ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เออิจิ มูราชิมา: เมื่ออาทิตย์อุทัยฉายแสงเหนือแดนสยาม

15
สิงหาคม
2563

สําหรับผู้ติดตามศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ คงมีน้อยคนที่จะไม่เคยได้ยินชื่อของ  อาจารย์เออิจิ มูราชิมา (Eiji Murashima) โดยเฉพาะในหมู่นักวิจัยที่แวะเวียนไปหอจดหมายเหตุแห่งชาติแถวท่าวาสุกรีเป็นประจํา ภาพหนึ่งที่มักได้เห็นกันจนติดตา ย่อมเป็นภาพของชายชาวญี่ปุ่นผู้สูงวัยที่กําลังนั่งง่วนอยู่กับเอกสารเก่ากองโตอย่างจริงจังมีสมาธิ มือของเขาคอยจดรายละเอียดด้วยดินสอลงสมุดโน้ต เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของนักค้นคว้ามืออาชีพรุ่นเก่าที่ทํางานเก็บข้อมูลโดยไม่พึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด แน่นอนว่า ชายผู้ที่ถูกกล่าวถึงนี้ ก็คือ อาจารย์มูราชิมา

แม้เป็นศาสตราจารย์ประจําอยู่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) ณ กรุงโตเกียว แต่อาจารย์มูราชิมาก็มาเก็บข้อมูลที่ประเทศไทยได้สม่ำเสมออย่างไม่น่าเชื่อ อาจารย์มักเดินทางมาประเทศไทยปีละหลายรอบ รอบละเดือนหรือสองเดือน  ทั้งหมดก็เพื่อเสาะหาความจริงที่สูญหายไปในกระแสธารแห่งเวลา  นักวิจัยหลายคนทราบดีว่า ในแต่ละวัน อาจารย์มูราชิมาจะเป็นบุคคลแรกที่เข้าใช้บริการหอจดหมายเหตุแห่งชาติตั้งแต่เช้า และมักเป็นบุคคลสุดท้ายที่เดินออกในยามเย็น นี่คือวินัยการทํางานอันแสนแน่วแน่ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ไม่มีขาดตอน แม้แต่ช่วงพักกลางวัน  ความมานะของอาจารย์เป็นแบบอย่างให้นักวิจัยรุ่นใหม่จํานวนไม่น้อยที่ได้พบเห็น บางคนศรัทธา บางคนเกรงขาม บางคนประทับใจ และบางคนเจริญรอยตาม  อาจารย์รัฐศาสตร์ท่านหนึ่งถึงกับเคยเปรยไว้อย่างมั่นใจว่า “อาจารย์มูราชิมาคงเป็นคนที่ได้อ่านเอกสารเก่าของประเทศไทยครอบคลุมที่สุด ข้อมูลในหัวนั้นมีมหาศาลจนไม่น่าจะหาใครเทียบได้”

 

 

ความสนใจของอาจารย์มูราชิมาจะวนเวียนอยู่กับประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาถึงประมาณสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รอบสอง โดยผลงานล่าสุดของอาจารย์ในภาษาไทยคือ หนังสือเรื่อง กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พ.ศ. 2473-2479) ซึ่งสํานักพิมพ์มติชนตีพิมพ์ไปในปี พ.ศ. 2555  ท้ายที่สุด จึงเป็นเรื่องเหมาะสมยิ่งนักที่เราจะขอความรู้จากอาจารย์เกี่ยวกับประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ซึ่งประเทศไทยมีกับจักรวรรดิญี่ปุ่น

หลังจากอาจารย์มูราชิมาเปิดห้องทํางานที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ต้อนรับเราในช่วงที่ดอกซากุระกําลังร่วงโรย บทสนทนาในห้องทํางานที่ทุกซอกมุมถูกปกคลุมไปด้วยหนังสือจํานวนเหลือคณานับก็เริ่มต้นขึ้น โดยเราลองให้อาจารย์ทบทวนก่อนว่า สถานการณ์ตึงเครียดระดับภูมิภาคช่วงการยกพลขึ้นบกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 นั้นเป็นอย่างไร ญี่ปุ่นมองประเทศไทยแบบไหน คิดว่า พอพูดคุยกันได้ หรือต้องรบจนแตกหัก แล้วเข้ายึดครองทั้งประเทศ

อาจารย์มูราชิมานิ่งไปชั่วครู่ก่อนอธิบายว่า แผนการใหญ่ของญี่ปุ่น ณ เวลานั้น คือ การบุกเข้ายึดแหล่งทรัพยากรในอินโดนีเซีย นี่ถือเป็นเป้าหมายสําคัญ แต่ขณะเดียวกัน การเคลื่อนทัพเข้ามาทางทะเลจีนใต้ก็จําต้องผ่านจุดยุทธศาสตร์ คือ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ซึ่งยังเป็นของสหรัฐฯ และอังกฤษ ตามลําดับ  ที่จริงแล้ว ก่อนถึงจุดแตกหัก ญี่ปุ่นได้พยายามเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่นาน แต่สุดท้าย สหรัฐฯ ยืนกรานว่า ญี่ปุ่นจะต้องยุติการยึดครองอินโดจีน ตลอดจนถอนกําลังออกจากจีนด้วย ซึ่งญี่ปุ่นไม่อาจยอมรับได้เลย จึงตัดสินใจยึดทั้งฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ไม่มีทางที่จะประนีประนอมกัน

ส่วนประเทศไทยนั้น อาจารย์เห็นว่า ญี่ปุ่นสามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้  ทางญี่ปุ่นเองไม่ได้ต้องการอะไรจากประเทศไทยในระยะแรก เพียงแค่ขอไม่ให้ต่อต้าน แต่ทีนี้ จุดยืนของประเทศไทยก็ยังขึ้นอยู่กับว่า สหรัฐฯ และอังกฤษจะสามารถต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นได้แค่ไหน เพราะถ้าสองมหาอำนาจต่อต้านได้แข็งขัน ประเทศไทยย่อมต้องวางตัวเป็นกลาง  แต่ถ้าต่อต้านไม่ได้ ประเทศไทยก็ไม่มีทางเลือก เพราะว่าตอนนั้นกองทัพก็มีอยู่นิดเดียว ทหารมีแค่ราว 50,000 คน

ตามมุมมองของอาจารย์ จอมพล ป. ดูมั่นใจว่า ญี่ปุ่นคงจะไม่แพ้โดยเฉพาะในช่วงต้นสงคราม เพราะขณะนั้น แม้แต่เรือรบสําคัญของอังกฤษอย่าง “พริ้นส์ ออฟ เวลส์” (Prince of Wales) และ “รีพัลส์” (Repulse) ก็ยังถูกฝ่ายญี่ปุ่นจมหมดอย่างรวดเร็ว กองทัพอังกฤษถือว่าหมดสภาพ แค่ป้องกันสิงคโปร์ก็ลําบากแล้ว เรื่องโจมตีกลับยิ่งไม่ต้องไปพูดถึง  อีกด้าน สหรัฐฯ ก็ย่อยยับสาหัสในสมรภูมิท่าเพิร์ล (Pearl Harbor) กว่าจะฟื้นฟูกองทัพเรือ ส่งกําลังกลับเข้ามาภาคพื้นแปซิฟิกได้ ต้องใช้เวลาเนิ่นนาน  ดังนั้น สําหรับสถานการณ์ประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ถึงช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 จอมพล ป. และผู้นําคนอื่น ๆ เลยมองว่า ญี่ปุ่นกําลังอยู่ในขาขึ้น ชัยชนะของฝ่ายญี่ปุ่นช่วงต้น เป็นปัจจัยสําคัญยิ่งที่ทําให้รัฐบาลไทยประเมินสถานการณ์โลกไปในลักษณะที่ว่า การร่วมมือกับญี่ปุ่นจะให้ประโยชน์มากกว่า ทั้งที่ก่อนนั้น จอมพล ป. ก็ไม่คิดว่าจะร่วมกับญี่ปุ่น

ต่อจากนั้น อาจารย์มูราชิมาหันมาอธิบายฝั่งญี่ปุ่นบ้างว่า เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทย ในช่วงต้นก็ยังไม่แน่ใจว่า ประเทศไทยจะเป็นกลาง จะร่วมมือกัน หรือจะต่อต้านตน กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนกําลังเข้ามา 3 สาย หลัก ๆ กองทัพใหญ่เข้ามาทางสงขลา และปัตตานี พร้อมขบวนเรือรบที่กำลังจะบุกสิงคโปร์ กองทัพเล็กเคลื่อนเข้านครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งญี่ปุ่นต้องการยึดสนามบินของทหารอากาศไทยที่นั่น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการต่อต้านเกิดขึ้น และสายสุดท้าย คือ ตําบลบางปู สมุทรปราการ ยึดไว้เป็นฐานเตรียมเข้ากรุงเทพฯ ต่อไป  นอกเหนือจากนี้ ญี่ปุ่นยังตรึงกําลังอยู่ทางอรัญประเทศ ซึ่งเป็นบริเวณที่จอมพล ป. เข้าไปสอดส่องเอง เวลานั้น ชายแดนด้านตะวันออกของประเทศไทยอยู่ตรงพระตะบอง กองทัพญี่ปุ่นในอินโดจีน หรือที่มีชื่อว่า กองพลที่ 1 รักษาพระองค์นั้นเตรียมบุกเข้ามาทางอรัญประเทศ ผ่านนครนายกมาจนถึงรังสิต นี่เป็นแผนในกรณีที่ประเทศไทยแข็งขืน  อย่างไรก็ดี การเจรจากับฝ่ายไทยนั้นสําเร็จลุล่วงไปได้ จึงไม่มีการบุกตามแผนเกิดขึ้น ทั้งนี้ กองทัพไทยที่อยู่ตามแนวชายแดนอรัญประเทศถือว่า เป็นหน่วยที่มีศักยภาพสูง และพอไม่ได้ถูกใช้ต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว ต่อมาเลยถูกส่งไปประจําการที่พายัพแทน เพื่อเตรียมบุกเชียงตุง

