ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดี พนมยงค์: กลไกการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

9
ธันวาคม
2563

ปรีดีอธิบายว่า คำว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบขึ้นด้วยคำไทย 2 คำ คือ คำว่า “ประชา” ซึ่งหมายถึงหมู่คนหรือปวงชน กับคำว่า “อธิปไตย” ซึ่งหมายถึง “อำนาจสูงสุดของปวงชน” ดังนั้น แบบการปกครองประชาธิปไตยจึงต้องถือมติปวงชนเป็นใหญ่[1]

ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกันกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ ต่อมาระบอบประชาธิปไตยปฐมกาลได้ถูกทำลายโดยระบบทาสและระบบศักดินา ปวงชนชาวไทยสมัยก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้ระบบทาสกับระบบศักดินานั้น ก็มิได้มีลักษณะพิเศษแตกต่างกับมนุษยชาติในโลกที่ไม่รู้จักปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ หากปวงชนชาวไทยรู้จักปกครองสังคมหรือกลุ่มชนของตนโดยถือมติปวงชนเป็นส่วนใหญ่มาแล้วตั้งยุคดึกดำบรรพ์ ต่อมาเมื่อตกยู่ภายใต้ระบบทาสกับระบบศักดินา จึงทำให้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยปฐมกาลนั้นเสื่อมไปชั่วระยะเวลาหลายพันปี แม้กระนั้นซากแห่งการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ยังเหลืออยู่บ้างในชนบทก่อนรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 คือ ยังมีธรมเนียมประเพณีซึ่งบทกฎหมายที่ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองว่า ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านนั้นเป็นผู้ที่ราษฎรในหมู่บ้านเลือกตั้งขึ้น ถ้าตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดส่วนมากในชนบทว่างลง ทางคณะสงฆ์ก็ปรึกษาพระภิกษุในวัดกับชาวบ้านคัดเลือกเจ้าอาวาสองค์ใหม่  การทำนาในหลายท้องที่ก็มีการลงแขกช่วยกันไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว และต่างก็ช่วยกันในการปลูกที่พักอาศัยหลายแห่ง ฯลฯ  อาการกิริยาที่ราษฎรในชนบทแสดงออกนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งประชาธิปไตยปฐมกาลที่ยังมีซากตกค้างอยู่ การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ก็คือ การที่ปวงชนชาวไทยได้รับพระราชทานสิทธิประชาธิปไตยคืนมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ[2]

การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จึงมิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากเป็นการปฏิวัติเพื่อนำระบบการปกครองที่ “อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน” มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง มาใช้กับสังคมไทย หลักการดังกล่าวได้รับการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับหลัง ๆ หลายฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้ใช้คำว่า “เป็นของ” แต่นำคำว่า “มาจาก” มาใช้แทน

ในเรื่องนี้ สุพจน์ ด่านตระกูล อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า คำว่า เป็นของ ตามธรรมนูญฉบับเก่าเปลี่ยนมาเป็น มาจาก ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ถ้าอ่านโดยไม่เพ่งพิจารณาก็จะเห็นไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าหยุดพิจารณาสักนิดก็จะเห็นถึงความแตกต่างของคำทั้งสองทั้งด้านอักษรศาสตร์และด้านนิรุกติศาสตร์

ข้าวเป็นของชาวนา กับข้าวมาจากชาวนา ย่อมมีความหมายแตกต่างกันอย่างแน่นอน

ข้าวเป็นของชาวนา ซึ่งชาวนามีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ที่จะจัดการกับข้าวนั้น  แต่ข้าวมาจากซาวนา ซึ่งบัดนี้มาอยู่ในไซโลของพ่อค้าส่งออก ก็เป็นสิทธิ์ของพ่อค้าส่งออกอย่างสมบูรณ์ที่จะจัดการกับข้าวนั้น โดยชาวนาไม่มีสิทธิ์แม้แต่น้อย (ทั้ง ๆ ที่ข้าวมาจากชาวนาก็จริง) เพราะข้าวไม่ได้เป็นของชาวนาเสียแล้ว หากเป็นของพ่อค้าส่งออก

ฉันใดก็ฉันนั้น อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม ใช่, แต่ในเมื่ออำนาจอธิปไตยนั้นมาอยู่ในกำมือของนักธุรกิจการเมือง ตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยภายใต้ร้ฐธรรมนูญ มันก็กลายเป็นของนักธุรกิจการเมืองไป (เช่นเดียวกับข้าวมาจากชาวนาที่มาเป็นของพ่อค้าส่งออก) หาใช่เป็นของปวงชนชาวสยามไม่ นักธุรกิจการเมืองจึงใช้อำนาจอธิปไตยที่มาจากปวงชนชาวสยาม เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวกเขาเองหรือชนชั้นของเขาเอง ดังที่ปรากฏเป็นความจริงอยู่ในขณะนี้

