ความเชื่อเรื่องความเป็นอนิจจังของสังคม
ความเชื่อเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าในทุกๆ ด้านอยู่ตลอดเวลา คุณค่าในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการปลูกฝังและเติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งครัดในธรรมะของพระพุทธศาสนา ทำให้อ.ปรีดีฯ มีทรรศนะในการมองสังคมโดยหยิบยกคำอธิบายในพระพุทธศาสนาคือ “เรื่องกฎแห่งความเป็นอนิจจัง” มาอธิบายปรากฏการณ์ในสังคม
ตามทรรศนะนี้ ท่านได้อธิบายว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่ได้นิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งมีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง ชีวิตย่อมมีด้านบวกกับด้านลบ มีส่วนใหญ่ที่กำลังเจริญงอกงามกับส่วนเก่าที่เสื่อมซึ่งกำลังดำเนินไปสู่ความสลายแตกดับ มนุษยสังคมก็ดำเนินไปตามกฎแห่งอนิจจัง คือ มีสภาวะเก่าที่ดำเนินไปสู่ความเสื่อมสลาย และ สภาวะใหม่ที่กำลังเจริญ ระบบสังคมใดๆ ไม่นิ่ง คงอยู่กับที่ชั่วกัลปาวสาน คือ ระบบเก่า ย่อมดำเนินเข้าสู่ความเสื่อมสลายเช่นเดียวกับสังขารทั้งหลาย ส่วนระบบใหม่ที่เกิดเจริญเติบโตจนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตต่อไปได้อีก ก็จะดำเนินสู่ความเสื่อมสลายโดยที่มีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่าสืบต่อกันไปเป็นช่วงๆ
นอกจากนี้ อ.ปรีดีฯ ยังได้อธิบายต่อไปอีกว่า การขับเคลื่อนของสังคมเป็นไปตามการปะทะกันระหว่างพลังใหม่ซึ่งเป็นด้านบวก และพลังเก่าซึ่งเป็นด้านลบที่ปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้สังคมเคลื่อนไปไปในทำนองเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อพลังเก่าเสื่อมสลายไป ระบบสังคมของพลังเก่าก็จะเสื่อมสลายไปด้วย
พลังใหม่ที่เจริญเติบโตระบบสังคมก็จะเจริญเติบโตไปด้วยสภาวะเก่าจึงหลีกเลี่ยงจากความเสื่อมสลายไม่พ้น ส่วนสภาวะใหม่ก็ต้องดำเนินไปสู่ความเจริญซึ่งพลังเก่าไม่อาจต้านทานไว้ได้ ดังนั้นสภาวะไม่ยอมได้รับชัยชนะต่อสภาวะเก่าในวิถีแห่งการปะทะระหว่างด้านบวกกับด้านลบตามกฎหมายธรรมชาติ และแม้ว่าจะมีเศษซากของพลังเก่าหรือผู้ที่นิยมชมชอบ ได้ประโยชน์จากพลังเก่า หรือ ระบอบเดิมพยายามฉุดรั้งมิให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือ ยอมรับการมีอยู่ของพลังใหม่ หรือสังคมใหม่ การฉุดรั้งนั้นก็ทำได้เพียงชั่วคราว เพราะสังคมยังต่อดำเนินต่อไปตามกฎแห่งความเป็นอนิจจัง
อ.ปรีดีฯ ได้แสดงทรรศนะต่อสังคมที่เป็นไปตามกฎแห่งความเป็นอนิจจังเอาไว้ในหลายเอกสารและปาฐกถาหลายครั้งด้วยกัน แต่งานชิ้นสำคัญที่ยืนยันความเชื่อเรื่องกฎแห่งความเป็นอนิจจังก็คือ หนังสือที่ชื่อว่า “ความเป็นอนิจจังของสังคม”
ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และว่าด้วยตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
“พุทธศาสนา” มีความสำคัญต่อความคิดของอ.ปรีดีฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งอ.ปรีดีฯ อธิบายไว้ว่า ชาวพุทธที่แท้จริงย่อมนึกถึงกฎแห่งกรรม กรรมนั้นอาจประจักษ์ในระยะสั้นหรือในอนาคตต่อไปเร็วหรือช้า โบราณท่านเคยกล่าวถึงกรรมตามทันตาก็มี ซึ่งความเชื่อเรื่องกรรมนี้หมายถึง “ผลของการกระทำของตนเอง” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเป็นภาษาบาลีว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่งในการปกครองนั้นอ.ปรีดีฯ เชื่อว่า ชาติไทยจะอยู่รอดจากการเป็นเมืองขึ้นมาได้ในอดีตก็ถือคตินี้เป็นหลัก กล่าวคือ ชาติไทยจะต้องพึ่งพาราษฎรไทยนี้เป็นหลัก ส่วนชาติอื่นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ (ส่วนเสริม) เท่านั้น ซึ่งเป็นแนวคิดแบบชาตินิยมรูปแบบหนึ่งที่เน้นการพึ่งพาตนเองภายในประเทศ
แนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ชัดในงานเขียนทางเศรษฐกิจของอ.ปรีดีฯ คือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ซึ่งในหลายตอนได้เน้นย้ำถึงการพึ่งพาตนเองของประเทศไทย โดยมีกลไกของรัฐเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการทางเศรษฐกิจผ่านการเข้ามาจัดการของรัฐบาล เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศ และหลีกเลี่ยงการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจของอ.ปรีดีฯ มีลักษณะเป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นเรื่องสมเหตุสมผลมาก เพราะเมื่อพิจารณาบริบทในช่วงปี พ.ศ. 2473 – 2475 ประเทศสยาม หรือ ประเทศไทยในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยอยู่ในช่วงยากลำบาก ประเทศไทยก็มีพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
ฉะนั้น ในทรรศนะของอ.ปรีดีฯ ในเรื่องการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศจึงมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้สภาวะความผันผวนหรือความไม่แน่นอนของกระแสเศรษฐกิจโลก
ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นแนวคิดเฉพาะตัวของอ.ปรีดีฯ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากการสังเกตการณ์รับใช้ โดยประสบการณ์ได้พัฒนาแนวคิดดังกล่าวขึ้นมา ประกอบด้วยความคิดเรื่อง เอกราช อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชน และประชาธิปไตยของประชาชน
แม้ว่าอ.ปรีดีฯ ไม่เคยอธิบายอย่างชัดเจนว่า “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” มีความหมายว่าอย่างไร แต่อ.ปรีดีฯ ก็ได้ยืนยันเสมอว่า
“ปรัชญาการเมืองของข้าพเจ้าคือสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Democratic Scientific Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์”
และระบุว่าสหกรณ์สังคมนิยมที่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
การศึกษาเรื่องปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในหมู่ผู้ที่ศึกษาความคิดของปรีดี พนมยงค์ หรือที่เรียกกันว่า “ปรีดีศึกษา” นั้น ‘เฉลิมเกียรติ ผิวนวล’ ได้ทำการศึกษา และอธิบายข้อความคิดเกี่ยวกับปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย โดยเริ่มจากการอธิบายคำที่มาประกอบกันเป็นหลักการของปรัชญา คือ ประชาธิปไตย สังคมนิยม และวิทยาศาสตร์
“ประชาธิปไตย” ที่สมบูรณ์ในทรรศนะของอ.ปรีดีฯ ก็คือประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง และทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกัน
สำหรับคำว่า “สังคมนิยม” นั้น หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่มีสังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและอำนวยให้สมาชิกในสังคมร่วมมือกันในการผลิตโดยได้รับผลประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรม
ส่วนคำว่า “วิทยาศาสตร์” หมายถึง ความรู้ที่ได้จากการสังเกตค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติและจัดเข้าเป็นระเบียบ วิชาที่ค้นคว้าได้หลักฐานและเหตุผลและจัดเข้าเป็นระเบียบ ขณะที่วิทยาศาสตร์สังคมหรือสังคมศาสตร์ก็คือ ความรู้ว่าด้วยสังคมนั่นเอง
ภายใต้บริบทของปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยคือ การอธิบายสมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม ซึ่งอ.ปรีดีฯ ได้อธิบายรายละเอียดเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ใจความว่า
