ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน

11
พฤษภาคม
2568

Focus

  • ในปี 2518 อันเป็นช่วงปลายสงครามเย็น นายปรีดีได้อภิปรายถึง “อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน” ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, พม่า, และมาเลเซีย
  • ลาว: ลาวเผชิญกับสงครามกลางเมืองและการแทรกแซงจากมหาอำนาจ แต่ประชาชนต้องเผชิญความทุกข์คล้ายคนจมน้ำ
  • เวียดนาม: สถานการณ์เวียดนามแสดงให้เห็นบทบาทของอุดมการณ์ที่เป็นความแตกขั้วแยกข้างร้าวลึกและยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรซึ่งไทยควรเรียนรู้จากจุดนี้
  • พม่า : ประสบปัญหาความไม่มั่นคงและสงครามภายในกับกลุ่มชาติพันธุ์ นายปรีดีเปรียบเทียบว่า ไทยอาจเข้าสู่สถานการณ์เช่นเดียวกัน หากไม่เคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และยังเสนอเสนอว่าควรมีแนวคิดแบบ “สหพันธรัฐ” เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย เช่น มุสลิมในภาคใต้ มีสิทธิปกครองตนเองบางส่วน
  • มาเลเซีย: บทบาทในการเป็นตัวอย่างของรัฐที่จัดการกับปัญหาชาติพันธุ์ (มาเลย์–จีน–อินเดีย) อย่างมีระบบมากกว่าไทย
  • และกัมพูชา: นายปรีดีได้วิเคราะห์ว่าไทยมีส่วนร่วมกับ CIA ในการสอดแนมในเขตกัมพูชา จนนำไปสู่ข้อพิพาท และเหตุการณ์นี้สะท้อนว่าไทยไม่สามารถวางตัวเป็นกลาง และอาจสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค นายปรีดียังเตือนว่า ความร่วมมือกับมหาอำนาจเพื่อหวังผลทางยุทธศาสตร์ อาจย้อนกลับมาสร้างปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ในบทความนี้ที่เขียนในปี พ.ศ. 2518 ยังได้ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ในกัมพูชามีแนวโน้มไปสู่ภาวะวิกฤต แม้จะมีจดหมายของคณะผู้แทนราชรัฐบาลร่วมแห่งชาติกัมพูชา ฉบับที่ 29 พ.ค. 1975 (พ.ศ. 2518) ว่าจะ “เทอดทูนหลัก “ความผาสุก ความเสมอภาค ความยุติธรรม และประชาธิปไตยแท้จริง” รวมถึงยึดหลักสันติภาพและความเป็นกลาง แต่คำเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นจริงเพราะเรื่องจริงคือโศกนาฏกรรรมที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ สถานการณ์ของกัมพูชาทำให้เห็นว่าความขัดแย้งรุนแรงในประเทศ มีปัจจัยหนึ่งมาจากการแทรกแซงของมหาอำนาจ และไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งนี้หากจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่สน “วิธีการ”
  • บทความนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของความปรารถนาที่นายปรีดีอยากเห็นรัฐบาลไทยจัดการกับความขัดแย้ง และรับมีกับการเปลี่ยนแปลงด้วยความระมัดระวังและสันติ ด้วยการเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคไม่สามารถปิดกั้นได้ด้วยความหวาดกลัว หากแต่ต้องรับมือด้วยสติ ซึ่งไทยจะหลีกเลี่ยงความปั่นป่วนได้ ก็ต่อเมื่อสร้างระบบที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม และเลิกใช้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย

 


ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2515

 

สวัสดีท่านทั้งหลาย

ผมขอขอบคุณท่านประธาน ท่านกรรมการ ท่านสมาชิกแห่ง สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ที่ได้ต้อนรับผมในงานนี้ด้วยมิตรภาพอันดี และขอบคุณท่านประธานที่ได้กล่าวถึง วันที่ 24 มิถุนายน ว่าเป็น วันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้บรรจบครบรอบ 43 ปีที่สยามได้เปลี่ยนจาก ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ท่านประธานได้เสนอหัวข้อเรื่อง 3 อันดับให้ผมเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อแสดงปาฐกถา ผมเลือกเรื่องที่สมาชิกสนใจเป็นอันดับที่ 1 คือ “อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน”

ส่วนเรื่องอันดับที่ 2 คือ การอภิวัฒน์ใหญ่ทางวัฒนธรรมจีน นั้น ผมได้เคยกล่าวไว้ใน หนังสือเกี่ยวกับการที่ผมลี้ภัยในประเทศจีน 21 ปี หนังสือนี้ผมได้เคยให้ไว้เป็นส่วนรวมแก่คณะกรรมการของสมาคมแล้ว ในวันนี้ขอถือโอกาสมอบให้อีกเล่มหนึ่งแก่ห้องสมุดของสมาคม ถ้าท่านผู้ใดสนใจในปัญหาเกี่ยวกับการอภิวัฒน์วัฒนธรรมของประเทศจีนก็อาจอ่านได้จากหนังสือสมุดนั้น

สำหรับเรื่องอันดับที่ 3 คือ มูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ผมได้เคยกล่าวไว้ใน หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย หนังสือนี้ได้พิมพ์เนื่องในวันที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองบรรจบครบรอบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ. 2515 หนังสือนั้นมีใจความเพียงสังเขปเท่านั้น ซึ่งผมเคยมอบไว้แก่ห้องสมุดของสมาคม วันนี้ขอนำมามอบเพิ่มเติมอีกสองเล่ม ส่วนที่คุณมานิจ ชุมสาย ปรารถนาให้ผมเขียนเรื่องนี้ให้พิสดารนั้น ผมก็ขอสนองศรัทธาเมื่อมีเวลาว่างจากที่ผมเขียนบทความอื่น ๆ

1. ต่อไปนี้ผมจะได้เริ่มกล่าวถึงปัญหาที่ท่านทั้งหลายสนใจเป็นอันดับหนึ่ง คือ “อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน”

ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกถึงแผนที่ภูมิศาสตร์ว่าประเทศ เพื่อนบ้านที่มีเขตพรมแดนติดต่อกับสยามนั้น คือ กัมพูชา, ลาว, พม่า, มาเลเซีย ทิศตะวันออกของลาวและกัมพูชา คือ เวียดนาม ทิศเหนือของเวียดนาม, ลาว, พม่า, คือ จีน ถ้าผมจะกล่าวถึงสถานการณ์ของทุก ๆ ประเทศในภูมินี้ก็จะต้องใช้เวลามาก ฉะนั้นผมจะขอกล่าวเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เห็นว่ามีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสยามในขณะนี้ คือ กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, พม่า, มาเลเซีย ส่วนประเทศจีนนั้นก็จะอ้างถึงบ้าง หนังสือพิมพ์ฟีกาโรฉบับเช้าวันนี้เองได้แจ้งไว้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์จะเดินทางไปปักกิ่งเพื่อลงนามในข้อตกลงสถานปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เรื่องที่เป็นข่าวของโลกในเวลานี้ คือ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสถานการณ์ของพม่าและมาเลเซียนั้นลดความสำคัญไปในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ฉะนั้นผมก็จะได้กล่าวถึงสถานการณ์ของพม่าและมาเลเซียด้วย

2. ท่านที่ติดตามข่าวจากวารสาร, วิทยุและโทรทัศน์ก็ย่อมทราบแล้วว่าเมื่อ ราษฎรกัมพูชาได้กู้อิสรภาพกรุงพนมเปญและทั่วทั้งประเทศกัมพูชาได้สำเร็จ ในวันที่ 17 เมษายนปีนี้ต่อมาเพียง 13 วัน คือวันที่ 30 เมษายน ราษฎรเวียดนามใต้ได้กู้อิสรภาพเวียดนามใต้ได้สำเร็จ และต่อมาอีกประมาณ 10 เศษวันเท่านั้น ราษฎรลาว ก็ได้บังคับให้รัฐมนตรีลาวฝ่ายขวาที่สุดของรัฐบาลผสมของลาวต้องลาออก ครั้นแล้ว พระเจ้ามหาชีวิตจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีความรักชาติประชาธิปไตยดำรงตำแหน่งที่ว่างอยู่ ปัจจุบันนี้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสามดังกล่าวจึงมี ระบบสังคมใหม่ ตามความเหมาะสมแก่ สภาพ และ สัญลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ คือระบบสังคมใหม่ของเวียดนามอย่างหนึ่ง ของกัมพูชาอย่างหนึ่ง, และของลาวอีกอย่างหนึ่ง

ลาวยังมีพระเจ้ามหาชีวิต

กัมพูชา เป็น “รัฐ” (ÉTAT, STATE) และเป็น “ชาติ” (NATION), มี “ประมุขรัฐ” (Chef de l’État, Chief of State) ซึ่งเจ้าฟ้าสีหนุทรงดำรงตำแหน่งนี้ตลอดพระชนมชีพเป็นการเฉพาะพระองค์เท่านั้น ส่วนราชบัลลังก์ยังคงว่างอยู่ เดิมทีเดียวพระราชมารดาของท่านเป็นผู้รักษาราชบัลลังก์ แต่บัดนี้พระราชมารดาสวรรคตแล้ว การสืบราชสันตติวงศ์แบบราชาธิปไตยหรือที่เรียกกันว่า MONARCHY ยังไม่มี ส่วนรัฐบาลนั้นมีลักษณะเป็น “รัฐบาลร่วมแห่งชาติกัมพูชา” เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Gouvernement Royal d’ Union Nationale du Cambodge” กัมพูชาจึงมีลักษณะพิเศษคือเป็น “รัฐ” (ÉTAT, STATE) และ “ชาติ” (NATION) ซึ่งมี “ประมุขแห่งรัฐ” (Chef de l’État, Chief of State) ที่มิใช่พระมหากษัตริย์ คงมีราชบัลลังก์ว่างอยู่เฉย ๆ แต่ “รัฐบาล” เป็น “รัฐบาล” (Gouvernement Royal) ของแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชาจึงมีระบบสังคมใหม่ที่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะ

ระบบสังคมของเวียดนามเหนือเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย (République Démocratique)

ระบบสังคมของเวียดนามใต้ ขณะนี้มี รัฐบาลอภิวัฒน์ (Gouvernement Révolutionnaire) เดิมเรียกว่า “รัฐบาลอภิวัฒน์ชั่วคราว” แต่บัดนี้ “ชั่วคราว” หมดไปแล้ว เพราะรัฐบาลนี้ได้อำนาจทั่วทั้งเวียดนามใต้

