ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

พรรณี บัวเล็ก: เศรษฐกิจไทยใต้เพลิงสงครามโลก

13
สิงหาคม
2563

เมื่อเอ่ยชื่อ “พรรณี บัวเล็ก” ผู้คนไม่น้อยคงจะนึกถึงนักประวัติศาสตร์รุ่นใหญ่ผู้ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าเรื่องเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยนิสัยพิถีพิถันเอาจริงเอาจังในเรื่องหลักฐานข้อมูล ทั้งด้วยการค้นคว้าตามแหล่งเก็บเอกสารชั้นต้น ไปจนถึงการลงพื้นที่สัมภาษณ์นานาบุคคลผู้มีส่วนรู้เห็น อาจารย์พรรณีสามารถรังสรรค์ผลงานที่ทรงคุณภาพออกมาหลายชิ้น ช่วยต่อภาพประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่เริ่มต้นยุครัชกาลที่ 4 เรื่อยมาจนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  นอกจากนี้ ประเด็นที่อาจารย์ศึกษาก็ยังมีความหลากหลาย คือ ดูตั้งแต่เรื่องบทบาทภาครัฐ กลุ่มนายทุน สมาคมเชิงการค้าไปจนถึงกรรมกรแบกหาม และกุลีจีนลากรถ  เวลาใครจะศึกษาเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย จึงแทบหนีไม่ได้เลยที่จะต้องอ่าน หรืออ้างอิงงานของอาจารย์  ชื่อ “พรรณี บัวเล็ก” เลยมีปรากฏให้เราได้เห็นตามหน้าบรรณานุกรมของวิทยานิพนธ์ หรือหนังสือวิชาการจํานวนมากมายที่พูดถึงพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในยุคสมัยใหม่

 

พรรณี บัวเล็ก
ภาพจาก http://research.krirk.ac.th/index.php?mod=gallery&act=view&cat_id=45

 

ปัจจุบัน (2558) นี้ อาจารย์พรรณีมีตําแหน่งทางวิชาการเป็นถึงศาสตราจารย์ และประจําอยู่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก อาจารย์ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ อย่างไม่ขาดช่วง เนื่องด้วยความรู้ความสามารถซึ่งเป็นที่ยอมรับ โดยแน่นอนว่า หนึ่งในผลงานชิ้นสําคัญยิ่ง ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ของอาจารย์ในเส้นทางอาชีพนักวิชาการด้วยก็คือ หนังสือเรื่อง จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นกับพัฒนาการทุนนิยมไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 (พ.ศ. 2475-2484) หนังสือเล่มนี้แม้ถูกตีพิมพ์ออกมานานเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความแหลมคม และเป็นที่นิยมอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นผลงานวิชาการที่ฉายภาพความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับจักรวรรดิญี่ปุ่นตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง โดยเมื่อลองอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เราก็ยิ่งรู้สึกกระตือรือร้นที่จะหาโอกาสสนทนากับอาจารย์ในเรื่อง ประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ได้

อันที่จริง หลังเราติดต่อขอไปสัมภาษณ์ทีแรก อาจารย์พรรณีแสดงความลังเลใจออกมา เพราะอาจารย์รู้สึกว่าตนยังมีความรู้ไม่กว้างขวางพอ ซึ่งคําตอบเช่นนี้ก็ทําให้เราพากันรู้สึกประทับใจ เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่า นักวิชาการชั้นนําจะมีความถ่อมตัวได้มากถึงขนาดนี้  แต่สุดท้าย หลังทาบทามอีกถึงสองครั้งสองครา อาจารย์พรรณีก็อนุญาตให้เราสัมภาษณ์ในที่สุด และบทสนทนาที่เกิดขึ้นตามมาก็ช่วยเรายืนยันถึงความรอบรู้ และความถ่อมตัวของอาจารย์พรรณีที่มีอยู่เหลือล้น

โดยเราเปิดประเด็นแรก ด้วยการขอให้อาจารย์ช่วยปูพื้นเกี่ยวกับผลกระทบที่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีต่อวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของประชาชนไทยทั่วไป สภาพความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ตลอดจนการปรับตัวด้านเศรษฐกิจของผู้คน ในระหว่างสงครามนั้นเป็นเช่นไร

อาจารย์พรรณีเริ่มอธิบายว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ทําให้คนประสบกับความยากลําบากในชีวิต สินค้าอุปโภคบริโภคที่เคยมีเคยใช้ต่างขาดแคลน โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดช่วงปลายสงคราม คนไทยต่างต้องเอาชีวิตรอดด้วยการทําหลุมหลบภัย สถานการณ์เช่นนี้ทําให้ชีวิตของประชาชนเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาวะสงครามก็ไม่ถึงกับทําให้คนไทยต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพ คนไทยส่วนมากสมัยนั้นยังคงมีอาชีพทํานา ซึ่งจากประสบการณ์ตอนลงพื้นที่ย่านบางเขน ชาวบ้านที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสงครามเล่าว่า พื้นที่บางเขนขณะนั้นยังเป็นท้องทุ่งนา ส่วนกองทัพญี่ปุ่นก็ตั้งฐานอยู่ที่ดอนเมือง ห่างออกไปไม่ไกลมากนัก ชาวนาจําได้แม่นยําว่า ตนเคยได้รับความช่วยเหลือจากทหารญี่ปุ่นที่มาช่วยเกี่ยวข้าว ทหารญี่ปุ่นบางคนยังให้ของที่ระลึกแก่ชาวบ้าน ขณะที่ชาวบ้านตอบแทนด้วยการแบ่งปันอาหารให้ กล่าวได้ว่า มีความเป็นมิตรกันมากกว่า อีกทั้งชาวบ้านเองก็ไม่ได้รู้สึกว่า ทหารญี่ปุ่นเป็นศัตรูเท่ากับคนที่อยู่ในเมือง เพราะชาวเมืองมักรู้สึกว่า ญี่ปุ่นเอาเปรียบไทย ทั้งยังข่มเหงรังแก อยากจับใครเข้าคุกก็ทําได้ โดยที่ทางการไทยไม่สามารถช่วยอะไร  ขณะเดียวกัน นอกจากบางเขนแล้ว ชาวไทยบางพื้นที่ยังทํางานรับจ้างให้กับกองทัพญี่ปุ่นด้วย อย่างประชาชนในเขตจังหวัดกาญจนบุรีก็มีจํานวนไม่น้อยที่ถูกเกณฑ์มาก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ โดยเฉพาะในส่วนการปรับพื้นที่หน้าดินสําหรับวางหมอนรางรถไฟ

ด้านสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค อาจารย์พรรณีเล่าว่า ผู้คนยังมีสินค้าจําเป็น ๆ อยู่บ้างในช่วงต้นของสงคราม แต่พอสินค้าในคลังที่ได้ตุนไว้หมดลง ภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคก็เข้ามาแทนที่ ซึ่งปรากฏชัดตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2485 เป็นอย่างช้า และดํารงอยู่เรื่อยมาจวบจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ โดยรัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการตั้งคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค และมีการประกาศรายการสินค้าควบคุม ซึ่งรวมเอาสินค้าที่หาซื้อได้ยากและมีราคาแพงเข้ามา อาทิ ยาและเวชภัณฑ์ ผ้า สบู่ ไม้ขีดไฟ เป็นต้น

ยกตัวอย่างกรณีปัญหาการขาดแคลนผ้านั้น แต่เดิมชาวบ้านภาคกลางพากันเลิกทอผ้าไปนานแล้ว และผ้าส่วนใหญ่ที่ใช้กันในประเทศไทยก็มาจากโรงงานของชาวตะวันตก  พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ผ้าเลยกลายเป็นของหายาก ต้องมีการควบคุมปริมาณและราคาขาย เพราะแง่หนึ่งประเทศไทยไม่สามารถนําเข้าผ้าจากชาติตะวันตกได้เหมือนแต่ก่อน ขณะที่อีกแง่ พ่อค้าญี่ปุ่นก็กว้านซื้อฝ้ายที่ใช้ทอเป็นผ้าในประเทศออกไปป้อนโรงงานในญี่ปุ่น

อาจารย์พรรณีอธิบายต่อไปว่า ในรายการสินค้าควบคุม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกยา และสิ่งของเครื่องใช้ ขณะที่อาหารกลับมีเพียงน้ำตาลทรายเท่านั้น แม้ว่าจะต้องทนขาดแคลนอาหารบ้างในระหว่างสงครามโลก แต่คนไทยก็ไม่ถึงกับอดอยากปากแห้ง ยังสามารถดํารงชีวิตได้ด้วยอาหารจากแหล่งธรรมชาติ หรือที่อาจารย์ใช้คําเรียกว่า “อยู่กับดินกินกับสวน” ผลคือประเทศไทยไม่จําเป็นต้องนํามาตรการรัดกุมอย่างการปันส่วนอาหารมาใช้  ผิดกับบางประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น รัสเซีย ฯลฯ  สิ่งที่ต้องปันส่วนในประเทศไทยจะเป็นพวกน้ำตาลทราย ไม้ขีดไฟ ผ้า และน้ำมันก๊าดต่างหาก  โดยถ้าไม่พึ่งการปันส่วนสินค้า คนไทยก็ต้องหันไปหาตลาดมืดแทน ซึ่งซื้อขายกันราคาสูงมาก

ประเด็นเรื่องตลาดมืดนี้น่าสนใจ เพราะต่อให้ขายแพง แต่ก็ช่วยทําให้คนสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้ เพราะสินค้าที่ซื้อขายกันส่วนใหญ่เป็นของจําเป็นในชีวิตประจําวัน สุดท้าย ตลาดมืดเลยพลอยขยายตัวไปตามความขาดแคลนของสินค้า

หลังจากที่อาจารย์อธิบายผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชนทั่วไปแล้ว เราขอให้อาจารย์ลองขยายความต่อไปว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจารย์กล่าวถึงนั้นมีความผันแปรไปตามพื้นที่บ้างหรือไม่ เช่น แต่ละภูมิภาคอาจได้รับผลกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน หรือเผชิญกับผลกระทบคนละแบบ

อาจารย์พรรณีนิ่งไปสักครู่ ก่อนเปรียบเปรยว่าสภาพของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามก็เป็นเสมือนแสงเทียน คือจะลดหลั่นไปตามระยะใกล้ไกลจากศูนย์กลาง ถ้าเป็นตามตัวเมืองย่อมได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ถ้าห่างไกลออกไปในชนบทก็ย่อมได้รับผลกระทบน้อยกว่าเป็นธรรมดา แต่ถึงอย่างไร แม้ว่าเศรษฐกิจในชนบทยังมีลักษณะพึ่งพิงตนเองอยู่มาก แต่มีสินค้าจําเป็นบางประเภทที่ชาวบ้านในชนบทต้องหาซื้อเอาจากตลาด ไม่อาจผลิตใช้เองได้ จึงต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนสินค้าเหมือนกัน ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงกว่าในเมืองด้วยซ้ำไป เพราะความยากลำบากเวลาต้องขนส่งสินค้าอย่างพวกผ้าไม้ขีดไฟ น้ำมันก๊าด และยา สิ่งเหล่านี้ชาวชนบทต้องซื้อเอา พวกเขาจึงได้รับผลกระทบจากสงครามด้วย แม้โดยทั่วไปจะน้อยกว่าคนกรุง นอกจากนี้ ที่คนกรุงได้รับผลกระทบมากกว่ายังมีเหตุเพราะอยู่ใกล้อํานาจของกองทัพญี่ปุ่น อย่างกรุงเทพฯ เป็นทั้งศูนย์กลางกองทัพญี่ปุ่น และเป็นชุมชนพ่อค้าชาวจีน การกระทบกระทั่งทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้ กรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งทางเศรษฐกิจไปโดยปริยาย

พออาจารย์พรรณีพูดถึงชาวจีน เราก็เกิดความสงสัยตามมาว่า โดยทั่วไป ชาวจีนมีบทบาทสําคัญอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจไทย แถมยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับจักรวรรดิญี่ปุ่น แล้วเมื่อรัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ชาวจีนมีปฏิกิริยา หรือมาตรการรับมือกับญี่ปุ่นกันอย่างไร และพวกเขาได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

อาจารย์เท้าความก่อนว่า สังคมจีนในประเทศไทยมีความขัดแย้งแตกแยกตั้งแต่ก่อนกองทัพญี่ปุ่นจะบุกเข้ามา ชาวจีนทะเลาะกันเองเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง แม้แต่สมาคมพาณิชย์จีนในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชาวจีนระดับผู้นําก็เห็นไม่ตรงกัน ผู้นําจีนฝ่ายหนึ่ง เช่น ตันซิวเม้ง เลือกเข้ากับก๊กมินตั๋งฝ่ายขวา หรือพวกเจียงไคเชก ขณะที่ผู้นําจีนอีกฝ่าย เช่น เหียกวงเอี่ยม ต้องการจะสนับสนุนก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้าย จนถึงขั้นเกิดเรื่องการลอบสังหารตามมา โดยเหียกวงเอี่ยมถูกฆ่าก่อนญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบก ส่วนตันซิวเม้งแสดงตัวอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น แต่ก็แอบต่อต้านในทางลับ สุดท้ายถูกฆ่าตายก่อนญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ไม่กี่วัน

พอญี่ปุ่นบุกเข้ามาประเทศไทยแล้ว ชาวจีนตกเป็นกลุ่มที่กองทัพญี่ปุ่นเพ่งเล็งว่าไม่น่าไว้วางใจ อาจลุกขึ้นมาต่อต้านได้เสมอ เพราะตนกำลังรุกรานแผ่นดินจีนอยู่ สํานึกชาตินิยมจีนจึงมีสูงในประเทศไทย อันที่จริง ก็มีกระแสต่อต้านญี่ปุ่นในหมู่พ่อค้าจีนอยู่แล้วในรูปการคว่ำบาตรสินค้า ผลคือ ทหารญี่ปุ่นจับตามองเข้มงวดใกล้ชิด ซึ่งทางการไทยเองก็เข้าร่วม จึงเท่ากับว่า ชาวจีนเหมือนอยู่ในสภาพไร้ความคุ้มครอง แม้แต่ผู้นําชาวจีนในสมาคมแต้จิ๋วยังถูกทหารญี่ปุ่นจับกุม ส่วนชาวจีนระดับล่าง ๆ ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึง หลายคนต้องหลบหนี และหลายคนถูกคุมตัวฐานต้องสงสัยว่าต่อต้านญี่ปุ่น อาจเพราะเรี่ยไรเงินสนับสนุนรัฐบาลเจียงไคเชก หรือโฆษณาชวนเชื่อให้เกลียดชังญี่ปุ่น โดยการจับกุมนั้นเป็นไปตามอําเภอใจของทหารญี่ปุ่น และไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยแต่อย่างใด

แต่ถึงกระนั้น ชาวจีนก็ไม่ได้ยอมให้ทหารญี่ปุ่นกดขี่แต่เพียงฝ่ายเดียว พวกเขายังแอบเคลื่อนไหวต่อต้านด้วย ซึ่งมีทั้งการตั้งสมาคมลับ และองค์กรใต้ดินต่าง ๆ โดยบางองค์กรยังมีความสัมพันธ์กับขบวนการเสรีไทย เช่น พ่อค้าจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวจัดตั้งสมาคมประชาชนจีนสาขาประเทศไทย เพื่อดําเนินงานจารกรรมข้อมูลของกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยส่งกลับไปจีน นอกจากนี้ องค์กรใต้ดินส่วนหนึ่งยังมีไว้ควบคุมชาวจีนด้วยกันเอง ชาวจีนคนไหนไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่น พวกเขาก็เสี่ยงที่จะถูกสมาคมลับทําร้ายบางรายถูกแทงด้วยกรรไกรขาเดียว หรือที่เรียกว่า “ฮั่วคั้ง” เลยทีเดียว

อาจารย์เสริมว่า เรื่องคนจีนช่วงสงครามโลกเป็นเรื่องใหญ่โตมาก อีกทั้งเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน กล่าวคือ พ่อค้าจีนบางกลุ่มไม่ติดต่อกับญี่ปุ่นเลย แถมยังต่อต้านไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น แต่ชาวจีนอีกกลุ่มกลับร่วมมือกับญี่ปุ่น และสามารถสร้างกําไรได้เป็นกอบเป็นกําจากความร่วมมือทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีพ่อค้าจีนบางคนที่เบื้องหน้าต่อต้านญี่ปุ่น แต่เบื้องหลังแอบค้าขายกับญี่ปุ่น หรือบางคนเบื้องหน้าแสดงตัวเป็นมิตรที่ดี แต่เบื้องหลังสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น เวลาศึกษาจึงต้องมีความระมัดระวัง แต่ทั้งนี้มีเรื่องน่าสังเกตด้วยว่า พ่อค้าชาวจีนขนาดย่อมที่ทํามาค้าขายในระดับท้องถิ่น แม้ในทางการเมือง พวกเขาจะขัดแย้งกับญี่ปุ่นก็ตาม แต่ด้วยผลประโยชน์ที่เป็นเครื่องล่อใจ อุดมการณ์ชาตินิยมของพ่อค้าเหล่านั้นจึงค่อย ๆ เจือจางไป จนหันไปทําธุรกิจกับญี่ปุ่นในที่สุด

ทั้งนี้ แม้มีชาวจีนบางส่วนร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่หากประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชาวจีนได้รับตอนญี่ปุ่นบุกเข้ามาประเทศไทยแล้วยังต้องถือว่าอยู่ในระดับสูง อาจารย์พรรณียกตัวอย่างมายืนยัน 2 กรณี  ในกรณีแรก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อค้าญี่ปุ่นพยายามเข้าไปเปิดร้านในย่านการค้าของกรุงเทพฯ ตั้งแต่วังบูรพา ทรงวาด เยาวราช สี่พระยา สุรวงศ์ สีลม ไปถึงบางรัก โดยย่านเหล่านี้เป็นเขตที่พ่อค้าจีนยึดพื้นที่ทําการค้ามาเนิ่นนาน ความพยายามแทรกตัวเข้ามาของร้านค้าสัญชาติญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย พ่อค้าชาวญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะดําเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่งแข่งกับพ่อค้าชาวจีน แถมยังมีข้อได้เปรียบสําคัญ คือ เป็นผู้นําเข้าสินค้าด้วย สุดท้าย บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยจึงบั่นทอนอิทธิพลของพ่อค้าชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนกรณีที่ 2 อาจารย์พรรณีเล่าถึงการที่ญี่ปุ่นสนับสนุนให้รัฐบาลจอมพล ป. เปิดบริษัทข้าวไทย เพื่อขจัดอิทธิพลของชาวจีนในวงการค้าข้าว โดยเหตุผลสําคัญที่ทําให้ญี่ปุ่นดําเนินการเช่นนี้ก็เพราะตนเองต้องการข้าวเป็นจํานวนมาก และเมื่อเกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น พ่อค้าชาวจีนในประเทศไทยได้คว่ำบาตรญี่ปุ่นอย่างรุนแรง บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง มิตซุยบุซซัน (Mitsui-Bussan) ถูกพ่อค้าชาวจีนต่อต้านไม่ยอมส่งข้าวให้แม้แต่กระสอบเดียว ถึงทางบริษัทจะขอให้รัฐบาลไทยช่วยซื้อข้าวมาให้ก็ไม่เป็นผลสําเร็จ สุดท้ายจึงก่อให้เกิดบริษัทข้าวไทยขึ้นเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มาตัดกำลังพ่อค้าชาวจีน เพื่อหาข้าวส่งมอบให้ญี่ปุ่น

คําถามต่อมาเป็นคําถามใหญ่ ซึ่งเรามั่นใจว่า คงไม่มีใครอีกแล้วในประเทศไทยที่เหมาะสมจะให้คําตอบ นอกจากอาจารย์พรรณี ข้อสงสัยของเราคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นตลอดช่วงสงครามนั้นมีพัฒนาการเป็นมาอย่างไร และความสัมพันธ์ดัง ส่งผลให้ “เศรษฐกิจแบบชาตินิยม” ที่ประเทศไทยดําเนินมาช่วงก่อนสงครามต้องแปรเปลี่ยนไปบ้างหรือไม่

อาจารย์ย้อนอดีตกลับไปอีกสักระยะก่อนว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อิทธิพลของทุนนิยมตะวันตกเริ่มลดบทบาทในประเทศไทย เนื่องจากประสบวิกฤติเศรษฐกิจหลังสงคราม จึงกลายเป็นโอกาสให้ทุนนิยมญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทแทนที่ ทุนนิยมญี่ปุ่นประสบความสําเร็จเหนือทุนนิยมตะวันตกได้ ก็เพราะสามารถใช้เครือข่ายความสัมพันธ์กับพ่อค้าชาวจีนที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศไทย เพื่อให้สินค้าญี่ปุ่นได้แทรกตัวเข้าสู่ตลาด ญี่ปุ่นพยายามจูงใจด้วยการให้สินเชื่อแก่พ่อค้าชาวจีนนานขึ้น อีกทั้งราคาสินค้าญี่ปุ่นก็ไม่แพงเท่าของตะวันตก แถมยังหลากหลายกว่า และผลิตตามรสนิยมพื้นฐานของชาวเอเชีย เราจะเห็นว่า ญี่ปุ่นทําพวกสินค้าสําหรับชีวิตประจําวันเยอะ เช่น มุ้ง ผ้านุ่ง เป็นต้น ขณะที่ตะวันตกจะไม่ค่อยสนใจสินค้าจําพวกนี้ คือจะมุ่งแต่สินค้าที่ใช้กันในสํานักงาน และสินค้าตามแบบรสนิยมชนชั้นสูง  การที่ญี่ปุ่นผลิตสินค้ามารองรับรสนิยมของชาวบ้านทั่วไปจึงเป็นข้อได้เปรียบสําคัญ ที่ช่วยให้เอาชนะทุนนิยมตะวันตก และครอบงําตลาดไทยได้อย่างเรื่องตลาดผ้า พอทศวรรษที่ 2470 เราจะเห็นเลยว่า ญี่ปุ่นสามารถครอบงําตลาดผ้าของประเทศไทยแล้ว ผ้าของญี่ปุ่นขายได้นําหน้าผ้าจากแถบแลนคาเชียร์ (Lancashire) ของอังกฤษ

ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุนนิยมญี่ปุ่นก็มีลักษณะเป็นทุนนิยมทหาร คือ ได้รับการสนับสนุนจากอํานาจรัฐ และอํานาจกองทัพ ประเทศไทยจึงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นในลักษณะที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ  ตอนแรกที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม คิดว่าประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อสงครามดําเนินไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างกลับเริ่มชัดเจนขึ้นว่า ประเทศไทยถูกญี่ปุ่นเอาเปรียบ ประเทศไทยต้องคอยทําหน้าที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้กับญี่ปุ่น แทนที่จะผลิตให้คนไทยได้ใช้เอง ด้านญี่ปุ่นนั้นเห็นว่า ประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และผลผลิตทางการเกษตร จึงใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตสิ่งของสําคัญ ๆ ป้อนกองทัพญี่ปุ่นที่ประจําการอยู่ รวมทั้งส่งกลับไปญี่ปุ่นด้วย

สินค้าที่ญี่ปุ่นต้องการส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตร เช่น ข้าวยางพารา ไม้สัก แร่ดีบุกวุลแฟรม ฯลฯ  ญี่ปุ่นได้กว้านซื้อสินค้าเกือบทุกชนิดในตลาด แม้แต่เนื้อสัตว์ และหนังสัตว์ก็ไม่เว้น โดยเฉพาะของวัวควาย เพราะต้องการนําเนื้อไปบริโภคเป็นอาหาร ส่วนหนังก็ใช้ทําพวกรองเท้า เข็มขัด และกระเป๋าให้แก่ทหารได้ ขนาดกระดูกสัตว์ และเขาสัตว์ยังเอาไปทําเป็นกระดุม  วิธีการจัดการของญี่ปุ่น คือ จะเข้ามาลงทุนในโรงงานผลิตสินค้า บ้างลงทุนเองโดยตรง บ้างร่วมทุน บ้างทําสัญญาให้บริษัทไทยทําการผลิตแทน สุดท้ายพอผลิตสินค้าออกมาก็ส่งไปแต่ทางญี่ปุ่น คนไทยจึงไม่มีโอกาสบริโภคสินค้าเหล่านั้น