บทบาทสำคัญของสสารในฐานะเป็นสมุฏฐานของมนุษย์สังคม หรือที่เรียกว่าสสารทางสังคมอันเป็นสาเหตุที่บันดาลให้มนุษย์ต้องอยู่รวมตัวกันเป็นสังคมนั้นมีความสำคัญเช่นไร เมื่อมนุษย์จำเป็นต้องอยู่รวมตัวกันเป็นสังคมนั้นมนุษย์จำเป็นต้องมี “ชีวปัจจัย” กล่าวคือ ปัจจัยที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นปัจจัยทางกายและปัจจัยทางใจ ซึ่งปัจจัยทั้งหลายนั้นจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลทำการผลิตและต้องมีเครื่องมือในการผลิต ซึ่งมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่อาจจะผลิตชีวปัจจัยได้ครบถ้วน จึงต้องรวมตัวกันอยู่เป็นสังคม กระบวนการว่าด้วยการผลิตชีวปัจจัยก็คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของสังคม
ดังนั้น เพื่อจะตอบสนองต่อสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ชีวปัจจัยจึงมีความสำคัญในลักษณะที่ว่า ราษฎรทั้งหลายนั้นควรจะสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของชีวปัจจัยทั้งหลาย ซึ่งเมื่อสามารถเข้าถึงชีวปัจจัยทั้งหลายได้แล้ว ในส่วนของรากฐานทางสังคมก็จะบริบูรณ์ดี ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างเบื้องบนคือทางการเมือง เมื่อราษฎรไม่จำเป็นที่จะต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาชีวปัจจัย ราษฎรทั้งหลายก็จะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองของตนได้อย่างเต็มที่
“ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ภายใต้ปรัชญาและระบอบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ สันติสุข ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ และประชาธิปไตยของประชาชน”
ความเชื่อเรื่องสันติภาพและสันติวิธี
พื้นฐานสำคัญของความคิดอ.ปรีดีฯ อีกสิ่งหนึ่งก็คือ “เรื่องสันติภาพและสันติวิธี” งานนิพนธ์ของท่านหลายฉบับได้ชี้ให้เห็นถึงการ “ประณามการรุกรานและหลีกเลี่ยงการใช้กำลังตัดสินความขัดแย้ง” ดังที่อ.ปรีดีฯ ได้ให้ถ้อยคำไว้ว่า “การรุกรานและการใช้กำลังเป็นอาชญากรรมต่อสันติภาพที่กระทำต่อมนุษยชาติ” ทำให้แนวคิดของอ.ปรีดีฯ หลายอย่างนั้นต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบเพราะ เผด็จการนั้นจะใช้ความรุนแรงและกระทำการรุกรานต่อผู้อื่น
งานนิพนธ์ชิ้นสำคัญของอ.ปรีดีฯ ที่สะท้อนแนวคิดเรื่องสันติภาพและสันติวิธีได้ปรากฏอยู่ในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” (The King of White Elephant) ซึ่งเป็นภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษเสียงในฟิล์ม เผยแพร่สู่ต่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์ก็คือ เพื่อแสดงทรรศนะเกี่ยวกับสันติภาพว่าเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง และอีกนัยหนึ่งเป็นการเตือนบรรดาผู้ที่กำลังสนับสนุนการทำสงครามทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกด้วย นวนิยายและภาพยนตร์ดังกล่าว ได้เขียนขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอ.ปรีดีฯ เห็นว่าแนวโน้มของสงครามนั้นกำลังจะขยายตัวลุกลามมาถึงทวีปเอเชียในไม่ช้า
“พระเจ้าจักราทรงกล้าหาญยิ่งในการรบ แต่ทรงรักสันติภาพ นวนิยายเรื่องนี้จึงเขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพเพราะว่าชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบันลือน้ำน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”
ข้อความดังกล่าวมาจากคำนำของ “พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่งสะท้อนความเชื่อเรื่องสันติภาพและสันติวิธีของอ.ปรีดีฯ ว่า “สันติภาพและสันติวิธีนั้นมิใช่เพียงแต่ความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เป็นทัศนคติต่อความรับผิดชอบทางการเมือง” โดยอ.ปรีดีฯ มองว่าหน้าที่ในการรักษาสันติภาพ ย่อมจะต้องพิจารณาควบคู่กับความรับผิดชอบในการปกป้องเอกราชของบ้านเมือง ดังปรากฏความตอนหนึ่งในนวนิยายว่า
“พระเจ้าจักราส่งตรงถึงความรับผิดชอบของพระองค์ต่อประชาราษฎร์ หน้าที่ในการรักษาสันติภาพนั้นย่อมจะต้องได้รับการพิจารณาควบคู่กับความรับผิดชอบในการป้องกันเอกราชของบ้านเมือง”