3. จากวารสารในเมืองไทยและในต่างประเทศรวมทั้งโทรทัศน์ฝรั่งเศส ได้มีการกล่าวและอภิปรายถึงปัญหาที่ว่า สถานการณ์ของประเทศทั้งสามในอินโดจีนที่ได้เกิดขึ้นนั้นจะย่างตามวิถีโคจรเข้าถึงถึงประเทศไทยหรือสยามรวมทั้งเอเซียอาคเนย์หรือไม่

ท่านทั้งหลายที่ได้ติดตามข่าวจากเมืองไทยก็คงทราบว่า ผู้ที่หูไวตาไวที่สุดก็คือเศรษฐีเจ้าสมบัติที่เกรงว่าสถานการณ์อย่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งสามจะโคจรมาถึงสยาม ฉะนั้นจึงมีข่าวที่มิใช่เป็นข่าวลับ เพราะท่านคึกฤทธิ์เองก็เคยกล่าวขอร้อง

มิให้เศรษฐีเจ้าสมบัตินำเงินออกมาต่างประเทศ แต่เศรษฐีเจ้าสมบัติหลายคนนั้นเกรงว่าฐานะของตนจะถูกกระทบกระเทือนอันเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัวก็ไม่ยอมฟังคำตักเตือนใด ๆ คือยังคงเอาเงินออกมาต่างประเทศอยู่เรื่อย ๆ ส่วนคนยากจนก็ไม่วิตกข่าวโฆษณาชวนเชื่อว่าถ้าคอมมิวนิสต์มาแล้วจะริบทรัพย์เพราะคนจนไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรจะให้ริบ ความรู้สึกของคนยากจนกับคนร่ำรวยนั้นต่างกัน ดังที่ผมให้ข้อสังเกตไว้แก่ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2515 และ ได้ตอบปัญหาในที่ชุมนุมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2517 แล้วว่า คนที่อยู่กระท่อมมีความรู้สึกนึกคิดต่างกับคนที่อยู่ปราสาท ส่วนคนชั้นกลางก็ยังลังเล บางคนไม่รู้ว่าจะทำอะไร บางคนก็หาทางที่จะแลกเงินตราต่างประเทศไว้บ้าง ท่านที่อยู่ในฝรั่งเศสถ้าถามทางบ้านในเมืองไทยก็คงจะทราบว่าเมื่อก่อนนี้หาซื้อเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพฯ ได้ตามอัตราทางราชการหรือต่ำกว่าอัตรานั้น บัดนี้คนต้องการเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ค่าของเงินตราต่างประเทศก็มีราคาสูงขึ้นและหาซื้อยากยิ่งขึ้น อนึ่ง ผู้ที่เป็นข้าราชการก็แบ่งออกได้เป็น 3 อันดับ คือ อันดับที่ 1 ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงมีส่วนในการก่อสถานะสงครามให้เกิดขึ้นระหว่างสยามกับประเทศทั้งสามแห่งอินโดจีน ก็ต้องการทำสงครามต่อไป โดยเกณฑ์ลูกหลานกรรมกรชาวนามารบเพื่อรักษาฐานะของตนไว้ อันดับที่ 2 คือข้าราชการชั้นกลางและอันดับที่ 3 คือข้าราชการผู้น้อยซึ่งหลายคนก็ไม่สนใจว่าเหตุการณ์ของเพื่อนบ้านจะโคจรมากระทบถึงตนหรือไม่ บางคนก็สดับตรับฟังว่าประเทศเพื่อนบ้านปฏิบัติต่อข้าราชการที่ได้รับใช้ระบบเก่าอย่างไรบ้าง จึงทราบว่า ในกัมพูชาและเวียดนามใต้จัดการลงโทษเฉพาะผู้ทรยศต่อชาติ ส่วนผู้ที่ไม่ใช่ตัวการทรยศต่อชาตินั้น เวียดนามใต้และกัมพูชาให้ข้าราชการเก่าทำการวิพากษ์ตนเองว่าได้ทำผิดพลาดไปอย่างไรแล้วแก้ไขตนเองให้ซื่อสัตย์ต่อราษฎรก็ได้รับอภัยโทษ ส่วนของลาวนั้นปรากฏจากหนังสือพิมพ์ “ฟีกาโร” ฉบับเมื่อเช้านี้ และแสดงภาพประกอบถึง ข้าราชการเก่าของลาวจำนวนหนึ่งทำการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองว่าตนได้ผิดพลาดมาก่อนบ้างอย่างไรแล้วก็จะแก้ไขตนให้เป็นข้าราชการที่ดีของรัฐบาลผสมของลาว

แต่การที่เราจะวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามประเทศแห่งอินโดจีนจะย่างเท้าก้าวโคจรมาถึงสยามและเอเซียอาคเนย์หรือไม่นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือไม่ต้องการตามความนึกคิดของบุคคล คือมิใช่ใคร่ความอยากได้ภาวะอย่างใดซึ่งพระพุทธองค์เรียกว่า “ภวตัณหา” หรือ ความไม่ใคร่, ความไม่อยากได้ภาวะอย่างใดซึ่งพระพุทธองค์เรียกว่า “วิภวตัณหา” ซึ่งท่านก็อาจสังเกตว่าสิ่งที่ใคร่หรืออยากได้นั้นก็ไม่อาจได้เสมอไป เช่นขณะนี้เราอยากรับประทานมะม่วงก็รับประทานไม่ได้ เพราะสภาพไม่อำนวยให้ และตรงกันข้ามเรื่องที่ไม่ใคร่ ไม่อยากได้ ไม่อยากประสบ ก็ประสบขึ้นมาได้ ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นสิ่งอยู่นอกเหนือจาก “ภวตัณหา” หรือ “วิภวตัณหา” ที่ตั้งอยู่บนรากฐานทางจิตของบุคคล สภาพแวดล้อมทางสังคมนั้นเป็นไปตามกฎแห่งความเคลื่อนไหวของวิทยาศาสตร์ทางสังคม ถ้าหากกฎแห่งความเคลื่อนไหวของสังคมโคจรมาไม่ได้ไซร้ผู้ใดอยากให้มาก็มาไม่ได้ แต่ถ้าหากกฎแห่งความเคลื่อนไหวโคจรตามวิถีทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีผู้วิเศษใดจะต้านทานได้

4. กฎนี้คือกฎอะไร ก็คือ กฎวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ประยุกต์แก่วิทยาศาสตร์สังคม นั่นเอง คือกฎแห่งความอนิจจังซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบเมื่อกว่า 2500 ปีมาแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ต่อมาเมธีกรีกโบราณ และ นักปรัชญายุโรปภายหลังขบวนฟื้นภูมิธรรม (Renaissance) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16, 17, 18 ก็ค้นคว้ากฎของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและภาวะทั้งหลายนั้น จึงได้มายุติว่า ไม่มีอะไรคงอยู่กับที่ทุกอย่างต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ว่า คนเราเกิดมา มีชีวิตอยู่ ก็เติบโตไปได้ถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตต่อไปได้ก็เข้าสู่ความแก่ ความเจ็บ ในที่สุดก็ตายฉันใดก็ดี ระบบสังคมของมนุษย์ก็เป็นไปตามกฎเช่นนั้น แม้เก้าอี้ที่เรานั่งกันอยู่นี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวเอง ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าเพียงชั่วคราวเดียวก็มองไม่เห็น แต่ความจริงนั้นมีเคลื่อนไหวอยู่ภายในตัวเอง คือเดิมเป็นเก้าอี้ใหม่ บัดนี้หมดสภาพเป็นเก้าอี้ใหม่ ซึ่งกลายเป็นเก่า แล้วก็เสื่อมคุณภาพใช้การไม่ได้ จึงต้องหาเก้าอี้ใหม่ที่ใช้การได้ในกาละต่อไป ระบบสังคมของมนุษยชาตินั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งคนในรุ่นนี้อาจมองเห็นส่วนหนึ่ง เช่น ถ้าเราย้อนหลังไปเพียง 10 ปี ก็จะเห็นว่าเมืองไทยมีระบบเผด็จการ ในระบบเผด็จการนั้นก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมนูญชั่วคราว” บ้าง “คำสั่งคณะปฏิวัติ” บ้าง “ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน” บ้าง แล้วเปลี่ยนแปลงมามีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับ 2517” และถ้าย้อนหลังไปอีกสักหน่อย ซึ่งท่านประธานฯ และท่านทั้งหลายระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ท่านก็ย่อมทราบว่าก่อนหน้านั้นมีระบบใดและต่อมามีระบบใดบ้าง ถ้าพิจารณาย้อนหลังขึ้นไปศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือรวมทั้งศึกษาที่เรียกกันว่า “ก่อนประวัติศาสตร์” (Préhistoire, Prehistory) ก็จะทราบว่า ระบบสังคมของมนุษย์เริ่มแรกทีเดียว คือ ปฐมสหการ ต่อมามีระบบทาส ต่อมามีระบบศักดินา และต่อมามีระบบทุน ต่อมาบางประเทศมี ระบบประชาธิปไตยแผนใหม่ บางประเทศเข้าสู่ ระบบสังคมนิยมซึ่งยังไม่สมบูรณ์ ฯลฯ ส่วนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในอนาคตแห่งระบบสังคมของมนุษยชาติรวมทั้งของสังคมสยามด้วยนั้น มนุษย์เพียงชั่วรุ่นเดียวอาจประสบพบเห็นส่วนหนึ่งในเวลาต่อไปเท่าที่ตนมีอายุยืนยงอยู่ได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันยาวนานแห่งสังคมของมนุษยชาตินั้นไม่อาจประสบแก่ตนเอง เพราะมนุษย์คนหนึ่ง ๆ นั้นไม่มีอายุอยู่ชั่วกัลปาวสาน บางประเทศเฉลี่ยอายุพลเมืองของเขาว่ายืนยงถึง 60 ปี บางประเทศถึง 70 ปี ในรัสเซียอ้างว่ามีหลายคนอายุยืนกว่า 100 ปี แต่ในเมืองไทยเท่าที่ปรากฏในขณะนี้ว่าคนติดเฮโรอีนและเป็นกามโรคหลายแสนคนก็เฉลี่ยอายุได้ต่ำกว่านั้นมาก และถ้าสภาพการณ์ร้ายเช่นนี้คงมีทวีขึ้นก็เป็นที่น่าวิตกว่าชนรุ่นปัจจุบันนี้ก็ดี ชนรุ่นอนาคตก็ดีจะมีอายุอยู่ได้นานไม่กี่ปี ส่วนชีวิตแห่งสังคมของมนุษยชาตินั้นยืนยาวมาก คือตั้งแต่มีมนุษยชาติในโลกนี้หลายแสนล้านปี ก็ยังจะมีมนุษยชาติอีกหลายล้านปี อย่างไรก็ตามชนรุ่นปัจจุบันนี้ที่อาศัยกฎแห่งความเป็นอนิจจังดังกล่าวแล้วเป็นหลักและพิจารณาความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เป็นมาแล้วในอดีตและที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถมองล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ในอนาคตแม้จะยาวนานเท่าใดก็ตามว่าระบบสังคมปัจจุบันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนแปลงจากระบบที่มีการกดขี่เบียดเบียนไปสู่ระบบที่ปราศจากการกดขี่เบียดเบียนระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

5. การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบบสังคมของมนุษยชาตินั้น อาจเป็นไปโดยวิถีสันติหรือโดยวิถีไม่สันติ

ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นปรารถนาวิถีสันติ ถ้าเราพิจารณาประวัติศาสตร์ในอดีตและที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะเห็นได้ว่า การที่มนุษย์ของบางประเทศใช้วิถีไม่สันติในการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เพราะระบบสังคมเก่าได้กีดกันทางนิตินัยหรือทางพฤตินัยหรือทั้งสองทางมิให้มนุษย์ใช้วิถีสันติได้ มนุษย์จึงจำเป็นต้องใช้วิถีไม่สันติ

พลังแห่งความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมหนึ่ง ๆ ก็คือพลังของมวลราษฎรแห่งสังคมนั้น ๆ นั่นเอง คือราษฎรส่วนมากที่ได้รับความอัตคัดขัดสนและถูกกดขี่เบียดเบียน จึงต้องการหลุดพ้นจากการนั้นอันเป็นวิสัยตามธรรมชาติของมนุษย์

โดยที่มนุษย์ทั่วโลกมีการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันยิ่งขึ้นในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “Culture”, อังกฤษ “Culture”, เยอรมัน “Kultur” นั้น รัชกาลที่ 6 ได้ทรงแปลเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิธรรม” คือหมายถึงความเจริญงอกงามในทางความคิด คำนี้จึงหมายรวมถึงทรรศนะคติที่เจริญงอกงาม ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในเรื่องเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลสะท้อนถึงสังคมต่าง ๆ ของมนุษย์ เมื่อประมาณ 10 ปีเศษมานี้ วารสารอเมริกันได้โฆษณาเผยแพร่ทฤษฎีชนิดหนึ่ง คือ “ทฤษฎีโดมิโน” หรือผม เขียนเป็นพหูพจน์อย่างภาษาฝรั่งเศสว่า “ทฤษฎีโดมิโนส์”

 

 

คำว่า “DOMINO” มีความหมายหลายอย่าง แต่ถ้าหากใช้ในพหูพจน์ก็หมายถึงการเล่นไพ่ต่อแต้ม มีไพ่ 28 ใบ ทำด้วยกระดูกบ้าง, ทำด้วยไม้บ้าง หรือทำด้วยวัสดุสังเคราะห์เทียมสิ่งนั้น ชาวเอเซียเล่นพนันเอาเงินจริง ๆ แต่ว่าเด็กฝรั่งเอาไพ่โดมิโนมาเล่นโดยไม่พนันเอาเงินกัน เช่นเอามาต่อเป็นบ้านบ้าง เป็นสะพานบ้าง มีเด็กบางจำพวกเอาไปตั้งเรียงเฉียงคดติดต่อกัน ถ้าเอานิ้วจี้ให้ตัวหนึ่งล้ม ไพ่ตัวอื่นก็ล้มตาม (ผู้ปาฐกได้แสดงให้ที่ประชุมดู)

นักการเมือง, นักการทหาร, นักโฆษณาของฝ่ายเศรษฐีนายทุนใหญ่อเมริกันเอาวิธีเล่นสนุกของเด็กนั้นมาเปรียบเทียบเพื่อจูงใจให้ราษฎรอเมริกันและลูกสมุนที่กลัวคอมมิวนิสต์เข้าใจอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้าหากประเทศหนึ่งประเทศใดในเครือเดียวกันคือในเครือที่อยู่ภายใต้ระบบอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกันล้มไป โดยอ้างว่าคอมมิวนิสต์เป็นต้นเหตุแล้วระบบปฏิกิริยาของประเทศอื่น ๆ ก็ล้มตามไปและจะต้องอยู่ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ด้วย

 


แผนที่ L708 ที่ก่อให้เกิดปฏิบัติการณ์ต่าง ๆ และสร้างตัวตนรัฐไทยในช่วงสงครามเย็น
ที่มา : US Army Map Window

 

วิธีโฆษณาของทฤษฎีโดมิโนส์นั้นได้ผลที่จูงใจให้ราษฎรอเมริกันและลูกสมุนที่กลัวคอมมิวนิสต์ตามที่นักโฆษณาชวนเชื่อเปรียบเทียบเสมือนว่าเป็นผีปีศาจรูปร่างกำยำที่จะคร่านุษย์เอามาเป็นมังสาหารนั้น ได้ร่วมกันเป็นขบวนยาตราเข้าทำสงครามในอินโดจีนเพื่อขับไล่ปีศาจที่สมมติขึ้นนั้น ประดุจร่วมกันเป็นขบวนพยุหเสนาแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “ครัวซาดส์”, อังกฤษ “ครูเซด” ในสมัยยุคกลางของยุโรป

ชาวคริสต์ที่ร่วมขบวนครูเซดแห่งยุคนั้นเห็นว่าตนมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้ขับไล่พวกนอกรีตที่ยึดครองเยรูซาเล็ม อันเป็นดินแดนของพระผู้เป็นเจ้า และก็จะได้โอกาสนมัสการปูชนียสถานของพระเยซูเจ้า จึงเป็นการจาริกเพื่อแสวงบุญไปด้วย

แต่การทำสงครามแทรกแซงกิจการภายในของเวียดนาม, กัมพูชา, ลาวนั้น เป็นการแสวงบาป เพราะราษฎรในสามประเทศนั้นเป็นเจ้าของดินแดนของเขาเอง ไม่มีปูชนียสถานของพระผู้เป็นเจ้าให้นมัสการ และที่เป็นบาปอย่างยิ่งก็คือทำลายราษฎรหญิงชายเด็กเล็กและคนชราที่ไม่ใช่ทหารประจำการ ให้ถึงตาย, บาดเจ็บ, ทุพพลภาพจำนวนหลายล้านคนและทรัพย์สินต้องถูกทำลายเสียหายเหลือคณนานับ คนอเมริกันเองจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่าการนั้นเป็นบาปอย่างมหันต์ ท่านผู้ใดติดตามข่าวอเมริกันด้วยความพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ก็จะทราบถึงเรื่องที่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยคัดค้านสงครามแทรกแซงนั้น และการที่ชายหนุ่มอเมริกันยอมติดคุกดีกว่าไปรบในเวียดนามเป็นจำนวนมากขั้นตามลำดับ จึงเป็นเหตุหนึ่งที่รัฐบาลอเมริกันไม่อาจส่งทหารเพิ่มเติมไปยังสมรภูมิทั้งสาม แล้วในที่สุดก็ต้องถอนทหารทั้งหมดออกจากสามประเทศนั้น ส่วนความทารุณโหดร้ายของทหารอเมริกันต่อพลเมืองที่มิใช่ทหารในเวียดนามนั้นก็ถูกเปิดโปงโดยคนอเมริกันเองมากมายหลายกรณีอื้อฉาวทั่วโลกนอกจากในสยาม สมัยที่มีเซ็นเซ่อร์หนังสือพิมพ์จึงไม่อาจลงข่าวเช่นนั้นได้ เพราะเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะทำให้คนไทยเสียขวัญแต่ผู้ที่อยู่นอกประเทศไทยซึ่งถ้าสนใจ สัจจะทางภววิสัย (Vérité Objective) ก็ย่อมทราบได้ คนอเมริกันที่มีจิตใจรักมนุษยชาติก็ว่าสงครามแทรกแซงนั้นเป็นบาป ผมเชื่อว่าคนไทยที่ส่วนมากเป็นพุทธศาสนิกชนก็ย่อมมีจิตใจรักมนุษยชาติไม่ด้อยไปกว่าผู้ที่ถือศาสนาอื่น นอกจากคนไทยบางคนที่ได้ชื่อเพียงแต่ว่านับถือพุทธศาสนา แต่ในสาระเขาไม่ถือศาสนาใดเลย ประดุจโบราณท่านกล่าวเป็นคำพังเพยว่า “เอาผ้าเหลืองน้อยห้อยหูพอให้รู้ว่าเป็นชาวพุทธ”

ชาวพุทธที่แท้จริงย่อมนึกถึงกฎแห่งกรรม กรรมนั้นอาจประจักษ์ในระยะสั้นหรือในอนาคตต่อไปเร็วหรือช้า โบราณท่านเคยกล่าวถึงกรรมตามทันตาก็มี เช่นบาปกรรมที่จักรวรรดินิยมอเมริกันทำไว้ในเวียดนาม, กัมพูชา, ลาว ก็ประจักษ์เห็นทันตาซึ่งนอกจาทหารฝ่ายตนต้องล้มตายบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 5 แสนคนแล้ว ค่าใช้จ่ายในสงครามเวียดนามเป็นจำนวนกว่า 150,000 ล้านดอลล่าร์อเมริกัน เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเอง ค่าครองชีพสูงขึ้น คนว่างงานมากขึ้น ค่าของเงินดอลล่าร์ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ค่าของเงินบาทของเราที่อิงอยู่กับเงินอเมริกันต้องพลอยลดลงไปด้วย ฯลฯ

6. ท่านที่ระลึกประวัติศาสตร์เบื้องต้นของสหรัฐอเมริกาได้ย่อมทราบว่า สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ได้ล้มไพ่โดมิโนส์แห่งเครือระบบศักดินาใบแรกหรือชุดแรกสำเร็จ ตั้งแต่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบทฤษฎีโดมิโนส์ คือในบั้นปลายแห่งศตวรรษที่ 18 คนอังกฤษส่วนมากใน 13 อาณานิคมอังกฤษที่ทวีปอเมริกาเหนือได้จับอาวุธต่อสู้ระบบศักดินาอังกฤษที่กดขี่เบียดเบียน ครั้นถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 คนอังกฤษเหล่านั้นได้ประกาศตนเป็นเอกราช สถาปนาสหรัฐอเมริกาขึ้น เท่ากับไพ่โดมิโนส์ชุดแรกในเครือระบบศักดินาเจ้าอาณานิคมได้ล้มไปแล้วจูงให้อาณานิคมอื่น ๆ ของอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน ฯลฯ ต้องล้มตามไปด้วย

