ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ถาม-ตอบ เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย

24
พฤษภาคม
2567

Focus

  • การตื่นตัวทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งสว. ของประชาชนปรากฏในช่วงคำถามและคำตอบของ PRIDI Talks #25 ที่สอดรับกับการอภิปรายในวงเสวนาของวิทยากรโดยเฉพาะประการแรกได้แก่ ปัญหาของระบบการเลือกตั้งสว. ชุดใหม่ที่มีกระบวนการการคัดกรองผู้สมัครสว. ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก
  • ประการที่สอง ข้อวิจารณ์ต่อระเบียบการเลือกตั้งสว. ชุดใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการนำไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และกติกาการสมัครสว. พื้นฐานในเรื่องเอกสารการสมัครส่วนบุคคลรวมถึงการแบ่งกลุ่มหรือการแบ่งสัดส่วนผู้ลงสมัครสว. ตามกลุ่มอาชีพต่างๆ และมีการตั้งคำถามเรื่องค่าสมัครสว. เป็นต้น
  • ประการสุดท้ายที่เป็นคำถามสำคัญต่อสว. ชุดใหม่คือ การทำให้สว. ออกจากกลไกของคณะรัฐประหารและเป็นตัวแทนอำนาจของปวงชนชาวไทยตามหลักประชาธิปไตยที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2489 ในสมัยรัฐบาลของคณะราษฎรที่มีเป้าหมายตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญต้องการให้สมาชิกสภาที่สองมาจากการเลือกตั้งของราษฎร

 

 

คำถาม :

อยากถามว่า ใครเป็นผู้กำหนดค่าสมัครสว. มหาดไทยเป็นคนกำหนด หรือว่าเป็นเรื่องกกต. กำหนด แล้วก็การกำหนดเช่นนี้ได้คำนึงถึงความไม่เสมอภาคของทุนทรัพย์ ของคนที่อยากจะเข้าไปสมัครเป็นสว. หรือไม่ และดิฉันคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญมากๆ และเป็นหัวใจสำคัญในการที่ใครจะเข้าไปในกระบวนการสมัคร

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับ ขออนุญาตตอบเลยนะครับ 2,500 บาทเขียนในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เลยนะครับ คนร่างรัฐธรรมนูญคนเขียนนะครับ ส่วนค่าสมัคร 2,500 บาท สมควรไหม ให้ท่านอื่นตอบนะครับ แต่ว่า 2,500 บาท เขียนอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เขียนในรัฐธรรมนูญ

 

คำถาม :

ผมจะถามว่า ที่ท่านวิทยากรหลายท่านบอกว่า ให้ประชาชนพากันไปสมัครเยอะๆ นะครับ ผมไปเอาไปสมัครมาเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา บางคนไม่มีเงินค่าสมัคร แล้วเรื่องอะไรจะไปเลือกอะไรแบบนี้ครับ หันหลังให้กับการเมือง ตรงนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนถามว่าเราจะให้ความรู้เขาอย่างไร เพราะเขาไม่ได้มาให้ความเอาใจใส่เลยทางด้านนี้

สุดท้ายครับ ในกรณีที่การแนะนำตัวที่อาจารย์ประจักษ์ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้สมัคร คาดว่าจะสมัครวันไหน ประมาณกลางเดือน ถ้าห้ามมาก ห้ามสื่อมวลชนทำข่าว แล้วผู้สมัครด้วยกันสามารถที่จะนัดหมายกัน แนะนำให้รู้จักกันได้หรือไม่ เพราะว่าจะมีการไปหย่อนบัตรสำหรับกลุ่มเดียวกัน กลุ่มเดียวกันไม่รู้จักกันเลย ตรงนี้แหละครับหัวใจมันอยู่ตรงนี้ เลยอยากจะเรียนถามว่าการที่ให้กลุ่มผู้สมัครกลุ่มเดียวกัน ได้แนะนำพบปะกัน กกต. ควรจัดให้มีพื้นที่พบปะกันได้หรือไม่ อย่างไร

 

คำถาม :

ตามที่คุณพริษฐ์บอกว่า สว. ชุดใหม่นี้ตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลใช่ไหม แต่ก่อนที่จะตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล อยากให้สว. ชุดใหม่ไปกดดันนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปลดพรรคการเมืองข้ามขั้วออกจากการร่วมรัฐบาล เพราะพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว บริหารประเทศเกือบ 10 เดือน ประเทศไม่เปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีขึ้นครับ

 

คำถาม :

