ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จดหมายถึงคุณพ่อ

17
พฤษภาคม
2564

ถนนราชดำเนิน
วันพุธที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕

กราบเท้าคุณพ่อที่รักและเคารพอย่างสูง

เช้าวันนี้ รถราบนถนนราชดำเนินดูบางตา ความเงียบปกคลุมไปทั่ว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนทางเท้าริมถนน มีคนจับกลุ่มคุยกันอยู่ บ้างก็มุงดูรถเมล์ ขสมก. ที่ปรุด้วยรอยกระสุน บ้างก็เพ่งพิศกองกระดูกที่ถูกเผาไหม้ จนกลายเป็นเถ้าถ่าน บ้างก็ยืนล้อมต้นไม้ไม่ใหญ่เท่าใดนักต้นหนึ่ง ลูกรีบสาวเท้า เข้าไปใกล้ต้นไม้นั้น ลำต้นถลอกปอกเปิก แลเห็นเนื้อไม้สีนวลสลับกับเลือดแดง แห้งเกรอะกรังเป็นริ้วทางยาว โคนต้นไม้มีธงชาติผืนเล็กปักอยู่รอบๆ โปสเตอร์สีเหลืองตัวอักษรดำบรรจงเขียนด้วยถ้อยความว่า

"ต้นไม้แห่งประชาธิปไตย"
ณ จุดนี้เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา
มีวีรชนประชาธิปไตยท่านหนึ่ง
……
... ถูกยิง …
……

ณ ถนนราชดำเนินนี้ เมื่อ 3 วันก่อน คลื่นมนุษย์ทั้งหญิงและชาย เด็กและผู้ใหญ่ คนเมืองและคนต่างจังหวัด คนจนและคนรวย ชาวพุทธ ชาวคริสต์ และชาวมุสลิม ด้วยใจจากใจ มาชุมนุมด้วยความมุ่งมั่นเดียวกัน “ต่อต้านเผด็จการ” คัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช. เรียกร้องอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทย

ในมือของพวกเขาบางคน ชูไสวธงชาติผืนเล็ก บางคนกวัดแกว่งธงกระดาษน้อยที่มีคำขวัญว่า "ประชาธิปไตยต้องได้มาด้วยสันติวิธี" แต่อนิจจา ผู้ที่หลงอำนาจ และบ้าอำนาจอันมิชอบ ออกคำสั่งให้ล้อมสกัดฝูงชนทุกทิศทุกทาง ปากกระบอกปืนหันสู่ผู้เพรียกหาประชาธิปไตย คนหนึ่งล้ม อีกหลายสิบคนล้ม หนึ่งร้อย สองร้อย หรือกว่านั้นที่ถูกปลิดชีพด้วยกระสุนปืน หยดเลือดไหลริน อาบลงบนถนนแห่งประชาธิปไตยสายนี้

คุณพ่อคะ ถ้าคุณพ่อมีชีวิตยืนนานถึงวันนี้
คุณพ่อจะคิดอย่างไร และจะรู้สึกอย่างไรคะ?

ทันใดนั้นลูกก็นึกถึงข้อความตอนหนึ่งที่คุณพ่อกล่าวไว้ในปาฐกถาเรื่อง "เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร" ว่า

“ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า การต่อต้านเผด็จการนั้น ไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งขณะนี้เป็นวิธีที่กฎหมายอนุญาต แต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมี อำนาจขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ถูกกฎหมายในเวลานี้อาจจะถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไป โดยหาว่าเป็นผู้ต่อต้านเผด็จการก็ได้

ดังปรากฏตัวอย่างในอดีตที่มีผู้ถูกเผด็จการจับตัวไปฟ้องศาลลงโทษ เช่น กรณีขบวนการสันติภาพ และกรณีที่มีผู้ถูกจับไปขังทิ้งยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการ ต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละ ชีวิตร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร"

ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสให้ร่วมสังสรรค์ในงานชุมนุมฤดูร้อน พ.ศ. 2517 ของสมาคม ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม “โดยมีบุคคลจำนวนหนึ่งต้องการฟื้นเผด็จการขึ้นมาอีก และบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง ดำเนินการอย่างสุดเหวี่ยงยื้อแย่งผลแห่งชัยชนะ ซึ่งวีรชน 14 ตุลาคม 2516 นำมาให้ปวงชนนั้น ไปเป็นประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชน โดยเฉพาะเพื่อสถาปนา เผด็จการของอภิสิทธิ์ชนขึ้น”

คุณพ่อจึงได้ให้แง่คิดแก่ชนรุ่นใหม่จากประสบการณ์ชีวิต และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันยาวนานของตน โดย “ปรารถนาพิทักษ์ชัยชนะก้าวแรกที่วีรชน 14 ตุลาคม 2516 ได้เสียสละชีวิต ร่างกาย และความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้เผด็จการเพื่อให้ชาติ และราษฎรไทย ได้บรรลุซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์” [1]

จากวันนั้นถึงวันนี้ ล่วงมานาน 18-19 ปีแล้ว ถึงกระนั้นความคิดของคุณพ่อก็มิได้ล้าสมัยเลย ลูกจำได้ว่าก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ต้นเดือนตุลาคม 2516 ใบไม้ของต้น Marroniers ที่เรียงรายสองฝั่งถนนหน้าบ้านอองโตนี กำลังเปลี่ยนจากสีเขียวแก่เป็นสีเหลืองอ่อน อากาศปารีสในต้นฤดูใบไม้ร่วงกำลังเย็นสบาย ทว่า ลมอันร้อนระอุจากกระแสการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยสมบูณ์ของนิสิต นักศึกษาและประชาชนได้พัดพามาถึงบ้านอองโตนี

คุณพ่อติดตามสถานการณ์บ้านเกิดเมืองนอนอย่างใกล้ชิด วันใหม่ของคุณพ่อเริ่มด้วยการฟังวิทยุกระจายเสียง BBC ภาคภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่เช้ามืด พลางจิบชาจีนร้อนหอมกรุ่น พอสายหน่อยก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ The Herald Tribune, Le Monde,Le Figaro และ L'Humanité

ครั้นได้เวลาบุรุษไปรษณีย์มาส่งไปรษณียภัณฑ์ คุณแม่จะรีบเปิดซองหนังสือพิมพ์ไทยที่ญาติมิตรส่งมาจากกรุงเทพฯ แล้วอ่านข่าวพาดหัวให้คุณพ่อฟัง แต่ถ้ามีข่าวไหนบทความใดที่สำคัญ คุณพ่อก็จะเอามาอ่านเอง พอถึงเที่ยงวัน คุณพ่อก็ดูข่าวสถานีโทรทัศน์ TF1 ของฝรั่งเศส ช่วงบ่ายสลับการฟังวิทยุกับดูข่าวสำคัญทางโทรทัศน์ และจะติดตามข่าวทางโทรทัศน์อีกทีในเวลา 2 ทุ่มตรง แม้เวลากรุงเทพฯ จะต่างกับเวลาปารีสถึง 6 ชั่วโมง (เวลาฤดูหนาว) แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการติดตามรับรู้สถานการณ์ของคุณพ่อ

วันที่ 13 ตุลาคม คุณพ่อ คุณแม่เป็นเจ้าภาพแต่งงานให้หลานชายวรวิทย์ กนิษฐะเสน กับ ทิพยวรรณ วณิสสร แขกเหรื่อเต็มบ้าน ความสนใจของคุณพ่ออยู่บนจอโทรทัศน์ พวกเราลูกๆ หลานๆ พากันตื่นเต้นกับสถานการณ์ที่เข้มข้นเข้าทุกขณะ พอวันรุ่งขึ้นคุณพ่อก็รับทราบข่าวการปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยที่สนามหลวง และถนนราชดำเนินพร้อมกับการสิ้นสุดของยุคทรราชครองเมือง

คุณพ่อได้แสดงความคารวะ และสดุดีวีรชน 14 ตุลาคมไว้ว่า

"วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย คือเป็นวันชัยชนะก้าวแรกของเยาวชนหญิงชายไทย ภายใต้การนำของนิสิตนักศึกษานักเรียนแห่งสถานศึกษามากหลาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากราษฎรไทยทุกชนชาติ และทุกชนชั้นวรรณะที่รักชาติจำนวนหลายล้านคน ผนึกกัน เป็นขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ให้แก่ปวงชนชาวไทย

