นักเรียนนอกหัวก้าวหน้า
นายทวี บุณยเกตุ เป็นบุคคลระดับหัวหน้าของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ หรือหากจะกล่าวให้ตรงกับความเป็นจริงที่สุด ก็คือ ผู้ช่วยหมายเลข 1 ของ “รู้ธ” (นายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าขบวนการนั่นเอง บุคคลสำคัญท่านนี้เป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้ยาตราเข้าสู่ประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ในเวลานั้น
นายทวี บุณยเกตุ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นบุตรพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย กับคุณหญิงทับทิม (สกุลเดิม ศรีเพ็ญ) ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งบิดาเป็นเจ้าเมืองอยู่ในขณะนั้น ปี พ.ศ. 2456 เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาปี พ.ศ. 2457-2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จังหวัดนนทบุรี ก่อนที่จะไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมออนการ์แกรมมาสกูล ประเทศอังกฤษ โดยทุนส่วนตัวเมื่อ พ.ศ. 2464 แล้วย้ายไปศึกษาที่คิง’ส คอลเลจในกรุงลอนดอน นายทวีได้โอนเป็นนักเรียนทุนกระทรวงเกษตราธิการ และไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยเข้าศึกษาวิชากสิกรรมที่ Universitare de l’ Guest ได้รับปริญญาตรีทางกสิกรรมในปี พ.ศ. 2471 จึงกลับมารับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ
ผู้ก่อการ
ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย นายทวีได้รับการชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (นับศักราชแบบเดิมเป็นปลายปี พ.ศ. 2469) และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นายทวีก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งร่วมอยู่ในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ชุดแรกเป็นต้นมา
เสรีไทย
ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องเป็นผู้ประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ท่ามกลางวิกตที่รุมล้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากสงคราม เศรษฐกิจตกต่ำ ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ และปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพญี่ปุ่น แต่ด้วยความรู้ความสามารถของนายทวี ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นมาจากวิกฤตดังกล่าวได้อย่างหวุดหวิด
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นจะเป็นผู้ชนะสงครามในท้ายที่สุด ส่งผลให้จอมพล ป. พิบูลสงครามไม่สามารถครองอำนาจได้ต่อไป รวมถึงนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นรัฐบาลชุดต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดเดิมของจอมพล ป. จึงไม่เป็นที่ไว้วางใจของฝ่ายสัมพันธมิตรไปด้วย เช่นนั้นแล้ว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของไทยคงเป็นใครอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากนายปรีดี พนมยงค์ “รู้ธ” หัวหน้าเสรีไทยในประเทศ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา สำหรับนายปรีดีนั้นไม่ต้องการรับตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเกรงข้อครหาว่าทำการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อหวังอำนาจทางการเมืองและต้องการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีอยู่เบื้องหลังมากกว่า ดังนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้มีโทรเลขเชิญ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ให้เดินทางกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในขณะเดียวกัน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้ในทันที เนื่องจากต้องเดินทางผ่านประเทศอังกฤษเพื่อแวะไปเจรจาและแสดงอัธยาศัยไมตรี เพื่อคลายความตึงเครียดที่อังกฤษยังมองว่าไทยเคยเป็นชาติศัตรูในช่วงสงครามอยู่ ซึ่งการเดินทางผ่านอังกฤษนี้จะต้องใช้ระยะเวลาที่ไม่สามารถระบุแน่ชัดและเอาแน่เอานอนมิได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีเพื่อรักษาการณ์ไปเป็นการชั่วคราวก่อน
นายกฯ ขัดตาทัพ
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เลือกนายทวี บุณยเกตุ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายทวีเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากนายปรีดีเป็นอย่างสูง เนื่องจากเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และได้เข้าร่วมงานสำคัญ ๆ กับรัฐบาลของคณะราษฎรอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้แล้ว นายทวียังเป็น “นายกรัฐมนตรีเงา” ทำหน้าที่สั่งราชการในส่วนที่เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ แล้ว แต่ที่ไม่ได้เป็น “นายกรัฐมนตรีตัวจริง” ตั้งแต่สงครามยังไม่ยุตินั้น ก็เนื่องมาจากว่า เขาเป็นคนตรงเกินไป อาจไม่เหมาะในการเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นในช่วงนั้น
แม้ว่านายทวีจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงแค่ 17 วัน แต่เขาก็ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก โดยเฉพาะการดำเนินการทางการทูตที่ทำให้รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทำงานได้อย่างราบรื่น กล่าวคือ ม.ร.ว.เสนีย์ได้โทรเลขแจ้งมายังรัฐบาลไทยให้เพิ่มจำนวนข้าวที่จะบริจาคให้สหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม และหากมีการบริจาคข้าวที่มากขึ้นย่อมหมายถึงการแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งนายทวีได้ปรึกษาหารือกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนได้ข้อสรุปออกมาว่าให้รับหลักการที่ ม.ร.ว.เสนีย์เสนอมา ส่วนเรื่องปริมาณที่จะบริจาคนั้นค่อยพิจารณาตกลงกันภายหลังได้ การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความฉลาดเฉลียวของนายทวีที่ตัดสินใจด้วยความรวดเร็วโดยมิต้องเสียเวลาสอบสวนซึ่งอาจล่าช้าจนส่งผลให้เสียงานได้
นอกจากนั้นแล้ว นายทวียังได้ยกเลิกประกาศต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่น และผ่านพระราชบัญญัติควบคุมผู้ที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ลงนามในสัญญา 21 ข้อ จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เจรจาจนเป็นผลดีต่อประเทศไทยในท้ายที่สุด
ชีวิตที่ผันผวน
เหตุการณ์การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีผลกระทบต่อนายทวีอย่างมหาศาล จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปพำนักอยู่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายทวีจึงได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยและรับตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้รับตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2511
นายทวี บุณยเกตุ ใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยการสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของภาคเอกชน และได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จนถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 รวมอายุได้ 67 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ในปีต่อมา
“ผู้ปิดทองหลังพระ”
ด้วยความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์ นายทวี บุณยเกตุได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะด้านการทูตและการระหว่างประเทศของไทยซึ่งตกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ นายทวีสามารถนำพาประเทศไทยรอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงครามมาได้ และยังปูทางให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปสามารถดำเนินการต่อได้อย่างราบรื่น นายทวีสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคนรุ่นหลังในฐานะ “ผู้ปิดทองหลังพระ” ที่มิได้มีบทบาทโดดเด่นอยู่ในแถวหน้าของประวัติศาสตร์การเมือง หากเป็นบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั้งช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
จนอาจกล่าวได้ว่า หากประเทศไทยมิได้มีเอกบุรุษนามว่า ทวี บุณยเกตุ ในวันนั้น ก็อาจจะไม่มีเอกราชและอำนาจอธิปไตยอันสมบูรณ์ในวันนี้ ก็เป็นได้
อ้างอิง
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: แสงดาว. หน้า 617-635.
- วิจิตร วิชัยสาร. 2515. รัฐบาลไทยสมัยนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี (31 สิงหาคม - 16 กันยายน 2488). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. ม.ป.ป. นายทวี บุณยเกตุ. ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นายทวี_บุณยเกตุ
- ขบวนการเสรีไทย
- ตำนานเสรีไทย
- ทวี บุณยเกตุ
- ปรีดี พนมยงค์
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- คณะราษฎร
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- สภาผู้แทนราษฎร
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ควง อภัยวงศ์
- ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
- สมบูรณาญาสิทธิราชย์
- รัฐบุรุษอาวุโส
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- รัฐประหาร
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511
- วันสันติภาพไทย
- นิทรรศการขบวนการเสรีไทย