางเดียวกัน ก็คือวุฒิสภาก็มีไว้สำหรับให้แน่ใจว่าอำนาจไม่เป็นของประชาชน องค์กรที่จะมามีอำนาจเหนือฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งจะได้รับการคุ้มครองจากสว. ก็คือการรับรองก็มาจากสว. และสุดท้าย 2 อย่างที่มันวิวัฒนาการมาด้วยกันมันไปด้วยกัน ก็คือว่าวุฒิสภาเขามีหน้าที่ที่จะปกป้องรัฐธรรมนูญนี้ให้อยู่ต่อไป

ทีนี้วุฒิสภาชุดใหม่มีอำนาจต่างจากวุฒิสภาก่อนหน้านี้อยู่ก็คือเรื่องเดียวคือการเลือกนายกรัฐมนตรีนอกนั้นมีอำนาจหมดเลย อำนาจของสว. ที่มีเยอะแยะไปหมดเพื่อที่จะไม่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิ่งที่เขาทำก่อนหน้านี้คือตั้งเอาใช่ไหม แต่งตั้ง คราวนี้ที่อาจารย์ประจักษ์ อาจารย์สิริพรรณก็พูดไปแล้วว่ามันก็คือเขาออกแบบมาไม่ให้เชื่อมโยงกับประชาชน เมื่อวุฒิสภายังมีอำนาจมากขนาดนี้ เราจะทำยังไงที่จะทำให้การเลือกสว. คราวนี้มันมีความเสียหายน้อยที่สุดน้อยลงเท่าที่จะทำได้ประเด็นมันอยู่ตรงนี้

เรื่องที่ว่าควรมีสภาเดียวหรือ 2 สภาผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้และไม่ควรให้เป็นประเด็นใหญ่ในขณะนี้ เพราะอะไร เพราะว่ามันยังมีมีสว. อยู่เรามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งอยู่และในการจะแก้รัฐธรรมนูญต้องอาศัยสว. ถ้าเราบอกว่ามีสภาเดียวแล้วรณรงค์กันตอนนี้แล้วเราจะมีสว. มาร่วมแก้รัฐธรรมนูญได้หรือเปล่ามันก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที แต่ว่านะครับเรื่องว่าเมื่อไหร่ไทม์มิ่งยังไงอันนั้นมันจะเป็นเรื่องหนึ่ง

ปัญหาขณะนี้คือเรากำลังจะมีสว. ชุดใหม่และเขาออกแบบไว้อย่างที่อาจารย์ 2 ท่านพูดไปแล้ว เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพก็ไม่ใช่เพราะว่าเลือกกันเองรอบแรกโดยกลุ่มอาชีพก็จริงแต่ว่าสุดท้ายมันจะเลือกไขว้ ไขว้โดยกลุ่มอาชีพอื่น ความเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพที่สมาคมสภาวิชาชีพนั้นรับรองก็ไม่มีใคร อยากจะไปขอใบสมัครความจริงซื้อใบสมัครก็ต้องจ่าย 2,500 บาทแต่เรียกว่าเป็นขอใบสมัคร ใครไปซื้อใบสมัครได้ก็เป็นผู้สมัครและมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกคน แต่ว่ากลุ่มอาชีพอื่นที่จับสลากกันมาเพื่อเลือกกลุ่มอาชีพนี้ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าคนนั้นเหมาะจะเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพนั้นหรือเปล่า ที่สำคัญก็คือเขาไม่มีข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้นนอกจากการแนะนำตัวสั้นๆ ของผู้สมัคร อันนี้ก็คือความเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพจึงไม่มี ไม่มีความหมายว่าเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพนั้น สัดส่วนก็เป็นปัญหาอย่างที่อาจารย์สิริพรรณว่าไป สุดท้ายก็คือเรากำลังให้มีการเลือกสว. โดยที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชนเลยก็คือว่าประชาชนไม่รู้จักเลย ประชาชนไม่รู้อะไรเลยว่าทำอะไรกันอยู่ ทั้งหมดนี้คือประชาชนไม่เกี่ยวนะครับ

จริงๆ เราพูดกันอยู่ที่นั่งกันอยู่ผมนึกบางขณะผมนึกว่าผู้ที่อยู่บนเวทีนี้ควรจะไปฟังแล้วผู้ที่มานั่งอยู่ในที่นี้หลายท่านที่เตรียมจะสมัครควรจะขึ้นมาพูด เพราะอะไร เพราะเราจะมีสว. เราควรจะรู้ว่าผู้สมัครคิดยังไงนะครับ คิดยังไงนี่คือหมายความว่า อ้าว ถ้าจะเป็นตัวแทนอาชีพคุณคุณมีปัญหาอะไร แต่ว่าคุณจะไปทำอะไรให้อาชีพคุณ แต่มากกว่านั้นก็คือว่าถ้ามีการรับรองกรรมการองค์กรอิสระคุณจะใช้กติกายังไง ถ้าจะรับรองตุลาการศาลปกครองสูงสุดคุณจะใช้หลักเกณฑ์ยังไง หรือคุณจะดูว่าเห็นมีรูปไปงานแต่งงานนักการเมืองบางคนก็เลยไม่รับรองเลย เราต้องถามได้นะแต่ว่ามันมากกว่านั้น ยุทธศาสตร์ชาติคุณจะเอายังไงยุทธศาสตร์ชาติทางประชาชนต้องมีสิทธิ์รู้นะ แล้วที่สำคัญก็คือว่าคุณคิดยังไงกับการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องถามได้ไม่ใช่ว่าให้เลือกกันไปจนหมดแล้ว 200 คนเข้ามาในสภาแล้วก็พูดอะไรไปคนละทิศคนละทางโดยที่ไม่เคยบอกประชาชนไว้เลยแล้วประชาชนก็ไปตกใจอย่างมากในตอนที่รู้ว่าคนเหล่านี้มาเป็นสว.

 

 

ทีนี้เรื่องนี้ผู้ออกแบบระบบเเขาเจตนาไม่ให้เชื่อมโยง ไม่ให้เชื่อมโยงกับประชาชน เขาอาจจะกลัวว่ามีใครเข้าไปจัดการได้ พรรคการเมืองเข้าไปได้ก็เลยหาทางป้องกันไว้เยอะแต่สุดท้ายถ้าเราไปดูกับกติกาจริงๆ เราจะพบว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่จะเกิดขึ้นในการเลือกสว. นี้คือการจัดการจะเป็นจากฝ่ายการเมืองหรือนายทุนก็ตามใช้เงินน้อยกว่าการที่บางพรรคการเมืองได้ส.ส. มาซัก 50 คนด้วยซ้ำ สามารถจะหาผู้สมัครได้เป็นแสนคนเพราะว่ามันคูณด้วย 2,500 ใช่ไหมแสนคน เลือกตั้งนี่เขาพูดกันเป็นล้านๆ เสียง อันนี้จะน่ากลัวที่สุดและไม่ได้ป้องกันและสิ่งที่กกต. ทำอยู่กำลังทำให้ประชาชนไม่มีส่วนในการที่จะไปป้องกันการจัดการ การที่จะเกณฑ์กะเกณฑ์หรือจ้างผู้สมัครมาเลยเพราะประชาชนไม่เกี่ยวเลย