แต่อย่างไรก็ดี ลำพังเปลี่ยนข้อความ เป็นของ มาเป็น มาจาก คงไม่เหมือนกับเรื่องข้าวเป็นของซาวนาเท่าใดนัก เพราะการเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของปวงชนมาเป็นของนักธุรกิจการเมืองหรือนายทุน และเพื่อผลประโยชน์ของนักธุรกิจการเมืองและนายทุนนั้นมีหลาย ๆ ปัจจัย มากกว่าเพียงเปลี่ยนคำว่า เป็นของ มาเป็น มาจาก

แต่แน่ละถ้ายืนยันหนักแน่นอย่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายย่อมจะสง่างามมากกว่า และเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ปวงชนหวงแหนและรักษาความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดของประเทศนั้นไว้ด้วยชีวิต

หากพิจารณาในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับที่ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องจะพบว่ากลไกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญเหล่านั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากทีเดียว

1. การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องมีความเป็นประชาธิปไตย

การที่รัฐธรรมนูญจะมีสภาเพียงสภาเดียวหรือ 2 สภานั้นมิใช่ประเด็นสำคัญนักในความเห็นของปรีดี ที่สำคัญ คือ สมาชิกสภาทั้ง 2 ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกนั้น จะต้องมิใช่วุฒิสมาชิกที่รัฐบาลรับสนองฯ แต่งตั้งตามรัฐธรมนูญฉบับที่ 4 พ.ศ. 2490 หรือประธานองคมนตรีรับสนองฯ แต่งตั้งตามฉบับ 2492 หรือมิใช่วิธีที่คณะองคมนตรีทำบัญชีลับให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งวุฒิสมาชิก[3] เพราะการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ไม่ทรงปรารถนาตัดอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ของปวงชนชาวไทย ระบอบชนิดที่ให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งจึงเป็นระบอบ “กึ่งประชาธิปไตย” มิใช่ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์”[4]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 เป็นเครื่องยืนยันในเจตนารมณ์และหลักการประชาธิปไตย “อันแท้จริง”[5] โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการพัฒนาก้าวหน้าออกไปจากระบบสภาเดียว มีสมาชิกสองประเภท ประกอบด้วยประเภทเลือกตั้งและประเภทแต่งตั้ง เป็นระบบสองสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 24 ว่า “พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตย หลักการที่ให้วุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริง มิใช่ตามลายลักษณ์อักษร ดังเช่น รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่แม้จะให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แต่ยังบัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย[6]  รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ เว้นแต่เพียงรัฐธรมนูญฉบับปัจจุบันที่บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การที่วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม มิได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศนั้น ๆ มีความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยลงแต่ประการใด ดังเช่น รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรค 3 ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญในยุคปรีดีมิได้บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ รวมทั้งฉบับปัจจุบันบังคับให้ต้องสังกัดพรรค  ในเรื่องนี้ปรีดีเห็นว่า การที่ผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคนั้น ผู้แทนราษฎรจะถูกตรึงตราขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง ซึ่งแม้ในประเทศที่มีพรรคการเมืองมาหลายศตวรรษแล้ว ก็มิได้กวดขันสมาชิกพรรคถึงขนาดที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองไทยกำหนดไว้ จึงขอให้อย่าหลงเชื่อผู้อ้างว่า ในเมืองนอกที่มีระบบพรรคการเมือง เขาต้องบังคับผู้แทนราษฎรให้สังกัดพรรคการเมือง จะพบตัวอย่างว่า ในหลายกรณีสมาชิกพรรคอาศัยความบริสุทธิ์ใจของตนต่อปวงชนเป็นใหญ่ยิ่งกว่าเสียงข้างมากในพรรค เขาจึงไม่ยอมลงมติในสภาตามเสียงข้างมากของพรรค ถ้าเสียงข้างมากของพรรคไล่เขาออกจากพรรค เขาก็เป็นผู้แทนอิสระต่อไปได้ ส่วนผู้แทนราษฎรตามระบบที่ร่างให้สังกัดพรรคนั้นคือทาสของพรรคที่ตนสังกัดนั่นเอง เพราะถ้าไม่ลงมติตามเสียงข้างมากของพรรค ตนก็จะถูกไล่ออก และก็ยากที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่นได้ เมื่อตนถูกไล่ออกจากพรรค ตนก็ต้องถูกออกจากการเป็นผู้แทนราษฎร ดังนั้น แม้ตนมีความบริสุทธิ์ใจว่า มติของเสียงข้างมากในพรรคไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของปวงชน แต่ตนก็มีทางเลือก 2 ทาง คือ ยอมถูกไล่ออก หรือยอมลงมติตามเสียงข้างมากในพรรคที่ขัดต่อความบริสุทธิ์ใจของตน[7]

มีข้อสังเกตว่า การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคหรือไม่นั้น ได้เป็นประเด็นสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน [หมายถึงฉบับ พ.ศ. 2540 … บ.ก.] จะบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรค (ดู มาตรา 107 อนุ 4) อันขัดแย้งกับแนวความคิดของปรีดีดังกล่าวข้างต้น แต่รัฐธรมนูญฉบับปัจจุบันก็รับแนวคิดที่พยายามมิให้พรรคการเมืองมีอำนาจเหนือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคนั้นในทุก ๆ เรื่องดังบัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามและสี่ว่า

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังกับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแยังกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

“ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังกับดังกล่าวขัดหรือแยังกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มติหรือข้อบังคับนั้นเป็นอันยกเลิกไป”

นอกจากนี้ มาตรา 156 วรรคท้ายยังบัญญัติว่า “...การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดให้กระทำเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด”

รัฐธรรมนูญในยุคปรีดียังเน้นความเสมอภาคของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ให้ทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน (one man one vote) ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญบางฉบับที่ราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ไม่มีความเสมอภาคกัน คือ บางจังหวัดมีพลเมืองน้อย ราษฎรคนหนึ่ง ๆ ในจังหวัดนั้น มีสิทธิเลือกผู้แทนได้คนเดียว แต่ราษฎรคนหนึ่ง ๆ ในจังหวัดที่มีพลเมืองมากมีสิทธิเลือกผู้แทนได้ 2 หรือ 3 คน โดยรัฐธรรมนูญเหล่านั้น ไม่ยอมแบ่งเขตจังหวัดที่มีพลเมืองออกเป็นเขต ซึ่งแต่ละเขตมีผู้แทนได้คนเดียวเพื่อให้ราษฏรทุก ๆ จังหวัดมีความเสมอภาคกัน

ในการร่างรัฐธรรมนูญมีการโต้เถียงกันเรื่อง “รวมเขตหรือแบ่งเขต” ฝ่ายรวมเขตต้องการว่า จังหวัดใดมีพลเมืองมาก ก็ไม่ต้องแบ่งเขต คือ ให้ราษฎรคนหนึ่ง ๆ ในจังหวัดนั้น เลือกผู้แทนได้หลายคนตามจำนวนที่จังหวัดนั้นมีผู้แทนได้ ฝ่ายแบ่งเขตต้องการแบ่งเขตจังหวัดที่มีพลเมืองมากออกเป็นหลายเขต ๆ หนึ่งมีผู้แทนได้คนเดียว แต่ในที่สุดฝ่ายแบ่งเขตเอาหลักการที่เป็นธรรมของตนไปยอมประนีประนอมกับฝ่ายรวมเขต ได้ผลออกมาชนิดที่รวมเขตก็ไม่ใช่แบ่งเขตก็ไม่เชิง ดูประหนึ่งว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอาสิทธิประชาธิปไตยของปวงชนไปทำเล่นตามใจชอบซึ่งเป็นการดูหมิ่นราษฎรและชาติไทย[8]

ปรีดีเห็นว่า ไม่มีเหตุผลทางหลักวิชารัฐธรรมนูญเลยที่กำหนดเขตเลือกตั้งแปลกประหลาดเช่นนั้น มีผู้อ้างเหตุว่า ถ้ามีการแบ่งเขตจังหวัดพลเมืองมากออกเป็นเขต ๆ โดยเขตหนึ่ง ๆ มีผู้แทนคนเดียว เกรงว่า นักเลงจะได้รับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการดูหมิ่นราษฎรและชาติไทยว่าไม่สามารถมีสติปัญญาพิจารณาว่า ใครเป็นนักเลงที่ไม่สมควรได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร[9]