หลังได้ฟังอาจารย์ไล่เลียงเหตุการณ์ที่ปูทางไปสู่สงครามแล้ว เราถามอาจารย์มูราชิมาต่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 คําถามคือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นราบรื่นหรือไม่เพียงใด ประเทศไทยถือเป็น “เพื่อนตาย” เป็น “ลิ่วล้อ” หรือเป็น “เหยื่อ” ของญี่ปุ่น

อาจารย์ตอบอย่างรวดเร็วว่า ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ไว้ใจฝ่ายไทย และไม่เคยเจรจาตกลงอะไรล่วงหน้ากับฝ่ายไทย แต่ญี่ปุ่นพยายามทําให้จอมพล ป. ไม่แข็งข้อกับญี่ปุ่นเท่านั้น  ช่วงต้น ฝ่ายไทยยอมรับ และไม่ต่อต้านญี่ปุ่น  เหตุการณ์ปะทะกันที่ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช ต่างเป็นเพียงการสู้รบสั้น ๆ เท่านั้น  ต่อมารัฐบาลไทยก็ยอม มีคําสั่งให้ยุติการรบ และทําข้อตกลงเบื้องต้นว่า ประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่นี่ก็ยังไม่เป็นทางการ

จนกระทั่งวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่มีการทําข้อตกลงและประกาศออกมาเป็นทางการ ซึ่งญี่ปุ่นยังสัญญากับรัฐบาลไทยเป็นการลับด้วยว่า ฝ่ายญี่ปุ่นจะพยายามหาทางให้ประเทศไทยได้ดินแดนของอังกฤษ  โดยในใจจอมพล ป. นั้นต้องการเมืองทวาย อันเป็นเมืองสําคัญที่ประเทศไทยใช้ติดต่อกับทางพม่า อีกทั้งเป็นเมืองท่าที่เชื่อมต่อกาญจนบุรีได้  จอมพล ป. ปรารถนาจะได้เมืองนี้มากที่สุด และเคยถึงกับร้องขอต่อญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยจะส่งทหารไปบุกเอง จะเอากําลังของตนไปยึดครองดินแดนบริเวณทวายให้ได้  แต่ฝ่ายญี่ปุ่นก็พยายามฉุดรั้งไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ฝ่ายญี่ปุ่นเองต้องการขอความร่วมมือกับพม่าด้วย 

กล่าวคือ ในตอนต้น ญี่ปุ่นอาจทําปากหวานว่า จะช่วยเรื่องนี้ได้เรื่องนั้นได้ แต่หลังฝ่ายไทยไม่ต่อต้านแล้ว ญี่ปุ่นก็ต้องคิดถึงประเทศที่จะเคลื่อนพลต่อไป  สําหรับพม่านั้น ญี่ปุ่นร่วมมือกับขบวนการเรียกร้องเอกราชที่มีออง ซาน (Aung San) และกลุ่มนักศึกษารวมอยู่ ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือกลุ่มปัญญาชนส่วนนี้ด้วยการนําไปฝึกทหารที่เกาะไหหลํา (หรือไห่หนาน) ซึ่งกองทัพเรือญี่ปุ่นยึดได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482  นักชาตินิยมพม่าไม่เคยเป็นทหารมาก่อน แต่เมื่อฝึกแล้วก็ได้ยศเป็นนายพัน และเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในภารกิจยึดกรุงย่างกุ้ง  นอกจากนี้ ยังมีการระดมชาวพม่าจากภาคเหนือของไทย เช่น ที่จังหวัดลําปางมาร่วมด้วย ท้ายที่สุด ญี่ปุ่นจึงไม่ยอมให้ฝ่ายไทยบุกเข้าไปในเขตตะนาวศรี  และเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยอม จอมพล ป. จึงคิดขอดินแดนเชียงตุงแทน โดยฝ่ายไทยประกาศสงครามเองเลย ไม่ได้แจ้งญี่ปุ่นล่วงหน้า ในขณะนั้น เอกสารฝ่ายญี่ปุ่นแสดงให้เห็นความตกใจอย่างมากที่ฝ่ายไทยประกาศสงคราม

ประเด็นเรื่องการประกาศสงครามนับว่าน่าสนใจไม่น้อย ในแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกเทศของรัฐบาลไทยที่ต้องเดินเกมการเมืองกับฝ่ายญี่ปุ่นตลอดเวลา โดยอาจารย์มูราชิมาขยายความต่อว่า ถ้าประเทศไทยยังคงเป็นกลาง ฝ่ายอังกฤษย่อมไม่กล้าบินมาทิ้งระเบิดประเทศไทย เพราะถือว่ายังไม่ได้เป็นศัตรูกัน  การเป็นกลางนั้นเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายญี่ปุ่นมาก เพราะตอนนั้นฝ่ายญี่ปุ่นกําลังเตรียมกองทัพในประเทศไทยเพื่อบุกสิงคโปร์  ถ้าหากเครื่องบินอังกฤษมาทิ้งระเบิด แน่นอนว่า กองทัพญี่ปุ่นจะต้องได้รับความเสียหาย  ฉะนั้น การชิงประกาศสงครามของฝ่ายไทยจึงไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น 