และอีกตอนหนึ่งว่า
“ความสุขเป็นรอยเท้าของบุคคลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบ้านเมืองตนมีสันติภาพอย่างแท้จริง สันติภาพที่ค้ำประกันโดยสติปัญญาและความเด็ดเดี่ยวมั่นคงของผู้ปกครอง นี่ใช่การยอมแพ้อย่างขลาดเขลาและไร้เกียรติ หากเป็นสันติภาพและรางวัลของสันติภาพซึ่งมีค่าสุดประมาณ”
ความเชื่อเรื่องสันติภาพและสันติวิธีของอ.ปรีดีฯ มิได้ปรากฏเพียงเฉพาะในงานวรรณกรรมเท่านั้น หากแต่ในเชิงของการนำมาใช้ในทางนโยบายก็ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งพิจารณาเนื้อหาเค้าโครงการเศรษฐกิจโดยตลอดแล้ว ท่านได้เน้นเอาไว้ว่า สันติภาพนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมุ่งมั่นที่จะรักษาสัญญาและเคารพซึ่งกันและกันของประชาคมระหว่างประเทศ เหตุที่ต่างประเทศนั้นได้มีการรุกรานซึ่งกันและกันก็เกิดขึ้นมาจากการไม่รักษาไว้ซึ่งสัญญา
เมื่อมีการจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ อ.ปรีดีฯ เน้นย้ำเสมอว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดทรัพย์สินของคนต่างชาติ หรือสัมปทานที่ได้รับจากรัฐบาลสยามในเวลานั้น เพราะเหตุดังกล่าว จะกลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งและเป็นข้ออ้างในการใช้กำลัง สิ่งที่ประเทศสยามจะได้ประโยชน์ก็คือการเรียนรู้จากชาวต่างชาติโดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการผลิตของประเทศ
สิทธิมนุษยชนและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ความตระหนักต่อสิทธิมนุษยชนของอ.ปรีดีฯ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่ท่านเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในปี พ.ศ. 2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังความที่ท่านได้เคยบรรยายไว้ว่า
“ในบรรดาหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งแอบแฝงอยู่ในวิชาต่างๆ ยังมีหลักกฎหมายทั่วไปประเภทหนึ่งซึ่งอาจยกขึ้นกล่าวในเบื้องต้นนี้อันเป็นประโยชน์ในการศึกษากฎหมายปกครอง คือ สิทธิมนุษยชน”
ในทรรศนะของอ.ปรีดีฯ สิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเพียงแต่อุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น หากแต่เป็นหลักการทั่วไปของกฎหมายซึ่งบรรดาบทบัญญัติของกฎหมายทั้งหลายจะต้องตั้งอยู่บนความเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน มนุษย์ซึ่งเกิดมาย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะดำรงชีวิต และรวมกันอยู่ได้เป็นหมู่คณะ สิทธิและหน้าที่เหล่านี้ย่อมมีขึ้นจากสภาพตามธรรมดาแห่งการเป็นมนุษย์
จำแนกออกได้เป็นสามประการคือ ความเป็นอิสระหรือเสรีภาพ (Liberte) ความเสมอภาค (Eligalite) และ ความภราดรภาพ ซึ่งหมายถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันฉันท์พี่น้อง ซึ่งหากปราศจากปัจจัยทั้งสามประการนั้น สิทธิมนุษยชนย่อมจะไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้
การบรรยายเรื่องสิทธิมนุษยชนของอ.ปรีดีฯ ในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมนั้น จึงถือว่าเป็นการบรรยายสิทธิมนุษยชนอย่างเปิดเผยครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของอ.ปรีดีฯ ยังปรากฏอีกในงานนิพนธ์เรื่อง “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 ท่านได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไว้ดังนี้
“สมาชิกสหประชาชาติรวมทั้งสยามที่เป็นภาคีแห่งองค์การนั้นได้ปฏิญาณรับรองผูกพันกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบัญญัติเริ่มต้นว่า เราประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ตกลงเด็ดขาด...ยืนยันความเชื่อถือในหลักการพื้นฐานแห่งสิทธิมนุษยชน ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ในสิทธิที่เสมอภาคระหว่างชายหญิงและระหว่างชาติไม่ว่าใหญ่เล็ก”
