
อัครพงษ์ ค่ำคูณ
ก็มาถึงที่มูลนิธิศักยภาพชุมชนครับ คุณชลิดาครับ สามท่านแรกจะมองจากข้างบนใช่ไหมครับ มองจากข้างบน (bird eye view) ลงไป แต่คุณชลิดาเป็นคนที่ทำงานกับเบื้องล่าง จะมองอีกแบบหนึ่งมองจากข้างล่างขึ้นข้างบน ลองแชร์ประสบการณ์ให้เราได้ไหมครับ ว่าการทำงานกับผู้คนซึ่งอยู่ในพื้นที่ การที่มูลนิธิศักยภาพชุมชนสามารถทำงานจากหน่วยงานเบื้องล่างขึ้นไปในการสร้างสันติภาพเป็นส่วนในการช่วยให้จากข้างบนลงล่างแล้วข้างล่างขึ้นบนไปพบกันได้อย่างไรได้บ้างครับ

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์
ขอบพระคุณมาก ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณสถาบันปรีดี ครอบครัวสถาบันปรีดีแล้วก็มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ให้โอกาสประชาชนอย่างพวกเราขึ้นมาบนเวทีแล้วก็แลกเปลี่ยนสิ่งที่ภาคประชาสังคมได้ทำ คำถามของคุณอัครพงษ์ ตอนนี้พี่จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องไทยพม่า เพราะมีเรื่องเยอะมาก ถ้าจะเอาอุยกูร์เอาภาคใต้คงพูดกันทั้งวัน ขอเน้นแค่พม่าอย่างเดียวก่อนแล้วกัน อยากจะเรียนทุกคนว่า ความจริงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมเหมือนในประวัติศาสตร์ที่ไทยรบพม่าหรือพม่ามารบไทยอีกแล้ว แต่ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้ในพม่าไม่เป็นทั้งประชาธิปไตยและไม่มีทั้งสันติภาพ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นเรื่องที่เรียกว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงสำหรับประเทศพม่าแล้วก็ประชาชนพม่า
วิกฤตของสงครามในพม่าจะเกิดเน้นหนักทั้งในพม่าแล้วก็บริเวณชายแดนไทยพม่า ซึ่งในการปฏิวัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เราจะเห็นว่าพม่าจะแบ่งการสู้รบ คือ พม่ารบกับพม่า กับประชาชนพม่า แล้วก็พม่ารบกับชนกลุ่มน้อย แล้วก็มีการแทรกแซงของมหาอำนาจต่าง ๆ ที่เข้าไปในพม่าอีกด้วย แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศไทย เพราะเรามีชายแดนต่อระยะยาวที่ติดกับพม่าถึงสองพันกว่ากิโล แล้วตรงนั้นเป็นชนชาติพันธุ์ทั้งหมดเลยตั้งแต่มอญขึ้นไปจนกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงคะยา จนขึ้นไปถึงฉาน เพราะฉะนั้นตรงนี้จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่มีสันติภาพข้างในพม่า ที่นี้ปัญหาทั้งในพม่านั้น จริง ๆ สงครามไม่ได้อยู่แค่ตรงไทยพม่า ขยายออกไปถึงชายแดนของอินเดียแล้วก็จีนด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเป็นปริบทของทั้งภูมิภาค แล้วประชาชนที่อยู่ในพม่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเยอะมาก เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในประเทศแล้วก็อยู่ตรงชายแดน เช่น ยกตัวอย่างจะมีผู้อพยพ มี IDP (Internally Displaced People) หรือผู้พลัดถิ่นในประเทศ ซึ่งจำนวนเป็นล้าน ๆ ไม่ใช่แค่ไม่กี่แสน แล้วก็มีแรงงานของพม่าเองอีกที่ข้ามพรมแดนเข้ามาทำงานในประเทศไทย แล้วก็ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ยังไปมาเลเซีย ไปประเทศอื่น ๆ อีก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าผลกระทบเป็นวงกว้างมาก แล้วทำให้วิกฤตการณ์ของพม่ากลายเป็นวิกฤตการณ์ของภูมิภาค
