ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดีศึกษา : ย้อนอ่านความคิดรัตนบุรุษสยาม

30
มกราคม
2566

ภาพของ นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในความรับรู้ของใครหลายๆ คน อาจจะมีภาพของการเป็นสมาชิกและมันสมองของคณะราษฎร นักการเมือง นักฎหมายและครูอาจารย์ผู้เมตตาและเป็นที่รักของลูกศิษย์ ทว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงบางด้านบางมุมของชีวิตบุรุษนามว่า “ปรีดี” เท่านั้น อีกด้านหนึ่งของนายปรีดีที่มีความน่าสนใจก็คือ การเป็นนักคิดในหลายมิติทั้งในเรื่องทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสันติภาพ เรื่องเหล่านี้ทำให้ความคิดของนายปรีดีเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และนำมาสู่การศึกษาความคิดที่เรียกว่า “ปรีดีศึกษา” ซึ่งเป็นการศึกษาความคิดของนายปรีดีรวมไปถึงแนวคิดและเจตนารมณ์ที่ได้แตกหน่อต่อยอดเติบโตและผลิบานต่อมา ในบทความนี้จะเรียงร้อยแก่นไอเดียหลักของนายปรีดีที่นำมาต่อยอดเป็น “ปรีดีศึกษา” ให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และเข้าใจ

 

ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

“ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” คือ แก่นไอเดียหลักของนายปรีดีที่ใช้ในการวิเคราะห์สภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่พัฒนาขึ้นมาจากการสังเกตการณ์ ปรับและพัฒนาแนวคิดโดยมีจุดมุ่งหมายคือทำให้ประเทศไทยรักษาเอกราช รักษาอธิปไตยของชาติ รักษาสันติภาพ รักษาความเป็นกลาง รักษาความไพบูลย์ของประชาชนและรักษาประชาธิปไตยของประชาชน

นายปรีดีเชื่อว่า “ประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์” คือ ต้องมีพื้นฐานเป็นสสาร หรือก็คือทรัพยากรต่างๆ สิ่งนี้นายปรีดีถอดรหัสจากประสบการณ์ของเขาว่า ปัจจัยในการดำรงชีพเป็นสิ่งสำคัญ การไม่มีปัจจัยในการดำรงชีพที่เพียงพอทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ยากลำบาก ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องกังวลกับการใช้ชีวิตในแต่ละวันว่าจะเป็นเช่นไร การมีปัจจัยในการดำรงชีวิตที่เพียงพอจะทำให้ประชาชนสามารถที่จะใช้ชีวิตและมีความสุขกับสิทธิและเสรีภาพที่เขาได้รับจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกลับไปตอบโจทย์เรื่องเอกราช อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชน และประชาธิปไตยของประชาชน

ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยถูกต่อยอดออกมาโดยปรากฏผ่านผลงานของนายปรีดีใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจที่ประกันความสุขสมบูรณ์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ

 

เศรษฐกิจที่ประกันความสุขสมบูรณ์

เรื่องหนึ่งที่ผู้สนใจปรีดีศึกษาต้องให้ความสำคัญคือ การศึกษามุมมองทางเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจที่ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจของนายปรีดีนี้ ปรากฏอยู่ใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

เค้าโครงการเศรษฐกิจ เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีความน่าสนใจ โดยพยายามที่จะอธิบายกรอบและกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยว่าจะทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไป จากในอดีตที่ทรัพยากรส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงและกับคนเพียงบางกลุ่ม รวมถึงระบบเศรษฐกิจต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากบริบทของประเทศไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้นมุ่งเน้นการผลิตขั้นต้น โดยเน้นกิจกรรมการผลิตง่ายๆ เพื่อตอบสนองประโยชน์ในการยังชีพเป็นหลัก

