ในวาระ 80 ปีของนายปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2523 กองบรรณาธิการ นสพ. ตะวันใหม่ ได้สัมภาษณ์นายปรีดีถึงจุดอ่อนของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยคำถามที่ว่า
“จุดอ่อนของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 คืออะไร จึงทําให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจนทุกวันนี้”
และนี่คำตอบขนาดยาวของนายปรีดี
------------------------------------
-1-
จุดอ่อนของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยปี พ.ศ. 2475 มี 2 ประเภทคือ
1.1 จุดอ่อนที่เหมือนกันกับทุกขบวนการเมืองคือความขัดแย้งภายในขบวนการฯ
ทุกคณะพรรคการเมืองที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้น ๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อํานาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในคณะพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงปรากฏว่า คณะพรรคมากหลายได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วนหรือสลายไปทั้งคณะพรรค
ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทํานองเดียวกันดังกล่าวข้างบนนั้น
ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อสู้ผู้ครองอํานาจรัฐได้สําเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยาซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัว (Egoism) ขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทําลายคนในคณะเดียวกันเพื่อตนคนเดียวเป็นศูนย์กลางแห่งกิจการทั้งหลาย (Egocentralism)
ประวัติศาสตร์แสดงตัวอย่างด้วยว่า คณะพรรคหรือขบวนการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบเจ้าสมบัติ (Bourgeois Democracy) โดยการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) นั้น ภายหลังที่ขบวนการนั้นได้ชัยชนะต่อระบบเก่าแล้ว ภายในขบวนการนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่างส่วนที่ก้าวหน้ากับส่วนที่ถอยหลังเข้าคลอง
ในประเทศจีน ขบวนการ “ไท้ผิง” ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) แล้วสามารถต่อสู้ได้ชัยชนะต่อราชวงศ์แมนจูในดินแดนส่วนใต้ของจีน จึงได้ตั้งเมืองหลวงขึ้นที่เมืองนานกิงแล้วในไม่ช้า “ฮุงเซียวฉวน” หัวหน้าขบวนไท้ผิงได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ของจีนและตั้งหัวหน้ารอง ๆ เป็นเจ้าตามลำดับ ครั้นแล้วในขบวนการไท้ผิงก็เกิดขัดแย้งกันเอง ในที่สุดราชวงศ์แมนจูกลับมีชัยชนะต่อขบวนไท้ผิง
ต่อมาขบวนอภิวัฒน์ภายใต้การนำของ “ซุนยัดเซ็น” ได้ชัยชนะล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนสำเร็จใน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2454) ภายในขบวนอภิวัฒน์นั้นก็เกิดขัดแย้งกันและแตกแยกออกเป็นหลายส่วน ต่อมาขบวนปลดแอกของประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะฝ่ายก๊กมินต๋งบนผืนแผ่นดินใหญ่จีนและได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ภายในขบวนการประชาชนจีนและภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เกิดความขัดแย้งเป็นเหตุให้มีการกวาดล้างบุคคลในพรรคที่เดินตามแนวทางทุนนิยม และกวาดล้างพวกที่เดินนอกแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ส่วนในสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกก็มีปรากฏการณ์ที่แสดงความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรงถึงขนาดมีการกวาดล้างบุคคลที่ดำเนินตามแนวทางขวาจัดกับซ้ายจัด
ส่วนคณะหรือขบวนการซึ่งทำการ “โต้อภิวัฒน์” (Counter-Revolution) ที่ได้ชัยชนะต่อการอภิวัฒน์แล้ว คณะหรือขบวนการนั้น ๆ เกิดขัดแย้งกันขึ้น เช่น ฝ่ายนิยมราชาธิปไตยในฝรั่งเศสทําการโต้อภิวัฒน์ได้ชัยชนะแล้ว ภายในขบวนการนั้นก็เกิดขัดแย้งระหว่างกันเองในการแย่งชิงการสืบราชสันตติวงศ์ ขบวนการฟาสซิสม์อิตาเลียนและขบวนการนาซีเยอรมันซึ่งได้ชัยชนะต่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศของตนแล้ว ขบวนการดังกล่าวก็เกิดขัดแย้งภายในซึ่งได้มีการกวาดล้างบุคคลที่มีทัศนะต่างกับผู้นําของประเทศนั้น ๆ
ทุก ๆ คณะพรรคทุก ๆ ขบวนการก็มีคําขวัญเรียกร้องให้สมาชิกของตนมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าภายในขบวนการใดสมาชิกจะมีความสามัคคีกลมเกลียวกันได้ตลอด ทั้งนี้ ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในกลุ่มและสังคมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องยึดยาวลึกซึ้งควรแก่การศึกษา
การที่มีความขัดแย้งภายในคณะพรรคหรือขบวนการซึ่งมีวัตถุประสงค์เปลี่ยนระบบสังคมเก่ามาเป็นระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้านั้น ก็เพราะเหตุสําคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