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังคาดหวังช่วงเริ่มต้นสงครามว่า เมื่อเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็อาจได้พัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ  เดิมที ประเทศไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้มีความพร้อมทางด้านอุตสาหกรรมใด ๆ เลย โรงงานที่พอมีอยู่เป็นเพียงกิจการเล็ก ๆ เท่านั้น  พอหลังเกิดสงคราม รัฐบาลพยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม โดยตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาหลายแห่ง และหวังพึ่งพาญี่ปุ่นในเรื่องเทคโนโลยี ผู้ชํานาญการ เครื่องจักร และอุปกรณ์  อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นกลับไม่ยอมขายเครื่องจักรให้แก่ประเทศไทย โดยอ้างข้อกําหนดเกี่ยวกับการส่งออกเทคโนโลยี แถมยังเข้ามาตั้งโรงงานเองในประเทศด้วย เพื่อผลิตสินค้าส่งกองทัพญี่ปุ่น สุดท้าย ประเทศไทยเลยไม่มี โอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมของตนในช่วงสงคราม ประเทศไทยเป็นได้เพียงแหล่งทรัพยากร และแหล่งผลิตสินค้าเท่านั้น

พอให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จ อาจารย์พรรณีก็หันมาพูดถึงระบบการเงิน อาจารย์เห็นว่า แม้รัฐบาลไทยจะตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2485 เพื่อทําหน้าที่กําหนด และควบคุมเงินในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของการธํารงเอกราชทางการเงินไว้  แต่ในความเป็นจริง ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับไม่สามารถควบคุมระบบการเงินระหว่างสงครามได้ เพราะกองทัพญี่ปุ่นต่างหากที่มีบทบาทสําคัญในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ระบบการเงิน และปริมาณธนบัตร  กองทัพญี่ปุ่นเวลาเข้ามาประเทศไทยนั้นมากันแบบ “ตัวเปล่า” แล้ว ค่อยกู้เงินจากรัฐบาลไทยเป็นจํานวนมหาศาล เพื่อเอาไปใช้จ่ายในกิจการกองทัพ ทําให้ประเทศไทยต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม  นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังนำเงินประเภทต่างๆ เข้ามาใช้ ผลคือ ปริมาณเงินในระบบเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นสภาวะเงินเฟ้อ  ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังกําหนดให้ประเทศไทยต้องลดค่าเงิน เปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิม 1 บาทต่อ 1.50 เยน เป็น 1 บาทต่อ 1 เยน ทําให้เกิดความปั่นป่วนในระบบการเงินไทยเป็นอย่างมาก

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของประเทศไทย อาจารย์พรรณีชี้ว่า แม้รัฐบาลไทยไม่ได้ละทิ้งแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม แต่ในระหว่างสงคราม รัฐบาลไม่สามารถที่จะเดินตามแนวนโยบายดังกล่าว  อันที่จริง แก่นของนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม คือ “ผลิตเพื่อคนไทย” ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยช่วงสงครามผลิตสินค้าเพื่อป้อนญี่ปุ่นมากกว่า  นอกจากนี้ กลไกรัฐไทยที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ก็ยังถูกกองทัพญี่ปุ่นควบคุม จนไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง จะเห็นว่า ญี่ปุ่นมีบทบาทกําหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า การค้าข้าว ระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน แม้แต่ตัวผู้บริหารประเทศไทย ญี่ปุ่นก็ยังสามารถควบคุม เหมือนตอนที่บีบรัฐบาล จอมพล ป. ให้เอาปรีดี พนมยงค์ และเครือข่ายของเขาออกจากคณะ

ท้ายที่สุด เราขอจบการสัมภาษณ์อาจารย์พรรณีด้วยคําถามที่น่าจะเป็นประโยชน์สําหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า อาจารย์มีแรงบันดาลใจอย่างไรในการค้นคว้าเรื่องเศรษฐกิจไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และอาจารย์พอมีคําแนะนําอะไรบ้างสําหรับผู้สนใจศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยสงคราม

อาจารย์พรรณีหัวเราะขึ้นมาอย่างอารมณ์ดีก่อนจะเล่าว่า ที่อาจารย์เลือกทํางานวิจัยในหัวข้อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นนั้น ก็ด้วยเหตุผลเรื่องทุน คือได้รับทุนของญี่ปุ่นผ่านการติดต่อจากอาจารย์อาคิระ ซูเอะฮิโระ (Akira Suehiro) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 โดยเงื่อนไข คือ จะต้องทําวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น สุดท้ายจึงเลือกประเด็นด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจช่วงสงคราม เพราะเป็นประเด็นที่สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นได้ชัดเจน และ อีกประการหนึ่งเพราะอาจารย์เองต้องการลองเขียนประวัติศาสตร์แนวใหม่ที่ผนวกเอามิติของผู้คนในสังคมเข้ามารวมอยู่ด้วย

ส่วนเรื่องคําแนะนําสําหรับผู้สนใจ อาจารย์เห็นว่า เรื่องเศรษฐกิจไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีแง่มุมอีกพอสมควรที่มีคุณค่า แต่กลับยังไม่มีนักวิจัยไปค้นคว้าเจาะลึก เช่น บทบาทของกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ได้ร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น อาจารย์เองเคยลองหาข้อมูลมาบ้างแล้วมีอย่างกลุ่มวังตา]ในบริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทย และกลุ่มของแผน สิริเวชชะพันธ์ ซึ่งคอยหาเครื่องมือเครื่องใช้ และวัสดุอุปกรณ์ให้กองทัพญี่ปุ่นเพื่อก่อสร้างทางรถไฟ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมายที่ควรถูกศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนี้ อีกประเด็นสําคัญ คือ ความสัมพันธ์ทางการเงิน และระบบเงินตราระหว่างสงคราม โดยเฉพาะเรื่องเงินเยนพิเศษ ตลอดจนระบบทองคําที่ใช้เทียบอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  สําหรับประเด็นนี้ อาจารย์พรรณียังแนะนําด้วยว่า ผู้สนใจอาจจะต้องพึ่งพาแหล่งข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามความเข้าใจของอาจารย์ ทางธนาคารเคยทําข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral history) เก็บไว้ชุดหนึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงสงคราม และเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีใครใช้ศึกษาวิจัย  หรือแม้กระทั่งการค้นคว้าข้อมูลจากบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยสําหรับผู้ศึกษาระบบการเงินช่วงสงคราม

บทสนทนากับอาจารย์พรรณีในครั้งนี้ช่วยให้เรามีโอกาสทบทวนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนอิทธิพลของจักรวรรดิญี่ปุ่นเหนือประเทศไทยในมิติอื่นที่นอกเหนือไปจากเรื่องศึกสงคราม และเกมการเมือง อาจารย์ได้ให้ภาพบรรยากาศทางเศรษฐกิจระหว่างช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะบรรดาข้อเท็จจริง และรายละเอียดต่าง ๆ ที่ตอกย้ำให้เห็นสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับรากหญ้า ทั้งชาวไทย และชาวจีน ไปจนถึงระดับระหว่างประเทศ สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งซึ่งอาจารย์ชวนให้เราตระหนัก คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยไม่ได้ถูกญี่ปุ่นรุกรานเพียงแค่ทางทหาร หากแต่ยังถูกบีบบังคับในทางเศรษฐกิจด้วย แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ความสูญเสียทางเศรษฐกิจกลับไม่ค่อยถูกเน้นย้ํา จนกลายเป็นอดีตที่ถูกหลงลืมในที่สุด กระนั้นก็ตาม การพูดคุยกับอาจารย์พรรณีใน ครั้งนี้ก็ช่วยชุบชีวิตให้อดีตดังกล่าวกลับมาเป็นที่รับรู้อีกครั้ง และต่อให้เป็นการพูดคุยเพียงเวลาสั้น ๆ แต่เราก็ยังหวังว่า นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้แก่การค้นคว้าทางวิชาการในประเด็นเศรษฐกิจไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของใครอีกหลายคนก็เป็นได้

 

พิมพ์ครั้งแรก: ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (บรรณาธิการ), 70 ปี วันสันติภาพไทย, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, น. 24-39.