ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : แลไปข้างหน้า (ตอนที่ 25)

27
ตุลาคม
2567

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์

 

ข้อน่าศึกษาจากการที่สภาผู้แทนได้ใช้เวลา ๑๒ วันและวุฒิสภาได้ใช้อีก ๓ วันอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นอกจากที่ได้ชี้แจงไว้แล้วในเรื่องประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน ยังมีเรื่องอื่นอีกจากการอภิปรายของสมาชิก มีปัณหาอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าจะนำมาใคร่ครวญต่อไป ปัณหานั้นได้แก่ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี เพราะเหตุที่นายกรัฐมนตรีเปนผู้รับภาระ และรับผิดชอบในการประกอบคณะรัฐมนตรีหรือร่วมรับผิดชอบกับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ประการหนึ่ง อีกทั้งความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีเปนความรับผิดชอบร่วมกัน เราจึงรู้สึกว่าสมาชิกฝ่ายค้านบางท่าน ออกจะให้ความสนใจมากไป ในการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐมนตรีเปนรายตัว จนถึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบางคนเพราะเหตุผลบางประการ รวมทั้งเหตุผลที่ว่ารัฐมนตรีบางคนยังหนุ่มเกินไปก็มี

จริงอยู่ นอกจากความรับผิดชอบร่วมกันแล้ว รัฐมนตรีแต่ละคนยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสภาโดยฉะเพาะตัวด้วย แต่ก็เปนที่ถือกันอยู่ว่า การประกอบรัฐบาลในระบบรัฐสภานั้นเปนการประกอบรัฐบาลที่จะไปบริหารประเทศตามนโยบายของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา ความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรีซึ่งเปนตัวแทนของพรรค จึงเปนลักษณะสาระสำคัญเหนือความรับผิดชอบของรัฐมนตรีเปนรายตัว เพราะว่าถ้ารัฐมนตรีแต่ละคนไปทำการพลาดพลั้งเสียหายร้ายแรงอย่างใดขึ้น ผลนั้นก็จะตกมาถึงรัฐบาลหรือพรรคการเมืองกลุ่มนั้นอยู่เอง

ถ้าการโจมตีความผิดพลาดหรือความเสื่อมเสียของรัฐนตรีเปนรายตัว มุ่งหมายจะทำลายความนิยมในรัฐบาลหรือพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลก็เปนอีกปัณหาหนึ่ง แต่ถ้าการโจมตีไปไกลจนถึงขีดเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปลดรัฐมนตรีผู้นั้น และตั้งผู้โน้นเปนรัฐมนตรี หรือถึงขีดเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ ย้ายไปว่าการกระทรวงโน้นแล้วเราเข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้อยู่นอกเขตต์ธุระของฝ่ายค้าน ธุระดังกล่าวนี้เปนธุระของนายกรัฐมนตรีหรือธุระของพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลโดยแท้ และมิใช่ธุระของฝ่ายค้านเลย อันที่จริงถ้าฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงตัวรัฐมนตรี และย้ายรัฐมนตรีจากกระทรวงหนึ่งไปอีกกระทรวงหนึ่ง และถ้านายกรัฐมนตรียอมรับคำเรียกร้องนั้นแล้ว ก็เท่ากับฝ่ายค้านสอดเข้าไปรับความรับผิดชอบในการประกอบคณะรัฐมนตรีด้วย หากมีความเสื่อมเสียเกิดขึ้นในภายหลัง รัฐบาลก็อาจยกเปนข้ออ้างได้ว่า ฝ่ายค้านก็มีส่วนรับผิดชอบในการประกอบคณะรัฐมนตรีเหมือนกัน

การชี้ความผิดพลาดเสื่อมเสียในการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีเปนรายตัว เปนคนละเรื่องกับการสอดเข้าเกี่ยวข้องกับการปลดและตั้งรัฐมนตรี การเรียกร้องให้ย้ายรัฐมนตรีจากระทรวงหนึ่งไปยังกระทรวงหนึ่ง เรื่องแรกเปนกิจหน้าที่ของฝ่ายค้านจะพึงกระทำและควรกระทำ แต่เรื่องหลังเปนเรื่องอยู่นอกวงธุระของฝ่ายค้าน เรื่องหลังอยู่ในขอบเขตต์ธุระของรัฐบาลและกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ดับไฟหนึ่งกองที่ลุกอยู่ข้างที่นอนของรัฐบาล หรือแลไม่เห็นว่ามีกองไฟลุกอยู่ข้างที่นอน ก็เปนธุระของรัฐบาลจะจัดการในเรื่องที่อยู่ในวงความรับผิดชอบของเขา การที่รัฐบาลไม่รับการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ก็แปลว่า รัฐบาลได้เอาความรับผิดชอบร่วมกันออกวางเปนเดิมพัน และพร้อมที่จะอยู่และไปพร้อมกันทั้งคณะ ซึ่งรัฐบาลมีสิทธิจะเลือกเอาได้

