Focus
- ปรีดี พนมยงค์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เริ่มปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นและวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการจัดตั้งระบบเทศบาล ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองผ่านการเลือกตั้งสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี นโยบายนี้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ว่า "การปกครองของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" และเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชน
- ภายหลังการปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ออกนอกประเทศไประยะหนึ่งเพื่อเจรจาปรับแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยได้ผล คือ อิตาลี: ปรีดีเจรจากับเบนิโต มุสโสลินี และได้รับคำมั่นว่าจะยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมระหว่างอิตาลีกับไทย ฝรั่งเศส: ปรีดีพบกับนายกรัฐมนตรีปีแอร์ ลาวาล แต่ฝรั่งเศสเพียงให้คำมั่นว่าจะพิจารณาเรื่องการยกเลิกสนธิสัญญา ไม่ได้ให้คำตอบชัดเจน อังกฤษ: ปรีดีเจรจากับเซอร์ แซมมวล ฮอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ และประสบความสำเร็จในการลดดอกเบี้ยเงินกู้จาก 5% เหลือ 4% ต่อปี สหรัฐอเมริกา: ปรีดีได้รับคำมั่นจากรัฐมนตรีต่างประเทศคอร์เดล ฮัลล์ ว่าจะยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น: ญี่ปุ่นยอมยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม แต่พยายามชักชวนให้ไทยร่วมนโยบายต่อต้านตะวันตก ซึ่งปรีดีปฏิเสธไปอย่างสุภาพ

นายปรีดี พนมยงค์ กับพระยาพหลพลพยุหเสนา
รัฐมนตรีลอย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายงานราชการบริหารทั่วไปจากนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ให้ดูแลและสั่งการแทนท่านเป็นการภายใน ในครั้งนั้นถ้ามีปัญหาเรื่องใด ๆ เกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องวินิจฉัยหรือให้คำตอบแล้ว เจ้าคุณพหลฯ ก็มักจะโยนเรื่องเหล่านั้นไปยัง ดร.ปรีดี พนมยงค์ “ถามหลวงประดิษฐ์ฯ ดูซิ” แล้วทุก ๆ เรื่องก็ผ่านไปด้วยดี เป็นไปในทางที่ว่า เจ้าคุณพหลฯ มีความเบาอกเบาใจและรู้สึกสบายขึ้นที่มี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้าร่วมในการบริหารและอยู่ใกล้ท่าน ส่วน ดร.ปรีดี พนมยงค์ เล่าก็ได้อุทิศกําลังกายสติปัญญาทำงานให้แก่ชาติอย่างที่สุด
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปรากฏการอันเป็นการคัดค้านและขัดแย้งกันขึ้นในบรรดาเล่ารัฐมนตรีทั้งหลาย ที่ได้ร่วมมือทำการปฏิวัติมาด้วยกัน สาเหตุนั้นเนื่องมาจากการที่มีรัฐมนตรีบางคน ซึ่งก่อนนี้พยายามขัดขวางไม่ให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้ามาร่วมในราชการบริหารและบัดนี้ก็ยังคงขัดขวางอยู่ เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความปรีชาสามารถในการบริหารและเป็นที่ไว้ใจของเจ้าคุณพหลฯ ซึ่งบุคคลนั้นเห็นว่าเป็นการแข่งดีกับตน ยิ่งกว่านั้นปรากฏการณ์อันนี้ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นภายหลังการปราบกบฏบวรเดชไปแล้ว นโปเลียนโบนาปาร์ต ผู้ซึ่งเริ่มรู้จักบทเรียนไปสู่อำนาจในคราวการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส และฟันฝ่าไต่ขึ้นสู่ตำแหน่งจักรพรรดิ์ฉันใด เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในคณะปฏิวัติไทยก็เป็นไปฉันนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการขัดขวางคัดค้าน เจ้าคุณพหลฯ ผู้ซึ่งมีความรักชาติ และหวังต่อชาติทั้งกายวาจาและใจ ก็ได้อดทนและไม่สนใจต่อการคัดค้านขัดขวางอันเห็นแก่ตัวยิ่งกว่าชาติและส่วนรวมนั้นเสีย หลายครั้งที่นายกรัฐมนตรีได้ขอร้องให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทำงานให้ชาติบ้านเมืองสืบเนื่องไปจากกิจการบริหารในเรื่องต่าง ๆ ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้วางรากฐานเบื้องต้นไว้แล้ว ตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศ แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งแม้จะมีความรักชาติอย่างเต็มเปี่ยมและอุทิศชีวิตให้แก่ชาติแล้วก็ตาม ในขณะนี้เห็นว่า การที่เป็นรัฐมนตรีลอยเช่นนี้ก็สามารถทำงานให้แก่ชาติบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างคณะปฏิวัติด้วยกัน เป็นเหตุการณ์ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจว่าควรจะรอดูต่อไป
อีกประการหนึ่งที่ทำให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องปฏิเสธข้อเสนอของเจ้าคุณนายกฯ ก็คือ การที่เห็นว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงใหญ่ เป็นกระทรวงที่มีงานมากมาย และงานเหล่านั้นเป็นทางหนึ่งที่นักปฏิวัติอย่าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ พึงพอใจที่จะทำเพื่อให้อุดมคติในการปฏิวัติของตนบรรลุผล งานปกครองเป็นงานสำคัญยิ่ง เป็นงานเกี่ยวกับคน ราษฎรไทยเพิ่งจะเริ่มรู้จักระบอบการปกครองประชาธิปไตย เป็นของใหม่อย่างที่สุด เป็นการปกครองอย่างใหม่ที่ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพและเสมอภาค ทำอย่างไรราษฎรไทยผู้ซึ่งยังไม่เข้าใจและหวงแหนในสิ่งเหล่านี้ จะได้เข้าใจและรู้จักใช้สิทธิเสรีภาพของตนให้ถูกต้อง จะทำอย่างไรที่จะให้ความหมายของคำประชาธิปไตยที่ว่า เป็นการปกครองของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร เป็นไปสมความมุ่งหมาย กล่าวโดยสรุปก็คือ จะทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ใช่อำเภอใจ สถิตย์อยู่ชั่วกาลนาน
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ และอันนี้ก็คือ หมายความว่า การที่จะต้องทำการปฏิรูปบางสิ่งบางอย่าง กล่าวคือ การปกครอง ปฏิรูปคนและจิตใจของคน กระทรวงมหาดไทยมิใช่เป็นกระทรวงใหญ่ที่มีงานมากมายอย่างเดียว แต่เป็นกระทรวงที่มีข้าราชการมากที่สุด ร่วมแสนคน ตั้งแต่ข้าราชการในกระทรวงตลอดไปจนถึงข้าราชการในจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน ดร.ปรีดี พนมยงค์ แม้จะมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำงานให้แก่ชาติบ้านเมือง เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ก็ตาม แต่ในขณะนี้ก็ยังคิดเห็นไปในทางที่ว่า ถ้าตนยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็จะเกิดการแตกแยกและแตกสามัคคีในคณะปฏิวัติด้วยกัน เพราะคนที่อิจฉาริษยาได้แสดงชัดอยู่แล้วว่าไม่พึงใจที่จะให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำอะไรที่จะก่อให้เกิดผลเด่นกว่าตน หรือได้รับความนิยมจากข้าราชการราษฎร ยิ่งกว่าตน แต่บุคคลผู้นั้นมิได้คิดถึงชาติบ้านเมือง คงคิดสั้น ๆ เพียงแค่นั้น ๆ
เมื่อเวลาล่วงเลยมาพอสมควร พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ก็ตกลงใจอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือยืนยันที่จะให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งบริหารที่ท่านต้องการ ท่านกล่าวว่า จงช่วยกันทํางานให้แก่ชาติบ้านเมืองตามอุดมคติ และขออย่าให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ปฏิเสธ และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้กล่าวแก่บรรดาเพื่อนการปฏิวัติมาด้วยกัน ว่า ขอได้ให้ทำงานตามอุดมคติ ไม่ต้องการเกียรติคุณชื่อเสียงอันใด ขอให้ได้ทํางานเท่านั้น เหตุการณ์ในวันที่มีการตกลงกันนั้นดูทีท่าว่าจะแจ่มใสไม่น้อย ฉะนั้น การแต่งตั้ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้บังเกิดขึ้นในวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ วันครบ ๖ เดือน ตั้งแต่กลับเข้ามาจากต่างประเทศ
นับแต่วันเข้าดำรงตำแหน่งมาได้ประมาณ ๓ เดือน ดร.ปรีดี พนมยงค์ เริ่มรู้สึกว่า ตนได้ผจญกับคลื่นใต้น้ำเข้าแล้ว ความแจ่มใสในวันที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการนั้น บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นความมืดครึ้ม เป็นการแสดงชัดว่า พายุใหญ่ที่แฝงตัวอยู่ในวันโน้นจะจู่โจมเข้าแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ เริ่มรู้สึกลำบากใจและคับใจ และยิ่งรู้สึกมากขึ้นทุกที ความรู้สึกที่ได้รับเหล่านี้มิใช่ความรู้สึกที่เกิดจากการบริหาร จริงอยู่งานกระทรวงมหาดไทยเป็นงานที่มาก ที่สำคัญ และที่หนัก แต่งานเหล่านี้มิได้อยู่เหนือความวิริยะสามารถของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เลย เมื่อเริ่มเป็นรัฐมนตรีลอยก็ได้เริ่มวางรากฐานของการปกครองลงไว้แล้ว และในกระทรวงมหาดไทยนี้ก็ได้ต่อเติมสร้างขึ้นให้สมบูรณ์ครบถ้วน เป็นการวางรากฐานสร้างรูปการปกครอง แบบประชาธิปไตยไว้ให้มั่นคง หลังที่ระเบียบราชการบริหารแผ่นดินออกใช้แล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้จัดรูปราชการบริหารส่วนภูมิภาค และที่สำคัญยิ่งก็คือ การบริหารส่วนท้องถิ่น คือ การปกครองโดยระบอบเทศบาลขึ้น เพื่อให้ราษฎรปกครองตนเองอย่างชัดเจน พระราชบัญญัติเทศบาลจึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องตามระบอบรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติเทศบาลอันเป็นแม่บทของระบอบเทศบาลนั้น ให้มีสภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ทำนองเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎร มีคณะเทศมนตรีดำเนินการบริหารท้องถิ่นทำนองเดียวกับคณะรัฐมนตรี มีนายกเทศมนตรีทำนองเดียวกับนายกรัฐมนตรี การปกครองระบอบเทศบาลของส่วนท้องถิ่นนี้นับว่า เป็นการปกครองราษฎรโดยราษฎร เพื่อราษฎร อย่างใกล้ชิดที่สุด และเป็นการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่ราษฎร เป็นหลักประกันว่า ระบอบประชาธิปไตยยากที่จะถูกกวาดล้างให้สิ้นไปได้ ในเมื่อหลักประกันอันนี้ยังมีอยู่ นี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สร้างไว้
งานด้านอื่น ๆ ของกระทรวงมหาดไทย ก็ได้รับการบริหารไป ด้วยดีรวดเร็วและถูกต้อง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อุทิศตนรับใช้ชาติตลอดเวลา ข้าราชการในตำแหน่งใหญ่ ๆ ได้รับการคัดเลือกบรรจุเป็นไปตามคุณวุฒิความรู้ ความสามารถ เหมาะสมแก่ตำแหน่ง ไม่มีการเล่นพวก หรือเห็นแก่หน้าใคร ทุกคนในกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนราษฎรทั่วไป ได้รับความพึงพอใจและสรรเสริญรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าทั่วกัน