ฝ่ายครองอำนาจรัฐสั่งทหาร และตำรวจเฉพาะส่วนที่ยอมเป็นเครื่องมือของพวกเขาใช้อาวุธทันสมัยเข้าปราบปรามขบวนการนั้น ซึ่งมีแต่มือเปล่าหรือบางคนมีเพียงแต่ไม้พลองเพื่อป้องกันตัว แต่ขบวนการนั้น มิได้หวาดหวั่นโดยยืนหยัด มั่นคงยอมพลีชีพกับสละความสุขความสำราญส่วนตัว เพื่อชาติและมวลราษฎร ซึ่งเป็นที่เคารพยอดยิ่งที่สุด

วีรชนจำนวนมากต้องถูกฆ่าตายและได้รับบาดเจ็บและสาบสูญไป ส่วนผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่โดยมิได้รับบาดเจ็บทางกายก็ได้รับความเหน็ดเหนื่อยทางกายและสมองอย่างหนัก ผลแห่งความเสียสละแห่งวีรชนทั้งหลายในการต่อสู่โดยชอบธรรมได้บรรลุชัยชนะก้าวแรก คือ รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีต้องลาออกพร้อมทั้งตำแหน่งผู้บัญชาการและรองผู้บัญชาการทหารสูง

ครั้นแล้วได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลงยืนยันจะจัดการให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งภายใน 6 เดือน”

อันเป็นข้อความตอนหนึ่งในบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ที่คุณพ่อได้เขียนขึ้นเพื่อสนองศรัทธางานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประจำปี 2516

ช่วงหลัง 14 ตุลาคม นักเรียนไทยและคนไทยในฝรั่งเศส และยุโรปหลายประเทศ ได้มาพบและสนทนากับคุณพ่อที่บ้านอองโตนีเสมอ ทั้งยังเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาในงานชุมนุมของนักเรียนไทยในประเทศต่างๆ ส่วนทางเมืองไทยอมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ คนไทยในสหรัฐอเมริกาก็ได้ติดต่อขอคำขวัญและบทความมา

การทำงานของคุณพ่อมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พวกเราที่เป็นลูกหลานตลอดจนนักเรียนไทยที่ไปมาหาสู่กับบ้านอองโตนี ทุกคนที่ว่างจากการเรียนการงาน แม้คุณแม่ก็ไม่เว้น จะผลัดกันเป็นเลขาฯ จดคำบอก (Dictation) ความคิดที่อยู่กันบึ้งของหัวใจคุณพ่อได้พรั่งพรูออกมาทางวาจาด้วยน้ำเสียงเนิบๆ ช้าๆ บางครั้งก็หยุดทิ้งช่วงพักใหญ่ เพื่อค้นหาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่กองสุมอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือและหิ้งหนังสือ บางครั้งก็เหม่อมองไปนอกหน้าต่างสังเกตยวดยานที่วิ่งไปมาบนถนน Aristide Briand จากนั้นก็หันกลับมาบอกคำบอก (Dictation) ต่อ เป็นวัฎจักรเช่นนี้จนกว่างานเขียนชิ้นนั้นจะแล้วเสร็จ

คุณพ่อตรวจไปแก้มา จากนั้นจึงให้เอาไปพิมพ์ดีด เสร็จแล้วคุณพ่อขัดเกลาอีกหลายเที่ยวจนเป็นที่พอใจ คุณพ่อทราบไหมคะว่า พวกเราลูกๆ หลานๆ อายุ 20 กว่าๆ 30 ต้นๆ เท่านั้นเองแอบบ่นกันว่าเหนื่อยเต็มทีแล้ว แต่ไม่เห็นคุณพ่อที่มีอายุถึง 74 ปี จะบ่นเหนื่อยล้าบ้างเลย สิ่งที่ “เลขาฯ” ที่ไม่ใช่มืออาชีพอย่างพวกเราได้รับก็คือ วิชาจดคำบอกและพิมพ์ดีด (จิ้ม 2-3 นิ้วได้คล่องแคล่วพอควร) และที่สำคัญไปกว่านั้นคือวิชาความรู้ที่ไม่เคยเรียนรู้จากตำราเรียนหรือที่ไหนมาก่อน ลูกอยากให้วันเวลาหมุนกลับไปเมื่อวันวาน คราวนี้ขอจะเป็น “เลขาฯ” ที่ไม่บ่นแล้วค่ะ