เราคิดว่า เมื่อรัฐบาลได้รับมติไว้ใจจากสภาผู้แทนแล้ว การที่จะรื้อฟื้นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวรัฐมนตรีขึ้นมาพูดกันอีกจะเปนอันไร้ประโยชน์และก็ดูจะมีผลในการช่วยหาทางออกให้แก่รัฐบาล หากจะมีการพลาดพลั้งเสียหายเกิดขึ้นในภายหน้า ในทางที่ถูกต้องแล้วควรจะปล่อยให้รัฐบาลได้ลงมือทำงานไปตามความคิดเห็น และตามคำรับรองของรัฐบาลต่อสภา ฝ่ายค้านมีกิจหน้าที่จะติดตามสอดส่องดูว่า รัฐบาลได้บริหารประเทศไปสมตามคำรับรองไว้หรือไม่ หรือบริหารได้ผลเสียผลอย่างไร และถ้าในระยะเวลาหนึ่งผ่านไปซึ่งเปนที่คาดหมายว่า รัฐบาลควรจะประกอบกิจ อันใดให้ลุล่วงไปได้ตามคำมั่นสัญญาต่อประชาชน หากไม่ปรากฏผลงานเปนชิ้นเปนอันขึ้นมา ก็เปนกิจของฝ่ายค้านที่จะสอดส่องวิพากษ์วิจารณ์แทนประชาชนต่อไป

นอกจากที่จะคอยวิพากษ์วิจารณ์แล้ว ฝ่ายค้านยังมีหน้าที่สาระสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการศึกษาสถานะการณ์ของประเทศโดยรอบด้าน และพึงมีแผนการอยู่พร้อมสรรพที่จะชี้แจงแก่ประชาชนได้ว่า ถ้าฝ่ายค้านได้รับมอบให้บริหารประเทศเมื่อใด ก็พร้อมที่จะเสนอแผนการเยียวยาอาการไข้ของประเทศด้วยความมั่นใจว่าจะแก้ไขให้กลับคืนดีได้เปนลำดับ ในเมื่อรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถจะเยียวยาแก้ไขได้

ตามที่เคยเปนมาแล้วนั้น เมื่อฝ่ายหนึ่งกล่าวตำหนิติเตียนรัฐบาลนั้น ประชาชนก็สนับสนุนด้วยเห็นว่าเปนคำตำหนิติเตียนที่ถูกต้องถูกใจประชาชน ครั้นฝ่ายที่ตำหนิติเตียนได้รับโอกาสเปนรัฐบาลขึ้นมาบ้างในไม่ช้าก็มักจะกลายเปนขี้ปากสำหรับที่คนทั้งหลายจะโขกสับต่อไป เพราะเหตุว่าเมื่อได้ตำหนิติเตียนเขาแล้ว ตัวเองก็หามีปัญญาความคิดที่จะแก้ไขความเสื่อมโทรมต่าง ๆ ที่ตัวได้ตำหนิติเตียนไว้ไม่ เมื่อได้เปนรัฐบาลแล้ว ความเสื่อมโทรมที่เคยเปนมาก็คงเปนอยู่นั้นเอง ถ้าหากจะมิได้บวกความเสื่อมโทรมใหม่ ๆ หรือความร้ายกาจใหม่ ๆ เข้าไปอีก

เมื่อได้มีตัวอย่างอันจะต้องยอมรับกันว่าเปนตัวอย่างที่ไม่ดีปรากฏ เรี่ยราดอยู่ข้างหน้าดังนี้แล้ว เราหวังว่าสมาชิกฝ่ายที่ได้คิดค้านวิพากษ์การกระทำของรัฐบาลไว้หลายอย่างหลายประการ จะได้ระมัดระวังที่จะไม่กระทำซ้ำขึ้นอีก จะได้ก้าวข้ามตัวอย่างอันทรามและไม่ชอบด้วยแบบแผนของระบอบประชาธิปไตยไปเสีย เปนต้นว่า ในการที่จะตั้งนโยบายการปกครองนั้น เมื่อเราได้พากันติเตียนเสียงเดียวกันว่า รัฐบาลปัจจุบันตั้งนโยบายมาในรูปเลื่อนลอยไม่ได้เนื้อถ้อยกะทงความ แสดงให้เห็นว่าขาดความจงใจจริงจังที่จะกระทำการสำคัญ ๆ หลายอย่าง เมื่อเปนดังนี้ เราก็หวังว่ากลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน ถ้าหากได้มีโอกาสเปนรัฐบาลเมื่อใดก็คงจะไม่ตั้งนโยบายมาในรูปเลื่อนลอย ซึ่งตนเองและวงการต่าง ๆ ได้ร่วมกันติเตียนไว้แล้ว

ความผิดพลาดบกพร่องในวงการปกครองของเราทุกวันนี้มีอยู่เอนกประการ แต่ถึงเช่นนั้นก็มิได้หมายความว่าประเทศของเราอยู่ในอาการหมดหวัง ถ้าใคร ๆ ที่แสดงตนว่าใคร่จะออกแรงและปัญญาทำนุบำรุงประเทศ จะมิได้แสดงออกอย่างลม ๆ แล้ง ๆ อย่างไร้ความสำนึกรับผิดชอบ, อย่างที่มุ่งมาตรต่อการตอบแทนทางลาภหรือความรุ่งโรจน์ฉะเพาะตัวมากกว่าที่ตัวจะให้อะไรแก่ประเทศได้ ถ้าเพียงแต่ใคร ๆ เหล่านั้นจะมีความสุจริตจริงใจต่อการแสดงออกของตนแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีหวังและมีอนาคตที่จะให้เยาวชนชะเง้อดูอยู่ต่อไป

[๕ สิงหา. ๙๒]

 

 

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 5 สิงหาคม พ.ศ. 2492

* ตัวเน้นโดยผู้เขียน -บก.

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “แลไปข้างหน้า”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 279-280.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

 

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, “แลไปข้างหน้า”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 281-285.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :