ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

29
มีนาคม
2566

ในสุนทรพจน์ที่ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาแสดงในโอกาสต่างๆ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก ก็มีข้อความหลายตอนที่ควรจะได้พิมพ์ขึ้นไว้เพื่อเป็นอนุสสรณ์ แก่ผู้กล่าว

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 4 ของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉะบับถาวร ท่านเชษฐบุรุษได้กล่าวคำปราศัยแก่ประชาชนชาวไทยทางวิทยุกระจายเสียง และในโอกาสนี้ได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญไว้ดั่งนี้:-

 

“การปกครองตามระบอบนี้ ได้ให้สิทธิเสมอภาค และเสรีภาพแก่ประชาชนพลเมืองทั่วๆ ไป ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใดหามิได้ ดำเนินวิธีการปกครองเป็นสายกลาง ไม่หนักหรือเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด เป็นการปกครองที่มีระเบียบแบบแผนอย่างละเอียดละออ จึงทำให้เป็นการยากที่จะปฏิบัติให้เพียบพร้อมในชั้นต้นๆ แต่ถ้าพลเมืองของเราได้เคยชินแก่การปกครองตามระเบียบนี้แล้ว กิจการของชาติก็จะเดินก้าวหน้าไปอย่างสะดวกดาย ทั้งกลับจะนำผลดีมาสู่ประเทศชาติที่รักและประชาชนพลเมืองเป็นอย่างมากอีกด้วย

การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าลองคิดเปรียบเทียบดูกับนิสสัยใจคอของพลเมืองแห่งชาติ ก็พอจะทราบได้ดีว่า พลเมืองของประเทศสยามมีสายโลหิตสืบเนื่องมาจากคนชาติไทยแต่ครั้งโบราณกาล เป็นบุคคลที่ชอบอิสสระภาพ และเสรีภาพมาแต่ดั้งแต่เดิม จึ่งได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย” หมายความว่า เป็นที่มีอิสสระเสรีแก่ตัว ไม่มีจิตต์ใจเป็นทาษ หากในครั้งกระโน้น เขาได้ถูกรังแกรบกวนหนักเข้าก็มิสามารถจะสู้รบปรบมือกับศัตรูของเขาได้ โดยที่มีกำลังและความสามารถน้อยกว่า จึ่งได้พากันอพยพมาหาที่ๆ จะทำมาหากินใหม่ ครั้นได้ภูมิลำเนาที่เหมาะแล้วจึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเอกราชปกครองกันเองสืบตัวมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และยังรู้สึกตัวว่าเป็นไทยอยู่ร่ำไป ฉะนั้นจึ่งเห็นได้ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเหมาะสมแก่นิสสัยใจคอของพวกเราชาวสยามอยู่แล้ว

สยามเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักชัยประจำอยู่ มุ่งแต่จะอบรมสั่งสอนให้บุคคลประพฤติไปในทางศีลธรรม ประกอบกิจแต่ในทางคุณงามความดีอันแท้จริงเท่านั้น มิได้มีการก้าวร้าวต่อศาสนาใดๆ เป็นศาสนาที่ให้อิสสระเสรีแก่ประชาชนเต็มที่ การแผ่ศาสนาก็กระทำไปในทางเห็นดีเห็นชอบและศรัทธาของผู้ที่จะนับถือ ไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญใครแต่อย่างใดเลย ใครจะสามารถประพฤติศีลธรรมได้ เพียงใดแค่ไหน ก็แล้วแต่กำลังความสามารถของผู้นั้น ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว การปกครองคณะสงฆ์นั้นเล่า ก็ดำเนินไปคล้ายระบอบรัฐธรรมนูญ จึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเหมาะสมแก่การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง

คราวนี้ถ้าเราลองคิดเปรียบเทียบหลักการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญกับทางแง่พระมหากษัตริย์บ้าง จะมีทางได้ทางเสียอย่างไร ถ้าจะคิดดูแต่เพียงเผินๆ แล้ว ก็เห็นไปว่าเป็นการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ถ้าหากเราได้คิดไปให้ซึ้งกว่านั้นสักหน่อย คิดถึงว่ามนุษย์ก็ดี สัตว์ต่างๆ ก็ดี ทุกๆ อย่างจะต้องอยู่ในอำนาจแห่งกฎธรรมชาติและธรรมบัญญัติทั้งนั้น หามีผู้ใดสิ่งใดอยู่นอกเหนือไปได้ไม่ เมื่อคนทุกๆ คนไม่ได้อยู่เหนือกฎแห่งธรรมชาติและธรรมบัญญัติแล้ว และทุกคนได้อาศัยทำมาหากินอยู่ในประเทศแล้ว ทุกๆ คนก็ควรอยู่ใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระเบียบแบบแผนของปวงชนและเป็นกฎหมายอันสูงสุดของประเทศได้

การอยู่ในบังคับแห่งระเบียบแบบแผนและกฎหมายนั้น ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติและธรรมบัญญัตินั่นเอง กับทั้งเป็นการชอบด้วยอุปนิสสัยของชาติไทยเราด้วย เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า นิสสัยใจคอของพวกเรารักความเป็นไทย รักในการปกครองกันเอง รักในการมีสิทธิและเสรีภาพทั่วๆ ไปโดยสม่ำเสมอ แต่หากว่าการอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากๆ นั้น ถ้ามิได้จัดให้มีระเบียบการปกครองเสียเลย ก็จะมีการปั่นป่วนยุ่งเหยิงกันใช่น้อย ฉะนั้นท่านจึ่งวางบทบัญญัติต่างๆ ไว้ และจัดให้มีเจ้าหน้าที่สำหรับปกครองกันตามลำดับ และทุกๆ คนมีอิสสระภาพและเสรีภาพภายในขอบเขตต์จำกัดแห่งกฎหมายนั้นๆ ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ซึ่งสืบสายพระโลหิตมาจากเจ้านายไทย จึ่งสมควรอยู่เองที่จะมีน้ำพระราชหฤทัยเป็นไทย เมื่อถึงคราวที่เห็นว่าพลเมืองพอสมควรที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญได้แล้ว ก็ทรงผ่อนผันให้ตามกาลสมัยด้วยน้ำพระราชหฤทัยประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 ดังปรากฏอยู่แล้วในเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน และ วันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2479 นั้น

อีกนัยหนึ่ง สำหรับการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า ถ้าหากพวกเราชาวสยามมีความเคารพรักและบูชารัฐธรรมนูญว่าเป็นมิ่งขวัญของประเทศชาติโดยจริงใจด้วยกันแล้ว ทำอย่างไรพระราชบัลลังก์ของพระบรมราชวงศ์จักรีก็ต้องมั่นคงไม่สั่นสะเทือน ส่วนการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเสียอีก ได้เคยเกิดมีการเปลี่ยนวงศ์พระมหากษัตริย์กันไม่น้อย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร โดยเหตุนี้จึ่งได้ทำความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในประเทศ บางครั้งถึงกับทำให้อาณาประชาราษฎร์มีความเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากินอย่างปกติสุข การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้นองค์พระมหากษัตริย์มีแต่พระมหากรุณาธิคุณอย่างเดียว และถึงจะทรงใช้พระราชอำนาจก็แต่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากปวงชนชาวสยาม ส่วนกิจการในทางปกครองก็มีคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ ส่วนอำนาจในทางศาลก็มีศาลยุตติธรรมกอร์ปด้วยคณะข้าราชการตุลาการรักษาหน้าที่อยู่ อำนาจนิติบัญญัตินั้นเล่าก็เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีอันที่จะต้องกะทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์ โดยเหตุนี้ จึงเห็นว่าเป็นการแน่นแฟ้นสำหรับพระราชบัลลังก์มากกว่าการปกครองระบอบเก่า และอาณาประชาราษฎร์ก็ได้อาศัยพึ่งพระบารมีโดยความร่มเย็นเป็นสุขสืบต่อไป

พระเจ้าฟรีเดริคมหาราชแห่งประเทศปรุสเซียในเยอรมันนีนี้ได้เคยทรงเผยแพร่ไว้ว่า การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น เป็นการปกครองที่พระเจ้าแผ่นดินทรงรับผิดชอบแต่พระองค์เอง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นยอดเยี่ยมก็ทำให้กิจการแผ่นดินก้าวหน้าขึ้นสู่ความเจริญโดยรวดเร็ว ถ้าหากว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงปกครองอยู่นั้นมีพระปรีชาสามารถแต่พอประมาณ ก็พอทำให้ประเทศนั้นทรงตัวไปได้ แต่ถ้าหากตรงกันข้ามก็เป็นอกุศลกรรมของประเทศนั้น ฉะนั้นพระองค์ท่านจึ่งทรงเห็นการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญเป็นเหมาะแก่การปกครองประเทศ นี่เป็นการกล่าวเผยแพร่โดยทั่วๆ ไป หาได้กล่าวเจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่งโดยฉะเพาะไม่ แต่การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใคร่จะดำเนินไปอย่างโลดโผนว่องไวก็จริงอยู่ เพราะการปกครองโดยคณะซึ่งมีคนหลายคนร่วมงานกัน ต่างคนต่างก็มีความคิดความเห็นด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อได้กลั่นร้อยกรองความคิดความเห็นนั้นเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะได้ความคิดความเห็นที่แน่นแฟ้นรอบคอบแห่งส่วนรวม ส่วนกิจการก็ดำเนินไปโดยอาการสม่ำเสมอไม่ถอยหลัง เพราะเหตุที่มีสภาผู้แทนราษฎรคอยควบคุมกิจการงานของแผ่นดินอยู่ สิ่งใดที่เห็นว่าล่าช้าหรือไม่ค่อยดำเนินไปโดยดีก็คอยท้วงติง จี้ไช ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้เป็นแต่ความคิดความเห็นของข้าพเจ้าประกอบกับการหาหลักฐานมาอ้างให้ฟังพอเป็นสังเขปเท่านั้น ขอท่านผู้ฟังทั้งหลายจงวินิจฉัยเอาเองเถิด”

 

ที่มา : พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง, 2490), หน้า 41 - 46.