ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

16
ธันวาคม
2563

ก่อนอื่นผมขอพูดถึง “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” ที่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรียกว่าเป็น “ปฐมรัฐธรรมนูญ” ซึ่งการเรียกเช่นนี้ อาจารย์เองบอกว่าไม่ได้เป็นคนคิด น่าจะมีคนใช้คำนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งผมได้ลองค้นดูแล้วก็พบว่ามีบางท่านที่เคยใช้คำนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว  ซึ่งถ้าหากมองย้อนกลับไปก็จะมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่านถือว่า ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นั้นเป็นปฐมรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นการช่วงชิงความหมายกันว่า เมื่อกล่าวถึง “ปฐมรัฐธรรมนูญ” จะนึกถึงอะไร จะนึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 หรือนึกถึงศิลาจารึก ซึ่งมันทำให้กลายเป็นการต่อสู้กันสองชั้น นอกเหนือจากการหมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 อีกด้วย

ผมรู้จักรัฐธรรมนูญฉบับแรก เพราะเข้าเรียนธรรมศาสตร์ จริง ๆ ก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ แต่เด็กที่เข้าธรรมศาสตร์นี้จะได้รู้จักตอนกิจกรรมแสงสีเสียงตอนปฐมนิเทศเปิดภาคเรียน ที่บอกเราว่า มหาวิทยาลัยนี้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ดังนั้น จึงทำให้วนมาสู่การตั้งคำถามอย่างที่อาจารย์วรวิทย์ กนิษฐะเสน บอกว่าเป็นเพราะการศึกษาด้วยหรือเปล่าที่ทำให้เราไม่เคยทราบถึงสิ่งเหล่านี้

เพราะฉะนั้น หากใครสนใจรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก กับเรื่องการศึกษา  สามารถศึกษาได้ใน “ผู้กำเนิดรัฐธรรมนูญไทย ปรีดี พนมยงค์” ว่า “ท่านที่เคยเป็นครูและนักเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2490 นั้นคงยังจำกันได้ว่า ท่านเคยสอนและเคยเรียนตามหลักสูตรสมัยนั้น ท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้นก็เคยชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร และการปกครองประชาธิปไตยคืออะไร เป็นพื้นเบื้องต้นที่ราษฎรพอเข้าใจได้ และวิทยุกลุ่มโฆษณาการ (ต่อมาสมัยหลังเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์) ก็ได้กระจายเสียงคำอธิบายพร้อมทั้งเพลงประกอบภาพทุกวัน ผู้มีใจเป็นธรรมย่อมไม่ใส่ความราษฎรไทยว่าไม่มีสติปัญญาพอที่จะเข้าใจได้ แต่ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้วการชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ลดน้อยลงไป และภายหลังที่สถาปนาระบบเผด็จการขึ้นแล้วการชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็หยุดชะงักลง จึงทำให้บางคนที่ไม่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนประถมและมัธยมเหมือนระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2490 ไม่เข้าใจหรือแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจ”

น่าสนใจว่าในช่วง 15 ปีแรกนั้น ระบบการศึกษาประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาของเรามีการพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ช่วยกันกระจายข่าวเรื่องนี้ รวมถึงวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งผมมองว่า ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเหล่านี้นั้นเกิดขึ้นได้ยาก และหวังได้ยากที่จะให้หน่วยงานเหล่านี้กลับมาทำหน้าที่เช่นนี้อีกครั้ง

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนออกมาชุมนุมเยอะมากในปีนี้ ผมมองว่าเป็นเพราะ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงข่าวสารได้หมดแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อผมเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ผมรู้สึกเลยว่า การสอนหนังสือนั้นยุคนี้ยากขึ้น เพราะในขณะที่เรากำลังสอนนั้น เด็กสามารถเช็คคำที่เราพูดได้จากโทรศัพท์ของเขาเอง ดังนั้น มันทำให้คนที่เป็นผู้สอนนั้นต้องทำงานหนักมากเวลาสอนหนังสือ ท้ายที่สุดแล้ว เราทำได้แค่ไกด์บางอย่างให้กับพวกเขา เพราะปัจจุบันเราไม่สามารถผูกขาดความรู้ให้อยู่แค่ไหนสถาบันการศึกษาได้อยู่แล้ว