ประกาศเอกราชฉบับ 1776 ของสหรัฐอเมริกานั้น มิใช่เพียงแสดงว่าตนเป็นเอกราชแล้วเท่านั้น หากคำปรารภได้แถลงถึงสิทธิตามธรรมชาติของมนุษยชนซึ่งแพร่หลายไปทำให้ชาวอาณานิคมสมัยนั้น (ซึ่งเป็นคนยากจนที่อพยพไปจากยุโรปเพื่อทำมาหากินในอเมริกาแต่เจ้าศักดินาก็ยังตามไปกดขี่เบียดเบียนอีกนั้น) ได้ตื่นจากภวังค์ คือตื่นจากความหลงใหลงมงายไม่รู้สึกตัวให้เกิดรู้สึกตัว คือเกิดจิตสำนึกในสิทธิมนุษยชนที่ตนมีอยู่ตามธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ ประกาศเอกราชนั้นได้กล่าวไว้ในคำปรารภ เทอดทูน “ธรรมชาติ” และ “พระเจ้าแห่งธรรมชาติ” ซึ่งประกาศนั้นได้เขียนเป็นตัวอักษรใหญ่ว่า “Nature” และ “Nature’s God” ว่าได้ประทานให้มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาค มีเสรีภาพ และการแสวงหาความสุข และกล่าวว่ารัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยมนุษย์ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเหล่านั้น ครั้งใดรูปแแบบรัฐบาลใดทำลายวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ราษฎรก็มีสิทธิเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโดยตั้งรัฐบาลใหม่บนรากฐานดังกล่าวและจัดเป็นรูปแบบที่ราษฎรเห็นว่าเหมาะสม

ทฤษฎีโดมิโนส์นั้นมิได้วกเวียนอยู่ภายในทวีปอเมริกาเท่านั้น หากโคจรมายังยุโรปด้วย คืออีก 13 ปี ก็มาถึงฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศแรกที่ได้มีการอภิวัฒน์ใหญ่ใน ค.ศ. 1789 เลิกล้มระบบศักดินาและสถาปนาระบบประชาธิปไตยในทางนิตินัยขึ้น เปรียบประดุจไพ่โดมิโนส์แห่งเครือระบบศักดินาได้ล้มตามไปอีกใบหนึ่ง การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสครั้งกระนั้นมิได้กระทำเพียงประกาศว่ามีระบบใหม่ของฝรั่งเศสโดยเฉพาะเท่านั้น หากได้มีประกาศหรือปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมืองฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1789 อาทิในคำปรารภมีความว่า... “Considérant que l’ ignorance, l’ oubli ou le mépris des droits de l’ homme sont les seules causes des malheurs publics et de la corruption des Gouvernements…”

 

 

แปลความว่า

“โดยพิจารณาว่าความโง่เขลา, ความลืมหรือความไม่นำพาต่อสิทธิของมนุษย์ เป็นเหตุเดียวเท่านั้นแห่งความทุกข์ของมหาชนและแห่งการฉ้อราษฎร์บังหลวงของหลายรัฐบาล...” แล้วปฏิญญานั้นก็ได้พรรณนาถึงรายละเอียดแห่งสิทธิต่าง ๆ ของมนุษย์และพลเมือง

การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสพร้อมด้วยประกาศปฏิญญาสิทธิของมนุษยชนดังกล่าวแล้ว มีอิทธิพลทำให้คนยากจนและคนที่ถูกกดขี่เบียดเบียนจากระบบศักดินาในประเทศอื่น ๆ แห่งยุโรปตะวันตกสมัยนั้นตื่นจากภวังค์กันมากขึ้น คือทฤษฎีโดมิโนส์ได้เคลื่อนตัวที่จะโคจรต่อจากประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นพระจักรพรรดิ (Empereur, Emperor) และพระราชาธิบดี (Roi, King, Koenig) ของหลายประเทศในยุโรป อาทิ ออสเตรีย, ปรัสเซีย, อังกฤษ, สเปน, โปรตุเกส, ฮอลแลนด์, ซาร์ดีเนีย, เนเปิล และประเทศใน “สันตะจักรวรรดิ” (Saint-Empire) ก็ได้ร่วมกันยกกองทัพมาประชิดฝรั่งเศสและแทรกแซงกิจการภายในของฝรั่งเศส หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็เพื่อขัดขวางมิให้ทฤษฎีโดมิโนส์ได้ขยายวงโคจรมาถึงจักรวรรดิและอาณาจักรของตน แต่ก็ไม่อาจทำสำเร็จได้ คือการโคจรของระบบประชาธิปไตยก็ดำเนินต่อไปตามเส้นทางของตน ทำให้หลายประเทศในยุโรปตะวันตกต้องรับเอาระบบประชาธิปไตยทางนิตินัยน้อยบ้างมากบ้างตามสภาพ ซึ่งเป็นการบั่นทอนอำนาจศักดินา

แม้ว่าระบบศักดินาของบางประเทศจะยืนยงอยู่ต่อมาได้จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ปรากฏว่าหลายประเทศนั้นต้องเปลี่ยนระบบสังคมเก่าโดยมีระบบสังคมใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยโดยทางนิตินัยมากยิ่งขึ้น

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายประเทศในยุโรปตะวันตกรวมทั้งญี่ปุ่น ได้ร่วมกันส่งกำลังรบไปแทรกแซงในรุสเซียที่ได้สถาปนาระบบโซเวียตขึ้นในประเทศนั้น ทั้ง ๆ ที่กองกำลังของโซเวียตมีอาวุธด้อยกว่าฝ่ายแทรกแซง เพราะอาวุธยุทธภัณฑ์ของรุสเซียได้ถูกทำลายย่อยยับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยที่พระเจ้าซาร์ยังทรงมีอำนาจอยู่ แต่ด้วยกำลังใจสูงของราษฎรรุสเซีย ก็สามารถเอาชนะฝ่ายแทรกแซงได้

ไพ่โดมิโนส์คือระบบพระเจ้าซาร์ได้ล้มไปแล้ว ทฤษฎีโดมิโนส์ก็ดำเนินโคจรต่อไป ดังปรากฏว่าในปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบสังคมเก่าของหลายประเทศได้ล้มไป โดยมีระบบสังคมใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าขึ้นมาแทนที่ ในเอเซียตะวันออกนั้น มองโกเลีย, เกาหลี, จีน, ได้สถาปนาระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยของราษฎรขึ้น, ต่อมาเวียดนามเหนือก็ได้ตั้งระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยของราษฎร แล้วต่อมาทฤษฎีโดมิโนส์ก็โคจรมาถึงกัมพูชา, เวียดนามใต้ และลาว

วิถีโคจรก็คงดำเนินไปตามสภาพและสัญลักษณ์พิเศษเฉพาะของแต่ละสังคม เช่น วิถีของกัมพูชา เป็นอย่างหนึ่งวิถีของเวียดนามเป็นอีกอย่างหนึ่ง, วิถีของลาวเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งท่านทั้งหลายย่อมสังเกตได้ว่าภายหลังที่ฝ่ายขวาของประเทศลาวได้ต่อสู้ทางอาวุธกับฝ่ายลาวรักชาติหรือปเทสลาวมาหลายปีแล้ว ต่อมาเมื่อกัมพูชากับเวียดนามใต้ได้กู้อิสรภาพแล้วสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตลาว ก็ได้เสด็จไปซำเหนือ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของปเทสลาว และได้เสด็จจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์สวนสนามทหารปเทสลาวกับทหารของเสด็จเจ้าสุวรรณภูมานายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงว่าพระเจ้ามหาชีวิตทรงเห็นว่า ไหน ๆ ทฤษฎีโดมิโนส์ก็จะมาถึงแล้ว ก็ให้มาโดยวิถีสันติและมีการปรองดองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ของลาว ดีกว่าที่จะปล่อยให้รบราฆ่าฟันกันต่อไป

7. เมื่อกล่าวถึงคนอเมริกัน เราต้องแยกราษฎรอเมริกันซึ่งเป็นผู้ถูกกดขี่จากระบบสังคมของตนเองออกต่างหากจากคนอเมริกันส่วนน้อยซึ่งทำการกดขี่ คือเศรษฐีเจ้าสมบัติซึ่งเป็นนายทุนสมัยใหม่ที่พัฒนาถึงขีดสูงสุดเป็นจักรวรรดินิยมหรือบรมธนานุภาพ และตัวแทนของพวกนี้ คือ นักการเมือง, นักการทหาร, นักโฆษณาชวนเชื่อ จำนวนหนึ่ง

ท่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์ย่อมรู้ว่า เดิมทีคนอังกฤษได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือนั้นก็เป็นคนยากจนเมื่อจำนวนคนอพยพมีมากขึ้น ได้ขยายพื้นที่ที่กว้างขวางมากขึ้นจึงได้ตั้งเป็นหลายอาณานิคมแต่เจ้าศักดินาอังกฤษก็ยังตามไปกดขี่เบียดเบียน ฉะนั้นคนอังกฤษแห่ง 13 อาณานิคมจึงได้จับอาวุธขึ้นต่อสู้ระบบศักดินาอังกฤษแล้วประกาศเอกราชตั้งเป็นสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ดังที่ผมได้กล่าวในข้อก่อน

ในสมัยนั้น ระบบทุนของสหรัฐอเมริกายังเป็น ระบบทุนธรรมดา ต่อมาก็ได้พัฒนายิ่งขึ้นถึงขีดสูงสุดเป็น ทุนผูกขาด มีอำนาจทุนยิ่งใหญ่ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ระบบทุนที่พัฒนาถึงขีดสูงสุดเช่นนั้นเรียกตามภาษาฝรั่งเศส “IMPERIALISME”, อังกฤษ “IMPERIALISM” คือเป็น “อิมพีเรียลิสม์” ของระบบทุนสมัยใหม่ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “จักรวรรดินิยม” หรือ “บรมธนานุภาพ” ไม่ใช่ “อิมพีเรียลิสม์” ของสมัยทุนโบราณซึ่งผู้เป็นประมุขนั้นต้องการเป็น “จักรพรรดิ” หรือ “จักรพรรดินิยม” ส่วนเศรษฐีสมัยใหม่อเมริกันไม่ต้องการเป็น “จักรพรรดิ” หรือ “EMPEREUR” แต่ต้องการกดขี่ขูดรีดเบียดเบียนราษฎรอเมริกันส่วนมากในสหรัฐอเมริกาเองประการหนึ่ง และ อีกประการหนึ่งต้องการมีอำนาจหรืออิทธิพลหรือทั้งสองอย่าง เพื่อแผ่อำนาจทุนของตนในประเทศอื่นเริ่มจากประเทศในทวีปอเมริกาลาตินแล้วก็แผ่มายังบางประเทศในเอเซียอาคเนย์ ในการที่จักรวรรดินิยมอเมริกันทำได้เช่นนั้นก็เพราะชนชั้นปกครองของประเทศอื่น ๆ นั้นสมรู้เป็นใจด้วยเพื่อหวังได้ความช่วยเหลือของจักรวรรดินิยมนั้นอันเป็นนโยบายชนิดหนึ่งซึ่งผมขอเรียกว่า “นโยบายภิกขาจาร” (beggar’s policy) เรื่องนี้ผมได้ชี้แจงไว้ในคำขวัญซึ่งท่านบุญชู โรจนเสถียร รัฐมนตรีว่าการคลังปัจจุบัน ขอให้ผมเขียนแสดงถึงวิธีการคลังของชาติไทยในอดีต, ปัจจุบัน, และอนาคต เพื่อท่านนำลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกวันสถาปนากระทรวงการคลังครบรอบ 100 ปี ผมจึงได้ส่งคำขวัญไปให้ท่านพิจารณามีใจความว่า ตั้งแต่บรรพบุรุษสร้างชาติไทยเป็นต้นมา เราถือนโยบายเอกราชทางการคลัง ไม่เคยใช้นโยบาย “ภิกขาจาร” ปีใดเรามีงบประมาณรายได้มาก เราก็ใช้มาก ปีใดเรามีงบประมาณรายได้น้อยเราก็ใช้น้อยตามอัตภาพ ถ้าถึงคราวที่เราจำเป็นต้องลงทุนซึ่งทางเศรษฐวิทยาเรียกว่า “ทุนสังคม” คือทุนที่ทำให้เกิดผลิตผล เช่น เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น รัฐบาลต้องการสร้างทางรถไฟ, หรือสร้างชลประทาน เราก็กู้เงินโดยเสียดอกเบี้ยไม่มีอะไรผูกพัน ไม่ใช่เป็นการขอทาน ภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 เราไม่เคยกู้เงินจากต่างประเทศ หากเราใช้หนี้เก่าและเจรจาลดดอกเบี้ย แต่ผมสังเกตว่าตอนหลัง ๆ นี้ พอถึงเวลาเตรียมทำงบประมาณปีหนึ่ง ๆ เราก็หวังว่าปีนั้น ๆ สหรัฐอเมริกาจะให้เงินรัฐบาลเท่าใด ท่านจะสังเกตได้ว่าถ้านักการเมืองผู้ใหญ่อเมริกันมาเยี่ยมสยาม เช่น จอห์นสัน หรือ นิกสัน ฯลฯ นั้น พอเสร็จเยี่ยมแล้ว บางคนก็สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีว่า ปีนี้อเมริกาจะให้เงินเราเท่าใด เมื่อครั้งก่อนนั้นไม่เคยมีปัญหาภิกขาจารผมจึงเขียนในคําขวัญว่า เราจะต้องใช้นโยบายเอกราชการคลังของชาติเพื่อช่วยรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ จริงอยู่เวลานี้เราอาจจะต้องรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศแต่เราต้องรับจากทุกประเทศโดยไม่มีอะไรผูกพันอยู่กับประเทศหนึ่งประเทศใด มิฉะนั้นเราจะต้องทําตามที่ประเทศให้เงินซึ่งเป็นการเสียความเป็นเอกราช เช่นในสหประชาชาติ เราก็จะต้องยกมือให้เขาประดุจที่กล่าวกันว่า ส.ส.ที่ขายตัว และการใช้นโยบายเช่นนั้นทําให้ชาติไทยเสียศักดิ์ศรีในสายตาของโลกว่าเป็นชาติภิกขาจาร ชนชั้นปกครองในหลายประเทศแห่งอเมริกาลาตินได้ใช้นโยบายภิกขาจารจักรวรรดินิยมอเมริกัน จึงทําให้ระบบทุนบรมธนานุภาพได้เข้ามาขูดรีดประเทศนั้น ๆ ซึ่งท่านอาจสังเกตได้ว่าเมื่อมีนักการเมืองผู้ใหญ่อเมริกันไปเยือนประเทศนั้น ๆ ก็ถูกต่อต้านหลายครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องของราษฎรทํากันขึ้นเอง เพราะที่ใดมีการกดขี่ขูดรีด ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ถูกกดขี่ข่มเหงทําการต่อสู้เพื่อกู้อิสรภาพของตน แต่นักการเมือง, นักการทหาร, นักโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเป็นตัวแทนของจักรวรรดินิยมอเมริกัน กลับให้เกียรติแก่คอมมิวนิสต์ว่าเป็นผู้ก่อเหตุต่อสู้นั้นและให้เกียรติเช่นนั้นแก่คอมมิวนิสต์ว่าจะทําการคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกันในเอเซียอาคเนย์ด้วย จักรวรรดินิยมอเมริกันได้ปริวิตกว่าระบบจักรวรรดิ (EMPIRE) ของตนจะต้องสลายไป ถ้าระบบปฏิกิริยาของประเทศหนึ่งประดุจเป็นไพ่โดมิโนส์ใบหนึ่งต้องล้มไปก็ทําให้ระบบปฏิกิริยาของประเทศอื่นที่อยู่ในเครือของจักรวรรดินิยมประดุจเป็นไพ่โดมิโนส์ใบอื่น ๆ ก็ต้องล้มตามไปด้วย

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าราษฎรส่วนมากที่เป็นคนอัตคัดขัดสนของประเทศใดไม่ให้ความสนับสนุนแก่คอมมิวนิสต์ไซร้ คอมมิวนิสต์จะทําการสําเร็จได้อย่างไร นอกจากมีกรณีที่ผมกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าฯ” ซึ่งมอบให้แก่สมาคมแล้ว คือครั้งหนึ่งผมได้สนทนากับเสด็จเจ้าเพชรราช อดีตมหาอุปราชลาว ที่เสด็จมาลี้ภัยอยู่ในสยามภายหลังที่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้กลับมายึดครองลาวอีกเมื่อ ค.ศ. 1947 ผมได้ทูลถามเสด็จเจ้าฯ ว่า ผู้รักชาติคนนั้น ๆ ของลาวเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ พระองค์ได้ตอบเป็นคติปรัชญาว่า “คนที่กําลังจะจมน้ํานั้น จะมีเวลาพอที่จะดูว่ามือที่ยื่นมาช่วยนั้นมีสีขาวหรือสีแดง ?”

 


เจ้าเพชรราช รัตนวงศา
ที่มา: เจ้าเพ็ชราช: บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว

 

8. สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวกับอนาคตของสยามนั้น ผมจะขอกล่าวเกี่ยวกับพม่าก่อน

เขตแดนทางบกด้านตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือของสยามติดต่อกับพม่าและเขตแดนทิศเหนือของพม่าติดต่อกับจีน เมื่อ 10 ปีที่แล้วมาก่อนที่สงครามในอินโดจีนยังไม่ทวีความรุนแรงถึงขนาดหนักนั้น สื่อมวลชนในสยามและในต่างประเทศก็ได้นําปรากฏการณ์ในพม่ามาเสนอเป็นข่าวใหญ่บ่อย ๆ แต่เมื่อสงครามอินโดจีนได้ทวีความรุนแรงหนักขึ้นข่าวสถานการณ์ในพม่าก็เป็นอันดับรองจากข่าวอินโดจีนซึ่งคนส่วนมากหันไปสนใจ แต่นิตยสารที่สนใจในปัญหาเอเซียอาคเนย์ก็ยังเสนอข่าวปรากฏการณ์ในพม่าต่อมาซึ่งแสดงว่า การต่อสู้ระหว่างชนชั้นและการต่อสู้ระหว่างเชื้อชาติกับการต่อสู้ระหว่างชนชาติยังคงดําเนินอยู่ซึ่งหลายครั้งก็มีความรุนแรงปรากฏการณ์ก็คือรัฐบาลพม่าได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์พม่าฝ่ายธงแดง ซึ่งต่อมาได้ตกลงกับรัฐบาลไม่ใช้วิธีต่อสู้ทางสาตราวุธ ส่วนคอมมิวนิสต์พม่าฝ่ายธงขาวซึ่งตามสีธงดูประหนึ่งว่าเป็นสีของฝ่ายขวานั้น ได้ใช้วิธีต่อสู้ทางสาตราวุธกับรัฐบาลพม่าตลอดมาจนทุกวันนี้และยึดพื้นที่ส่วนหนึ่งแห่งลุ่มแม่น้ํา อิระวดี เป็นเขตปลดแอกปกครองตนเองและปฏิบัติการอีกหลายแห่งที่ไม่ไกลจากเขตแดนสยาม เมื่อประมาณ ค.ศ. 1967 คนเชื้อชาติพม่าส่วนหนึ่งได้มีการต่อสู้กับคนเชื้อชาติจีนที่อาศัยอยู่ในพม่าซึ่งทําให้มีคนต้องล้มตายบาดเจ็บทุพพลภาพจํานวนไม่น้อย

โดยที่พม่าประกอบด้วยหลายชนชาติที่มิใช่เชื้อชาติพม่าแต่เคยเป็นชาติอยู่ก่อนที่เข้าร่วมในสหภาพพม่า คือ มอญ, กะเหรี่ยง, ขะฉิ่น, ไทยใหญ่ ฯลฯ นั้น ก็ได้มีการต่อสู้เพื่อแยกตนออกจากสหภาพพม่าแล้วตั้งเป็นเอกราชของตน บางชนชาติ เช่น ชนชาติกะเหรี่ยง ซึ่งส่วนข้างมากอยู่ในเขตพม่า ส่วนน้อยอยู่ในเขตสยามนั้น กะเหรี่ยงในเขตพม่าได้ยึดพื้นที่ปกครองตนเองได้ในทางพฤตินัยแล้วโดยรัฐบาลพม่าไม่อาจเข้ามาใช้อํานาจปกครองได้ ฝ่ายไทยใหญ่ในดินแดนที่เรียกว่า “รัฐฉาน” ซึ่งอยู่ระหว่างเหนือสยามกับใต้มณฑลยุนนานของจีนนั้นก็ต่อสู้ทางสาตราวุธกับรัฐบาลพม่าเพื่อแยกตนเป็นเอกราชโดยเฉพาะมิใช่พวกเขาต้องการแยกจากพม่าเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ประวัติศาสตร์ปรากฏว่าเมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 ได้ส่งกองทัพขึ้นไปประชิดเชียงตุงเพื่อให้เป็นเมืองส่งบรรณาการนั้น พวกไทยใหญ่ก็ต่อสู้โดยไม่ยอมขึ้นแก่สยาม รัชกาลที่ 4 จึงให้ถอนกองทัพสยามกลับฝ่ายชนชาติขะฉิ่นซึ่งเป็นรัฐหนึ่งอยู่บริเวณเหนือพม่าติดต่อกับเขตแดนจีนนั้นก็ต่อสู้รัฐบาลพม่าเพื่อแยกตนเป็นรัฐอิสระ ถ้ารัฐบาลพม่าเก็บอาวุธได้จากการรบกับชนชาติเหล่านั้นซึ่งเป็นอาวุธจากจีนไซร้ รัฐบาลพม่าก็คงจะแสดงให้ชาวพม่าชมว่าเป็นอาวุธที่ชนชาติเหล่านั้นได้มาจากจีน แต่จนปัจจุบันนี้ก็ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลพม่าแสดงเช่นนั้น