คณะพรรคหรือขบวนการดังกล่าวย่อมปฏิสนธิขึ้นในสังคมเท่านั้นเอง เพราะเมื่อยังไม่มีระบบสังคมใหม่ก็จะมีการปฏิสนธิคณะพรรคหรือขบวนการอภิวัฒน์นั้นในสังคมใหม่ที่ยังมิได้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมธีท่านหนึ่งได้เปรียบเทียบเป็นใจความว่า “การปฏิสนธิของอภิวัฒน์นั้นเปรียบเหมือนมนุษย์ ก่อนจะเป็นตัวตน ก็ต้องเริ่มปฏิสนธิขึ้นจากมดลูก (Womb) ของมารดา” หมายความว่า สังคมเท่านั้นเองเป็นที่ปฏิสนธิของการอภิวัฒน์เพื่อสังคมใหม่
ดังนั้น คณะพรรคหรือขบวนการอภิวัฒน์เพื่อสถาปนาระบบสังคมใหม่นั้น จึงประกอบด้วยบุคคลที่กําเนิดในสังคมเก่านั้นเอง แต่เป็นบุคคลส่วนที่ก้าวหน้าซึ่งสละจุดยืนหยัดในระบบเก่ามาพลีชีพเพื่อสถาปนาระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้า
แต่โดยที่บุคคลส่วนที่ก้าวหน้านั้น เกิดมาและเคยมีความเป็นอยู่ในสังคมเก่า จึงย่อมมีซากทัศนะและความเคยชินของสังคมเก่าติดตัวอยู่ ซึ่งสละซากเก่า ๆ ได้ต่าง ๆ กัน คือ
ประเภทที่ 1 สละทัศนะและความเคยชินของสังคมเก่าได้มากตลอดไป เพื่อรับใช้สังคมใหม่ที่สถาปนาขึ้นนั้นให้พัฒนาก้าวหน้าเพื่อเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้น
ประเภทที่ 2 สละสิ่งดังกล่าวเพียงเท่าที่ได้สถาปนาระบบสังคมใหม่ขึ้นแล้วก็พอใจเพียงแค่นั้น
ประเภทที่ 3 สละสิ่งดังกล่าวจนถึงสถาปนาระบบสังคม ใหม่ ครั้นแล้วก็ฟื้นซากทัศนะเผด็จการทาสหรือทาส-ศักดินา ขึ้นมาจนกลายเป็น “โต้อภิวัฒน์” ต่อการ “อภิวัฒน์” ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะพรรคหรือขบวนการได้กระทํามา บุคคลดังกล่าวนี้จึงขัดแย้งกับส่วนเป็น “อภิวัฒน์” ภายในคณะ พรรค หรือขบวนการนั้น
1.2 จุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะ
ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมืองและตัวอย่างในประวัติศาสตร์ดังกล่าวในข้อ 1.1 นั้น จึงทําให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจํานวนหนึ่งฟื้นจากทัศนะเผด็จการทาส-ศักดินา ซึ่งเป็น “การโต้อภิวัฒน์” ต่อการอภิวัฒน์ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะ
ประการที่ 2 คิดแต่เพียงเอาชนะทาง “ยุทธวิธี” ในการยึดอํานาจรัฐเป็นสําคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูก “การโต้อภิวัฒน์” (Counter-revolution) ซึ่งจะทําให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง
ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ มีความรู้ความชํานาญการทหารสามารถนําคณะยึดอํานาจรัฐได้สําเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคน แม้มีความรู้ทางทฤษฎีวิชาเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชํานาญในการปฏิบัติ และขาดความชํานาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง
ประการที่ 4 การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทําได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในขบวนการอภิวัฒน์ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
-2-
เหตุที่ทําให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจนทุกวันนี้ แม้ว่าคณะราษฎรมีจุดอ่อนหลายประการทั้งได้ตอบแล้วใน (1) นั้น แต่จุดอ่อนดังกล่าวได้ทําให้ระบอบประชาธิปไตยได้ล่าช้าไปถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เท่านั้น ที่ผมตอบทั้งนี้มิใช่เป็นการแก้ตัว แต่ได้กล่าวตามหลักฐานแท้จริงซึ่งผมขอให้ท่านผู้อ่านคําตอบของผม โปรดพิจารณาหลักฐานดังต่อไปนี้
2.1 คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และการโต้อภิวัฒน์จากภายในคณะและจากภายนอกคณะมาหลายครั้งหลายหน แต่คณะราษฎรก็ได้ปฏิบัติตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรให้สําเร็จไปก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 (อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์) คือ
หลักประการที่ 1 จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
ผมหวังว่า ท่านที่มีใจเป็นธรรมก็อาจพิจารณาได้จากหลักฐานว่า คณะราษฎรได้แก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับนานาประเทศได้สําเร็จ อันเป็นผลให้ประเทศไทยได้เอกราชสมบูรณ์ ในทางการเมือง ในทางศาล และในทางเศรษฐกิจ
ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกราน และรัฐบาลไทยสมัยนั้น ได้ประกาศสงครามและก่อสถานะสงครามแก่หลายประเทศสัมพันธมิตร ขบวนการเสรีไทยก็ได้ร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน อันเป็นผลให้สัมพันธมิตรรับรองความเป็นเอกราชของชาติไทย ดังปรากฏเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งผมได้นําลงพิมพ์ไว้ในหนังสือของผมว่าด้วย จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา
หลักประการที่ 2 จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
ผมหวังว่า ท่านผู้มีใจเป็นธรรมสามารถเปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายต่อกันสมัยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กับภายหลัง 24 มิถุนายนปีนั้นว่า จํานวนการประทุษร้ายภายหลัง 24 มิถุนายน นั้นได้ลดน้อยลงมากเพียงใด และขอให้ท่านผู้มีใจเป็นธรรมเปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายภายหลังวันที่ 8 พฤศจิกายน อันเป็นวันล้มระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 เป็นต้นมานั้นว่าเพิ่มขึ้นมากขนาดไหน
หลักประการที่ 3 จะต้องบํารุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุก ๆ คนทํา จะวางโครงการการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
ผมหวังว่า ท่านผู้มีใจเป็นธรรมก็ทราบแล้วว่า ผมในนามของสมาชิกคณะราษฎรส่วนมาก ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามหลักประการที่ 3 นั้น แต่ก็เกิดอุปสรรคขัดขวางที่ไม่อาจวางโครงการตามเค้าโครงที่ผมได้เสนอนั้นได้ แม้กระนั้นคณะราษฎรก็ได้พยายามที่จะบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยหางานให้ราษฎรจํานวนมากได้ทํา จึงไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ขอให้ท่านที่มีความปรารถนาดีโปรดพิจารณาสถิติถึงการโจรกรรมอันเนื่องจากความอดอยากของราษฎรนั้นในสมัยก่อน 24 มิถุนายน 2475 กับภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 และภายหลัง 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา ตามที่ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในเวลานี้
หลักประการที่ 4 จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน
ท่านที่มีใจเป็นธรรมซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์แห่งความไม่เสมอภาคก็ย่อมทราบแล้วว่า ก่อน 24 มิถุนายน 2475 นั้น พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป มีสิทธิพิเศษกว่าสามัญชนหลายประการ อาทิ ในทางการศาลที่ท่านเหล่านั้นต้องหาเป็นจําเลยในคดีอาญาก็ไม่ต้องขึ้นต่อศาลอาญา หากพระองค์ทรงขึ้นต่อศาลกระทรวงวังเป็นพิเศษ ฯลฯ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ก็ได้สถาปนาสิทธิเสมอภาคกันของราษฎรไทยทั้งหลายอันเป็นแบบฉบับของรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา
หลักประการที่ 5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4
ท่านผู้มีใจเป็นธรรมก็ย่อมเปรียบเทียบได้ว่า เมื่อก่อน 24 มิถุนายน 2475 นั้นราษฎรมีเสรีภาพสมบูรณ์อย่างใดบ้างเมื่อเทียบ กับภายหลัง 24 มิถุนายนนั้น และเทียบกับภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นวันล้มระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นั้นว่า แม้แต่จะได้มีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพของราษฎรไว้ แต่ในทางปฏิบัติได้มีการหลีกเลี่ยงโดยวิธีประกาศภาวะฉุกเฉิน และประกาศกฎอัยการศึกเกินกว่าความจําเป็นเพียงใดบ้าง
หลักประการที่ 6 จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ท่านที่มีใจเป็นธรรมก็ย่อมเห็นได้โดยเปรียบเทียบว่าเมื่อก่อน 24 มิถุนายน 2475 นั้น การศึกษาได้ถูกจํากัดอย่างใดและภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 ราษฎรมีสิทธิศึกษาอย่างเต็มที่เพียงใด และภายหลัง 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นจนถึงปัจจุบันนี้ ราษฎรต้องถูกจํากัดการศึกษาอย่างใดบ้าง
2.2 คณะราษฎรได้ดําเนินการเป็นขั้น ๆ ไปเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งผมหวังว่าท่านผู้มีใจเป็นธรรมย่อมพิจารณาได้จากรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้
ฉบับที่ 1 ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 เป็นฉบับที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย เพราะธรรมนูญฉบับนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานในขณะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงเป็นตัวแทนโดยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทยที่จะทรงปฏิบัติการอย่างใด ๆ ได้โดยไม่ต้องมีบุคคลที่มีตําแหน่งโดยชอบด้วยกฎหมายลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญฯ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 จึงถูกต้องสมบูรณ์ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย ส่วนบทเฉพาะกาลนั้นเป็นเรื่องของระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีการเปลี่ยนระบบสังคมที่สําคัญเมื่อพ้นระยะหัวต่อในระยะ 10 ปี (ต่อมาก็เป็น 20 ปี แต่เมื่อใช้มาเพียง 14 ปี ก็ยกเลิกบทเฉพาะกาล) แล้วก็จะเหลือแต่ตัวบทที่เป็นประชาธิปไตยอย่างครบถ้วน
ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บทรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 จึงถูกต้องสมบูรณ์และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 นั้น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพฤฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร มิใช่โดยการแต่งตั้ง จึงเป็นระบบปกครองประชาธิปไตยสมบูรณ์ แม้ว่าจะได้มีบทเฉพาะกาลกําหนดไว้ เฉพาะวาระเริ่มแรกให้มีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒิสภาโดยองค์การเลือกตั้ง แต่องค์การเลือกตั้งนี้ก็ประกอบด้วยผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อครบวาระแรกแล้วผู้ที่ราษฎรเลือกก็เป็นสมาชิกพฤฒิสภาตามวิธีที่นิยมกันในประเทศประชาธิปไตย
2.3 ท่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์ระบบรัฐธรรมนูญ ท่านก็ทราบได้ไม่ยากเลยว่า คณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ล้มระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยดังกล่าวแล้วในข้อ 2.2 ข้างบนนั้นแล้วได้สถาปนาระบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ท่านจะเห็นได้จากราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ว่า ระบบรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทใหม่ที่คณะรัฐประหารสถาปนาขึ้นนั้นไม่สมบูรณ์ในทางนิตินัย เพราะเหตุดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 หัวเรื่องของรัฐธรรมนูญนั้นได้กล่าวถึงผู้ลงนามให้ใช้รัฐธรรมนูญไว้ดังต่อไปนี้
“ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
ให้ไว้ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน”
ท่านผู้มีใจเป็นธรรมก็สังเกตได้ไม่ยากว่า คําว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” นั้นหมายถึง “บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป” ซึ่งมิใช่ “บุคคลคนเดียว” เป็นคณะ อันที่จริงขณะนั้น คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบด้วย 2 ท่านคือ (1) กรมขุนชัยนาทฯ และ (2) พระยามานวราชเสวี รัฐสภาได้แต่งตั้งท่านทั้ง 2 นี้เป็นคณะฯ โดยมีข้อกําหนดว่า ต้องให้ท่านทั้งสองลงนามในเอกสารทางราชการใด ๆ จึงจะถูกต้องตามกฎหมาย ฉะนั้น การที่กรมขุนชัยนาทฯ พระองค์เดียวลงพระนามอ้างว่าเป็นคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์นั้น จึงเป็นโมฆะ
ประการที่ 2 ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษาฉบับที่อ้างถึงดังต่อไปนี้
“จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
9 พฤศจิกายน 2490”
ท่านผู้มีใจเป็นธรรมก็ย่อมทราบแล้วว่า ตามระบบประชาธิปไตยนั้น ผู้รับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็น “รัฐมนตรี” ซึ่งเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นโดยได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตําแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นผู้ที่คณะรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 แต่งตั้งให้ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 9 พ.ย. 2490 ที่เป็นแม่บทของระบบการเมืองใหม่แห่งประเทศไทยนั้น จึงเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น
2.4 รัฐธรรมนูญที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” นั้น ได้จัดตั้ง “วุฒิสภา” ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้เลือกคัดแล้วเสนอพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง ดังนั้น ระบบประชาธิปไตยของประเทศไทยจึงต้องชะงักลงโดยระบบสังคมที่คณะรัฐประหาร 8 พ.ย. ได้สถาปนาขึ้นนั้น และเป็นแม่บทกับตัวอย่างให้แก่ระบบรัฐธรรมนูญอีกมากมายหลายฉบับจนถึงปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า นับตั้งแต่ 9 พ.ย. 2490 เป็นต้นมานั้น ประเทศไทยมิได้เข้าสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ หากบางครั้งวุฒิสมาชิกสภาเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง และบางครั้งสมาชิกสภาผู้แทนอื่น ๆ เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังที่นิตยสารหนังสือพิมพ์หลายฉบับเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ขอให้ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาว่า ผู้ใดคณะใดบ้างที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจนทุกวันนี้
ที่มา: กองบรรณาธิการ นสพ.ตะวันใหม่, “สัมภาษณ์ท่านปรีดี พนมยงค์,” ใน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของสังคมไทย (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2524), น. 19-40.