ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการจัดทำรัฐธรรมนูญ : ข้อพิจารณาในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

24
ตุลาคม
2566

Focus

  • รัฐธรรมนูญที่มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างสรรค์และดำรงไว้ซึ่งสังคมที่ยกระดับความเป็นอารยะแห่งการปกครองตนเองของประชาชนอยู่เสมอ และจะมีคุณประโยชน์หรือคุณค่าต่อสังคมไทยมากน้อยเพียงใดในอนาคตนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญไทย
  • วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญควรอาศัยปรัชญาแห่งศาสตร์ ในเชิงประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสมเหตุสมผล และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผลจริง โดยใช้หลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นสากลมาช่วย เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่แสดงถึงระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีความถูกต้องและมีคุณภาพมากที่สุด
  • การเรียนรู้จุดอ่อน-จุดแข็งของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา อาทิ ฉบับ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 และการมีตัวแบบในอุดมคติของการจัดทำรัฐธรรมนูญในทางวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

บทนำ

รัฐธรรมนูญที่พึงเป็นเครื่องมือเชิงกติกาของสังคมที่สูงสุด อันมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างสรรค์และดำรงไว้ซึ่งสังคมที่ยกระดับความเป็นอารยะแห่งการปกครองตนเองของประชาชนอยู่เสมอนั้น สำหรับประเทศไทยของเราในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ความล้มเหลวของร่างรัฐธรรมนูญยกแรก (นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานยกร่าง) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 และการกำลังยกร่างกันใหม่ในยกที่สองขณะนี้ (นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานยกร่าง) แม้จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ก็ยังดูน่ากังวลใจอย่างยิ่งว่าในที่สุดการผลิตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็จะไม่สามารถเป็นเครื่องมือนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้ไกลกว่าที่รัฐธรรมนูญในอดีต อาทิ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 ให้ไว้ โดยสาเหตุสำคัญหนึ่งก็คือความอ่อนด้อยในทางวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ทั้งในทางกระบวนการจัดทำและสาระของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญจะมีคุณประโยชน์หรือคุณค่าต่อสังคมไทยมากน้อยเพียงใดในอนาคตนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยกล่าวคือ “หากการจัดทำรัฐธรรมนูญมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าความไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่าใดแล้ว รัฐธรรมนูญไทยที่ได้ก็จะมีคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น”

 

วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

ข้อควรพิจารณาที่สำคัญในการนำประเด็นวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยก็คือคำถามที่ว่า “การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศใดๆและโดยการรองรับของรัฐธรรมนูญนั้น จะสามารถได้มาโดยอาศัยหลักการและกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่?” และ “ความเป็นวิทยาศาสตร์ของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญจะให้หลักประกันว่ารัฐธรรมนูญที่สร้างใหม่นั้น จะมีคุณประโยชน์ต่อสังคมยิ่งกว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่?” รวมทั้ง “ข้อเสนอที่อาศัยวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทยคืออะไรบ้าง?” ที่ควรให้ความสนใจ

ในการนำเสนอเพื่อตอบคำถามโดยรวม ข้าพเจ้าจะอธิบายภายใต้คำศัพท์สำคัญ คือ “วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” (หรือวิทยาศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย) เป็นคำที่ผู้เขียนลองบัญญัติขึ้นเอง (หากมีผู้อื่นเคยใช้เช่นนี้มาก่อนแล้วก็ขออนุโมทนาด้วย!)[1] อันหมายถึง “การเมืองแบบประชาธิปไตยที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์ในการสร้างสรรค์ให้เกิดและรักษาสภาวะที่ยั่งยืนของการเมืองแบบประชาธิปไตยดังกล่าว” และข้อเสนอต่อไปนี้อาจถือเป็นบททวนหนึ่งต่อบรรดานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา (การเมือง) เศรษฐศาสตร์ (การเมือง) และศาสตร์อื่นๆ ที่กำลังถูกใช้ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันนี้ก็ได้

ความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมโลกให้แตกต่างจากเดิมอย่างยิ่งในรอบสี่ – ห้าร้อยปีที่ผ่านมานั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ได้ให้โอกาสแก่ความสามารถของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์สังคมทั่วโลกอย่างเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากกว่าความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังที่จะพบอย่างสำคัญว่าการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย (= สถานที่ที่วิทยาการอันยิ่งใหญ่ตั้งอยู่) จำนวนมาก (แต่ต้องมีคุณภาพด้วย) จะช่วยแก้ปัญหาการด้อยพัฒนาประเทศได้มาก เพราะมหาวิทยาลัยล้วนให้ความสำคัญแก่ความรู้อันสุดยอดทั้งในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคม (หรือสังคมศาสตร์) ที่ถูกค้นพบหรือวิจัยแล้วนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศ

ในทางเปรียบเปรยมากขึ้นก็คือ ในฐานะที่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยก็กำลังใช้วิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา (การเมือง) เศรษฐศาสตร์ (การเมือง) และศาสตร์อื่นๆ อันเป็นผลผลิตจากสถาบันการศึกษาชั้นสูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศตะวันตก) เพื่อทำความเข้าใจปัญหาการเมืองไทยและเสนอทางออกต่างๆ รวมทั้งการจัดสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการอาศัยทฤษฎีการเมืองและการจัดการความขัดแย้งในสังคมของนักปรัชญาและนักคิดอันหลากหลายแนว อาทิ เพลโต, โทมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อค, ชาร์ลส เดอ มองเตสกิเออ, ฌอง-ฌาคส์ รูสโซ, คาร์ล มาร์กซ์, อับราฮัม ลินคอล์น, วูดโรว์ วิลสัน และ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ เป็นต้น นั้น การใช้หลักวิชาเหล่านี้ รวมทั้งการดูตัวอย่างจากหลายๆประเทศ ก็ล้วนตั้งอยู่บนฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์ และช่วยให้เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการเมืองไทยได้อยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามการอธิบายวิกฤตและทางออกทั้งหลาย และประสบการณ์ของประเทศต่างๆ เหล่านั้น ดูเหมือนจะมีมุมมองที่ยังมิได้อาศัยความเป็นวิทยาศาสตร์อันเป็นรากฐานของศาสตร์แห่งวิทยาการต่างๆ มาพิจารณาการเมืองไทยหรือใช้มันเพื่อเติมเต็มคุณภาพประชาธิปไตยอย่างเพียงพอ

การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงว่ามีแต่เพียงวิทยาศาสตร์หรือความเป็นวิทยาศาสตร์ (ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทฤษฎีของตนถูกต้องอยู่เสมอด้วย) เท่านั้น ที่นำพาชาวโลกในสังคมต่างๆ ไปพบกับความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่มิใช่วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งของมันก็คือ หลักคำสอนทางศาสนาที่วิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้หรือไม่ได้ดีเท่า แต่ทำให้มนุษย์และโลกธรรมชาติดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าร่วมกันก็จะยังเป็นที่พึ่งต่อไปได้อยู่ เพราะว่าวิทยาศาสตร์มักเน้นสิ่งที่เป็นความเจริญทางวัตถุ ในขณะที่ศาสนาให้สิ่งที่เป็นความเจริญทางจิตใจและจิตวิญญาณที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าถึงได้ไม่หมด และการยึดหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้นโดยไม่ใส่ใจศาสนาจึงเหมือนคนเป็นง่อย แต่หากใช้หลักศาสนาอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีพก็จะเป็นเหมือนคนตาบอด (ดังประโยคทองที่ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ เคยกล่าวว่า “Science without religion is lame, religion without science is blind.”) ความเป็นวิทยาศาสตร์กับศาสนาจึงสมควรเกื้อกูลต่อกันเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนและสันติภาพโลกในทุกมิติ รวมทั้งการแนบแน่นอยู่ในการเมืองแบบประชาธิปไตย

ในฐานะที่การเมืองและนิติรัฐย่อมไม่สมควรปราศจากการมีหลักศาสนารองรับหรือย่อมไม่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเพื่อความเป็นอริยรัฐนั้น และการเมืองในฐานะบริบทแห่งการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมโลกิยะที่ชาวโลกไม่สามารถปฏิเสธโลกดังกล่าวนี้ได้นั้น การเมืองก็ต้องมีความกระจ่างชัดในทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งในตัวมันเองด้วย และเช่นเดียวกันที่เราจะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ที่มีความก้าวหน้าในทางอารยธรรมในสมัยปัจจุบันที่เคยอยู่ในยุคมืดหรือด้อยพัฒนามาก่อน ต่างล้วนอาศัยหลักวิชาหรือกฎหรือทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับในการรังสรรค์การเมืองของประเทศ ฉะนั้น หากการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยจะเคร่งครัดต่อหลักการและวิธีการหรือกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ประชาชนก็จะได้สาระของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นวิทยาศาสตร์อันจะมีคุณค่าต่อสังคมและประชาชนอย่างยิ่งตามไปด้วย

 

วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คำถามสำคัญตามมาคือ อะไรคือ “วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ” ในการตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้าขออิงกับปรัชญาในทางวิทยาศาสตร์ความรู้อย่างน้อยสามสายธารที่สำคัญคือ[2]

  1. ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ว่าด้วยกระบวนการ (และวิธีการ) และเนื้อหาสาระที่มีความเป็นเหตุเป็นผล แต่ต้องสามารถพิสูจน์และสัมผัสได้จริง ปลอดจากค่านิยม และนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นสากล หลักการดังกล่าวนี้เรียกกันโดยรวมว่าปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ (Scientific-Logical Empiricism) หรือ อีกชื่อหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ ลัทธิปฏิฐานนิยมในทางวิทยาศาสตร์ (Scientific-Logical Positivism)
  2. ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือ องค์ความรู้ที่ต้องอาศัยการตีความ (Interpretative Science) ที่ไม่ปลอดจากค่านิยม ความรู้จะนำไปสู่การเห็นความจริงได้เพียงใด ก็เมื่อมีการตีความว่าหลักการและวิธีการแห่งความรู้นั้นมีความหมายเช่นไรและมีประโยชน์เพียงใดในทางวิชาการและการปฏิบัติในสังคมที่มีบริบทแตกต่างกัน
  3. ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ (Critical Science) มิใช่ต้องเชื่อตามทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้าเสนอไป แต่ต้องวิจารณ์ให้เห็นคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าของวิธีการและสาระในความรู้ และจุดอ่อนจุดแข็งของความรู้เหล่านั้นเพื่อปรับปรุงทฤษฎีก่อนหน้าให้ถูกต้องที่สุด[3]

ปรัชญาในทางวิทยาศาสตร์ความรู้ทั้งสามสายธารข้างต้นนั้น เราทราบกันดีว่าสนับสนุนอยู่ด้วยวิธีการและกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาทิ การตั้งคำถาม การกำหนดสมมติฐาน แนวทางการวิจัย การเก็บข้อมูล (การสังเกต การทดลอง การสำรวจ การวิจัยปฏิบัติการการสัมภาษณ์ การแสวงหาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียหรือคณะผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น) การแปลผล การวิเคราะห์ การตีความ การอภิปรายอย่างเป็นเหตุเป็นผล การพิสูจน์สมมติฐาน การวิพากษ์วิจารณ์ การสังเคราะห์ การประเมินคุณค่า และการสรุปผล อันมีไปถึงการสนับสนุนทฤษฎีหรือการล้มทฤษฎีเดิม หรือการสร้างทฤษฎีใหม่ และการนำผลวิจัยคือข้อมูลและความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์อยู่มาก และทำให้สังคมโลกในยุคมืดเปลี่ยนไปสู่ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และทวีปอื่นๆ ที่เดินตามหลักวิทยาศาสตร์ปฏิฐานนิยม

อย่างไรก็ตามในยุคที่เรียกกันว่ายุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modernity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา คือในช่วงทศวรรษ 1950s – 1960s นั้น ปรัชญาประจักษ์นิยมทางวิทยาศาสตร์ถูกโจมตีอย่างมากในความเคร่งครัดต่อวิธีการและข้อจำกัดในการเข้าถึงความจริงเชิงประจักษ์ในสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ แต่เชื่อกันโดยสายธารอื่นๆ ว่ามีความเป็นจริงตั้งอยู่ รวมทั้งการถูกโจมตีเรื่องการเน้นให้ต้องปลอดจากค่านิยมของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ แม้จะถูกวิจารณ์ในทางข้อจำกัดดังที่กล่าวมาแล้ว แต่สาระสำคัญที่ให้กติกาวิทยาศาสตร์ก็ยังคงอยู่และเป็นพี่ใหญ่ที่ครองความเหนือกว่า (Scientific Superiority) ในแวดวงปรัชญาแห่งศาสตร์ (Philosophy of Sciences) ในขณะที่แนวทางศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่ต้องอาศัยการตีความ และศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์นั้นมิใช่ปรัชญาหลักที่เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง แต่เป็นส่วนเสริมและถูกเสนอเพื่อใช้ขัดเกลาความก้าวหน้าอันควรของโลกวิทยาศาสตร์และสรรพศาสตร์ทั้งหลายในโลก จนในสมัยปัจจุบัน ปรัชญาหรือลัทธิประจักษ์นิยมวิทยาศาสตร์เองก็ได้ถูกปรับให้น่าเชื่อถือมากขึ้นว่าเป็นลัทธิประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสมเหตุสมผล (Critical-Rational Empiricism/Positivism) ด้วยแล้ว ความรู้นั้นจึงมีความน่าเชื่อถือในการบ่งชี้ความจริงหรือความจริงแท้ (ดูหมายเหตุท้ายบทความประกอบ)

ในฐานะที่ปรัชญาประจักษ์นิยมหรือปฏิฐานนิยมในทางวิทยาศาสตร์เชื่อในเรื่องที่ว่าความรู้ต้องมาจากเจตจำนงเสรี (Free will) มิใช่การกำหนดมุ่งหมายอย่างตายตัวหรือแน่นอน (อาทิ แบบพวก Determinism[4]) และยึดแต่หลักเหตุผลเท่านั้น แต่สมควรสัมผัสได้ พิสูจน์ให้เห็นจริงได้ และมาจากประสบการณ์จริง รวมทั้งทฤษฎีต้องรับใช้การปฏิบัติหรือปฏิบัติได้อย่างเห็นผลจริง (Praxis) ซึ่งจะว่าไปแล้วพุทธศาสนาของเราก็สอดคล้องกับความเชื่อในลัทธิความรู้นี้อยู่ไม่น้อยเลย

ดังนั้น วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ (เพื่อประชาธิปไตย) ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก ก็คือการใช้หลักการและวิธีการ หรือมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นสากลอยู่ในตัวโดยนัยสำคัญ มาช่วยจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีความถูกต้องมากที่สุด และสามารถสร้างผลคือคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมที่เป็นจริงเชิงประจักษ์ได้อย่างยิ่งนั่นเอง

 

ความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย

การจัดทำรัฐธรรมนูญไทยที่มีคุณภาพในทางประชาธิปไตยสูง จึงสมควรให้คุณค่าต่อปรัชญาประจักษ์นิยมวิทยาศาสตร์ที่เกื้อกูลจากศาสตร์แห่งการตีความและศาสตร์แห่งการวิพากษ์ประกอบด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าจากปรากฏการณ์ที่พบในเมืองไทยขณะนี้ พอจะสะท้อนได้ว่าเรากำลังอยู่ทั้งภายใต้และไม่อยู่ภายใต้การกระทำที่เป็นวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น การวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ของข้าพเจ้าจึงทำได้ในระดับหนึ่งกับสิ่งที่ชัดเจนอยู่บ้าง แต่หลายเรื่องก็ยังไหลลื่นไม่แน่นอนเสียทีเดียวภายใต้สถานการณ์ของการบังคับสังคมที่ดูค่อนข้างแน่นอน ข้อวิตกกังวลของข้าพเจ้าจึงมีความจำกัดในระดับหนึ่ง ดังจะนำเสนอต่อไปนี้

 

ประการแรก – สังคมไทยเคยประสบความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยประสบการณ์ของสังคมไทยเอง ในเชิงหลักการและการปฏิบัติทางการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งกันเองของประชาชนในทุกจังหวัดๆ ละหนึ่งคน และมีคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การกำกับของสภาร่างรัฐธรรมนูญจากฉันทามติของประชาชน ประสบการณ์เช่นนี้ ในทางศาสตร์ปฏิฐานนิยมแล้ว ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญตามหลักการสากลอันมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติได้ และส่งผลต่อมาให้วิทยาศาสตร์การเมืองไทยก้าวไปข้างหน้ากว่าอดีตอย่างมาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงนับเป็นนวัตกรรมแรกในรอบ 65 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ได้โยนทิ้งสิ่งที่เป็นประเพณีและกติกาอันล้าหลังที่ถ่วงรั้งการปกครองตนเองของประชาชนในเมืองไทยมาอย่างยาวนานได้จริง (แต่บางประการก็ได้แรงหนุนมาจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 และ 2534 ก่อนหน้า)

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะมิได้สมบูรณ์แบบคือมีจุดอ่อนอยู่บ้างในทางสาระ อาทิ เชิงการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามที่เหมาะสม ทว่าก็มีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างคับแก้ว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ภายใต้วิกฤตการเมืองไทยที่สะสมมาในรอบ 10 ปี คสช. ในฐานะองค์กรนำของแม่น้ำทั้งห้าสายและพลพรรคกลับปฏิเสธกระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่ต่อยอดแบบแผนดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ช่วงแรกของการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะกลัวและมีอคติต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชนมากเกินไป และต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ

 

ประการที่สอง – การมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลากหลายวิชาชีพที่มีนักนิติศาสตร์เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในทางอุดมคติ เพราะความหลากหลายที่ลงตัวจะช่วยให้รัฐธรรมนูญมีครบทุกแง่มุมของความสัมพันธ์ในสังคม อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบดังกล่าวหนักไปทางผู้เชี่ยวชาญแบบสหสาขาวิชาการ แต่ขาดการมีส่วนร่วมของนักปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีประสบการณ์ และอาจมีประสบการณ์ถึงระดับสามารถพัฒนาเป็นแนวทางเชิงปฏิบัติ หรืออาจถึงระดับแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองขึ้นได้ด้วย (Grounded Theory) สภาพที่เน้นผู้เชี่ยวชาญและวิชาชีพหรือกึ่งวิชาชีพ แต่ไม่มีประสบการณ์ตรงเข้ามาประกอบการจัดทำอย่างใจกว้างเช่นนี้ ไม่ต่างกับความเป็นนักเทคโนแครทการเมืองของคณะผู้ยกร่างที่เป็นมาตลอดสำหรับบางคนหรือชั่วคราวสำหรับบางคน แต่ก็ในกำกับของทหารและผู้ไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยแท้จริง ท่านเหล่านี้อาจจะเลือกเอาความเห็นใดๆ โดยอำเภอใจไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ อันจะทำให้สาระของรัฐธรรมนูญมีความเป็นวิชาการที่อาจจะล่องลอยและเป็นอุดมคติ หรือไม่เช่นนั้นก็ใส่เนื้อหาอันเป็นคุณค่าเทียมที่ผู้นั่งอยู่ส่วนบนของสังคมชื่นชอบ แต่ไม่สื่อถึงการมุ่งประกันคุณสัมฤทธิ์ของประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญจะให้ได้ต่อประชาชนส่วนใหญ่เท่าที่ควรจะเป็น

ไม่ต่างอะไรกับการแทนที่คำว่า “ประชานิยม” ด้วยคำว่า “ประชารัฐ” คำเก่าแก่ในเพลงชาติที่ฟังดูดี แต่ในทางที่เป็นจริงโดยทั่วไปก็คือ “ประชาล่าง” คือ ประชาชนอยู่ข้างล่างให้ผู้มีอำนาจรัฐข้างบนสั่งกำชับลงมาแบบเดิม จึงมิใช่ประชาธิปไตยที่เป็นวิทยาศาสตร์อันสัมผัสในคุณค่าแท้ของหลักการประชาธิปไตยได้ และแม้ว่าจะมีกระบวนการทำประชามติเสมือนให้คุณค่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนในตอนท้ายสุดว่าจะรับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ในภายหลัง กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อันทำให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยทั้งมวลอาจกระชุ่มกระชวยขึ้นบ้างก็ตาม แต่บทเรียนสำคัญสองประการของสังคมไทยในระยะหลัง คือการมีรัฐธรรมนูญที่กระบวนการยกร่างงดงามแต่ไม่มีประชามติแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กับ การมีรัฐธรรมนูญที่กระบวนการยกร่างไม่งดงามเท่าและก็มีประชามติที่ไม่งดงามนักแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (เพราะทำประชามติในภาวะกฎอัยการศึกถึง 35 จังหวัดของประเทศ) อันมิใช่รัฐธรรมนูญสมบูรณ์แบบทั้งคู่ และมีแนวให้เห็นแล้วว่าการทำประชามติในคราวใหม่นี้ ประชาชนทั้งประเทศยิ่งจะถูกจำกัดการแสดงความเห็นยิ่งกว่าสมัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เสียอีก ประชามติที่จะมีขึ้นจึงดูท่าจะเป็นไปอย่างวังเวง

จากประการแรกและประการที่สอง ข้าพเจ้าขอเปรียบเทียบคุณภาพของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมัยใหม่สองฉบับสำคัญที่ผ่านมาและฉบับที่กำลังยกร่างขณะนี้ ผ่านการพิจารณาเชิงวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยทั้งในเชิงกระบวนการและเนื้อหาสาระแห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่พิจารณาเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น ด้วยเกณฑ์เชิงปริมาณในห้าตัวชี้วัดและโดยองค์รวม (โดยประมาณการ) คือ

  1. การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกตั้งจากทั่วประเทศและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)
  2. ที่มาและองค์ประกอบ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (10 คะแนน)
  3. เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ (30 คะแนน)
  4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)
  5. การทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)

รวม 100 คะแนน ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบคุณภาพของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ตัวแบบ ในอุดมคติของรัฐธรรมนูญ การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกตั้งจากทั่วประเทศและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ
(20 คะแนน)
ที่มาและองค์ประกอบ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
(10 คะแนน)
เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
(30 คะแนน)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับรองรัฐธรรมนูญ
(20 คะแนน)
การทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ
(20 คะแนน)
รวมคุณภาพประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ
(100 คะแนน)
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 20 10 25
(จุดอ่อนของการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามที่เหมาะสม)
20 0 75
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 0 5
(ที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย)
20
(ให้คุณค่าอำนาจเผด็จการและลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน อาทิ วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง เป็นต้น)
0 15
(เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก 35 จังหวัด ในระหว่างการทำประชามติ)
40
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือ 2560 ที่กำลังจัดทำ 0 5
(ที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย และองค์ประกอบขาดผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองจริง)
20
(บทบัญญัติยังไม่ลงตัว แต่มีแนวโน้มการรักษาคุณค่าอำนาจเผด็จการและลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน อาทิ อาจยกเลิกหรือลดทอนคุณค่าของระบบการเลือกพรรค(ระบบปาร์ตี้ลิสต์) และยังเปิดช่องให้มีนายกที่มิใช่ สส.ก็ได้)
0 10
(จัดทำประชามติภายใต้อำนาจรัฐประหาร และมาตรา 44 ของรธน.ชั่วคราว พ.ศ. 2557)
35
หมายเหตุ : หากในประเทศเราจะได้มีการถกเถียงกันก่อนว่า การออกแบบการจัดทำรัฐธรรมนูญเช่นไรจึงเหมาะสมที่สุดและเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดก็จะทำให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูกดังที่กำลังทำกันอยู่ขณะนี้ อันเสี่ยงต่อการใช้ไม่ได้ผล และเสียเงินชาวบ้านมหาศาลโดยผู้รับผิดชอบไม่มีความผิด!?[5]

 

สรุป - รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีคุณภาพประชาธิปไตยมากที่สุด (ร้อยละ 75) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รองลงมา (ร้อยละ 40) และรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่าง (พ.ศ. 2559 หรือ 2560?!) มีคุณภาพประชาธิปไตยต่ำที่สุด (ร้อยละ 35 แต่อาจขยับเพิ่มหรือลดตามเนื้อหาที่ยุติจริง จนคะแนนสาระเพิ่มขึ้นและโดยรวมอาจได้คะแนนมากกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่ย่อมไม่เกินฉบับ พ.ศ. 2540) จึงพอจะประเมินได้ว่าองค์รวมของการจัดทำและแนวโน้มสาระของรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดขึ้น ยังไม่มีคุณภาพพอที่จะเป็นความหวังใหม่ในการส่งผลต่อความก้าวหน้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการเมืองไทยได้ เพราะกระบวนการสร้างสรรค์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่เพียงพอนั่นเอง และแม้จะใส่เนื้อหาให้ดูเป็นประชาธิปไตยมากที่เท่าจะทำได้ในสายตาคณะผู้ยกร่าง ก็ยังมีข้อจำกัดให้ทำได้ไม่เต็มที่ตามบรรยากาศของสังคมเผด็จการและอำนาจสั่งการของคณะผู้ปกครอง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นต้น (ดังตัวอย่างข้อเสนอหรือที่เรียกกันว่าใบสั่ง 10 ข้อ ของ คสช. ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรธน. ที่ประธานคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งเป็นสมาชิก คสช. อยู่ด้วย พยายามปลอบใจประชาชนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็ตาม) จึงย่อมส่งผลต่อการยอมรับและปรับใช้ในอนาคต

บทเรียนการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 นั้น มีประโยชน์ (แม้จะไม่สมบูรณ์ทุกด้าน) ประชาสังคมไทยเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในอนาคต จึงควรเรียนรู้และกลับไปใช้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของเราทั้งสองคราวนั้น ให้เป็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็โดยวิพากษ์จุดอ่อน-จุดแข็งในอดีตในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย (อย่างน้อยที่พอเป็นตัวอย่างให้ใช้และวิพากษ์ได้บ้างก็คือ ตามเกณฑ์ชี้วัดทั้งห้าที่ข้าพเจ้านำเสนอนั้น) เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นจริงในทางคุณภาพประชาธิปไตยยิ่งกว่าฉบับภายใต้ คสช.

 

ประการที่สาม (สืบเนื่องจากประการที่สอง) – การที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองชุดมิใช่ได้มาโดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่สะท้อนเจตจำนงร่วมอันเสรีของประชาชนแต่อย่างใด และตามที่ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยแห่งการใช้ความรู้เพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญในสังคมเสรีที่เปิดเผยและกว้างขวางมาแล้วในการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และมีน้อยลงสำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ดังที่กล่าวแล้วนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ การทำรัฐธรรมนูญได้จำกัดและคับแคบอย่างโจ่งแจ้งภายใต้อำนาจรัฐประหาร และแม้ว่าผู้จัดทำรัฐธรรมนูญจะมีการกระทำที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เช่น เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด ในระยะเวลาอันสั้น ทั่วถึง และขาดการรับฟังและถกเถียงกันโดยเสรีและอย่างกว้างขวางในที่สาธารณะ และประชาชนได้รับการคุ้มครองในการแสดงออกและเผยแพร่ความเห็นที่อาจไม่ตรงกับ คสช. แต่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าหรืออย่างเต็มที่ อันจะทำให้ข้อเสนอและความรู้ประกอบข้อเสนอไม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นถึงพริกถึงขิง (Severe Criticism) ทั้งคณะผู้ยกร่างอาจจะเลือกเอาความเห็นใดๆ ใส่ในรัฐธรรมนูญโดยอำเภอใจดังที่กล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญที่จะได้มาจึงขึ้นอยู่กับความเป็นตัวแทนประชาชนแบบสมมติของคณะผู้ยกร่างผู้เจียมตัวต่อ คสช. และเป็นของ คสช. มิใช่ของประชาชน เพราะมิได้ตั้งอยู่บนความผูกพันและความเป็นจริงของอำนาจประชาชน ลักษณะเช่นนี้เป็นวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง แต่เป็นวิทยาศาสตร์การเมืองเผด็จการที่น่ากลัวเพราะไม่ให้หรือมีความจำกัดในคุณค่าของการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน และจะทำให้บทบัญญัติออกห่างจากประชาชนในส่วนที่มีนัยสำคัญๆแห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ด้วยเหตุผลเสริมที่ว่า เผด็จการมักเป็นมิตรกับฝ่ายวิชาชีพ และนักวิชาชีพก็มักเน้นหลักวิชาการที่เรียนและฝึกมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็เพื่อความสำเร็จของงานในส่วนของตน และเพื่อความก้าวหน้าแห่งตนเฉพาะวิชาชีพนั้นๆ เป็นที่ตั้ง มากกว่าการทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวมอันยิ่งใหญ่ในพหุมิติแก่คนจำนวนมากที่สุดในสังคมอันเป็นอุดมคติสูงสุด ซึ่งฝ่ายการเมืองประชาธิปไตยจะมีประการหลังนี้ให้ได้มากกว่า และแม้การเมืองจะเป็นเรื่องการประนีประนอมที่อาจทำให้ความแม่นตรงของวิทยาศาสตร์หดหายไปได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะเราสามารถสร้างการประนีประนอมทางการเมืองบนฐานวิทยาศาสตร์ได้ นั่นก็คือ การยึดผลประโยชน์สูงสุดของสังคมในการเป็นสังคมแห่งการประนีประนอมโดยธรรมชาติให้เป็นเป้าหมายสำคัญ (เช่น ความยุติธรรม สันติภาพ สังคมแห่งความมั่งคั่ง และความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น) มิใช่การปรองดอง (ศัพท์แสลงหนึ่งของการประนีประนอม) เฉพาะกิจแบบที่กำลังปวดหัวกันอยู่ปัจจุบัน (ว่าจะเอาอย่างไรดี) และต้องทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะให้หลักประกันต่อเป้าหมายดังกล่าว รวมทั้งธรรมาธิปไตยอันเป็นมิตรกับวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยมวลรวมประชาชาติ (ขออนุญาตใช้ศัพท์ใหม่อีกคำหนึ่ง) อันหมายถึงมูลค่าโดยรวมที่สังคมโดยรวมจะได้รับอันเป็นผลจากการทำงานของระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยรองรับ

 

ประการที่สี่ – บทบัญญัติในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 กำหนดความจำกัดในทิศทางบทบัญญัติหรือล็อกสเป็กของรัฐธรรมนูญใหม่โดยปริยาย ให้ตอบสนองสาระทั้งสิบประการที่บัญญัติไว้ ซึ่งหลายประการเป็นประโยชน์ต่อธรรมาภิบาลของระบบการเมืองไทยในอนาคต แต่กลับไม่พบหลักการประชาธิปไตยสำคัญๆ ที่จะต้องยึดมั่นในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดตามข้อ 9 และ 10 และ วรรคสุดท้ายของมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) นี้ ที่บัญญัติให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมในเรื่อง (9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทําลายหลักการสําคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้” “(10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสําคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไปทั้งยังกำหนดตบท้ายด้วยว่าให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจําเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จําเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดําเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย

บทบัญญัติดังกล่าวเหล่านั้น อาจถูกนำไปใช้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สากล และมีอคติต่อระบบพรรคการเมือง ทำให้มีการติดขัดในการใช้อำนาจโดยชอบธรรมของรัฐบาล และอาจมีการจัดตั้งกลไกใหม่ๆ ที่แปลกประหลาดหรือนอกระบบสากลมาทำให้ไม่เกิดเสถียรภาพของประชาธิปไตยของประชาชนไทย (เช่น การออกแบบให้ประชาธิปไตยตัวแทนกับประชาธิปไตยทางตรงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน) หรือ การออกแบบกระบวนการที่ไม่เคารพอธิปไตยโดยทั่วไปของประชาชน โดยอาศัยอำนาจขององค์การเผด็จการจัดตั้งกึ่งราชการที่เรียกว่าองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาอิสระ ทั้งในแนววิชาชีพหรือไม่ใช่วิชาชีพและสภาการปกครองหรือปฏิรูปพิเศษที่มองโลกแบบคับแคบหรือตายตัว และบังคับประชาธิปไตยให้เป็นไปในแนวอำนาจนิยมดั้งเดิม สมัยก่อนยุคประชาธิปไตยและในยุคกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ

 

นอกจากนี้ ความจำกัดของแนวรัฐธรรมนูญยังมีเพิ่มขึ้น เมื่อล่าสุด คสช. ได้แสดงเจตนาต่อรัฐธรรมนูญใหม่ ดังข้อมูลจากสื่อมวลชนที่ว่า (http://www.prachatai.com/journal/2015/11/62522) “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้

  1. ตามที่คณะกรธ.ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่คณะกรธ. จะได้นำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
  2. คสช. พิจารณาแล้วเห็นดังนี้
    1. ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุม หรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้
    2. รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญ และจำเป็นเท่านั้น หากยาวมีรายละเอียดมาก จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศ หรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญจะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญ
    3. ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร
    4. บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมือง การปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถ ทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ
    5. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อน หรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมืองผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนในการสร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง
    6. เนื่องจากปัญหาวิกฤตหรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
    7. แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
    8. ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร
    9. ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือเผด็จการทางการเมือง
    10. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ”

ข้อเสนอของ คสช. ในข้อ 2.4 – 2.8 ล้วนมีความเป็นไปได้ที่สาระแห่งรัฐธรรมนูญ (หากคณะกรรมาธิการยกร่างได้ตอบสนองตามความเห็นเหล่านี้อย่างเต็มที่หรือเมื่อเวลาถึงจุดสำคัญปลายทางจะให้ความสำคัญพอๆ กับความเห็นจากฝ่ายอื่นๆ ได้จริง ดังที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแถลงเมื่อไม่นานมานี้) จะถูกประดิษฐ์ให้สอดรับหรือเบี่ยงเบนไปจากหลักการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยสากลก็ได้อยู่ไม่น้อย อาทิ ข้อ 2.5 นั้น น่ากลัวว่าเหตุการณ์ประชาธิปไตยนอกระบบแบบมวลมหาประชาชนของ กปปส. จะมีขึ้นได้อีก เพราะได้รับการสนับสนุนจากการอ้างอำนาจประชาธิปไตยของพลเมืองที่มีความรู้และความรับผิดชอบทางการเมือง แต่เป็นปฏิปักษ์กับการเมืองในระบบผู้แทนต่อไป (ทั้งๆ ที่ประชาชนเองก็เป็นเจ้าของและต้องใช้อำนาจทั้งสองทางให้เป็นประโยชน์แก่ตนทั้งมวล) และในข้อ 2.8 นั้น เป็นการเสนอให้ทหารออกห่างจากทหารอาชีพแต่เล่นการเมืองได้ อันขัดกันอย่างชัดแจ้งกับเจตนารมณ์จะสร้างประชาธิปไตยของ คสช. ที่ทหารต้องประกาศปฏิรูปตนเองให้เป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริงและตลอดกาลมากกว่า (โปรดเทียบเคียงกับข้อความที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 (ใน http://www.thairath.co.th/content/540660) ว่า “พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการได้พบกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ตนได้นั่งประชุมติดกัน จึงได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทย ซึ่งนายโอบามาบอกว่ายินดี เพราะไทยและสหรัฐฯ มีความเป็นพันธมิตรมายาวนาน ทอดทิ้งกันไม่ได้ ยินดีที่จะสนับสนุนไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตนได้ยืนยันว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน แต่ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ทราบว่าหัวหน้า คสช. ได้ส่งความเห็นนี้ไปยังประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) ก่อนได้พบกันที่ฟิลิปปินส์ตาม ข้อ 2.8 ด้วยนั้น เขาก็คงหัวร่อมิออก ร่ำไห้มิได้ เป็นแน่! แต่ฉะนั้น จึงไม่เลวเลยที่นายบารัก โอบามา ได้กล่าวไว้ด้วยว่า “ยินดีที่จะสนับสนุนไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย”

 

ประการที่ห้า – หัวหน้า คสช. (ตัวบุคคล - มิใช่ คสช. ทั้งคณะที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในตนเอง!) แสดงวิสัยทัศน์ในหลายวาระในเรื่องประชาธิปไตย ตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจและเป็นระยะๆ ต่อมาๆ ว่าอยากให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยสากลบ้าง ประชาธิปไตยสมบูรณ์บ้าง และ ประชาธิปไตยเฉพาะแบบไทยหรือแบบที่ปรับให้เหมาะกับสังคมไทยบ้าง รวมถึงการออกสารถึงประชาชนไทยที่ให้นายทหารมาอ่านแทนเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งดูมีความเป็นทางการมากอย่างยิ่งด้วยนั้น แต่แม้จะพูดหลายครั้งก็ยังดูคลุมเครืออยู่ดี ทั้งคำกล่าวระยะหลังๆ ก็คือเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่กล่าวกับประชาชนชาวบ้านยางกระเดา ต. ท่าเมือง อ. ดอนมดแดง จ. อุบลราชธานี ก็เช่นกัน ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “ประชาธิปไตยต้องเป็นสากล แต่ก็ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทยด้วย เหมือนการตัดเสื้อที่วัดตัวคนอื่น แล้วเอามาใส่กับตัวเรามันก็ไม่พอดี เสื้อตัวเดียวจะใส่กันทุกคนไม่ได้..” ซึ่งมีสาระที่ชัดเจนกว่าคำยืนยันแบบคลุมๆ กับประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ในระหว่างประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่เขาว่า “จะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน เพราะคำกล่าวเช่นนี้ (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558) มีปัญหาความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ

หัวหน้า คสช. เข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยสากลกับประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยเปรียบเสมือนการเอาเสื้อที่ตัดไว้ (แบบเดียว) สำหรับชาวต่างชาติที่เป็นสากลทั้งหลายมาให้คนไทยใส่ซึ่งย่อมเข้ากันไม่ได้ ฉะนั้นเขาจึงเสนอว่า “ประชาธิปไตยต้องเป็นสากล แต่ก็ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย” แต่อันที่จริงหลักคิดเรื่องประชาธิปไตยสากลนั้น หมายถึงว่าเมื่อการปกครองแบบประชาธิปไตยค่อยๆ พัฒนาขึ้นในโลกนับพันปีมาแล้วเพื่อแทนการปกครองแบบไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้น ประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยดังกล่าวอันหลากหลายของประเทศต่างๆ ในโลกในเวลาต่างๆ ได้ถูกสรุป (Inductive) อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นทฤษฎี คือ หลักการและวิธีการที่เป็นสากลของการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างสำคัญอยู่ชุดหนึ่ง (โดยประมาณ) และประเทศต่างๆ เหล่านั้นก็พยายามทำให้หลักการสากลมันดีขึ้นๆ อีกจากการประสบการณ์ในทางปฏิบัติที่ป้อนกลับเข้าไป

ส่วนประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยมาก่อน ก็พยายามนำมันไปบ้างใช้ เพื่อสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของตนแทนของเก่าที่ไม่เหมาะสม คือทำการตัดเสื้อเอาเองเท่าที่จะสามารถทำได้ในบริบทของประเทศใดๆ โดยอาศัยทฤษฎี (หลักการและวิธีการ) สากลนั้น ไม่ใช่ไปเอาเสื้อคนอื่นที่ตัดไว้เสร็จแล้วจากยุโรปหรืออเมริกามาใส่ให้กับตัวคนไทยแต่อย่างใด ทั้งที่ประเทศเหล่านี้เขาก็สร้างประชาธิปไตยแนวสากลจากความไม่มีประชาธิปไตยมาก่อน (แต่ก็เถอะ หากยังยึดเรื่องเสื้อคนละแบบกัน มนุษย์เราก็ไม่ได้มีเสื้อขนาดเดียว แต่มีเบอร์ S, M และ L ที่ใช้กันทั่วโลกมิใช่หรือ?) เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีประชาธิปไตยสากลที่เหมาะสมกับไทยหรือแบบไทยๆ แต่อย่างใด สิ่งที่จะมีก็คือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย” หรือจะพูดก็ได้ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากลของประเทศไทย” เพราะความเป็นเฉพาะย่อมมีได้ในแง่ที่ว่าระบบการปกครองนั้น มันอยู่ต่างสถานที่และคนละวัฒนธรรมกันทั้งนั้น ประเทศใดๆ จึงอาจจะมีระบบเฉพาะของตนที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือไม่เป็นไปตามสาระสำคัญแห่งหลักประชาธิปไตยสากล เช่น มีการปฏิบัติบางประการที่ในระบบประชาธิปไตยเขาไม่ทำกันแต่ตกทอดหรือติดตัวมาจากอดีต แต่เมื่อสังคมโลกเชื่อมโยงกันและเรียนรู้ร่วมกันและใช้วัฒนธรรมใหม่ร่วมกันมากขึ้นๆ ตัวมาตรฐานกลางก็ย่อมถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยึดถือร่วมกันในสังคมโลกในภายหลัง ดังที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันได้รับการระบุและรักษามาตรฐานสากลไว้โดยสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (International Parliamentary Union, IPU) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิก [หรือดังตัวอย่างนอกประเด็นประชาธิปไตย คือเรื่อง “มวยไทยไฟต์” (Thai Fight) ที่พัฒนาขึ้นเป็นสากลในขณะนี้ จากต้นแบบมวยไทยของประเทศไทย โดยประเทศทั้งหลายในเอเชียและยุโรปที่เข้าร่วมเวทีมวยเช่นนี้ได้เอาวิถีมวยไทยที่ถูกยกขึ้นเป็นสากลนั้น ไปสอนนักมวยของเขาหรือมาเรียนในประเทศไทย ไม่มีใครชกมวยไทยสากลหรือไทยไฟต์โดยไม่มีเตะ เข่า และศอก และไม่มีประเทศไหนตะแบงว่าขอฝึกและชกมวยไทยแบบเฉพาะของตน แต่กลับไปขึ้นชกบนเวทีมวยไทยไฟต์ที่มีกติกา (หลักการและวิธีการ) ที่เป็นสากลร่วมกันในบรรดาประเทศทั้งหลายไปแล้วนั้น (ค่ายนักชกในยุโรปและประเทศจีนบางแห่งเคยเป็นตัวอย่างที่ขอยกเว้น แต่ในที่สุดก็ยกเลิกเพราะมันไม่ใช่มวยไทยไฟต์)]

 

ประการที่หก – การจัดวางให้ประเด็น (หรือข้อยกเว้น) เฉพาะสังคมไทยที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยกว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากลที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า ดังที่พบข้อเสนอของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองคณะดังนี้

  1. การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก สส. หรือไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนก็ได้นั้น ขอวิพากษ์ยาวพอสมควรก็คือ แม้จะกำหนดให้มีเสียง สส. ยกมือสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ก็ตาม เป็นการใช้ตรรกะพิลึกหรือตรรกะวิบัติ เพื่อเบี่ยงเบนว่าปัญหาการเมืองไทยคือนายกรัฐมนตรีจาก สส. อาจไม่ใช่คนดีและเก่งจริงหรือบริหารประเทศไม่ได้ดีเท่าคนนอก และจะไม่สามารถบริหารประเทศหากเกิดวิกฤตการเมือง รวมถึงว่าอย่างไรเสีย สส. ก็ยังเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรีดังเช่นที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นไว้คือ อำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่ได้รับการยอมรับโดยชนชั้นนำต่างหาก การจะแก้วิฤตการเมืองไทยในระยะยาวได้ก็คือการยอมรับอำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่ต้องใช้อย่างมีธรรมาภิบาลทั้งในสามอำนาจสำคัญ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการการ

    การกำหนดกติกานอกหลักการประชาธิปไตยดังกล่าว อนุมานได้ว่าเป็นการทุจริตต่ออธิปไตยของประชาชนคือ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะทำให้สิ่งที่ผิด “ธรรม” ให้ถูกต้องโดยบัญญัติไว้ในกฎหมายแม่บทไปโดยปริยายจึงขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ทั้งที่ประเทศไทยภายใต้โลกาภิวัตน์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า นายกที่ผ่านการมีส่วนให้ประชาชนได้เลือกสามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของประชาชนและสำเร็จผลมากกว่านายกที่มาจากการยึดอำนาจหรือการแต่งตั้ง ทั้งประเทศของเราก็เคยมีประสบการณ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น สส. รักษาการนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเมื่อบ้านเมืองมีวิกฤตมาแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยการทำรัฐประหาร บ้านเมืองก็เดินไปได้ เพียงแต่ปัญหาที่ผ่านมารักษาการนายกก็ถูกปฏิเสธเสียอีกเพราะฝ่ายต่อต้านไม่ปฏิบัติตามกติกาประชาธิปไตยกันจริงๆ

    การจะให้โอกาสบุคคลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเป็นการฝืนวิวัฒนาของสังคมที่มุ่งไปสู่การเป็นสังคมที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ตามแนวทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory) ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างสูง[6]

    การยึดแบบแผนนายกคนนอกแบบไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์รับใช้เผด็จการแบบสังคมเก่าสนับสนุนนั้น ยังเข้าข่ายเป็นข้อกำหนดเชิงโครงสร้างของอำนาจตามลัทธิเจตจำนงตายตัว (Determinism) อันเป็นวิทยาศาสตร์เผด็จการที่มักจะกำหนดจากเบื้องบนหรืออำนาจพิเศษและไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยนิยมกันในสังคมปิด เช่น ในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หรือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมิได้เคารพต่อเจตจำนงอันเสรีของประชาชนในสังคมเปิดที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า เช่น ประเทศไทยในปัจจุบัน

    นายกรัฐมนตรีนอกกติกาประชาธิปไตยสากล มีแนวโน้มที่จะมาโดยกระบวนการครอบงำทางอุดมการณ์แบบสังคมเก่าและการชี้นำพิเศษ และอาจประกอบการสร้างสถานการณ์ให้ประเทศเกิดวิกฤตเพื่อเข้าทางข้อกำหนดอัปลักษณ์ดังกล่าวเพื่อใช้แทนนายกแบบมาตรา 7 (การปฏิบัติตามประเพณีการปกครองหากไม่มีมาตราใดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนำมาใช้ได้) หากเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริง เราก็อาจต้องเรียกการปกครองของไทยเสียใหม่ให้เต็มที่ไปเสียเลย (เถิด) ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและนายกรัฐมนตรีจะเป็น สส. หรือไม่ก็ได้” นายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ย่อมไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนหรือถึงคราวอาจจะข่มขู่ สส. ก็ได้ หรือนั่งอยู่บนหัวประชาชนมากกว่าฟังเสียงชาวบ้านด้วยซ้ำไป แถมอาจทำให้ฝ่ายค้านเป็นเบื้อ ด้วยนึกถึงตนเองมากกว่าประชาชน เพราะหวาดกลัวอำนาจนอกประชาธิปไตยของประชาชน

    ความน่าวิตกมากขึ้น สำหรับนายกรัฐมนตรีที่มีสถานภาพคนนอกอธิปไตยของประชาชนเช่นนี้ ก็คือความเป็นลักษณะด้อยในทางสากล ซึ่งในทางพันธุกรรมเขาต้องกำจัดทิ้ง เพราะจะนำพาให้สังคมอยู่รอดและสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศอย่างมีคุณภาพไม่ได้ มิใช่ลักษณะเด่นที่จะสงวนหรือผ่าตัดพันธุกรรมเพื่อเอามาใช้โดยทึกทักเอาว่าเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน หรืออ้างว่าจะรองรับวิกฤตใดๆ ทั้งๆ ที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้ปัญญาวิปลาส แต่โดยสติปัญญาปกติ และไม่ต้องใช้การตีความที่อาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยไม่ลืมหูลืมตา

    มีช่องทางเดียวที่ข้าพเจ้าผู้มีส่วนกำหนดนายกรัฐมนตรีเช่นประชาชนอื่นๆ ยอมได้ก็คือ เมื่อเกิดสภาวะคับขันของประเทศที่นายกรัฐมนตรีคนเดิมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว บุคคลที่มิใช่ สส. จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากเกิดวิกฤตนายกหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะบริหารงานไม่ได้จริง ในระหว่างนั้นก็สามารถเขียนกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกจาก สส.ทำหน้าที่ชั่วคราวไปก่อน แต่หากสภาผู้แทนราษฎรไม่มีหรือทำหน้าที่ไม่ได้ นายกเช่นนั้นก็ต้องมาโดยประชามติของประชาชนทั้งประเทศ! (ในสังคมสารสนเทศและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชามติสามารถจัดทำได้ภายในไม่เกินหนึ่งเดือน) เป็นต้น

    นอกจากนี้ ประเด็นนายกรัฐมนตรีนอกระบบดังกล่าว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 อีกด้วย เพราะกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่มี “กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดําเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงําหรือชี้นํา โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
     
