2 พฤษภาคม 2536 เป็นวันที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ละโลกอันสับสนวุ่นวายไปสู่ที่ที่มีความสงบครบ 10 ปี ถึงแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว แต่เนื่องจากเราได้ร่วมชีวิตกันมาเป็นเวลากว่า 55 ปี จึงอดที่จะระลึกถึงความหลัง ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะครอบครัว ไม่ได้ และเป็นชีวิตเสี้ยวหนึ่งของนายปรีดีที่ไม่ค่อยมีใครทราบ
เมื่อเราแต่งงานในปีพุทธศักราช 2471 นั้น นายปรีดีอายุ 25 ปี รับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกฤษฎีกา) และเป็นครูสอนที่โรงเรียนกฎหมายท กระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 320.- บาท และค่าสอนอีกสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ๆ ละ 10.- บาท แต่งงานแล้วเราพํานักอยู่ที่เรือนหอ ซึ่งบิดาข้าพเจ้าปลูกให้ในบริเวณบ้านป้อมเพชร ถนนสีลม อาหารการกินเราขึ้นไปรับประทานพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่บนตึกใหญ่ เมื่อนายปรีดีรับเงินเดือนมา ได้มอบให้ข้าพเจ้าทั้งหมดโดยไม่หักไว้ใช้ส่วนตัวเลย เนื่องจากนายปรีดีมีรายได้พิเศษจากค่าสอนและจากโรงพิมพ์ส่วนตัวซึ่งออกหนังสือ นิติสาส์น เป็นรายเดือน ส่วนเงินเดือนทั้งหมดที่มอบให้ข้าพเจ้า ในฐานะแม่บ้าน ได้ใช้จ่ายเป็นค่าเงินเดือนคนรับใช้และค่าสิ่งของเบ็ดเตล็ดประจําบ้าน เมื่อมีบุตรก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตามความจําเป็น เช่น ค่าจ้างคนเลี้ยงลูก และอาหาร (นม) ฯลฯ สําหรับเด็ก
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีได้รับเงินเดือน 360.- บาท การสอนก็เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการจําหน่ายหนังสือประชุมกฎหมายไทย ฝากธนาคารไว้เพื่อใช้ส่วนตัว เช่น สั่งซื้อหนังสือตําราจากต่างประเทศ ต่อมานายปรีดีได้โอนเงินจํานวน 15,000.- บาทจากบัญชีส่วนตัวมาใส่บัญชีข้าพเจ้า (ตามจดหมายที่ถึงข้าพเจ้าลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2475) ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนายปรีดีมีภาระหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เริ่มตั้งแต่เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก กรรมการคณะราษฎรและรัฐมนตรีลอย พ้นจากเป็นข้าราชการประจําและครสอนกฎหมาย แต่จะรับเงินเดือนเท่าใดข้าพเจ้าจําไม่ได้
ในวันที่ 9 เมษายน 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ส่งนายปรีดีให้ไปดูการเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่าใช้จ่ายให้ปีละ 1,000 ปอนด์ ครั้น พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ยึดอํานาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เพื่อเปิดสภาผู้แทน และให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร นายปรีดีจึงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนในปลายเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้บรรจุให้รับเงินเดือนตําแหน่งศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเงินเดือน ๆ ละ 500.- บาท ต่อมาในปลายปี 2476 (นับปีอย่างเก่า) โปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับเงินเดือน ๆ ละ 1,500.- บาท นายปรีดีได้มอบเงินเดือนทั้งหมดให้ข้าพเจ้าเช่นเดียวกับเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อต้องการสิ่งใดก็ให้ข้าพเจ้าจัดหาให้ บางเดือนเมื่อรับแล้วลืมทิ้งไว้ที่โต๊ะทํางาน จนเจ้าหน้าที่ต้องนํามาให้ที่บ้าน ต่อมาจึงสั่งให้เลขานุการนํามามอบข้าพเจ้าโดยตรง และปฏิบัติเช่นนี้ตลอดเวลาที่นายปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประชุมที่เป็นกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ซึ่งนายปรีดีมอบให้คุณปพาฬ บุญ-หลง ที่ท่างานอยู่ที่สภาฯ เป็นผู้รักษาไว้เพื่อใช้ในกรณีจําเป็น เมื่อรับตําแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจําตําแหน่ง ซึ่งไม่เคยเบิกมาใช้แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน ฯลฯ
ในเดือนธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นรุกรบประเทศไทย นายปรีดีจึงพ้นจากตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม และเมื่อเป็นผู้สําเร็จฯ คนเดียว (Sole Regent) ได้เพิ่มอีก 100.- บาท กับมีเงินค่ารับรองจํานวนหนึ่งซึ่งมอบให้เลขานุการรักษาไว้เพื่อใช้สอยเบ็ดเตล็ด
เมื่อพ้นตําแหน่งผู้สําเร็จฯ แล้วได้รับบำนาญเดือนละ 600.- บาท (บำนาญสูงสุดในขณะนั้น) และมีรายได้ส่วนตัวจากค่าเช่าบ้านถนนสีลม นอกจากนี้ธนาคารเอเชียได้สมนาคุณเดือนละ 1,000.- บาท ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและได้ให้คําแนะนําในการดําเนินการที่ทําให้ธนาคารมีผลกําไรหลังสงคราม โดยที่นายปรีดีหรือครอบครัวไม่มีหุ้นในธนาคารแห่งนี้
คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร มิตรสนิทของครอบครัวเราเป็นผู้ที่ทราบและประสบเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง ใต้เขียนในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือ วันปรีดี 35 ตอนหนึ่งว่า “ท่านปรีดีไม่เคยสนใจในทรัพย์สินเงินทองเลย ท่านรำคาญคนที่พูดเรื่องมรดก ท่านไม่เคยใช้เงิน ไม่เคยแตะต้องเงิน…” และอีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกันว่า “ท่านไม่เคยแตะต้องเงินเดือนของท่าน ไม่สนใจว่าจะเป็นเท่าไร..”
เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายปรีดีจําต้องลี้ภัยไปต่างประเทศไม่มีเงินติดตัวเลย ต้องยืมจากกัปตันเรือน้ํามันที่โดยสารไปสิงคโปร์ เมื่อถึงสิงคโปร์แล้วจึงใต้โทรเลขยืมเงินจากคุณดิเรก ชัยนาม ซึ่งขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศอังกฤษ ในระหว่างที่นายปรีดีระหกระเหิน ข้าพเจ้าได้ทำ Letter of Credit ให้ไว้ใช้จ่ายจํานวนหนึ่ง
นายปรีดีไม่เคยให้ของขวัญมีค่าข้าพเจ้าเช่นสามีหลายท่านกระทำกัน แต่ภายหลังวายชนม์ ข้าพเจ้าค้นเอกสารได้พบพินัยกรรมที่นายปรีดีเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงวันที่ 2 มกราคม 2509 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดข้าพเจ้า จึงทําให้ข้าพเจ้าได้รับบําเหน็จตกทอดนายปรีดีเป็นเงิน 123,960.- บาท ขณะมีชีวิตอยู่ นายปรีดีได้รับบํานาญเตือนละ 4,132. - บาท ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รับบําเหน็จตกทอด 30 เท่าของบํานาญ
เมื่อข้าพเจ้ารําลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ และอดภูมิใจไม่ได้ว่า เป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือกอบโกยประโยชน์เพื่อตัวเองและครอบครัวเลย
พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2536