ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ การประกอบรัฐบาลของประชาชน (ตอนที่ 19)

15
กันยายน
2567

 

ตามที่จอมพลพิบูลสงครามให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่า โดยที่การให้ความไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกิจของสภาล่าง ฉะนั้นจึงกะว่าจะเลือกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาล่างเกินกว่าถึงจํานวนของรัฐมนตรีทั้งหมด คือกะว่าจะเลือก ๑๕ คน จากรัฐมนตรี ๒๖ คน (รวมทั้งนายกรัฐมนตรี)

ตามที่จอมพลพิบูลสงครามซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าจะได้รับมอบให้จัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ได้มีความคํานึง ดังนี้เป็นข้อที่น่ายินดีอย่างยิ่ง หลักรากฐานของประชาธิปไตยนั้นได้แก่ความเป็นใหญ่ของปวงชนในการปกครองแผ่นดิน อํานาจสุดท้ายในการบังคับการแผ่นดินอยู่ที่ปวงชน อํานาจเกรียงไกรของปวงชนดังว่านี้แสดงออกโดยการออกเสียงของประชาราษฎร สภาผู้แทนเป็นสภาที่แทนอํานาจของปวงชนเป็นสภาที่แทนประชามติ เหตุฉะนั้นจึงมีธรรมนิยมว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนจะได้รับมอบให้ทําการปกครองตามเวลาที่กําหนดองค์อํานาจอื่น ๆ ในรัฐจะเป็นกษัตริย์หรือสภาสูงก็ดีต้องหลีกทางให้แก่มติของสภาผู้แทนผู้ได้อํานาจเกรียงไกรมาจากการออกเสียงของปวงชน

การที่จะเรียกการปกครองชนิดหนึ่งว่าเป็นการปกครองประชาธิปไตยนั้น จะต้องมีระเบียบวิธีที่จะให้รูปการณ์ได้ปรากฏออกมาโดยชัดแจ้งว่าปวงชนได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจริง ๆ เหตุฉะนั้น เราจึงมีความยินดีที่จอมพลพิบูลสงครามได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่า โดยที่การให้ความไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกิจของสภาล่างจึงกะว่าจะเลือกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาล่างเกินกว่ากึ่งจํานวนของรัฐมนตรีทั้งหมด คือกะว่าจะเลือก ๑๕ คน จากรัฐมนตรี ๒๖ คน (รวมทั้งนายกรัฐมนตรี) ข้อยินดีของเราไม่ได้หมายถึงว่า ด้วยการคัดเลือกบุคคลเป็นรัฐมนตรีตามเกณฑ์นี้ จะทําให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ขึ้นมาโดยพลัน

แท้ที่จริงในขณะนี้เราอยู่ห่างไกลเหลือเกินต่อการที่จะเรียกประเทศของเราว่าประชาธิปไตย ข้อยินดีของเราจึงเป็นแต่ข้อยินดีที่ได้เห็นความคิดคํานึงของมุขบุรุษผู้หนึ่ง บ่ายไปสู่ทิศทางอันจะดําเนินเข้าร่องรอยแห่งประชาธิปไตย เราสนับสนุนการกระทําทุกอันที่จะดําเนินเข้าสู่ร่องรอยแห่งประชาธิปไตย ความเห็นที่เคยมีกันมาไม่ขาดสายนั้น ได้แก่ความเห็นที่ว่า พวกที่เป็นผู้แทนราษฎรซึ่งมากกว่า ๘๐ เปอร์เซนต์มาจากบ้านนอกนั้น ยังใหม่ต่อราชการงานเมือง

ฉะนั้น ในการประกอบคณะรัฐมนตรี (ไม่นับพวกผู้ก่อการซึ่งเป็นพวกมีบุริมสิทธิ) จึงได้มีการพยายามที่จะดึงเอาพวกข้าราชการหรือขุนนางเก่าเข้าร่วมในคณะรัฐบาลเพราะเหตุว่าเป็นผู้สันทัดในราชการงานเมือง ความเห็นเช่นนี้มองดูในแง่หนึ่งก็ดูเป็นคุณแก่ราชการของประเทศ แต่ถ้ามองดูในแง่ที่จะทํานุบํารุงหลักการปกครองประชาธิปไตยให้เป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ประชาชนแล้วจะได้ผลในทางตรงกันข้าม เพราะว่าการที่นําเอาข้าราชการผู้ใหญ่ที่มิได้เป็นผู้แทนราษฎรเข้ามารับตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีก็เป็นเครื่องชวนให้คนทั้งหลายมีความคิดนึกเกาะเกี่ยวอยู่กับระบอบเก่า...(ต้นฉบับขาด)...และพนักงานของรัฐบาลก็มักจะนึกว่าตัวยังคงเป็นนายของประชาชนอยู่เช่นเดิมการแสดงอํานาจบาทใหญ่ต่อประชาชนจึงคงมีอยู่ไม่ขาดแม้ในทุกวันนี้

อีกประการหนึ่ง ความสันทัดราชการของท่านข้าราชการรุ่นเก่าเหล่านั้นก็เป็นความสันทัดจัดเจนตามแบบแผนราชการอย่างเก่า และโดยที่ท่านเหล่านั้นไม่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับราษฎรโดยใกล้ชิดจึงเป็นการไม่ง่ายที่ท่านจะปรุงแต่งความคิดนึกของท่านให้กลมกลืนกับความประสงค์ของประชาราษฎร จริงอยู่ ในบรรดาท่านข้าราชการรุ่นเก่าเหล่านั้น มีไม่น้อยท่านที่ทรงคุณวุฒิเด่นในวิชาการบางอย่างอันจะหาผู้ทัดเทียมได้ยาก ดังนั้น ก็สมควรจะต้อนรับบริการของท่านไว้ในฐานเป็นผู้เชี่ยวชาญ อนึ่ง บางท่านซึ่งมีความคิดในทางก้าวหน้าและมีคุณลักษณะกลมกลืนกันกับราชการฝ่ายการเมือง ก็อาจเป็นการสมควรที่จะเชิญท่านเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี การที่จะมอบตําแหน่งรัฐมนตรีให้แก่บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของราษฎรนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิเด่นจริง ๆ อีกทั้งเป็นผู้มีอัธยาศรัยอันเป็นที่เชื่อถือได้ว่าเป็นผู้ที่สนใจในประโยชน์ของประชาราษฎร และมุ่งส่งเสริมหลัก การที่ว่าอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนจริง ๆ ถ้าตรวจรายนามรัฐมนตรีที่มิได้มาจากราษฎรในคณะรัฐบาลปัจจุบัน ดูแล้ว เราจะเห็นว่ามีรัฐมนตรีไม่น้อยท่านที่จะว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเด่นหรือมีประวัติการงานอันแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ใฝ่ใจใน สาธารณะกิจก็ว่าไม่ได้ถนัดแต่สักอย่างเดียว เหตุฉะนั้นการที่ท่านเหล่านั้นบางท่านได้รับเลือกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก

(จากซ้ายไปขวา) ดร. ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล และ จำลอง ดาวเรือง

จริงอยู่ในชั้นต้นนี้ การคัดเลือกผู้แทนราษฎรเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีอาจได้บุคคลที่ทรงคุณวุฒิและมีความจัดเจนในราชการถึงขนาดมาตรฐานไม่ครบถ้วน แต่ถึงกระนั้น เราก็ควรจะมุ่งหน้าดําเนินไปในทางนั้น เมื่อเราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้ปกครองโดยผู้แทนของราษฎร และประสงค์ที่จะตัดอํานาจต่าง ๆ มิให้เข้ามาก้าวก่ายยุ่มย่ามในการบริหารประเทศ เราจะเห็นว่าในชั่วเวลา ๑๐ ปีเศษ ทั้งที่ประชาธิปไตยได้ดําเนินมาอย่างโขยกเขยกเต็มทน สภาผู้แทนก็ได้ผลิตนักการเมืองที่สามารถสัตย์ซื่อ และที่มาจากบ้านนอกหลายนาย อาทิ ท่านรัฐมนตรีจากภาคอิสานทั้งสามที่ได้ถูกลอบประหารวายชนม์ไปเมื่อ เร็ว ๆ นี้[1] และยังมีอีกมากท่านทั้งที่อยู่ในสภาผู้แทนปัจจุบัน และมิได้อยู่ในสภา

นอกจากนั้นประเทศของเราก็เคยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรแล้วถึง ๓ ท่าน ได้แก่ นายควง อภัยวงศ์ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และนายพลเรือตรีถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ อนึ่ง ในการเลือกตั้งภายหลังสงครามก็ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิและมีเกียรติสมัครเข้ารับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรเป็นอันมาก เราจึงคาดได้ว่า ในเวลาไม่ช้าธรรมนิยมประชาธิปไตยที่ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้งของราษฎรจะได้รับการสถาปนาและถือเป็นหลักปฏิบัติอันหนักแน่นเพราะฉะนั้น เราก็ไม่มีเหตุจะต้องวิตกว่า เราจะมิได้รัฐมนตรีที่สามารถที่มาจากผู้แทนราษฎร และที่สนใจในประโยชน์ของราษฎรจริง ๆ ถ้าเพียงแต่เราทั้งหลายจะพร้อมใจกันหันหน้าดําเนินเข้าสู่ร่องรอยประชาธิปไตย และนายกรัฐมนตรี...(ต้นฉบับขาด)...ควบคุมกําลังต่าง ๆ ให้อยู่ในระเบียบวินัยอันเคร่งครัดจะได้กําชับพนักงานของรัฐบาลอย่าให้ใช้อํานาจพลการ กระทําการข่มขู่กรรโชกใด ๆ ให้เกิดความหวาดกลัวภัยในทางการเมือง และถ้าได้มีการข่มขู่กรรโชกเกิดขึ้นเมื่อใด นายกรัฐมนตรีได้จัดการปราบปรามลงโทษโดยพลันแล้ว

เราเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป คนที่มีปัญญาที่ยังมีอยู่ไม่น้อย ก็คงยินดีจะเสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาราษฎรมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราขอให้ความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีที่จะคัดเลือกผู้แทนราษฎรเข้าร่วมในคณะรัฐบาลได้ดําเนินลุล่วงไปด้วยดี เราหวังว่าบรรดาผู้แทนของเราจะเข้าใจดีว่าประชาราษฎรเมื่อได้เลือกผู้แทนของเขาแล้วก็ได้ฝากชะตากรรมของเขาและประเทศของเขาไว้แก่ผู้แทนและก็ปรารถนาว่าผู้แทนของเขาจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยการรักษาเกียรติยศและด้วยความภักดีต่อประโยชน์ของประชาราษฎรตลอดกาล

 

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 24 มิถุนายน พ.ศ. 2492

 

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, การประกอบรัฐบาลของประชาชน ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 231-232.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

 

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] หมายถึงการลอบสังหารสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคอีสาน 3 ท่าน คือ นายจําลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีกลุ่มนายปรีดีสายพลเรือนชุดนี้ถูกสังหาร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ภายหลังเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” ผ่านไปเพียง 6 วัน บก.