ในบันทึกของฝ่ายเสนาธิการญี่ปุ่นเขียนไว้ว่า ฝ่ายไทยประกาศสงครามก็ดี ไม่คัดค้าน แต่ไม่คาดว่าจะประกาศเร็วขนาดนี้  การเร่งรีบประกาศสงครามของจอมพล ป. ยังเปิดทางให้ประเทศไทยสามารถบุกเข้าไปตะนาวศรี และเชียงตุง ซึ่งเป็นของอังกฤษ  อย่างไรก็ตาม พอหลังประกาศสงครามแล้ว ประเทศไทยยังต้องเจรจากับญี่ปุ่นด้วยว่า จะยอมให้กองทัพไทยเข้าไปในตะนาวศรีหรือไม่  แต่สุดท้าย ญี่ปุ่นไม่ยอม  อย่างที่บอก คือ ชาวพม่าย่อมไม่พอใจญี่ปุ่น ถ้าญี่ปุ่นยินยอมตามที่ฝ่ายไทยต้องการ  เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐบาลไทยเลยเรียกร้องจะเข้าเชียงตุงต่อไป การเจรจาเรื่องนี้ ใช้เวลานานกว่า 3-4 เดือน กว่าฝ่ายไทยจะบุกเชียงตุงได้ก็ล่วงเลยถึงกลางปี พ.ศ. 2485 กลายเป็นฤดูฝนเสียแล้ว การเดินทัพจึงลําบาก ถนนมีเส้นเดียว เป็นดินโคลน ไข้มาลาเรียก็ระบาด

เพิ่มเติมจากเรื่องประเทศไทยเร่งประกาศสงคราม อาจารย์มูราชิมาเสริมว่า ย้อนไปก่อนหน้าสักระยะ ช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลไทยยังขอเข้าร่วมฝ่ายอักษะ  จอมพล ป. คิดว่า การอยู่ภายใต้ญี่ปุ่นนั้นไม่เป็นอิสระ จึงส่งทูตไทยที่เยอรมนีไปเจรจา แต่รัฐบาลเยอรมนีกลับยกให้เป็นการตัดสินใจของญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่า ญี่ปุ่นไม่เอา เพราะตนจะเสียเปรียบ

ทั้งหมดนี้ที่อาจารย์เล่ามาทําให้เราเห็นทั้งความไม่ลงรอยกัน และแม้กระทั่งความตึงเครียดระหว่างประเทศไทยกับจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เริ่มตั้งเค้านับตั้งแต่ไม่กี่เดือนแรกของสงครามเลยทีเดียว  ท้ายที่สุดแล้ว ความตึงเครียดนี้รังแต่จะทวีความเข้มข้นเมื่อทิศทางของสงครามค่อย ๆ กลับตาลปัตรไปเข้าทางฝ่ายสัมพันธมิตร

หลังญี่ปุ่นปราชัยในสมรภูมิกัวดาลคาแนล (Guadalcana) ที่หมู่เกาะโซโลมอน (Solomon Islands) เมื่อปี พ.ศ. 2485 อาจารย์มูราชิมาอธิบายว่า ทางไทยเริ่มประเมินสถานการณ์ในแง่ร้าย โดยเห็นว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายตั้งรับเสียแล้ว อีกทั้งยังเรียกร้องเอาสิ่งต่าง ๆ จากประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่สําคัญคือ ในด้านเศรษฐกิจ มีกรณีเงินเยนพิเศษ  คือเมื่อญี่ปุ่นบุก เข้าพม่า อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ก็ทําการพิมพ์ธนบัตรเอง ใช้เงินเยนในพื้นที่นั้น ๆ ผิดกับประเทศไทยที่ช่วงปีแรก ๆ แทบไม่มีทหารญี่ปุ่นประจําการอยู่ จะมีก็เป็นสารวัตรทหารหน่วยเล็ก ๆ คอยทําหน้าที่หาข่าวเท่านั้น ทหารจริงๆ ไม่มี  ญี่ปุ่นไม่ได้ยึดครองประเทศไทย และวางตําแหน่งให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร และยุทธปัจจัยส่งตน  ทีนี้ พอต้องการอะไรญี่ปุ่นก็ต้องใช้เงินบาทจับจ่าย และเมื่อไม่ได้ออกเงินเยน ญี่ปุ่นจึงต้องทําการกู้ยืม ซึ่งทีแรกกู้ยืมไม่มาก แต่พอมาตอนหลังเริ่มขอกู้ยืมมากขึ้น ๆ ยิ่งสถานการณ์ย่ำแย่ลง ญี่ปุ่นก็ยิ่งกู้ยืมเพิ่มขึ้น  จอมพล ป. เลยพลอยเสียความมั่นใจ

โดยทั้งหมดนี้ ผูกโยงกับเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น ตอนต้น ๆ ประเทศไทย ต้องการจะขยายอํานาจ อย่างน้อยก็ให้ได้ดินแดนกลับคืนจากชาติอาณานิคมบางส่วน แต่ระหว่างที่ญี่ปุ่นยังเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงคราม ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมสนองความต้องการฝ่ายไทยในเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า จอมพล ป. จะไม่พอใจ จนมาถึงจุดหนึ่งที่ความจําเป็นทางเศรษฐกิจเริ่มหนักหน่วง ญี่ปุ่นเลยตกลงมอบดินแดนเชียงตุง สี่รัฐมลายู รัฐฉาน และพื้นที่ตรงข้ามหลวงพระบางให้ประเทศไทย โดยฮิเดกิ โตโจ (Hideki Tojo) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมามอบให้ที่กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง สาเหตุสําคัญ คือ เพื่อแลกกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

พอราวปี พ.ศ. 2487 จํานวนทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้น ดังที่นายพล อาเคโตะ นากามูระ (Aketo Nakamura) ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น เขียนไว้ในบันทึก คือ ฝ่ายญี่ปุ่นจําเป็นต้องมีกําลังทหารในประเทศ เพราะเริ่มไม่ไว้ใจจอมพล ป. หากประเทศไทยหันมาต่อต้านญี่ปุ่น ญี่ปุ่นอาจต้องยึดประเทศเสีย  ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจก็รุนแรงมากขึ้น ทางไทยเริ่มเล่นตัว สินค้าหลายชนิด โดยเฉพาะยา น้ำมัน และสบู่ กลายเป็นสิ่งขาดแคลน  ฝ่ายไทยเลยเจรจาว่า ถ้าญี่ปุ่นจะกู้เงินบาท ก็ต้องเอาสินค้าพวกนี้มาแลก หรือส่งทองมาให้เพิ่ม  เรื่องนี้เจรจากันยืดยาวมาก  ฝ่ายญี่ปุ่นรู้ดีว่า รัฐบาลไทยไม่เต็มใจร่วมมือ สุดท้าย เทจิ ทสุโบกามิ (Teiji Tsubokami) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจําประเทศไทย ถึงกับโมโหเลย นี่ยังไม่นับระดับสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างทสุโบกามิกับจอมพล ป. ที่ย่ำแย่ หรือเรื่องเสรีไทย ที่ญี่ปุ่นก็รู้ว่า ฝ่ายไทยกําลังทําอะไรอยู่

ประเด็นความไม่ไว้วางใจระดับผู้นําอาจเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นเคย โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่มองจอมพล ป. เป็นเนื้อเดียวกับจักรวรรดิญี่ปุ่น หลังจากอาจารย์มูราชิมาอธิบายเสร็จ เราจึงถามอาจารย์ว่า แล้วความไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายไทย และฝ่ายญี่ปุ่นมีต่อกันได้พัฒนาไปอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นตกที่นั่งลําบากมากขึ้นเรื่อยๆ และขบวนการเสรีไทยเริ่มเคลื่อนไหวตื่นตัว

อาจารย์มูราชิมาเริ่มต้นจากเรื่องขบวนการเสรีไทยก่อน โดยอาจารย์ยืนยันว่า กองทัพญี่ปุ่นทราบดีถึงการดํารงอยู่ของขบวนการเสรีไทย เพราะญี่ปุ่นดักโทรเลขฝ่ายจีนได้เกือบหมด  เวลาขบวนการเสรีไทยสายจีนติดต่อกับแนวร่วมในประเทศไทย ซึ่งมักดําเนินการกันผ่านทางโทรเลข ฝ่ายญี่ปุ่นก็จะรู้ว่า ขบวนการเสรีไทยกําลังคิดทําอะไร อันนี้เรื่องหนึ่ง  อีกเรื่องหนึ่ง คือ ฝ่ายญี่ปุ่นมีสายลับ มีหน่วยงานข่าวกรองหลายหน่วย เป็นหน่วยที่เรียก “เคมเพไท” (Kempetai) หรือสารวัตรทหาร มีหน้าที่ตามผู้นําการเมืองไทยด้วย สถานทูตเองก็สืบหาข่าว บางคนเป็นพนักงานบริษัทญี่ปุ่น แต่ทําหน้าที่สืบความลับก็มี แม้แต่ชาวต่างชาติ เช่น พม่า เวียดนาม ฯลฯ ทางญี่ปุ่นใช้หมด ซื้อตัวได้ จัดตั้งเป็นหน่วยขึ้นมา แต่ละหน่วยมี 20-30 คน หน่วยสืบราชการลับของญี่ปุ่นนี้ยังคอยติดต่อกับนักการเมืองไทย โดยนักการเมืองบางคนขายข่าวให้ญี่ปุ่นก็มี เวลาพวกเสรีไทยลักลอบเข้าประเทศมาจึงไม่เป็นความลับ จับได้หลายคน ฝ่ายไทยเองก็จับได้

