หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีในฐานะผู้นําคนหนึ่งของคณะราษฎรได้พยายามผลักดันให้หลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นจริง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ตามเจตนารมณ์หนึ่งในหลัก 6 ประการ ดังกล่าว คือ การที่จะให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ต่อมาในปี 2481 นายปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) มุ่งจะปรับปรุงการศึกษาของราษฎรในทุกระดับให้สอดคล้องกับระบอบรัฐธรรมนูญ โดยกําหนดหลักสูตรขึ้นเอง ซึ่งต่างกับหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตร 2 ปีของ ต.ม.ธ.ก. นี้ ได้ปูพื้นฐานความรู้ สําหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ต.ม.ธ.ก. เป็นสถานศึกษาระดับชั้นก่อนอุดมศึกษา หรือก่อนเข้าสู่การศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จัดตั้งขึ้นด้วยบทบาทหน้าที่ในการผลิตผู้เรียนให้มีความพร้อมในด้านมาตรฐานความรู้ก่อนการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยช่วง พ.ศ. 2481-2490 เพื่อยกระดับมาตรฐานการเรียนของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ผู้เรียนในโรงเรียนแห่งนี้มีอยู่เพียง 8 รุ่นเท่านั้น ผู้เรียนรุ่นแรกเข้าเรียน พ.ศ. 2481 และ รุ่นสุดท้าย พ.ศ. 2489 จบการศึกษาในรุ่นนี้พ.ศ. 2490 ก่อนโรงเรียนจะถูกยุบเลิกไป ในขณะที่โรงเรียนเตรียมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดตั้งขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันด้วยวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน คือการยกระดับชั้นความรู้ก่อนเข้าสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันโรงเรียนเตรียมจุฬาฯ คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไทนั้นยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นายปรีดีขณะนั้นนอกจากเป็นผู้ประศาสน์การแล้วยังดํารงตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ได้เชิญบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิมาประชุมหารือในการจัดหลักสูตรเพื่อให้ นักเรียน ต.ม.ธ.ก. มีความรอบรู้ในวิชาการต่าง ๆ ซึ่งสามารถที่จะไปประกอบอาชีพ แม้มิได้เรียนต่อใน ระดับมหาวิทยาลัย
ต.ม.ธ.ก. รุ่นแรกได้เริ่มเปิดเรียนเมื่อพุทธศักราช 2481 รับสมัครผู้สําเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 มีเฉพาะนักเรียนชาย
นายปรีดีได้เลือกสรรครูผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ ครูวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี และวิชาศีลธรรมจรรยา นั้น บางท่านมีอดีตสมณศักดิ์ หลายท่านเป็นเปรียญ 9 ประโยค ครูวิชาโบราณคดีก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากกรมศิลปากร ครูวิชาภาษาอังกฤษ วิชาภาษาฝรั่งเศส เป็นข้าราชการที่เชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศจากหลายกระทรวง ครูวิชาสุขวิทยา เป็นผู้อํานวยการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนครูวิชาดุริยางคศาสตร์นั้น ได้แก่ พระเจนดุริยางค์ซึ่งเป็นบรมครูด้านดนตรีในขณะนั้น
เสมา บุณยรัตพันธุ์ ในวัย 101 ปี ร่วมย้อนวันวานถึงความทรงจำเมื่อครั้งเป็นนักเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่น 1 (2484) โดยกล่าวถึงปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การผู้วางรากฐานให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน
“อยู่ในหัวใจเลยธรรมศาสตร์ เหมือนบ้านเราเลย” คือสิ่งที่เสมา บุณยรัตพันธุ์ ยังคงนึกถึงธรรมศาสตร์และปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นบุคคลสำคัญในชีวิตและสังคมไทยในสายตาของ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 1 “คนสุดท้าย”
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563
ที่มา : หนังสือ “60 ปี ต.ม.ธ.ก.(พ.ศ.2480-2541) 22 มีนาคม 2541”
วารุณี โอสถภารมย์. ประวัติศาสตร์บอกเล่า แผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่มหนึ่ง (พ.ศ. 2481-2585).-- กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554