อะไรเล่าที่ก่อความหนักใจและคับใจให้แก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จนถึงในที่สุดเกิดท้อใจขึ้น สิ่งนั้นก็คือ พายุแห่งความอิจฉาริษยาที่ตั้งเค้ามานานแล้วนั้นเอง บัดนี้ได้กระพือพัดเข้าใส่อย่างรุนแรงและรุนแรงยิ่งขึ้น มีรัฐมนตรีบางคนซึ่งได้ละลืมอุดมคติแสดงอาการอิจฉาริษยาและคอยแต่จะทำการอันเป็นการปัดแข้งปัดขาอยู่ตลอดเวลา ดร.ปรีดี พนมยงค์ รู้สึกว่าเป็นการถูกปัดขาอย่างประหลาดที่สุด ที่ว่าประหลาดก็คือว่า การปัดขานั้นไม่ใช่เป็นการทำลาย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ขัดขวางไม่ให้ทำงานแต่อย่างเดียว แต่ยังเป็นการปัดขาที่ถ่วงความเจริญของชาติบ้านเมือง แต่บุคคลนั้นก็มิได้รู้สึกสำนึก
ประการหนึ่งในเวลาใกล้ ๆ กันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยเสนอว่า “ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอในท้องที่ชายแดน ขอให้ตั้งจากนายทหาร” ตามบัญชีจำนวนข้าหลวง และนายอําเภอชายแดนนั้นมีอยู่ราว ๒๐๐ คน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ใคร่ครวญพิจารณาดูอย่างถ่องแท้หลายครั้งหลายหนแล้ว ก็เห็นไปในทางที่ว่า อันการปกครองราษฎร ซึ่งเป็นพลเมืองและเป็นพลเรือนนั้นมีลักษณะผิดแผกกับการปกครองทางการทหารอย่างตรงข้ามทีเดียว อีกประการหนึ่ง สภาพการณ์บ้านเมืองในเวลาก็เป็นปกติ ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข เพราะบรรดาตัวเจ้าหน้าที่อันเป็นข้าหลวงและนายอำเภอที่ได้จัดวางออกไปประจําตําแหน่งแล้วนั้น ก็ล้วนแต่ได้ใช้ความรู้ในการปกครอง ความสามารถในการปกครองให้เกิดผลดีแก่ราษฎรและระบอบ ประชาธิปไตยเป็นอย่างดียิ่ง นโยบายของรัฐมนตรีมหาดไทย และแม้นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีเป็นส่วนรวมไม่ประสงค์อะไรมากกว่า การดำเนินการตามหลัก ๖ ประการของคณะปฏิวัติ ในด้านนโยบายการต่างประเทศก็คือ ยึดถือหลักการสันติภาพเป็นมิตรที่ดีกับทุก ๆ ประเทศ และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับประเทศใกล้เคียง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจว่า เมื่อจะดำเนินการปกครองไปตามความมุ่งหมายเหล่านี้แล้ว การที่จะแต่งตั้งนายทหารเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอ ชายแดนราว ๆ ๒๐๐ คนนั้น ไม่อาจจะยินยอมได้ ถ้ายอมให้เป็นไปตามคำเสนอนั้นแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่อาจจะบริหารในด้านกระทรวงมหาดไทยได้ ฉะนั้น คำตอบที่รัฐมนตรีมหาดไทยตอบรัฐมนตรีกลาโหม จึงเป็นคำตอบที่ฟ้าถือว่าเป็นการท้าทาย ขัดขวาง ชอบที่จะผ่าเปรี้ยงลงมารอยร้าวในหมู่รัฐมนตรีที่เป็นคณะปฏิวัติด้วยกันก็ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รู้สึกท้อใจ และยิ่งรู้สึกท้อใจมากขึ้น
เมื่อเห็นอยู่ชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แม้แต่เจ้าคุณพหลฯ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีก็อยู่ในอาการลำบากมาก พบกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทีไร เมื่อเป็นการส่วนตัว ก็ได้ปรารภให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ฟังถึงความรู้สึกลำบากใจที่ท่านได้รับอยู่ ท่านยกมือขึ้นทุบอกของท่าน พร้อมกับกล่าวว่า “คนมันอยากได้ที่ฉัน (ตำแหน่งนายกฯ) พูดไม่ออก พูดไม่ออก มันอยู่ในนี้ ๆ” แต่ เจ้าคุณพหลฯ เป็นทหาร และเป็นนักสู้ชนิดสู้ตาย สมดั่งคําอันเป็นมติประจําใจ ของท่าน “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” ทีเดียว และสำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เล่า ก็เป็นนักสู้คนหนึ่งเหมือนกัน แม้จะเป็นพลเรือน แต่ทว่า การแตกร้าวในระหว่างเพื่อนฝูงอันเคยร่วมกอดคอสู้ตายทำการปฏิวัติมาด้วยกัน มันเป็นเรื่องศัตรูภายใน และเป็นศัตรูที่เกิดขึ้น แก่ใจ หาใช่ศัตรูภายนอก หรือศัตรูทางการเมืองอันคอยลอบกัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องการที่จะให้ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะยังคงอยู่และปรารถนาอย่างที่จะให้ดำเนินการบริหารชาติบ้านเมืองไปในทางที่บรรลุอุดมคติ นำความสุขความสมบูรณ์มาสู่ราษฎรไทย แต่เมื่อฟ้าแห่งความอิจฉาริษยาได้ผ่าเปรี้ยงลงมาครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ทำให้ต้องตัดสินใจ เลือกเอาในทางที่จะให้ความสามัคคีในหมู่คณะยังคงมีอยู่ ในกาลต่อไปด้วยอำนาจแห่งเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง นอกจากความสามัคคีจะมีอยู่แล้ว บรรดาเพื่อนที่ทำการปฏิวัติมาด้วยกันจะได้ละทิ้งความรู้สึกเห็นแก่ตัว และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและราษฎร ในโอกาสนั้นก็จะได้ร่วมการบริหารกันต่อไป
ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงบอกให้ ดร.ทวี ตะเวทิกุล ศิษย์ของท่าน ไปซื้อกระเป๋าเดินทางและให้เตรียมสิ่งของอันจำเป็นลงกระเป๋า เดินทางออกไปอยู่เสียนอกประเทศ ให้พ้นหูพ้นตา และด้วยความหวัง ว่า ความสามัคคีจะยังคงอยู่ในหมู่คณะต่อไป แต่ความต้องการของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในครั้งนี้ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อพระยาพหลฯ ได้ ทราบข่าวเข้า ก็รีบรุดมาพบ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ท่านกล่าวแก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่า “คุณหลวงไปไม่ได้ อยู่กับผม ช่วยกันทำงานต่อไป ขอให้อดทนอย่างที่ผมอดทน” ฉะนั้น บรรดาเสื้อผ้าที่จัดลงกระเป๋าเดินทางแล้วก็ถูกรื้อคืน

นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งเดินทางไปเจรจากับสัมพันธมิตรยุโรปในปี 2477
ไม่นานนัก ความตั้งใจของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่จะออกไปต่างประเทศก็ประสบความสำเร็จ วันหนึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องเงินกู้ต่างประเทศ และมีเงินกู้รายหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กู้มาจากประเทศอังกฤษ เป็นรายที่ประเทศไทยต้องเสียดอกเบี้ยแพง คือดอกเบี้ยสูงมาก ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า วิธีแก้เศรษฐกิจตกต่ำของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็คือ ใช้วิธีรีดเอาภาษีอากรจากราษฎรประการหนึ่ง ดุลย์ข้าราชการออกจากงานประการหนึ่ง และกู้เงินต่างประเทศอีกประการหนึ่ง ซึ่งได้ปรากฏแล้วว่า ไม่มีผลดีอะไรต่อราษฎร แต่มีผลดีเฉพาะบุคคลบางชั้นบางเหล่า ที่พอจะเรียกได้ว่าไม่ต้องพรวนดิน ไม่ต้องไถ ไม่ต้องหว่าน ไม่ต้องเก็บ แต่กินเงินดอกเบี้ยที่ต้องเสียแพงก็คือ เงินภาษีอากรที่เก็บ จากราษฎรนั้นเอง รัฐมนตรีคลังจึงเสนอต่อรัฐมนตรีขอให้รัฐบาลจัดการชำระหนี้รายนี้เสียในปีต่อไปที่จะถึง ซึ่งเป็นการเสนอที่ถูกต้อง ในเมื่อดอกเบี้ยที่ต้องเสียนั้นไม่คุ้มกับผลที่ได้จากการที่ใช้ทุนอันเป็นเงินกู้นั้น
ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีมหาดไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทุนสำหรับการลงทุนเพื่อให้เกิดความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎรและประเทศชาติ ถ้าเราใช้หนี้แล้วก็จะทำให้ทุนของเราที่มีอยู่น้อยแล้วน้อยลงไปอีก ส่วนที่เราต้องเสียดอกเบี้ยแพงนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญและพิจารณาแก้ไข อีกประการหนึ่ง หนี้รายนี้ก็ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่ต้องชำระ ถ้าเราสามารถทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องเสียน้อยกว่าผลที่จะได้รับจากการใช้เงิน อันจะต้องชำระให้แก่ต่างประเทศแล้ว เราควรรอและใช้ทุนนั้นให้เป็นประโยชน์ ในที่สุดเมื่อในคณะรัฐมนตรีค่อนข้างจะมีความรู้สึกงงงันต่อข้อเสนอของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็เสนอข้อสุดท้ายเข้าไปว่า “ผมรับไปเจรจาดอกเบี้ยเอง และในขณะเดียวกัน จะหาทางแก้ไขสัญญากับนานาประเทศ สร้างสัมพันธไมตรี อันดีให้เกิดขึ้นด้วย” คณะรัฐมนตรีอนุมัติข้อเสนอนี้ ความรู้สึกของรัฐมนตรีในเวลานี้มีอยู่สองพวก พวกที่หนึ่งขอให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไปและกลับโดยสวัสดิภาพนำความสำเร็จมาสู่ชาติบ้านเมือง แต่อีกพวกหนึ่งมีน้อยคนพอใจที่สุด “ไปเสียเถิด ถ้าไม่กลับมาละเป็นดีแน่” พวกนี้กลัวฝรั่ง ? แต่สำหรับตัว ดร.ปรีดี พนมยงค์ เอง แม้เชื่อในฝีมือทางการทูตและทางการเศรษฐกิจของตน แต่ใจนั้นยังรู้สึกลังเลอยู่ คือ เมื่อไปทำงานให้ชาติก็ต้องให้สำเร็จ และการไปเจรจาครั้งนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็เป็นนายทุนเป็นมหาประเทศซึ่งหวงแหนผลประโยชน์ เคยได้มากตามสัญญา ไม่มีเหตุใดจะลดลงมาให้ได้ ส่วนการแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศมหาอำนาจเพื่อความเป็นธรรมของไทยนั้น ก็มิใช่เรื่องง่าย ๆ โดยเฉพาะ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ซึ่ง ๒ ประเทศแรกเป็น จักรวรรดินิยมอย่างรุนแรง และ ๒ ประเทศหลังมีภาวะการเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก เอาเถอะ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะทำ จะพยายามจนสุดความสามารถ ผลเป็นอย่างไรคอยดู แต่ประการหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่ต้องการจะกลับมาสู่ประเทศไทยอีก จนกว่าความแตกร้าวไร้สามัคคีนั้นจะสูญสิ้นไป
ในวันเดินทาง พระยาพหลฯ ผู้ซึ่งมีความรู้สึกลึกล้ำต่อความรู้สึกของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างดี ได้ไปส่ง อวยพรให้สำเร็จผล และกำชับว่า ขอให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กลับมา มาช่วยบริหารบ้านเมืองต่อไป ท่านยังอยู่ และยังเป็นหลักประกันอยู่ นี่คือคำสุดท้ายที่รัฐบุรุษ ทั้งสองจะจากกันในครั้งนั้น
สถานะทางการเมืองของประเทศไทย และสถานะของสนธิสัญญากับนานาประเทศในขณะนั้นว่ามีอยู่อย่างไร เป็นการสมควรที่จะทบทวนดู โดยสังเขปดังนี้
โดยผลของการที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับเยอรมนี ออสเตรีย เข้าร่วมรบกับสัมพันธมิตรในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๔๖๑) อันเป็นพระปรีชาสามารถอย่างสูงส่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทำให้ประเทศไทยได้รับความยกย่องนับถือว่าเป็นประเทศเอกราช ได้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ แต่เอกราชที่ประเทศไทยมีอยู่นั้น หาใช่เอกราชอันสมบูรณ์ไม่ ทั้งนี้เพราะไทยยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรมกับประเทศต่าง ๆ ถึง ๑๓ ประเทศ และใน ๑๓ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น กล่าวโดยเฉพาะมหาอำนาจฝรั่งเศสก็เป็นเจ้าจักรวรรดิ์ครอบครองอินโดจีน อันประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้คือ เขมร ลาว เวียตนามใต้ เวียตนามเหนืออยู่ ส่วนมหาอำนาจอังกฤษก็เป็นเจ้าจักรวรรดิ์ครอบครองมาลายา สิงคโปร์ พม่า บังคลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน
ทั้งสองประเทศนอกจากมีอาณาเขตล้อมรอบประเทศไทยอยู่แล้วยังมีแสนยานุภาพที่น่าสะพรึงกลัว เท่าที่ผ่านมาสองมหาอำนาจนี้เชือดเฉือนเอาดินแดนประเทศไทยไปทีละชิ้น ๆ หลายต่อหลายครั้งแล้ว มีเหตุผลอะไรที่ไทยจะเรียกร้องหาความเป็นธรรม เพียงแต่ระวังไม่ให้ถูกเฉือนดินแดนไทยไปอีก ก็เป็นภาระที่หนักยิ่งอยู่แล้ว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและ ขุนนางในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งพลเรือนและทหาร มีไม่น้อย ที่เกรง (กลัว) มหาอำนาจทั้งสองนี้ ซึ่งอย่างน้อยท่านผู้อ่านคงทราบจากรายงานการประชุมพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แล้ว
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตระหนักถึงความยากลำบากในเรื่องนี้อยู่เต็มที่ ถ้าทำให้ฝรั่งเศสและอังกฤษเห็นใจยอมแก้ไขสนธิสัญญา ให้เป็นธรรมได้ การขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศอื่นคงจะเป็นผลตามขึ้นมา ถ้าแก้ไขสนธิสัญญาสำเร็จ ก็หมายความว่า โอกาสที่จะดำเนินการตามหลัก ๖ ประการ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของประชาราษฎร ก็มีทางสำเร็จได้ทางหนึ่ง
ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับคณะออกเดินทางโดยเรือโดยสารสัญชาติอิตาลี ไปขึ้นบกของยุโรปที่เมืองเตรียสต์ (Trieste) อิตาลี ในเดือน ตุลาคม ๒๔๗๙ โดยมีเลขาธิการของมุสโสลินีมาต้อนรับ อิตาลีในขณะนั้นฟาสต์ซิสต์มุสโสลินีเข้ามีอำนาจปกครองประเทศแล้ว อิตาลีเป็นประเทศหนึ่งที่ไทยจะต้องขอแก้ไขสนธิสัญญา แต่กว่าจะพบกับมุสโสลินี จอมเผด็จการแห่งอิตาลี หรือที่คนอิตาลี เรียกว่า อิลดุซ (Ilduce) จอมเผด็จการได้ ก็อีก ๑๐ วัน ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงถือโอกาสแห่งการรอคอยนี้ให้สมใจตน กล่าวคือ จับรถไฟไปนครโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ และเข้าเฝ้าแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งกำลังทรงศึกษาอยู่ เสร็จแล้วเดินทางต่อไปกรุงปารีส เพื่อดูลู่ทางเสีย ๒-๓ วัน แล้วกลับไปยังอิตาลีในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ ซึ่งขณะนั้น อิตาลีนอกจากเป็นเดือดเป็นแค้นในเรื่องแย่งการค้ากับญี่ปุ่นอย่างหนักแล้ว ยังได้ส่งกองทหารไปบุกประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งครั้งนั้นยังชื่อว่าอบิสซีเนียอีกด้วย
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าพบมุสโสลินี ได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มุสโสลินีพยามชักจูงให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เห็นด้วยกับตนว่า อังกฤษนั้นคือศัตรูร่วมกันของไทยและอิตาลี แต่ไม่พูดถึงฝรั่งเศสเลย และแสดงการเห็นอกเห็นใจประเทศไทยอย่างมาก ผลของการเจรจาครั้งนี้ก็คือ มุสโสลินีรับรอง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่ายินดียกเลิกสัญญาอันไม่เป็นธรรมระหว่างอิตาลีกับไทยโดยเร็วที่สุด

นายปรีดีในประเทศอิตาลี ระหว่างการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘
ต่อจากอิตาลี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปปารีสอีก เข้าพบนายปีแอร์ ลาวาล (Piere Laval) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ใคร ๆ ก็น่าจะคิดว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นนักเรียนฝรั่งเศสที่มีชื่อโด่งดังคนหนึ่ง น่าจะเจรจาให้เกิดผลได้ง่าย ๆ การคิดดังนั้นเป็นการเอาเรื่องอันค่อนข้างส่วนตัวมาเกี่ยวกับส่วนชาติมากไป มหาอำนาจล่าเมืองขึ้นอย่างฝรั่งเศสหรือจะไม่รักษาและแสวงหาประโยชน์เพื่อชาติของเขา ผลที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เจรจากับนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็คือ คำมั่นว่าจะพิจารณาเรื่องการยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมนี้ อีกนัยหนึ่งไม่ได้บอกว่าจะยอมเลิกหรือไม่ยอมเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมนี้
ต่อจากปารีส ดร.ปรีดี พนมยงค์ เดินทางต่อไปยังกรุงปราก เวียนนา วอร์ซอ แล้วก็กรุงเบอร์ลิน นครหลวงของเยอรมนี เยอรมนีในขณะนั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) จอมเผด็จการผู้เป็นประมุขแห่งนาซี (Nazi) ได้ครองอำนาจแล้ว การมาสู่นครเบอร์ลินครั้งนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ประสงค์จะเปิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและพาณิชย์กับเยอรมนีเท่านั้น เพราะสนธิสัญญาระหว่างไทยกับเยอรมนีได้เลิกไปแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติ ดร.จัลมาร์ ชาคท์ เนื่องจากเยอรมนีควบคุมการค้าและการเศรษฐกิจทั้งหมดโดยเข้มงวด การเจรจาครั้งนี้จึงไม่มีผลอันใดมากนัก สิ่งที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ก็คือ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในองคาพยพทางการเมืองของเยอรมนีโดยตนเอง จากเบอร์ลิน ดร.ปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปยังกรุงลอนดอน โดยผ่านกรุงปารีส

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ เซอร์ แซมมวล ฮอร์ (Sir Samuel Hoare)
ในกรุงลอนดอน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พบกับเซอร์ แซมมวล ฮอร์ (Sir Samuel Hoare) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ผลของการเจรจาเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมแก่ไทย นั้นก็คือเช่นเดียวกับที่ได้รับจากฝรั่งเศสนั้นเอง นั่นคือ “จะพิจารณาเรื่องการยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมนี้ด้วยดี” แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้อง เจรจากับอังกฤษ คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้
การเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างลูกหนี้ คือ ประเทศไทยอันมีรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นผู้แทน กับเจ้าหนี้ ได้ดำเนินไปด้วยดี ด้วยความเชี่ยวชาญในเชิงวิชาการการทูต และด้วยบุคลิกลักษณะส่วนตน เจ้าหนี้ได้มีความเห็นอกเห็นใจต่อประเทศไทยเป็นอย่างดี อย่างไม่คาดหมายว่า ประเทศไทยจะได้รับเลย ผลที่สุด ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ เจ้าหนี้ยอมลดดอกเบี้ยให้ เงินกู้รายนี้ คือ เงินกู้ ซึ่งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กู้มาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ จํานวนเงิน ๒,๓๔๐,๓๐๐ ปอนด์ โดยต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๖ ต่อปี บัดนี้เป็นอันตกลงกันว่าประเทศไทยจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๔ ต่อปีเท่านั้น ปัญหาน่าจะมีว่า ทำไมดอกเบี้ยจึงไม่ต่ำกว่านั้นลงอีก ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ชี้แจงว่า เป็นไปอย่างสุดความสามารถแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องการที่จะให้ดอกเบี้ยต่ํากว่านั้นลงไปอีก ต่ำลง หรือไม่ต้องเสียเลยก็ยิ่งดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นายกอร์แดล ฮัลล์ (Cordell Hull)
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับผลสำเร็จในกรุงลอนดอนแต่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือลดดอกเบี้ยเงินกู้ จากกรุงลอนดอนกลับไปกรุงปารีสอีกครั้งหนึ่ง และจากที่นั่นได้โดยสารเรือเดินสมุทรไปยังสหรัฐอเมริกาได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายกอร์แดล ฮัลล์ (Cordell Hull) ที่กรุงวอชิงตัน รัฐมนตรีฮัลล์ได้ให้การต้อนรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างดี เจรจากันด้วยความเห็นอกเห็นใจ คอร์แดล ฮัลล์ ได้ให้คำรับรองอย่างมั่นคงว่าจะได้ยกเลิกสนธิสัญญา (อันไม่เป็นธรรม) ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเสียโดยเร็ว ในยุคนั้นสหรัฐอเมริกา แม้เป็นมหาอำนาจก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับโลกตะวันตก และเอเชียมากนัก เว้นแต่เป็นเจ้าครอบครองฟิลลิปปินส์อยู่ กล่าวคือไม่ได้ใช้อิทธิพลทางทหารและทางเศรษฐกิจทุกมุมโลกอย่างปัจจุบันนี้

นายปรีดี พนมยงค์ ระหว่างเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ เพื่อเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ออกจากสหรัฐอเมริกาโดยเรือโดยสารสมุทรมายังกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น โดยเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ ฮิโรฮิโต ซึ่งเป็นประมุขผู้ไร้อำนาจของชาติ และโอกาสนั้นได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Grand Cross of the Rising Sun แก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ด้วย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เจรจาการเมืองและการเศรษฐกิจ กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในขณะนั้นญี่ปุ่นได้ลาออกจากสันนิบาตชาติแล้ว เพราะญี่ปุ่นละเมิดกฎของสันนิบาตชาติโดยได้ยกกองทัพเข้าบุกรุกรานประเทศจีน และมีแผนการณ์ขยายตัวมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพยายามชักชวนให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เห็นด้วยกับนโยบายผิวเหลือง-ผิวขาว ซึ่ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ปฏิเสธโดยสุภาพ คือ ไม่ร่วมด้วย ข้อนี้แน่นอนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคงไม่พอใจ แต่ก็มีเหตุผลแก้ด้วยยาก เพราะที่รุกรานจีนนั้นไม่ใช่ผิวเหลืองด้วยกันหรอกหรือ เมื่อเจรจาถึงเรื่องสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมก็น่าจะยาก แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็ยอมยกเลิก

รูปชุดนี้นายปรีดีเป็นผู้จัดวางภาพเอง
เพื่อแสดงถึงการลงนามยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับประเทศ มหาอ่านาจต่าง ๆ
บนซ้าย ระหว่างสยามและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
บนขวา ระหว่างสยามและสหราชอาณาจักร วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐
กลางซ้าย ระหว่างสยามและญี่ปุ่น วันที่ ๘ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๘๐
กลางขวา ระหว่างสยามและ อิตาลี วันที ๓ ธันวาคมพ.ศ. ๒๔๘๐
ล่างซ้าย ระหว่างสยามและฝรั่งเศส ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
ล่างขวา ระหว่างสยามและเยอรมนี ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
ดร.ปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับประเทศไทย อย่างน้อยก็พร้อมด้วยผลสำเร็จ คือ สร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับนานาประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจที่กำลังสร้างปัญหาให้ตนเอง โดยการยกทัพเข้าบุกประเทศอื่น คือ อิตาลี เยอรมนี ซึ่งกำลังลงมือ และญี่ปุ่นซึ่งกำลังบุกหนักอยู่ในเมืองจีน
การจากไปของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ น่าจะทำให้เหตุการณ์ระหว่างบุคคลในคณะรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายทำการปฏิวัติดีขึ้น มีความสามัคคีดีขึ้นกว่าเก่า เพราะ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ไปเสียแล้ว แต่เปล่าเลยเหตุการณ์ดีขึ้นจริง แต่ดีขึ้นแต่เพียงเล็กน้อยและในระยะแรกเท่านั้น และแล้วก็กลับอยู่ในสภาพเดิม เมื่อขาด ดร.ปรีดี พนมยงค์ พระยาพหลฯ ก็ชักให้ว้าเหว่และรู้สึกลำบากใจคับใจยิ่งขึ้น ดังที่ท่านได้เคยกล่าวแล้วว่ามีคนอยากได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันที่จริงตำแหน่งนี้มิใช่ท่านเจ้าคุณอยากได้อยากอยู่เลย แต่ท่านเห็นว่า คนที่อยากได้ตำแหน่งนั้น ถ้าได้ในเวลานี้ก็รังแต่จะทำความไม่เหมาะสม พระยาพหลฯ จึงอดทนสู้เหตุการณ์ต่อมา แต่ในที่สุดท่านก็รู้สึกเอือมระอาเหม็นเบื่อการเมืองเสียเต็มที และไม่ทันที่ ดร.ปรีดี จะกลับมา พระยาพหลฯ ผู้ซึ่งเหลือที่จะอดทนอยู่ได้นั้นก็เดินทางไปพักผ่อนที่บ้านเดิมของท่านที่ราชบุรี การพักผ่อนนี้ก็คือ การที่ท่านคิดจะลาออกจากตำแหน่งนั้นเอง คนอย่างเจ้าคุณพหลฯ ไม่น่าจะถูกบีบจนมีความรู้สึกและกระทำเช่นนี้เลย ก่อนที่ท่านจะรับตำแหน่งนายกฯ ท่านก็ได้แสดงออกชัดเจนแล้วว่า ท่านไม่รับ ท่านได้แสดงออกมาว่า ท่านไม่สันทัด การไม่สันทัดของท่านจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กษัตริย์ที่ทรงหวังดีต่อบ้านเมือง เห็นว่า ท่านเจ้าคุณคนเดียวที่จะเป็นหลัก เป็นที่ยึดของบรรดานักปฏิวัติอื่น ๆ ที่มีความสามารถในการบริหาร ร่วมกันบริหารชาติบ้านเมือง จึงได้ทรงแต่งตั้งท่าน และท่านก็ได้ยอมรับ
พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในระยะนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ทราบโดยถ้วนถี่ ความตั้งใจที่จะไม่กลับต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะตระหนักดีว่า ถ้าขาดพระยาพหลฯ ความยุ่งยากอะไรจะบังเกิดขึ้น
เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กลับมาถึงเมืองไทยแล้ว คนแรกที่ได้มาปรึกษาหารือเกี่ยวกับเจ้าคุณพหลฯ ก็คือ หลวงอดุลเดชจรัส ทั้งสองคนมีเจตนาตรงกัน คือ เห็นว่า การบริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะขาดเจ้าคุณพหลฯ เสียไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องหาทางที่จะให้เจ้าคุณพหลฯ กลับมาจากราชบุรี และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบไป ดังนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ และหลวงอดุลเดชจรัส จึงได้ออกเดินทางไปราชบุรีและเชิญตัวท่านกลับมาจนได้ แต่หัวอกของผู้ที่รักชาติและทำทุก ๆ อย่างเพื่อชาติเพื่อราษฎรทั้งสองคนนี้ คือ เจ้าคุณพหลฯ และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตกอยู่ในฐานะเดียวกัน คือ ถูกขัดขวางและถูกปัดแข้งปัดขาอยู่ตลอดมา
ดร.ปรีดี พนมยงค์ คำนึงว่า เมื่อการบริหารของท่านในกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินไปด้วยดี และเพื่อที่จะบรรเทาความอิจฉาริษยาในระหว่างเพื่อนผู้ทำการปฏิวัติมาด้วยกันให้น้อยลง หรือสิ้นไป ให้ความสามัคคีในหมู่คณะมีอยู่ จึงคิดจะเอาตัวออกห่างจากกระทรวงมหาดไทยไปเสีย ฉะนั้น ในเวลาต่อมาได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีขอไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศนี้เป็นกระทรวงเล็กมีข้าราชการอยู่ในกระทรวงไม่ถึงร้อยคน และที่ประจำอยู่ในต่างประเทศก็ไม่ถึงร้อยคน ใคร ๆ พอจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนี้ไม่มีอิทธิพลอะไรไม่เหมือนกับกระทรวงมหาดไทย การที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เสนอตัวเองเช่นนี้ ไม่หวังอะไรยิ่งกว่าความต้องการที่จะทำงานให้ชาติบ้านเมืองเท่านั้น ไม่ต้องการมักใหญ่ใฝ่สูง หรือเป็นใหญ่เป็นโตแต่อย่างใด ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทราบอยู่ดีแล้วว่า สัญญาต่าง ๆ ที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้กับนานาประเทศ นั้น เป็นสัญญาที่ไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เป็นสัญญาที่ทำให้ชาติไทยต้องเสื่อมเสียประโยชน์ และเป็นเครื่องผูกมัดไม่ให้ประเทศไทยก้าวไปสู่แสงสว่างแห่งความเจริญก้าวหน้า
ประเทศไทยสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยนี้จำเป็นจะต้องทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญานั้นเพื่อให้เป็นสัญญาเสมอภาคและเป็นธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย และสำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เองรู้สึกว่า ท่านเป็นหนี้ชาติบ้านเมือง เป็นหนี้ราษฎรไทยอยู่ ฉะนั้น ท่านจะต้องรับใช้ชาติ และทำทุกอย่างเพื่อนำชาติไทยและราษฎรไทยให้เจริญก้าวหน้า ในขณะเดียวกันที่เสนอตัวเองเช่นนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งได้รักษาการแทนรัฐมนตรีมหาดไทย ขณะที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไปราชการต่างประเทศ เจรจายกเลิกสนธิสัญญา ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และสร้างสัมพันธไมตรีนั้น เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยสืบไปจากตน
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยสองครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๗๗ อีกครั้งหนึ่ง ๒๒ กันยายน ๒๔๗๗ สืบต่อมาจากครั้งก่อน จนถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘ รวมเวลาบริหารราชการในกระทรวงมหาดไทย เพียง ๓๒๐ วันเท่านั้น แต่งานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในกระทรวงมหาดไทยเป็นงานชิ้นใหญ่ ซึ่งนักปกครองทุก ๆ รุ่นต่อมาในปัจจุบันได้นิยมยกย่อง เป็นงานที่วางรากฐานของระบอบประชาธิปไตย เป็นงานที่วางหลักการปกครอง นับเป็นงานประวัติศาสตร์ที่เดียว
นอกจากนี้ในงานรับใช้ปกติอื่น ๆ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังได้รับ แต่งตั้งเป็นกรรมการของสภาการรถไฟ เป็นกรรมการคลังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี เป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนและกรรมการสอบแข่งขันข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งงานในด้านการคลังและการรถไฟ อันเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ เรื่องที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถนัดและเชี่ยวชาญมากนี้ได้ก่อคุณประโยชน์ให้แก่ชาตินานาประการ
วันสุดท้ายในกระทรวงมหาดไทย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เดินเยี่ยม และอำลาข้าราชการทุก ๆ กรมกอง ไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลอย่างทั่วถึงข้าราชการกระทรวงมหาดไทยผู้หนึ่งได้บันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกเฉพาะตัวเขาอันมีต่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ท่านหมดหน้าที่ในกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า
“ข้าพเจ้ายังจําได้ว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีข่าวว่าจะย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ วันนั้น เวลาประมาณ ๑๗ น. ข้าพเจ้าทำงานอยู่ในกองหนึ่ง สังกัดกรมซึ่งขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย และที่ทำการของเราอยู่ห่างจากกระทรวงมหาดไทยประมาณ ๔ ก.ม. ตามปกติเวลาเย็น เช่น ข้าราชการอื่น ๆ กลับบ้านกันหมดแล้ว ยังคงเหลือเฉพาะที่กองของข้าพเจ้า ๕ คน คือ หัวหน้า ผู้ช่วย หัวหน้าแผนก และข้าพเจ้าเอง ซึ่งเป็นเสมียน ขณะนั้นผู้ช่วยหัวหน้ากองได้วิ่งงงงันมาที่โต๊ะของข้าพเจ้า พร้อมกับสั่งว่า ‘หยิบเสื้อนอกให้ฉันเร็ว...หลวงประดิษฐ์ฯ มา…’ หัวหน้ากองรวมทั้งคนอื่น ๆ ที่อยู่ในห้องนั้น เมื่อได้ยินดังนั้นต่างก็ตกใจ เพราะไม่รู้ว่า ท่านปรีดีจะมาทำไมเวลาเย็นเช่นนี้ ต่างคนต่างรีบแต่งกายให้เรียบร้อย สักครู่หนึ่งท่านปรีดีก็เปิดบังตาและเข้ามาในห้อง ผู้ที่ตามหลังมีนายฉ่ำ จำรัสเนตร กับนายร้อยตำรวจอีก ๒ นาย จากการสังเกตของท่านคงจะรู้สึกว่า พวกเราตกใจจึงพูดขึ้นว่า
‘ผมมาลาน่ะ จะไปประจำกระทรวงการต่างประเทศ ไม่มีอะไรหรอก’ แล้วก็เดินด้วยลักษณะการที่แช่มช้อย ก้มศีรษะนิด ๆ เข้าไปจับมือกับหัวหน้ากอง แล้วมาจับมือกับพวกเราทุก ๆ คนตามลำดับ เมื่อจับเสร็จแล้ว ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า ‘ผมอาลัยมหาดไทยมาก แต่ต่างประเทศมีงานสำคัญที่จะต้องทำ โปรดช่วยกันทำงานให้เต็มที่นะ และโปรดบอกคนอื่น ๆ ด้วยว่า ผมขอลาทุกคน เสียดายที่มาไม่ทัน ขอจงมีความสุขทุก ๆ คนด้วย’ เมื่อกล่าวจบท่านก้มศีรษะน้อย ๆ แล้วมองดูพวกเราด้วยสายตาที่อ่อนโยนและเต็มไปด้วยความกรุณา แล้วก็อำลาไปไม่แต่ความรู้สึกของข้าพเจ้า แม้แต่หัวหน้ากองตลอดจนคนอื่น ๆ ต่างก็สรรเสริญเป็นเสียงเดียวกันว่า อากัปกิริยาของท่านปรีดี สุภาพ อ่อนโยนละม่อม ไม่ถือตัว เป็นไปในลักษณะที่บริสุทธิ์จริง ๆ...”
หมายเหตุ :
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เจรจาเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม และลดดอกเบี้ย” เป็น “ปรีดี พนมยงค์ ในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาค และลดดอกเบี้ยเงินกู้”
เอกสารอ้างอิง :
- ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526), 434-456.