ในฐานะราษฎรคนหนึ่งและในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งมีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดิน คุณพ่อได้ส่งข้อเสนอต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย โดยให้ราษฎรมีสิทธิถอดถอนผู้แทน (Recall), ให้รัฐจ่ายค่าป่วยการแก่ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง, วิธีเลือกตั้งที่ไม่ซับซ้อน, ไม่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรค, สภาเดียว" ซึ่งคุณพ่อได้อธิบายที่มาของข้อเสนอนี้ใน “คำนำ” ของบทความนั้นว่า

“ความเห็นของข้าพเจ้าที่แสดงไว้นั้น บางเรื่องอาศัยจากการที่ข้าพเจ้าเคยเรียนมาทางตำรา แต่ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติในประเทศไทย บางเรื่องเคยปฏิบัติในประเทศไทยและในต่างประเทศ บางเรื่องข้าพเจ้าได้คิดขึ้นเอง คือ การให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐมีเงินนอกงบประมาณพอจ่ายได้ในการเลือกตั้ง 25 ครั้ง ในรอบ 100 ปี ฯลฯ"

เป็นที่น่าเสียดายว่า ข้อเสนอที่เป็นปัญหาส่วนรวมของประเทศชาติมิได้รับความสนใจจากนายกรัฐมนตรีขณะนั้น (มีเพียงจดหมายตอบรับสั้นๆ) ส่วนผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งก็มิได้นำมาประกอบพิจารณา

คุณพ่อมิได้ท้อแท้หมดกำลังใจ ในเวลาต่อมาได้เขียนจดหมายถึงรองนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ เสนอความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ชี้ให้เห็นผลร้ายของการเลือกตั้งแบบรวมเขต ซึ่งคุณพ่อตระหนักถึงความชอบธรรมแห่งหลักการเสมอภาคและสันติวิธี ดังได้กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าจึงหวังว่ารัฐบาลคงรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้ราษฎรทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติไทย ได้มีตัวแทนตามสังกัดส่วนแห่งอาชีพในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และดำเนินการร่างที่ให้ความสะดวกเข้ามาต่อสู้อย่างสันติในรัฐสภาดีกว่าจะสร้างสิ่งกีดกั้นในทางกฎหมาย และการปฏิบัติที่ปิดช่องให้ราษฎรส่วนมากไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากวิธีต่อสู้นอกรัฐสภา”

คุณพ่อได้ประเมินสถานการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วยความห่วงใยว่า

“แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง คือการที่ฝ่ายเผด็จการส่งคนมาแทรกซึมในขบวนการต่อต้านเผด็จการ ซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในขบวนการอันเป็นการบั่นทอนกำลังของขบวนการ” [2]

เพียง 3 ปี ให้หลัง เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ก็ได้อุบัติขึ้น สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในประเทศถูกปิดกั้นการเสนอข่าวสารข้อเท็จจริง แต่ที่ฝรั่งเศสดินแดนแห่งเสรีภาพ ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ บนจอโทรทัศน์ กลับได้เห็นภาพทหารตำรวจและอันธพาลในคราบของลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปยิงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพของนักศึกษาที่ถูกบังคับให้ถอดเสื้อ มือทั้งสองไพล่ตรงท้ายทอย หมอบคลานอยู่บนสนามฟุตบอล ภาพของชายหนุ่มที่ถูกแขวนคอไว้กับต้นมะขามสนามหลวง ภาพของเปลวควันที่พวยพุ่งอันเนื่องจากเผาย่างผู้บริสุทธิ์พร้อมยางรถยนต์ คุณพ่อรู้สึกสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

