ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ผู้หวังเห็นสามัคคีธรรม

29
ตุลาคม
2563

ภายหลังที่ได้ตรากตรํารับใช้ชาติบ้านเมืองในภารกิจอันมีความสําคัญยิ่งมาตลอดสงคราม เป็นเวลาถึง 4 ปี จนกระทั่งสันติภาพ ตลอดจนเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทยได้กลับคืนมา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสฯ มีความชอบธรรมที่จะพักผ่อนทั้งกายและใจ โดย “รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน” ตามที่ระบุไว้ในพระบรมราชโองการฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488 

การณ์มิได้ไปเป็นเช่นนั้น ความจริงปรากฏว่า ในระหว่างปี พ.ศ.2489-2490 ท่านปรีดี พนมยงค์ กลับต้องรับภารกิจที่หนักหน่วง และต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนในอดีต 

ประเทศไทยไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่ได้ผ่านภาวะสงครามสําหรับปัญหา เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมซึ่งต้องการการแก้ไขและฟื้นฟูภายหลังสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด ก็คือ ปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาอันเกี่ยวกับระบบการเงินการคลังของประเทศที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่ค่อนข้างรุนแรงในระหว่างสงคราม

ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ได้ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การเมืองและสังคม แม้ว่าท่านปรีดี พนมยงค์ จะได้พ้นจากความรับผิดชอบโดยตรงในการบริหารราชการไปอยู่ในตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” หากก็ยังได้รับความเคารพศรัทธาจากบรรดานักการเมืองและผู้ที่อยู่ในวงราชการจํานวนมาก บุคคลเหล่านั้นไม่เคยมองว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้พ้นจากหน้าที่ความรับผิดชอบในทางการเมือง และในการบริหารราชการแผ่นดินไปแล้วแต่ประการใด 

ความผูกพันของท่านปรีดีฯ กับการเมืองภายหลังสงครามประการหนึ่ง ก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ 

แต่โดยความเป็นจริง ก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ มีความเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรกเริ่มในฐานะ “สถาปนิก” ของการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่การก่อตั้งคณะราษฎรขึ้น ณ กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2469-2470 และการสถาปนาการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 ท่านปรีดีฯ เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย คือ “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอย่างมั่นคง และได้อุทิศชีวิตเพื่อธํารงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

ในช่วงปลายสงครามใน พ.ศ. 2488 ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ปรารภกับนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ ว่า รัฐธรรมนูญฯ ปี พ.ศ. 2475 ได้ใช้มาแล้ว 14 ปี แม้ว่าจะได้ยังความเจริญแก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาล (ที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2) และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงได้นําความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกประเภทที่ 2 และผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 และเมื่อได้ตกลงกันแล้ว รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ก็ได้เสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2488 ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ขณะนั้นสมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง และเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

การดําเนินการในเรื่องรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวนี้ได้ดําเนินไปเป็นเวลา 7 เดือน จนกระทั่งได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2489 ซึ่งสภาฯ ได้พิจารณารับหลักการและตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นอีกคณะหนึ่งเพื่อกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง โดยมีท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งได้ลาออกจากความเป็นสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 แล้วเป็นประธาน ต่อมาเมื่อท่านปรีดีฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ศกเดียวกัน ก็ได้ขอลาออกจากตําแหน่งกรรมาธิการ เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติให้นําร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยมีผลใช้บังคับในวันถัดมา ในขณะที่ท่านปรีดี พนมยงค์ กําลังดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี 

ก่อนหน้านั้นได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 ภายหลังที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2488 และท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกประเภทที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งประธานสภาได้ประชุมสมาชิกเพื่อหารือเป็นการภายใน สอบถามความเห็นว่าจะเห็นว่า ผู้ใดสมควรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีสมาชิกสภาฯ ส่วนใหญ่เห็นควรให้ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท่านปรีดีฯ ได้ปฏิเสธไม่ขอรับตําแหน่ง ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติให้พันตรี ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช รับตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลชุดดังกล่าวอยู่ในตําแหน่งจนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม 2489 จึงได้ลาออก เมื่อแพ้เสียงในสภาฯ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนฯ ที่เสนอโดยสมาชิกที่เป็นแกนนําของพรรคสหชีพซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีความใกล้ชิด กับท่านรัฐบุรุษอาวุโส 

อีกครั้งหนึ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ ควรที่จะรับเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น  ประธานสภาฯ และสมาชิกสภาฯ หลายนายได้ไปขอร้องท่านปรีดีฯ ให้รับตําแหน่งดังกล่าว ซึ่งคราวนี้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ จึงได้เข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2489 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อย มีมติให้นําขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยท่านปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 

ก่อนนั้น ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2489 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ท่านปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์อันเป็นประวัติศาสตร์ต่อที่ประชุมสภาฯ ดังนี้ 

“ท่านผู้เป็นประธาน 

ในวาระที่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 จะได้สิ้นสุดลงในวันนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสเชิญชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น 

คณะราษฎรเพิ่งทราบเมื่อ 6 วัน ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คือ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พร้อมทั้งข้าพเจ้า ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และเจ้าพระยามหิธร ซึ่งเป็นราชเลขาธิการขณะนั้น เป็นผู้จดบันทึก  มีกระแสรับสั่งว่า มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อได้ปรึกษาข้าราชการมีตําแหน่งสูงในขณะนั้น ก็ไม่เห็นพ้องกับพระองค์ ในที่สุดเมื่อเสด็จกลับจากประพาสอเมริกา ได้ให้บุคคลหนึ่งซึ่งไปเฝ้าในวันนั้นพิจารณาบุคคลนั้นก็ถวายความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา และที่ปรึกษา (ชาวอเมริกัน) ก็กลับเห็นพ้องด้วยบุคคลนั้น คณะราษฎรมิได้รู้พระราชประสงค์มาก่อน การเปลี่ยนแปลงได้กระทําโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้ช่วงชิงดังที่มีผู้ปลุกเสกข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างนั้น  ความจริงทั้งหลายปรากฏในบันทึกการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้นแล้ว และโดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์มาก่อนแล้วหากมีผู้ทัดทานไว้ ฉะนั้น เมื่อคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระองค์จึงทรงพระราชทานด้วยดี พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทยข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นี้ และบรรดาชาวไทยทั้งหลาย จงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติของพระองค์ไว้ชั่วกาลปาวสาน 

บัดนี้ ผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญและผู้ที่ได้ร่วมมือช่วยเหลือกันประกอบเป็นสมาชิกประเภท 2 ก็จะสุดสิ้นสมาชิกภาพลงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความจําเป็นที่จะต้องซ้อมความเข้าใจถึงหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่  ขอให้ระวังอย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย  อนาธิปไตยเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ 

ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต หรือในบางครั้งในโบราณกาลเรียกว่า การปกครองโดยสามัคคีธรรม  การใช้สิทธิโดยไม่มีขอบเขตใต้กฎหมายหรือศีลธรรม หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ใช่หลักของประชาธิปไตย ไม่ใช่หลักซึ่งคณะราษฎรขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทาน รัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยนั้น ไม่มีพระราชประสงค์ให้เป็นอนาธิปไตย 

ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างประเทศอิตาลี เมื่อสมัยก่อนมุสโสลินี ซึ่งประชาธิปไตยของอิตาลีในขณะนั้นเข้าขีดที่ไม่มีระเบียบ มีความอลเวง จึงเป็นเหตุหรือให้พวกฟัสซิสต์อ้างเป็นเหตุในการสถาปนาระบบเผด็จการในประเทศอิตาลี ข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็จการในประเทศไทย  ในการนี้ก็จําเป็นต้องป้องกัน หรือขัดขวางมิให้อนาธิปไตยอันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้  ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าเราช่วยกันประคองให้ระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อยอย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว ระบอบเผด็จการย่อมมีขึ้นไม่ได้ 

ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมกับเพื่อนคณะราษฎรขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้ประคับประคองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ตลอดมา แม้ในการต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งในการต่อต้านนั้นอาจจะมีความจําเป็นที่จะต้องตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่ข้าพเจ้าก็เลือกเอาทางที่จะตั้งรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ข้าพเจ้าไม่มีเหตุผลอันใดที่จะกลายมาเป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย ข้าพเจ้าสังเกตว่ามีผู้เข้าใจระบอบประชาธิปไตยผิด โดยเอาระบอบอนาธิปไตยเข้ามาแทนที่ ซึ่งเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง  

ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้ใดเชื่อข้าพเจ้าโดยไม่มีค้าน ข้าพเจ้าต้องการให้มีค้าน แต่ค้านโดยสุจริตใจ ไม่ใช่ปั้นข้อเท็จจริงขึ้น ทางธรรมนั้นการกล่าวเท็จหรือมุสาวาจาก็เป็นผิด  ในทางการเมือง การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยต้องทําโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังส่วนรวมจริง ๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยาอันเป็นมูลฐานเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอ็กโกอีสม) ความสามัคคีธรรมหรือระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงจึงจะเป็นไปได้ 

ผู้ใดมีอุดมคติของตนโดยสุจริต ข้าพเจ้าเคารพในผู้นั้นและร่วมมือกันได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถึงต่างฝ่ายต่างสุจริตมุ่งส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว แม้แนวทางที่จะเดินไปสู่จุดหมายจะเป็นคนละแนว แต่ในอวสาน เราก็พบกันได้  ข้าพเจ้าขออ้างเจ้านายหลายพระองค์ ซึ่งเดิมท่านมีแนวทางอย่างหนึ่งและข้าพเจ้ามีแนวทางอีกอย่างหนึ่ง แต่เจ้านายหลายพระองค์นั้นท่านก็มีจุดหมายเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่ส่วนพระองค์ ผลสุดท้าย เราก็ร่วมมือทํางานด้วยกันมาเป็นอย่างดีในการรับใช้ชาติและรักใคร่สนิทสนมยิ่งเสียกว่าผู้ซึ่งเอาประเทศชาติเป็นสิ่งกําบัง แต่ความจริงมุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตัวมาก ผู้ที่คอยอิจฉาริษยา เมื่อไม่ได้ผลสมหวังแล้ว ก็ทําลายกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แทนที่จะเสริมก่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม 

ผู้ที่ทําการเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎร แต่โดยมีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์ พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคารพในความซื่อสัตย์ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากหลายที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้ร่วมกิจการรับใช้ชาติกับข้าพเจ้า ท่านเหล่านี้ไม่ต้องวิตกกังวล แต่ผู้ซึ่งแสดงว่าซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในภายนอก ส่วนภายในหวังผลส่วนตน หรือมูลสืบเนื่องมาแต่ความไม่พอใจเป็นส่วนตัวเช่นนี้แล้ว ก็เกรงว่าผู้นั้นก็อาจหันเหไปได้ สุดแต่ว่าตนจะได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างไหนมากกว่า 

ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายคงจะใช้สิทธิของท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ และอาศัยกฎหมายและศีลธรรมความสุจริตเป็นหลัก ไม่ช่วยกันส่งเสริมให้มีระบอบอนาธิปไตย ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้ต่อท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการและปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยความสามัคคีธรรม ระบอบประชาธิปไตยโดยพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรมนี้เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ 

ข้าพเจ้าขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลนี้ด้วยดี ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายประสบความสุขความสําราญ และในอวสาน ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายอวยพร ให้ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่ง พร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ จงสถิตสถาพรอยู่ในประเทศไทยชั่วกัลปาวสาน” 

จากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวตอบว่า

“ท่านนายกรัฐมนตรี 

วันนี้เป็นวาระสุดท้ายที่จะได้มีการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้น ก็ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าเพราะเหตุที่สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหรือมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประเทศชาติ พระราชประสงค์ที่ได้ตั้งพระทัยไว้ ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้เราทั้งปวงได้ทราบนั้นเป็นเหตุอันหนึ่งที่ทําให้การบ้านเมืองได้เป็นมาอย่างราบรื่น และการดําเนินงานในหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นไปอย่างที่ไม่มีชาติใดคิดหวังว่าจะทํามาได้ เพราะฉะนั้น ที่ท่านนายกรัฐมนตรีขอให้ท่านมีผู้มีเกียรติทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้ ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงมีพระทัยที่จะพระราชทานไว้ก่อน แต่ที่ไม่มีโอกาสจะพระราชทานและได้มาพระราชทานในตอนหลังนี้ ก็สมควรอย่างยิ่งซึ่งท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายควรจะจารึก และในนามของสมาชิก ข้าพเจ้าขอให้จารึกไว้อีกวาระหนึ่ง 

เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว คณะราษฎรได้ทําหน้าที่อย่างไร ข้าพเจ้าได้รับเชิญเข้ามาอยู่ในฐานะที่จะยกย่อง แต่ขอเรียนให้ทราบว่า ก็ได้ทํางานทุกสิ่งทุกอย่างจนเป็นผลเอาตัวรอดมาเป็นไทได้ทุกวันนี้ ก็เพราะคณะราษฎรหรือผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะราษฎร และที่ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่า ท่านได้ตั้งใจ ไม่ใช่แต่บัดนี้ เป็นเวลานานมาแล้ว ที่จะรักษาและจะหามาซึ่งประชาธิปไตยให้ประเทศไทยนั้น ข้าพเจ้าขอเรียนด้วยความเคารพว่า ท่านสมาชิกทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็ได้ซาบซึ้งไม่เฉพาะแต่คําพูดของท่าน ได้ซาบซึ้งในการกระทําของท่านตั้งแต่เดิม มาจนบัดนี้ไม่เป็นที่สงสัยแต่ประการใดเลย 

และขอเรียนให้ทราบในที่นี้ว่า ถึงแม้ว่าอยู่เย็นเป็นสุข ความคิดระลึกที่จะไปหาท่านนายกรัฐมนตรีอันเป็นที่เคารพนับถือนี้ก็น้อย แต่เมื่อมีทุกข์มีร้อน มีความจําเป็นยุ่งยากแล้ว ข้าพเจ้าเองเป็นผู้อื่นที่ถูกเรียกเข้ามาใช้ ได้ไปรบกวนท่าน ท่านไม่เคยปฏิเสธแม้แต่เวลาเดียว 

คนที่เคยช่วยเหลือนอกจากผู้ก่อการ (24 มิถุนายน) ก็มีเป็นจํานวนมาก ข้าพเจ้าขอเป็นพยานในที่นี้ว่า ท่านได้ดํารงตัวของท่านมาอยู่ในความสัตย์ความจริง ในความบริสุทธิ์ สมควรที่เราจะเคารพนับถือ และแม้ในคราวสุดท้ายที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อได้ไปหาท่านด้วยได้รับมอบหมายจากท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายนี้ท่านยินดีรับ ก็ทําให้ข้าพเจ้าผู้มีหน้าที่ในฐานะที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรหมดความห่วงใย และยังมีหวังว่าท่านจะแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ของการกระทําที่ได้เป็นมาแล้วให้ตลอดรอดฝั่ง และท่านก็ได้แก้ไขสัญญาการให้ข้าวเปล่า (แก่อังกฤษ ตามสัญญาสมบูรณ์แบบ) ได้เป็นการซื้อขาย และแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนได้มีกิตติศัพท์ว่า ไทยเรานี้เป็นคนแปลก เวลาทํา เถียงกันเสียเกือบแย่ทุกแง่ทุกมุม แต่ถึงเวลาเอาจริงเอาจัง ในวาระที่ 3 มาให้คะแนนเสียง ซึ่งคนต่างประเทศพูดกับข้าพเจ้าว่า ไม่เคยคิดเคยฝันเลย 

การทั้งนี้สมาชิกทั้งหลายย่อมระลึกเสมอว่าเป็นด้วยผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาฯ จึงจะทําได้ ผู้ที่สามารถทําได้ก็ไม่ใช่คนอื่น คือ ท่านนายกรัฐมนตรีคนนี้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอเรียนต่อท่านด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ยกย่องว่า ถ้าไม่ได้ท่านนายกรัฐมนตรีนี้แล้ว รัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสจะแก้ไขให้เป็นไปได้เลย แต่ที่แก้ไขมาได้ ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่เป็นเกียรติของสภาผู้แทนราษฎร เป็นเกียรติศักดิของชาติไทย และเป็นเกียรติศักดิของท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้ด้วย 

เพราะฉะนั้น ในวาระสุดท้ายนี้ ในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าขออํานวยพรให้ท่านนายกรัฐมนตรีที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป  และขอให้ท่านรัฐมนตรีทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุข และขอให้มีโอกาสทำงานเพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในเวลาต่อไปให้มากยิ่งกว่าที่เคยได้ทำมาแล้ว ให้สมตามความปรารถนาของคนโดยมาก”

 

ที่มา: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549), น. 371-379.