ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านปรีดีกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

22
พฤษภาคม
2563

ขอยกบทความของ สังศิต พิริยะรังสรรค์ จากมติชนรายวัน 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 มาให้อ่านกันอีกครั้ง

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น นอกจาก “คณะราษฎร” มีเจตนารมณ์ที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยแล้ว ก็ยังได้แถลงถึงหลักการสำคัญ 6 ประการที่จะใช้ในการปกครองประเทศด้วย

สาระสำคัญของหลักดังกล่าวว่าด้วย (1) ความเป็นเอกราชของประเทศ (2) ความปลอดภัยของคนในชาติ (3) ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ และหางานให้ราษฎรทุกคนทำ (4) สิทธิอันเสมอภาคของราษฎร (5) หลักแห่งเสรีภาพ และ (6) การศึกษา ในหลักประการที่ 6 นั้น คณะราษฎรได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

การเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่ทันผ่านพ้นข้ามปี อาจารย์ปรีดีก็สามารถก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” ขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2476 ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย อาจารย์ปรีดีได้แถลงถึงเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เอาไว้ว่า เพื่อจะได้ช่วยบำบัดความกระหายการศึกษาของราษฎรโดยทั่วไป

แต่เดิมมานั้นมีการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงสุดของประเทศอยู่ก่อนแล้ว นิสิตที่เข้าเรียนในสถาบันแห่งนี้มีจำนวนน้อย เพราะต้องเข้าเรียนเต็มเวลา ฉะนั้นผู้ที่ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีจึงไม่สามารถเข้าศึกษาต่อได้ ความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ จึงดูเหมือนว่ามีการ “ผูกขาด” อยู่ในมือของปัญญาชนจำนวนหนึ่งเท่านั้น อาจารย์ปรีดีได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น “มหาวิทยาลัยเปิด” เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาโดยทั่วไปที่ใฝ่รู้ สามารถเข้าศึกษาต่อได้

นอกจากนั้น นักศึกษาที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีก็สามารถประกอบอาชีพไปในระหว่างเรียนได้ด้วย

ดังนั้นนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นเก่าส่วนใหญ่ จึงเป็นผู้มีอาชีพในระหว่างที่เรียนอยู่ด้วย

กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ เปิดสถาบันการศึกษาที่ผลิตปัญญาชนแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในขั้นนั้น

ธรรมศาสตร์ได้ดึงเอาวิชาว่าด้วยกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการบริหารประเทศ มาไว้ในมือของราษฎร และสามัญชนทั่วไปสามารถเรียนรู้เรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยผูกขาดอยู่ในมือของชนชั้นสูงของประเทศนี้เท่านั้น

แต่เดิมนั้น วัตถุประสงค์ของการผลิตบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นไปเพื่อตอบสนองระบบการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงแตกต่างกันอย่างชัดเจนจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ที่ไม่เน้นว่าบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจะต้องเข้ารับราชการเท่านั้น หากแต่สามารถที่จะประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น เป็นทนายความ นักบัญชี พ่อค้า หรือตามธุรกิจเอกชนสมัยใหม่ได้

อนึ่ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว อาจารย์ปรีดียังได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบการเข้ารับราชการพลเรือนและการเลื่อนขั้นตำแหน่งที่จะต้องมีการสอบแข่งขัน ทั้งนี้เพื่อจะปิดช่องทางของระบอบพวกพ้องญาติมิตร และได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ารับราชการ ซึ่งในระยะต้นนั้น ท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ปกครองเดิมมากว่า วิธีการดังกล่าวคงไม่มีวันเป็นผลสำเร็จได้เป็นแน่ เพราะระบบพวกพ้องยากที่จะหมดไปจากสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม 50 ปีที่ผ่านไป ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้ระบบพวกพ้องจะยังคงมีอยู่ แต่ระบบการสอบแข่งขันคัดเลือกเข้ารับราชการก็กลายเป็นกฎระเบียบที่ยึดถือกันอยู่โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบัน

ในขณะที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ปรีดีพยายามยกระดับคุณภาพทางวิชาการของสถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งที่เป็นชาวต่างประเทศและชาวไทยมาเป็นผู้บรรบา อาทิ ร.แล้งกาต์ (ทางกฎหมาย) ฮัต เจสสัน (ทางลัทธิเศรษฐกิจ) ดร. ดิเรก ชัยนาม ศ.ดร.เดือน บุนนาค ม.จ.วรรณไวทยากร ดร.ทองเปลว ชลภูมิ และ ดร.ทวี ตะเวทิกุล เป็นต้น

หลักสูตรของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ ไม่เพียงแต่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาวิทยาลัยปารีส แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งช่วยให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีความรอบรู้ในศาสตร์ทางสังคมอย่างกว้างขวางเท่านั้น อาจารย์ปรีดียังได้นำเอาวิญญาณของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบชาวฝรั่งเศส หรือแบบประเทศตะวันตก เข้ามาสถิตไว้ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย

เห็นได้ว่าท่านผู้ประศาสน์การได้แสดงเป็นแบบอย่างของการเป็นนักต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้แก่บรรดาคณาจารย์ ข้าราชการและนักศึกษาได้ประจักษ์อยู่โดยทั่วไป การยึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตย และการอุทิศตัวเองให้แก่ประเทศชาติโดยไม่หวังลาภ ยศ ชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ เป็นแบบฉบับให้อาจารย์ธรรมศาสตร์และลูกศิษย์จำนวนมากของท่านได้เจริญรอยตามบาทวิถีเดียวกันนี้ตลอด 50 ปีของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา

ในยามที่บ้านเมืองสงบ อาจารย์ปรีดีได้เสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” “เค้าร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และ “เค้าร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ” เพื่อให้ราษฎรทั่วทั้งชาติมีหลักประกันในการดำรงชีพอย่างมั่นคง และการพัฒนาประเทศมีจุดมุ่งหมายและขั้นตอนอย่างแน่ชัด

ในยามที่บ้านเมืองมีเภทภัยอันตรายจากสงครามรุกรานของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่หันกลับไปร่วมมือกับผู้รุกราน ในยามนั้น อาจารย์ปรีดีได้ก่อตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ขึ้นเพื่อขับไล่ผู้รุกรานที่ละเมิดบูรณภาพเหนือดินแดนไทย และกู้เอกราชของชาติไทยให้กลับคืนมา

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประวัติศาสตร์ของ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ” มีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับการกู้ชาติในครั้งกระนั้น ห้องทำงานของอาจารย์ปรีดี ที่ตึกโดม คือกองบัญชาการใหญ่ของขบวนการเสรีไทย ที่ใช้ติดต่อกับบรรดาบุคคลรักชาติทั่วประเทศ และกับกองกำลังสัมพันธมิตรในต่างแดน

นอกจากนี้ บริเวณบ้านพักของอาจารย์ปรีดีข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บริเวณท่าพระอาทิตย์ ซึ่งเดิมเรียกกันว่า “ทำเนียบท่าช้าง” (ปัจจุบันเป็นที่ทำงานขององค์การ เอฟ. เอ. โอ.) ก็มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การกู้ชาติไทยเช่นเดียวกัน

ที่ศาลาริมน้ำนั้น ทุก ๆ วันเวลาเย็น อาจารย์ปรีดีเคยใช้เป็นสถานที่ที่ปรึกษางาน และมอบหมายงานที่สำคัญ ๆ ให้แก่สมาชิกของ “ขบวนการเสรีไทย” เช่นเดียวกัน น่าเสียดายเหลือเกินที่สถานที่ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยแห่งนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก เพราะไม่มีการดูแลรักษา (ในขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับบทความนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าศาลาหลังนี้ได้ถูกรื้อทิ้งไปเรียบร้อยแล้วหรือยัง)

การเป็นแบบฉบับของนักต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย และนักชาตินิยม ผู้เสียสละได้กระทั่งชีวิตของตนให้แก่การกู้ชาตินั้น ได้ส่งอิทธิพลอย่างสูงให้แก่บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทย

บทเพลง “มอญดูดาว” ซึ่งชาวธรรมศาสตร์นิยมร้องกันมานับสิบปีว่า "สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ ให้อำนาจรุ่งเรืองผ่องเฟื่อง…ธรรมศาสตร์การเมืองไทย ไทยจะรุ่งไทยจะเรือง ก็เพราะการเมืองดี” ก็ยังคงต้องกังวานมาทุกยุคทุกสมัย

คุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อประเทศไทย และราษฎรโดยทั่วไปนั้นใหญ่หลวงนัก และคุณูปการของอาจารย์ปรีดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในวาระที่อาจารย์ถึงแก่มรณกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสถาบันเพียงแห่งเดียวที่จะสามารถมีบทบาทอย่างสำคัญที่สุดในการเชิดชูคุณงามความดี และผลงานต่าง ๆ ของท่านได้ ควรที่จะได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของท่านให้ปรากฏไว้

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังควรจะได้หาทางจัดทำพิพิธภัณฑ์ “ปรีดี พนมยงค์” ซึ่งจะรวบรวมประวัติส่วนตัว ประวัติทางการเมือง งานเขียน และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้า

ทั้งยังเป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านผู้ประศาสน์มหาวิทยาลัยให้ปรากฎอยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน