ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ในพุทธธรรม

5
เมษายน
2563

ข้อมูลจากหนังสือ “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของ ปรีดี พนมยงค์” โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

 

ดังได้เสนอไว้ในบทความเรื่อง ภราดรภาพ (Solidarity) คืออะไร ว่าความคิดเรื่องภราดรภาพนิยมนี้มิใช่เป็นเพียงปรัชญา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองหากเชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มีข้อบ่งชี้ในทางชีววิทยาซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมนี้ยังถือเป็นแนวคิดเชิงศีลธรรมที่ปรากฏในคำสอนของทุกศาสนาด้วย

แม้ว่าหลักการเรื่องภราดรภาพนี้จะมีที่มาจากแนวคิดทางตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ แต่กระนั้น แนวความคิดว่ามนุษย์ทั้งหลายเป็นพี่น้องผองเพื่อนที่ต้องร่วมแบ่งทุกข์แบ่งสุขกันก็ยังปรากฎในหลักธรรมทางพุทธศาสนาด้วย

ในหนังสือ“ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของ ปรีดี พนมยงค์” โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ได้อธิบายว่า ...แม้เราอาจจะมองเห็นอิทธิพลทางความคิดจากภายนอกที่มีส่วนในการก่อร่างทางความคิดในด้านเศรษฐกิจของปรีดีมากเพียงใดก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่งกับความเชื่อมั่นศรัทธาของปรีดรีที่มีต่อพุทธศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลายจวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต...

ดังนั้นแนวคิดทฤษฎีของภราดรภาพนิยม (Solidarisme) โดยสาระและตรรกะในตัวของมันเองคือความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองในทางศีลธรรมซึ่งพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด และสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์สังคมได้อย่างกลมกลืน ความคิดภราดรภาพนิยมถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโต้ความคิดทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีมาแต่เดิมซึ่งได้แก่ ระบบเสรีนิยมที่ถือเอาแต่ประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นสรณะ กับสังคมนิยมที่ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมจนสุดโต่ง แต่สำหรับภราดรภาพนิยมนั้น คือการถือเอาความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการหวนกลับไปสู่ความคิดแบบมนุษยนิยม Humanisme ในยุคแห่งภูมิธรรมของตะวันตก

หลักการในทางพุทธศาสนาที่ชาวพุทธรับรู้กันโดยทั่วไป คือแนวคิดเรื่องของ “การเกิดมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสารวัฏนี้ร่วมกัน” ดังนั้นการแสดงความเอื้อเฟื้อและเมตตากรุณาต่อกันจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ดังเช่นบทกล่าวในการแผ่เมตตาว่า “...สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด” ที่เราคุ้นเคยกัน

หรือในคำสอนของสมณะ ติช นัท ฮันน์ (Thich Nhat Hanh) จากหนังสือ “เมตตาภาวนา คำสอนว่าด้วยรัก” ที่ท่านแสดงไว้ว่า “เราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์ของความรักอยู่ในตัว เราสามารถพัฒนาพลังอันน่าอัศจรรย์นี้ ปมเพราะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้อะไรตอบแทน หากเราเข้าใจใครสักคนดีพอแล้ว ถึงคน ๆ นั้นจะทำร้ายเรา เราก็จะยังคงรักคนผู้นั้นอยู่ องค์ศากยมุนีพุทธทรงตรัสว่าพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้าจะมีพระนามว่าเมตไตรยหรือพระพุทธเจ้าแห่งความรัก”

เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มุ่งวิพากษ์ต่อแนวความคิดเสรีนิยม พร้อมกับการวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการปกครองแบบเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพว่า แนวคิดธัมมิกสังคมนิยมคือแนวคิดที่ว่าด้วยความเห็นอกเห็นใจและความเอื้อเฟื้อต่อกันในสังคม นายทุนต้องรักกรรมการ กรรมกรต้องรักนายทุน ต่างฝ่ายต่างเอื้ออนุเคราะห์ต่อกัน มีเมตตาอารีต่อกัน

แนวคิดแบบภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของนายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นวิทยาศาสตร์ทางสังคมที่ปฏิเสธทั้งการหาประโยชน์ต่อส่วนตนเป็นที่ตั้งอย่างระบอบเสรีนิยม หรือการยอมตนอยู่ภายใต้รัฐเผด็จการ แบบสังคมนิยมสุดโต่งที่สละละความเป็นปัจเจกบุคคลออกไปโดยถือว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นเพียงหน่วยหนึ่งของสังคมเท่ากัน

แต่ภราดรภาพนิยมนี้คือการแสวงหา “ทางสายกลาง” ที่เป็นการประนีประนอมระหว่างแนวคิดทั้งสองขั้ว โดยให้ความสำคัญต่อปัจเจกชนไม่น้อยกว่าส่วนรวม โดยปัจเจกชนนั้นชอบที่จะพัฒนาศักยภาพของตนให้เต็มความสามารถไปได้ ภายใต้โอกาสที่เปิดกว้าง แต่ประโยชน์หรือคุณงามความดีที่เกิดขึ้นในสังคม ก็มิใช่ผลงานหรือเกิดจากปัจเจกชนเพียงคนเดียวอีกต่อไป

หากแต่เป็นกรณีที่ทุกคนในสังคมต่างมีส่วนร่วมที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นไปด้วยกัน และเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะต้องสานต่อความก้าวหน้าของสังคมไปด้วยกัน นี่คือภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์