การวางเค้าโครงการเศรษฐกิจมีเป้าหมายสำคัญอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก คือการกระจายอำนาจเพื่อเป็นฐานในทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ชนบท โดยปัญหาเศรษฐกิจของราษฎรในพื้นที่ชนบทเป็นปัญหาสำคัญและปัญหาดังกล่าวยังส่งผลถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการสาธารณสุข เป็นต้น ในเค้าโครงการเศรษฐกิจนายปรีดีเสนอให้สหกรณ์อยู่ในฐานะกลไกในการจัดการทางเศรษฐกิจของรัฐ และเป็นเครื่องมือนำไปสู่การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่

และประการที่สอง การสร้างระบบเศรษฐกิจความมั่นคงของชาติ โดยปรีดีเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า การบำรุงเศรษฐกิจก็มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ โดยลดการพึ่งพาต่างประเทศ

 

ประชาธิปไตยสมบูรณ์

"ประชาธิปไตยสมบูรณ์" เป็นแนวคิดของนายปรีดี ซึ่งอธิบายว่าประชาธิปไตยควรจะต้องประกอบไปด้วยคุณลักษณะ 3 ด้าน คือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง และทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย โดยองค์ประกอบทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้องและส่งผลกันอย่างมีนัยสำคัญ

นายปรีดีเชื่อว่าประชาธิปไตยทางการเมืองนั้น จำเป็นต้องตั้งอยู่บนฐานของระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้กระบวนการต่างๆ ทางการเมือง อาทิ การใช้สิทธิในการเลือกตั้งตกอยู่ภายใต้ผู้ที่กุมอำนาจนำทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น การจะทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างดี จึงต้องทำให้ประชาชนมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

ในทางตรงกันข้ามประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีประชาธิปไตยทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนมีสถานะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ และทำให้การเมืองมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของผลประโยชน์ทั้งหมด นอกจากนี้ ประชาธิปไตยทั้งสองจะยั่งยืนอยู่ได้ประชาชนจะต้องมีทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นองค์ประกอบในเชิงวัฒนธรรมทางสังคมที่จะหล่อหลอมและกระตุ้นให้เขาหวงแหนความเป็นประชาธิปไตย

 

วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ

"สันติภาพ" เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งของนายปรีดีที่มีความสำคัญ งานนิพนธ์ของนายปรีดีหลายเรื่องชี้ให้เห็นว่า สันติภาพเป็นสิ่งมีค่าและควรที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง ผลงานชิ้นสำคัญที่พูดถึงเรื่องราวของสันติภาพก็คือ นวนิยายและบทภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (The King of White Elephant) ซึ่งตลอดบทภาพยนตร์เรื่องนี้มีการสื่อสารอุดมการณ์และความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ

ความพยายามจะทำให้วัฒนธรรมของสันติภาพฝังรากลึกในสังคมไทยของนายปรีดีนั้นไม่ได้จำกัดแค่เพียงไอเดียหรือการสร้างสรรค์ในทางวัฒนธรรม เมื่อนายปรีดีพยายามปรับปรุงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ นายปรีดีได้เน้นย้ำถึงความพยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันระหว่างชนชั้นด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ เมื่อจำเป็นต้องมีการนำที่ดินมากระจายให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรม ปรีดีก็เสนอให้ใช้วิธีซื้อขายอย่างเป็นธรรมแทนการบังคับเอามาเป็นเจ้าของโดยรัฐ

แนวคิดทั้ง 3 เรื่องของนายปรีดีนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่งและเป็นทรรศนะที่ล้ำลึกและยังสามารถนำมาปรับใช้กับสังคมในบริบทต่างๆ ได้จนถึงปัจจุบัน การย้อนกลับมาศึกษาความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ หรือปรีดีศึกษานี้จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้มุมมองและวิสัยทัศน์ของรัตนบุรุษสยามผู้มีมุมมองอย่างลึกซึ้งในการแก้ไขประเทศ

 

อ้างอิงจาก

 

ซื้อหนังสือ ปรีดีศึกษา