เพิ่มเติมยังไม่หมดคือโดยกฎหมายเขาก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญแต่ว่าพรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่เขียนว่าเขียนขึ้นมันเขียนในปี 2561 ประกาศใช้ในปี 2561 ก็คือยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็คงต้องเป็นโดยสภานิติบัญญัติ สภาสนช. ออกมามันก็จะมีร่องรอยอยู่ เช่นห้ามจงใจต้องห้ามแบบพรรคการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นจะช่วยเหลือผู้สมัครไม่ได้ เสร็จแล้วกกต. เข้ามาเขียนในระเบียบก็ล้อกันจงใจห้ามเฉพาะพวกนี้ ห้ามเฉพาะผู้ที่เชื่อมโยงกับประชาชน ผมไม่เห็นมาห้ามบอกว่าห้ามพูดพิพากษา ห้ามตำรวจ ห้ามทหาร ไม่ห้ามไม่ได้ เขียนห้ามแต่ห้ามเฉพาะผู้ที่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่ว่าในกฎหมายถ้าเราดูกฎหมายดีๆ เราจะพบว่ากกต. ออกระเบียบผมว่าเกินกว่ากฎหมาย และเกินไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่เป็นผู้สมัคร ทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไปด้วยกันหมดเลย

รัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าคุณจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อคุณจะต้องมีเรื่องความมั่นคงเรื่องอะไรต่างๆ เขาก็พลิกแพลงอาจจะเรียกว่าฉลาดแกมโกงไม่ห้ามสื่อโดยตรงแต่ห้ามผู้สมัครให้สัมภาษณ์สื่อทุกชนิด แล้วสื่อจะไปสัมภาษณ์ได้ไง เหมือนอย่างวันนี้ที่สัมภาษณ์กันไม่ได้แล้ว กฎหมายบอกว่าห้ามจูงใจให้คนมาเลือกหรือไม่เลือกด้วยเหตุอะไรเขามีบอกไว้ ห้ามจัดมหรสพ จัดงานเลี้ยง ห้ามสัญญาว่าจะให้ เขาไม่ได้ห้ามการจูงใจด้วยการพูดการแสดงความเห็นโดยสุจริต

แต่กกต. ไปออกกติกามาจนห้าม แนะนำตัวในกฎหมายบางมาตราก็บอกว่าพอไปสมัครแล้วทางอำเภอ กรรมการระดับอำเภอจะต้องประกาศให้เรื่องอย่างน้อยคืออาชีพแล้วก็ประวัติอย่างน้อยประกาศต่อประชาชนทั่วไป คำว่าอย่างน้อยและต่อประชาชนทั่วไปก็หมายความว่าทำมากกว่านั้นก็ได้แต่สิ่งที่กกต. กระทำกลับกลายเป็นว่า เรื่องไปห้ามสื่อและห้ามผู้สมัครแนะนำตัวต่อประชาชนมันก็เลยจะกลายเป็นว่าประชาชนทั้งประเทศจะไม่รู้เลยว่าเขาทำอะไรกันนะครับ เขาแนะนำตัวกันได้ก็คือเข้าไปห้ามหมดติดใบปลิวแบบสมัยโบราณโปรยใบปลิวก็ไม่ได้สื่อทุกชนิดห้ามหมด ก็เท่ากับว่าแล้วเขาก็มีว่าให้แนะนำกันได้ใน LINE ในไลน์กลุ่มแปลเป็นภาษาธรรมดาคุณเปิดไลน์กลุ่มกันได้ผู้สมัครนี่นะ แต่ว่าห้ามประชาชนทั่วไปรับรู้หมดอันนี้จึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งนะแล้วก็ทำเกินกว่ากฎหมายแล้วก็ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเรื่องห้ามสื่อคุณก็คุณก็ขัดแต่ว่าที่ขัดมากที่สุดคือขัดรัฐธรรมนูญมาตราที่ว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย คุณจะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยยังไงโดยที่เลือกกันไปโดยที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เกี่ยว

 

 