อำนาจการปกครองเด็ดขาดของ “คณะปฏิรูป” และ “คณะปฏิวัติ” ได้ประหารชีวิตและจำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือไม่ก็ส่งขึ้นศาลทหาร สุธรรม แสงประชุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและเพื่อนอีก 9 คนถูกจับกุมคุมขัง

ประชาชนในประเทศ คนไทยในต่างแดน และองค์การนิรโทษกรรมระหว่างประเทศ (Amnesty International) ต่างก็รณรงค์ให้นิรโทษกรรม สุธรรมและเพื่อน ตอนนั้นนักเรียนไทยและชาวไทยในฝรั่งเศสได้เขียนจดหมาย และร่วมกันเซ็นชื่อเพื่อเรียกร้องเช่นกัน ! เมื่อนักเรียนไทยเอาจดหมายมาขอให้คุณพ่อเซ็นชื่อ คุณพ่อไม่ลังเลที่จรดปากกาเซ็นชื่อด้วย ลูกเองยังแปลกใจ เพราะคุณพ่อ “เข็ด” ต่อผลของการประกาศตนต่อสาธารณชนมาแล้ว

คุณพ่อปรารภบ่อยครั้งว่า “ดูซิ พอพ่อไปเปิดเผยตัวทางวิทยุปักกิ่งว่าลี้ภัยอยู่เมืองจีน คุณเฉลียว คุณชิต คุณบุศย์ เลยถูกตัดสินประหารชีวิต พ่อยังเสียใจอยู่จนทุกวันนี้” [3] คราวนี้คุณพ่อคงปลงแล้วว่า ถ้าเผด็จการจะกลั่นแกล้งอย่างไรแล้วก็คงไม่แคล้วกระมังคะ

เสียงแตรจากรถยนต์คันหนึ่งทำให้ลูกตื่นขึ้นจากภวังค์ ความนึกคิดของถูกล่องลอยไปไกลถึงต่างแดนเมื่อครั้งกระนั้น ณ วินาที่นี้ได้กลับมาสู่ความเป็นปัจจุบันกาล เมื่อลูกเดินมาถึงหน้าโรงแรม Royal หรือโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่คุณพ่อรู้จักดี ที่นี้คือโรงพยาบาลสนามที่ให้การปฐมพยาบาลประชาชนที่ถูกยิงบาดเจ็บ ฝั่งตรงกันข้ามคือกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกไฟไหม้จนเขม่าจับเป็นคราบดำ

ถนนราชดำเนินวันนี้และวันก่อน คือ ประจักษ์พยานแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทยทุกยุคทุกสมัย วีรชนนิรนามเรือนร้อยเรือนพันที่ล้มลงบนถนนสายนี้ได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติและมวลราษฎร คุณพ่อเคยสอนลูกหลานว่า “ดังนั้นจึงเป็นการสมควรแล้วที่เราชาวไทยที่รักชาติจำนวนมากมาย แสดงกตัญญูอุปการคุณของวีรชนโดยทางกาย วาจา ใจ และการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ตลอดทั้งร่วมมือกันในการสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แค่วีรชนทั้งหลายนั้น [4]

คุณพ่อคะ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า อนุสาวรีย์ที่เป็นถาวรวัตถุจะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่อนุสาวรีย์ทางใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจักสถิตอยู่ในดวงใจของลูกตลอดกาลนานค่ะ

กราบด้วยความเคารพรักและคิดถึงยิ่ง

จากลูก
วาณี พนมยงค์

 


[1] “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” : ปรีดี พนมยงค์

[2] “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” : ปรีดี พนมยงค์

[3]  หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐบาลขณะนั้นร่วมกับผู้นำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์  ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีสวรรคตเป็นกรณีพิเศษ โดยเอาบุคคลนอกราชการ คือ พระพินิจชนคดี (เซ่ง หรือ พินิจ อินทรทูต) มาเป็นกรรมการฯ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2496 สามผู้ต้องหาคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 คือ นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศร์ ปัทมศิริ ก็ถูกตัดสินประหารชีวิต

[4] “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” : ปรีดี พนมยงค์