กะเหรี่ยงในพม่าได้อาวุธจากที่ใดนั้น ท่านที่สนใจก็อาจรู้ได้โดยสอบข้อเท็จจริงจากผู้ค้าอาวุธในสยามหรือจากผู้ค้าเพชรพลอยที่ทําการค้าอย่างเปิดเผย คือ กะเหรี่ยงเอาพลอยทับทิมที่มีค่าซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกว่าเป็นเหมืองในพม่า (ซึ่งว่าที่แท้ในเขตกะเหรี่ยงครอบครอง) นั้น มาขายต่ํากว่าราคาตลาดโลกที่ชายแดนระหว่างกะเหรี่ยงกับสยาม นักการค้าและผู้ต้องการทับทิมและพลอยที่มีค่าก็ไปซื้อได้ที่ชายแดนนั้น อนึ่งป่าไม้สักของพม่าอยู่ในเขตกะเหรี่ยง ๆ ตัดมาขายที่ชายแดนสยามกะเหรี่ยงได้เงินจากการขายของมีค่าต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วก็เอามาซื้ออาวุธจากนักการค้าอาวุธ ในสยามนั้นเอง และก็เป็นที่รู้กันว่านักการค้าอาวุธเหล่านั้นซื้ออาวุธมาจากทหาร อเมริกันที่ลักลอบเอามาจากคลังอาวุธของตนเอง ขายให้ผู้ซื้อด้วยราคาย่อมเยา

อนึ่ง บริเวณตั้งแต่เขตแดนเหนือของสยามถึงเขตมณฑลยูนนานของจีนนั้นก็ยังคงมีกองทหารจีนก๊กมิ่นตั๋งที่พ่ายแพ้กองทหารคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 1949 แล้วถอยเข้ามาตั้งอยู่ที่บริเวณนั้นอันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่า กองทหารจีนก๊กมิ่นตั๋งนี้ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กองพลที่ 93” แต่ตัวทหารรุ่นแรกนั้นบัดนี้ก็มีอายุมากแล้วไม่มีแรงรบ จีนก๊กมิ่นตั๋งจึงได้จ้างคนหนุ่มเชื้อชาติจีนจํานวนหนึ่งจากสยามไปเปลี่ยนทหารเก่าส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งของทหารเก่าแห่งกองพลนั้นก็ตั้งหลักแหล่งโดย

มีเมียเป็นคนท้องถิ่นเกิดลูกชายซึ่งต่อมากลายเป็นทหารวัยหนุ่มแทนเตี่ยได้ ทหารกองพลนั้นเปลี่ยนอาชีพทหารอันมีเกียรติมาเป็นนักการค้าฝิ่นและเฮโรอีนซึ่งระบาดเข้ามาในสยามและเกือบทั่วโลกตะวันตก ทหารในกองพลนี้เป็นผู้ควบคุมแหล่งฝิ่นและเฮโรอีนเถื่อนที่ทั่วโลกรู้จักกันในชื่อเรียกว่า “บริเวณสามเหลี่ยม” ระหว่างชายแดน พม่า-ลาว-สยาม ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า สถานการณ์ในพม่าที่กําลังเคลื่อนไหวอยู่นั้นได้กระทบสยามเพียงใด เฉพาะเฮโรอีนก็ทําให้เยาวชนไทยหลายแสนคนต้องติดยาเสพย์ติดดังกล่าว อันเป็นการบั่นทอนพลังของชาติไทย เราจะโทษคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ได้ว่าทําไมเขาไม่ปราบกองพล 93 แห่งก๊กมิ่นตั๋งให้ราบคาบไป เพราะรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งราษฎรจีนถือหลักไม่ล่วงล้ําเขตแดนและอธิปไตยของชาติอื่น เขาจึงไม่ส่งทหารมาปราบกองพลก๊กมิ่นตั้งที่อยู่ในเขตพม่า รัฐบาลพม่าก็ทําการโจมตีกองพลนั้นหลายครั้งแล้ว แต่ยังปราบให้ราบคาบไม่ได้ บางคนออกความเห็นว่าปล่อยให้ซากของกองพล 93 จีนก๊กมิ่นตั้งอยู่อย่างนั้นเป็นการดี เพราะจะช่วยต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์ ความเห็นนี้มีลักษณะที่เรียกว่า “นิยายหลอกเด็ก” ผมเห็นว่า ท่านที่เป็นผู้ใหญ่แล้วสามารถใช้สามัญสํานึกอันเป็นจิตใจวิทยาศาสตร์ (ESPRIT SCIENTIFIQUE, SCIENTIFIC SPIRIT) เบื้องต้นของมนุษย์ก็ย่อมคิดได้ไม่ยากว่าทหาร 1 กองพลนั้นจะสู้กับจีนที่มีทหารประจําการ 138 กองพล (ตามสถิติใน หนังสือ STATESMAN YEAR BOOK) และมีทหารท้องถิ่นที่ฝึกทางทหารเป็นประจําอยู่ในสหการคือคอมมูนต่าง ๆ อีก 200 ล้านคนนั้นได้หรือไม่โดยเฉพาะกองพลที่ 93 นั้น เป็นกองพลขี้ยา คือทั้งเตี่ยทั้งลูกสูบฝิ่นกินเฮโรอีนกันอย่างงอมแงม จึงไม่อาจสู้ทหารประจําการของจีนแม้แต่กองพลเดียวหรือกรมเดียวก็ไม่ได้ สิ่งที่เราควรวิตกคือ อนาคตของเยาวชนไทยที่ติดเฮโรอีนเวลานี้หลายแสนคนและจะยังติดต่อไปอีกกี่รุ่น ถ้าสถานการณ์ของพม่าในดินแดนส่วนนี้ยังคงเป็นอยู่ต่อไป

9. สถานการณ์ในมาเลเซียนั้น ถ้าท่านติดตามความเคลื่อนไหว ท่านก็ย่อมจะทราบได้ว่าในประเทศนั้นได้มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มชนเชื้อชาติมลายูและเชื้อชาติจีนซึ่งบางครั้งก็มีการรุนแรงถึงกับมีคนล้มตายบาดเจ็บทุพพลภาพจํานวนไม่น้อยและรัฐบาลมาเลเซียก็มีการต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์มาเลเซียติดต่อกันมาหลายปี

อนึ่ง ยังมีขบวนการในรัฐตะวันออกของมาเลเซียติดต่อกับเขตแดนไทยซึ่งต้องการแยกเป็นสหพันธรัฐเอกราชต่างหากจากมาเลเซีย ท่านที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์สามจังหวัดของสยาม คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา ซึ่งพลเมืองส่วนมากเป็นเชื้อชาติมลายูและนับถือศาสนาอิสลามนั้น ก็คงจะทราบตามข่าวของรัฐบาลไทย และรายงานของนายตํารวจบางคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ แสดงว่าในบริเวณสามจังหวัดนั้นมีขบวนการแยกดินแดนเพื่อรวมเป็นสหพันธรัฐมลายูตะวันออก และมีขบวนการคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นขบวนการเดียวกันกับคอมมิวนิสต์ในมาเลเซีย อีกส่วนหนึ่งตามที่ผมทราบข่าวว่ามีขบวนการที่เชื่อมโยงกับ ขบวนการมาร์กซิสต์-อิสลามิค (MARXISME ISLAMIQUE) ที่มีแหล่งใหญ่อยู่ในประเทศหนึ่งแห่งตะวันออกกลางแล้วแผ่สาขามายังมาเลเซียและในสามจังหวัดภาคใต้สุดของสยาม นอกจากนี้ก็ยังมีไทยมุสลิมที่ลี้ภัยอยู่ในมาเลเซียจํานวนหนึ่งที่ไม่ปรารถนาแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ของสยามออกจากสยาม หากต้องการเพียงแต่ให้มีรัฐธรรมนูญสยามขึ้นใหม่ในรูปรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ โดยให้ชนชาติต่าง ๆ ที่ร่วมอยู่ในสยามมีสิทธิปกครองตนเองรวมอยู่ในสหพันธรัฐสยาม ดังปรากฏตามคําแถลงของ ตวนกูยาราล นาแซ ซึ่งมีชื่อไทยว่า อดุลย์ ณ สายบุรี ทายาทของราชาแห่งสายบุรี (สมัยรัชกาลที่ 7 จังหวัดสายบุรีถูกยุบเป็นอําเภอขึ้นกับจังหวัดนราธิวาส) การใช้กําลังทหารและตํารวจปราบปรามขบวนการต่าง ๆ นั้นรวมทั้งร่วมมือกับมาเลเซียได้ทํามากว่า 20 ปีแล้ว ขบวนการเหล่านั้นก็ยังคงมีอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้สุดของสยามและในมาเลเซียที่ติดต่อกับสยาม ดังนั้นจึงมีปัญหาเกี่ยวกับอนาคตของสยามว่าควรใช้นโยบายและวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสมในการรักษาเอกภาพของสยามให้คงไว้ ทั้งที่เกี่ยวกับพลเมืองสยามที่เป็นเชื้อชาติมลายูในจังหวัดใต้สุดของสยามและในบริเวณอื่น ๆ ที่มีชนชาติส่วนน้อย ในการนี้เราก็จะต้องพิจารณาไม่เฉพาะในทางนิตินัยที่ว่าสยามเป็นรัฐอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาติต่าง ๆ แห่งสยามเท่านั้น คือเราจําต้องพิจารณาถึงทางพฤตินัยว่าสยามมีชนชาติที่ครองพื้นที่อยู่ดั้งเดิมอย่างไรบ้าง และชนชาติใดมีความรักปิตุภูมิแห่งท้องที่ของตนอย่างเหนียวแน่นเพียงใด เรื่องนี้ผมได้กล่าวไว้ในบทความว่าด้วย “ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติและประชาธิปไตย” ซึ่งคณะผู้จัดงานธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ได้ลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก เมื่อ พ.ศ. 2515 นั้น

10. อนาคตของสยามเกี่ยวกับเวียดนาม กัมพูชา ลาว นั้นจําแนกออกได้เป็นสองปัญหา คือปัญหาหนึ่ง ความเกี่ยวข้องของสยามซึ่งมีกับสามประเทศในอาการที่เหมือนกันซึ่งผมจะขอกล่าวในปัญหานี้ก่อน แล้วในข้อต่อ ๆ ไปจะได้กล่าวถึงปัญหาที่สยามเกี่ยวข้องในลักษณะและอาการเฉพาะกับแต่ละประเทศแห่งอินโดจีนนั้น