  2. การมีแนวโน้มว่าอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของและมอบแก่รัฐประชาธิปไตยอย่างสมัครใจอันสอดคล้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์การเมืองเสรี จะถูกจำกัดและไม่สามารถใช้ได้เป็นการทั่วไปด้วยการอาศัยอำนาจอื่นที่ด้อยกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือด้วยหลักวิชาชีพอื่นที่อาจอ้างกฎเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นปฏิปักษ์หรือมิได้เกื้อกูลต่อความเป็นวิทยาศาสตร์ของการเมืองประชาธิปไตย ดังที่จะพบเห็นปัญหาจากการทำหน้าที่ของวุฒิสภา และองค์การอิสระบางแห่ง และ การเมืองภาคประชาชนแบบอนาธิปไตยที่ผ่านมา (เช่น โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส.) เป็นต้น จะได้รับการให้อำนาจพิเศษหรือสนับสนุนจากอำนาจของเครือข่ายอำนาจรัฐเดิมไปในทางล้มล้างมากกว่าขัดเกลาและเคารพต่อองค์การการเมืองประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของประชาชน อันจะทำให้กลไกประชาธิปไตยขัดแย้งกันมีผลให้องค์รวมแห่งระบอบติดขัด ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ได้ดี

 

ประการที่เจ็ด – การสร้างประชาธิปไตยโดยทหารไทยจะทำให้ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นสากลไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะความเป็นวิทยาศาสตร์ของทหารที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการเป็นทหารอาชีพ แต่เมื่อทหารยกเลิกความเป็นทหารอาชีพมาทำงานการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ตนไม่ถนัด เราก็จะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ดังคำกล่าวที่ดูไม่เกินเลยที่ว่า “ต้นกล้วยย่อมไม่ออกลูกเป็นแอปเปิล” ฉันนั้น (ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะใช้คำว่า “งาช้างย่อมไม่งอกออกมาจากปากสุนัข” ซึ่งดูแรงเกินไป) แต่ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญไทยควรจะสำเร็จได้อย่างสำคัญ ก็โดยการสนับสนุนของทหารอาชีพเพื่อร่วมมือกับรัฐบาลประชาธิปไตยในการส่งเสริมการปฏิบัติตามและปกป้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมากกว่า ดังที่พบเห็นกันในประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทย

แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ทหารไทยเคร่งครัดต่อการเป็นทหารอาชีพที่เคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประชนอย่างน่ายกย่องสรรเสริญเล่า? สิ่งจูงใจเหล่านั้นคืออะไร (การเน้นทหารพัฒนา หรือ การให้กองทัพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือองค์การอิสระหาเลี้ยงตนเองแทนการใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือการผลิตอาวุธที่ทันสมัย หรือการรบอยู่เสมอกับศัตรูนอกประเทศหรือกระทั่งนอกโลก  - มนุษย์ต่างดาว!?) และจะต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิชาชีพทหาร ภารกิจของทหาร การใช้งบประมาณ และการใช้อำนาจของทหารเพื่อพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยและเคารพรักประชาชนอย่างแท้จริง (ในฐานะประชาชนคือผู้ให้เงินเดือนและเป็นนายที่เป็นรูปธรรมของทหาร) นี่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการปฏิรูปทหารและกองทัพอย่างถึงรากฐาน พร้อมๆ กับการปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่กำลังพัฒนาข้อเสนอกันอย่างขะมักเขม้นในขณะนี้

 

ประการที่แปด – การสนับสนุนให้หลักการและวิธีการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์) จะสามารถนำมาใช้ได้จริงสำหรับการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทยนั้น หลักการและวิธีการสากลดังกล่าวที่ต้องนำมาใช้คืออะไรบ้างนั้น ท่านผู้รู้จำนวนมากย่อมทราบดีแล้ว ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่ขอสรุปยืนยันประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

  1. รัฐหรือประเทศสังคมประชาธิปไตยย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยการปกครองตนเองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
  2. อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในแผ่นดินเป็นของประชาชนอำนาจอื่นใดจะอยู่เหนือกว่าและล้มล้างการปกครองตนเองของประชาชนมิได้
  3. รัฐย่อมอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความงอกงามและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมประชาธิปไตย
  4. ระบอบประชาธิปไตยต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยต่อไปนี้
    1. การให้หลักประกันแก่ประชาชนในทางสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม
    2. รัฐเป็นทั้งนิติรัฐและนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎหมายได้มาโดยกระบวนการตรากฎหมายที่ชอบธรรม
    3. การปกครองโดยเสียงข้างมากและมีการจัดการธรรมรัฐอย่างมีคุณธรรมในความเห็นข้างน้อยอันเป็นประโยชน์สุขของมหาชน
    4. รัฐบาลมีอำนาจบริหารประเทศตามสัญญาประชาคมที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
    5. การถ่วงดุลและส่งเสริมกันในภารกิจเพื่อส่วนรวมของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่มีเป้าหมายเพื่อการบรรลุประโยชน์สุขของประชาชนและเสถียรภาพทางการเมืองส่วนรวม
    6. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของประชาธิปไตย ความรักและความสามัคคีของคนในชาติ

 

ประการที่เก้า – วัฒนธรรมและพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยย่อมจะส่งเสริมการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยด้วย แต่วัฒนธรรมการเชื่อคนข้างบน การไม่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย การยอมรับความไม่เสมอภาค วัฒนธรรมอุปถัมภ์ พฤติกรรมการขายเสียง ความหลงใหลในการเลือกพรรคการเมืองแบบภูมิภาคนิยมมากกว่าการพิจารณาที่อุดมการณ์เพื่อสาธารณะ นโยบาย และสมรรถนะในการบริหารประเทศของพรรคการเมือง เป็นต้น ล้วนขัดต่อการวิถีวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และจะไม่ช่วยให้ประเทศของเราได้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นจริง

 

ประการที่สิบ – การปรับตัวรัฐบาลของ คสช. หรือในกำกับของ คสช. (เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว) ให้เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริง (Pure Provisional Government) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมที่กำลังแตกแยกอย่างมหันต์ เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยได้ทำงานบนการเคารพความเป็นจริงของพลวัตประชาธิปไตย โดยอย่างน้อยสมควรดำเนินการต่อไปนี้ (แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริงจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม)

  1. จัดประชุมตัวแทนคู่ขัดแย้งสำคัญในทางการเมืองในรอบ 10 ปี คือ พรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. ฝ่ายหนึ่ง กับ พรรคเพื่อไทย และ นปช. อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อลงนามอย่างสันติวิธีในสัญญายุติศึกการเมืองนอกระบบเพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างถาวร โดยมีสักขีพยานจาก คสช. องค์การหรือองค์คณะ คณะกรรมการสำคัญระดับชาติของประเทศ ผู้แทนสหประชาชาติและผู้แทนประชาคมอาเซียน (จะเสียหน้าประชาคมโลกในเรื่องนี้บ้างก็ยอมไปเถอะครับ) แทนการถูกบังคับให้ต้องยอมรับการสร้างประชาธิปไตยภายใต้กระบอกปืน
  2. เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากจังหวัดต่างๆ แนวเดียวกับที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อย่างเป็นอิสระ เพื่อรับภาระการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ และโดยปราศจากการแทรกแซงของ คสช. อย่างสิ้นเชิง และในทางที่สนับสนุนให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นมากก็คือ เปิดทางให้ประชาชนกลุ่มและพรรคการเมืองๆ ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน และ สสร.ได้พิจารณา
  3. จัดทำประชามติหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น และดำเนินการต่อไปตามกติกาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือทบทวนใหม่ให้ประชาชนยอมรับอย่างชัดเจนว่า หากรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อเปิดประตูประชาธิปไตย (การเลือกตั้ง) โดยเร็ว

 

สรุป

ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ควรถูกมองข้าม แต่สามารถนำมาใช้ประกอบการจัดทำรัฐธรรมนูญได้ในหลายแง่หลายมุม แต่ขณะนี้กลับมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะแม้เราจะมีประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเอง แต่ก็ไม่มีการสืบทอดและพัฒนาประสบการณ์วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของเราให้เป็นหลักการที่มีความแม่นยำยิ่งขึ้น ด้วยสาเหตุหลายประการคือ ความจำกัดของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญรับผิดชอบภายใต้บรรยากาศการปกครองของคณะรัฐประหาร การกำหนดสเป็กรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 การไม่เป็นประชาธิปไตยของ คสช. และท่าทีของหัวหน้า คสช. ต่ออนาคตประชาธิปไตยวิสัยทัศน์อันมิใช่ประชาธิปไตยสากลแท้ของหัวหน้า คสช. การจัดวางให้ประเด็นเฉพาะของสังคมไทยที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยกว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากลที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า การสร้างประชาธิปไตยโดยทหารไทยจะทำให้ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นสากลไม่ได้จึงจำเป็นต้องยืนยันหลักการและวิธีการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานสากล แต่ก็จำเป็นต้องรองรับด้วยวัฒนธรรมและพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยจะส่งเสริมการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นวิทยาศาสตร์ และประการสุดท้าย หากเป็นไปได้ก็คือ การปรับตัวให้รัฐบาล คสช. หรือในกำกับของ คสช. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริง เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในการจัดทำรัฐธรรมนูญ การฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทย และการหวนคืนสู่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องกว่าที่ผ่านมามีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญที่สมควรเกิดขึ้น อันเป็นการปรองดองในเบื้องแรกเสียก่อนก็คือการลงนามในสัญญาสงบศึกร่วมกันอย่างสันติวิธีของคู่ขัดแย้งโดยมีสักขีพยานระดับชาติ แทนการถูกบังคับให้ต้องยอมรับการสร้างประชาธิปไตยใต้กระบอกปืน หากเป็นรัฐบาลเช่นนั้นได้จริงก็จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ และ ความเป็นจริงของการเลือกตั้งที่ทุกคนยอมรับและรอคอย

ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากเราตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้และแสดงออกร่วมกันอย่างแข็งขัน เครื่องมือของระบอบประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และกลไกต่างๆ ที่รองรับโดยหลักการและวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยสากล ก็จะถูกสร้างอย่างมีความชอบธรรม ได้คุณภาพและถูกใช้ได้อย่างมีพลานุภาพต่อการยกระดับอารยธรรมของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยั่งยืน

หมายเหตุท้ายบทความ

  1. ปรัชญาประจักษ์นิยมหรือปฏิฐานนิยมทางวิทยาศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว ในสมัยต้นคริสตศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1907) โดยเหล่าสมาชิกผู้บุกเบิกของสำนักคิดเวียนนา (Vienna Circleหรือ Wiener Kreis) แห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย (มีบุคคลภายนอกมาสมทบบ้าง อาทิ คาร์ล ป็อปเปอร์) ต่อมามีการแตกตัวไปยังหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี (ที่เบอร์ลิน มี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เข้าร่วม) ฝรั่งเศส และ โปแลนด์และต่อมาขยายไปยังสหรัฐอเมริกา (หลังจาก อด็อฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเยอรมันจะขยายอำนาจไปทั่วยุโรปในช่วงทศวรรษ 1930s)

    ข้าพเจ้าเองได้มีโอกาสสัมผัสการดำเนินงานในแวดวงชาวปรัชญาประจักษ์นิยมทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และพบว่าสำนักคิดเวียนนาต้นกำเนิดได้กลับมามีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบันในรูปสถาบัน “Institut Wiener Kreis” แต่ก็ปรับตัวไม่น้อยท่ามกลางโลกแห่งความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง (อาทิ การตรวจสอบตนเองในเรื่องจุดยืนทางการเมืองและปรัชญาของสำนักคิดเวียนนา (Der Wiener Kreis Politische und Philosophishe Postionen) ที่กำลังดำเนินการกันในนั้น) เมื่อคราวที่ข้าพเจ้าเยือนกรุงเวียนนาประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
     
  2. ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ประชาไทที่ได้เผยแพร่บทความชิ้นนี้ของผู้เขียนในชื่อ “ความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 (ดูประกอบใน https://prachatai.com/journal/2015/11/62602) การนำเสนอในครั้งนี้ ภายใต้ชื่อบทความ “วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการจัดทำรัฐธรรมนูญ: ข้อพิจารณาในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ยังคงเค้าโครงและเนื้อหาเช่นเดิม อันเป็นการบอกเล่าปรากฏการณ์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่นำเสนอมุมมอง และให้ความเห็นถึงข้อพึงพิจารณาในขณะนั้น ด้วยเห็นว่ายังมีคุณค่าแก่การเรียนรู้และเพื่อประโยชน์ในการสร้างฉากทัศน์และกลยุทธ์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังมีการเคลื่อนไหวในขณะนี้ (พ.ศ. 2566)  แต่กระนั้นก็ได้ตัดข้อความที่ไม่จำเป็นออกบางแห่ง และเพิ่มเติมรายละเอียดบางประการอีกบ้าง ในส่วนที่เป็นปรัชญาในทางวิทยาศาสตร์ วิถีของการเปลี่ยนแปลงสังคม และมุมมองในการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ในรูปฟุตโน๊ตที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม

 

อ้างอิง

  • โชคชัย สุทธาเวศ. ความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2015/11/62602)
  • ปรีดี พนมยงค์. สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยคืออะไร? สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/435
  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540.
  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550.
  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560.
  • Kuhn, Thomas. (1962). The Structure of Scientific Revolutions. USA:  University of Chicago Press.
  • Neurath, Otto and Carnap, Rudolf and Morris, Charles W. (1969) (1938). Foundations of the Unity of Sciences: vol. 1, Chicago: The University of Chicago Press.
  • Popper, Karl (1962). Conjectures and Refutations: The Growth of Scientific Knowledge. London and New York: Basic Books.

[1] นายปรีดี พนมยงค์ เคยนำเสนอเรื่อง สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ถือเป็นชุดความคิดหนึ่งที่ควรเรียนรู้เช่นกัน โปรดอ่านเพิ่มเติมในปรีดี พนมยงค์ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยคืออะไร

[2] ดูประกอบในงานของนักปรัชญาแห่งศาสตร์ อาทิ Kuhn (1962) Popper (1962) และ Neurath, Carnap and Morris (1969)

[3] รวมถึงเพื่อปฏิวัติหรือปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

[4] หรือนิยัตินิยม

[5] ข้อพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป การได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ว่าจะมาโดยประชาชนในจังหวัดนั้นเลือกตั้งผู้สมัครเป็น ส.ส.ร. โดยตรง หรือผู้สมัครเป็น ส.ส.ร. เลือกตั้งกันเอง เป็นสองทางเลือกที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยทั้งคู่ แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อยของแต่ละทางเลือก – สมควรหารือกันในทางอุดมคติและปัญญา ในทํศนะผู้เขียน การเลือกตั้งโดยตรง ผู้ได้รับการเลือกตั้งจะได้อำนาจจากประชาชนโดยตรงในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รับรองผู้จะเป็น ส.ส.ร. แต่หากใช้ทางเลือกที่ให้ผู้สมัครเป็น ส.ส.ร. เลือกตั้งกันเอง คณะส.ส.ร. ที่ได้จากทั่วประเทศก็สมควรได้รับการรับรองจาก สส. ก่อนการทำหน้าที่ และหากจะมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง ก็เป็นไปได้ แต่ควรอยู่ในฐานะคณะที่ปรึกษาที่มีอำนาจให้ข้อเสนอแนะในทางวิชาการและข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่พึงมีสิทธิลงคะแนนเสียง (Vote) หากต้องมีการตัดสินใจในเรื่องที่เห็นขัดแย้งกันที่ต้องยุติด้วยการลงคะแนนเสียง โดยให้ที่ประชุมที่รับมอบอำนาจมาจากประชาชนเป็นใหญ่

[6] แต่กระนั้น ในเชิงวิถีของการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น เนื่องจากรัฐเป็นเรื่องของอำนาจและการจัดการอำนาจในสังคมมนุษย์ รัฐและส่วนประกอบย่อยจึงมิใช่จะวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดอย่างเหมาะสมที่สุด (Survival of the Fittest) อย่างเป็นไปเองของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection) เพียงถ่ายเดียว แต่ย่อมอาศัยปัญญาในการจัดการตนเองและสภาพแวดล้อมเพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเป็นพิเศษด้วย ประกอบกับประเทศต่างๆในทุกวันนี้ กำลังเป็นสังคมสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ที่มนุษย์ผ่านประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์มาอย่างหลากหลายในการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นไปเช่นไร กระทั่งมีการพัฒนาพลังทางปัญญาใหม่ๆที่ได้จากการสังเคราะห์ความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง และภายใต้สังคมเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหรือสังคมดิจิตัลด้วยแล้ว ผู้นำและสมาชิกที่เป็นอริยชนในสังคมจึงสามารถเดินสายกลางระหว่างการปฏิวัติ (Revolution) และการปฏิรูป (Evolution) ด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสังคมให้รวดเร็วราวการปฏิวัติแต่อย่างสันติวิธี (Peaceful-Revolutionary Change) ได้ดียิ่งขึ้น