ที่ผ่านมา อจ.ปรีดีท่านได้พยายามทำเพื่อชาติบ้านเมืองตลอดเวลา แต่ก็ยังถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย ไม่ทราบว่าพี่เคยเห็น อจ.ท้อใจหรือเคยบ่นให้ลูก ๆ ฟังบ้างหรือไม่
อันนี้รู้สึกจะเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ท่านมีอยู่ คือท่านไม่เคยแสดงความท้อใจและไม่เคยบ่นเลย จนกระทั่งหลายต่อหลายคนเคยพูดเหมือนกันว่า ถ้าเขาโดนสภาพเช่นเดียวกับท่านอาจารย์ก็คงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่คณพ่อพี่ถึงแม้จะถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายยังไง ท่านก็ยังมีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะทำอะไรเพื่อความเจริญของบ้านเมือง จนกระทั่งไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว ท่านก็ยังพยายามเขียนข้อเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ในบั้นปลายชีวิต แม้เรื่องกรณีสวรรคตก็ไม่เคยบ่นให้ลูกฟังนะ ว่าเออนี่เขาทำกับเราอย่างนี้นะ ต้องไปแก้แค้นไม่เคยพูดเลยสักคำ ไม่เคยบ่นเลย
คุณแม่มีส่วนในการช่วยเหลือคุณพ่อมากไหม
มีส่วนอย่างมากเลยค่ะ ครั้งเมื่อตอน 24 มิถุนายน ตอนนั้นคุณแม่ไม่มีส่วนเลย เพราะยังอายุน้อยแล้วก็เพิ่งมีลูก ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจในเรื่องการเมืองหรืออะไร แต่ทราบว่าหลังจากนั้นคุณแม่ก็มีส่วนช่วยมาก คุณแม่เป็นคนที่รับคำบอก (Dictate) ได้รับความรู้ต่าง ๆ จากคุณพ่อไม่น้อย จนมีความคิดทีละขั้น ๆ แต่ที่รับชะตากรรมร่วมกันก็ตอนถูกเนรเทศ ในสมัยเสรีไทยก็มีส่วนมาก มีงานอะไรก็ให้คุณแม่ช่วย มีการปรึกษาพูดคุยแลกเปลี่ยนให้กำลังใจกัน จนมาถึงเหตุการณ์สวรรคตและเมื่อคุณแม่ถูกจับ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณแม่ได้เพิ่มความคิดจนได้ยืนอยู่เคียงข้างคุณพ่อในที่สุด
การปลูกฝังความรักชาติหรือรักความเป็นธรรมนี่ไม่ทราบว่า อจ.ปรีดีท่านมีวิธีการปลูกฝังลูกอย่างไร
เรื่องความคิดรักชาตินี่คิดว่าเราได้เห็นจากตัวท่านเอง และสิ่งที่ท่านบอกให้เราเขียน ทำให้เราได้เรียนรู้ได้รับรู้ เวลาพูดคุยกันนี่เราก็สังเกตเห็นได้ว่า ท่านพยายามจะถือเอาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองสำคัญกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ดังจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านเคยพูดว่าจะไม่ยอมให้ประเทศไปเป็นเมืองขึ้นของใครทั้งสิ้น ท่านเองก็เคยต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติมาแล้ว ความคิดอันนี้ของท่านรู้สึกจะรุนแรงมาก คือว่าตลอดมาก็ได้ทำทางด้านนี้ จะให้ไปยอมคนอื่นโดยต้องเสียผลประโยชน์ของประเทศนี่ยอมไม่ได้ หลายครั้งที่ท่านเคยพูดว่า “ไม่มีหรอกชาติไหนที่จะยอม เขาต้องนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศเขาสำคัญกว่า ก็มีบ้างในโลกนี้ที่จะพยายามให้เกิดความรักในเพื่อนมนุษย์เหมือนกันหรือในระหว่างผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบก็อาจไม่มีปัญหาเรื่องชาติ” แต่ท่านบอกว่าชาติยังเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่และผลประโยชน์ของประเทศชาติต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าประเทศใดที่เขาจะบอกว่าเป็นลักษณะสังคมอันใดก็ตาม แต่ละประเทศเขาจะถือผลประโยชน์ของชาติเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจะพยายามเน้นในเรื่องนี้มาก
ส่วนคุณธรรมด้านอื่น ๆ คิดว่าเราได้จากการปฏิบัติของคุณพ่อเอง ท่านใช้ชีวิตสมถะมากเลย เสื้อผ้านี่ไม่เคยออกไปซื้อ ไม่เคยคิดที่จะใส่ให้สวยงามใส่ให้สบาย สุภาพเรียบร้อย การรับประทานท่านก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย มีอะไรก็ทานไม่ต้องออกไปทานนอกบ้าน หรือไปเที่ยวอะไร
อีกเรื่องที่พยายามสอนและพูดอยู่เสมอก็คือ เรื่องที่ว่าจะต้องเป็นคนซื่อตรง ท่านมักจะใช้คำจีนว่าต้องเหลา ๆ ซิก ๆ คือต้องซื่อตรง ๆ ยกตัวอย่าง ลูกหลานบางคนมาเล่าให้ฟังว่า วันนี้ขึ้นรถใต้ดินโดยที่ไม่ได้ใช้ตั๋วบ้าง หรือใช้วิธีอะไรที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไร ท่านก็จะโมโหทันทีบอกว่าไม่ชอบให้ใช้วิธีอย่างนี้ บอกว่าไม่มีสตางค์ซื้อตั๋วรถหรือบอกมาซิ จะออกเงินให้ แต่ไม่ชอบให้เอารัดเอาเปรียบ แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยท่านก็ไม่ชอบ ข้อนี้เป็นเรื่องที่พูดอยู่เสมอ บอกว่าคนเราจะต้องมีความตรงไปตรงมา
ไม่ทราบว่า อจ.ปรีดี พักผ่อนอย่างไร
ท่านชอบไปเดินเล่น ท่านชอบดูชีวิตชาวบ้าน อย่างที่อยู่ที่กวางตุ้งก็จะไปเดินตามตรอกซอกซอย ไปดูว่าเออเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร หรือบางทีก็ไปแวะคุยกับเขา แม้จะพูดภาษาจีนไม่คล่องก็พยายามถามคำศัพท์ง่าย ๆ ลักษณะอันนี้รู้สึกท่านจะมีมาตลอด จนกระทั่งระยะหลังมาอยู่ในฝรั่งเศส คนในละแวกนั้นมักจะรู้จักท่านเพราะท่านจะเดิน เดี๋ยวทักร้านขนมปังบ้าง ร้านกาแฟบ้าง เพื่อนบ้าน จนรู้จักกับคนแถวนั้น ชอบถามเขาว่ามีความเห็นอย่างไรจนเป็นเพื่อนกับคนตัดผม จนคนกวาดถนนก็ยังมีเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่ง มีคนที่เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ข้าง ๆ บ้านเขาคงไม่ทราบว่าคุณพ่อเป็นใคร เขาก็ใช้คำว่าเพื่อนของผมเอง เพราะชอบไปคุยกับเขา ท่านเป็นคนไม่ถือตัว ทำให้รู้จักชีวิตคนอื่นหลายแขนง
ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลาฯ และเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
14 ตุลาฯ ท่านเคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องพิทักษ์เจตนารมณ์ ส่วนเรื่อง 6 ตุลาฯ ท่านเห็นว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน เพราะประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแต่มาทำกับประชาชนแบบนี้ เพราะการเผยแพร่ข่าวในต่างประเทศรวดเร็วมาก เหตุเกิดแป๊บเดียว แต่โทรทัศน์ทั่วโลกก็มีแล้ว ท่านรู้สึกเห็นอกเห็นใจนักศึกษา
ตอนอยู่ประเทศจีน ไม่ทราบว่าท่านเคยคิดจะเข้าร่วมกับ พ.ค.ท.บ้างหรือไม่
ไม่เคยเลย ถึงแม้ท่านจะศึกษาลัทธิมาร์กแต่ท่านก็ไม่เคยคิดว่าตัวท่านจะเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านอาจจะรับได้บางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะท่านพูดเตือนอยู่เสมอว่า จะเอาเป็นสูตรสำเร็จมาไม่ได้ สภาพของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ประเทศไทยก็มีลักษณะพิเศษของไทย
ท่านเชื่อเรื่องสันติวิธีหรือไม่
(พยักหน้า) ท่านค่อนข้างเชื่อเรื่องสันติวิธี เพราะท่านเคยพูดกับเราว่า พวกเราไม่เคยผ่านสงครามมาก่อน ไม่รู้ว่าสงครามเป็นการทำลาย เป็นการทำให้สูญเสียขนาดหนักสักแค่ไหน ท่านเคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้เมืองไทยจะไม่ได้อยู่ในสมรภูมิที่มีการรบ แต่ท่านก็กระทบกระเทือน พูดอยู่เสมอว่า ถ้ามีทางเป็นไปได้ ก็ไม่ควรที่จะเลือกวิธีอื่น ควรเลือกวิธีสันติมากกว่า ไม่ควรให้ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร ต้องมาสูญเสียหรือถูกกระทบกระเทือน
เผยแพร่ครั้งแรกใน สารโกมล สารเผยแพร่ของมูลนิธิโกมลคีมทอง ฉบับเดือนมิถุนายน 2529
สันติสุข โสภณสิริ (บก.). ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง. อักษรสาส์น. กรุงเทพฯ : 2529. หน้า 512-517 เข้าถึงได้จาก www.openbase.in.th/files/pridibook176.pdf
- วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์
- ปรีดี พนมยงค์
- ครอบครัวนายปรีดี พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- 24 มิถุนายน 2475
- ความซื่อตรง
- 14 ตุลา 2516
- 6 ตุลา 2519
- ศาสนาพุทธ
- ประชาธิปไตย
- ประเทศจีน
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
- คอมมิวนิสต์
- ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
- สันติวิธี
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ขบวนการเสรีไทย
- สารโกมล
- มูลนิธิโกมลคีมทอง