ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เขตแดน พรมแดน และชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา

14
พฤศจิกายน
2567

Focus

  • บทความนี้ได้นําเสนอพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ผ่านความหมายและคำจำกัดความของคำว่า “เขตแดน พรมแดน และชายแดน” โดยอธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการปรากฏตัวขึ้นของเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ตลอดจนอนุสัญญา สนธิสัญญา และข้อตกลงฉบับต่าง ๆ ที่นํามาซึ่งการกําหนดและปักปันเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ในท้ายที่สุดได้นําเสนอวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทยกับกัมพูชาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเสนอความหมายที่ประชันกันอยู่ของเส้นเขตแดนไว้อีกด้วย

 

เราไม่ควรมีความคิดเรื่องถือผิวหรือเชื้อชาติ แต่ควรยึดมั่นในความคิดที่ชนทุกชาติอยู่ร่วมกัน อย่างสันติในโลกได้

ปรีดี พนมยงค์
ผู้ริเริ่มแนวคิด “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Southeast Asia League)”
เมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2490/ค.ศ. 1947

 

บทนำ

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510/ค.ศ. 1967 มีการลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)” ว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในนาม “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations)” หรือ “อาเซียน (ASEAN)” โดยมีประเทศสมาชิกเริ่มแรก 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2527/ค.ศ. 1984 บรูไน ได้เข้าเป็นสมาชิกลําดับที่ 6 และปี พ.ศ. 2538/ค.ศ. 1995 เวียดนาม ได้เข้าเป็นสมาชิกลําดับที่ 7 และในปี พ.ศ. 2540/ค.ศ. 1997 ลาว กับ พม่า ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกลําดับที่ 8 กับ 9 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2542/ค.ศ. 1999 กัมพูชา จึงได้เข้าร่วมเป็นประเทศ สมาชิกลําดับที่ 10 ซึ่งในปัจจุบัน อาเซียนมีเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้บริหาร สํานักงานที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

อาเซียนเกิดขึ้นในยุคแห่งการเผชิญหน้าทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นองค์การความร่วมมือทางภูมิศาสตร์การเมือง และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธํารงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ จนกระทั่งในยุคปัจจุบันอาเซียนมี “กฎบัตรอาเซียน (Asian Charter)” ซึ่งเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีที่ทําร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ลงนามอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551/ค.ศ. 2007 เป็นเครื่องมือในการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดําเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนการรวมตัวเป็น “ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)” ในปี พ.ศ. 2558/ค.ศ. 2015

อย่างไรก็ตาม อาจมีคําถามตามมามากมายว่า ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย และความไม่เท่าเทียมกันของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ย่อมเป็นอุปสรรคต่อ “ประชาคมเดียวกัน” เพราะหากอาเซียนจะกลายเป็นประชาคม “ไร้พรมแดน (borderless)” ทำไมในปัจจุบันจึงมีข้อพิพาทและปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอยู่มากพอสมควร

ที่ต้องเริ่มต้นกล่าวถึงอาเซียน เนื่องจากการศึกษาประเด็น เขต แดน พรมแดน และชายแดน ระหว่างสยาม/ไทยกับกัมพูชา นั้น มีความละเอียดอ่อนและค่อนข้างขึ้นอยู่กับภาวะวิสัย (subjectivity) ของผู้ศึกษาโดยตรง ดังที่ปรากฏว่ามีผู้ผลิตงานเขียนและหนังสือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากพอสมควร ทั้งนี้งานเขียนและหนังสือเหล่านั้น ล้วนมีการ “ตั้งธง” เพื่อจุดประสงค์ประการใดประการหนึ่ง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่การตีความและการนําเสนอจะมีการ “เลือกไม่ใช้” หรือ “เลือกใช้” ข้อมูล เอกสาร หลักฐานต่าง ๆ แตกต่างกัน

ในปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่เรื่อง “โลกไร้พรมแดน (borderless world)” ส่งผลให้ “เส้นเขตแดน” ถูกลดความความสําคัญลงไป ทั้งนี้เพราะเขตแดนแบบใหม่ในรูปของอินเตอร์เน็ตและโลกไซเบอร์ (cyber space) ดูเหมือนว่าจะทําให้เส้นแบ่งเขตแดนค่อย ๆ เปิดออก จนกระทั่งหายไปหมดสิ้น รวมทั้งปรากฏการณ์ที่ประเทศต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป (European Union) ก็ทําให้ทั้งโลกเห็นว่า “เขตแดนระหว่างรัฐชาติ” กลายเป็นเรื่องไม่สําคัญอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากการที่ประชากรของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปสามารถเดินทางข้าม “เส้นเขตแดน” ได้อย่างอิสระ

แม้ว่าในปัจจุบัน เรากําลังเผชิญหน้าอยู่กับแนวคิดเรื่องโลกไร้พรมแดนที่หมายถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่แท้จริงแล้ว เรายังอยู่ในโลกที่มี “เส้นเขตแดน” อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทรงอิทธิพลและมีส่วนอย่างยิ่งในการบงการความรู้สึกนึกคิดของเรา เส้นเขตแดนประเภทนี้ไม่ได้จํากัดอยู่แต่เฉพาะขอบเขตทางภูมิศาสตร์ระหว่างรัฐชาติ และไม่จําเป็นต้องเป็นสิ่งปลูกสร้างทางด้านกายภาพ เช่น รั้ว หรือกําแพง เพราะเราไม่สามารถมองเห็น “เส้นเขตแดน” ประเภทนี้ด้วยตาเปล่า แต่กลับมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตประจําวันของเรา คอยกําหนดขอบเขตว่าอะไร “ถูกนับรวม” หรือ “ไม่ถูกนับรวม” อยู่ในกลุ่ม ก่อให้เกิดคําว่า “พวกเรา” และ “ที่นี่” ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตามที่อยู่ภายในเส้นเขตแดน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดคําว่า “พวกเขา” และ “ที่โน่น” กับทุกสิ่งที่อยู่พ้นออกไปจากเขตแดนของเรา ทําให้เกิด “การกําหนดเส้นเขตแดน” เพื่อการบริหารจัดการอํานาจของรัฐ และเพื่อความต่อเนื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยให้ “ฝ่ายเรา” ได้รับมากที่สุด โดยไม่คํานึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ “ฝ่ายเขา” นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่า “เส้นเขตแดน” เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายผู้คน ทุน สินค้า และบริการ รวมทั้งเป็นเครื่องกีดขวางทางความคิด ความรับรู้ ความรู้ และจินตนาการอีกด้วย[1]

บทความนี้ได้นําเสนอพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ผ่านความหมายและคำจำกัดความของคำว่า “เขตแดน พรมแดน และชายแดน” โดยอธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการปรากฏตัวขึ้นของเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ตลอดจนอนุสัญญา สนธิสัญญา และข้อตกลงฉบับต่าง ๆ ที่นํามาซึ่งการกําหนดและปักปันเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ในท้ายที่สุด จะได้นําเสนอวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตาม แนวชายแดนไทยกับกัมพูชาในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังจะได้นําเสนอความหมายที่ประชันกันอยู่ของเส้นเขตแดน เนื่องจากในด้านหนึ่ง “เส้นเขตแดน” คือ สัญลักษณ์ของการแบ่งแยกระหว่าง “พวกเรา” กับ “พวกเขา” และ “ที่นี่” กับ “ที่โน่น” หรือ “ภายใน” กับ “ภายนอก”

แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า การเปิดออกของพรมแดนระหว่างประเทศ จะสามารถลดอคติและความขัดแย้งระหว่างกันและกันลงได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า สําหรับผู้คนที่เคยได้ไปเยี่ยมเยือนบริเวณแนวชายแดนและผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน เส้นเขตแดนได้ถูกลดความหมายและความสําคัญในฐานะ “รั้ว” หรือเครื่องขีดกั้นระหว่างประเทศ แต่กลับกลายมาทําหน้าที่เช่นเดียวกับ “ประตู” ที่นําไปสู่การหันหน้าเข้าหากัน

หากบทความนี้ไม่ได้เป็นการค้นพบข้อมูลใหม่แต่อย่างใด เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่นํามาจากงานศึกษาของนักวิชาการที่ได้ศึกษามาแล้ว เพียงแต่หนังสือเล่มนี้จะได้นําข้อมูลและแนวคิดเหล่านั้นมาร้อยเรียง เพื่ออธิบายแต่เฉพาะเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชาให้ชัดเจนทันเหตุการณ์ และเพื่อสร้างความสมานฉันท์และความเข้าใจอันดีต่อกันภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายตามกรอบความร่วมมืออาเซียน (ASEAN) ที่จะมุ่งไปสู่ความเป็น “ประชาคมเดียวกัน”

 

คํานิยามและความหมายของเขตแดน พรมแดน ชายแดน

Boundary refers to a line,while frontier refers to a zone.
เขตแดนเกี่ยวข้องกับเส้น, ในขณะที่พรมแดนเกี่ยวข้องกับพื้นที่

J. R. V. Prescott
The Geography of Frontiers and Boundaries (1965, 30)

หากจะให้คํานิยามของคําว่า เขตแดน พรมแดน และ ชายแดน เราอาจสรุปให้เข้าใจง่ายโดยอนุโลมตามนิยามของ J. R. V. Prescott ที่ว่า “เขตแดน” คือ “เส้น” และ “พรมแดน” คือ “พื้นที่” ตรงกับที่ปรากฏ อยู่ใน พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. 2549/ค.ศ. 2006 และ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. 2545/ค.ศ. 2002 ซึ่งได้ให้ความ หมายของคําว่า เขตแดน พรมแดน และ ชายแดน ดังนี้

เขตแดน

boundary; boundary line เส้นแบ่งเขต : เส้นสมมติที่กําหนดขึ้นเป็นขอบเขตของหน่วยการปกครองหรือบริเวณพื้นที่ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เส้นแบ่งเขตอําเภอ เส้นแบ่งเขตจังหวัด เส้นแบ่งเขตดิน เส้นแบ่งเขตภูมิอากาศ ในกรณีที่เป็นเส้นแบ่งเขตประเทศ นิยมเรียกว่า เส้นเขตแดนระหว่างประเทศ [มีความหมาย เหมือนกับ march; mark]”[2]

เขตแดนระหว่างประเทศ (international boundary) หมายถึง เส้นสมมุติที่กำหนดขึ้นโดยประเทศทวิภาคี เพื่อเป็นขอบเขตและรู้ว่าอํานาจอธิปไตยของตนหรือของประเทศนั้นได้มาสิ้นสุดที่เส้นสมมุตินี้ เส้นสมมุติดังกล่าวอาจกําหนดขึ้นบนแผนที่หรือแผนผัง หรือแสดงด้วยคําพรรณนาเป็นลายลักษณ์อักษร หรืออาจแสดงเป็นหลักฐานบนพื้นดินก็ได้”[3]

พรมแดน

frontier แนวพรมแดน : พื้นที่ซึ่งคาบเกี่ยวไปตามเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศ” (ราชบัณฑิตยสถาน 2549, 249)

แนวพรมแดน (frontier) หมายถึง พื้นที่ซึ่งมีความคาบเกี่ยว ทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งพื้นที่คาบเกี่ยวนี้จะไปตามเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ โดยไม่มีข้อกําหนดแน่ชัดว่าจะต้องอยู่ลึกเข้าจากเส้นเขตแดนด้านละเท่าใด” (ราชบัณฑิตยสถาน 2545, 11)

ชายแดน

border ชายแดน : พื้นที่ต่อเนื่องกับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่ง”[4]

ชายแดน (border) หมายถึง พื้นที่จากเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเข้าไปในดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่มีข้อกําหนดว่าจะลึกเข้าไปเท่าใด”[5]

แนวความคิดทางภูมิศาสตร์ของดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอาณาจักรต่าง ๆ แต่เดิมยังไม่มีแนวคิดเรื่อง “เส้นกั้นอาณาเขต (Boundary/Borders)” มีแต่แนวความคิดเรื่อง “แดนต่อแดน (Frontiers)” ซึ่งหมายถึง “เครื่องชี้ว่า ณ อาณาบริเวณนั้นเป็นเขตปลอด อํานาจรัฐ หรืออํานาจปกครอง หรือแม้ถ้าไม่ปลอดอํานาจรัฐโดยสิ้นเชิง ก็เป็นเขตที่อํานาจรัฐเบาบาง และแผ่ไปอย่างไม่สม่ําเสมอ ไม่ต่อเนื่อง ลักษณะของอาณาบริเวณชนิดนี้ก็คือ เป็นพื้นที่ป่าเขาลําเนาไพร หรือเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือเป็นที่ที่ไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ด้วยเหตุที่เป็นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์

ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลาย ๆ สาเหตุที่กล่าวมา พื้นที่ที่เป็น “แดนต่อแดน” ไม่จําเป็นต้องอยู่ตามชายแดนของรัฐ เสมอไป แต่อาจอยู่ระหว่างเมืองหนึ่งกับอีกเมืองหนึ่งใกล้ๆ กับศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งของกลไกของอํานาจรัฐก็ได้ (เช่น ชายทุ่งทางด้านเหนือของกรุงเทพฯ ก่อนที่จะมีการขุดคลองรังสิตในสมัยรัชกาลที่ 5) แนวคิดเรื่อง “แดนต่อแดน” เป็นประเด็นที่สะท้อนลักษณะเฉพาะของอํานาจรัฐและการปกครองในระบอบบรมราชาธิราช”[6]

จากนิยามและความหมายของ เขตแดน พรมแดน และ ชายแดน เราจะพบว่า คำทั้งสามมีลักษณะร่วมกัน กล่าวคือ เกิดจากการตกลงกัน ระหว่างรัฐ 2 รัฐขึ้นไป โดย “สมมติ” เส้นขึ้น เพื่อกําหนดขอบเขตบนอาณาบริเวณพื้นที่รอยต่อของอํานาจอธิปไตยระหว่างกัน ทําให้เราอาจกล่าวได้ว่า ช่วงระยะเวลาก่อนหน้าและหลังจากที่มีการกําหนด “เส้นสมมติ” ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยต่อสิ่งที่อยู่ “ภายใน” และ “ภายนอก” ขอบเขตอํานาจของรัฐทั้งหลาย ทั้งนี้ “เส้นสมมติ” ดังกล่าว ย่อมจะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่อยู่ “คนละฝั่ง” ของ “เส้นสมมติ” นั่นเอง

 

การคลี่คลายและความเปลี่ยนแปลง “มโนทัศน์” เกี่ยวกับเส้นเขตแดน

สําหรับข้าพเจ้า ความรู้สึกชาตินิยมกับข้อเท็จจริง ทางประวัติศาสตร์นั้น รู้สึกว่าบางครั้งก็อาจจะขัดกัน; ในบทความนี้จึงเริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์, มิได้เริ่มต้นจากความรู้สึกชาตินิยม, มิได้ปิดประตูตาย สําหรับความหมายที่ร้าย และเปิดประตูต้อนรับเฉพาะ ความหมายที่ดีด้านเดียว

จิตร ภูมิศักดิ์

จาก “คํานํา” ใน ความเป็นมาของคําสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ

ฉบับสมบูรณ์ กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์ศยาม, 2544, (18)

 

เอาเข้าจริงแล้ว “เส้นเขตแดน” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งจะถูกกําหนดให้มีขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ของสิ่งที่เรียกว่า “แผนที่” เป็นเครื่องกําหนดอาณาเขตอํานาจทางการเมืองระหว่างผู้ปกครอง กลุ่มต่าง ๆ ให้ชัดเจน มั่นคง ตายตัว ตามรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ที่เรียกว่า “รัฐชาติ หรือ รัฐประชาชาติ (Nation-State)” แต่ก่อนหน้าที่จะมีการกําหนดและการปักปันเขตแดนในรูปแบบของการทําแผนที่สมัยใหม่นั้น ผู้ปกครองกลุ่มต่าง ๆ เช่น อาณาจักรทั้งหลาย มักรับรู้ปริมณฑลอำนาจของตนว่า ครอบคลุมพื้นที่ไม่ชัดเจนและไม่มั่นคง เพราะขอบเขตอํานาจอาจเปลี่ยนแปลงขยายกว้างออกหรือหดแคบเข้า มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับอํานาจบารมีและอิทธิพลทางการทหาร และในบางครั้งพรมแดนอาจผลัดเปลี่ยนไปอยู่ใต้อํานาจของอาณาจักรอื่น ๆ ได้ หรือบางพื้นที่อาจไม่มีอิทธิพลอํานาจของอาณาจักรใดเลยที่จะเคยแผ่เข้าไปถึงมาก่อน

กล่าวแต่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุคก่อนที่จะมีการกําหนดและการปักปันหลักเขตแดนที่แน่นอนตายตัว ก็มีความรับรู้แต่เพียงว่า อํานาจจากศูนย์กลางครอบคลุมไปยังอาณาบริเวณใดบ้าง ดังตัวอย่างที่ปรากฏในบทสวดไหว้เจ้าปู่ของชาวไท/ลาวโซ่ ที่ระบุชื่อของดินแดนสําคัญ ๆ ซึ่งดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ ความว่า “...เจ้ามเหศักดิ์ หลักคุณ เจ้าที่เจ้าฐาน เจ้าละวงศ์คงเขต เจ้าภูค้อผาแดง ผาลับผาเปือย...เหล่าแม่นาง ยางสามต้น อ้นสามขวย....ผาเมือง ภูป่าซาน ด่านแต้ ภูหลักทอดยอดยัง ทางใต้หลี่ผี ทางเหนือผาไดผาด่าง ทางปีกข้างอยุธยา ไม้หนึ่งแดนแกว…”

ข้อความในบทสวดดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับตํานานอาณาจักรศรีโคตรบูร ที่ระบุเขตแดนของตนเอาไว้ว่า “...ตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวย หลวยใส่ ภูทอก ตอกใส่ภูเขียว เหลียวใส่ภูผาเม็ด เบ็ดใส่วังหลง วงใส่วังแมงก่าเบื้อ ลีเลือใส่อวนตาล พานใส่กวนตอ งอใส่กวนเหมือด เหลือดใส่กวนพาน สักขยานใส่วังทะฮาน...”

นอกจากนี้ ยังปรากฏคําว่า “ยางสามต้น อันสามขวย หลักทอด ยอดยัง” ในการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ของนครจําปาสัก ในปี พ.ศ. 2256/ค.ศ. 1713 เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรกับพระครูโพนสะเม็ก (ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา) จัดให้เจ้านายไปปกครองบ้านเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับนครจําปาสัก โดยกําหนด “...ให้จารย์แก้ว ไปตั้งรักษาบ้านทุ่ง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทุ่ง รักษาเขตแดนฝ่ายเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวย หลักทอดยอดยัง ตะวันออก...[7]

หากพิจารณาตัวอย่างทั้งสามที่กล่าวมาแล้ว จะพบว่า คําต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อระบุเขตแดนในสมัยโบราณ สามารถอธิบายได้ตามที่ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. 2545/ค.ศ. 2002 กล่าวว่า ลักษณะของเส้นเขตแดนมี 2 ประเภท คือ เส้นเขตแดนที่ยอมรับกันโดยพฤตินัย (non-agreement boundary) และเส้นเขตแดนที่กําหนดอย่างเป็นทางการ (agreement boundary) โดยมีคําอธิบาย ดังนี้

เส้นเขตแดนที่ยอมรับกันโดยพฤตินัย หมายถึง เส้นเขตแดนระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับโดยพฤตินัย ประเทศคู่ภาคีไม่มีการทําความตกลง อย่างเป็นทางการซึ่งกันและกัน มีเพียงเจ้าหน้าที่และราษฎรในท้องถิ่นเท่านั้นที่รู้ว่าเส้นเขตแดนของตนอยู่ที่ใดโดยอัตโนมัติ

เส้นเขตแดนที่กําหนดอย่างเป็นทางการ หมายถึง เส้นเขตแดนที่ประเทศที่มีดินแดนต่อเนื่องทําความตกลงกันอย่างเป็นทางการ โดยความตกลงนั้นจะทําในรูป ของเอกสารประกอบข้อตกลง ได้แก่ สนธิสัญญา (treaty) อนุสัญญา (convention) พิธีสาร (protocol) ข้อตกลง (agreement) บันทึกวาจา (process verbal) ปฏิญญา (declaration) บันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding) รวมทั้งการแสดงเส้นเขตแดนบนแผนที่ไว้ด้วย การกําหนดเขตแดนเป็นทางการนี้ ผู้แทนที่ได้รับอํานาจเต็มจากรัฐบาลจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจก่อน จึงจะมีอํานาจในการลงนามในเอกสารหรือแผนที่ดังกล่าวแล้ว แต่เอกสารหรือแผนที่นี้ไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ จนกว่ารัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการลงนามรับรองและแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกันอีกครั้งหนึ่ง” [8]  

คําต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการระบุเขตแดน ล้วนเป็นชื่อเฉพาะซึ่ง “คนท้องถิ่น” เข้าใจและรับรู้ว่าตั้งอยู่บริเวณใด ดังนั้น ความรับรู้เรื่อง “เส้นเขตแดน” ของผู้คนในดินแดนแถบนี้ มักเป็นเส้นเขตแดนที่ยอมรับกัน โดยพฤตินัย เช่น ยางสามต้น อันสามขวย ก็น่าจะเป็นบริเวณที่มีต้น ยางนาสามต้น และมีดินสามกอง (ในภาษาไท-ลาว อ้น แปลว่า ก้อนดิน ขนาดย่อม เกิดจากสัตว์หรือแมลงบางชนิด และ ขวย แปลว่า กอง) ซึ่ง “คนต่างถิ่น” ย่อมไม่เข้าใจได้ทันทีว่า หมายถึงอะไร ตั้งอยู่ที่ไหน เพราะ ต้องมีคําอธิบายตามมา เช่น หลักทอด คือ “เสาหินล้มอยู่กับดิน บ้าน กุดหว้า อําเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์” และคําว่า ยอดยัง คือ “ต้น กําเนิดแม่น้ําลําพะยัง เกิดจากเทือกเขาภูพานด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลลงแม่น้ําชี ระหว่างยโสธรและเสลภูมิ กั้นเขตแดนจังหวัดอุบลราชธานี กับจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน”[9]

และจากบันทึกของ ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ในบันทึก ก. หมายเลข 21 เรื่องรายงานความก้าวหน้าของการเจรจาของร้อยเอกเบอร์นี้ กับราชสํานัก สยาม ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369/ค.ศ. 1826 ข้อ 12 ก็ปรากฏ ว่า “คนท้องถิ่น” คือผู้ที่จะทราบดีว่า เส้นเขตแดนซึ่ง “เป็นที่ยอมรับกัน โดยพฤตินัย” อยู่บริเวณใด

เมื่อคณะเสนาบดีของสยามรู้ดีว่าไม่มีหวังที่จะได้ดินแดนทางฝั่งตะนาวศรีจากอังกฤษแน่นอนแล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่าคงจะสามารถชักจูงให้สยามยอมรับเงื่อนไขของเราเกี่ยวกับเรื่องการตกลงทางพรมแดน และการปรับปรุงการค้าขายระหว่างหัวเมืองสยามกับดินแดนที่อังกฤษตีได้ ตามที่พระเจ้าอยู่หัวสยามตอบข้อเสนอของข้าพเจ้าว่า เราอาจสืบถามเขตแดนได้จากคนที่อาศัยอยู่ในทวายและมะริดมาเก่าก่อน และให้แบ่งเขตเอาตามที่ผู้คนเหล่านั้นชี้ นับเป็นคําตอบที่ช่างตลกและพิลึกมาก และข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้มาทางราชสํานักเห็นแล้วว่ามันตลกและพิลึกอย่างไรดังนั้น ทางราชสํานักจึงขอร้องให้ข้าพเจ้ารอไว้ก่อน อย่าเพิ่งแจ้งคําตอบของสยามไปให้ทางรัฐบาลอังกฤษทราบ[10]

จนกระทั่ง เมื่อ “ราชอาณาจักรสยาม” ก้าวเข้าสู่ยุคอาณานิคม (colonialism) ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งระบบโลกมีความหมายสมัยใหม่ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกซึ่งเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อชาวตะวันตกอย่าง เซอร์จอห์นเบาว์ริง เดินทางมาถึงสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ได้ทําสนธิสัญญาในปี พ.ศ. 2398/ค.ศ. 1855 และ เกี่ยวกับ “เส้นเขตแดน” ของ “ราชอาณาจักรสยาม” เอาไว้ในหนังสือของ เขาเรื่อง ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม ว่า “เส้นเขตแดนของอาณาจักรนี้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย แต่ไม่อาจกําหนดชายแดนทางด้านตะวันตก ทางเหนือ และทางตะวันออกได้ถูกต้องมากนัก เพราะมีคนหลายเชื้อชาติและอยู่ในบังคับของชาติต่าง ๆ กัน ทั้งยังมีการรบพุ่งบริเวณ ชายแดนอยู่ตลอดเวลา ระหว่างชนชาติมลายูกับพม่าทางด้านหนึ่ง และ ระหว่างกัมพูชากับโคชินจีนอีกด้านหนึ่ง”[11]

การที่ประเทศตะวันตกเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เบื้องต้น เป็นไปเพื่อการแสวงหาแหล่งทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สําคัญ รวมทั้งแรงงานและที่ดิน เพื่อขยายฐานการผลิตและตลาดสินค้าตามแนวทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนิยม ความต้องการ “ที่ดิน/ ดินแดน” นี่เอง ที่ทําให้เกิดความจําเป็นต้องมีการ “กําหนดเขตแดน” ให้มีความ “ชัดเจน แน่นอน ตายตัว” เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า การปกครอง และความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ภายใน ขอบเขตอํานาจของตน นําไปสู่การสร้างเครื่องมือที่เป็นแบบแผนและอุดมคติที่จะทําให้ทราบว่าเส้นเขตแดนที่แน่นอนอยู่ที่ใด

การจัดทํา “เส้นเขตแดนที่กําหนดอย่างเป็นทางการ” นํามาซึ่ง “แผนที่” จึงเริ่มมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถ้าจะกล่าวเฉพาะ “เส้นเขตแดน” ระหว่าง “สยาม” กับ “กัมพูชาของฝรั่งเศส” ก็ปรากฏ หลักฐานว่า มีการกําหนดและการปักปันเขตแดนทางบก สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ใน พระราชพงศาวดารกรุง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขํา บุนนาค) เรื่อง “ปักปันเขตแดนทางเมืองเขมร” ความว่า

ในเดือนยี่นั้น โปรดให้พระราชเสนา หลวงเสนาภักดี หลวงสุริยามาตย ๓ นายออกไปเมืองพระตบอง จะได้พร้อมด้วยพระยาพระเขมรและฝรั่งเสศปักเขตแดนกัน พระราชเสนาได้กราบถวายบังคมลาไป ณ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ํา (วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2410/ค.ศ. 1867) ไปถึงเมืองพระตบอง ณ เดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ํา (วันพฤหัสบดี ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2410/ค.ศ. 1868)

อัศมิราลเดลากรอนเดแต่งให้มองซิเออเตอตูเนจ มองซิเออเปรไวชังเม มองซิเออโยรัง ๓ นาย องค์พระนโรดมจัดให้พระยาพหุลเทพ พระยานุชิตภักดี พระยาศรีสุนทรเทพ ๓ นาย มาพร้อมกันที่เมืองพระตะบอง ได้พากันไปที่ท่าข้ามแขวงเมืองระสือต่อแดนกับเมืองโพธิสัตว ปักเขตแดนลงหลักศิลาฟากละหลัก คลองอยู่กลาง แล้ว กลับมาเมืองพระตบองไปเมืองนครเสียมราฐ ได้พร้อมกัน กับพระยกระบัตร พระมหาดไทย พระภักดีสุนทร ปัก เขตแดนที่ถนนพรมศกต่อเขตแดนกับเมืองชีแครง

ณ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ํา (วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2410/ค.ศ. 1868) ลงหลักศิลาทั้ง ๒ ฟาก ลําคลอง อยู่กลาง เขตแดนต่อขึ้นไปข้างเมืองลาวก็ให้ตกลงกันตาม แผนที่ ซึ่งอัศมิราลกอนตาบอนาดทําไว้หาได้ปักไม่ การปักปันเขตแดนก็เป็นตกลงกัน” [12]

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411/ค.ศ. 1868 พระองค์ก็ทรงดําเนินพระบรมราชวิเทโศบายเพื่อนําพาพระราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากอํานาจและอิทธิพลของเจ้าอาณานิคม ดังนั้น จึงทรงริเริ่ม “แบบแผนตะวันตก” เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้สยามมีความทันสมัยทัดเทียม นานาอารยประเทศ หนึ่งในพระราชกรณียกิจเหล่านั้นคือ ทรงก่อตั้ง “กองทําแผนที่” ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418/ค.ศ. 1875 ต่อมาจึงตั้ง “โรงเรียนแผนที่” เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2425/ค.ศ. 1882 และตั้ง “กรม ทําแผนที่” ในวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428/ค.ศ. 1885 โดยมี พระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarthy) ชาวอังกฤษ เป็นเจ้ากรมคนแรกผู้วางรากฐานหลักวิชาการทําแผนที่ตามเทคนิคและวิธีการแบบตะวันตก และมีผู้บัญชาการกํากับดูแลเมื่อเริ่มตั้งกรมทําแผนที่ คือ สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ[13]

ดังนั้น เมื่อราชอาณาจักรสยามจําเป็นต้องดําเนินการให้มี “เส้น เขตแดนที่กําหนดอย่างเป็นทางการ” จึงนํามาสู่การทําสัญญาข้อตกลง ฉบับต่าง ๆ ในรูปของเอกสารประกอบข้อตกลง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวิเทโศบาย “ทําสัญญาแลกเปลี่ยน” ในรูปของ “หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี” กับอังกฤษที่ครอบครองดินแดนทางตะวันตกและแหลมมลายู ฝ่ายหนึ่ง และกับ ฝรั่งเศสที่ครอบครองดินแดนทางตะวันออกลําน้ําโขง ดินแดนในกัมพูชา และลาว อีกฝ่ายหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การกําหนดเส้นเขตแดนอย่างเป็นทางการที่พระองค์ทรงทําขึ้น เป็นไปด้วยเหตุผลหลายประการตลอดรัชสมัยของพระองค์ และในช่วงปลายรัชกาลก็มี พระราชดํารัสในที่ประชุมเสนาบดี ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2452/ค.ศ. 1909 “เรื่องทําหนังสือ สัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ ร.ศ. ๑๒๘” ก่อนการทําสนธิสัญญา วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2452/ค.ศ. 1909 เพียง 1 วัน เพื่อทรงชี้แจง เหตุผลของพระองค์ในการทํา “สัญญาแลกเปลี่ยน” ดังกล่าวความว่า

ราชการจร ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานหนังสือให้อ่านเสนอที่ประชุมตลอดแล้วมีพระราชดํารัสว่า หนังสือที่อ่านนี้เป็นเนื้อความใน สัญญาแลคําแก้ข้างฝ่ายเขา เพื่อให้คนของเราเข้าใจ บัดนี้จะได้อธิบายให้ฝ่ายเราทราบว่าเหตุใดจึงได้ยอมทําสัญญาลงไปเช่นนั้น ชั้นต้น ต้องเข้าใจว่า พระราชอาณาเขตรของกรุงสยามมีสองชั้นคือหัวเมืองชั้นในกับชั้นนอกฤาประเทศราช ส่วนการปกครองแต่ก่อน ๆ มา ด้วยเหตุที่ทางไปมาลําบากมาก จึงได้ปล่อยให้หัวเมืองชั้นนอกเปนประเทศราชปกครองตัวเอง เปนแต่ส่งเครื่องบรรณาการ เพราะชนั้น กรุงเทพฯ ไม่ได้ผลประโยชน์อันใดจากหัวเมืองประเทศราช นอกจากบรรณาการเท่านั้น ต่อมาเราได้จัดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขก็ได้ทันแต่มณฑลพายัพมณฑลเดียว ด้วยเหตุว่ามีเหตุเกิดขึ้นก่อนมณฑลอื่นๆ คือเรื่องป่าไม้ กับเปนมณฑล ที่ตั้งอยู่ในลําแม่น้ําอันเดียวกันกับกรุงเทพฯ พอจะทําการได้ง่าย จึงคิดแลจัดการเอิบเอื้อมเข้าไปปกครอง ก็ได้ไว้ทั้งมณฑล

เมื่อได้จัดการมณฑลพายัพแล้วก็ได้จัดการทางหัวเมืองลาวแถบลําน้ําโขง คือจัดการเดินออกไปจนข้าม ฟากโขงไปฝั่งโน้น แต่เป็นหัวเมืองที่ติดต่อกับอาณาเขตรเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ฝ่ายเรามีกําลังน้อยกว่าจึงไม่สําเร็จ แลซ้ําขาดทุนพระราชอาณาเขตรไปด้วย อาณาเขตรของเราทางนั้น จึงหดเข้ามาอยู่เพียงในฟากโขงฝั่งนี้ ฝ่ายทางแหลมมลายูก็ได้จัดการอย่างเดียวกันแต่เราเดินไปได้เพียงมณฑลปัตตานี ถึงแม้ยังไม่ได้ประกาศรวมเปนกรุงสยามก็จริง แต่ก็เหมือนรวมแล้ว แต่เมืองตรังกานูนั้นได้มีสัญญา กับอังกฤษไว้แต่แรกว่า เราจะไม่เกี่ยวข้อง ฝ่ายเมืองไทรเป็น เมืองที่เราตีได้ แต่เราปกครองเองไม่ได้ จึงให้แขกปกครอง ตัวเองเปนประเทศราช

การที่เกี่ยวข้องกันในชั้นหลังมานี้ ก็เพราะหัวเมืองเหล่านั้นอยู่ใกล้เขตรแดนอังกฤษมากขึ้น ผลประโยชน์เดินถึงกันเข้า ฝ่ายอังกฤษยกเหตุกล่าวว่า เราปกครองไม่พอ ตามทางความคิดระวังของเขาว่า ถ้าต่างประเทศชาติใดชาติหนึ่งที่มีอํานาจจะมาขอเช่าที่ดินในตัวเมืองเหล่านี้ ซึ่งเราจะห้ามก็ไม่ได้แล้วจะเปนการเสียผลประโยชน์ของเขา เมื่อเขาเห็นช่องทางมีอยู่ดังนี้ จึงเคี่ยวเขญขอให้เราทําสัญญาว่า ถ้าจะอนุญาตที่ดินในแหลมมลายูแก่ใคร ต้องให้อังกฤษทราบก่อน สัญญาฉบับนี้เปนสัญญาลับ

ครั้นเกิดความเรื่องเมืองกลันตันอนุญาตคอนเซสชั่นให้แก่มิสเตอรดัฟฟ เราไม่รับว่าเปนสัญญา เพราะเราไม่รู้เห็นด้วย อังกฤษกลับเข้าถือท้าย แลว่าถ้าเราจะปกครองก็ ขอให้ทําสัญญา แลขอให้มีข้าหลวงออกไปปกครอง การที่จะปกครองนั้น ถ้าแต่ลําพังเรา อังกฤษไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะทําอย่างไรก็ได้ แต่นี่เปนการขัดข้องที่จะทําเช่นนั้นได้ แต่ถ้ามีเหตุการอะไรขึ้น อังกฤษคงถือว่าเราเปนเจ้าของ แล้วมาว่ากล่าวเอากับเราเสมอ แต่ถ้าเราจะห้ามอะไรอังกฤษ ก็เข้าถือท้ายเช่นเรื่องเมืองกลันตันเปนต้น จะเอาโทษเจ้าผู้ครองเมืองก็ไม่ได้ เปนการครึ่งๆ กลางๆ อยู่เช่นนั้น มีแต่จะก่อให้เกิดความลําบากแก่เราฝ่ายเดียว

เพราะฉนั้นในการที่ตัดพระราชอาณาเขตรแหลมมลายูครั้งนี้ ส่วนที่เปนของเราแท้ กล่าวคือมณฑลปัตตานี เราจัดการปกครองอย่างหัวเมืองทั้งปวง ส่วนที่จะเอามา ปกครองไม่ได้เช่นที่ตัดออกไปนี้ ก็นับวันแต่จะเหินห่าง จากเราไปทุกที ในเวลานี้เรายังมีของที่มีราคาอยู่ จึงควรถือเอาราคาอันนี้แลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น กล่าวคืออํานาจ ของอังกฤษที่มีอยู่ในเขตรแดนของเราข้างฝ่ายเหนือแลกับ เรื่องศาล จริงอยู่ในเรื่องอํานาจศาลถ้าเราจะว่าตามธรรมดา เมื่อเราจัดการศาลเรียบร้อยแลความเปลืองของอังกฤษ ก็ชวนจะให้อังกฤษเลิกศาลเช่นเมืองเชียงใหม่อยู่ แต่ถ้าจะรออยู่จนถึงเวลาเช่นนั้น เราก็จะต้องทนความยากลําบาก อยู่ช้านาน แลราคาของหัวเมืองแขกก็จะตกต่ําลงไปทุกที จึงเห็นว่าแลกเปลี่ยนกันเสียในเวลานี้ดีกว่า

การที่เสียพระราชอาณาเขตรไปครั้งนี้ ก็เปนที่เสีย เกียรติยศมาก เป็นที่เศร้าสลดใจอยู่ แต่ครั้นจะเอาไว้ก็มี แต่จะเกิดความร้อนใจ เพราะอังกฤษมีความปรารถนาแรง กล้า เมื่อเราเห็นว่าจะได้อะไรบ้างแล้วจึงจัดการเสีย เพื่อจะได้จัดการปกครองให้ทั่วถึงในส่วนที่เปนของเรา เราจะมีอํานาจมากกว่าเมื่อมีเมืองที่ไม่มีอํานาจปกครองพ่วงอยู่ เพราะว่าเมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองรักษาให้ได้สิทธิขาดจริงๆ ถ้าปกครองไม่ได้สิทธิขาดแล้ว ไม่มีเสียดีว่า เช่น เมื่อเกิดการโจรผู้ร้ายที่สําคัญขึ้น เราต้องจัดเรือรับไปปราบปราม เป็นต้น เป็นการที่ต้องเสียเปล่า เพราะเหตุนี้จึงตกลงทํา สัญญาแลกเปลี่ยน คือเลิกสัญญาที่เราถูกอังกฤษกดให้ ทําได้หมด นี่เป็นไปรส์ที่เราได้อย่างหนึ่ง

แต่เปนข้อที่ไม่ได้ตกลงในสัญญาฉบับนี้ เพราะเปนของลับ ในการที่ได้คนในบังคับอังกฤษมาอยู่ในอํานาจศาลเรานั้น เวลานี้อยู่ข้างลําบาก เพราะต้องจ้างฝรั่งมาเปน ผู้พิพากษา ดูเหมือนว่าเราออกเงินตั้งศาลให้อังกฤษ แต่ จะไม่เปนดังนี้เสมอไป เพราะการที่เขาจะยอมให้คนขาว เข้าอยู่ในอํานาจศาลเรานั้น เปนการยากข้างฝ่ายเขา จึงค่อยทําเป็นคั่นๆ คือแบ่งศาลเปนสองส่วน คนที่จดบาญชี เปนคนในบังคับอังกฤษที่ล่วงมาแล้วต้องชําระในศาลต่างประเทศ ถ้าเปนคนที่จดบาญชีภายหลังเมื่อรัติไฟสัญญานี้ แล้ว ตกมาอยู่ในศาลไทยทั้งนั้น เปนแต่ยังมีฝรั่งเปนผู้พิพากษา นี่เปนส่วนที่การันตีเพื่อให้คนของเขาอุ่นใจ ถ้าเราจัดการศาลได้เรียบร้อยแล้วการเหล่านี้เลิกหมด นี่เปนที่มุ่งหมายว่า เปนอํานาจของเราที่จะได้ ถึงจะไม่เต็มที่ใน เวลานี้ ก็มีเวลาที่จะเต็มที่ได้ อีกอย่างหนึ่งที่แยกสัญญาต่างหาก ก็คือการสร้างรถไฟ รัฐบาลสเตรตเซตเตอลเมนต์ ยอมให้เรากู้เงินทําตั้งแต่เมืองเพชรบุรีไปถึงสิงคโปร์ด้วยเรียกดอกเบี้ยเพียงร้อยละสี่

ความปรารถนาอันนี้ เปนประโยชน์ข้างฝ่ายเขามาก แต่เราก็ได้ นี่ก็นอกสัญญาฉบับนี้ เพราะเปนส่วนหนึ่งต่างหาก ส่วนเขตรแดนที่แบ่งคราวนี้ ตัดเขตรแดนเมืองกลันตันหน่อยหนึ่ง เขตรเมืองไทรหน่อยหนึ่งมาเพิ่มมณฑลปัตตานี

แต่เมืองสตูลที่เปนส่วนหนึ่งของเมืองไทรนั้น ตัดขาดมาขึ้นมณฑลภูเก็ตทีเดียว ตั้งแต่นี้ไป เปนอันเราไม่มีเมืองประเทศราชอีก เลิกได้หมดทีเดียว ถ้าข้อสัญญาของเราไม่เปนผลแก่การปกครองได้ทั่วพระราชอาณาเขตรดังนี้มีอยู่ ตราบใดแล้ว เราก็รักษาหัวเมืองไว้ไม่ได้ตราบนั้น คงได้รับ ความร้อนใจร่ําไป

เขตรแดนทางเมืองนครเสียมราฐที่ต้องปล่อยไป ก็มีเหตุผลคล้ายกันกับที่ได้กล่าวนี้

พรุ่งนี้เป็นวันที่จะรัติไฟหนังสือสัญญานี้แล้ว วันนี้ จึงขอบอกที่ประชุมให้ทราบความดําริห์แลเป็นไปดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น

ไม่มีราชการอันใดจะปฤกษาแล้ว เสด็จขึ้นเวลา ๒ ยาม เปนงดการชุมนุม.[14]

จากข้อความตามกระแสพระราชดํารัสทําให้ทราบว่าการ “ทําสัญญาแลกเปลี่ยน” ที่เกิดขึ้นตลอดรัชสมัยล้วนเป็นไปเพื่อรักษาพระราชอาณาจักรสยาม ตามเหตุผลที่ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “การที่เสียพระราชอาณาเขตรไปครั้งนี้ ก็เปนที่เสียเกียรติยศมาก เปนที่เศร้าสลดใจอยู่ แต่ครั้นจะเอาไว้ก็มีแต่จะเกิดความร้อนใจ เพราะอังกฤษมีความปรารถนาแรงกล้า เมื่อเราเห็นว่าจะได้อะไรบ้างแล้วจึงจัดการเสีย เพื่อจะ ได้จัดการปกครองให้ทั่วถึงในส่วนที่เปนของเรา เราจะมีอํานาจมากกว่า เมื่อมีเมืองที่ไม่มีอํานาจปกครองพ่วงอยู่ เพราะว่าเมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองรักษาให้ได้สิทธิขาดจริง ๆ ถ้าปกครองไม่ได้สิทธิขาดแล้ว ไม่มีเสียดีว่า เช่นเมื่อเกิดการโจรผู้ร้ายที่สําคัญขึ้น เราต้องจัดเรือรับไปปราบปรามเป็นต้น เปนการที่ต้องเสียเปล่า เพราะเหตุฉนี้จึงตกลงทําสัญญาแลกเปลี่ยน คือเลิกสัญญาที่เราถูกอังกฤษกดให้ทําได้หมด นี่เป็นไปรส์ที่เราได้อย่างหนึ่ง[15]

นับแต่นั้นมา พระราชอาณาจักรสยามก็ผ่านยุคอาณานิคม โดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอํานาจตะวันตก ดังที่เราทราบกันอยู่ในปัจจุบัน

“ชาติของเรา” จึงค่อย ๆ คลี่คลายอุดมการณ์และอัตลักษณ์ไป ตาม “กาละ (time)” และ “เทศะ (space)” ของเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงระดับโลก จนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม/Siam เป็น “ไทย/Thailand” ในปี พ.ศ. 2482/ค.ศ. 1939 จึงส่งผลให้เกิด

“การสร้างอัตลักษณ์ของชาติ” แบบใหม่ ที่เน้นความสํานึกและความรับรู้ “อัตลักษณ์ของชาติ” มากยิ่งขึ้นกว่าในยุค “รัฐบาลกษัตริย์ (Monarchical State)” ที่เน้นกระบวนการปรับปรุงและปฏิรูประบบระเบียบต่างๆ เพื่อให้ทัดเทียมชาติตะวันตก เนื่องจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “รัฐบาลทหาร (Militarist State)” ที่ต้องสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอํานาจของตน จึงจําเป็นต้องมี “การสร้างความรู้ชุดใหม่” ที่ส่งผลต่อ “ค่านิยม” ความเป็น “ชาติไทย” ไม่ใช่ “ชาติสยาม” เพิ่มขึ้นอีกหลายประการ อย่างน้อยก็ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมในนโยบาย “รัฐนิยม 12 ฉบับ” ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน พ.ศ. 2482/ค.ศ. 1939 กระบวนการสร้างความรู้ชุดใหม่เกี่ยวกับ “เชื้อชาติไทย” นี้เอง ส่ง ผลโดยตรงต่อการสร้าง “รัฐทหาร” ที่ซ้อนทับกันอยู่กับความเป็นระเบียบ (order) และความคงอยู่ที่แน่นอน (entity) ของรัฐราชอาณาจักร ซึ่งต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ ดินแดน (territory) ประชากร (people) ผู้ปกครองหรือรัฏฐาธิปัตย์ (sovereign) และอํานาจอธิปไตย (sovereignty) ดังนั้น จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างคําจํากัดความชุดใหม่ของ “รัฐชาติไทย” ที่ต้องมีอํานาจเหนือ “ดินแดนที่เป็นและ เคยเป็นของไทย” โดยให้คําจํากัดความเพื่อระบุขอบเขตอํานาจอธิปไตย ของ “ชาติไทย” ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการระบุว่าชนกลุ่มใด คือ “ประชากร ของชาติ” และนําไปสู่การ “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” เพื่อสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐบาลทหารให้เป็นผู้มีอํานาจอธิปไตยสูงสุด เพราะ เป็นผู้สละชีพเพื่อปกป้องรักษา “ผืนแผ่นดินไทย” และ “จะไม่ยอมเสีย ดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว”

ดังนั้น เมื่อ “ความใหม่” เกิดปะทะกันเข้ากับ “ความเก่า” ที่ดําเนินเรื่องราวสืบต่อมาจาก “ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม” จึงทําให้ “การอธิบายเรื่องเขตแดน” เกิดความซ้อนทับกันขึ้น ระหว่างแนวคิดเรื่องเขตแดนแบบ “ไทยใหม่” กับมโนทัศน์ว่าด้วยดินแดนแบบ “สยามเดิม” ดังนั้น ความซ้อนทับของแนวคิดต่างกรรมต่างวาระกันนี้เอง จึงนํามาซึ่งความไม่เข้าใจของผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่ล้วนถูกสร้างให้รับรู้ว่า “ประเทศไทย” ต้อง “เสียดินแดน” ทั้ง ๆ ที่ “ความจริง” กับ “การเล่าเรื่อง” และ “การตีความ อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้[16]

หากจะทําความเข้าใจเรื่อง เขตแดน พรมแดน และชายแดน ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ต้องพิจารณาการคลี่คลายตัวทางประวัติ ศาสตร์ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 ยุค ได้แก่ 1. ยุค “ราชอาณาจักรสยาม” หรือ “สยามเดิม” และ 2. ยุคหลังการเปลี่ยนชื่อเป็น “ประเทศไทย” หรือ “ไทยใหม่” เพราะแนวคิดว่าด้วย “เขตแดน” เป็นสิ่งเลื่อนไหลเปลี่ยน แปลงไปมาตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับ “กาละ” และ “เทศะ” รวมทั้งบริบทของ โลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวคิดเรื่องเขตแดน ดังนั้น แนวคิด ว่าด้วยเขตแดนในอนาคตอาจไม่จําเป็นต้องเหมือนกับทั้ง 2 ยุคนี้ก็ได้

 

เส้นเขตแดนทางบกระหว่าง “ราชอาณาจักรไทย” กับ “ราชอาณาจักรกัมพูชา” หลังยุคอาณานิคม

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ประเทศไทยก็มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนต่างๆ กับฝรั่งเศสและอังกฤษ กล่าวแต่เฉพาะดินแดนด้านกัมพูชาโดยการสนับสนุนจากญี่ปุ่นซึ่งได้ตกลงทําอนุสัญญาโตเกียวปี พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1941 (ภาคผนวก 9) รัฐบาลไทยจึงเข้าไปปกครองเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ในระหว่างปี พ.ศ. 2484-2488/ค.ศ. 1941-1945 แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2488/ค.ศ. 1945 รัฐบาลไทย ก็ได้ทําสัญญาวอชิงตันปี พ.ศ. 2488/ค.ศ. 1945 (ภาคผนวก 10) เป็นผล ให้เส้นเขตแดนกลับมาสู่สถานะเดิม กล่าวคือ ต้องกลับไปใช้อนุสัญญา ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446/ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449/ค.ศ. 1907 นั่นเอง[17]

จากนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากการปกครองของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496/ค.ศ. 1953 ทําให้ “เส้นเขตแดน” เกิดเป็นปัญหาขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในกรณี “ปราสาทพระวิหาร” ซึ่งกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ในปีพ.ศ. 2502/ค.ศ. 1959 หรือเพียง 6 ปี หลังได้รับเอกราช โดยกัมพูชายื่นฟ้องฝ่ายไทยใน “คําร้องเริ่มคดีและคําฟ้อง” ครั้งแรกปี พ.ศ. 2502/ค.ศ. 1959 เพียง 2 ประเด็น คือ “ขอให้ศาลสั่งให้ประเทศไทยถอนกําลังทหารออกจากปราสาทพระวิหาร” และ “วินิจฉัยว่าอํานาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา” และในที่สุด วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505/1932 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินชี้ขาดคดีนี้ว่า

“ศาล โดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาโดยเหตุนี้ จึงพิพากษาโดยคะแนนเสียงเก้าต่อสามว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกําลังทหารหรือตํารวจ ผู้เฝ้า รักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจําอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา[18]

 

คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) กับ “เส้นเขตแดน” ในปัจจุบัน

หลังจากคดี “ปราสาทพระวิหาร” ยุติลงไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505/ ค.ศ. 1962 ประเทศไทยและกัมพูชาต่างก็เกิดปัญหาการเมืองภายในตามวิถีทางของแต่ละฝ่าย จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศกัมพูชาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ประกอบกับ นโยบายของประเทศไทยที่สนับสนุนการ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนาม การค้า” จึงทําให้แนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มเปิดตัวมากขึ้น หลังจากที่ประเทศกัมพูชามีความสงบและภาวะสงครามภายในเริ่มยุติลง เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาจึงได้มีกรอบการเจรจาเพื่อตกลงกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนําเสนอข้อมูลที่ใช้อย่างเป็นทางการ ในกระบวนการเจรจาระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งกําลังดําเนินการกันอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

จากหนังสือ 120 ปี กรมแผนที่ทหาร กล่าวว่า “แม้ว่าแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ด้าน ได้มีการกําหนดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ในอดีตแล้ว และมีหลักฐานทางกฎหมายที่ใช้ผูกพันมาจนถึงปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันจากหลักฐานในอดีตยังไม่สามารถตกลงแนวเขตแดนกันได้ ดังนั้น จึงได้มีโครงการสํารวจและจัดทําหลักเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านขึ้น โดยมีหลักการที่สําคัญ คือ “ต้องทําการสํารวจหาแนวเขตแดนตามหลักฐานทางกฎหมายแสดงแนวเขตแดนที่จัดทําไว้ตั้งแต่ในอดีต” ไม่สามารถกําหนดแนวเขตแดนขึ้นใหม่ได้[19]

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเอกสารเรื่องการสํารวจและจัดทําหลัก เขตแดนไทย-กัมพูชา โดย กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงการดําเนินงานของ “คณะกรรมาธิการ เขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC” ว่า “รัฐบาลไทยและกัมพูชาได้เห็น ชอบร่วมกันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540/ค.ศ. 1997 ซึ่งฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

เพื่อรับผิดชอบการสํารวจและจัดทําหลักเขตแดนตลอดแนวร่วมกัน และได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการสํารวจและจัดทําหลักเขตแดนทางบก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543/ค.ศ. 2000 เพื่อกําหนดกรอบทางกฎหมาย ในการสํารวจและจัดทําหลักเขตแดนทางบก โดยมีการ“สํารวจและจัดทํา หลักเขตแดน” ตลอดแนว พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “คณะกรรมาธิการเขตแดน ร่วมไทย-กัมพูชา (Join Boundary Commission – JBC)” และ “คณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Technical Sub-Commission - JTSC)"