ส่วนเรื่องความหวาดระแวง อาจารย์ให้ภาพว่า จอมพล ป. เองก็กลัว ระแวงว่าญี่ปุ่นจะกําจัดตน แล้วไปเอาคนอื่นที่เป็นคู่แข่งขึ้นมาแทน ดังเห็นจากกรณีของพระสารสาสน์พลขันธ์ ซึ่งไม่ถูกกับจอมพล ป.  พระสารสาสน์ฯ สนิทกับปรีดี พนมยงค์ และเคยดูแลกระทรวงธรรมการ ยุคพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพราะจอมพล ป. ไม่ไว้ใจ พระสารสาสน์ฯ จึงต้องหลบไปอยู่ญี่ปุ่นพักใหญ่ พอกลับมาช่วงปี พ.ศ. 2485 จอมพล ป. ก็รู้สึกเคลือบแคลงว่า ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้เขามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนตนเอง จึงเล่นตัวขอลาออก เพื่อแสดงให้ญี่ปุ่นเห็นว่า ถ้าขาดจอมพล ป. ไปประเทศไทยจะไม่มีใครปกครองได้  หรืออีกตัวอย่าง คือ พระยาทรงสุรเดช ซึ่งลี้ภัยไปกรุงพนมเปญหลังจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ปรากฏว่า พระยาทรงฯ เสียชีวิตกะทันหันในปี พ.ศ. 2487 โดยก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต ทูตญี่ปุ่นได้แวะไปเยี่ยมเขา  จอมพล ป. ส่งคนไปเฝ้าพระยาทรงฯ จึงทราบเรื่อง  และเกรงว่า เป็นการพบเพื่อให้พระยาทรงฯ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน  ทูตญี่ปุ่นคนนี้รู้สึกว่า ตนเป็นคนที่ทําให้พระยาทรงฯ เสียชีวิต ทําให้จอมพล ป. เข้าใจผิด ทั้งที่ฝ่ายญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีเจตนาจะดันพระยาทรงฯ ขึ้นมาแทนที่ จอมพล ป. เลย

พอเข้าสู่ปี พ.ศ. 2487 สถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่หลงเหลือความไว้วางใจระหว่างกันอีก จอมพล ป. ระแวงฝ่ายญี่ปุ่นถึงขีดสุด ด้านญี่ปุ่นก็ไม่ต่างกัน อย่างการประชุมมหาเอเชียบูรพาที่กรุงโตเกียว จอมพล ป. ก็ให้พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรเดินทางไปเป็นตัวแทน ไม่ยอมไปร่วมเอง เพราะมองว่าญี่ปุ่นหมดประโยชน์แล้ว จอมพล ป. ได้หันไปพยายามติดต่อกันกับฝ่ายจีนแทน ผ่านหลวงหาญสงคราม ซึ่งเป็นนายทหารบก และประจําการอยู่เชียงตุง 

อีกเรื่อง คือ การย้ายเมืองหลวง เพราะจอมพล ป. กลัวว่า ญี่ปุ่นจะยึดกรุงเทพฯ ได้ง่าย ๆ จึงต้องการย้ายไปเพชรบูรณ์ ด้วยเหตุผลเรื่องภูมิประเทศที่ยากต่อการรุกราน ประเด็นนี้มีเอกสารยืนยันเรื่องจอมพล ป. ติดต่อกับ เจียงไคเชก (Chiang Kai-shek) ว่า ขอให้ส่งเครื่องบินรบมาเพชรบูรณ์ ซึ่งแสดงว่า จอมพล ป. ได้แปรพักตร์แล้วจริง ๆ  ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็จับตามองและเตรียมกําลังพลเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่เชื่อใจจอมพล ป. แต่ญี่ปุ่น ยังมองว่า ประเทศไทยเป็นพันธมิตรของตนอยู่ เพราะสามารถเปลี่ยนตัวรัฐบาลได้ และฝ่ายญี่ปุ่นก็ทําสําเร็จ ดังเห็นจากรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ซึ่งควงมีทักษะการเมืองดีกว่าจอมพล ป. คําพูดอะไรก็ช่วยให้ฝ่ายญี่ปุ่นพอใจกว่า ควงเองยังไม่ค่อยค้านญี่ปุ่นด้วย ญี่ปุ่นเลยพอใจ  ที่จริง ญี่ปุ่นไม่วิตกนักว่า ทหารไทยจะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับตนได้แค่ไหน แต่ไปสนในแง่เศรษฐกิจว่า ประเทศไทยจะช่วยเกื้อกูลญี่ปุ่นเรื่องอาหาร และยุทธปัจจัยบางอย่าง เพราะตอนนั้นญี่ปุ่นเอาเรือขนส่งไปไหนไม่ได้แล้ว สหรัฐฯ ส่งเรือดําน้ำเข้ามาลอบโจมตี  ถ้ารัฐบาลไทยมีท่าทีเข้าทางญี่ปุ่นในเรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ ญี่ปุ่นคงต้องชิงยึดประเทศ

อย่างขบวนการเสรีไทยเคยเสนอจะเปิดฉากต่อสู้ ปรีดีเป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้ แต่ฝ่ายอังกฤษกลับไม่เห็นด้วยเลย เพราะไม่มีโอกาสชนะ อาวุธไม่พร้อม การฝึกไม่พร้อม และพอระดมคนก็ได้ไม่ถึงหมื่นคน เทียบกับจํานวนทหารญี่ปุ่นที่ประจําอยู่ในประเทศร่วม 1 แสนคน อัตราส่วนทิ้งห่างกันเกินไป

อาจารย์ชี้ให้เราเห็นความสลับซับซ้อน และความยุ่งยากในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติตลอดช่วงสงคราม ต่อมา เราลองให้อาจารย์มูราชิมาช่วยบอกเล่าประสบการณ์ หรือข้อคิดที่ได้รับจากการทํางานค้นคว้าเรื่อง ประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าเป็นเช่นไรบ้าง

