เกริ่นนำบทความ
แปดทศวรรษก่อน…ประเทศไทยประกาศ “สันติภาพ” ยุติสถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ท่ามกลางซากปรักหักพังของสงครามโลกครั้งที่ 2 และสมการอำนาจระหว่างชาติที่กำลังเปลี่ยนรูปร่าง การตัดสินใจในวันนั้น มิได้เกิดจากโชคช่วย หากเป็นผลของ “วิเทโศบาย” ที่ค่อย ๆ ก่อตัวผ่านการเจรจา การทูตเชิงรุก และความเสียสละของคนไทยผู้รักชาติ
นับจากวันที่รัฐบาลไทยประกาศ “รักษาความเป็นกลาง” ในปี พ.ศ. 2483 จนถึงวันที่ธงไตรรงค์โบกสะบัดหน้าอาคารสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2488 เวลาผ่านไปไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ แต่เป็นทศวรรษที่ยากที่สุดในการตัดสินใจว่า ไทยจะรักษาเอกราชและกอบกู้เกียรติภูมิกลับคืนมาได้อย่างไร ภายใต้แรงกดดันจากทั้งอำนาจภายนอกและข้อจำกัดภายใน “ดุลยภาพระหว่างประเทศ” จึงไม่ใช่เพียงฉากหลังของประวัติศาสตร์ หากเป็นเวทีที่ไทยต้องรักษาสมดุลอย่างแยบยลระหว่างการดำรงอธิปไตยกับการเผชิญระเบียบโลกใหม่หลังสงคราม
ในวาระครบรอบ 80 ปีวันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอนำเสนอ บทความชุดพิเศษ ที่ถอดความจากหนังสือ “การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปี 2483–2495 ผลงานอันทรงคุณค่าของ ศาสตราจารย์ ดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล” อดีตอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เกือบทุกช่วงสำคัญของนโยบายต่างประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงจุดเริ่มของสงครามเย็น
บทความแต่ละตอนจะเรียงร้อยเหตุการณ์สำคัญ ตั้งแต่การประกาศความเป็นกลาง การลุกขึ้นสู้ของขบวนการเสรีไทย การต่อรองเพื่อเลิกสถานะสงคราม กระทั่งไทยกลับมายืนหยัดบนเวทีสหประชาชาติ พร้อมโยงเข้ากับโจทย์ด้านความมั่นคงและการทูตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งยังคงต้องอาศัยการประเมินดุลอำนาจอย่างแม่นยำ เพื่อรักษาสถานะของประเทศไทยในเวทีโลก
บทความชุดนี้ จัดทำขึ้นในห้วงเวลาที่โลกเผชิญความไม่แน่นอนอีกครั้ง เพื่อทบทวนว่า บทเรียนแปดสิบกว่าปีก่อนยังส่องทางสู่ปัจจุบันได้หรือไม่ ในห้วงเวลาที่โลกเผชิญความผันผวนจากภัยธรรมชาติ สงครามตัวแทนและความขัดแย้งในภูมิภาค ตลอดจนการแข่งขันอิทธิพลของมหาอำนาจที่ไม่มีฝ่ายใดยอมถอย
เราหวังว่าผู้อ่านจะไม่เพียงรับรู้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่จะเข้าใจ “ตรรกะ” เบื้องหลังการตัดสินใจของผู้นำ ตรรกะที่หล่อหลอมจากความเสียสละ และสติปัญญาของผู้คนรุ่นก่อน เพราะอนาคตของชาติใดชาติหนึ่ง ไม่เคยถูกกำหนดไว้ตายตัว หากเกิดจากการเลือกยืนหยัดของคนในรุ่นนั้น
หนังสือ การวิเทโศบายของไทยฯ จึงไม่ใช่เพียงบันทึกความทรงจำของอดีตเสรีไทยและนักการทูตผู้หนึ่ง หากคือ “คู่มือ” ที่อธิบายว่า ประเทศขนาดกลางสามารถใช้ไหวพริบทางการทูตต่อรองกับจักรวรรดินิยม ฝ่าคลื่นสงครามโลก และสร้างพื้นที่ยืนในระเบียบโลกใหม่ได้อย่างไร ศาสตราจารย์ ดร. กนต์ธีร์ พาผู้อ่านเข้าไปในห้องประชุมลับที่โตเกียว บังเกอร์ของขบวนการเสรีไทย ชายแดนมลายูที่ร้อนระอุ ไปจนถึงเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ทุกบทสะท้อนว่า “วิเทโศบาย” คือศาสตร์ของการรักษาดุลยภาพที่ยังจำเป็น ไม่ว่าประเทศนั้นจะเล็กหรือใหญ่
ตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนผสานบันทึกส่วนตัว เอกสารทางการทูต และการวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง เพื่อชี้ให้เห็นว่า “วิเทโศบายของไทย” ในห้วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2483–2495 คือกระบวนการปรับตัวเชิงรุก ท่ามกลางแรงกดดันจากสงคราม จักรวรรดินิยม และระเบียบโลกใหม่ที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน
ขอเชิญผู้อ่านร่วมศึกษาบันทึกอันทรงคุณค่านี้ และร่วมกันตั้งคำถามว่า “สันติภาพ” ของเราทุกวันนี้จะธำรงไว้ได้อย่างไร ท่ามกลางความผันผวนของโลกในยุคปัจจุบัน
สงครามโลกครั้งแรก


เมื่อสงครามอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปในปี ๒๔๕๗ และคลี่คลายขยายตัวกว้างขวางออกไป โดยมีประเทศเข้าร่วมเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึงขีดเป็น “สงครามโลก” ประเทศไทยพยายามวางตนเป็นกลาง ไม่เข้ากับฝ่ายใดตลอดมา ครั้นเมื่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขั้นแรกก็เป็นกลางเหมือนกัน ต้องประกาศสงครามเข้าร่วมรบฝ่ายสัมพันธมิตร ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน มีหนังสือเรียนเชิญชวนประเทศเป็นกลางทั้งหลายให้เอาอย่างสหรัฐฯ เนื่องจากเยอรมนีปฏิบัติการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ผิดมนุษยธรรม ด้วยใช้เรือดำน้ำทำลายเรือพาณิชย์อเมริกา มีผู้คนพลเรือนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาสถานการณ์โดยถ่องแท้ละเอียดถี่ถ้วน ทรงพระราชดำริว่า ประเทศไทยควรจะคล้อยตามท่าทีของสหรัฐฯ แต่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ยังทรงนิยมเยอรมนีอยู่โดยทรงเชื่อว่าฝ่ายเยอรมนีจะชนะ ประกอบกับเยอรมนีเคยแสดงความเห็นใจประเทศไทยสมัยที่มีกรณีพิพาททางดินแดนกับฝรั่งเศสและอังกฤษในปลายศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อสองประเทศนั้นหาทางขยายดินแดนอาณานิคมและดินแดนในอารักขา แผ่เข้ามาถึงปริมณฑลของประเทศไทย พ่อค้าวาณิชเยอรมนีเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย
อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้รัฐบาลไทยสละความเป็นกลางเสีย เพื่อขับไล่เยอรมนีให้พ้นไปจากประเทศไทย เป็นทางให้สามารถเข้าควบคุมการค้าและธุรกิจแทนทางฝ่ายประเทศไทยเอง พระมหากษัตริย์ไทยทรงเห็นว่า ประเทศไทยต้องผูกมัดโดยสนธิสัญญารับรู้สภาพนอกอาณาเขตของต่างชาติ ที่จำกัดบั่นทอนอธิปไตยทั้งในด้านการเก็บภาษีอากรและการศาล เป็นระบอบการที่อังกฤษเป็นผู้คิดริเริ่มขึ้นในปี ๒๔๐๘ ขยายเป็นประโยชน์ตกทอดถึงประเทศอื่นในยุโรป รวมทั้งเยอรมนี และ ออสเตรีย-ฮังการี หากไทยเข้าสู่ภาวะสงครามกับรัฐบาลฝ่ายกลางในยุโรป สนธิสัญญาที่ผูกมัดประเทศไทยต่อทั้งสองประเทศนั้นจะเป็นอันระงับไปในตัวตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ จะเป็นทางให้ประเทศไทยสามารถเรียกอธิปไตยคืนจากเยอรมนีและออสเตรียเด็ดขาด และเปิดทางให้เจรจาทํานองเดียวกัน ขอการผ่อนปรนจากประเทศอื่นคู่สัญญากับไทยได้ แต่การประกาศสงครามกับเยอรมนี ไทยต้องดำเนินเตรียมการอย่างลับที่สุด เพราะอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในประเทศมีมาก จะต้องป้องกันมิให้เกิดการบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทย ต้องรักษาความลับไว้จนกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ในลักษณะพร้อมแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสงคราม
สมัยนั้น หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ทรงเป็นทูตไทยที่กรุงเบอร์ลิน พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ที่กรุงปารีส และพระยาพิพัฒน์โกษา ที่กรุงโรม การสั่งการถึงทูตไทยที่กรุงเบอร์ลินในบางกรณีต้องสั่งผ่านทูตที่กรุงโรม ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ๒๔๖๐ แล้ว มีข่าวออกจากประเทศไทยไปถึงทูตกรุงปารีสและกรุงโรมว่า อาจจะมีการประกาศสงครามกับรัฐฝ่ายกลางตามอย่างสหรัฐอเมริกา ควรมีการเตรียมโยกย้ายบรรดานักเรียนที่ศึกษาในเยอรมนีและออสเตรียออกไปเสียให้พ้น แต่หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ทรงหวั่นว่า การจัดโยกย้ายในทันทีทันใดเช่นนั้น จะทำให้เยอรมนีเกิดระแวงสงสัยได้ ประกอบกับในช่วงนั้นรัฐบาลเยอรมันกักกันคนต่างด้าวทั้งหลายจะเดินทางไปไหนมาไหน จะต้องขอและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเยอรมันก่อน
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเตรียมพร้อม รวมทั้งมาตรการที่จะกักคุมตัวชนชาติเยอรมันและออสเตรียที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และการยึดทรัพย์สินธุรกิจของชาติเหล่านั้น จึงจะมีพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสงคราม โดยให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ได้กระทำการสงครามใช้วิธีการขัดต่อหลักมนุษยธรรม ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่คำนึงถึงสิทธิและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยได้เคยประท้วงไว้ เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีหาได้พิจารณาด้วยดีไม่ ทำให้ประเทศไทยจำต้องตัดสินใจด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้งว่า ไม่สามารถที่จะคงรักษาความสัมพันธ์อันมิตรกับเยอรมันต่อไปได้ ประเทศไทยถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องยกย่องหลักการสำคัญและพันธกรณีอันสืบเนื่องจากข้อสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการ จึงเป็นอันสิ้นสุดลง เกิดสถานะสงครามขึ้นแทน
รัฐบาลได้แจ้งในวันเดียวกันนั้นให้สถานทูตของทั้งสองประเทศในประเทศไทยทราบถึงการสิ้นสุดในความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน โดยจะมอบหนังสือเดินทางให้เมื่อคณะทูตทั้งสองพร้อมจะเดินทางกลับ ระหว่างนั้นเพื่อความปลอดภัยได้มีการจัดทหารยามเฝ้าอยู่นอกสถานทูต เรือของชนชาติศัตรูที่จอดอยู่ในท่าเรือไทยถูกยึดชนชาติศัตรูที่เป็นข้าราชการของรัฐบาลไทยเป็นอันปลดออกจากตำแหน่ง ชนชาติศัตรูในวัยทหารต้องกักขัง
ฝ่ายรัฐบาลเยอรมนีได้ทราบข่าวประกาศสงครามของประเทศไทยทางโทรเลขของรอยเตอร์ก่อน นายฟอน เดมบุช ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทูลเชิญทูตไทยไปพบเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม เพื่อสอบถามความจริง และแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ถึงกับขู่สำทับว่า ประเทศไทยโง่เขลาเบาปัญญายิ่งนัก หากไม่ได้เยอรมนีช่วยไว้ก่อน จะต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสนานแล้ว อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้บีบบังคับไทยให้ว่าตาม ซึ่งหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์รับสั่งตอบว่า ทรงได้รับคำสั่งให้มาแจ้งให้ฝ่ายเยอรมนีทราบถึงการประกาศสงครามเท่านั้น ไม่ทรงประสงค์จะต่อล้อต่อเถียงด้วย ทรงของดการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วทรงขอร้องจะจัดส่งนักเรียนไทยในเยอรมนีซึ่งมีจำนวนอยู่ไม่กี่คน เดินทางออกจากประเทศเยอรมนี ปลัดกระทรวงไม่ยินยอมอนุญาต อ้างว่าเมื่อรัฐบาลไทยจับกุมคนเยอรมันไปขัง เยอรมันก็ต้องปฏิบัติตอบโต้ท่านองเดียวกัน จนกว่าไทยจะปล่อยคนชาติเยอรมัน เยอรมนีจึงจะปล่อยคนไทย สำหรับประเทศออสเตรีย-ฮังการี หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ทรงมอบหนังสือแจ้งการประกาศสงครามให้ทูตออสเตรีย-ฮังการีในกรุงเบอร์ลินรับไปรายงานเป็นทางการต่อรัฐบาล
เมื่อหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์เสด็จนำหนังสือแจ้งการประกาศสงครามไปยื่นต่อนายซิมเมอร์มาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ค่ำวันเดียวกันนั้น นายซิมเมอร์มานเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยโอภาปราศรัยอย่างเป็นมิตรต่อทูตไทยเป็นหน้าบึงคิ้วขมวดประชดประชันว่า เยอรมนีไม่เคยมุ่งร้ายต่อไทย เพื่อนของไทยนั่นแหละที่เมื่อถึงโอกาสจะเอาประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น เยอรมนีเสียใจที่ไม่อาจช่วยไทยได้ เยอรมนีมีภาระทางยุโรปเต็มมือ ขณะนั้นกำลังขับไล่ทหารรัสเซียอยู่ บางทีไทยอาจจะส่งกองทัพไปช่วยรัสเซียบ้าง
ต่อมา ดร.มิชาเอลีส นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้แถลงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคมว่า ไม่มีเหตุผลสมควรอย่างใดเลยที่ไทยประกาศตนเป็นศัตรูกับเยอรมนี หากแต่ถูกประเทศพันธมิตรบีบบังคับให้กระทําเท่านั้น
ภายหลังที่ไทยประกาศสงครามแล้ว รัฐบาลไทยได้ขอให้รัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในดินแดนเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในเยอรมันรวม ๗ แห่ง ที่เบอร์ลิน แฮมเบิร์ก แฟรงก์เฟิร์ต เดรสเดน เบรเมน มิวนิก และแฮนโนเวอร์ และกงสุลกิตติมศักดิ์ในออสเตรีย-ฮังการี รวม ๓ แห่ง ที่กรุงเวียนนา บูดาเปสต์ และตรีเอสต์ เป็นอันพ้นจากหน้าที่ นักเรียนไทย ๙ คน ในเยอรมนีถูกควบคุมตัว เงินของรัฐบาลไทยที่ฝากอยู่ทางธนาคารในเยอรมนีถูกยึดไว้สิ้น ข้าราชการสถานทูตไทยและครอบครัวยังคงอยู่ในเบอร์ลินต่อไป จนกระทั่งบุคคลในคณะทูตเยอรมันประจำประเทศไทยเดินทางถึงเมืองเบอร์เก็นตอนเหนือสุดของประเทศนอร์เวย์ รัฐบาลเยอรมันจึงส่งตัวบุคคลในคณะทูตไทยออกเดินทางโดยทางรถไฟไปกรุงโคเปนเฮเกน เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๖๐
เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยประกาศสงครามต่อรัฐฝ่ายกลางด้วยความ จริงใจ มิใช่ประกาศแต่ในนามเท่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเรียก ผู้อาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป ปรากฏว่ามีชายฉกรรจ์ไทยสมัครเป็นจํานวนมาก แต่ทรงรอการอาสาสมัครของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นพระราชวงศ์หรือแม่ทัพ นายกองวันแล้ววันเล่าไม่ปรากฏมีผู้ใดอาสา ทรงโทรมนัสเป็นอย่างยิ่ง มีพระ ราชปรารภว่า คนไทยเราไร้ฝีมือ ไร้ความกล้าหาญเยี่ยงบรรพบุรุษเสียแล้วหรือ จึง ไม่มีคนกล้ารับอาสา หน้าที่แทนพระองค์ เมื่อทราบพระราชประสงค์ พลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ซึ่งต่อมาได้รับเลื่อนเป็นพลเอก พระยาเทพหัสดิน) ผู้บัญชาการ กองพลที่ ๔ กราบบังคมทูลอาสาสมัคร โดยไม่ถือเป็นการตัดหน้าแม่ทัพนายกองที่ ดํารงตําแหน่งเหนือกว่า เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก เนื่องจากพระยาพิไชยชาญ ฤทธิ์เป็นข้าราชบริพารรับสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานาน
ส่วนนายทหารชั้นรองลงไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพันโท พระทรงสุรเดช พันโท หม่อมเจ้าฉัตรมงคล พันตรี หม่อมเจ้าอมรทัต เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทูตทหาร มีนายทหารประจำอีก ๘ นาย คือ ร้อยเอก ลาย บุญญะกุม ร้อยโท เบี้ยนโรหิตเศรณี ร้อยตรี ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์ ร้อยตรี กมล โชติกเสถียร ร้อยตรี เภา เพียรเลิศ ร้อยตรี ภักดิ์ เกษสำลี ร้อยตรี ขั้น ช่วงสุพันธ์ และร้อยตรี วัลย์ ทั้งหกนามหลังนีปฏิบัติราชการประจําในยุโรปอยู่แล้ว สำหรับกำลังพลได้คัดเลือกจากผู้อาสาสมัครไว้เพียง ๑,๒๒๓ คน ส่งตัวไปรับการฝึกอบรมตามสมควรก่อนที่จะให้ออกเดินทางไปสมรภูมิ
ผู้บังคับการกองทหารอาสาสมัครไทยและคณะเดินทางล่วงหน้าไปก่อนออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ถึงกรุงปารีสวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมการรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ การฝึกอบรม ฯลฯ ของกองกำลังที่จะตามไปภายหลังสำหรับทหารอาสาสมัครแยกออกเป็น ๒ กอง คือ กองยานยนต์ มีจำนวน ๘๐๐ คน กองบิน ๓๕๑ คน การส่งทหารอาสาสมัครเหล่านี้ต้องอาศัยเรือของฝรั่งเศสเป็นพาหนะ รับจากเกาะสีชังเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ถึงเมืองมาร์ซายส์วันที่ ๑ สิงหาคม เมื่อถึงฝรั่งเศสแล้ว หน่วยกองยานยนต์ถูกส่งไปฝึกอบรมที่เมืองลีอองและดูรดัง ส่วนหน่วยกองบินไปเข้าโรงเรียนฝึกการบินที่เมืองอีสตร์และอาวอร์ด แล้วส่งต่อไปเข้าโรงเรียนบินรบที่เมืองโป โรงเรียนฝึกยิงปืนเครื่องบินที่เมืองกาโซ ก่อนที่จะสามารถออกปฏิบัติการได้ ทั้งสองหน่วยอาสาสมัครไทย กว่าจะเสร็จการฝึกอบรมที่จำเป็นต้องใช้เวลาหลายเดือน สงครามสิ้นสุดลงเสียก่อน หน่วยการบินจึงมิได้เข้าปฏิบัติการในสนามรบ แต่ก็ได้ความรู้ทางการบินกลับบ้านเมือง หน่วยยานยนต์ได้รับโอกาสเข้าไปทำการสนับสนุนส่งกำลังบำรุงกองทัพฝรั่งเศสในแนวหน้า เข้าไปถึงดินแดนเยอรมนี บริเวณแม่น้ำไรน์ที่เมืองนอยชตัท แล้วไปเมืองไกเซอร์เราเตอร์น แฟรงเกินชไตน์ บัตเดอร์ไคม์ มูซบัด แมงเกินไฮม์ ลุดวิซาเฟิน โดยที่พวกอาสาสมัครจากประเทศไทยขาดความรู้ทางภาษา จึงจำต้องอาศัยนักเรียนไทยในยุโรป เป็นล่ามแปลและอธิบายคำสอนของผู้อบรมให้เข้าใจ
