Focus
- ทอง กันทาธรรมเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายแพร่ ใช้นามแฝง “โทนี่” มีมีวาทศิลป์เก่งกาจสามารถปลุกระดมชาวไทยในจังหวัดแพร่และบริเวณใกล้เคียง จัดตั้งเครือข่ายต่อต้านญี่ปุ่น ฝึกอาวุธและส่งข่าวกรองให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

ผู้แทนทอง กันทาธรรม เกิดจากครอบครัวของ นายเทพ กันทาธรรม และนางศรีเวย กันทาธรรม เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2454 ที่ บ้านหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ผู้เป็นบิดา มีเชื้อสายเจ้านายของเมืองเชียงแสน และมารดา สืบเชื้อสาย จากเจ้านายของพวกไทยลื้อ มีพี่ชายเติบโตมาด้วยกัน ชื่อ นายอุทัย กันทาธรรม ส่วนน้องคนเล็ก ชื่อนายสม กันทาธรรม
นายอุทัย พี่ชายคนโต มีความรับผิดชอบสูง ทําหน้าที่หารายได้ให้กับครอบครัวตั้งแต่เยาว์วัย ส่วนผู้แทนทองนั้นเรียนหนังสือเก่ง เป็นคนใฝ่รู้ สามารถสอบผ่านโรงเรียนบ้านแม่คํามี และโรงเรียนพิริยาลัย ได้เป็นที่ 1 และ ที่ 2 ตลอดมา จึงได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากญาติพี่น้อง พระครูรัตนปัญญา และลุง คือ ขุนม่วงไข่ขจร ให้เรียนต่อ เพื่อความก้าวหน้าของผู้แทนทอง และความภาคภูมิใจของบรรดาญาติทั้งหลาย ซึ่งก็ไม่เป็นที่ผิดหวังของทุก ๆ คน จากนั้นสามเณรทองก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยการอุปการะของท่านเจ้าคุณอภัย สารถะ เจ้าคณะเชียงใหม่ ที่วัดเชตวัน ถนนท่าแพ จนจบชั้นมัธยมที่ 7 ด้วยคะแนนในขั้นสูงสุด จนเมื่ออายุ 17 ปี ก็ได้ลาสึกออกจากสมณเพศ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร และสําเร็จการศึกษามัธยมที่ 8 ใน พ.ศ. 2472

สามพี่น้องเสรีไทยแห่งสกุลกันทาธรรม
นายอุทัย กันทาธรรม (คนซ้ายสุด), นายสม กันทาธรรม (คนกลาง) และนายทอง กันทาธรรม (คนขวาสุด)
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่
ที่มา: เยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ณ เมืองแพร่
จากนั้นผู้แทนทอง ก็ได้เข้าเรียนกฎหมายที่ห้างแบตเมนต์เก่า (เป็นที่ตั้งของกรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบัน) จนจบกฎหมาย พ.ศ. 2479 ได้เนติบัณฑิต เมื่ออายุ 22 ปี บริบรูณ์ เป็นตัวอย่างของลูกเมืองแพร่ จากชนบทที่มีความสามารถ และขยันหมั่นเพียร ที่ดีที่สุดในยุคนั้น
ผู้แทนทอง ได้เข้ารับราชการตําแหน่งประจําแผนกตรวจสอบเรื่อง และความเห็นของสํานักเลขานุการ คณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2477 ได้เลื่อนไปประจําที่แผนกตรวจสอบเรื่องราว และความเห็น พ.ศ. 2478 ย้ายไปประจําแผนกสัญญาทางพระราชไมตรี กองการต่างประเทศ กรมมหาดไทย พ.ศ. 2479 อายุ 25 ปี จึงได้ไปรับตําแหน่งนายอําเภอ ที่อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ 9 เดือน
เมื่อได้รับการรบเร้าจากขุนม่วงไข่ขจร ผู้เป็นลุง ผู้แทนทองจึงได้สมัคร และรับเลือกเป็นผู้แทนทอง กันทาธรรม สส. จังหวัดแพร่ ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2480 และได้เป็น สส. ที่มีอายุอยู่ถึง 8 ปี ในช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา
บุรุษผู้รักชาติผู้นี้สําเร็จเนติบัณฑิตเป็นลูกศิษย์คนโปรดคนหนึ่งของนายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่ม เพื่อจัดตั้ง ขบวนการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ร่วมกับผู้แทนราษฎรในรุ่นเดียวกัน ที่มีความรักชาติและไม่ต้องการเห็นการยึดครองประเทศไทย

สะพานรถไฟแม่ต้า ถูกทำลายโดยเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร
(ขวา) เหลือแต่ฐานตอม่อ
(ซ้าย) สร้างขึ้นมาใหม่ หลังจากสงครามสงบ
ที่มา: ชาวเมืองแพร่ผู้ปิดทองหลังพระ
นายทอง กันทาธรรม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยแพร่โดยมีนามแฝง ว่า “โทนี่” จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการลับหาข่าวความเคลื่อนไหวของกองทัพญี่ปุ่นในจังหวัดแพร่ และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ เช่น ที่ลําปาง โดยการร่วมมือของกองทหารควบคุม โดยพันโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์อดีต
พลทหารชม สีตื้อ อ่านได้ในเนื้อเรื่อง “ล้วง คองูเห่า”) ผู้แทนทอง ได้จัดตั้งศูนย์วิทยุขึ้นเพื่อส่งข้อมูลลับทางทหารให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทําลายที่ตั้งของทหารญี่ปุ่นในจุด
ต่าง ๆ โดยฝ่ายอเมริกาได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลายสะพานแม่ต้า, สนามบินแพร่, สถานีรถไฟเด่นชัย และจุดตั้งทัพของญี่ปุ่นบริเวณบ้านนาก่วมเหนือ จังหวัดลำปาง
นอกจากนี้ด้วยความสามารถในการคารมดังสมญา “สาลิกาลิ้นทอง” นายทอง สามารถปลุกระดมครูประชาบาลและชาวบ้านนับพันคนให้ตื่นตัวเข้าฝึกอาวุธเพื่อเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นและสกัดทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่เข้ามาใกล้ฐานที่ตั้งของเสรีไทยจังหวัดแพร่
แต่ลำพังกองกำลังเสรีไทยอาจจะไม่พอรับมือทหารญี่ปุ่นจำนวนมากผู้แทนทอง เดินตามนโยบายของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในการเตรียมพร้อมเพื่อลบในขั้นแตกหักกับญี่ปุ่น ในกรณีที่ได้รับคำสั่ง โดยการประสานของกำลังเพิ่มเติม และได้รับการตอบสนองจากหลวงสังวรยุทธกิจส่งกำลังส่วนหนึ่งมาประจำที่จังหวัดแพร่แฝงตัวเป็นพลเมือง เพื่อพร้อมรบกับทหารญี่ปุ่นที่ประจำการอยู่ทั่วไปในจังหวัดแพร่ (ข้อมูลจากตำนานเสรีไทย โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร)
การสู้รบเต็มรูปแบบไม่ได้อุบัติขึ้นเนื่องจากทางอเมริกาเห็นว่าไม่จำเป็น เนื่องจากมีแผนในการใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามกับญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงทำให้มิได้มีการรบกับกองทัพญี่ปุ่นให้มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด จนกระทั่งมีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ ฮิโรชิมา และนางาซากิ จนทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีทางเลือก
ด้วยผลงานของเสรีไทยครั้งนี้ ทำให้ไทยหลุดพ้นจากการถูกยึดครองของฝ่ายพันธมิตร และได้รับเอกราชกลับคืนมา
นายทอง กันทาธรรม ไ้ดรับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สั่งราชการ กระทรวงมหาดไทย ในคณะรัฐบาลชุดของนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2488 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สั่งราชการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลชุดกู้ชาติโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2490 ก็ได้พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีชุดพลเรือตรีหลวง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ครั้งนี้ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี สั่งราชการในกระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงคมนาคม ทําให้มีบารมีขึ้นมาเทียบเท่าเพื่อนนักการเมืองคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน
ต่อมาก็มีรัฐประหารเกิดขึ้นพร้อมกับการกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ความโดดเด่นในด้านการเมือง และผลงานของเสรีไทยที่ผ่านมา ทําให้นายทอง ประสบชะตากรรมถูกข้อหากบฏจากรัฐบาลรัฐประหารทําให้ติดคุก ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก ติดอยู่ 100 วันเต็ม ๆ ครั้งที่สอง ติดคุกอีกเป็นเวลา 2 เดือน และครั้งสุดท้าย ติดคุกอยู่อีกเป็นเวลา 20 วัน จนกระทั่งพ้นโทษ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์การสังหารรัฐมนตรีร่วมงานเสรีไทยและเคยอยู่ในคณะรัฐบาลเดียวกันในกรณีของ 4 อดีตรัฐมนตรีที่บางเขน คือ นายถวิล อุดล, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจําลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ เป็นเหตุให้ นายทอง กันทาธรรม ต้องลี้ภัยด้วยการช่วยเหลือของ เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ไปอยู่ที่เมืองยองห้วยในเขตสหรัฐเชียงตุงเหนือเมืองพยาก ทางตะวันตกของเมืองเชียงกก ประเทศลาว ในฐานะพ่อค้าเกลือ เดินทางระหว่างเมืองยองกับอําเภอแม่สายอย่างยากลําบาก อยู่ร่วมปีเศษ ทําให้รอดพ้นปฏิบัติการโหดในยุคนั้นอย่างหวุดหวิด จนกระทั่งเหตุการณ์ทางการเมืองสงบจึงได้กลับมา และใช้ชีวิตเป็นทนายความ และนักการเมือง ได้รับเลือกเป็น สส. อีก และในที่สุดก็หันมาทําธุรกิจส่วนตัว
ผู้แทนทอง บุรุษผู้รักชาติ เสียชีวิตวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2526
หมายเหตุ:
- บทความชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้นำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นที่เรียบร้อย
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “บุรุษผู้เกิดมาเพื่อรับใช้ชาติ” เป็น “บุรุษผู้เกิดมาเพื่อรับใช้ชาติ” ผู้แทนทอง กันทาธรรม หัวหน้าเสรีไทยสายแพร่ โดยตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2566
เอกสารอ้างอิงจาก:
- ภุชงค์ กันทาธรรม, “บุรุษผู้เกิดมาเพื่อรับใช้ชาติ”, รักชาติยิ่งชีพของเรา ปฏิบัติการลับเพื่อชาติของ ผู้แทนฯ ทอง กันทาธรรม และเสรีไทยแพร่ในสงครามโลกครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2552), หน้า 18-21.