ย้อนกลับมาที่ประเด็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อย้อนกลับไปที่กรณีกรมขุนชัยนาทนเรนทรโดนจับกุม และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์วางตัวเป็นกลางในกรณีนี้ และให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลในกรณีต่าง ๆ แต่หลังจากนั้นเอง ท่าทีและความร่วมมือของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐบาลก็เปลี่ยนไป เนื่องจากมีบุคคลใหม่เข้ามาเป็นองค์ประกอบในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นั่นก็คือ นายปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์ ก้าวมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในห้วงเวลาที่ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตอนนั้นทุกท่านคงทราบว่า รัฐบาลไทยมีความขัดแย้งหรือความเห็นไม่ตรงกันต่อท่าทีของเราในสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยากจะให้เราเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น แต่ปรีดี พนมยงค์ นั้นไม่เห็นด้วย อีกทั้ง ฝ่ายญี่ปุ่นเองไม่ค่อยชอบปรีดี พนมยงค์ สักเท่าไหร่ อยากจะให้จัดการ ซึ่งวิธีที่เขาใช้จัดการกับปรีดี พนมยงค์ ผมคิดว่าน่าสนใจมาก คือ ให้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำไมถึงให้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์? เหตุผลเพราะว่า ในทางหลักการ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องเป็นกลางทางการเมือง จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น กลับกลายเป็นตรงกันข้ามเลย เท่าที่ผมศึกษามา ผมคิดว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่มีการแสดงบทบาททางการเมืองมากที่สุดคนหนึ่งเลย โดยเฉพาะในสถานการณ์สงคราม ปรีดี พนมยงค์ ได้ใช้ตำแหน่งนี้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบางอย่าง

ตอนที่ผมส่งวิทยานิพนธ์ ผมได้วิจารณ์ว่า ปรีดี พนมยงค์ น่าจะทำไม่ถูกตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แต่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึ่งเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ผม ท่านก็บอกกลับว่า ผมพูดแต่ในทางกฎหมายอย่างเดียว คือ ในทางกฎหมายก็ต้องดู แต่เช่นเดียวกัน ก็ต้องดูในทางการเมืองว่า ที่ปรีดีฯ ทำนั้นเป็นประโยชน์ เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ ซึ่งนั่นก็สุดแท้แต่ทัศนคติของแต่ละท่าน

การเข้ามาของปรีดี พนมยงค์ นั้นทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในทางการเมืองพอสมควร ก็คือ ตอนประกาศสงคราม วันที่รัฐบาลเอาพระบรมราชโองการประกาศสงครามไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามนั้น ปรีดีไปอยุธยา ซึ่งคำถามแรกที่ผมสงสัยเอง คือ “ปรีดีไปทำอะไรที่อยุธยาวันนั้น?” คือ ผมเข้าใจว่า สถานการณ์ตอนนั้นน่าจะหน้าสิ่วหน้าขวานพอสมควร และการลงนามในการประกาศสงครามเองก็ไม่ได้ทำกระทันหัน แต่มีการคุยกันล่วงหน้า คือ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเป็นการไลน์ส่งข้อความไปบอกล่างหน้าว่า เดี๋ยวจะให้ลงนามนะ เดี๋ยวไปหา ให้แสตนด์บายล่วงหน้า อย่าเพิ่งไปไหน  ปรากฏว่า เมื่อไปจริง ๆ แล้วกลับไม่เจอตัวปรีดี และเขาได้มาเล่าตอนหลังว่าเขาเองไม่ได้ลงนาม เราอาจเห็นประกาศสงครามในพระราชกิจจานุเบกษาว่ามีชื่อปรีดี พนมยงค์ แต่ในข้อเท็จจริง คือ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ลงนามด้วย เพียงแต่ว่าในทางกฎหมายตอนนั้นไม่มีปัญหา เพราะว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม 2 ใน 3 คน ก็ถือว่าทำได้ ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ใช้โอกาสนี้เป็นประโยชน์ตอนที่เราแพ้สงครามว่า เห็นไหม ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งยังไม่ลงนามเลย ซึ่งก็อาจจะมีคนไทยจำนวนหนึ่งจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น

นอกจากกรณีการประกาศสงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ปรีดีก็มีความขัดแย้งสำคัญกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งจอมพล ป. ทำร่างพระราชกฤษฎีกามอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็คือตัวเอง หมายความว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นต้องการจะออกพระราชกฤษฎีการวมอำนาจไว้ที่ตัวเองคนเดียวในช่วงสงคราม ปรากฏว่า ตอนที่นำร่างพระราชกฤษฎีกานำขึ้นทูลเกล้าฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้ง 2 คนวีโต้ (Veto) ไม่ยอมลงนาม ซึ่งในกรณีนี้ในทางกฎหมายก็มีปัญหาอีก เนื่องจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้อนุญาตให้พระมหากษัตริย์หรือในกรณีนี้ คือ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยับยั้งร่างพระราชกฤษฎีกา จริง ๆ คือ เมื่อทูลเกล้าขึ้นไป ต้องเซ็นลงมา แต่ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ปรีดี พนมยงค์ และพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ไม่ยอมลงนาม ซึ่งหากถามผมในทางรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ถูก เพราะจริง ๆ ก็ต้องเซ็น แต่ถามว่าที่ทำนั้นดีไหม ดี ในทางการเมืองนั้นเวิร์คไหม เวิร์คมาก...

