ท่านปรีดี พนมยงค์ ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในคราวแรกเป็นเวลา 68 วัน คือเพียง 2 เดือนเศษ ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2489 ท่านปรีดีฯ กล่าวว่าท่าน “ได้แจ้งแก่ประธานสภาฯ และสมาชิกที่ได้มาขอร้องให้รับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นว่า ขอให้เป็นที่เข้าใจว่ารับตําแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น แล้วจะขอลาออกเพื่อให้สมาชิก (สภาฯ) พิจารณาหาผู้อื่นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป” โดย “ความบริสุทธิ์ใจที่มิได้มีความทะเยอทะยานที่จะได้ตําแหน่งนายกรัฐมนตรี” ดังนั้น เมื่อได้อยู่ในตําแหน่งดังกล่าวมาได้ 2 เดือนเศษ ท่านก็กราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่งตามที่ได้กล่าวไว้
- คณะรัฐมนตรีของท่านปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยบุคคลที่มีประวัติอันดี เป็นที่รู้จักและยอมรับของประชาชน คือ
- พลโท จิระ วิชิตสงคราม (หลวงวิชิตสงคราม) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- นายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- นายดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
- พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฒวิบูลย์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- นายสงวน จูฑะเตมีย์ (หลวงนฤเบศรมานิตย์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา (หลวงสุนทรเทพหัสดิน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม (หลวงเชวงศักดิ์สงคราม) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- หลวงชํานาญนิติเกษตร (อุทัย แสงมณี) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- ดร. เดือน บุนนาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
- ขุนระดับคดี (ปัญญา รมยานนท์) เป็นรัฐมนตรี
- นายวิโรจน์ กมลพันธ์ เป็นรัฐมนตรี
- พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ เป็นรัฐมนตรี
- นายอิ้น บุนนาค (พันเอก พระยาสุรพันธเสนีย์) เป็นรัฐมนตรี
ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475" คือ นายดิเรกฯ นายทวีฯ หลวงนฤเบศร์ฯ หลวงสุนทรฯ หลวงเดชาฯ หลวงเชวงฯ หลวงชํานาญฯ และพันเอก ทวนฯ
ในระหว่างเวลา 2 เดือนเศษ คือ ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2489 ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องสําคัญ ๆ ลุล่วงไปหลายเรื่อง อาทิ