อาจารย์ยิ้มเล็กน้อยก่อนตอบว่า การรําลึกถึงเหตุการณ์ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในประเทศไทย มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ฝ่ายไทยมักถูกนําเสนอว่าสู้กับญี่ปุ่นมาตลอด ตรงนี้เข้าใจได้ 

บันทึกหลังสงครามของ จอมพล ป. ก็อธิบายว่า เขาต่อต้านญี่ปุ่นมาตลอด ตอนขึ้นศาลยังอ้างเรื่องที่ใช้วัฒนธรรมต่อต้าน เช่น ให้ใช้ภาษาไทยแบบใหม่ เมื่อญี่ปุ่นสอนภาษาญี่ปุ่นให้เด็กไทย ฝ่ายไทยจะได้แก้ตัวว่าต้องสอนวิธีสะกดแบบใหม่ก่อน ไม่มีเวลาพอสอนภาษาญี่ปุ่น เรื่องแบบนี้เป็นข้อแก้ตัวหลังสงคราม แต่ทั้งหมดก็เพราะความจําเป็น  ถ้าญี่ปุ่นชนะ ฝ่ายไทยจะได้ประโยชน์  แต่ท้ายสุด ญี่ปุ่นแพ้ ประเทศไทยตกเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ จึงจําต้องบอกไปอย่างนั้น อธิบาย อย่างนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

ส่วนการนําหลักฐานจําพวกเอกสารมาใช้เขียนประวัติศาสตร์สงคราม อาจารย์บอกว่า ได้ใช้เอกสารของไต้หวันตั้งแต่ 20 ปีก่อน มีเอกสารเกี่ยวกับประเทศไทยของก๊กมินตั้ง ซึ่งที่จริงก็มีไม่มาก เช่น เอกสารของปรีดีและ ของสงวน ตุลารักษ์ มีกระดาษที่ปรีดีเขียนเอง แต่น่าเสียดาย เอกสารขาดลายเซ็นปรีดีไปส่วนหนึ่ง อาจารย์มีความสนใจ และเห็นว่า เอกสารในภาษาจีนนั้นมีประโยชน์ โดยเฉพาะสําหรับการศึกษาขบวนการเสรีไทยสายจีน ปัจจุบันมีหนังสือ ข้าพเจ้ากับเสรีไทยสายจีน เขียนโดย พันตํารวจเอก ประสิทธิ์ รักประชา ซึ่งเป็นคนจีน เคยไปจีนแล้วกลับมาประเทศไทยเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลทรงคุณค่าพอสมควร นอกจากนี้ ยังมีเอกสารชั้นต้นอีกที่ประเทศจีน แต่ยังไม่เปิดเผย ใครจะทําวิจัยก็คงต้องไปไต้หวันเป็นหลัก ส่วนนักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาประวัติศาสต์ไทยสมัยสงครามโดยตรงมีอยู่ 3-4 คน แต่ยังขาดการเก็บข้อมูลจริงจัง เป็นด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา  ถ้าใครจะทําก็ต้องใช้เวลามาก เพราะมีหลักฐานเยอะ เอกสารที่หอจดหมายเหตุของประเทศไทย วารสาร หนังสือพิมพ์ สหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ที่ญี่ปุ่นอาจจะน้อย เพราะถูกทําลายไปหลายส่วน

อาจารย์มูราชิมาย้อนกลับไปเสริมด้วยว่า ในส่วนจดหมายเหตุของประเทศไทย เอกสารสังกัดกระทรวงการต่างประเทศนั้นน่าสนใจมาก ซึ่งทางกระทรวงได้ส่งมอบให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติไปแล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการ ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง  ถ้าเปิดให้บริการ อย่างน้อยเราก็จะเห็นว่า ที่หลายคนมักพูดว่า คนไทยต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่ตลอดนั้นไม่จริง อย่างไรก็ตาม อาจารย์สันนิษฐานด้วยว่า เอกสารสําคัญ ๆ น่าจะถูกทําลายไปแล้ว แม้แต่ข้อตกลงสัมพันธมิตรที่ประเทศไทยทํากับญี่ปุ่น ในเอกสารชุดนี้ก็ไม่มี  ช่วงหลังสงคราม คนที่มีส่วนได้เสียอาจเลือกทําลายเอกสารเสียเอง เพื่อความปลอดภัยของตน  คนเหล่านี้หลังสงครามยุติ ก็ยังคงมีอํานาจมีบทบาท บางคนเป็นถึงรัฐมนตรีด้วย

