ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง
ผมเชื่อว่าผู้อ่านส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำกล่าวที่พูดกันติดหูว่า “ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์” แต่ในสังคมไทยของเรา เรื่องราวกลับไม่ได้ดำเนินไปเช่นนั้น เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์” ซึ่งคือการบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วให้คนรุ่นหลังได้จดจำนั้น ช่างเต็มไปด้วยความยอกย้อนและซ่อนเงื่อน
ผู้ชนะในสมรภูมิทางการเมืองบ่อยครั้งกลับพ่ายแพ้ในสมรภูมิการเขียนประวัติศาสตร์
“คณะราษฎร” ก็อยู่ในข่ายนี้ อันที่จริงหากเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ คณะราษฎรนั้นเป็นกลุ่มที่น่าสงสารมิใช่น้อย แม้ว่าจะเป็นคณะบุคคลผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศให้ทันสมัยและก้าวหน้า แต่กลับไม่ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ แทบไม่มีพื้นที่อยู่ในแบบเรียน ไม่มีวันหยุดราชการ ไม่มีภาพยนตร์หรืองานวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเข้าใจถึงบทบาทของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจกว่าการหลงลืมและทำให้คณะราษฎรไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในพื้นที่สาธารณะ คือ การที่สังคมไทย ซึ่งในที่นี้หมายถึงปัญญาชนและชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม พยายามจัดการกับเหตุการณ์การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ที่นำโดยคณะราษฎร ผ่านการสร้างมายาคติขึ้นมาหลายประการ เพื่อลดทอนคุณค่าความสำคัญและทำให้เหตุการณ์นี้ดูรางเลือนและสับสน
ยกตัวอย่างเช่น ในแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (หลักสูตร พ.ศ. 2551) เขียนถึงกำเนิดประชาธิปไตยไว้ดังนี้
“ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (น. 109)
สังเกตว่าไม่มีการพูดถึงเหตุการณ์ 2475 ไม่มีการเอ่ยถึงคณะราษฎรและบทบาทของประชาชน ราวกับประชาธิปไตยอุบัติขึ้นมาโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุที่ชัดเจน
สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของมายาคติทางประวัติศาสตร์แบบอนุรักษนิยม จนเราไม่ได้เรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมกล่อมเกลาความคิดคนมากกว่าเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันอดีตของสังคมตนเอง
มายาคติเช่นนี้เองที่กลายเป็นฐานรองรับให้ความชอบธรรมกับกระแสการถวิลหา และนำพาสังคมไทยหวนคืนกลับไปสู่การปกครองแบบโบราณภายใต้ชนชั้นนำจารีต
จากการสำรวจตรวจสอบ พบว่า มายาคติที่มีอิทธิพลครอบงำเกี่ยวกับการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 มีอยู่ 4 ประการหลักด้วยกัน
1. มายาคติ “ชิงสุกก่อนห่าม”
คำว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” กลายเป็นคำที่ถูกผูกติดกับการปฏิวัติ 2475 เพื่อให้ภาพว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยที่ประชาชนยังไม่พร้อมเพราะขาดการศึกษา และเกิดขึ้นทั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว
ในขณะที่งานศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า 2475 เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหลายประการมาบรรจบกันจนสุกงอมแล้วต่างหาก ไม่ว่าจะเป็น
- ปัจจัยด้านสถาบันการเมือง ที่มีการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มเจ้านายและขุนนางชั้นสูง จนการบริหารราชการแผ่นดินล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ บวกกับความไม่ยุติธรรมในระบบราชการ
- ปัจจัยด้านอุดมการณ์ ที่มีการแพร่หลายของแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้สามัญชนเกิดจิตสำนึกตื่นตัวต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชน ซึ่งท้าทายอุดมการณ์แบบจารีตที่เน้นชาติกำเนิด บุญบารมี และความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น
- ปัจจัยด้านการก่อตัวของชนชั้นใหม่ ที่มีการเติบโตของชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักเรียนนอก นักเรียนใน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และวิชาชีพสมัยใหม่ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มคนใหม่ๆ เหล่านี้มาพร้อมกับจิตสำนึกใฝ่หาเสรีภาพ ความทันสมัย และความเสมอภาคเท่าเทียม
- ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อันได้แก่ วิกฤตการคลังตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2472-2475 รัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหานี้โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลและปรับข้าราชการชั้นกลางและล่างออกหลายระลอก (แต่ปกป้องชนชั้นสูงและขุนนาง) ขึ้นภาษีรายได้กระทบคนชั้นกลางและราษฎร สร้างความเดือดร้อนให้กับคนระดับล่างและกระแสไม่พอใจต่อรัฐบาล
- ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ที่เกิดการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่จีน รัสเซีย เยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี
คำกล่าวที่บอกว่ารัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องจริง ปัญหาอยู่ที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาที่มุ่งปรับเปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยังคงมุ่งรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นสูงไว้ เพียงแค่ตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนได้ และให้มีสภาที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการบริหารราชการ
ข้อเท็จจริงก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด) ก็ยังถูกบรรดาที่ปรึกษาของรัชกาลที่ 7 ลงความเห็นว่าก้าวหน้าเกินไป คนไทยยังไม่พร้อมกับการมีรัฐธรรมนูญแบบนี้
กล่าวโดยสรุปก็คือ จวบจนเดือนมิถุนายน 2475 สถานการณ์ของการเมืองโลกและการเมืองไทยมาถึงจุดที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เงื่อนไขของการปฏิวัติสุกงอมเหมือนมะม่วงที่พร้อมจะหล่นลงจากต้น รอเพียงแค่มีคนมานำการเด็ดเท่านั้น
2. มายาคติ “การปฏิวัติของนักเรียนนอกจำนวนน้อย”
อีกหนึ่งมายาคติที่แพร่หลาย คือ 2475 เป็นการปฏิวัติของคนหยิบมือเดียวที่เป็นนักเรียนนอกรุ่นหนุ่มใจร้อนฝักใฝ่แนวคิดฝรั่ง
ในความเป็นจริง หลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อเช่นนี้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ประการแรก เฉพาะในกลุ่มคณะราษฎรเองก็ไม่ได้มีแต่นักเรียนนอก แต่มีทั้งนักเรียนใน และข้าราชการและพลเรือนที่เกิด เติบโต และเป็นผลผลิตของการศึกษาในประเทศ มายาคติที่บอกว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นเรื่องของคนหนุ่มที่แปลกแยกจากความเป็นไทยจึงไม่เป็นความจริง
ปัจจัยด้านแนวคิดจากต่างประเทศอาจมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะความคิด แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติคือ ความเสื่อมโทรมล้าหลังและความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในระบบการบริหารราชการแผ่นดินในประเทศ ณ ขณะนั้น ดังที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในผู้นำคณะราษฎร กล่าววิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ว่า
“ผู้น้อยเกิดความท้อถอย ไม่อยากแสดงความคิดเห็น ทั้งๆ ที่เชื่อแน่ว่าจะมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง และเมื่อการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามความเห็นของผู้ใหญ่ไม่กี่คน ซึ่งถ้าท่านเหล่านั้นมีความคิดอย่างเก่าๆ และแคบๆ ด้วยแล้ว ก็อาจชักนำบ้านเมืองไปสู่ความเสื่อมและความล่มจมได้ง่าย”
ประการที่สอง การปฏิวัติ 2475 มิใช่การปฏิวัติของคนจำนวนร้อยกว่าคนที่รวมตัวกันในนามคณะราษฎรเท่านั้น หลักฐานประวัติศาสตร์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่า มันคือการปฏิวัติที่มีฐานสนับสนุนทางสังคมอย่างกว้างขวางจากคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ
แน่นอนว่า หากนำเกณฑ์หลายอย่างมาวัด การปฏิวัติ 2475 มิใช่การปฏิวัติมวลชนที่มีคนเรือนแสนเรือนล้านมาเข้าร่วม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การยึดอำนาจของคนเพียงหยิบมือเดียว ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นความคิดที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มทางสังคมหลายกลุ่ม ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้มีการศึกษา ครู ชนชั้นกลางในเมือง พ่อค้า เจ้าของกิจการขนาดย่อย
ดังที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียนเรืองนามบันทึกไว้ว่า
“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ผมกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม 5 สมัยนั้นแบ่งการศึกษาประถมถึง ป.4 มัธยมถึง ม.8 จำได้แต่ว่า มีครูประจำชั้นซึ่งกำลังเรียนเนติบัณฑิตอยู่ได้พูดสนับสนุนและพูดถึงรัฐธรรมนูญให้นักเรียนฟัง … ที่รับรู้กันได้เร็วกว่าหลักการอย่างอื่นของประชาธิปไตย ก็ได้แก่เรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค อันเป็นทัศนคติใหม่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนำมาให้แก่ประชาชนพลเมืองที่เป็นบุคคลธรรมดาสามัญ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลางในเมือง มีนิสิต นักเรียน ปัญญาชนรุ่นใหม่ของระยะเวลานั้น เช่น นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ และครูบาอาจารย์ เป็นพาหะแห่งการแพร่ขยาย”
3. มายาคติ “กระหายอำนาจและยึดอำนาจไว้กับกลุ่มตนเองเพียงลำพัง”
การมองเช่นนี้เป็นการมองการเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 แบบขาวดำและผิดไปจากความเป็นจริง ที่ยิ่งเป็นตลกร้ายก็คือ งานวิชาการทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 2475 หลายชิ้นในระยะหลังกลับชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การปฏิวัติ 2475 ล้มเหลวในการสถาปนาประชาธิปไตย เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของคณะราษฎรที่ประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเดิมในระบอบเก่ามากเกินไป แทนที่จะผนึกรวมอำนาจให้เป็นปึกแผ่นและผลักดันนโยบายของตนเองอย่างเต็มกำลัง
การประนีประนอมนี้น่าจะเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคงในฐานอำนาจของฝ่ายนิยมระบอบใหม่ บวกกับความรู้สึกที่ไม่อยากหักหาญกับชนชั้นสูงในระบอบเก่า โดยเชื่อว่า หากแสวงหาความร่วมมือน่าจะผลักดันระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยได้ราบรื่นมั่นคงกว่า
เราจึงพบว่ามีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับราชสำนักตั้งแต่วันแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 กรรมการร่างฯ ส่วนใหญ่เป็นขุนนางในระบอบเก่าในระดับพระยา มีปรีดีเป็นสมาชิกคณะราษฎรเพียงคนเดียวในกรรมการร่าง
ส่วนอำนาจนิติบัญญัตินั้น คณะราษฎรตั้งผู้แทนราษฎร 70 นาย โดยเป็นฝ่ายของคณะราษฎรเพียง 32 นาย ที่เหลือเป็นขุนนางในระบอบเก่า
ที่สำคัญคืออำนาจฝ่ายบริหารโดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้นำคณะราษฎรก็มิได้ดำรงตำแหน่งเอง แต่กลับไปเชื้อเชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นขุนนางที่ศรัทธาในระบอบเก่าและมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมมารับตำแหน่ง ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายตามมา เมื่อพระยามโนฯ คัดค้านแนวทางการจัดการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ โดยมีการนำกำลังทหารมาปิดล้อมรัฐสภาในวันที่ 1 เมษายน 2476 สั่งปิดสภา ยุบคณะรัฐมนตรี และงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปลดผู้สนับสนุนปรีดีจากอำนาจ และโยกย้ายนายทหารฝ่ายคณะราษฎรจำนวนหนึ่งถูกไปต่างจังหวัด นับเป็นการรัฐประหารครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
มองในแง่นี้ ความวุ่นวายหลังการปฏิวัติ 2475 ระลอกแรกเกิดจากฝ่ายขุนนางเก่าที่ต้องการล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญและยื้อแย่งอำนาจกลับคืนจากคณะราษฎรไปสู่กลุ่มตน กระทั่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาหยุดชะงัก
การรัฐประหาร 2476 ของพระยามโนฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรที่ต้องการพิทักษ์รักษามรดกของการปฏิวัติ กับฝ่ายขุนนางอนุรักษนิยมที่ต้องการทำลายคณะราษฎรและล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญกลับไปสู่ระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์กบฏบวรเดชและอีกหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งในเวลาต่อมา
การโจมตีคณะราษฎรแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าหวงแหนอำนาจและยึดอำนาจจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางไปเป็นของกลุ่มตน โดยไม่พิจารณาความพยายามของขุนนางในระบอบเก่าที่ต้องการรวบอำนาจกลับไปไว้ที่ชนชั้นเจ้านายและขุนนางเช่นกัน จึงเป็นการมองประวัติศาสตร์แบบไม่รอบด้าน
หากพยายามจะเข้าใจพฤติกรรมของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ 2475 ก็จำเป็นต้องเข้าใจการปฏิปักษ์ปฏิวัติของกลุ่มขุนนางเก่าหลัง 2475 ด้วยเช่นกัน ประวัติศาสตร์คือเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ
4. มายาคติ “2475 เป็นเพียงการรัฐประหาร มิใช่การปฏิวัติที่แท้จริง”
มายาคตินี้บอกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่การปฏิวัติ เพราะมิได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เป็นเพียงการรัฐประหารที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถือครองอำนาจรัฐเท่านั้น
ในข้อนี้อีกเช่นกันที่งานวิจัยทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า “ไม่จริง” ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลและครอบคลุมคนวงกว้างทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมความคิด
ในด้านการเมือง เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจ สถาปนาการปกครองโดยรัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) มีการสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ อาทิ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาคมการเมือง กลุ่มผลประโยชน์วิชาชีพ การเลือกตั้ง ฯลฯ ที่เปิดให้คนหน้าใหม่และสามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจสาธารณะมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การขยายระบบราชการและปรับวิธีการทำงาน ทั้งยังมีการปฏิรูประบบกฎหมาย มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบกับต่างชาติ ทำให้ประเทศมีเอกราชที่สมบูรณ์
ในด้านสังคม มีการจัดระบบการศึกษา ระบบการแพทย์และสาธารณสุข และระบบคมนาคมที่ทันสมัย ครอบคลุม และเสมอภาคมากขึ้น โดยรัฐบาลดำเนินบทบาทหน้าที่แบบรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พยายามจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะให้ถึงมือประชาชน เกิดการขยายตัวของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั้งในและนอกกรุงเทพฯ และถนนหนทางเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า สามัญชนมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น
ในด้านเศรษฐกิจ รัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการวางนโยบายและพัฒนาระบบการค้าและการลงทุนในภาคเกษตรกรรม บริการ และอุตสาหกรรม มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมารองรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เข้าไปจัดหางานและส่งเสริมอาชีพต่างๆ
แน่นอนว่า การเข้าไปมีบทบาทของรัฐมากขึ้นในทางเศรษฐกิจนี้มีทั้งด้านบวกและลบ แต่ประเด็นตรงนี้คือ หลัง 2475 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ในด้านวัฒนธรรมและความคิด เกิดการเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วัฒนธรรมการพิมพ์ ละคร และวัฒนธรรมที่อยู่นอกภาครัฐ เกิดการถกเถียงทางอุดมการณ์อันหลากหลายเข้มข้นทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐ มีทั้งแนวคิดประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ อนุรักษนิยม รอยัลลิสต์ สังคมนิยม รวมถึงชาตินิยมแบบต่างๆ แพร่หลายและต่อสู้กัน เกิดพื้นที่ทางปัญญาและวัฒนธรรมใหม่ๆ มากมายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ
ด้วยเหตุนี้ 24 มิถุนายน 2475 จึงมีฐานะเป็นการปฏิวัติ เพราะมันสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปริมณฑลวงกว้างที่นอกเหนือจากศูนย์กลางในกรุงเทพฯ เกิดโครงสร้างการเมืองใหม่ รูปแบบทางเศรษฐกิจใหม่ และจิตสำนึกแบบใหม่ในหมู่ประชาชน
24 มิถุนายน 2475 ก็เหมือนการปฏิวัติในสังคมอื่นๆ มีทั้งด้านที่สำเร็จและล้มเหลว มีจุดแข็งและจุดอ่อน มีความก้าวหน้าและมีข้อบกพร่อง เพราะมันเป็นการปฏิวัติของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อที่เป็นปุถุชน มิใช่อรหันต์ ความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจในภายหลังก็เป็นเรื่องปกติเฉกเช่นการปฏิวัติครั้งอื่นที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์โลก
ปัญหาอยู่ที่ว่า จนถึงวันนี้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ “พลิกแผ่นดิน” ครั้งนี้อย่างรอบด้านแล้วหรือยัง การถกเถียงและการประเมินฐานะความสำคัญของเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเรื่องสำคัญและควรทำ แต่เงื่อนไขสำคัญคือสังคมต้องมีเสรีภาพให้ประชาชนได้เถียงและตั้งคำถามเรื่องประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องหวาดกลัวอำนาจลงทัณฑ์ทางกฎหมายหรือการปิดกั้นจากรัฐ
ทั้งนี้การตั้งคำถามกับมายาคติที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจพัฒนาการของสังคมอย่างถ่องแท้ มิใช่เข้าใจอดีตเฉพาะในแบบที่ชนชั้นนำอยากควบคุมให้เราเข้าใจ
———-
ความน่าจะอ่าน 2475
เล่มที่ 1
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2475: การปฏิวัติสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2 (แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,
“อ่านเข้าใจง่าย ไทม์ไลน์ชัดเจน อธิบายเป็นระบบ เขียนโดยนักประวัติศาสตร์อาวุโสมือฉมัง ควรเป็นเล่มนับหนึ่งสำหรับผู้เริ่มศึกษา”
เล่มที่ 2
ณัฐพล ใจจริง. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556.
“อธิบายเรื่องการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 โดยกลุ่มเจ้านายและขุนนางเก่าอย่างละเอียด ตื่นเต้น เร้าใจ เต็มไปด้วยเกร็ดเรื่องราวที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน ท้าทายมุมมองเก่าที่เน้นแต่ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร”
เล่มที่ 3
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5 (ฉบับแก้ไขและปรับปรุงครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553.
“เล่มนี้คลาสสิกขึ้นหิ้ง ผลจากการค้นคว้าร่วมทศวรรษ เปิดมุมมองให้เห็นการปรับเปลี่ยนสถาบันทางการเมือง โครงสร้างอำนาจ และฐานสนับสนุนทางสังคมของการปฏิวัติ ใช้หลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์มากมายมหาศาล ควรอ่านเล่มชาญวิทย์มาก่อน”
เล่มที่ 4
ศราวุฒิ วิสาพรม. ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.
“งานวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับ 2475 ฉายให้เห็นผลสะเทือนของการปฏิวัติ 2475 ว่าส่งผลกระทบกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าที่เราเข้าใจกัน โดยเฉพาะต่อชีวิตราษฎรที่เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับรัฐทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ”
เล่มที่ 5
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย. เบื้องแรกประชาธิปตัย: บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2559.
“สำหรับคนชอบอ่านประวัติศาสตร์ผ่านบันทึกความทรงจำของตัวบุคคล เล่มนี้รวมมาครบตัวละครสำคัญในห้วงยามความขัดแย้งก่อนและหลังการปฏิวัติ อาทิ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปรีดี พนมยงค์ พระยาทรงสุรเดช ประยูร ภมรมนตรี ควง อภัยวงศ์ ผิน ชุณหะวัณ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม อ่านสนุก”
เผยแพร่ครั้งแรกที่ - https://www.the101.world/the-myths-of-2475/ (Jun 24, 2017)