ในบทของสันติภาพของประเทศไทยต่อพม่านั้นที่มองว่าหยุดชะงักไปเพราะอะไร เพราะเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสงครามในพม่า เราจะเห็นตัวอย่างของชเวก๊กโกที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเข้าไปมีผลประโยชน์ ไม่ต้องเอ่ยชื่อ ซึ่งทางจีนก็บอกเขามีชื่ออยู่ถึงสี่ร้อยกว่าคนถ้าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยที่เข้าไปมีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มสแกมมิ่งทั้งหลาย ซึ่งอันนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า (รัฐไทย) มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่วางตัวเป็นกลางเลย แล้วก็รัฐไทยเองก็เข้าข้างรัฐบาลทหารพม่า มีการทำงานร่วมกับ SAC (สภาบริหารแห่งรัฐ: State Administration Council) มาตลอด หนุนเสริมทางกองกำลังของทหารพม่า ยกตัวอย่างเช่นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น รัฐบาลไทยทำงานส่งของไปให้รัฐบาลพม่า มีพยานหลักฐานอยู่หลายชิ้นว่ารัฐบาลทหารพม่านำการช่วยเหลือไปใช้ผิดประเภท แปรกลายเป็นผลประโยชน์ทางการสงคราม ซึ่งเราจะสังเกตเห็นว่า การช่วยเหลือของไทยตั้งแต่ครั้งแรกที่ส่งข้ามพรมแดนไปทางแม่สอด ตอนนั้นทำระหว่างสภากาชาดไทยกับสภากาชาดพม่า พอพม่าได้รับการช่วยเหลือปุ๊บก็จะมีการระเบิดในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นแล้วก็ลดลงไป เนื่องจากพอไม่มีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ความรุนแรงก็ลดลง เราก็ตั้งข้อสังเกต เรายังไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าเขาเอาไปใช้เท่าไหร่เป็นยังไง กรณีของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก็เหมือนกันว่ามีการช่วยเหลือจาก 5 ศูนย์ ซึ่งเป็นศูนย์การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของอาเซียน มีรายงานเกิดขึ้นทุกวันว่ามีการทิ้งระเบิดในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย คนประชาชนเสียชีวิตจำนวนเป็นพันคน แล้วมีการทิ้งระเบิดเป็นพันครั้ง คือพี่ได้รับรายงานตลอดเลย ทุกเช้าเดี๋ยวจะมีแล้ว แม่มีทิ้งระเบิดตรงนี้ แม่มีทิ้งระเบิดตรงนั้น คือจะได้รับรายงานทุกวัน คนตายเท่านี้ ศพเท่านั้นเท่านี้ บ้านเรือนเสียหาย คือได้รับทุกวัน เป็นความสะเทือนใจมากว่าจริง ๆ แล้วรัฐบาลไทยน่าจะมีการรับรู้ข้อมูลตรงนี้และวางตัวเป็นกลาง ในการที่จะไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า เพราะฉะนั้นพอไทยไม่เป็นกลางปุ๊บ การแก้ปัญหาก็จะแก้ไม่ได้ มีผลประโยชน์ร่วมกับเขาอีก อันนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนแล้วก็อยากจะฝากไว้ว่ารัฐบาลไทยไม่ได้แก้ไขปัญหาของพม่าเลย
แล้วก็สงครามในพม่าจะเรียกว่าเป็นสงครามที่ไม่เป็นธรรมเลย เพราะเป็นสงครามที่ผู้นำต้องการอำนาจ เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจระหว่างผู้นำเท่านั้นเอง เป็นสงครามที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนพม่าจำนวนหลายล้านคน ที่เข้ามาอยู่ในฝั่งไทยก็อีกเป็นล้าน ที่อยู่ฝั่งพม่าใน IDP และคนที่อยู่ในเมืองต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นไม่ใช่สงครามที่เป็นธรรม รัฐไทยจะต้องชัดว่าจะยืนอยู่ที่ตรงไหน ท่านอาจารย์ปรีดีก็พูดมาตลอดเกี่ยวกับเรื่องสงครามที่เป็นธรรม อันนี้ก็เป็นหลักการง่าย ๆ ในการที่จะพิจารณาว่าเราจะยืนอยู่ที่ตรงไหน จุดยืนเราจะเป็นยังไง ซึ่งตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ปรีดีก็ประกาศตลอดเกี่ยวกับเรื่องความเป็นกลาง นโยบายในความเป็นกลาง แล้วก็ใช้วิธีในการเจรจาในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราคิดว่าเป็นข้อที่รัฐบาลไทยจะต้องฝากไปทาง ส.ส. ทั้ง 2 ท่านที่อยู่ในสภาว่า พอจะทำให้ไปถึงนโยบายในระดับชาติได้ไหม ของคุณสุธรรมพรรคเพื่อไทย ฝากไปด้วยแล้วกัน ว่าจริงๆ แล้ว ท่านนายก คุณทักษิณ จะมองปัญหานี้ยังไง จะแก้ไขปัญหานี้ยังไงต่อไป รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศซึ่งอาจจะไม่เข้าใจอะไรเลยว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่าบ้าง
ต่อไป ที่นี้เราจะพูดในส่วนของ PEF (People's Empowerment Foundation) มูลนิธิศักยภาพชุมชน ว่าเราทำอะไรบ้าง จริง ๆ การทำงานของเราจะมียุทธศาสตร์อยู่ 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่ คือ 1) bottom-up 2) P2P (people-to-people) ล่างขึ้นบนแล้วก็ประชาชนกับประชาชน แล้วก็เราทำการสนับสนุน (advocacy) bottom-up ก็คือ เราจะทำงานกับประชาชนภาคส่วนข้างล่างที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด อย่างเช่นที่เรายกตัวอย่างว่า ผู้ลี้ภัย IDP กองกำลังชนกลุ่มน้อย แรงงาน เยาวชน ผู้หญิง เราจะทำงานกับกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ทั้งหมดของพม่า ทั้งในฝั่งพม่าเองแล้วก็ที่ข้ามมาอยู่ในฝั่งไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะข้ามมาอยู่ในฝั่งไทย จะเหลือน้อยมากที่จะอยู่ฝั่งพม่า แม้แต่แหล่งทุนต่าง ๆ ก็ไม่สามารถจะเปิดออฟฟิศอยู่ในฝั่งพม่าได้ก็มาเปิดออฟฟิศในฝั่งไทย เราก็จะทำงานกับพวกคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการทำงานกับคนเหล่านี้ก็คือไปรับฟังปัญหาของเขา จัดแลกเปลี่ยนกันระหว่างเยาวชนไทยกับเยาวชนพม่า ผู้หญิงไทยกับผู้หญิงพม่า มีเดียไทยอะไรพวกนี้ ก็จะลงพื้นที่ไปให้เขาเห็นสภาพที่เป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ทั้งหมดที่ดิฉันพูดมาในตอนต้นนี้ คือข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ด้วยการที่เราลงพื้นที่และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแล้วก็พูดคุยกัน
สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่นี้ เราไม่เคยเห็นว่าพี่น้องพม่าเป็นคนอื่น เรามองว่าพี่น้องพม่าประสบภัยพิบัติทั้งที่เป็น man-made ก็คือคนทำเอง คือการรัฐประหาร กับภัยพิบัติธรรมชาติอีกเยอะแยะมากมาย เพราะงั้นเขาก็คือคนประชาชนเหมือนเรานี่แหละ ต้องการปัจจัย 4 เหมือนกัน ต้องการสันติภาพ ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่มีสันติสุข แต่เขาไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้เลยในประเทศเขาด้วยตัวเขาเอง โดยเงื่อนไขการกดทับหลายอย่าง ทั้งการกดทับที่เป็นทางกายภาพ ทางวัฒนธรรม แล้วก็เชิงโครงสร้างทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราจะช่วยได้ในฐานะที่เราเป็นประชาชนเหมือนกันถึงจะอยู่ฝั่งไทย ก็คือช่วยให้กำลังใจเขา รับฟังเขา แล้วก็เป็นปากเป็นเสียงให้เขา พอเราทำ P2P (people-to-people) แล้วเราก็ทำการสนับสนุน (advocacy) ก็คือการนำเรื่องต่าง ๆ ที่เรารับฟังขึ้นมาไปแลกเปลี่ยนเจรจากันระดับเชิงนโยบาย เราอาจจะแลกเปลี่ยนไม่ได้กับตรงสภาของเรา แต่เราก็ไปทำตรงระดับอาเซียนมากขึ้น คือปลายปีนี้ ปลายเดือนนี้จะมีการประชุมอาเซียนภาคประชาชชนที่กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งอันวาร์ (อันวาร์ อิบราฮิม) ท่านเป็นประธานของอาเซียนอยู่ปีนี้ พวกเราก็จะเอาเพื่อนพม่าเอาพวกเราไปแลกเปลี่ยนพบปะกับผู้นำทางฝั่งกัวลาลัมเปอร์คือคุณอันวาร์ แล้วก็พบกับอีกหลาย ๆ ส่วนในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) หรือ ส.ส. คุณกัณวีร์ก็ไปในส่วนของ ส.ส. อาเซียน พวกเราก็จะจัดเวทีการประชุมในประเทศไทยก่อน เพื่อจะเชิญเพื่อน ๆ ทั้งหมด 40-50 คน มานั่งคุยกันว่าจริง ๆ ปัญหาคืออะไร เราต้องการจะเสนออะไรในการที่จะคลี่คลายและแก้ไขปัญหาของพม่า แล้วเราจะเอาข้อสรุปจากอันนั้นซึ่งมาจากเพื่อน ๆ นำขึ้นไปเสนอกับทางรัฐบาลมาเลเซีย อันนี้วันนั้นฟูอาดี้ (ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ) ก็อยู่ที่เราทำด้วยกัน ที่นี้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ การสนับสนุน (advocacy) ที่เกิดจาก เบื้องล่างสู่เบื้องบน (bottom-up) แล้วก็ประชาชนกับประชาชน (P2P: people-to-people)
อันนี้ก็คืองานที่เราทำทั้งหมดนี้เราคิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่าได้อย่างมีสันติวิธี และสิ่งที่ฟูอาดี้ย้ำเมื่อสักครู่นี้ก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ถ้าเมื่อไหร่สันติภาพในพม่าเกิดขึ้น แล้วเรามีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนกับประชาชน สิ่งนั้นคือสันติภาพที่แท้จริงและไทยก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มเปี่ยม ต่อไปในอนาคตรับรองว่าไม่มีการทะเลาเบาะแว้ง ไม่มีการยกทัพมาตีกันอีกต่อไป แล้วจะมีแต่การรักใคร่ จับมือปรองดองกันต่อไปในอนาคต นี่คือผลประโยชน์เต็ม ๆ สุด ๆ ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการทำงานของภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพในพม่า

อัครพงษ์ ค่ำคูณ
ขอบคุณมากครับ ขอบคุณคุณชาลิดา ทาเจริญศักดิ์ เราจะเห็นว่าวิธีการทำงานสันติภาพนี้ อย่างที่คุณชาลิดาพูดไปก็คือการไปลงพื้นที่รับฟัง ที่สำคัญก็คือการเอาความเดือดร้อนของผู้คนเหล่านั้นเข้าไปนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ อันนี้ที่กัวลาลัมเปอร์ใช่ไหมครับ ก็น่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี แล้วในอาเซียนมีกลไกอย่างไรในการสร้างสันติภาพบ้างครับ คุณชลิดา เชิญครับ
ชลิดา ทาเจริญศักดิ์
พี่จะบอกว่ามีแต่สร้างไม่ได้เหมือนกัน หนักใจมากที่พูดเรื่องนี้ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าจะพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน ก็จะมีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน แล้วก็มีกลไกสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้มีกลไกในการที่จะปกป้องแล้วก็คุ้มครองสิ่งที่ละเมิดแล้วก็ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ อย่างตัวอย่างที่เมื่อสักครู่พูดไปตอนต้น เกี่ยวกับเรื่องพม่า แล้วก็ที่พี่น้องพูดกันเรื่องภาคใต้ ก็จะเห็นว่ามีการละเมิดเยอะจึงทำให้เกิดกลไกสิทธิมนุษยชนขึ้นมาในการที่จะดูแลและปกป้องคุ้มครองประชาชน รวมทั้งจะไม่ให้การละเมิดเกิดขึ้น