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2489 ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการต่อต้านการดําเนินสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. 2489 เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งสภาฯ รับหลักการและลงมติเมื่อวันที่ 18 เมษายน ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2489 นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้แจ้งต่อสภาฯ ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งเพิกถอนเงินของรัฐบาลไทยที่กักกันไว้แล้ว เงินดังกล่าวถูกกักกันเมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2489 ท่านปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงเรื่องการเจรจาเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับสัมพันธมิตร เรื่อง “สัญญาสมบูรณ์แบบ” ดังต่อไปนี้
รัฐบาลมีเรื่องที่จะแจ้งให้สภาทราบ 2 เรื่อง คือ เรื่องต้นเป็นเรื่องซึ่งเมื่อวานนี้ทางรัฐบาลได้ทําข้อตกลงกับทางฝ่ายอังกฤษในเรื่องการแก้ไขสัญญาสมบูรณ์แบบ อันว่าด้วยการที่เราจะต้องส่งข้าวให้แก่ฝ่ายอังกฤษเปล่า ๆ นั้น บัดนี้ได้มาทําความตกลงกันว่า แทนที่ฝ่ายไทยจะส่งข้าวให้แก่อังกฤษเปล่า ๆ นั้น แต่นี้ต่อไปทางฝ่ายอังกฤษเป็นฝ่ายที่จะได้มาซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย
สาระในข้อตกลงนั้นมีอยู่ในคําแถลงร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และไทย ซึ่งได้แจกไปยังท่านสมาชิกทั้งหลายแล้ว แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องซึ่งทางฝ่ายอังกฤษได้ยืนยันตั้งแต่ครั้งรัฐบาลคุณควง (อภัยวงศ์) และต่อมาในรัฐบาลปัจจุบันนี้ เมื่อได้รับเรื่องนี้ขึ้น ก็ได้พิจารณาโดยถี่ถ้วนถึงว่า ถ้าเราจะพิจารณาตัวเลขเก่าของเราที่มีอยู่ในขณะที่เซ็นสัญญา ซึ่งตามความเดิม ตามตัวบทสัญญาที่เซ็นที่สิงคโปร์นั้นเราจะต้องส่งมอบข้าวเปล่าข้าวให้ตามจํานวนข้าวที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเราวินิจฉัยได้ยากว่าจํานวนข้าวที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นจํานวนเท่าใด ส่วนสัญญาใหม่นั้นก็เป็นสัญญาซึ่งเขาขอรับซื้อข้าวจากเราเป็นจํานวนล้านสองแสนตัน แต่ถ้าหากว่าเราไม่สามารถที่จะส่งได้ภายใน 12 เดือน คือจํานวนที่เขาขาดอยู่เท่าไร (จํานวนที่ไทยส่งให้อังกฤษได้ไม่ครบ 1.2 ล้านตัน) ก็เป็นเรื่องซึ่งเราจะต้องส่งข้าวให้แก่เขาเปล่า ๆ ตามที่ได้ตกลงกัน
ในการที่รัฐบาลได้มาบริหารงาน ก็เป็นห่วงถึงเหตุ 2 ประการ ประการที่ 1 เราจะมีข้าวพอหรือไม่ และ 2 เมื่อเรามีข้าวพอแล้ว ปัญหาเรื่องการขนส่ง เราสามารถจะขนส่งได้หรือไม่ รัฐบาลได้พยายามพิจารณารายละเอียดถึงจํานวนข้าวว่า เราจะมีอยู่หรือไม่ ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า ข้าวในรุ่นนี้เราก็ยังพอมีอยู่พอสมควร และมีหวังว่า การทํานาในปีต่อไปโดยวิธีการที่ทางรัฐบาลได้สนับสนุนและช่วยเหลือชาวนา และด้วยความเต็มอกเต็มใจของชาวนาที่จะช่วยกันทํานาให้ได้ผลแล้ว จํานวนข้าวนี้ก็พอที่สามารถจะส่งไปได้ คือ ทั้งข้าวปีนี้และข้าวปีหน้า ทีนี้ก็เหลืออยู่ในเรื่องการขนส่ง รัฐบาลและท่านทั้งหลายก็ย่อมจะทราบดีว่า การขนส่งนั้น เนื่องจากมหาสงครามคราวนี้ ทางรถไฟของเราได้รับความชอกช้ําเป็นอันมาก เราขาดทั้งรถจักร รถตู้ ตลอดจนสะพานหลายแห่งได้ถูกทําลาย แต่เมื่อได้เจรจากัน เราได้รับผล คือ สะพานบ้านดารานั้น ทางสหประชาชาติเขาจะซ่อมให้ และได้ลงมือจัดการซ่อมแล้ว เป็นที่หวังว่า ในปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน สะพานบ้านดาราคงสําเร็จลง ส่วนทางกรุงเทพฯ คือ สะพานพระราม 6 นั้น ได้ตกลงที่จะจัดเป็นเรือข้ามมาให้ เวลานี้ได้เริ่มลงมือมาแล้ว 2-3 วัน ที่ได้ชี้แจงมานี้ คิดว่าราว 7 อาทิตย์ เรือข้ามตอนสะพานพระราม 6 นี้ก็จะใช้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รถตู้ของเราที่อยู่ทางปักษ์ใต้ก็ดี หรือทางเหนือก็ดี จะได้เอามาใช้ระดมในการขนนี้ได้ แต่แม้กระนั้นก็ตาม จํานวนรถตู้ของเราก็ได้รับความชอกช้ํา จึงได้ให้ที่ปรึกษาการคลังไปสิงคโปร์ ไปพบกับลอร์ดคิลเลอร์น เมื่อรัฐบาลเข้าบริหารงานใหม่ ๆ ท่านลอร์ดคิลเลอร์น (ผู้สําเร็จราชการของอังกฤษในเอเชียอาคเนย์ภายหลังสงคราม) ก็ได้มาประเทศไทย และได้บินกลับไปเมื่อเช้านี้เอง นี่ก็เป็นที่หวังได้ว่ารถจักรและรถตู้ที่อยู่อินเดียอันเป็นทรัพย์สมบัติของอเมริกานั้น เราก็จะได้ดําเนินการเจรจาขอซื้อมาเป็นจํานวนรถจักร 30 คัน และรถตู้ประมาณ 1,300 คัน และนอกจากนั้นยังได้สั่งรถจักรมาจากอเมริกาอีก นี่ต้องการเวลานานพอสมควร และในการขนส่งทางน้ํา เราก็ยังขาดอีกหลายแห่ง ขาดทั้งเครื่องเรือ ขาดทั้งน้ํามัน แต่เมื่อได้รับความมั่นใจและความหวังที่การขนส่งทางน้ํา เราก็จะได้อิมปรู้ฟให้ดี แล้วปัญหาการขนส่งนี้ก็จะได้เป็นทางพอที่จะทําได้
ต่อมาก็เหลือในเรื่องราคา ซึ่งได้พูดจาโต้ตอบกันมาเป็นเวลาช้านาน ปัญหาในเรื่องราคานี้ก็ยังไม่ตกลงกัน จนกระทั่งผู้แทนของฝ่ายอังกฤษอเมริกาที่ประจําอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นองค์การข้าวของเขา ได้บินไปอังกฤษเมื่อประมาณสัก 1 อาทิตย์ ได้ไปพยายามเจรจาทางโน้นก็เป็นผลสําเร็จ ได้รับโทรเลขในเรื่องราคาข้าวที่เขาตกลงจะรับซื้อเมื่อวานซืนนี้ คือ จะถือว่า 1 ตัน คือ ลองตัน เป็นราคาข้าว 12 ปอนด์ 14 ชิลลิง ถือมาตรฐานของข้าวหัก 35 เปอร์เซ็นต์ คือ ถ้าข้าวมีจํานวนหักมากกว่านี้ ราคาก็ลดลงตามสมควร ถ้าหักน้อยลงไปก็เพิ่มตามสมควร ส่วนข้อที่ผิดแปลกไปจากเดิมนั้น เป็นราคาขนส่งไปจนถึงเกาะสีชัง แต่ตอนหลังเห็นว่า การขนส่งไปถึงเกาะสีชังจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เรือไลท์เตอร์ที่จะนําไปที่เกาะสีชัง จะเป็นการลําบากตลอดจนกระสอบป่านที่จะหามาก็ลําบาก ผลสุดท้ายก็ต้องสั่งกระสอบป่านจากเขา จึงได้ตกลงวิธีใหม่ ถือว่าราคาข้าวไม่รวมทั้งกระสอบด้วย ให้เขาหามา เมื่อเราสีข้าวเสร็จแล้ว ก็ขนมาลงเรือไลท์เตอร์ของเขา แล้วชําระเงินกันที่โรงสี ไม่ใช่ชําระเมื่อถึงเกาะสีชังหรือถึงเมืองนอก เพราะราคา 12 ปอนด์ 14 ชิลลิงนี้ ถ้าเทียบกับก่อนสงครามแล้ว ก็เห็นว่าเป็นราคาข้าวที่ดี เมื่อก่อนสงคราม ราคา 8 ปอนด์ต่อ 1 ลองตัน นอกจากปีที่อัตคัดเหลือเกินจึงถึง 12 ปอนด์
ส่วนข้อปลีกย่อยที่ตกลงกัน คือ ในเรื่องพรีเมี่ยม ได้ตกลงกันว่า ถ้าหากว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ เราจะส่งข้าวให้ได้เท่าไรแล้ว เขาก็จะเพิ่มให้อีก 3 ปอนด์ หมายความว่า ในตอนต้นราคาข้าวที่เราจะส่งให้เขาในเดือนพฤษภาคมนี้ราคาไม่ใช่ 12 ปอนด์ 14 ชิลลิง เป็นราคา 15 ปอนด์ 14 ชิลลิง ทีนี้ถ้าหากว่าเราส่งให้เขาก่อนวันที่ 15 มิถุนายน คือระหว่างวันที่ 1 มิถุนายนถึงวันที่ 15 มิถุนายน ก็ได้พรีเมี่ยม 2 ปอนด์ ก็กลายเป็น 14 ปอนด์กับ 14 ชิลลิง ส่วนราคาต่อไป คือ คงที่ 12 ปอนด์ 14 ชิลลิง นี่เป็นราคาข้าวสารโดยมาตรฐาน 35 เปอร์เซ็นต์ของข้าวหักที่เจือปนลงไป ส่วนราคาข้าวเปลือกนั้น ก็จะต้องคิดว่าส่วนสัมพันธ์กันตามส่วน ซึ่งเมื่อได้พิจารณาดูโดยถ่องแท้แล้ว ก็เห็นว่าราคาข้าวที่ได้ตกลงนั้นเป็นราคาอันสมควร และถึงอย่างไรก็ดี สิ่งสําคัญที่ควรคํานึง ก็คือ เมื่อเราได้ตกลงไปเช่นนี้แล้ว การที่เราจะต้องซื้อข้าวให้เขาเปล่า ๆ นั้น หมายความว่าเราได้รับศูนย์ ต่อมาก็ได้รับเพิ่มขึ้น และราคานั้นไม่ใช่ราคาตกต่ํา เป็นราคาที่สมควรและประกอบทั้งมีพรีเมี่ยมอย่างงามทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ทางรัฐบาลจึงได้ตกลงที่จะทําข้อตกลงอันนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับอัครราชทูตอังกฤษได้ลงนามอักษรย่อไว้และใช้บังคับได้ทันที ให้มีผลว่า ข้าวที่เราจะส่งไปให้เขาเปล่า ๆ ตามข้อตกลงสมบูรณ์แบบนั้นเป็นอันยกเลิกไป บัดนี้เรายังรอที่จะตกลงข้อสัญญาระหว่าง 3 ฝ่าย คือ สหรัฐอเมริกา กับไทย และอังกฤษ ซึ่งหวังว่าในเวลาอีกไม่กี่วัน ข้อตกลงทั้ง 2 ฝ่ายเกี่ยวกับข้าวและเครื่องอุปโภคบริโภคนี้ก็คงตามมาที่เรารออยู่นี้ ก็เพื่อจะขอแก้ข้อความบางประการ ซึ่งรัฐบาลทางโน้นเขากําลังพิจารณาอยู่
นอกจากนั้น ยังได้รับคํามั่นอีกหลายอย่างหลายประการในเรื่องที่เราจะได้รับเครื่องอุปโภคบริโภคที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทย จึงเห็นว่า ข้อตกลงอันนี้เป็นข้อตกลงที่ปลดเปลื้องภาระของเราไป เราจะได้รับเงินปอนด์ซึ่งเป็นเงินที่เราสามารถจะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคเข้ามาสู่ประเทศได้ เราไม่ต้องตั้งงบประมาณซื้อข้าวให้แก่สหประชาชาติ ทําให้เราได้ใช้จ่ายเงิน ถ้าหากว่ามีรายได้พอจะบํารุงประเทศของเราในทางอื่น และเราก็สามารถที่จะแบ่งเบางบประมาณของเราลงไปได้เป็นจํานวนหลายร้อยล้านบาท