ผมได้กล่าวไว้ในหลายบทความรวมทั้งเคยให้สัมภาษณ์แก่วารสารบางฉบับตั้งแต่สมัยที่จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วถึงการที่มี “สถานะสงคราม” (ETAT DE GUERRE, STATE OF WAR) ระหว่างสยามกับเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งรัฐบาลต้องจัดการเลิกสถานะสงครามเพื่อประโยชน์ของสยามและสันติภาพในภูมิภาคนี้

หลายท่านที่นั่งฟังปาฐกถาผมอยู่นี้มีความรู้ความชํานาญในกฎหมายระหว่างประเทศ แม้บางท่านจะไม่ได้เรียนกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง แต่สถาบันที่ท่านเล่าเรียนมาเช่นสถาบันการทหาร สถาบันที่มีการสอนรัฐศาสตร์ ฯลฯ ก็ย่อมจะสอนให้ทราบเป็นเบื้องต้นว่าสถานะสงครามนั้นมีได้โดยการประกาศสงครามหรือโดยไม่มีการประกาศสงคราม แต่มีการปฏิบัติการที่เรียกว่า “การกระทําทางสงคราม” (ACTES DE GUERRE, ACTS OF WAR) คือการที่ประเทศหนึ่งใช้สาตราวุธหรือร่วมมือในการใช้สาตราวุธทําลายชีวิตร่างกายทรัพย์สินของอีกประเทศหนึ่ง หรือต่างฝ่ายต่างใช้สาตราวุธต่อสู้ระหว่างกัน

ข้อเท็จจริงเป็นที่เปิดเผยแล้วว่าการกระทําทางสงครามได้มีอยู่ระหว่างจักรวรรดินิยมอเมริกันกับประเทศทั้งสามนั้นและรัฐบาลไทยก็ได้ร่วมมือกับจักรวรรดินิยมอเมริกันในการให้จักรวรรดินิยมอเมริกันมีฐานทัพอากาศ ฐานทัพบก ฐานทัพเรือที่ใช้เพื่อทําสงครามกับสามประเทศนั้น นอกจากนั้นรัฐบาลไทยเองก็เคยแถลงยอมรับว่าได้มีการส่งทหารประจําการบ้าง ทหารรับจ้างบ้าง ไปทําสงครามในประเทศทั้งสามนั้นฉะนั้น สถานะสงครามจึงมีขึ้นระหว่างสยามกับสามประเทศแห่งอินโดจีน อนาคตของสยามเกี่ยวกับสามประเทศนั้นที่เป็นปัญหาสําคัญอันดับแรก คือ รัฐบาลไทยและรัฐบาลของประเทศทั้งสามนั้นจะเลิกสถานะสงครามหรือไม่ และถ้าจะเลิกสถานะสงครามก็จะเลิกโดยวิธีใด

 


ระเบิดนาปาล์ม ศาสตราวุธสำคัญในสงครามเวียดนาม
ที่มา : The Atlantic

 

ท่านที่ศึกษาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสงครามนั้น ก็ย่อมเข้าใจว่าการหยุดรบ (ARMISTICE) หรือการหยุดยิง (CESSEZ-LE-FEU, CEASE-FIRE) นั้นมิใช่เป็นการเลิกสถานะสงคราม คือมีผลเพียงแต่หยุดรบ หรือหยุดยิงเฉพาะบางแนวรบ หรือหยุดรบหยุดยิงทั่วไปทั้งแนวรบเท่านั้นเอง คือถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดข้อตกลงก็ดี หรือไม่ยอมตกลงทําสัญญาสันติภาพเพื่อเลิกสถานะสงครามก็ดี อีกฝ่ายหนึ่งก็ทําสงครามต่อไปได้ เช่นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันได้ทําข้อตกลงหยุดรบ (ARMISTICE) กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 แล้ว สัมพันธมิตรได้ยื่นสัญญาสันติภาพฉบับแวร์ซายส์ให้เยอรมันลงนาม เยอรมันไม่ยอมลงนาม สัมพันธมิตรจึงทําสงครามต่อไปโดยส่งกองทหารเคลื่อนที่เข้าไปยึดดินแดนเยอรมัน ในการนี้ทหารอาสาไทยได้มีส่วนร่วมกับกองทหารสัมพันธมิตรด้วย ต่อมาเยอรมันจึงยอมลงนามในสัญญาแวร์ซายส์ฉบับ ค.ศ. 1919 ซึ่งเลิกสถานะสงครามระหว่างสัมพันธมิตรกับเยอรมัน

เมื่อ ค.ศ. 1973 สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามใต้ฝ่ายหนึ่งได้ทําข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเวียดนามเหนือและรัฐบาลอภิวัฒน์ชั่วคราวเวียดนามใต้ฝ่ายหนึ่งแต่เครื่องบินอเมริกัน รุกล้ําน่านฟ้าของเวียดนามเหนือและทิ้งระเบิดทําลายหลายแห่ง ซึ่งเวียดนามเหนือกับรัฐบาลอภิวัฒน์ชั่วคราวเวียดนามใต้ได้ยื่นประท้วงหลายครั้ง ฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามใต้ก็ได้ประท้วงว่าอีกฝ่ายหนึ่งละเมิดข้อตกลงหยุดยิงข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อได้มีการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงกันแล้วสงครามก็ดําเนินต่อไป คือกองทัพของรัฐบาลอภิวัฒน์ชั่วคราวเวียดนามใต้ได้ทําการรุกรบต่อไปจนกระทั่งได้ชัยชนะทั่วทั้งเวียดนามใต้แล้วก็เป็นการเลิกสถานะสงครามระหว่างเวียดนามด้วยกันเอง ส่วนที่เกี่ยวกับจักรวรรดินิยมอเมริกาและสยามฝ่ายหนึ่งกับเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้อีกฝ่ายหนึ่งนั้น ยังไม่มีข้อตกลงเลิกสถานะสงคราม และก็ยังไม่มีข้อตกลงเลิกสถานะสงครามระหว่างจักรวรรดินิยมอเมริกันและสยามกับรัฐบาลใหม่ของกัมพูชากับรัฐบาลผสมใหม่ของลาว

ท่านทั้งหลายที่ติดตามข่าวก็คงจะพบว่าวารสารในฝรั่งเศสหลายฉบับได้ลงคําแถลงของนายกรัฐมนตรีฟามวันดงแห่งเวียดนามเหนือที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาใช้ค่าเสียหายในการที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทําลายชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของพลเมืองเวียดนามเหนือและใต้ซึ่งเป็นการผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงหยุดยิง

นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการทหาร ย่อมรู้ก่อนที่จะก่อสถานะสงครามขึ้นแล้วว่า การทําสงครามนั้นมิใช่กีฬาธรรมดา หากเอาชาติเป็นเดิมพันในการนั้น ถ้าชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ ถ้าหากแพ้สงครามก็ทําให้ชาติเสียหายหลายประการแม้ไม่ต้องเสียดินแดนให้ฝ่ายชนะสงครามแต่ก็ต้องชําระค่าเสียหายสงคราม ซึ่งเรียกตามกฎหมายระหว่างประเทศว่า “ค่าปฏิกรรมสงคราม” (REPARATIONS DE GUERRE, WAR REPARATIONS)

นักทําสงครามและผู้สนับสนุนนิยมความเก่งกาจในการรบทําให้ฝ่ายเวียดนาม กัมพูชา ลาว ตายและบาดเจ็บหลายล้านคนนั้น หานึกไม่ว่าถ้าต้องชําระค่าปฏิกรรมสงครามแล้วจะคิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายเท่าใด และเงินนั้นก็เอามาจากราษฎรโดยต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นซึ่งผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมคือราษฎรมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้ที่ก่อสถานะสงครามและผู้สนับสนุน

ปัญหาทางกฎหมายระหว่างประเทศมีว่า รัฐบาลของสามประเทศแห่งอินโดจีนมีสิทธิเสนอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาพิพากษาให้จักรวรรดินิยมอเมริกันใช้ค่าปฏิกรรมสงครามหรือไม่ หลักศีลธรรมของมนุษย์มีอยู่ว่าผู้ใดทําให้ผู้อื่นเสียหาย ผู้นั้นจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หลักศีลธรรมนี้ได้นํามาเป็นหลักกฎหมายแพ่งของประเทศต่าง ๆ ส่วนในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้น รัฐบาลอเมริกันก็เคยถือหลักนี้มาแล้ว คือใน ค.ศ. 1954 สหรัฐอเมริกาได้ยื่นฟ้องสหภาพโซเวียตและฮังการีต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และใน ค.ศ. 1955 สหรัฐอเมริกาได้ยื่นฟ้องเชโกสโลวาเกีย และสหภาพโซเวียตต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศรวมเป็น 4 สํานวนเรียกค่าเสียหายจากประเทศจําเลยเหล่านั้น ฐานยิงเครื่องบินสหรัฐอเมริกาตก แต่ประเทศจําเลยเหล่านั้นไม่ยอมให้ศาลพิจารณา อย่างไรก็ตาม เป็นบทพิสูจน์ที่แสดงว่าสหรัฐอเมริการู้ถึงธรรมจริยาระหว่างประเทศว่าประเทศใดทําลายเครื่องบินของประเทศอื่นโดยมิชอบ ประเทศที่ทําลายเครื่องบินก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ฉะนั้นถ้าสหรัฐอเมริกาส่งเครื่องบินไปทําลายพลเมืองและทรัพย์สินของประเทศอื่นโดยมิชอบ สหรัฐอเมริกาก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายอย่างอื่น ๆ ให้แก่ประเทศที่ได้รับความเสียหายนั้น