การอธิบายเรื่องการเป็นสมาชิกของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น เพื่อเน้นย้ำถึงพันธกรณีที่รัฐบาลไทยได้ผูกพันในประชาคมระหว่างประเทศ และจำเป็นจะต้องทำตาม
“คุณค่าแห่งสิทธิมนุษยชน” มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งอ.ปรีดีฯ ได้ชี้ให้เห็นว่า
“เมื่อรัฐบาลสยามได้รับรองกฎบัตรและปฏิญญาดังกล่าวแล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ได้เคยประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ วัน วันละข้อ ติดต่อกันมาหลายปี ดังนั้น กฎบัตรแห่งสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าวนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม หรือประเทศไทย ด้วยพระราชบัญญัติและบทบัญญัติกฎหมายใดที่ขัดต่อกฎบัตรและปฏิญญาสากลดังกล่าวแล้วจึงเป็นโมฆะ”
นัยยะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าสิทธิมนุษยชนในทางการเมืองของสังคมไทยว่า รัฐบาลไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ก็ตามที่มีผลเป็นการ ลบล้างหรือลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ได้ด้วยการผ่านกฎหมายลักษณะใดก็ตามที่ให้อำนาจรัฐบาลทำลายคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ และจะต้องพิทักษ์รักษาซึ่งสิทธิมนุษยชนไว้ เพราะสิทธิดังกล่าวนี้เองจึงเป็นหลักประกันของการใช้เสรีภาพในทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
หลักการพื้นฐานทั้ง 5 ประการ ดังที่กล่าวมานี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทรรศนะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนถึงนโยบายการต่างประเทศของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงตลอดระยะเวลาที่ท่านมีบทบาททางการเมืองของสังคมไทย ซึ่งอาจสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกเชิงปรัชญาและอุดมการณ์ที่ปวงชนชาวไทยเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือแม้กระทั่งปัจเจกบุคคลก็นำมาประกอบพิจารณาการตัดสินใจตามวิธีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยของตนเองได้ โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมกำลังเข้าสู่วิกฤติเช่นปัจจุบัน
การปกครองของรัฐบาลนั้นละเลยต่อหลักการและคุณค่าต่างๆ ซึ่งควรเคารพในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การกลับมาพิจารณาหลักการทั้ง 5 ประการนั้นในเวลานี้อาจจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้ว
อ้างอิงจาก
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, จาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583072391.
- เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, “ความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์.” ใน ปรีดีปริทัศน์ ปาฐกถนาชุดปรีดี พนมยงค์ อนุสรณ์ (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2526).
- ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, จาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583157980.
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ปรีดีสาร ฉบับคู่มือประชาธิปไตย ทางเลือกด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสงัคมตามแนวทคิดของท่านปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548).
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, คำอธิบายกฎหมายปกครอง, จาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583114623.
หมายเหตุ:
- ปรับปรุงและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนโดยบรรณาธิการ