ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

29
กันยายน
2563

หมายเหตุ: ในปี พ.ศ. 2522 นายแอนโทนี พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสาร เอเชียวีค ประจำกรุงปารีส ได้สัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และนำคำสัมภาษณ์นั้นลงในนิตยสาร เอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 1979 - 4 มกราคม 1980 ภายใต้หัวเรื่องว่า “PRIDI THROUGH A LOOKING GLASS” ต่อมา ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช์ รน. ถอดความเป็นภาษาไทยในชื่อ “ทรรศนะ ดร.ปรีดี ต่อสภาวะการณ์เมืองไทยในปัจจุบัน” และได้รับการตรวจทานจาก สุภัทร สุคนธาภิรมย์

ในที่นี้ คัดมาเฉพาะบทสัมภาษณ์ในตอนต้นที่นายปรีดีอธิบายถึงแนวคิดปรัชญาการเมืองของเขา

 

----------------------------------

 

ถาม : ท่านจะบรรยายลักษณะสภาวะการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร? ตามทรรศนะของท่าน อะไรเป็นพลังทางการเมืองอันสำคัญที่ดำเนินอยู่?

ตอบ : พลังสำคัญอย่างที่ทุกคนควรต้องยอมรับ ก็คือ ประชาชน แต่ประชาชน ตามที่รู้กันแบ่งออกเป็นหลายชนชั้นและหลายระดับชั้น ถัดมามีพลังที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนข้างมากในรัฐสภา แต่นอกจากนี้เราต้องพิจารณาถึงพลังที่อยู่นอกวงการของสภาด้วย อย่างที่ทราบกันในประเทศของเรามีพลังพิเศษนอกสภา ซึ่งจะต้องคำนึงถึงด้วย คือ พวกซากเดนศักดินา พวกซากเดนนาซีไทย พวกนิยมสังคมมนุษยชาติ พวกสังคมนิยม และพวกคอมมิวนิสต์ที่มีแนวทางต่างๆ กัน พวกนายทุนสมัยใหม่หรือพวกประชาธิปไตยตะวันตก ประชาธิปไตยทหาร และ ฯลฯ

 

ถาม : ท่านคิดไหมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์นี้?

ตอบ : รัฐธรรมนูญห้ามเสรีภาพในความคิดบางอย่างในการต่อสู้ด้วยวิถีทางสภา

 

ถาม : ถ้างั้น, ท่านก็สนับสนุนให้พวกคอมมิวนิสต์รวมอยู่ด้วยในกระบวนการทางรัฐสภานะซี?

ตอบ : ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นการดีกว่าสำหรับทุกคนที่จะอภิปรายเรื่องต่างๆ อย่างเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมายในสภา อย่างเช่นในอังกฤษ ฝรั่งเศส และยุโรปตะวันตก ซึ่งพวกคอมมิวนิสต์มีเสรี…. ข้าพเจ้าคิดว่ามันดีกว่า แน่ละ, มีพวกคอมมิวนิสต์หลายชนิด และพวกเขาก็มีทรรศนะแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้

ชาวคอมมิวนิสต์ที่มีแนวความคิดแบบมารกซิสต์-เลนินนิสต์ที่แท้จริง ย่อมเดินตามคําสอนของเลนินในเรื่อง “สงครามพลพรรค” ที่ท่านได้เขียนขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1906 และจําคําวิจารณ์ของเลนินได้อย่างแม่นยํา ที่ท่านวิจารณ์พวกคอมมิวนิสต์แบบ “ตามในฉัน” (Self-Styled) ในหนังสือเรื่อง คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย–ความคิดระส่ําระสายอย่างเด็กไร้เดียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1920 และโดยเฉพาะเลนินได้ตักเตือนผู้นับถือท่านในหลายประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบรัฐสภา ให้ใช้การต่อสู้ทางรัฐสภา คําแนะนําของท่านที่มีต่อชาวคอมมิวนิสต์อังกฤษเป็นที่ชัดแจ้ง ไม่ผิดพลาด และอย่างเด็ดขาดว่า “ชาวคอมมิวนิสต์ในบริเทนใหญ่ควรใช้การเลือกตั้งทางรัฐสภาอย่างมั่นคง อย่างไม่หยุดยั้งและอย่างสม่ำเสมอ” แต่ก็มีนักมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์แต่เปลือกนอกบางคน ที่ทิ้งคําสอนอันแท้จริงของปรมาจารย์ของเขาเสียนี่ 