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเด็นในขณะนี้เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะลดความเสียหายอันนี้ได้ยังไง ลดอันดับแรกก็คือว่าต้องให้กกต. ซึ่งเราจะไปว่ากกต. มากก็ไม่ได้เพราะกกต. เขาไม่มีสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยอยู่ตั้งแต่ที่มาของเขา ทีนี้ระเบียบกกต. บางอันต้องแก้ต้องยกเลิกเพราะมันเกินกว่ากฎหมาย ความจริงก็คือขัดกฎหมายและไม่เป็นไปตามเจตนารมของรัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ระเบียบอันนี้ เสร็จแล้วต้องส่งเสริมให้เรียกร้องให้กกต. อนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง คนสัมภาษณ์ได้ ประชาชนแสดงความเห็นได้

กกต. ควรจะเคารพเข้าใจหลักการเรื่องเสรีภาพก็คือว่าคุณจะเลือกสว. กันประชาชนย่อมมีสิทธิ คนในอาชีพนั้นเขาควรจะมีสิทธิ์บอกว่าเออคนนี้ที่ไปสมัครผมรู้ดีว่าในอาชีพผมเขาอยู่ในอาชีพเดียวกันกับผม เขาทำตัวไม่ดีเลย เขาไม่เหมาะสมเลย เขาไม่ควรได้เป็นเป็นสว. เลยมีสิทธิ์ไหม ควรจะมีสิทธิ์ไหม ปรากฏว่าสิทธิเหล่านี้ถูกตัดไปหมดโดยความคิดแบบว่าทุกอย่างต้องประชาชนไม่เกี่ยว เราจะช่วยกันลดความเสียหายนี้ยังไง เพราะที่สำคัญมากก็คือว่าหวังอะไรจากสว. ชุดนี้หลายเรื่องเขาต้องไปทำแต่เรื่องสำคัญที่สุดก็คือว่าเราต้องอาศัยเขาในการแก้รัฐธรรมนูญ เราควรจะรู้ว่าเขาคิดยังไงกับการแก้รัฐธรรมนูญ แล้วควรจะได้คนที่ไม่ต้องไปอยู่ใต้อามิสสินจ้างหรือไปถูกช้อนทีหลัง เขาก็ควรจะมาพูดกับเรา เราในที่นี้คือประชาชนพูดเสียก่อน ไม่ใช่เลือกไปแล้วค่อยรู้ว่าเขาคือใคร

 

จาตุรนต์ ฉายแสง :

คือถ้าเราจะฝากอะไรกับสว. ในอนาคตที่จะเข้ามา ตอนนี้ก็เหมือนนั่งภาวนาเพราะว่ามันไม่มีวิธีจะสื่อสารกับเขามันไม่เชื่อมโยงกัน เราก็ยังไม่รู้เลยว่าใครจะมาเป็นแล้วเสียงที่เราเรียกร้องไปมันจะไปถึงเขายังไง แต่ว่าถามว่าคาดหวังอะไรจากสว. ชุดหน้านี้ สว. ชุดหน้ายังไงก็ดีกว่าชุดที่กำลังจะหมดอายุไป เพราะว่าเขาไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรัฐประหารในแง่นี้น่าจะดีกว่า แต่ปัญหาใหญ่ในเวลานี้คือไม่เชื่อมโยงกับประชาชน สว. วุฒิสภาจะไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ถ้าจะให้สว. ชุดใหม่นี้ทำประโยชน์ให้กับประชาชนมันต้องให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนให้มากเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในอนาคตก็ต้องมีว่าประชาชนจะไปเรียกร้องต่อสว. ได้ยังไง สื่อสารกับสว. ได้ยังไงนั้นในอนาคต แต่มันต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ผมคิดว่าถ้าจะให้เกิดผลได้บ้างก็คือว่าต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเชื่อมโยงกับสว. ก็คือรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกสว. กกต. ควรจะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องอย่างระเบียบข้อ 11 วงเล็บ 2 ที่บอกว่าผู้ประกอบอาชีพวิทยุ สื่อมวลชน สื่อโฆษณาห้ามใช้ความสามารถหรือวิชาชีพเพื่อประโยชน์ในการแนะนำตัว ท่านที่เป็นสื่อเข้าใจยังไง เข้าใจว่าห้ามท่านแนะนำตัวใช่ไหม เอื้อในการแนะนำตัว ความจริงไม่ใช่ ระเบียบนี้เขาห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยผู้สมัคร ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ผู้ช่วยเหลือผู้สมัครคือใครต้องเป็นผู้ที่ผู้สมัครยินยอมเพราะฉะนั้นสื่อคนใดคนหนึ่งจะทำหน้าที่แนะนำ เช่นไปรวบรวมมาว่าในอำเภอต่างๆ มีใครเป็นผู้สมัครบ้าง อาชีพอะไร อายุเท่าไหร่และแนะนำตัวไว้อย่างไรเผยแพร่ทั่วไป ถ้าผมอ่านตามระเบียบนี้ทำได้ แต่กกต. ควรจะทำให้ชัดเจน

อีกอันหนึ่งคือกกต. ต้องยกเลิกระเบียบในเรื่องที่ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิ้ลทีวี สื่อต่างๆ อันนี้เกินต่อกฎหมาย ต้องยกเลิกระเบียบข้อนี้และเปิดโอกาสให้สัมภาษณ์สื่อได้ พูดคุยได้เราควรคาดหวังอะไรจากวุฒิสภาชุดใหม่นะครับ หวังให้เขาทำหน้าที่ต่างๆ ซึ่งมีอำนาจเยอะแยะให้ดีอันนี้แน่นอน แต่ว่าจะหวังมากยังไงในเมื่อไม่เชื่อมโยงประชาชน ผมว่าเราควรจะร่วมกันคาดหวังและพยายามผลักดันให้ได้สว. อย่างน้อย 67 คนขึ้นไป ที่พร้อมจะสนับสนุนยกมือผ่านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้นตรงนี้ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับการคัดเลือกสว. มีความสำคัญมากและผมยังหวังว่าในช่วงเวลาสั้นๆ จากวันที่ 11 ที่เขาประกาศราชกิจจาฯ ไปจนถึงวันเลือกในระดับประเทศ กกต. จากวันใดวันหนึ่งแก้ซะแล้วก็ส่งเสริม ผู้จัดรายการนี้ถามผมว่าอยากให้พูดว่ารัฐบาลควรทำอะไรในเรื่องนี้ รัฐบาลพรรคการเมืองตามระเบียบตามกฎหมายแทบทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าถามผมอยากให้รัฐบาลทำอะไร รัฐบาลควรจะเปิดให้สื่อของรัฐ ทีวีของรัฐทั้งหมดทุกช่องเชิญผู้สมัครมาสัมภาษณ์ แนะนำตัวเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ให้ใช้มหาวิทยาลัย ให้ใช้โรงเรียน ให้ใช้ค่ายทหาร ให้ใช้ที่ราชการทั้งหลายในการรณรงค์และแนะนำตัวได้ทั่วประเทศ พูดอย่างนี้เหมือนเพ้อฝันหรือเปล่า ไม่เพ้อฝันถ้ากกต. แก้ระเบียบแล้วรัฐบาลทำอย่างนี้จะทำให้สว. ชุดใหม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและเรายังพอหวังได้ว่าจะเกิดการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นด้วยการสนับสนุนของสว. อย่างน้อย 67 คนขึ้นไป

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับ กกต. แก้ระเบียบหน่อย รัฐบาลรับเรื่องหน่อยนะครับ สื่อรับหน่อยนะครับ นึกถึงเพื่อนคนหนึ่งช่วงนี้ไม่ค่อยเห็นหน้า ไหนๆ ก็จะอยู่กันอีกไม่นานแล้วอยากให้ช่วยกันหน่อยนะครับ Voice TV ช่วยกันหน่อย ขอบคุณครับ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=feXERmBEXlc

 

ที่มา : เสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 : PRIDI Talks #25 เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.