ดังนั้น จึงเป็นความยากอย่างหนึ่งของผู้ที่เรียนกฎหมาย เวลาที่เราต้องแยกภาคว่า เรากำลังพูดเรื่องกฎหมายหรือเรากำลังพูดเรื่องการเมือง แน่นอนว่า สองแดนนี้นั้นยังคงซ้อน ๆ กันอยู่ แต่ทุกครั้งที่เราต้องวินิจฉัยเรื่องในทางกฎหมาย เราหลุดออกจากตัวบทและทฤษฎีของมันไม่ได้ จึงอยากจะให้ทุกท่านเข้าใจนักกฎหมายในบางสถานการณ์

นอกจากความขัดแย้งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว ภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 คนเองก็มีความหมางใจกัน (เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้านี้) หากลองประวัติจะพบว่าปรีดีฯ และพระองค์เจ้าอทิตยาฯ นั้น อายุไล่เลี่ยกัน ปรีดีอายุมากกว่าสัก 3-4 ปี ซึ่งเหตุการณ์สำคัญ คือ มีข่าวลือไปเข้าหูจอมพล ป. ว่า ปรีดีวางแผนที่จะจับจอมพล ป. แบบมุสโสลินีในอิตาลี จนเมื่อสืบไปสืบมาจนทราบว่า คนที่เป็นแหล่งข่าว ก็คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ คือ มีวันหนึ่งที่ปรีดีและพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ไปหัวหินกันและมีการพูดคุยเกี่ยวกับข่าวการจับมุโสลินี ปรีดีก็พูดทีเล่นทีจริงว่า หากเมืองไทยถ้าจะทำบ้าง จับตัวจอมพล ป. แบบที่จับตัวมุสโสลินีจะทำอย่างไร ซึ่งต่อไปไม่รู้ว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ส่งข่าวไปมาอย่างไร ข่าวไปถึงหูจอมพล ป. กลายเป็นเรื่อง  หลังจากนั้น ปรีดีฯ ก็ระวังตัว และเขียนระบุในบันทึกตอนหลังว่า เวลาจะพูดอะไรกับพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ก็ระวังตัวมากขึ้น เหมือนเวลาเรามีเพื่อน จะพูดอะไรกับเพื่อนทุกเรื่องก็ไม่ได้ บางเรื่องถ้าเพื่อนหักหลัง ไปบอกฝ่ายตรงข้ามก็จะมีปัญหากันได้ ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งของทั้งสองคน

หลังจากนั้น มาแตกหักกันเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามพระราชกำหนด จอมพล ป. ต้องการที่จะไปตั้งเมืองหลวงที่เพชรบูรณ์ แต่สภาไม่อนุมัติพระราชกำหนด จอมพล ป. ก็จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็มาดูกันว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสภาเสนอควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ไม่เห็นด้วย คิดว่าน่าจะไปไม่รอดถึงขั้นยืนกรานว่า พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ ท่านไม่ลงนาม จนสุดท้ายท่านลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังจากนั้นจึงเหลือปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนเดียว และลงนามในพระบรมราชโองการตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในจังหวะที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังคงต้องทำขบวนการเสรีไทยไปด้วย ร่วมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นแกนนำคนสำคัญ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในอังกฤษด้วย ต้องทำเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในทางลับอีกด้วย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ก็มีเรื่องที่จะต้องทำค่อนข้างเยอะ และมีความพยายามที่จะประนีประนอมกัน (Compromise) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ในปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้น ด้วยความที่มีความร่วมมือกันระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้า เมื่อสงครามโลกจบก็มีความพยายามจะคืนดีกันและเดินไปด้วยกัน

ผมคิดว่า เวลาเราพูดถึงการประนีประนอม เราคงต้องดูว่า ประนีประนอมแล้วเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา ก็คือ มีการอภัยโทษนักโทษการเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และหลังจากนั้นได้มีการคืนฐานันดรศักดิ์ให้กับพระองค์

ปรีดี พนมยงค์ พยายามให้มีการผลักดันให้ปรับปรุงรัฐธรมนูญ และกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ในหลวงอานันท์ฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่หลังจากนั้นอีกเดือนเดียวต่อมา ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน รัชกาลที่ 8 ต้องพระแสงปืนสวรรคตในพระที่นั่งบรมพิมาน ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ค่ำวันเดียวกัน รัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ แต่ตอนนั้นยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ต้องมีการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมา

 

กรมขุนชัยนาทนเรนทรและพระยามานวราชเสวี
กรมขุนชัยนาทนเรนทรและพระยามานวราชเสวี

 

มาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ให้รัฐสภาเป็นคนปรึกษากันตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้น ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความพยายามที่จะประนีประนอมหรือปรองดองของคณะราษฎร ไม่ใช่เพียงแค่การอภัยโทษให้กรมขุนชัยนาทฯ ไม่ใช่แค่การคืนฐานันดรศักดิ์ให้กับพระองค์ แต่เป็นการเชิญพระองค์มาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 และอีกท่านที่เลือกมา คือ พระยามานวราชเสวี สำหรับคนที่เรียนธรรมศาสตร์ก็อาจจะคุ้นเคยชื่อ หรือคนที่เรียนประวัติศาสตร์กับท่านคณบดี ก็มักจะพูดถึงท่านในมุมของกฎหมายแพ่ง แต่จริง ๆ แล้วท่านก็มีบทบาทในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญมาก ๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะในการรัฐประหาร ปี 2490

เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ครั้งนี้สำคัญมาก ๆ และทุกครั้งที่เราพูดถึงปัญหาการรัฐประหาร และความสัมพันธ์กับประมุขของรัฐ หลายคนอาจจะลืมไปว่า รัฐประหาร 2490 ที่เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก ตอนนั้นกระทำในบริบทที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ พระมหากษัตริย์มิได้เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ต่างประเทศ

ตอนที่มีการยึดอำนาจเมื่อพฤศจิกายน 2490 แล้ว วันรุ่งขึ้นก็ได้เอารัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม ปรากฏว่า กรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนาม แต่พระยามานวราชเสวีไม่ได้เซ็น ซึ่งเป็นคำถามคาใจผมคล้าย ๆ กับปรีดีไปอยุธยาคือ “พระยามานฯ ไปไหน?” หากใครได้อ่าน แผนชิงชาติไทย ของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ได้เล่าไว้ว่า พระยามานวราชเสวี ท่านเป็นนักกฎหมาย ท่านรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง จึงไม่ยอมเซ็น คณะรัฐประหารไปหาท่านที่บ้านก็ไม่ให้เข้าพบ สุดท้ายจึงออกมาแบบนี้ 

 

 

ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ เมื่อประกาศรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว อาจารย์ปรีดี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ออกมาครั้งแรก (ภาพซ้าย) มีข้อความว่า “ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” แต่มีเพียงชื่อกรมขุนชัยนาทนเรนทรพระองค์เดียว แต่ต่อมา เมื่อไปดูในฉบับที่ลงพระราชกิจจานุเบกษา (ภาพขวา) ข้อความ “ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ก็ได้หายไปแล้ว เหลือเพียงพระนามของ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งปัญหาคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ท่านลงพระนามในรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มในฐานะอะไร

นี่เป็นปัญหาใหญ่มาก และทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายตามมา ที่อาจารย์ปรีดีได้วินิจฉัยไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะเป็นโมฆะ เพราะว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มี 2 ท่าน เวลาจะลงนามก็ต้องลงทั้งคู่ อย่างในกรณีการประกาศสงครามนั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มี 3 คน ยังสามารถลง 2 ใน 3 ได้ แต่ในกรณีนี้จะต้องลงนามครบทั้ง 2 คน ลงนามเพียงคนเดียวนั้นถือว่าเป็นโมฆะ ในทางกฎหมายถือว่าเป็นโมฆะ แต่ในทางการเมือง ท่านก็คงเห็นแล้ว ว่ามันมีผลในความเป็นจริงและใช้บังคับต่อมา รวมถึงพระยามานวราชเสวี แม้ว่าท่านจะไม่ได้ลงนามด้วย แต่ต่อมาท่านก็กลับมารับตำแหน่งอภิรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มอยู่ดี เพราะฉะนั้นเรื่องของพระยามานวราชเสวีก็น่าสนใจเหมือนกัน

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนั้น เพื่อที่จะบอกให้เห็นว่า ในช่วง 15 ปีแรกมันเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น พระมหากษัตริย์อาจจะไม่ได้มีบทบาทมากนัก อาจจะมีในช่วงปลายรัชกาลที่ 7 แต่ว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา ประมุขของรัฐถูกทำหน้าที่โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมันก็มีเรื่องราวน่าสนใจพอสังเขปตามที่ผมได้เล่ามานะครับ



ที่มา: เรียบเรียงจากช่วงหลังของคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “การศึกษาในช่วง 15 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม ผ่านบทบาทของตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์