โดยการดําเนินงานที่ผ่านมา JBC มีการประชุมอย่างเป็นทางการ แล้ว 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542-2552/ค.ศ. 1999-2009 และตกลงร่วม กันในหลักการสําคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) หลีกเลี่ยงการกระทําใดๆ ที่เป็นการละเมิดเขตแดนที่แต่ละฝ่ายยึดถือในปัจจุบัน และหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายควรมีความยับยั้งชั่งใจเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามและพยายามแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติและไม่ชักช้า รวมทั้งหลีกเลี่ยงการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

2) หากมีปัญหาชายแดนที่มีปัจจัยเรื่องเขตแดน ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมทั้ง 2 ฝ่ายจะได้หารือกันโดยตรงอย่างรวดเร็วโดยอาจจะส่งคณะทํางานไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลการตรวจสอบ

3)  ในระหว่างรอผลการสํารวจและจัดทําหลักเขตแดนแต่ละฝ่ายจะไม่ให้มีการก่อสร้างใดๆ ในบริเวณชายแดนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติของเส้นเขตแดน

ในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2546/ค.ศ. 2003 ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบต่อแผนแม่บทและข้อกําหนดอํานาจหน้าที่ (Term of Reference –TOR) ในการสํารวจและจัดทําหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา โดยกําหนดแนวทางในการดําเนินการทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 การค้นหาจุดที่ตั้งที่ถูกต้อง การปักใหม่ ซ่อมแซม และการสร้างทดแทนหลักเขตแดนเดิมทั้ง 73 หลัก

ขั้นตอนที่ 2 การจัดทําแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ (Ortho- photo Maps) ของพื้นที่ชายแดนเพื่อให้ทราบถึงสภาพภูมิประเทศปัจจุบัน ซึ่งจะทําให้การเดินสํารวจหาแนวเขตแดนทําได้ถูกต้องและง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงจากทุ่นระเบิดของเจ้าหน้าที่สํารวจ

ขั้นตอนที่ 3 การกําหนดแนวการเดินสํารวจลงในแผนที่จาก ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้ทราบแนวที่จะเดินสํารวจ (แนวเขตแดนบนโต๊ะเจรจา) อันจะทําให้การเดินหาแนวเขตแดนในภูมิประเทศง่ายขึ้น

ขั้นตอนที่ 4 การเดินสํารวจแนวเส้นเขตแดนที่ถูกต้องร่วมกันในพื้นที่

ขั้นตอนที่ 5 การก่อสร้างหลักเขตแดนเพิ่มเติมเพื่อให้เขตแดนมีความชัดเจน โดยจะสร้างหลักเขตแดนให้ห่างจากกันไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่ในภูมิประเทศสําคัญ เช่น จุดผ่านแดนหรือพื้นที่ชุมชน จะมีการสร้างหลักเขตแดนให้ถี่ขึ้น

ในการประชุม JBC สมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 11-15 มีนาคม พ.ศ. 2549/คศ. 2006 ที่กรุงเทพฯ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้ชุดสํารวจร่วม ไทย-กัมพูชา เริ่มต้นการสํารวจพิสูจน์ทราบสภาพและที่ตั้งที่ถูกต้องของหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา (ขั้นตอนที่ 1 ตาม TOR) โดยชุดสํารวจร่วม ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549/ค.ศ. 2006

ปัจจุบันสํารวจหาที่ตั้งหลักเขตแดนไปแล้วจํานวน 48 หลัก (หลักเขตแดนที่ 23 ถึง 70) โดยชุดสํารวจร่วมฯ มีความเห็นตรงกันในตําแหน่งที่ถูกต้องของหลักเขตแดนจํานวน 33 หลัก และมีความเห็นไม่ตรงกันในตําแหน่งที่ถูกต้องของหลักเขตแดนจํานวน 15 หลัก

กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยังได้กล่าวถึง การดําเนินการในปัจจุบันเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ว่า

ภายหลังการปะทะระหว่างกําลังของไทยกับกัมพูชาบริเวณเขาพระวิหาร 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2551/ค.ศ. 2008 ภารกิจเร่งด่วนอันดับแรก ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา คือพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยได้ประชุมกัน 3 ครั้ง ได้แก่ การประชุม JBC สมัยวิสามัญ ที่เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551/ค.ศ. 2008 การ ประชุม JBC ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552/ ค.ศ. 2009 และล่าสุดคือ การประชุม JBC สมัยวิสามัญ ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 6-7 เมษายน พ.ศ. 2552/ค.ศ. 2009

ทั้ง 2 ฝ่ายลงนามบันทึกการประชุม JBC ที่ผ่านมาทั้ง 3 ฉบับ แล้ว แต่บันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับจะยังไม่มีผลจนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะ ยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่าได้มีการดําเนินการตามกระบวนการกฎหมาย ภายในครบถ้วนแล้ว ในส่วนของฝ่ายไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน จึงจะยืนยันให้บันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับนี้มีผลบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552/ค.ศ. 2009 และที่ประชุมรัฐสภาร่วมมีมติเห็น ชอบให้ถอนบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับออกจากวาระการพิจารณาไปก่อน

โดยสาระสําคัญของบันทึกการประชุม 3 ฉบับดังกล่าว ได้แก่

1. ให้ผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ (Orthophoto Maps) ตลอดแนวเขตแดน เพื่อช่วยในการสํารวจและจัดทําหลักเขตแดนโดยเร็วที่สุด

2. ให้ชุดสํารวจร่วมหยุดปฏิบัติหน้าที่ที่หลักเขตแดนที่ 71 และย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สํารวจตอนที่ 6 (หลักเขตแดนที่ 1–เขาสัตตะโสม) ซึ่งรวมถึงบริเวณปราสาทพระวิหาร

3. ให้ตั้งชุดสํารวจร่วมเพิ่มขึ้นอีก 1 ชุด และให้เริ่มสํารวจในพื้นที่ ตอนที่ 5 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552

4. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปหารือกันในระดับเทคนิคเพื่อจัดทํา คําแนะนํา (Instruction) สําหรับการสํารวจในพื้นที่ตอนที่ 6 (หลักเขต แดนที่ 1–เขาสัตตะโสม) ซึ่งรวมบริเวณปราสาทพระวิหาร

5. ให้มีการประชุม JBC สมัยวิสามัญ เพื่อหารือประเด็นกฎหมาย เกี่ยวกับพื้นที่สํารวจตอนที่ 6 เมื่อมีการเริ่มสํารวจและจัดทําหลักเขตแดน ในพื้นที่ดังกล่าว

6. รับทราบว่าเจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นพ้องกันเกี่ยว กับร่างภาษาอังกฤษของรายงานร่วมว่าด้วยการสํารวจสภาพและที่ตั้งของ หลักเขตแดนสําหรับ 29 หลัก (หลักเขตแดนที่ 23-51) และตกลงให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้ง ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันตรวจสอบร่างรายงานการสํารวจฯ ทั้ง 3 ภาษาก่อนส่งให้ JTSC และ JBC พิจารณาและให้ความเห็นชอบ ต่อไปตามลําดับ

7. ทั้ง 2 ฝ่ายได้พิจารณาร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยสถานการณ์ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ระหว่างการรอการสํารวจและจัดทํา หลักเขตแดนในบริเวณดังกล่าว โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นพ้องกันในประเด็นหลักเกือบทุกกรณี ได้แก่ การปรับกําลังออกจากวัด “แก้วสิกขาคีรีสะวารา” บริเวณรอบวัด และปราสาทพระวิหาร, การจัดตั้งชุดประสานงานชั่วคราว (Temporary Coordinating Task Force–TCTF) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ประชิดกับปราสาทเขาพระวิหาร,การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในลักษณะประสานงานกันในพื้นที่ประชิดกับปราสาทพระวิหาร,กำหนดพื้นที่ที่จะทำให้อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนภายใต้แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ฯ ปีพ.ศ. 2546 (ค.ศ.2003) พื้นที่ดังกล่าวจะต้องถูกทำให้อยู่ในสภาพพร้อมก่อนที่ชุดสำรวจจะเริ่มงาน

ข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้จะไม่กระทบต่อสิทธิของทั้ง 2 ฝ่ายเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของ JBC และท่าทีของกฎหมายแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นคงค้างอยู่ 1 ประเด็น ได้แก่ การเรียกชื่อปราสาทพระวิหารไทยให้เรียกว่า “Phra Viharn” กัมพูชาให้เรียกว่า “Preah Vihear” ดังนั้น การเจรจาเรื่องข้อตกลง ชั่วคราวฯ ยังไม่เสร็จสิ้นการที่มีร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ปรากฏอยู่ใน บันทึกการประชุม JBC ซึ่งรัฐบาลนําเข้าขอความเห็นชอบของรัฐสภา เป็นเพียงการแจ้งถึงสถานะล่าสุดของการเจรจา และไม่มีการขอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ พร้อมกับบันทึกการประชุม JBC จํานวน 3 ฉบับ โดยสถานะล่าสุดของบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับ ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภา”[20]

 

ไร้พรมแดน : วิถีชีวิตและความเป็นจริงของผู้คนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

ในยุคปัจจุบัน ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา บางท่านคงเคยได้ยินคํา กล่าวที่ว่า “ไปสุรินทร์กินน้ําต่ํา ไปบุรีรัมย์ตําน้ํากิน” คํากล่าวนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ต้องถกเถียงกันอีกครั้ง แต่อย่างน้อยก็สามารถแสดงภาพลักษณ์ของพื้นที่ชายแดนว่าเต็มไปด้วยความยากลําบาก อดอยาก แร้นแค้น ห่างไกลความเจริญ ไกลปืนเที่ยง บ้านป่าเมืองเถื่อน และไม่ปลอดภัย ดังนั้น พื้นที่ชายแดนจึงไม่ค่อยจะเป็นที่ดึงดูดใจของผู้คน ทั่วไปที่มีวิถีชีวิตประจําวันอยู่ใน “เมือง” และน้อยครั้งที่ “คนเมือง” เกิด รู้สึกอยากจะเดินทางไปเยี่ยมเยือน เห็นได้จาก “ชายแดน” เป็นจุดหมาย ลําดับท้ายๆ ที่ “ข้าราชการ” อยากจะย้ายไป “ประจําการ” หรือหากจะย้ายไป ก็เป็นการย้ายไป “กินตําแหน่ง” ที่สูงขึ้นชั่วคราวเพื่อรอกลับมาประจําอยู่ในเมืองนั่นเอง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง “ชายแดน” เป็นอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับ ความมั่นคงของ “ชาติ” ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ “เมืองหลวง” ดังนั้น “รัฐบาล” จึงจําเป็นต้องสร้างกลไกในการบริหารจัดการชายแดนให้อยู่ภายใต้อํานาจการควบคุมมากที่สุดเท่าที่จะทําได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าความห่างระหว่าง “เมืองหลวง” กับ “ชายแดน” ที่อยู่ไกลกันเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร

นิยามของคําว่า ชาติพันธุ์และภาษา หมายถึง เรื่องราวของกลุ่ม คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเรียกเฉพาะ (เป็นชื่อเรียกตนเอง หรือชื่อที่คน อื่นเรียก) เป็นกลุ่มคนที่มีภาษาเป็นของตนเอง มีจํานวนคนพูดภาษา จํานวนหนึ่ง มีถิ่นฐานที่อยู่ที่แน่นอน รวมทั้งมีลักษณะพิเศษที่แตกต่าง กลุ่มอื่น (เช่น การแต่งตัว ภาษาพูด การปลูกเรือน อาหาร)

อุบลราชธานี

ชาติพันธุ์ของผู้คนจังหวัดอุบลราชธานีส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ไท-ลาว เหมือนประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีพื้นฐานจากวัฒนธรรมไท-ลาว ผู้คนที่อยู่ตามแนวชายแดนติดกับกัมพูชา ได้แก่ ชาวแขมร์/เขมร (Khmer) ในพื้นที่อําเภอน้ํายืน อําเภอนาจะหลวย อําเภอบุณฑริก กิ่งอําเภอน้ําขุ่น และอําเภอทุ่งศรีอุดม นอกจากนี้ยังมีชาวส่วย/ชาวกูย (Kui) อาศัยอยู่ในพื้นที่อําเภอเขื่องใน อําเภอวารินชําราบ อําเภอเดชอุดม และ อําเภอพิบูลมังสาหาร

ศรีสะเกษ

ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ของจังหวัดศรีสะเกษ คือ ชาวเขมร ซึ่งมีจํานวนประชากรประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งจังหวัด ชาวเขมรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่อําเภอขุขันธ์ อําเภอกันทรลักษ์ อําเภอภูสิงห์ อําเภอขุนหาญ อําเภอปรางค์กู่ อําเภอไพรบึง อําเภอห้วยทับทัน และอําเภอศรีรัตนะ ชาวเขมรศรีสะเกษ จะพูดภาษาเขมรแตกต่างจากชาวเขมรในประเทศกัมพูชา ทั้งในด้านคําศัพท์และการออกเสียง แต่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ ซึ่งเรียกว่า แขมร์เลอ หรือเขมรสูง คืออยู่พื้นที่ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงทางทิศเหนือของเทือกเขาพนมดงรัก มีลักษณะทางภาษาที่ไม่มีอักษรสูง คําที่พูดออกมาเป็นเสียงกลางหรือเสียงต่ําแทบทั้งสิ้น เพราะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมในประเทศไทย

สําหรับชาวเขมรที่อยู่อีกฝั่งทางทิศใต้ของเทือกเขาพนมดงรัก เรียกว่า แขมร์กรอม หรือชาวเขมรล่าง ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มประเทศกัมพูชาและการออกเสียงในภาษาไทยของคําว่า แขมร์กรอม ก็ถูกกร่อนเสียง กลายเป็น กะหลอม และกลายเป็นคําว่า ขอม นั่นเอง[21]

สุรินทร์

ภาษาเขมรเป็นภาษาพูดของประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ซึ่งอาศัยอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดสุรินทร์ แต่หนาแน่นที่สุดได้แก่ อําาเภอเมืองสุรินทร์ อําเภอท่าตูม อําเภอลําดวน อําเภอปราสาท อําเภอกาบเชิง อําเภอสังขะ กิ่งอําเภอพนมดงรัก กิ่งอําเภอเขวาสินรินทร์ อําเภอศีขรภูมิ และอําเภอจอมพระ ซึ่งชาวเขมรเป็นประชากรส่วนใหญ่ตามพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ภาษาของชาวเขมรสุรินทร์มีลักษณะภาษาเช่นเดียว กับภาษาเขมรในศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีชาวกูยกระจายอยู่เกือบทุก อําเภอในจังหวัดสุรินทร์ และอาศัยอยู่หนาแน่นในพื้นที่อําเภอสําโรงทาบ อําเภอศีขรภูมิ อําเภอจอมพระ อําเภอท่าตูม อําเภอสังขะ กิ่งอําเภอ ศรีณรงค์ และอําเภอบัวเชด

บุรีรัมย์

จังหวัดบุรีรัมย์มีประชากรที่พูดภาษาเขมรเช่นเดียวกับศรีสะเกษ และสุรินทร์ แต่มีมากที่สุดถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งจังหวัด จะใช้ พูดกันมากในแถบอําเภอเมืองบุรีรัมย์ อําเภอกระสัง อําเภอประโคนชัย อําเภอห้วยราช อําเภอสตึก อําเภอพลับพลาชัย อําเภอบ้านกรวด อําเภอละหานทราย และบางส่วนของอําเภอคูเมือง นอกจากนั้นยังมีชาวกูย ประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่อําเภอสตึก อําเภอประโคนชัย อําเภอหนองกี่ อําเภอกระสัง กิ่งอําเภอ บ้านด่าน และอําเภอพลับพลาชัย

สระแก้ว

ประชากรที่อาศัยตามแนวชายแดนของจังหวัดสระแก้วส่วนมากเป็นชาวเขมร ในเขตอําเภอตาพระยา กิ่งอําเภอโคกสูง และบ้านตุ่น บ้าน ดาวน์โหหนองบัวเหนือ ตําบลบ้านด่าน อําเภออรัญประเทศ บางตําบลของอําเภอคลองหาดกลุ่มคนที่พูดภาษาเขมรเป็นคนเชื้อชาติเดียวกับชาวกัมพูชาในปัจจุปัน ภาษาเขมรสระแก้วจึงไม่แตกต่างจากภาษาเขมรที่ใช้ในกัมพูชา

ชาวเขมรเป็นผู้คนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาและในปี พ.ศ. 2449/ค.ศ. 1907 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้อพยพชาวเขมรเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตปราจีนบุรี ต่อมาแยกเป็นจังหวัดสระแก้ว และในเหตุการณ์สงครามเวียดนามและสงครามใน กัมพูชา ระหว่างปี พ.ศ. 2518-2524/ค.ศ. 1975-1981 ก็มีการอพยพของ ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเข้ามาฝั่งไทยจํานวนมาก

นอกจากนี้ยังมีชาวกูยอาศัยอยู่ที่บ้านฝักมีด ตําบลคลองหินปูน อําเภอวังน้ําเย็น หมู่ 6 และหมู่ 10 ตําบลเขาสามสิบ อําเภอเขาฉกรรจ์ และบ้านน้อยละลมติม ตําบลโคกสูง กิ่งอําเภอโคกสูง บ้านกุดเตย ตําบลตาพระยา อําาเภอตาพระยา

จันทบุรี

ชาวเขมรในจังหวัดจันทบุรีส่วนมากอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตามหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านแหลม บ้านโอลําเจียก และ บ้านผักกาด อําเภอโป่งน้ําร้อน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวชอง (Chong) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่มาตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งของตนเอง เช่นในอําเภอโป่งน้ําร้อน อําเภอมะขาม เป็นต้น ชาวชองพูดภาษาของ ตนเอง ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์ และจันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีชาวชองอาศัยอยู่มากกว่าจังหวัดอื่นๆ

ตราด

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดตราด นอกจากชาวเขมรแล้ว ยังมีชาวชองเช่นเดียวกับจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนักมานุษยวิทยาจัดชาวชองอยู่ในกลุ่มมอญ-เขมร อาศัยอยู่ตามป่าเขา มีภาษาพูดของตนเอง ไม่มีภาษาเขียนหาเลี้ยงชีพโดยการหาของป่า ใช้ชีวิตเรียบง่ายตามธรรมชาติ เครื่องมือ เครื่องใช้ทําจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น เครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า หาของป่านํามาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า อาหารกับคนในเมือง ชาวชองในตราดอาศัยอยู่แถบอําเภอเมือง อําเภอบ่อไร่ อําเภอเขาสมิง มีหลายหมู่บ้าน

 

 

แผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่พูดภาษาเขมร ภาษากูย ภาษาซอง ภาษาลาว และไทย ตามลำดับ (เพิ่มเติมข้อมูล โปรดดูจาก http://www.mapculture.org)

 

“เยี่ยมเยือน” ชายแดนไทย-กัมพูชา

จากการศึกษาของผู้เขียน ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง การท่องเที่ยวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา หลังสิ้นสุดสงครามเย็น : อัตลักษณ์ จิตจํานง และโอกาส (Border Tourism between Thailand and Cambodia after the End of the Cold War: Identity, Spirit, and Prospect 2008) พบว่า ระยะเวลาก่อนหน้าและระหว่างช่วงเวลาของ “ยุคสงครามเย็น” นั้น แนวพรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชาถูกปิด ไม่อนุญาตให้มีการข้ามพรมแดนไปมาอย่างเป็นทางการ นอกจากการข้ามพรมแดนตามภารกิจของเหล่าทหาร และการข้ามไปมาหากันของ

บรรดาผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศกัมพูชาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 หรือประมาณปีพุทธศักราช 2530 เป็นต้นมา ประกอบกับนโยบายของประเทศไทยที่สนับสนุนการ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” จึงทําให้แนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มเปิดตัว และเริ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นลําดับ

งานศึกษาดังกล่าวได้เสนอคําอธิบายว่า การปรากฏตัวขึ้นของลัทธิการท่องเที่ยวชายแดน ได้กลายเป็นแรงผลักดันสําคัญที่ทะลุทะลวงแนวเส้นเขตแดน ซึ่งแต่เดิมเส้นเขตแดนนี้ถูกมองว่าเป็นปราการกั้นขวางระหว่าง 2 ประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ลัทธิการท่องเที่ยวชายแดนจึงแสดงความเกี่ยวพันกันระหว่าง “พรมแดนรัฐชาติ” กับ “พฤติกรรม ดาวน์ของนักท่องเที่ยว” รวมทั้งวิถีการดําเนินชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนว

 


รูปแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง "เส้นเขตแดน" กับ "มโนทัศน์" ต่อพื้นที่ชายแดน (ปรับปรุงจาก Timothy 2001, 11 อ้างใน Akkharaphong K. 2008)

 

ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนั้นยังพบว่ามีการประชันกันของ “มโนทัศน์” ต่อเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นการช่วงชิงระหว่างความ หมายที่เกิดจาก “ลัทธิชาตินิยม” และความหมายที่เกิดจาก “ลัทธิท่อง เที่ยวนิยม”

 

เนื่องจากในด้านหนึ่ง เส้นพรมแดน คือ สัญลักษณ์ของการแบ่งแยกระหว่าง “พวกเรา” กับ “พวกเขา” และ “ที่นี่” กับ “ที่โน่น” หรือ “ภายใน” กับ “ภายนอก” แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า การเปิดออกของพรมแดนระหว่างประเทศจะสามารถลดระดับของอคติและความขัดแย้งระหว่างกันและกันลงได้ ดังนั้น บรรดาผู้คนที่เคยได้ไปเยี่ยมเยือน บริเวณแนวชายแดนและผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน สําหรับเขาเหล่านั้น เส้นเขตแดนได้ถูกลดความหมายและความสําคัญในฐานะเครื่องขีดกั้นระหว่างประเทศ แต่กลับกลายมาทําหน้าที่เช่นเดียวกับประตูที่นําไปสู่ช่องทางการหันหน้าเข้าหากันของทั้ง 2 ประเทศ[22]

นอกจากนี้ เราอาจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง “เส้นเขตแดน” กับ “มโนทัศน์” ต่อพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจชายแดนไทย-กัมพูชา โดยแบ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่

1. เส้นเขตแดนในฐานะอุปสรรค (barrier) เป็นมโนทัศน์ทางการเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อความมั่นคงทางอํานาจของ “ศูนย์กลาง” ความสัมพันธ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเส้นเขตแดนมีผลกระทบต่ออธิปไตยของรัฐ เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร และสามารถนําไปสู่ความขัดแย้ง เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดน ระหว่างรัฐได้

2. เส้นเขตแดนในฐานะจุดหมายร่วม (destination) เป็นมโนทัศน์ทางเศรษฐกิจซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ความสัมพันธ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเส้นเขตแดนถูกลดความสําคัญลง หลังจากรัฐที่อยู่ติดกันสามารถบรรลุข้อตกลง ระหว่างกันได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชากรสามารถดําเนินกิจกรรมทาง ดาวน์เศรษฐกิจได้

3. เส้นเขตแดนในฐานะพื้นที่พัฒนา (modifier) เป็นมโนทัศน์ทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการคลี่คลายปัญหาทางการเมืองระหว่างรัฐ และเป็นผลสืบเนื่องจากกลไกทางเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมากขึ้น ทําให้พื้นที่ชายแดนได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนตามแนวชายแดนของทั้ง 2 รัฐ ตัวอย่างเช่น สมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปสามารถเดินทางข้าม “เส้นเขตแดน” ได้อย่างอิสระ

ทั้งนี้ “มโนทัศน์” ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว อาจเกิดขึ้นตลอดแนวเส้นเขตแดน หรือเกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของเส้นเขตแดนก็ได้ขึ้น อยู่กับความจําเป็นและเหตุปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ “ศูนย์กลาง” อํานาจรัฐจะให้ความหมายและดําเนินการให้ “มโนทัศน์” เหล่านี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ปรากฏว่ามี “มโนทัศน์” ทั้ง 3 ประเภทเกิดขึ้นตลอดแนวชายแดนที่มี ความยาวกว่า 800 กิโลเมตร ตามจุดผ่านแดนฯ และจุดผ่อนปรนฯ ต่าง ๆ ระหว่างไทยกับกัมพูชา[23]

เป็นที่น่าสนใจว่า จากสถิติจํานวนผู้เดินทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ผ่านจุดผ่านแดนถาวรทางบกระหว่างปี พ.ศ. 2545-2552/ค.ศ. 2002-2009 จะพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากความสะดวกของเส้นทางคมนาคม ความดึงดูดใจของแหล่งท่องเที่ยว เช่น นครวัด-นครธม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายแดน สามารถเดินทางไป-กลับ ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และราคาไม่แพงมากจนเกินไป ดังนั้น คงไม่ง่ายนักที่จะกล่าวถึงวิถีชีวิตของผู้คนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เนื่องจากผู้ที่อยู่ห่างไกลชายแดน หรือผู้ที่ยังไม่เคยไปเยี่ยมเยือนพื้นที่ชายแดนอาจจะจินตนาการไม่ค่อยออกว่าวิถีชีวิตของเพื่อนมนุษย์แถบชายแดนเป็น อย่างไร ผู้เขียนจึงขอนําเสนอภาพถ่ายเพื่อแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหว ของผู้คนและวิถีชีวิตประจําวันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ดังนี้

 

 

 

 

บทส่งท้าย

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย และความแตกแยกทางความคิดของผู้คนในสังคมไทย เกี่ยวกับปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา และการกําหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับ กัมพูชา ผู้เขียนขอเสนอแนวทางกว้าง ๆ ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าว ดังนี้

หลักการข้อที่ 1 ในการเจรจาและการตกลงเกี่ยวกับปัญหา ระหว่างไทยกับกัมพูชา นั้น ต่างฝ่ายย่อมมีความเท่าเทียมกันที่จะนําข้อมูล และหลักฐานเพื่อยืนยันถึงผลประโยชน์ โดยต้องคํานึงถึงประเทศชาติของตนให้มากที่สุด ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏใน เอกสารทางกฎหมาย เช่น สนธิสัญญา (treaty) อนุสัญญา (convention) พิธีสาร (protocol) ข้อตกลง (agreement) บันทึกวาจา (process verbal) ปฏิญญา (declaration) บันทึกความเข้าใจ (memorandum of under-standing) รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ เช่น คําพิพากษาศาล ซึ่งได้ร่วมตกลงกันมาแล้วอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

หลักการข้อที่ 2 ต่างฝ่ายต้องยอมรับในสิทธิและศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่จะเจรจากันด้วยแนวทางแห่งมิตรภาพ ความจริงใจ และมีเจตนาความบริสุทธิ์ ไม่นํา “อคติ” ที่อาจจะ เกิดขึ้นจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์นานัปการของฝ่ายตน มาปะปนกับ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามหลักการในข้อ 1

หลักการข้อที่ 3 หากเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากมีความขัดแย้งใน ทางความเห็นด้านหลักฐานเอกสารตามหลักการในข้อ 1 และ/หรือเกิดความระแวงสงสัยและไม่ลงรอยกันตามหลักการในข้อ 2 ควรพิจารณาว่าการเจรจาที่เกิดขึ้นทั้งหลายมีจุดประสงค์เพื่อสิ่งใด หากมีจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพความสงบสุขและความมั่งคงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้ง 2 ประเทศแล้ว ก็ควรยึดหลักการแห่งเหตุและผลเพื่อทําความประสงค์นั้นให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ “คน ท้องถิ่น” เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ดังที่ “กฎบัตรอาเซียน" ระบุเอาไว้ว่า

เรา บรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน

รับทราบด้วยความพึงพอใจในความสําเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียนนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน

โดยระลึกถึงการตัดสินใจจัดหากฎบัตรอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทํากฎบัตรอาเซียน และปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตรอาเซียน

ตระหนักถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างประชาชนและรัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความผูกพันกันทางภูมิศาสตร์ตลอดจนมีวัตถุประสงค์และชะตาร่วมกัน

ได้รับแรงบันดาลใจและรวมกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน อัตลักษณ์เดียวกัน และประชาคมที่มีความเอื้ออาทรเดียวกัน

รวมกันด้วยความปรารถนาและเจตจํานงร่วมกันที่จะดํารงอยู่ในภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพที่ถาวร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางสังคมร่วมกัน และที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ อุดมการณ์ และแรงดลใจที่สําคัญของอาเซียน

เคารพความสําคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่ แทรกแซงในกิจการภายใน ฉันทามติและเอกภาพในความหลากหลาย

ยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ตกลงใจที่จะประกันการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และตั้งมั่นให้ความอยู่ดีกินดี การดํารงชีวิตและสวัสดิการของประชาชนเป็นแกนของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

เชื่อมั่นในความจําเป็นที่จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาค เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่มีความเหนียวแน่นทางการเมือง การรวมตัวทางเศรษฐกิจ และมีความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อที่จะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันและอนาคต

ผูกพันที่จะเร่งสร้างประชาคมโดยผ่านความร่วมมือ และการรวมตัวในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยข้อตกลงอาเซียนฉบับที่ 2

ในการนี้ จึงตกลงใจที่จะจัดทํากรอบทางกฎหมายและทางสถาบันของอาเซียนโดยกฎบัตรนี้

และเพื่อการนี้ ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมาประชุมกันที่สิงคโปร์ ในวาระประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งอาเซียน ได้เห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียนนี้ (จาก คําแปล ภาษาไทย “อารัมภบท” ใน กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2550/ค.ศ. 2007)

 

หมายเหตุ

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตแล้วจาก ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้เขียน และ ศ. ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้จัดพิมพ์ต้นฉบับ โดยคัดสรรต้นฉบับจากกองบรรณาธิการ
  • คงอักขรและรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
  • ขอขอบคุณภาพประกอบจากต้นฉบับและหอสมุดปรีดี พนมยงค์ 

 

บรรณานุกรม :

  • อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ธนศักดิ์ สายจำปา, ดุลยภาค ปรีชารัชช, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ, เขตแดนสยามประเทศไทย-มาเลเซีย-พม่า-ลาว-กัมพูชา ,(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2534).

 


[1] Newman 2006, p. 171-172.

[2] ราชบัณฑิตยสถาน 2549, 83

[3] ราชบัณฑิตยสถาน 2545, 11

[4] ราชบัณฑิตยสถาน 2549, 81

[5] ราชบัณฑิตยสถาน 2545, 11

[6] สมเกียรติ วันทะนะ 2530, 83

[7] เติม 2546, 42

[8] ราชบัณฑิตยสถาน 2545, 15

[9] เติม 2546, 42

[10] ศิลปากร 2551, 181

[11] จอห์น เบาว์ริง 2547, 43

[12] ทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี2548, 245

[13] แผนที่ทหาร 2528, 1-2

[14] ศิลปากร 2519, 67-70

[15] ศิลปากร 2519, 69-70

[16] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2552, 27-84; ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2552, 129-170

[17] (โปรดอ่านงานของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2552, 65-84; ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2552, 93-106)

[18] ทําเนียบนายกรัฐมนตรี 2505, 51

[19] แผนที่ทหาร 2549, 153

[20] กองเขตแดน, กรกฎาคม 2553

[21] จิตร ภูมิศักดิ์ 2544, 407-415

[22] Akkharaphong K. 2008, p. 1-2

[23] โปรดดูใน แผนที่และตารางจุดผ่านแดน