ความเสียหายของฝ่าย 3 ประเทศแห่งอินโดจีนนั้น โดยเฉพาะกัมพูชา ปรากฏตามจดหมายลงวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1975 ซึ่งคณะผู้แทนของราชรัฐบาลร่วมแห่งชาติกัมพูชาที่ตอบขอบใจผมในคําอํานวยพรของผมเนื่องในโอกาสที่กรุงพนมเปญกับทั่วประเทศกัมพูชาได้กู้อิสรภาพนั้น แจ้งถึงความเสียหายที่ฝ่ายกัมพูชาได้รับจากสงคราม คือ นอกจากความเสียหายทางวัตถุสุดคณนานับแล้ว มีคนตายประมาณ 6 แสนคน และบาดเจ็บทุพพลภาพอีก 6 แสนคน รวม 1 ล้าน 2 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 20 ของพลเมืองกัมพูชา (ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ ค.ศ. 1967 6-7 ล้านคน) ส่วนทางเวียดนามนั้นยังไม่มีสถิติเป็นทางการ คือมีแต่สถิติฝ่ายอเมริกันประเมินว่าฝ่ายเวียดนามเหนือมีคนล้มตายและบาดเจ็บประมาณ 7 ล้านคน ถ้าถือสถิติของกัมพูชาเป็นพื้นฐานแล้วลองคํานวณถึงกรณีเวียดนามที่เป็นสนามรบมาหลายปีและถูกเครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดทําลายย่อยยับ ซึ่งฝ่ายอเมริกันแถลงว่าลูกระเบิดที่ทิ้งลงในสมรภูมิเวียดนามนั้นมีจํานวนน้ําหนักเกินกว่า 3 เท่าของลูกระเบิดที่ฝ่ายอเมริกันทิ้งลงในสมรภูมิต่าง ๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บางคนจึงประเมินว่าคนเวียดนามต้องตายและบาดเจ็บประมาณ 10 ล้านคนเพราะการสงครามนั้น ส่วนฝ่ายลาวก็ยังไม่มีสถิติทางการ แต่ก็คงมีคนตายและบาดเจ็บเนื่องจากสงครามเป็นจํานวนไม่น้อย

ส่วนอนาคตของสยามซึ่งนอกจากขึ้นต่อผลการเจรจาเลิกสถานะสงครามกับสถาปนาความสัมพันธ์อันดีกับสามประเทศแห่งอินโดจีนแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการคลังของสหรัฐอเมริกาที่ได้ใช้จ่ายเงินมากมายในการสงครามนี้ อันเป็นเหตุสําคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และค่าของเงินดอลล่าร์ลดลงมาก ซึ่งกระทบถึงค่าของเงินบาทที่อิงอยู่กับเงินดอลล่าร์อเมริกัน ดังที่ผมกล่าวแล้วในตอนต้น

11. ปัญหาเกี่ยวกับเวียดนามโดยเฉพาะนอกจากเรื่องสงครามดังกล่าวในข้อ 5 ก็มีเรื่องที่ชาวเวียดนามอพยพเข้ามาอยู่ในสยามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก

แต่ปัญหาสําคัญในยามสันติ คือถ้าได้มีการเลิกสถานะสงครามโดยวิธีอย่างหนึ่งอย่างใดที่เหมาะสมแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็อยู่ด้วยกันอย่างสันติ การแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยสันติในตลาดข้าวสารของโลกนั้น ฝ่ายใดได้เตรียมตัวไว้อย่างใดบ้างที่จะพัฒนาการเศรษฐกิจของตนให้มั่นคงและขยายไป ในการนี้อนาคตของสยามก็ขึ้นอยู่กับการเศรษฐกิจในยามสันติ จึงขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาฝ่ายเขาและฝ่ายเราแล้วเอามาเปรียบเทียบดูว่า ระบบการก็ดี วิธีการก็ดี ในทางเศรษฐกิจนั้น ฝ่ายใดจะมีประสิทธิภาพในการทํางานมากกว่ากัน ฝ่ายเขาได้เตรียมไว้อย่างไรในระหว่างสงครามเพื่อเตรียมฟื้นฟูประเทศและพัฒนาให้ก้าวหน้าทางสันติ ส่วนฝ่ายทางเราเท่าที่เห็นกันอยู่นี้ เราได้ทํางานกันอย่างไร เราใช้จ่ายเกินตัวกันอย่างไร เราฟุ่มเฟือยกันอย่างไร การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีขนาดไหนโจรกรรมชุกชุมและทวีขึ้นเพราะเหตุความอัตคัดขัดสนและการที่คนไม่มีงานทําเป็นอย่างไร รวมทั้งท่านที่จะศึกษาสําเร็จจากประเทศฝรั่งเศสและต่างประเทศ เมื่อกลับไปถึงเมืองไทยแล้วจะหางานทําได้คุ้มค่าที่ท่านได้อุตส่าห์เล่าเรียนหรือไม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็เกี่ยวกับอนาคตของสยามอันเนื่องจากสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวแล้ว

12. โดยเฉพาะอนาคตของสยามเกี่ยวกับสถานการณ์ของกัมพูชานอกจากที่ผมกล่าวมาเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามโดยทั่วไปดังกล่าวนั้น การกระทําสงครามกับกัมพูชาก็ยังไม่สิ้นสุดลง คือยังมีกรณีเรือ “มายาเกซ”, กรณีพิพาทน่านน้ําระหว่างสยามกับกัมพูชา, กรณีที่องค์การ ซี.ไอ.เอ. ส่งตัวแทนจากสยามไปสอดแนมที่กัมพูชาซึ่งฝ่ายนี้จับตัวได้แล้วทําหนังสือเวียนแจ้งข่าวให้สถานทูตต่าง ๆ ในปารีส (ยกเว้นสถานทูตไทย) รับทราบไว้

 


แผนที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย พ.ศ. 2509
ที่มา : https://fall.law.fsu.edu/collection/LimitsinSeas/numericalibs.html

 

ตามจดหมายของคณะผู้แทนราชรัฐบาลร่วมแห่งชาติกัมพูชา ฉบับที่ 29 พ.ค. 1975 ที่มีถึงผมแจ้งว่า สมัชชาพิเศษแห่งชาติกัมพูชาประชุมกัน ณ กรุงพนมเปญ ระหว่าง 25-27 เมษายน 1975 ได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงนโยบายภายในและภายนอก ดังต่อไปนี้

นโยบายภายใน เทอดทูนหลัก “ความผาสุก ความเสมอภาค ความยุติธรรม และประชาธิปไตยแท้จริงซึ่งไม่มีคนจน ไม่มีคนรวย ไม่มีชนชั้นถูกขูดรีด และไม่มีชนชั้นขูดรีดสถาปนาสังคมซึ่งมวลราษฎรอยู่ด้วยกันด้วยความสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแนวร่วมอันกว้างใหญ่ทั่วทั้งชาติซึ่งทุกคนมีบทบาทในการงานทางการผลิตในการสร้างสรรค์และในการป้องกันชาติ”

ขอให้ท่านสังเกตว่า เขาไม่บอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์

นโยบายภายนอก ยึดถือหลักความเป็นเอกราช สันติภาพความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด (หมายความว่าไม่อยู่ในค่ายสังคมนิยมหรือค่ายที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตย) คัดค้านการมีฐานทัพต่างชาติในกัมพูชา ต่อสู้การแทรกแซงและแทรกซึมของต่างประเทศ เคารพหลักการที่ทุกประเทศจึงใช้อธิปไตยของตนและมีสิทธิวินิจฉัยโดยตนเองถึงปัญหาของตนเองโดยเฉพาะ

อนึ่ง ยังมีปัญหาเกี่ยวกับคนเชื้อชาติเขมรซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัดที่ติดต่อกับชายแดนกัมพูชา ซึ่งเขายังพูดภาษาเขมรอยู่ บางคนหรือหลายคนก็คิดแต่ในทางนิตินัยว่าพวกนั้นมีสัญชาติไทย แต่เราก็ควรพิจารณาในทางพฤตินัยด้วยและจัดระบบปกครองให้เหมาะสมเพื่อรักษาเอกภาพของสยามไว้ให้ได้

13. โดยเฉพาะอนาคตของสยามเกี่ยวกับสถานการณ์ของลาวนอกจากที่ผมกล่าวมาเกี่ยวกับสถานะสงครามแล้ว ก็มีปัญหาสําคัญอีกคือ เกี่ยวกับฝิ่นและเฮโรอีนในเขตสามเหลี่ยมที่กองพล 93 ของจีนก๊กมิ่นตั๋งมีอํานาจอยู่นั้น ซึ่งล้ำมาในเขตลาวที่ ติดต่อกับเชียงแสนของไทยด้วย ถ้าสถานการณ์ของลาวเข้าอยู่ในขั้นสันติ ก็จะเป็นทางหนึ่งช่วยให้อํานาจและอิทธิพลของกองพล 93 ได้ลดน้อยลงได้ทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้มีพวกแม้วหลายพันคนซึ่งเคยทําการสู้รบกับทหารแนวลาวรักชาติได้อพยพจากลาวเข้าสู่ดินแดนสยาม ผู้ที่เคยอ่านข่าวติดตามนิตยสารอเมริกัน ชื่อ นิวสวีค ก็ย่อมทราบว่านิตยสารนั้นได้เคยลงข่าวและภาพอันเป็นเอกสารแสดงว่าในบริเวณที่แม้วควบคุมอยู่ส่วนหนึ่งของลาวนั้น ได้มีการปลูกฝิ่นและค้าฝิ่นกันอย่างเสรี จึงน่าคิดว่าแม้วหลายพันคนนั้นจะมีสิ่งอะไรติดตัวมาบ้างและจะติดต่อกับแม้วที่อยู่ในลาวซึ่งจะได้ของที่เคยเสพย์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สภาพของสยามในปัจจุบันนี้ก็นับว่าเฮโรอีนมีจําหน่ายแพร่หลาย ปัญหาน่าคิดมีอีกว่าการที่รัฐบาลไทยต้อนรับพวกแม้วที่ลาวเรียกว่า “ลาวสูง” ไว้จํานวนมากนั้นจะทําให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับลาวดีขึ้น หรือเลวลง อนาคตของสยามก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นี้ด้วย

อนึ่ง ปัญหาชนชาติส่วนน้อยระหว่างลาวกับสยามนั้นฝ่ายรัฐบาลไทยก็จะต้องคิดให้รอบคอบ และกําหนดวิธีการให้เหมาะสมที่จะรักษาเอกภาพของชาติไว้ได้ โดยคํานึงถึงพฤตินัยทํานองที่ผมกล่าวมาแล้วเกี่ยวกับพลเมืองของจังหวัดชายแดนใต้สุดที่ติดต่อกับมาเลเซีย และชายแดนตะวันตกกับตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดต่อกับพม่า และชายแดนที่ติดต่อกัมพูชา

อนาคตของสยามเกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยใช้เวลามาก แต่เนื่องด้วยเวลาจํากัด ผมจึงขอจบปาฐกถาเพียงเท่านี้

 

อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน

ปาฐกถาในงานชุมนุมนักเรียนไทยที่เมืองปัวติเอร์ (ฝรั่งเศส) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2518

พิมพ์ครั้งแรก          ประจักษ์การพิมพ์ (กรกฎาคม 2518)

พิมพ์ครั้งที่สอง       สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรม (กันยายน 2518)

พิมพ์ครั้งที่สาม       (ต้นฉบับจากการพิมพ์ครั้งที่สอง)

 

หมายเหตุ :

  • อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • ปรีดี พนมยงค์, เรื่อง “2.6 อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน”, ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 143-165.