ผมเป็นตั้งคำถามนะครับ เป็นข้อสังเกตนะครับ เราจะวิเคราะห์อันนี้เป็นเกมใช่ไหมครับ เราจะวิเคราะห์ว่า เขาจะมาซื้อเรารอบไหน จะมาดึงตัวอย่างไร แต่อีกมุมที่ผมมองเขาจะสกัดคนของฝ่ายประชาธิปไตย หรือฟังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนะครับ ก็เป็นข้อสังเกตว่า เรายังไม่ทราบเลยว่า เขาจะเปิดรับสมัครกี่วัน แต่ได้ข่าวมาเมื่อวานก็มีหลายๆ ท่านเข้าไปเอาใบสมัคร ถูกต้องไหมครับ แล้วเขาก็จะมีการถาม ว่าลงกลุ่มไหน ส่วนนี้เป็นคำถามนอกนอก นอกจากที่เขาให้เซ็นชื่อ แล้วก็บัตรเลขบัตรประชาชนนะครับ เขาจะมีการวิเคราะห์ และทราบว่าเดี๋ยวจะมีการจัดตั้งมาเต็มๆ เลยฝั่งที่จัดตั้งมาวันสุดท้าย ข้อมูลตรงนี้มันจะไปอยู่ที่อำเภอ ทุกอำเภอนายอำเภอจะรู้ข้อมูล สมมติวันที่ 1-5 ฝั่งประชาชนภาคอิสระเข้าไปสมัครสว. 3 วันเต็ม เขาจะมีการวิเคราะห์สองวันเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการวิเคราะห์ อันนี้ตั้งข้อสังเกตนะครับ สองวันนี้ถ้าหากเขาจัดตั้งมา เขาดูและว่ามีใครที่หน้าสกัดกั้น เขาส่งมาเลยเพราะเขามีการเตรียมตัวแน่นอนครับ

อันนี้มุมมองวิเคราะห์อาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้นะครับ แต่อยากให้ไปคิดวิเคราะห์กันนะครับคนจะไปวันหลังหรือเปล่า แต่ข้อเสียอาจมีก็คือ ถ้าเราเตรียมตัวไม่พร้อมอาจจะสมัครไม่ทันนะครับ ครับผมขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ครับผมขอบคุณครับ ใบสมัครไปรับได้แล้วนะครับ แต่เวลาไปรับใบสมัครตอนนี้ไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้นะครับ ว่าลงที่ไหน อำเภอไหน

 

คำถาม :

ความคิดเห็นเหมือนกันครับ คือตอนที่ไปรับใบสมัครนะครับ บางที่มีการเขียนข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ เหมือนกับว่าในหน่วยมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และเมื่อสักครู่นี้ก็คือชื่อกลุ่มนะครับ ทั้งๆ ที่จริงแล้วบัตรประชาชนใบเดียวมันก็สามารถรู้ข้อมูลทุกอย่างอยู่แล้ว จริงๆ แค่เสียบบัตรแล้วก็ปริ๊นท์ข้อมูลออกมานะครับ แล้วก็ฝากเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งก็คือ ตอนมีการกรอกข้อมูล ในเมื่อมีกำหนดให้เราเขียนหรือพิมพ์มาก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า พอเขียนหรือพิมพ์กลับมา เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิธีการสแกนหรือพิมพ์อีกรอบหนึ่ง ผมว่ามันมีอะไรแปลกๆ อยู่ครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ตั้งข้อสังเกต กระบวนการรับสมัครตอนนี้ ผมก็งงเหมือนกันนะครับ เชิญครับ

 

คำถาม :

ขอกราบด้วยความเคารพทั้งพิธีกรทุกท่านครับ ที่ขัดความรู้สึกอยู่ผมจะถามว่า ท่านบอกว่าต้องรณรงค์ให้คนเข้ามาเลือกตั้งให้มากที่สุดจึงจะชนะได้ ตรงนี้เขาบังคับตั้งแต่แรกแล้วเป็นอัตตาธิปไตยไม่ใช่เป็นธรรมาประชาธิปไตย ฉะนั้นผมถามพิธีกรทั้งหมดว่า จะแก้ไขแบบไหน ที่จะเชิญคนเข้ามาสมัครให้มากที่สุด เพราะพูดก็ผิดแล้ว ตรงส่วนนี้มันผิดกติกาเขา ฉะนั้นจะถามพิธีกรที่สามารถจะพูดกับผู้ใหญ่ได้ เราแก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร จึงจะเชิญคนเข้ามาสมัครได้มากที่สุด ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ครับผม ขอบคุณครับ ผมขอรบกวนท่านวิทยากรทุกท่าน จดและจำคำถามที่ท่านอยากจะตอบไว้นะครับ ผมจะคุมเวลาให้ครับ เชิญครับ

 

คำถาม :

ครับ สอบถามเรื่องผู้ช่วยเหลือผู้สมัครสว. ครับ ผมว่าผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถเป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัครสว. ได้หรือไม่ อาทิเช่น สมมติคุณทักษิณ อัชฌานนท์นะครับ เป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัครของสว. 141 คนนะครับ เขาสามารถพูดกับผู้สมัครสว. ทุกคน นอกจาก 141 คนนี้ด้วยได้ว่า ผมเชื่อใจคนๆ นี้ ผมมั่นใจในคนๆ นี้ เพราะฉะนั้นคำถามก็คือว่า ผู้ช่วยเหลือผู้สมัครสว. สามารถเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่นะครับ

ยังมีเวลาเหลืออีกนิดนึงนะครับก็คือว่า มองข้ามไปอีกช็อตนึงนะครับ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงแล้วว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานะครับเราวิเคราะห์กันว่า มันมีการหักหลังขั้วอำนาจเก่านะครับ เมื่อหักล้างขั้วอำนาจเก่า คำว่าสว. ด้อมส้ม เป็นคำที่ทำให้เราเข้าใจผิดหรือไม่ ผมไม่เห็นจะเกิดการจัดตั้งสว. ด้อมส้มเกิดขึ้นได้เลย ผมเห็นแต่สว. ที่ตั้งใจจะมาสมัครจริงๆ นะครับ อยากให้ขั้วอำนาจเก่าลองทบทวนหลักการวิธีคิด ว่าที่ตัวเองกำลังทำหลงกลอะไรใครหรือเปล่านะครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ครับผม ขอบคุณครับ เชิญครับ

 

คำถาม :

ขออนุญาตถามสักสองประเด็น โดยเฉพาะอารยะขัดขืน Disobedience ที่ท่านอาจารย์ว่าเมื่อสักครู่นี้ ในการสมัครสว. ครั้งนี้ สมมติ ณ วันนี้ เราใช้นโยบายนี้เลย ไม่ไปสมัคร สมมตินะครับ มันจะมีผลดีและผลเสียมากกว่ากันอย่างไร นี่คือคำถามที่หนึ่ง คำถามที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านจาตุรนต์ บอกว่า สว.กับ ส.ส. นั้น ผู้ที่จะสมัครนั้นต้องไปรับใช้ปวงชนชาวไทย มาตรา 124 ครับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ณ เวลานี้ 7 ปีเศษแล้ว ผมก็จะเรียนถามว่า คดีที่จะไปศาลปกครอง ที่จะนัดพิจารณา 16-19 ที่กำลังจะมาถึงนี้ นี้แหละขัดรัฐธรรมนูญชัดๆ จะมีบ้างไหมใครที่จะไปศาลรัฐธรรมนูญ ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับ จะมีใครไปศาลรัฐธรรมนูญบ้างหรือไม่ เชิญครับ อีก 2-3  ท่านครับ

 

คำถาม :

จริงๆ หัวข้อวันนี้ออกจะแปลก ในความรู้สึกผมอยากให้สดุดีอาจารย์ปรีดีหน่อย เพราะว่าวันนี้น่าจะตั้งคำถามว่า อาจารย์ปรีดีกับการเลือกตั้งสว.ก็ได้ หรืออาจารย์ปรีดีกับสมาชิกวุฒิสภาก็ได้ เพื่อเราจะได้พูดถึงว่าอำนาจที่ท่านอาจารย์ปรีดีต้องการนั้น ก็คืออำนาจของประชาชน ซึ่งมันตรงข้ามกับอำนาจของบุคคล เพราะฉะนั้นสิ่งนี้คือสิ่งที่พิธีกรและท่านก็ได้ย้ำแล้วว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่สว. วันนี้สว. ไม่มีประโยชน์ถ้าอำนาจไม่ใช่ของปวงชนชาวไทย ถ้าอำนาจไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่อำนาจของประชาชน สว. ที่ได้เข้าไปจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่เปลี่ยนจากอำนาจของบุคคลเป็นอำนาจของประชาชนเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าหากว่าท่านจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าสว. ที่จะเข้าไปที่จะต้องยึดอำนาจของประชาชนเป็นหลัก เมื่อสักครู่นี้อาจารย์ประจักษ์ได้พูดแล้ว อาจารย์อาจารย์ธเนศก็เรียบร้อยแล้วนะครับ คุณพริษฐ์รวมทั้งท่านจาตุรนต์ก็พูดเรียบร้อยแล้ว ผมอยากสดุดีอาจารย์ปรีดีว่าเราต้องการอำนาจของประชาชน ไม่ใช่อำนาจของกลุ่มบุคคลปัจจุบันครับผม

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับ

 

คำถาม :

สวัสดีท่านวิทยากรนะครับ ผมขอสอบถามในเรื่องของประเด็นเรื่องของเลือกสว. นะครับ ผมก็ชาวบ้านธรรมดา ผมก็อยากรู้อยากทราบ ผมก็เคยศึกษามาก่อนเหมือนกันแต่ว่าผมไม่เข้าใจสักที

ประเด็นแรกนะครับ ข้อดีข้อเสียของการเลือกสว. แบบเลือกกันเองหน่อยนะครับ ประเด็นที่สอง มีตัวอย่างประเทศไหนบ้างที่พอจะเทียบเคียงกันได้ ในการเลือกตั้งแบบนี้นะครับ ประเด็นสุดท้ายสว. เลือกกันเองมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหนครับผมครับผม ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับ อาจจะยังวิจารณ์ระบบเลือกสว. รอบนี้ไม่ดุเด็ดเผ็ดมัน เขาเลยต้องมาถามเพิ่มนะครับ ผมขอตอบข้อหนึ่ง มีคนถามว่า เราจะรณรงค์ยังไงในเมื่อพูดไม่ได้ ผมขอตอบก่อนนะครับทุกท่านครับตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปผมเข้าใจว่าพี่ๆ หลายท่านในที่นี้ที่เป็นผู้สมัครอาจจะให้สัมภาษณ์ไม่ได้แล้วนะครับ แต่กลายเป็นว่าตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปคนที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผมไม่ว่าจะเป็นหลายท่านในที่นี้และน้องๆ ที่อายุไม่ถึงยังพูดได้นะครับ

 

 

16-19 พฤษภาคมจะเป็นวันสำคัญที่เราจะจัดกิจกรรมรณรงค์นะครับ โดย 20 พฤษภาคม น่าจะเป็นวันแรกที่เริ่มรับสมัครนะครับ 16 พฤษภาคม จะจัดกิจกรรมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไปเยือนบ้านอาจารย์สิริพรรณ 17 พฤษภาคม ไปที่หาดใหญ่ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) นะครับ 18 พฤษภาคม ไปที่ขอนแก่น (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น) เเล้วก็ 19 พฤษภาคม ปิดที่เชียงใหม่ ที่ประตูท่าแพนะครับ

ก็เชิญพี่ๆ ที่อยากสมัครมาร่วมได้แต่คงไม่ได้พูดนะครับ หรือถ้าพี่พร้อมจะทำแบบที่อาจารย์ประจักษ์เสนอนะครับคือมีหน่วยไปทดสอบระบบก็จะให้พูดนะครับ แต่ว่าโดยหลักๆ จะเชิญน้องๆ ที่ผลักดันเรื่องประชาธิปไตยมาตลอดหลายปี ติดคุกติดตารางอะไรกันมา มาเป็นคนพูดและเชิญพี่ๆ ที่อายุถึงสมัครได้มารับฝากความหวังกับน้องๆ นะครับ ก็ขอประชาสัมพันธ์ว่ายังไม่จบนะครับ ถึงเขาไม่พูดเราก็จะเอาคนที่ไม่สมัครมาพูดให้ได้ในสัปดาห์หน้าก็เชิญมาร่วมงานกันได้นะครับ

 

 

ส่วนคำถามอื่นๆ ขอเชิญทุกท่านถ้าแลกเปลี่ยนเท่าที่อยากตอบจากกับคนที่ช่วยกันถามครับผม เชิญครับ ประเด็นไหนก็ได้หรือว่าฝากสุดท้ายครับผม มีถามเรื่องระเบียบด้วยว่าทำอะไรได้ทำอะไร ไม่ได้ตกลงว่าคุณทักษิณมาช่วยเป็นผู้ช่วยได้ไหมนะครับ มีถามเรื่องศาลรัฐธรรมนูญทำไมไม่ฟ้องนะครับ มีถามเรื่องอีกหลายอย่างนะครับ ข้างหน้าเราจะไปอย่างไร ระบบนี้มันจะทำให้เราได้อะไรไหม หรือระบบมันทำให้เราไม่ได้อะไรนะครับ เชิญครับ

 

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

ผมตอบสองข้อที่เชื่อมโยงกัน คือข้อดีข้อเสียกับระบบที่ให้ผู้สมัครมาเลือกกันเองกับเรื่องค่าสมัครเพราะมันเชื่อมโยงกัน คือเรื่องค่าสมัคร 2,500 บาท เป็นปัญหาไหม ปัญหาหลักมันเกิดขึ้นจากการที่คุณทำให้คนที่มีสิทธิ์โหวตคือผู้สมัครเท่านั้น เพราะถ้าเราเปรียบเทียบกับเลือกตั้งส.ส. ก็จริงค่าสมัครส.ส. 10,000 บาท ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ ซึ่งแน่นอนเราก็ถกเถียงได้ว่ามันควรจะลดกว่านั้นไหม เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาสมัครได้มากขึ้น ไม่เจออุปสรรคเรื่องการเงินแต่ท้ายสุดแล้วไม่เป็นไรถ้าประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเขาไม่ต้องจ่าย 10,000 บาท ก็คือว่า Voter ไม่มีค่าใช้จ่ายมีแค่ผู้สมัคร แต่พอมาเป็นระบบคัดเลือกสว. ที่ไปจำกัดว่าคุณจะโหวตได้ต่อเมื่อคุณเป็นผู้สมัคร อันนี้คือปัญหามันก็เลยทำให้ก็เข้าใจถึงความไม่พอใจว่ามันเลยมีเงื่อนไขเรื่อง 2,500 บาท เข้ามา ดังนั้นก็ตอบข้อเดียวกันที่มันเชื่อมโยงให้เห็นว่า พอคุณมีระบบการคัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร และทำให้ผู้สมัครกับ Voter กลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มันก็เป็นการจำกัดสิทธิ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยอุปสรรคค่าสมัครเข้ามา ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับ ตอบคำถามแรกนะครับ เชิญครับท่านไหนมีอะไร

 

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ :

คือที่ผมพูดถึงอารยะขัดขืน Civil Disobedience ไม่ได้หมายความว่าให้ Boycott ไม่ไปลงสมัครนะ คือจริงๆ ผมบอกว่ายิ่งเกมกติกาเป็นแบบนี้ยิ่งต้องไปลงสมัครกันเยอะๆ เป็นวิถีทางเดียวนะครับ แต่ว่าอารยะขัดขืนนั่นคืออารยะขัดขืนต่อระเบียบกกต. ถ้าเราเห็นว่าระเบียบที่มันออกมามันจำกัดสิทธิมากเกินไป แล้วมันไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย มันอาจจะต้องมีคนยอมเสียสละอารยะขัดขืน คือว่าลองเสี่ยงลองไปทดสอบดูว่าเส้นจริงๆ อยู่ตรงไหน ทำแบบนี้ผิดหรือทำแบบนี้ไม่ผิดนะครับ ตรงนี้ Civil Disobedience ในความหมายนี้ ถ้าท้ายที่สุดไปทดสอบแล้วก็บอกว่าผิดนะครับ ท่านก็อาจจะกลายเป็นผู้เสียสละโดนตัดสิทธิ์ไปแต่อย่างน้อยเราต้องพยายามขยับเส้นของประชาธิปไตย ตอนนี้โดนล้อมกรอบเราต้องพยายามขยายกรอบของการหาเสียงสร้างให้มันเกิดบรรยากาศของการหาเสียงอย่างแท้จริง

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ใครไม่เห็นด้วยกับระเบียบกกต. พร้อมอารยะขัดขืน อาทิตย์หน้าพูดเข้าไปครับ อย่าหยุดพูดครับผม ขอบคุณครับ เชิญอาจารย์ครับ

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :

คำถามสุดท้ายถามทำนองว่า การเขียนกฎแบบนี้การเลือกกันเองโดยกลุ่มอาชีพอะไรต่างใช่ไหม ทั้งหมดนั่นเป็นประชาธิปไตยไหม แล้วก็รวมถึงคำวิจารณ์อื่นโดยอยู่ในโน้นแนวนี้ ผมจะตอบรวมๆ กันเลยว่า แน่นอนถ้าดูจากวิธีการที่เขาทำและก็กฎระเบียบที่ออกมาและจุดหมายที่จะไป มันไม่เป็นประชาธิปไตย ผมอุตส่าห์เสียเวลาไปนั่งอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วก็ดูเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องการเลือกสว. ในมาตรา 107 ซึ่งเป็นมาตราเดียวเองที่คุมหมดเลยนะ ว่าให้เลือกกันเองแล้วมีอาชีพแล้วก็ทำให้เที่ยงตรงอะไรต่างๆ

 

 

แล้วก็มีคำหนึ่ง คำว่า “กลั่นกรอง” ผมคิดว่าเป็นคำที่กกต. อาจจะเอาเป็นคีย์เวิร์ดเป็นคำหลักที่ออกมาใช้ในการออกระเบียบให้ควบคุมด้านต่างๆ เพราะว่าต้องกลั่นกรองซึ่งเฉพาะมาตรานี้มาตราเดียว ผมพบว่ามันมีความขัดแย้งกันอยู่ เพราะว่ามันมีการพูดถึงว่า ส.ส. สว. ได้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยต่างๆ แต่เสร็จแล้วในการเข้าสู่อำนาจ เข้าสู่ตำแหน่งให้เลือกกันเอง ในขณะที่ส.ส. ในเลือกทั่วไปต่างๆ ได้เพราะฉะนั้นสภาเป็นสภานิติบัญญัติ สภานิติบัญญัติเป็นสภาที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้นการเข้าสู่อำนาจมันต้องมาด้วยปวงชน คือทั่วไปแต่ Free and Fair ใช้ทั่วไปมาจากหลักการนี้ว่า เพราะว่าอำนาจไม่ใช่อำนาจที่ถูกตัดตอนเป็นของใคร แต่เป็นอำนาจรวมของของพลเมืองทั้งหมดเลย ใช่ไหม อันนี้มันจึงทำให้มันต้องเปิดกว้าง ต้องไม่ไปขีดกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ที่จะไปละเมิด

ที่นี่แน่นอนว่าในทางปฏิบัติมันไม่มีทางเลยที่มันจะทำโดยที่ไม่ขัดแย้ง เพราะฉะนั้นเกิดปัญหาขึ้นมาก็แก้ไปตามเนื้อผ้า แต่อย่าไปคิดก่อนว่าจะต้องกันแบบเขากลั่นกรองเพราะเราจะกลั่นให้ได้แต่คนที่อยู่ที่นั่นให้คนที่ตั้งใจสุจริต เพราะในนั้นจะมีมาตราอะไรที่บอกว่าวุฒิสภาจะต้องไม่อยู่ในอาณัติของพรรคของใคร ต้องเป็นอิสระจริงๆ ซึ่งกกต. อ้างก็นี่ไง ออกกฎนี้เพื่อจะให้มันไม่อยู่ในอาณัติใคร ก็เดิมอย่าให้พรรคการเมืองอย่าเข้ามายุ่งเลย ก็อ้างรัฐธรรมนูญมาเป็นเกิน ส่วนนี้ผมเลยคิดว่ารัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย ที่เป็นของปวงชน มันเป็นประชาธิปไตยที่เป็นของของคนบางคนที่มีอำนาจต่างๆ นั้น ผมเลยมองอย่างนี้ว่า ถ้างั้นเรามีปัญหาแล้วมันแก้ไม่ได้มันจะต้องรับจุดอ่อนบกพร่องอย่างไรหรือ คือถ้าหากว่าประชาชนพร้อมใจกัน แล้วเคลื่อนไหว แล้วออกมาทำอย่างที่เราทำ

ผมคิดว่าการคัดเลือกคราวนี้อันหนึ่งที่ทำให้ชัดเจน คือคนจะเข้าใจรัฐธรรมนูญ เข้าใจการเลือกสว. เข้าใจมาตรา 107 มากที่สุด คือไม่มีใครอ่านมาตราในรัฐธรรมนูญหรอกครับ มันไม่น่าอ่าน น่าเบื่อใช่ไหม แต่คราวนี้ผมคิดว่าจะมีคนเยอะที่ได้อ่านแล้วเข้าใจต่างๆ คือการให้การศึกษากับพลเมืองใช่ไหมเป็นหน้าที่ของประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ คนต้องรักษาสิทธิ์ ต้องรู้ก่อนสิทธิ์ตัวเองคืออะไรหน้าที่ตัวเองคืออะไร แล้วลงไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง ไม่ใช่ทำตามที่รัฐบอก

 

 

เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยมันเป็นการต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด มันเป็นต่อสู้ที่ Endless มันไม่มีจุดจบ คือมันจบการต่อสู้เมื่อไหร่ประชาธิปไตยก็จบเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นเหมือนสหรัฐอเมริกา หรือเป็นยุโรปต่างๆ ทำไมถึงต้องมีคนออกมาคัดค้าน มีประท้วง มีการแตกกลุ่มแตกอะไรต่างๆ สื่อมวลชนเข้าทำงานหนักมากเพื่อหาความจริงมาต่อสู้ ถูกฟ้องถูกต่างๆ แล้วก็พบอยู่ตลอดเวลาเลยว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ การเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องและคัดค้านของประชาชนก็ยิ่งมากเท่านั้น

เพราะฉะนั้นมองในแง่นี้ผมคิดว่าการเลือกสว. เสียงตอบรับจากประชาชนแบบนี้ที่เรากำลังทำกันอยู่ มันเป็นปรอทวัดว่า ความมีประชาธิปไตยของประชาชนมีอยู่เยอะ ถึงว่ารัฐบาลจะทำกฎปิดยังไงก็ปิดไม่ได้ครับ เพราะอย่างผมบอกออกมาเถอะ จะออกมาแบบ Civil Disobedience จะออกมาแบบยังไงก็ตามแล้วทำไป ผมคิดว่าระยะยาวมันจะเริ่มสร้างต้นประชาธิปไตยที่ออกดอกออกผลต่างๆ แล้วเราจะได้รับผลจากวันข้างหน้า คืออย่าไปหวังว่าจะได้รับเป็นรูปธรรม เพราะว่าประชาธิปไตยมันจะมาโดยภาพรวม เราจะรู้ว่ามันมาถึงนะครับ ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณอาจารย์ครับ เชิญคุณจาตุรนต์ครับ

 

 

จาตุรนต์ ฉายแสง :

สองประเด็นครับ ประเด็นที่หนึ่ง คือที่มีคำถามว่านอกจากไปร้องที่ศาลปกครอง ว่าผู้ร้องเห็นว่าระเบียบกกต. เป็นคำสั่งทางปกครอง และมันขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ไหม ผมเข้าใจว่าระเบียบเมื่อไม่ได้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้อาศัยอำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ระเบียบไปจำกัดสิทธิเสรีภาพมันก็น่าจะขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ก็คือในการแสดงความเห็น ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ทีนี้กระบวนการมันก็คงยุ่งยากและคงไม่ทันการณ์ จะต้องไปร้องผู้ตรวจการฯ ผู้ตรวจการฯ ต้องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง

ประเด็นที่สอง เรื่องการรณรงค์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร ผมยังอยากสื่อสารกับสื่อ อย่างเมื่อสักครู่นี้คุณยิ่งชีพบอกว่า เดี๋ยวจะไปจัดที่โน่นจัดที่นี่ ก็ใช้สื่อเท่าที่มีอยู่เท่าที่ทำได้ แต่จริงๆ สื่อสำนักใหญ่ๆ ทีวีรายการที่คนดูเยอะๆ น่าจะให้การสนับสนุนการรณรงค์ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร เพราะดูแล้วมันไม่ผิด เขาห้ามพิธีกรอะไรพวกนี้นะครับไปใช้ความสามารถตัวเองช่วยผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง แต่เขาไม่ได้ห้ามเรื่องการรณรงค์และการให้ข้อมูลนะครับ เขาไม่ได้ห้ามสื่อ สื่อห้ามสัมภาษณ์ผู้สมัคร ซึ่งเราหวังว่ากกต. จะยกเลิกระเบียบนี้ แต่ระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกนี้ สมมติรายการอะไรใหญ่ๆ ที่คนดูเยอะๆ เชิญคนที่จะรณรงค์ไปออกทีวี แล้วก็ถามว่าจะรณรงค์ว่ายังไง ไหนคุณพูดสิให้เหตุผลอย่างนี้ ผมตีความระเบียบปัจจุบันว่ายังทำได้

ทีนี้ถ้าสื่อช่วยกันนะครับ ทั้งสื่อเอกชนสื่อภาครัฐ ภาครัฐเมื่อสักครู่นี้ที่ผมก็พูดไปบ้างว่า ถ้ารัฐบาลสนับสนุนแล้วก็หารือกับกกต. ว่าทำอย่างนี้ได้ไหม ซึ่งผมเข้าใจว่าได้นะ เราก็จะสามารถรณรงค์ได้ในเวลาที่เหลืออยู่ คือขณะนี้ผมคิดว่าเรามาช่วยคิดว่า ในเวลาที่เหลืออยู่ทำอะไรได้บ้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกเลือกสว. คราวนี้ ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับ คุณจาตุรนต์ครับ มีอีกหลายเวทีครับที่ต้องช่วยกัน เชิญอาจารย์สิริพรรณ มีอะไรไหมครับ

 

 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี :

ที่จริงไม่ได้มีอะไรมาก แต่ว่าเมื่อสักครู่นี้คำถามสุดท้ายแล้วกันนะคะ ที่บอกว่าการวิธีการได้มาซึ่งสว. แบบนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็อยากจะบอกมีค่ะว่า ถ้าเราใช้เกณฑ์ในการวัดประชาธิปไตย มันจะมี 3 ด้าน ด้านที่หนึ่งคือการเข้าสู่อำนาจว่าเป็นกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชนหรือไม่ เราจะเห็นว่าการออกแบบการได้มาซึ่งสว. แบบนี้แน่นอนไม่ยึดโยงกับประชาชนก็ต่างไปจากที่อาจารย์ปรีดีได้ออกแบบไว้ด้วยซ้ำ ตอนนั้นถึงแม้จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือกนะคะ

อันที่สองก็คือท่านใช้อำนาจอย่างไร ถ้าท่านไม่ได้เข้ามาด้วยกระบวนการที่ยึดโยงกับประชาชน คือคุณต้องจ่าย 2,500 บาท แล้วเลือกนั้นเอง อันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ท่านยังสามารถยืนหยัด บ่มเพาะต้นไม้ประชาธิปไตยแบบอาจารย์ธเนศว่าได้ โดยการที่ท่านใช้อำนาจอย่างเป็นประชาธิปไตย และอันที่สามก็คือ ท่านยอมรับการตรวจสอบ 3 สิ่งนี้ก็จะทำให้ถึงแม้ที่มาจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ว่าลดความเสียหายอย่างที่คุณจาตุรนต์พูดนะคะ

แล้วถามว่าระบบมันออกแบบมา มีประเทศไทยประเทศเดียวใช่ไหม มันสะท้อนอะไรคะ สะท้อนกับดักทางความคิดจะบอกว่าสิ้นคิดก็แรงไปหน่อยนะคะ ว่าจะไม่มีสภาที่สองได้อย่างไรเพื่อมารักษาระเบียบอำนาจแบบเดิม แต่อย่างที่บอกนะคะว่าต่อให้เขาคิดมา ไม่ใช่ว่าจะฉลาดปราดเปรื่องขนาดคิดเอาเอง อย่างเช่นระบบเลือกตั้งใบเดียวก็ไปยืมมาดัดแปลงมาจากเยอรมันนะคะ คือมีต้นตอมาแล้วก็เอามาบิดให้มันเข้าทางเขานะคะ หรืออย่างที่บอกว่าระบบการได้มาซึ่งสว. ก็ไปหยิบยืมมาจากฮ่องกงถ้าให้เดา

อย่างที่บอกว่าเขามีตัวแทนที่มาจากกลุ่มอาชีพแต่อย่างฮ่องกงถึงแม้เขาจะเป็นประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะอยู่ภายใต้จีน เขายังให้กลุ่มอาชีพนั้นเลือกกันเอง คือของเราเอามาแล้วจะมาใส่มาตรการอันไม่เป็นประชาธิปไตยทับทวีคูณเข้าไปอีก คือไม่ให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพนั้นเลือก ต้องสมัครแล้วก็เลือกกันเอง คำว่าให้กลุ่มประชาชน กลุ่มอาชีพเลือก หมายความว่า สมมติว่าเอาเป็นเกษตรกร เกษตรกรทั้งประเทศที่อยู่ภายใต้การลงทะเบียนมีสิทธิ์เลือกนะคะ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ก็คือเกษตรกรที่จะต้องเสีย 2,500 บาท เข้าไปเลือก

ประเด็นสุดท้ายจะพูด คือเรารู้ว่าระบบถูกออกแบบมาเพื่อกีดกันประชาชน ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้ที่คุณจาตุรนต์พูดว่าในระยะเวลาที่เหลือก็คือ เราช่วยกันเอาชนะระบบเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วก็ลดความเสียหายให้น้อยที่สุดแล้วก็ก้าวกันต่อไปหลังจากนี้ ขอบคุณค่ะ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณอาจารย์สิริพรรณครับ เเล้วก็ขอบคุณวิทยากรทั้ง 5 ท่านนะครับ ขอบคุณคุณพริษฐ์นะครับ ขอบคุณคุณจาตุรนต์ ขอบคุณอาจารย์ธเนศ อาจารย์ประจักษ์ อาจารย์สิริพรรณนะครับ และก็ขอบคุณทุกท่านที่อยู่มาด้วยกันในวันนี้ และพร้อมจะลงสนามในอีกไม่กี่วันข้างหน้านะครับ

วันจันทร์ 13 พฤษภาคม เราจะรู้ว่าเขาจะเปิดรับสมัครวันที่เท่าไหร่บ้าง แต่เราพอเดาว่าน่าจะรับสมัครในช่วงวันที่ 20-22 แถวนี้นะครับ 9 มิถุนายน พี่ๆ เดินเข้าคูหาแทนน้องๆ นะครับ 16 มิถุนายน ไประดับจังหวัดและไปในระดับประเทศนะครับ ก็ฝากโอกาสในการเปลี่ยนแปลงไว้กับพี่ๆ ที่สมัครได้ในรอบนี้ด้วยนะครับ วันนี้สำหรับวงเสวนาลาไปก่อนครับผม สวัสดีครับ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=feXERmBEXlc

 

ที่มา : เสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 :  PRIDI Talks #25 เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.