ในขั้นแรก ๆ เนื่องด้วยความขัดข้องทางภาษา จึงเกิดความเข้าใจผิดระหว่างกองกำลังอาสาสมัครไทยกับทหารฝรั่งเศส ประกอบกับนายทหารฝรั่งเศสวางตัวเป็นนาย เหยียดหยามทหารไทยตามอุปนิสัย ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่พวกอาสาสมัครมาก ถึงกับถามกันว่า ไทยจะออกไปสู้กับเยอรมนีหรือฝรั่งเศสแน่ ในรายงานของพันตรี หลวงรวมสุทธิวงศ์ จากแนวรบที่นอยชตัท มายังผู้ช่วยทูตทหารบก ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๖๑ มีข้อความว่า “ไทยกับฝรั่งเศสเข้ากันไม่ได้ ฝรั่งเศสคอยเอาเปรียบอยู่เสมอ พอเดินทางไปถึงที่พัก ก็รีบเลือกที่ที่สบาย ๆ เอาสำหรับตน หาความสะดวกสำหรับตน ทำให้ทหารไทยแค้นใจและน้อยใจ การอยู่ตามบ้านราษฎรฝรั่งเศสบางแห่งรับรองอย่างธรรมดา บางแห่งมีความรังเกียจเดียดฉันท์ พลเมืองเยอรมัน ซึ่งเป็นคนชาติศัตรูยังต้อนรับพวกเราดีกว่าฝรั่งเศส" เป็นปัญหาตกหนักแก่นายทหารไทยที่จะต้องพยายามแก้ความเข้าใจผิดและประสานความสามัคคีต่อกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับอำนาจของศาลทหารไทยเหนือบุคคลทั้งหลายที่อยู่ในกองทัพไทย โดยไม่จำต้องไปขึ้นกับศาลฝรั่งเศส
ภายหลังที่เยอรมนียอมจำนนและลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๐ แล้ว กองทหารอาสาสมัครไทยส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมในพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะ ผ่านประตูชัยในกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๖๑ ที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ ๒๒ และที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน
ในการเจรจาสงบศึก ประเทศไทยส่งคณะผู้แทนไปร่วม ประกอบด้วยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร เป็นหัวหน้า หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล พระยาพิพัฒน์โกษา หม่อมเจ้าขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร พันโท หม่อมเจ้าอมรทัตกฤดากร และนาวาเอก พระประดิวัตนาวายุทธ เป็นผู้แทน และในการทำสนธิสัญญาสันติภาพเมืองแวร์ซายส์ ประเทศไทยส่งคณะผู้แทนประกอบด้วยพระองค์เจ้า ทั้งสองพระองค์แรก[1] เข้าร่วมลงนามฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๖๐ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะรวม ๓ ข้อ คือ
“ข้อ ๑๓๕ ประเทศเยอรมนียอมรับนับถือว่า บรรดาสนธิสัญญาอนุสัญญาหรือข้อตกลงทั้งหลายระหว่างเยอรมนีกับประเทศไทยและบรรดาสิทธิอำนาจหรือเอกสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญา อนุสัญญาหรือข้อตกลงเหล่านั้น รวมตลอดทั้งอำนาจกงสุลในประเทศไทยเป็นอันที่สิ้นสุดลงแต่เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐”
“ข้อ ๑๓๖ บรรดาสินค้าและทรัพย์สินของจักรวรรดิหรือรัฐเยอรมันในประเทศไทย นอกจากอาคารที่ใช้เป็นที่พำนักหรือที่ทำการทางการทูตหรือกงสุลเป็นอันตกเป็นของรัฐบาลไทยโดยเด็ดขาดและไม่มีค่าทดแทน
สินค้าและทรัพย์สินและสิทธิเอกชนของคนชาติเยอรมันในประเทศไทยจะต้องได้รับการปฏิบัติตามบทบัญญัติในภาค ๑๐ (ข้อกำหนดทางเศรษฐกิจ) แห่งสนธิสัญญานี้"
“ข้อ ๑๓๗ ประเทศเยอรมนีสละสิทธิทั้งหลายที่จะเรียกร้องเอาจากรัฐบาลไทยในนามของประเทศเยอรมนีหรือคนชาติเยอรมัน อันสืบเนื่องมาจากการยึดเรือเยอรมนี การยึดทรัพย์สินเยอรมนี หรือการกักกันคนชาติเยอรมันในประเทศไทยบทบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ที่มีส่วนได้เสียในผลของการยึดทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของภาค ๑๐ (ข้อกำหนดทางเศรษฐกิจ) แห่งสนธิสัญญา"
เป็นอันว่า พระบรมราชวินิจฉัยประกาศสงครามต่อประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ได้ผลเป็นประโยชน์ตกแก่ประเทศไทยมากมายหลายประการ โดยเฉพาะได้เปลี่ยนสถานะของประเทศไทย จากการเป็นประเทศกันชนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในการขยายตัวล่าอาณานิคม มาเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศนั้นเคียงบ่าเคียงไหล่ในการลงนามทำสนธิสัญญาสันติภาพที่เมืองแวร์ซายส์ กองกำลังทหารอาสาสมัครไทยมีส่วนช่วยปฏิบัติการในสมรภูมิร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ความรู้ความสามารถความจัดเจนและประสบการณ์ทางกองยานยนต์และกองการบิน ในระหว่างปฏิบัติการในยุโรป กองทหารอาสาสมัครไทยขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทยเอง โดยไม่ต้องอยู่ในบังคับของศาลฝ่ายเจ้าของท้องที่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ เยอรมนีต้องสละสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาลกงสุลภายในประเทศไทย อันเป็นการจำกัดตัดสิทธิอธิปไตยหลายอย่าง โดยอาศัยสัญญาเอาเปรียบไม่เสมอภาคที่เคยทำไว้กับประเทศไทยอีกด้วย และเมื่อประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าในยุโรปต้องสละสิทธิดังกล่าวแล้ว ก็เป็นทางที่จะให้รัฐบาลไทยถือเป็นตัวอย่างในการเจรจาขอความเห็นอกเห็นใจกับประเทศอื่นที่มีสนธิสัญญาทำนองเดียวกันผูกมัดประเทศไทยไว้ เป็นผลให้มีการลงนามในสนธิสัญญารุ่นใหม่กับต่างประเทศในปี ๒๔๖๘ ลดสิทธิพิเศษที่ต่างประเทศเสวยอยู่ในประเทศลงไปบ้าง แต่ไทยก็ยังมิได้รับอิสรภาพทางการศาลและการเก็บภาษีอากรอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งประเทศไทยเร่งรัดการออกประมวลกฎหมายครบถ้วน และมีการเจรจาทำสนธิสัญญารุ่นปี ๒๔๘๐ สมัยท่านปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงสามารถได้สิทธิเอกราชและอิสรภาพทางการศาลและการเก็บภาษีอากรโดยสมบูรณ์ต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “สงครามโลกครั้งแรก”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), 24-32 น. .
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “สงครามโลกครั้งแรก”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), 24-32 น. .
บทความที่เกี่ยวข้อง:
[1] ต่อมาหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ได้รับพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้า ที่สุดได้ทรงกรม เป็นกรมหมื่นเทววงศวโรทัย - ผู้จัดพิมพ์.