ถ้าจะพูดเรื่องกลไกอาเซียนจริง ๆ ต้องเริ่มจากกลไกในประเทศก่อน ก็คือ กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) คุณอังคณาก็นั่งอยู่ในตอนสมัยชุดที่ 3 ซึ่งอันนั้นก็เป็นกลไกที่เกิดขึ้นมาในระดับชาติ แต่จริง ๆ เกี่ยวโยงถึงระดับต่างประเทศด้วยเหมือนกัน มีเครือข่ายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ที่ตั้งอยู่ที่เจนีวา แล้วก็มีคณะอนุกรรมการที่พิจารณาสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ละประเทศว่าให้ A B C ตอนนี้ไม่มี C แล้ว มี A กับ B ก็คือปฏิบัติตามหลักการปารีสในการที่จะดูแลและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กับสถานภาพ B คือไม่ปฏิบัติตามหลักการ ไม่ได้ดูแลปกป้องประชาชนหรือคุ้มครองประชาชน ไทยเคยได้ทั้ง A และ B กำลังจะถูกลดเป็น B ตอนนี้
ถ้าพูดถึงเรื่อง กสม. เมื่อกี้พูดไปบ้างแล้ว แต่จริง ๆ กลไกของ กสม. ในการที่จะทำงานตรงระดับภูมิภาคจะมีตัวหนึ่งที่เขาเรียกว่า SEANF ก็คือ Southeast Asia National Human Rights Institution Forum (กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งจะมีอยู่ 2 อัน ก็คือ SEANF กับอีกอันหนึ่งคือ Asia Pacific Forum (กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) ใน Asia Pacific Forum มี 25 ประเทศ แต่ว่าใน SEANF จะเน้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยมีแค่ 6 ประเทศแล้วในนั้นมีพม่าร่วมอยู่ด้วย แต่คิดว่าพม่าตอนนี้ไม่มีสถานภาพเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว คือลบออกไปแล้ว เขาต่ำกว่า C ก็เลยไม่มีแล้ว ไม่ได้รับการรับรองจากทาง GANHRI (Global Alliance of National Human Rights Institutions) เครือข่ายสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่เขามีคณะกรรมการพิจารณาอยู่
ที่นี้ถ้าจะพูดถึง SEANF ก็คือความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนของกลไกสิทธิมนุษยชน จะมี อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ กสม. ประเทศไทย แล้วก็ผู้ตรวจการรัฐสภาของติมอร์-เลสเต แล้วเขาขับเคลื่อนใน 6 ประเด็นใหญ่ ๆ ซึ่งก็จะสะท้อนในสิ่งที่เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมาทั้งหมด คือการเคลื่อนย้ายของบุคคล โยกย้ายถิ่นฐาน การค้ามนุษย์ การลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง แล้วก็ธุรกิจสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ปัญหาการต่อต้านการก่อการร้ายแล้วก็แนวคิดสุดโต่ง แล้วก็ประเด็นดูแลสิทธิมนุษยชนในกลุ่มเปราะบาง รวมทั้ง SDG (Sustainable Development Goals) การพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่นี้ความเชื่อของ SEANF คือ SEANF เป็นความร่วมมือของทั้ง 6 ประเทศอย่างที่บอกแล้วเวียนกันในการที่จะดูแล ประธานรู้สึกจะอยู่อินโดนีเซีย SEANF จะอยู่ที่อินโดนีเซีย แต่ในขณะเดียวกันทำงานร่วมกันทั้ง 6 ประเทศในการดูแล 6 ประเด็น นอกจากนั้นเขายังเรียกร้องให้ SEANF ทำงานร่วมกับกลไกอาเซียนอีก เช่น AICHR (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) ACWC (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก) แล้วก็ ACMW (ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers: คณะะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ) ก็คือกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอาเซียนซึ่งจะมีผู้แทนประเทศที่นั่งอยู่ 10 คน ประเทศไทยรู้สึกตอนนี้เป็นอาจารย์กล้า (ภาณุภัทร จิตเที่ยง) อาจารย์จากจุฬาฯ ที่นั่งอยู่ อาจารย์อมรา (อมรา พงศาพิชญ์) เคยนั่ง อาจารย์เสรี (เสรี นนทสูติ) อาจารย์ศรีประภา (ศรีประภา เพชรมีศรี) ก็เคยเป็นผู้แทนไทย ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับ SEANF แล้วก็จะมีคณะกรรมการผู้หญิงเด็ก ของประเทศไทยก็มีพี่หญิง (รัชดา ไชยคุปต์) กับพี่วันชัย (วันชัย รุจนวงศ์) ที่นั่งอยู่ดูแลเด็กกับผู้หญิง คณะกรรมการว่าด้วยแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker) เป็นกลไกคล้ายกับตัวอนุสัญญาในการที่จะยกร่างมาเพื่อที่จะคุ้มครองการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชน ที่นี้ตัวของ SEANF เนี่ยที่ว่าจะต้องทำงานกับกลไกตรงระดับอาเซียนเนี่ย ก็คือเขาจะมีการประชุมหารือร่วมกันในการที่จะทำ แล้วก็นอกจากนั้นเนี่ย SEANF ต้องมีความร่วมมือกับผู้ได้เสียในภูมิภาค เช่น UNHCR (United Nations High Commissioner for Refugees: ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) กับ OSHA (Occupational Safety and Health Administration: สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย) กับ UNDP (United Nations Development Programme: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) คือจะเห็นว่ากลไกสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับนานาชาติ จะเป็นกลไกที่จะต้องให้ความร่วมมือกันในการที่จะแน่ใจว่า จะทำให้เกิดการปกป้องคุ้มครองดูแลคนชายขอบ หรือกลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

จริง ๆ แล้วตัว AICHR ที่ตั้งขึ้นมานี้ เป็นกรอบความร่วมมือที่จะทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองเหมือนกัน แต่ว่าเอกสารสำคัญของอาเซียนที่เป็นกรอบในการที่จะทำให้กลไกเหล่านี้ทำงานจะมีกรอบของกฎบัตรอาเซียน แล้วก็มี Human Right Declaration คือปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ซึ่งวันนั้นเราพูดกันที่จุฬาฯ จะเห็นว่าปฏิญญาว่าด้วยการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน เป็นกติกาที่ต่ำที่สุด เพราะว่าประเทศอาเซียน 10 ประเทศ จะมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม มีการปกครองที่แตกต่างกันมาก เพราะงั้นหลักการของอาเซียนต้องเห็นด้วย (consensus: ฉันทามติ) กับไม่แทรกแซง (non-intervention)