สุดท้าย หลังจากที่มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์มูราชิมาร่วมชั่วโมงกว่า เราขอถามอาจารย์เป็นคําถามสุดท้ายว่า อาจารย์พอจะมีคําแนะนําอะไรบ้าง หรือไม่สําหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าเกี่ยวกับประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อาจารย์ออกตัวเลยว่า ไม่รู้จะแนะนําอย่างไรดี ก่อนเริ่มพูดถึงประเด็นแหล่งข้อมูลว่า ยังมีแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจอีกมาก อย่างที่บอกไปแล้ว ที่จีนก็ยังไม่เปิดเผย ที่ไต้หวันก็ยังไม่ค่อยถูกใช้ โดยส่วนของไต้หวันน่าจะใช้สักสองสัปดาห์คงทําสําเนาได้หมด นอกจากนี้ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐฯ ยังมีรายงานข่าวกรองที่สามารถถอดรหัสโทรเลขช่วงสงครามของญี่ปุ่นไว้ได้ เป็นโทรเลขแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศไทย  หลักฐานเหล่านี้ไม่มีที่ญี่ปุ่น เพราะต้นฉบับถูกทําลายไปหมดแล้ว  แม้จะแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผิดบ้างถูกบ้าง แต่โดยรวมถือว่าใช้ได้  หลักฐานโทรเลขนี้ อี. บรูซ เรย์โนลด์ (E. Bruce Reynolds) ได้เอาไปใช้ในหนังสือของเขาเรื่อง Thailand and Japan's Southern advance, 1940-1945 ซึ่งอย่างน้อย ช่วยให้เข้าใจว่า ญี่ปุ่นมีเจตนาอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อญี่ปุ่นในทุกวันนี้ไม่ค่อยมีเอกสารสมัยสงครามหลงเหลือ อย่างทูตทสุโบกามิที่มาอยู่ประเทศไทยสามปี ช่วงสงครามก็ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์อะไร เขาไม่พอใจจอมพล ป. อย่างมาก แม้ตอนจอมพล ป. มาญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมให้เข้าพบ ถึงจุดนี้ อาจารย์มูราชิมา บ่นขึ้นมาว่า น่าเสียดายที่อาจารย์เองเกิดมาไม่ทัน ทูตทสุโบกามิเสียชีวิตไปก่อน มิฉะนั้น อาจารย์จะไปสัมภาษณ์ให้ได้

ต่อมา อาจารย์แนะนําประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีคนศึกษา คือ บทบาทของชาวจีนในประเทศไทย หลังสงครามมีเหตุการณ์เยาวราช เป็นฝีมือพวกก๊กมินตั๋ง ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ตําหนิว่า ก๊กมินตั๋งสร้างสถานการณ์เพื่อเข้ามาแทรกแซงประเทศไทย คือต้องการให้เกิดจลาจลที่กรุงเทพฯ แล้วจะได้มีข้ออ้างว่า ชาวจีนถูกคุกคาม จําเป็นต้องส่งกําลังเข้ามารักษาผลประโยชน์ชาวจีน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สําเร็จ สงครามไม่ได้จบแค่ญี่ปุ่นแพ้ บทบาทของชาวจีนในฐานะผู้ชนะถือว่าน่าสนใจใช่ย่อย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนจีนเข้ามาประเทศไทยมากที่สุด เข้ามาตั้งรกราก สร้างครอบครัว  ผลพวงของสงคราม ในมิตินี้จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษา ทั้งนโยบายกดขี่แรงงานของรัฐ หรือกิจกรรมที่มีก๊กมินตั้งอยู่เบื้องหลัง ดังเห็นได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวจีนกับชาวไทยจะรุนแรงมาก ตอนนั้นมีข่าวคนไทยกลัวคนจีนทิ้งยาพิษในบ่อน้ํา อาจจะจริง หรืออาจจะไม่จริง แต่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้น เฉพาะกรุงเทพฯ แต่ในปริมณฑลก็มีการทะเลาะกัน กระทบกระทั่งกัน เป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติเด่นชัดแทบจะทันทีหลังสงครามยุติลง

จากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ต่อให้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่อาจครอบคลมประเด็นอะไรได้กว้างขวางลึกซึ้ง แต่อาจารย์มูราชิมาก็ชี้ชวนให้เราตระหนักถึงข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่มักไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยกัน โดยเฉพาะความตึงเครียดที่ดํารงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ซึ่งรัฐบาลไทยมีกับฝ่ายญี่ปุ่น แม้เป็นพันธมิตรร่วมรบกับจักรวรรดิญี่ปุ่น ประเทศไทยยังมีเจตนา มีความต้องการ มีแผนการในระหว่างสงครามเป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มักไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับฝั่งญี่ปุ่น จนนํามาซึ่งความขัดแย้งตึงเครียดเป็นระยะ นับตั้งแต่ช่วงเดือนแรกๆ ของสงครามเสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่า “ภารกิจ” ของ อาจารย์มูราชิมานั้นยังไม่เสร็จสิ้น อาจารย์ในวัยเกือบ 70 ปียังคงเดินหน้าค้นคว้าหาหลักฐาน และปะติดปะต่อข้อมูลด้วยความกระตือรือร้นในแง่หนึ่ง นี่ช่วยเตือนเราถึงความใหญ่โตของข้อมูลที่ไม่อาจถูกจัดการหมดได้อย่างง่าย ๆ ต่อให้เป็นนักวิจัยที่มีความวิริยะเป็นล้นพ้น และทุ่มเททํางานมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีด้วยใจรัก ถึงวันหนึ่ง ภารกิจก็ต้องตกเป็นของคนรุ่นใหม่ผู้ใฝ่รู้ที่ จะต้องเข้ามาช่วยแผ้วถางทางสู่ความจริงกันต่อไป

 

พิมพ์ครั้งแรก: ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (บรรณาธิการ), 70 ปี วันสันติภาพไทย, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, น. 6-22.