ปรีดียังเห็นว่าการเลือกตั้งต้องเป็นไปโตยบริสุทธิ์ยุติธรรมต้องป้องกันคนมั่งมีทุ่มเงินหาคะแนนเสียงเสมอเหมือนกับทุกจังหวัดโดยมีพระราชบัญญัติและวิธีการอื่น ๆ ในบางประเทศมีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่ง ๆ จะจ่ายเงินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้ และมีบทลงโทษไว้ จริงอยู่วิธีนี้อาจมีคนหลีกเลี่ยงกฎหมายได้แต่กฎหมายอื่น ๆ ที่เขียนไว้ก็อาจมีคนหลีกเสี่ยงได้ แต่ถ้าผู้ทำผิดถูกจับก็จะถูกลงโทษ จึงเป็นประโยชน์ดีกว่าไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ถ้าเราเห็นว่าโทษที่กำหนดไว้ตามกฎหมายของประเทศอื่นน้อยไป เราก็อาจกำหนดโทษผู้ทุ่มเงินหาคะแนนเสียงในประเทศไทยไว้ให้หนัก และขยายอายุความในการร้องขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุด เพื่อให้ราษฎรและผู้มีส่วนได้เสียมีเวลาสืบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดแทนที่จะกำหนดเวลาไว้สั้นมากในการร้องขอให้เพิกถอนการสมัคร และวิธีอื่นใดที่ผู้ต้องการความเป็นประชาธิปไตยจะได้ช่วยกันคิด”[10]

หลักการให้แบ่งเขตเลือกตั้งเขตละ 1 คนที่ปรีดีได้ต่อสู้มานั้น ได้รับการพิสูจน์และยอมรับว่าเป็นหลักการที่ถูกต้อง ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็บัญญัติให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 400 คน เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตละ 1 คน (มาตรา 102 วรรคแรก)

2. การแยกข้าราชการประจำออกจากฝ่ายการเมือง

นับเป็นความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489 ที่บัญญัติห้ามมิให้สมาชิกพฤฒสภา (มาตรา 24 วรรคสอง) สมาชิกสภาผู้แทน (มาตรา 29 วรรคสอง) และรัฐมนตรี (มาตรา 66 วรรคสาม) เป็นข้าราชการประจำในขณะเดียวกัน เพราะหากให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ปัญหาความสับสนในบทบาทหน้าที่ก็จะเกิดขึ้น ดังเช่นกรณีที่วุฒิสมาชิกที่เป็นข้าราชการมาจากการแต่งตั้งมักจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนเอง โดยอ้างว่าเป็นการวิจารณีในฐานะที่เป็นวุฒิสมาชิก มิใช่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ประการใด นอกจากนี้ การแยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2489 ก็เป็นความพยายามที่จะสร้างพลังที่อยู่นอกเหนือจากระบบราชการขึ้นมาอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก[11]

3. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรี 14-24 คน (มาตรา 46 วรรคแรก) โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 14 คน ต้องมาจากการเลือกกันเองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 47) อันสอดคล้องกับการต่อสู้ของประชาชนในช่วงพฤษภาทมิฬ ที่เรียกร้องว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถือว่าเป็นหลักการสำคัญ จึงบัญญัติไว้เช่นกันในมาตรา 201 วรรคสอง

4. การมีองค์กรตรวจสอบที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สร้างองค์กรตรวจสอบที่เรียกว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขึ้นทำหน้าที่ในการวินิจฉัยว่า บทกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนี้เองที่พัฒนามาเป็นศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489 มาตรา 89 บัญญัติให้ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานตุลาการคนหนึ่งและตุลาการอีกสิบสี่คน” ซึ่งปรีดีได้ชี้ให้เห็นว่า “มวลราษฎรย่อมต้องการตุลาการรัฐธรรมนูญที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ปัญหาสำคัญอยู่ที่การตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น จะใช้วิธีใดจึงจะได้ตุลาการที่ให้ความเป็นธรรมในการตีความรัฐธรรมนูญได้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ให้อำนาจรัฐสภาตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนเป็นผู้รับเลือกตั้งจากราษฎร แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นั้น วุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้ง จึงขอให้วิญญชนใช้วิจารณญาณว่าตุลาการที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือใครบ้าง และการตีความของผู้ที่ตั้งขึ้นโดยตำแหน่งการเมือง จะมีอคติเข้าข้างรัฐบาลเพียงใดหรือไม่ ข้าพเจ้าขอเสนอว่า สมควรให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคน ประกอบเป็นที่ประชุมใหญ่แห่งตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งไม่อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาล มวลราษฎรก็จะได้รับประกันที่ดีในการตีความรัฐธรรมนูญ และเพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญได้”[12]

การมีตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางในลักษณะเดียวกับศาลฎีกาที่เสนอโดยปรีดีนั้นเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มี “ตุลาการโดยตำแหน่ง” ไม่ว่าจะเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกาหรือัยการสูงสุดอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็ยอมรับให้มีผู้พิพากษาศาลฎีกา 5 คน และผู้พิพากษาศาลปกครองอีก 2 คน จากตุลาการศลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 15 คน (มาตรา 255)

บทสรุป

รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดีจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างถาวรในประเทศไทย แต่ประชาธิปไตยในทรรศนะของปรีดี หมายถึงประชาธิปไตยอย่างรอบด้าน คือ เศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองประชาธิปไตย และวัฒนธรรมหรือสังคมประชาธิปไตย[13] ท่านจึงได้ระบุไว้อย่างหนักแน่นในมาตรา 1 แห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย อันหมายถึงอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางวัฒนธรรมหรือทรรศนะสังคม[14]

ในสามอำนาจดังกล่าวข้างตันนี้ อำนาจเศรษฐกิจเป็นอำนาจพื้นฐาน ส่วนอำนาจทางการเมือง และวัฒนธรรมหรือทรรศนะสังคมเป็นอำนาจเบื้องบน

รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดีจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมอันดำรงอยู่ในขณะที่ใช้รัฐธรรมนูญนั้น อันสอดคล้องกับแนวคิด Constiutionalism[15] ที่เป็นหลักสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อการปฏิรูปการเมือง นั่นก็คือรัฐธรรมนูญที่มุ่ง “นำมาแห่งความสันติสุขให้แก่มนุษย์”[16]

ปรีดี พนมยงค์ ได้ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า “การบำรุงความสุขของราษฎรนี้เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญ คือ บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และถือว่ารัฐธรรมนูญเปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎรได้มีส่วนมีเสียงในการปกครองให้จัดถูกต้องตามความต้องการของตน และเมื่อประตูที่กิดกั้นอยู่ได้เปิดออกมาแล้ว รัฐบาลก็จะต้องนำราษฎรผ่านประตูนั้นเข้าไปสู่ชัยภูมิแห่งความสุขสมบูรณ์ มิใช่นำให้ราษฎรเดินถอยหลังเข้าคลอง[17] และ “ระบอบรัฐธรรมนูญยิ่งมั่นคงประชาชนยิ่งมั่งคั่งสมบูรณ์ สยามรัฐจะมีสิทธิเทียมบ่าเทียมไหล่กับนานาประเทศ ความสุขที่ได้รับจากระบอบรัฐธรรมนูญเป็นความสุขและประโยชน์อันแท้จริง”[18]

 

ที่มา: ตอนหลังของบทความทางวิชาการขียนขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “เมืองไทยในความใฝ่ฝันของปรีดี พนมยงค์” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ณ ห้องประชุม ศ.ทวี แรงขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.


[1] ปรีดี พนมยงค์, “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้น กับการร่างรัฐธรรมนูญ”, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 133.

[2] เพิ่งอ้าง, น. 131.

[3] ปรีดี พนยงค์, “ข้อสังเกตบางประการของนายปรีดี พนมยงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517”, อ้างแล้ว, น. 20-21.

[4] ปรีดี พนมยงค์, “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม”, อ้างแล้ว, น. 188.

[5] เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540), น. 147.

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งมีวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งบัญญัติไว้ในมาตรา 10 ว่า “สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย”.

[7] ปรีดี พนมยงค์, “ข้อสังเกตบางประการของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2517”, อ้างแล้ว, น. 15-16.

[8] เพิ่งอ้าง, น. 16-17.

[9] เพิ่งอ้าง, น. 17-18.

[10] ปรีดี พนมยงค์, “ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องตันกับการร่างรัฐธรรมนูญ”, อ้างแล้ว, น. 151.

[11] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), 2538), น. 391.

[12] ปรีดี พนมยงค์, “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม”, อ้างแล้ว, น. 193.

[13] แถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475.

[14] สุพจน์ ด่านตระกูล, อ้างแล้ว, น. 9.

[15] ดู อมร จันทรสมบูรณ์, การปฏิรูปการเมือง คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ทางออกของประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวงจำกัด, ม.ป.ป.), น. 14.

[16] “สุนทรพจน์หลวงประดิษฐ์มนูธรม วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2479 เนื่องในวันครบรอบปีที่ 4 แห่งระบอบรัฐธรรมนูญ”, ใน แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว, น. 258.

[17] ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม.

[18] สุนทรพจน์หลวงประดิษฐ์มนูธรมวันเสารที่ 27 มิถุนายน 2479, อ้างแล้ว, น. 259.