ที่นี้พอมีฉันทามตินั้น สิ่งที่ได้คือสิ่งที่ต่ำที่สุดของสิทธิมนุษยชน คือสิ่งที่รับได้ต่ำที่สุดไม่ใช่สิ่งที่สูงที่สุด เพราะฉะนั้นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของอาเซียนที่ออกมาก็เป็นสิ่งที่ภาคประชาชนค่อนข้างจะเจ็บปวด และไม่เห็นด้วยว่าจะใช้เป็นกรอบในการที่จะปกป้องและคุ้มครองได้เลย อันนี้ก็เลยรู้สึกว่าเป็นความอ่อนแอของกลไกของสิทธิมนุษยชนตรงอาเซียน สุดท้ายจริง ๆ แล้ว ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกลไกทั้งหมดที่พูดมาตั้งแต่ กสม. SEANF APF หรือว่า GANHRI ที่เป็นเครือข่ายระดับโลกแล้วก็รวมทั้ง AICHR ACWC ทั้งหมดมีเยอะแยะเต็มไปหมดเลย แต่ว่ายังไม่เห็นประสิทธิภาพประสิทธิผลที่เป็นจริง แต่ก็มีความพยายามในการที่ผู้แทนที่เข้าไปนั่งอยู่ในแต่ละกลไก พยายามที่จะมีการประชุมปรึกษาหารือ พยายามที่จะร่างกฎตัวนู้นกฎตัวนี้ออกมา เพื่อที่จะทำให้เกิดกฎหมายการคุ้มครองขึ้นมา แต่จริง ๆ แล้วหลักการที่ว่าไม่แทรกแซงกันกับหลักการที่ต้องเป็นฉันทามติทั้งหมดนี้ เป็นตัวที่ขัดขวางทำให้อาเซียนไม่ไปถึงไหน เพราะฉะนั้นกลไกอาเซียนจึงไม่ใช่กลไกที่ปกป้องและคุ้มครองประชาชนได้อย่างจริง ๆ ก็น่าเสียดาย แต่พวกเราก็พยายามหาโอกาสหาช่องทาง อย่างที่บอกว่าแล้วแต่ Chairman แล้วแต่พื้นที่ของแต่ละประเทศที่จะเปิด แล้วก็บทบาทของ Chairman chief ที่ตอนนี้ก็คิดว่าตัวเองจะเล่นบทบาทอะไรในการที่จะทำหน้าที่ในระดับอาเซียน เหมือนที่พูดว่าเราจะไปมาเลเซียกัน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประชาชนควรจะต้องเรียนรู้ไว้ก็คือ รู้ว่ามีกลไกเหล่านี้เกิดขึ้น แม้จะไม่มีประสิทธิภาพไม่มีประสิทธิผล แต่เราก็ควรจะต้องรู้ และเราต้องพยายามที่จะหาทางที่จะเอากลไกเหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างเช่น แม้จะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ภาคประชาสังคมจะมีเครือข่ายในการที่เฝ้าระวังแล้วก็ติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น เรียกว่า ANNI (Asian NGO Network on National Human Rights Institutions: เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเอเชียว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ) ทุก ๆ 2 ปีพวกเราจะเขียนรายงานเพื่อประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศักยภาพชุมชนจะเขียนประเมินคณะการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย แล้วเราจะเอาไปรวมกันเป็นรายงานใหญ่ของ 15 ประเทศที่ทำร่วมกัน แล้วก็อันนี้จะเป็นอันที่ GANHRI แล้วก็คณะอนุกรรมาธิการในการพิจารณาสถานภาพจะเอาไปใช้พิจารณาเหมือนกันว่า จะได้ A ได้ B หรือได้ C หรือไม่มีสถานภาพ ก็ถือว่าอันนี้ก็เป็นบทบาทอันหนึ่งในการที่ภาคประชาสังคมจะทำหน้าที่ในการทำให้กลไกสิทธิมนุษยชนเข้มแข็งขึ้น อย่างที่บอกว่าประสิทธิภาพประสิทธิผลกลไกต่าง ๆ นี่ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ ภาคประชาชนต้องเรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันภาคประชาชนก็ยังต้องลุกขึ้นแล้วก็ทำเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองเหมือนกัน เพื่อจะทำให้แน่ใจได้ว่า สิทธิมนุษยชนของพวกประชาชนเองทุกคน ในทุก ๆ พื้นที่ในภูมิภาคนี้ ได้รับการปกป้องและคุ้มครองโดยประชาชน เหมือนที่เรามี ANNI Report เกิดขึ้น ที่ร่วมมือกันในการทำงาน ขอบคุณค่ะ
อัครพงษ์ ค่ำคูณ
ขอบคุณมากครับ ขอบคุณคุณชาลิดา ทาเจริญศักดิ์


รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/Q1HZDjbcsVA?si=JsQXXgQY5dbhwIWg
หมายเหตุ :
- ถอดความและเรียบเรียงใหม่โดยกองบรรณาธิการ
ที่มา : PRIDI Talks #30 “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์