 

ถาม : ท่านคิดว่าจะเกิดผลอย่างไรในประเทศไทย ถ้าพวกคอมมิวนิสต์เข้าแข่งขันทางรัฐสภา ?

ตอบ : มันขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้โดยพวกคอมมิวนิสต์แต่ละชนิด ที่จะให้ประชาชนสนับสนุนตามอุดมการณ์ของพวกเขา อย่างที่รู้กัน พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีและฝรั่งเศสได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนกว่ายี่สิบเปอร์เซ็นต์ ในการเลือกตั้งทางรัฐสภาในประเทศของเขาตามลําดับ  ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ในบางประเทศอื่นแพ้อย่างสิ้นเชิงในการเลือกตั้ง เพราะว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะ ยอมรับพวกเขา หรือเนื่องจากข้อบกพร่องต่างๆ ของพรรคเขาเอง 

 

ถาม : ในรัฐสภาปัจจุบันในกรุงเทพฯ แน่ละ, ย่อมมีพรรคการเมืองต่างๆ อยู่หลายพรรค โปรแกรมของพรรคการเมืองปัจจุบันอันไหนที่ท่านเห็นว่าพอไปกันได้กับของท่านเองมากที่สุด ?

ตอบ : ข้าพเจ้าไม่ได้สังกัดอยู่ในพรรคการเมืองใด ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงใคร่จะเว้นการวิจารณ์ 

 

ถาม : ท่านจะบรรยายลักษณะปรัชญาทางการเมืองของท่านสักหน่อยจะได้ไหม ?

ตอบ : ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้า คือ "สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย" (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์  แม้ในรัฐสภา การต่อสู้ทางสภาก็เป็นหนทางหนึ่งของการต่อสู้ด้วยเหมือนกัน เราต้องพิจารณาที่จะเลือกการต่อสู้ตามกาลเทศะและเงื่อนไข บางทีการต่อสู้ทางรัฐสภาที่สําหรับบางคราว บางสภาพ เราไม่ควรปฏิเสธการต่อสู้ทางรัฐสภาเสียหมดทีเดียว 

 

ถาม : ทีนี้หันไปว่ากันถึงเหตุการณ์ในภูมิภาค กองทหารเวียดนามจากกองทัพเพียงกองทัพเดียวยังมีมากกว่าของประเทศไทยมาก ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่เสมอใกล้ชายแดนไทย พร้อมทั้งกัมพูชาและลาว ท่านคิดว่าอะไรคือจุดหมายสุดท้ายของเวียดนามในสองประเทศ ? และท่านคิดไหมว่า อาจเป็นไปได้ไหม ที่ฮานอยอาจขยายการสู้รบถึงประเทศไทย ?

ตอบ : คําถามเหล่านี้ละเอียดอ่อนมากจริงๆ ดังนั้น ข้าพเจ้าในฐานะผู้รักชาติอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งเคยเสี่ยงชีวิตเพื่อประเทศอันเป็นที่รักมาแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ยอมนําตัวเองเข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการเป็นปฏิปักษ์กัน ในภูมิภาคนี้ ข้าพเจ้าจะตอบคําถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติ ตามหลัก 5 ประการของ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน  

ไม่เพียงแต่เพื่อนร่วมชาติไทยจํานวนมากของข้าพเจ้าเท่านั้น ที่เห็นด้วยกับหลัก 5 ประการ แม้แต่ประธานเหมา เจ๋อตุง โจว เอินไหล และประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ก็ได้บอกข้าพเจ้าว่า หลัก 5 ประการของข้าพเจ้าเหมาะและสมควรกับประเทศไทย 

เกี่ยวกับการเปรียบเทียบกําลังทางทหารระหว่างเวียดนามกับประเทศไทย ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านระมัดระวังพวกนักโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งทําให้ราษฎรไทยผู้บริสุทธิ์ตกใจกลัว โดยเขาแพร่ข่าวลืออันน่าหวาดเสียวว่ากองทัพเวียดนามใหญ่โตกว่ากองทัพประเทศไทยมาก ถ้าคํากล่าวของพวกนักโฆษณาชวนเชื่อเป็นความจริง รัฐบาลไทยก็ควรจะเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการเงินของประเทศ โดยเพิ่มภาษีอากรที่เรียกเก็บจากประชาชนไทยมาเพิ่มเข้าไปในงบประมาณทางทหารอีกหลายเท่าตัว แต่นายกรัฐมนตรีไทย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอกอาวุโสของไทยคนอื่นๆ อีกบางคน ได้ให้ความแน่ใจย้ำแล้วซ้ำเล่ากับเพื่อนร่วมชาติของเราว่า ประเทศไทยมีคนและอาวุธพอที่จะต่อต้านการรุกรานจากเวียดนามได้ พลเอก เกรียงศักดิ์ ได้พูดอย่างถูกต้องว่า ประเทศไทยมีประชากร 48 ล้านคน ผู้ชํานาญการทหารของพวกนักโฆษณาชวนเชื่อควรจะรับรู้ว่า ประชากรของเวียดนามเหนือมี 23,787,375 คน ตามการสํารวจสํามะโนประชากร เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1974 และประชากรเวียดนามใต้มี 20 ล้านคน ใน ค.ศ. 1976 ตามการประมาณของทางราชการ 

ข้าพเจ้าจะต้องกล่าวถึงอีกด้วยว่า นับแต่ ค.ศ. 1917 ประเทศไทยได้มีระบบการเกณฑ์ทหารโดยบังคับตามแบบอย่างระบบของเยอรมัน รัสเชียและฝรั่งเศส ดังนั้น ในกรณีมีสงคราม หรือกรณีฉุกเฉิน ประเทศไทยสามารถระดมพวกกองหนุนได้หลายล้านคนจากหลายชนชั้น 

ข้าพเจ้าคิดว่า รัฐบาลเวียดนามรู้ระบบการทหารของไทยดีทีเดียว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ยินนายกรัฐมนตรีฟามวันดง หรือ นายพลอาวุโสคนใดๆ ของเวียดนาม คุยโตว่า กองทัพของเขาใหญ่โตกว่ากองทัพของไทย 

เรื่องจุดหมายปลายทางของเวียดนามในกัมพูชาและลาวนั้น ข้าพเจ้าไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมที่จะโต้แย้งถ้อยแถลงของทางการเวียดนามในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลใดได้ค้นพบข้อพิสูจน์ที่แน่ใจไปในทางตรงกันข้ามแล้ว ก็เป็นการดีขึ้นสําหรับรัฐบาลดังกล่าว จะได้ขอให้สหประชาชาติอภิปรายเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจังและอย่างทั่วถึง แทนที่จะเสียเวลาและเสียเงิน ไปก่อให้เกิดความจงเกลียดจงชังระหว่างประชาชนในภูมิภาคนี้ 

เกี่ยวกับที่ว่า เวียดนามต้องการขยายการสู้รบมาถึงประเทศไทยหรือไม่นั้น มีวิธีคิดอยู่ 2 ทาง ทางแรก ความคิดที่เข้าใจเอาเองอย่างเพ้อเจ้อว่า เวียดนามมีความปรารถนาแรงกล้าอย่างใหญ่หลวงที่จะเข้าครอบครองทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์ ดังนั้น ก็คงจะเสี่ยงทําสงครามรุกรานต่อประเทศไทย และ ฯลฯ เพียงเพื่อสร้างความพึงพอใจสนองความอยากของตน โดยปราศจากการคิดคํานวณถึงเปอร์เซ็นต์อันถูกต้องของความเป็นไปได้ที่จะเอาชนะสงคราม  ทางที่สอง วิธีคิดที่เป็นจริง หรืออย่างเป็นรูปธรรม (ซึ่งเวียดนามคงจะคิด) โดยคิดคํานวณอย่างถูกต้องถึงเปอร์เซ็นต์ของความสําเร็จก่อนทําสงครามรุกรานต่อประเทศไทย 

ข้าพเจ้าคิดว่า ฟามวันดงและคณะเสนาธิการของเขายังเป็นผู้มีสุขภาพจิตดีอยู่ ดังนั้น ข้าพเจ้าหวังว่าพวกเขาคงจะใช้วิธีคิดอย่างทางที่สอง ในเมื่อส่วนมากของพวกเขาได้ศึกษาเล่าเรียนจากสถาบันศึกษาฝรั่งเศส พวกเขารู้กฎเบื้องต้นของสงครามที่กําหนดโดยนโปเลียนที่ว่า “กองทัพเดินได้ด้วยท้อง” ทหารของกองทัพที่ลือชื่ออาจมีจิตใจแข็งแกร่งพอที่จะเดินไปได้โดยไม่มีอาหารเป็นเวลาสัก 2-3 วัน แต่ถ้าขาดอาหารต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่พวกเขาคงไม่มีกําลังจะสู้รบ 

คุณย่อมรู้ดีทีเดียวว่า ในเวียดนามและกัมพูชานั้นขาดแคลนอาหาร ฉะนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุอันใดที่เป็นจริงเลยว่า ผู้นําปัจจุบันของเวียดนามจะทําสงครามรุกรานต่อประเทศไทยทําไม 

เวียดนามกําลังเผชิญหน้ากับปัญหาหลายอย่าง คือ ภายในเวียดนามก็มีปัญหาเศรษฐกิจ ในกัมพูชาก็มีปัญหามากมาย และตามที่รู้กัน เวียดนามมีความเป็นปรปักษ์กับประเทศจีน เมื่อมีปัญหามากมายหลายอย่างอยู่ข้างหลัง คุณก็ย่อมไม่ต้องการให้มีปัญหารอบตัวคุณเพิ่มมากขึ้นไปด้วย 

แต่มีพวกนักค้าสงคราม ซึ่งไม่พอใจเพียงแค่ให้มีสงครามท้องถิ่นในอาณาบริเวณอินโดจีน พวกเขาต้องการขยายสงครามออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผลักดันให้ประเทศไทยกับเวียดนามต่อสู้กันด้วยกําลังอาวุธ คุณสังเกตได้จากสิ่งพิมพ์ของบางกลุ่มที่กดดันและยั่วยุ ทั้งภายในและภายนอกประเทศไทยว่า พวกตัวแทนนักค้าสงครามได้ขยายสงครามเย็นระหว่างประเทศตามเจ้านายที่นับถือของพวกเขาเข้าไปในประเทศไทยแล้ว โดยมุ่งร้ายและอย่างอึกทึกครึกโครม (ตามที่แถลงการณ์ตั้งใจ) เพื่อยุแหย่ให้เกิดความเคียดแค้นและกินแหนงแคลงใจกันระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนเวียดนาม  เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่แล้วมา พวกตัวแทนเหล่านี้หวังที่จะร่วมมือกับเกรียงศักดิ์ทําสงครามต่อเวียดนาม แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้เมื่อเกรียงศักดิ์กับฟามวันดงตกลงระงับข้อแตกต่างของเขาด้วยสันติวิธี พวกตัวแทนจึงโจมตีเกรียงศักดิ์อย่างรุนแรง เพื่อหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ที่จะเอนเอียงไปตามพวกนักค้าสงคราม 

ฯลฯ

 

ที่มา: รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2524), หน้า 57-67.