เมื่อเราได้ตกลงกับอังกฤษเช่นนี้แล้ว ปัญหาจึงคิดถึงว่า การกําหนดค่าปริวรรตแห่งเงินตราของเรา (อัตราแลกเปลี่ยน) นั้น ควรจะทําสถานใดดี เมื่อเราได้มีเงินปอนด์ที่จะเข้ามา ถ้าหากว่าส่ง (ข้าว) ได้ตามนี้แล้ว ปีหนึ่งคงราว 15 ล้านปอนด์ แม้แต่เพียงเท่านี้ เราก็สามารถที่จะเพิ่มค่าน้ําเงินของเราให้ดีกว่าทุกวันนี้ เหตุฉะนั้น เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าจึงได้เซ็นกฎกระทรวงคลังที่ได้ออกตามพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน เพิ่มค่าของเงินบาทลงไป โดยถืออัตราทองคําบริสุทธิ์ ดังนี้ คือ ให้เพิ่มค่าของบาทเท่ากับทองคําบริสุทธิ์น้ําหนัก 0.02029 และได้อนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับหรือจ่ายปอนด์สเตอลิงหรือดอลลาร์สหรัฐอเมริกาแลกเปลี่ยนทันทีกับธนบัตรไทย ณ สถานที่ใดและอัตราใด นอกจากนี้จะกําหนดเป็นครั้งคราวให้ คือ ให้กําหนด 40 บาท เท่ากับ 1 ปอนด์ หรือ 100 บาท ต่อ 10 เหรียญ 7 1/2 เซ็นต์ และคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มและลดแล้วแต่กรณี คือหมายความว่าเราเพิ่มค่าเงินบาทของเราแทนที่จะเป็น 60 บาท ต่อหนึ่งปอนด์ หรือ 15 บาท ต่อหนึ่งดอลลาร์ นี่เป็นสเตปแรกที่เราสามารถจะทําได้ ในอัตราเงินนี้จะรักษาไว้ภายใน 12 เดือนนี้ เราจะรักษาให้คงที่ไว้อย่างนี้ และด้วยกําลังเงินของเราทุนสํารองที่มีอยู่นั้นก็เชื่อว่าเราสามารถที่จะรักษาค่าของปริวรรต (อัตราแลกเปลี่ยน) ใน 12 เดือน นี้ได้ด้วยประการเช่นนี้
นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้มีหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่จะขอให้เพิกถอนเงินที่ได้กักกันไว้ทางอังกฤษประมาณ 15 ล้านปอนด์ และได้รับตอบจากท่านนายกรัฐมนตรีอังกฤษแสดงความหวัง ทําให้ข้าพเจ้าเกิดความหวังอยู่ในยอด 15 ล้านปอนด์ ซึ่งอยู่ประเทศอังกฤษนั้น เราก็อาจจะได้รับความเห็นอกเห็นใจของทางฝ่ายท่านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ อีกประการหนึ่งยังมีทองคําของเราที่อยู่ในญี่ปุ่น ในญี่ปุ่นนี้มีอยู่ 2 ยอดด้วยกัน เป็นทองคําซึ่งได้มีขึ้นก่อนญี่ปุ่นเข้าเมือง (ก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484) ส่วนหนึ่ง ท่านทั้งหลายบางทีจะยังจําได้ว่า เมื่อก่อนญี่ปุ่นได้เข้ามายังประเทศไทยนั้น ญี่ปุ่นครั้งนั้นได้ถูกเขา (สหรัฐอเมริกา) ยึดเงิน และญี่ปุ่นได้มาหาข้าพเจ้าเมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีคลัง ที่จะมาเอาเงินบาทในเวลานั้น (เพื่อนําไปซื้อสินค้าเมืองไทย) ข้าพเจ้าได้พยายามเถียงและโต้เถียงกัน จนกระทั่งแทบจะโกรธกันยิ่งกว่าโกรธ หมายความว่า อาจจะเกิดระเบิดกันขึ้นได้ แต่ผลสุดท้าย ญี่ปุ่นยอมให้ทองคํา ทองคํานั้น เมื่อครั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีคลัง ได้สั่งให้นํามาครึ่งหนึ่ง และอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกครึ่งหนึ่งนั้นเป็นยอดหนึ่ง อีกยอดหนึ่งเป็นทองคําที่ได้มีเมื่อญี่ปุ่นขึ้นเมืองแล้ว (ระหว่างสงคราม) โดยเขามาเอาเงินบาทเรา (แลกกับเงินเยนของญี่ปุ่น) และบางครั้งก็ (สัญญาจะชําระคืน เป็นทองคํา) ทองคําบ้าง ทองคํานี้เมื่อครั้งญี่ปุ่นยอมแพ้ใหม่ ๆ ข้าพเจ้าได้เคยส่งโทรเลขไปถึงท่านลอร์ดหลุยส์ (เมาท์แบทเตน) ที่จะเอาทองคําที่อยู่ในมือของฝ่ายสัมพันธมิตร (ในประเทศญี่ปุ่น) กลับคืนมา แต่เขาถือว่าทรัพย์สมบัติที่อยู่ในญี่ปุ่นนั้นจะต้องเป็นประกันชําระหนี้ของสัมพันธมิตรทั้งหลาย ตอนหลังข้าพเจ้าจึงขอแลกว่า ทองที่อยู่ญี่ปุ่นก่อนที่ญี่ปุ่นขึ้นเมืองและถือว่าทองคําอันนั้นเป็นทองคําที่ได้มา ถ้าจะพูดโดยทางอ้อมแล้ว ก็แปลว่าเราได้มีส่วนช่วยสัมพันธมิตรครั้งนั้น คือ ถ้าญี่ปุ่นได้เงินสะดวกในครั้งนั้นแล้ว การที่จะเข้ามารุกรานทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะเข้ามาสะดวกกว่านี้ แต่โดยเหตุที่เราเกี่ยงเรื่องทองคําหลายประการ ทองคํานี้กําลังเจรจาอยู่ และถ้าหากว่าเป็นโชคดีของประเทศเรา ได้ทองคําที่มีอยู่ก่อนสงครามเข้ามาทุ่มเทช่วยอนาคตของประเทศ เงินตราของเราจะดีขึ้น ที่กล่าวมานี้ เพียงแต่แสดงความหวังให้ท่านถึงฟิวเจอร์หรืออนาคตของเราว่าไม่มืดมน พอมองเห็นแสงสว่าง และปัจจุบันนี้เราก็สามารถที่จะรักษามาตรฐานการเงินของเราด้วยอัตรา 40 บาทต่อหนึ่งปอนด์ หรือ 10 บาท ต่อหนึ่งดอลล่าร์[1]
ถ้อยแถลงของท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อสภาผู้แทนราษฎรข้างต้นนี้อาจถือว่าเป็นการสรุปผลงานของท่านในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรก 68 วัน ภายหลังจากนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก็ได้มีรัฐพิธีลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสร็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อจากนั้นก็มีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญ 2489 ทำหน้าที่เป็น “องค์การเลือกตั้ง” (มีจำนวน 96 คน) สมาชิกพฤฒสภา จำนวน 80 คน การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาได้กระทำเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ศกเดียวกัน ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือกตั้ง ในวันที่ 1 มิถุนายน 2489 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และในวันนั้นเอง ท่านปรีดี พนมยงค์ และคณะรัฐมนตรี 68 วัน ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ
ที่มา: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549), น. 379-386.
[1] รายงานฯ สภาผู้แทนราษฎร ปี 2489 (สามัญ) ครั้งที่ 33.
- นายกรัฐมนตรี
- ปรีดี พนมยงค์
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
- สภาผู้แทนราษฎร
- จิระ วิชิตสงคราม
- ดิเรก ชัยนาม
- ทวี บุณยเกตุ
- พระยาสุนทรพิพิธ
- สงวน จูฑะเตมีย์
- สพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา
- หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์
- ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม
- หลวงชํานาญนิติเกษตร
- เดือน บุนนาค
- วิจิตร ลุลิตานนท์
- ปัญญา รมยานนท์
- วิโรจน์ กมลพันธ์
- ทวน วิชัยขัทคะ
- อิ้น บุนนาค
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- คณะราษฎร