จากใจผู้เขียน
นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต
ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์
ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓
การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศจีน เหมือนดังระลอกคลื่น บางครั้งก็ใหญ่มาก บางครั้งก็ใหญ่น้อย เป็นระลอกคลื่นที่พัดกระทบฝั่งมิได้ขาดกระทบถึงทุกผู้ทุกคน
การสะสางอิทธิพลชนชั้นนายทุนและซากเดนศักดินาตามที่ชาวจีนเรียกว่า “ภูติผีปีศาจ” มีให้เห็นในรูปแบบต่างๆ เพื่อนๆ ปลายต้องทิ้งการเรียนไปใช้ชีวิตในชนบททีละหลายเดือน
ขบวนการ “สะสางให้สะอาดหมดจด 4 ประการ” คือสะสางการเมือง สะสางเศรษฐกิจ สะสางการจัดตั้ง และสะสางความคิดให้เป็นแบบสังคมนิยมตามนโยบายของประธานเหมาเจ๋อตุ๊ง
ปลายไม่ได้สังเกตว่า มีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งไม่ได้กลับมาหลังจากคนอื่นๆ กลับจากชนบท คิดไปเองว่าเพื่อนคนนั้นคงจะท้อแท้เรื่องการเรียน ทิ้งการเรียนกลางคัน กว่าจะรู้ความจริง เวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี ปลายได้มีโอกาสพบปะเพื่อนฝูงอีกครั้งหนึ่งในการชุมนุม “รําลึกความหลังวัยหนุ่มสาว” จึงรู้ว่าเพื่อนคนนั้น ไม่อาจทนความกดดันทางการเมืองที่รุมเร้า ได้ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ณ หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งไม่ไกลจากกรุงปักกิ่ง
ต่างจากเมื่อครั้งปลายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา การไปใช้แรงงานในชนบทก็ดี ในโรงงานก็ดี มีจุดประสงค์สําคัญที่จะให้เด็กนักเรียนรู้คุณค่าของการทํางาน แยกแยะให้ออก ชนิดใดคือข้าวเจ้า ชนิดใดคือข้าวสาลี ชนิดใดคือข้าวฟ่าง... ใช่ว่าจะรอ “มีข้าวให้ใส่ปาก มีเสื้อให้สวมใส่” โดยไม่รู้ถึงความเหนื่อยยากกว่าจะได้สิ่งเหล่านี้
การศึกษาที่ซื้อต้า ปลายเรียนเป็นหลัก การใช้แรงงานมีบ้างประปราย ไปปลูกต้นไม้ที่กําแพงเมืองจีนเป็นเรื่องที่นักศึกษาทุกคนต้องมีส่วนร่วม
บริเวณชานกรุงปักกิ่ง รถม้าเป็นพาหนะสําคัญของชาวไร่ ชาวนา วิ่งเพ่นพ่านตามท้องถนน บรรทุกพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มคันรถ ชาวนาถือแส้คุมทิศทางของรถอยู่ด้านหน้า ม้าก็ปล่อยสิ่งปฏิกูลร่วงหล่นตามท้องถนน รถบางคันขึงผ้ารองไว้ที่ก้นม้า แต่กระนั้นก็เรี่ยราดอยู่บนผิวถนน ต้าเจี่ยชวนปลายสะพายกระบุงไปเก็บ “ก้อนทองคํา” ใช้ไม้กวาดที่ทําจากก้านต้นหลิว กวาดใส่กระบุงแล้วนําไปให้โรงเพาะชำกล้าไม้ดอกไม้ของมหาวิทยาลัยใช้ทําปุ๋ย กลิ่นขี้ม้ากับฉี่ม้าเหล่านี้มีกินฉุนคลายกลิ่นแอมโมเนีย
การเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีบางสิ่งบางอย่างที่ทําให้ปลายรู้สึกแตกต่างจากนักศึกษาจีน ปลายถูกกันไว้ในฐานะเป็นนักศึกษาต่างชาติ ไม่ได้เข้าสู่ขบวนการเหล่านั้น ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ทางชนชั้น และการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอํานาจในพรรคฯ และรัฐบาล ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้เรียนหลักสูตรพิเศษเพิ่มเติม มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณคดีจีนโบราณ ศาสตราจารย์กว๋อหยิ่วเหิงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ปลายชอบวิชาวรรณคดีจีนโบราณ กว่าจะฝ่าด่านภาษาโบราณได้ก็ต้องลงแรงไม่น้อย
คนจีนกล่าวกันว่า หนุ่มสาวอ่านนวนิยายรักๆ ใคร่ๆ เรื่อง ความฝันในหอแดง แล้วจะใจแตก วัยฉกรรจ์อ่านนวนิยายเรื่อง บันทึกชาวเหลียงซ้าน ที่เป็นเรื่องการก่อกบฏลุกขึ้นสู้ของชาวนาจะทําให้เลือดร้อน แหกกฎระเบียบสังคมและคนปัจฉิมวัยถ้าอ่านเรื่อง สามก๊ก แล้วจะเจ้าเล่ห์เพทุบาย แม้ว่าถูกวิจารณ์โดยชนชั้นศักดินา วรรณกรรมทั้ง 3 เรื่องนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมของจีน ปลายซื้อไว้อ่านเอง ภาษาจีนโบราณอ่านยากหน่อย อาศัยหมายเหตุของหนังสือและพจนานุกรมภาษาจีนโบราณกับภาษาจีนสมัยใหม่เป็นคู่มือ พอจับใจความได้ อ่านหลายๆ เที่ยวก็ซึมซับความหมายและได้อรรถรส
แต่ก็มีนวนิยายหลายเรื่องในแนวอีโรติค เช่น แจกันทองลายดอกเหมย ถูกทางการสั่งให้เอาออกจากชั้นหนังสือห้องสมุด เป็นหนังสือต้องห้ามปลายก็ไม่ได้สนใจไปแสวงหามาอ่าน
ปลายชอบอ่านพงศาวดารจีนที่เป็นวรรณกรรมชั้นยอดเยี่ยมเรื่อง สื่อจี้ ของซื้อหม่าเชี้ยน[1] ได้คติธรรมที่เป็นสุภาษิตจีนหลายบทจากหนังสือเล่มนี้
เรื่อง “ทุบหม้อข้าวทิ้ง ใช้ขวานจามเรือให้จม” นั้น ตามพงศาวดารจีน ยุคปลายราชวงศ์ฉินกลับมาเป็นก๊กเป็นเหล่าอีก เล่ากันว่า กองทหาร
ก๊กฉินยกทัพตีกองทหารก๊กจ้าว ทหารก๊กจ้าวไม่อาจต้านทานอานุภาพของกองทหารก๊กฉิน ในช่วงเดียวกัน กษัตริย์ก๊กฉู่ได้มีราชโองการให้นายพลซ่งยี่ นํากองทหารก๊กฉู่ช่วยก๊กจ้าว แต่นายพลซ่งยี่กลับเพิกเฉย อันที่จริงแล้ว ซ่งยี่ ต้องการให้กองทหารก๊กฉินกับก๊กจ้าวรบพันตูกันจนอ่อนล้า แล้วคอยโอบล้อมกองทหารก๊กจ้าวจากด้านนอก เป็น “ตาอยู่” ฮุบกินพุงปลาอันโอชา ดังนั้นในแต่ละวัน นายพลซ่งยี่เชื้อเชิญแขกเหรื่อมาดื่มกินกันอย่างอิ่มหมีพีมัน ปล่อยให้พลทหารกับชาวบ้านอดๆ อยากๆ เหตุการณ์นี้ ทําให้เซี่ยงเหลียงกับเซี่ยงหยิ่วสองอาหลาน ขุนพลก๊กฉู่ไม่พอใจ นายพลเซี่ยงหยิ่วจึงได้สังหารนายพลซ่งยี่บรรดาไพร่พลผู้ใต้บังคับบัญชาเดิมของนายพลซ่งยี่ สนับสนุนให้เซี่ยงหยิ่วเป็นแม่ทัพคนต่อไป เซี่ยงหยิ่วระดมพลกว่า 2 หมื่นคน ข้ามแม่น้ำแยงซีเข้าช่วยกองทหารก๊กจ้าวจนได้รับชัยชนะ โดยก่อนข้ามแม่น้ำ ได้ออกคําสั่งให้ทุบหม้อข้าวทิ้งและเผาค่ายทหารจนวอดวาย ทหารแต่ละคนมีอาหารแห้งเป็นเสบียงกรังสําหรับ 3 วัน และเมื่อข้ามแม่น้ำแล้ว เซี่ยงหยิ่วยังออกคําสั่งให้ใช้ขวานจามเรือทิ้งอีก นายพลเซี่ยงหยิ่วคิดอย่างเดียวคือนํากองทัพมุ่งไปข้างหน้า ต้องชนะเท่านั้น ไม่มีทางที่จะร่นถอยกลับแม้สักก้าวเดียว ด้วยยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเช่นนี้ เพียง 9 วัน กองทหารก๊กฉู่ภายใต้แม่ทัพเซี่ยงหยิ่ว เข้าโอบล้อมกองทหารก๊กฉินที่จวี่ลู่ และรบชนะในที่สุด
ส่วนในบันทึก สื่อจี้ ว่าด้วยเรื่องนายพลเซี่ยงหยิ่วนั้น ซื้อหม่าเฉียนเขียนสั้นๆ กะทัดรัด แต่ให้ภาพที่สมบูรณ์ บันทึกไว้ไม่กี่ประโยคว่า
“เซี่ยงหยิ่วจึงนําทัพข้ามลําน้ำ แล้วจมเรือทุกลํา ด้วยการใช้ขวานจามทุบหม้อข้าวทิ้ง เผาค่ายทหารจนเรียบเป็นหน้ากลอง นําเสบียงติดตัวพอกินไปได้ 3 วัน”
คนจีนรู้จักสุภาษิต “ทุบหม้อข้าวทิ้ง ใช้ขวานจามให้เรือจม” เป็นอย่างดี เป็นวลีที่ให้กําลังใจว่าต้องตัดสินใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว มีแต่ก้าวไปข้างหน้า ไม่ถอยหลังแม้แต่สักก้าวเดียว ชัยชนะจะรออยู่ข้างหน้า
...
เมื่อเรียนชั้นปีที่ 3 ปลายกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งถูกส่งไปฝึกหัดสอนในโรงเรียนสตรีมัธยมหมายเลข 3 ของกรุงปักกิ่ง
ปลายอายุ 20 ปี นักเรียนชั้นมัธยมปลายก็อายุ 16-17 ทําให้ช่องว่างระหว่างครูฝึกหัดกับศิษย์ไม่ต่างกันมากนัก
โชคดีของปลาย อาจารย์ที่ปรึกษามอบหมายให้ปลายสอนวิชาวรรณคดีจีนโบราณ ปลายจึงเลือกที่จะสอนบทบันทึกประวัติศาสตร์ของซื้อหม่าเชี้ยน
เมื่อยืนอยู่หน้าชั้นเรียน ปลายรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักแสดงพยายามทําวิชาที่น่าเบื่อ ให้เป็นวิชาที่เพลิดเพลินสนุกสนาน
ปลายวาดรูปไม่เป็น แต่เพื่อการสอน ปลายบรรจงวาดรูปใส่กระดาษ หม้อข้าว เรือ ขวาน ม้าศึก ไพร่พลในชุดนักรบโบราณ แม่ทัพในเสื้อหุ้มเกราะ...ภาพเหล่านี้ใช่ว่าจะเหมือนของจริง บางทีก็ต้องเดาว่าเป็นภาพอะไร ต้องชมเด็กๆ นักเรียนของปลาย มีความฉลาดในการจินตนาการ
มีนักเรียนคนหนึ่งชอบอ่านหนังสือภาพวาดที่อิงนิยายประวัติศาสตร์และมีฝีมือการวาดรูปอยู่บ้าง อาสานําเรื่องนี้ไปวาดใหม่ร้อยเรียงให้เป็นนิทานภาพ ลงสีเสียสวยงาม วันรุ่งขึ้น เอามาติดไว้บนบอร์ดข้างฝาในห้องเรียน เพื่อนๆ วิ่งกรูมาดูด้วยความสนใจ พลางติชม
วิธีการสอนแบบนี้ได้ผลเกินคาด เด็กๆ ชอบวิชาวรรณคดีจีนโบราณ
อาจารย์ที่ปรึกษาสงสัยว่าปลายเคยเป็นครูมาก่อนหรือเปล่าจึงมีวิธีการสอนที่มีชีวิตชีวา …
ความทรงจําของปลายหวนกลับไปเมื่อเยาว์วัยที่บ้านเพชรฎา ปลายใส่รองเท้าส้นสูงของแม่ อาศัยกําแพงตึกเป็นกระดานดําสอนรุ่นน้องแบบครูสายชล
ปลายได้แต่ยิ้มๆ ไม่ได้ไขข้อข้องใจของอาจารย์ที่ปรึกษา
คนเราจะทําอะไรให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง ต้องยึดคติ “ทุบหม้อข้าวทิ้ง ใช้ขวานจามให้เรือจม” นี่แหละ!
ก็ดูอย่างพระเจ้าตากสินรบกับพม่า ก่อนข้ามน้ำ...ที่จันทบุรี ท่านก็ได้สั่งให้ไพร่พล “ทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้ง” เหล่าทหารหาญมีกําลังใจรุดไปข้างหน้า และในที่สุด ก็รบชนะทหารพม่า
หนึ่งภาคการศึกษาผ่านไปราวติดจรวด ถึงเวลาต้องลานักเรียนชั้นมัธยมปลายปีที่ 1 แล้ว เด็กๆ ไม่อยากให้ครูฝึกหัดจากไป ครูฝึกสอนก็ยังสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับน้องๆ ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษา ด้วยการที่มีภาษาและกิจกรรมร่วมกัน
โรงเรียนสตรีมัธยมหมายเลข 3 อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยของปลาย นั่งรถประจําทางไม่ถึง 10 ป้ายก็ถึงแล้ว หลังจากนั้นในวันหยุด ห้องพักของปลายก็จะแน่นขนัดด้วยเด็กสาว ศิษย์เก่าซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนสตรีมัธยมหมายเลข 3 ของปลาย
ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ยุคเศรษฐกิจจีน ต้องรัดเข็มขัด,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 344 - 349.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว
- ตอนที่ 2 - เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า
- ตอนที่ 3 - ไปโรงเรียน
- ตอนที่ 4 - จุดหักเห
- ตอนที่ 5 - นกน้อยในกรงเหล็ก
- ตอนที่ 6 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 7 - ฉันเป็นชาวสยาม
- ตอนที่ 8 - การเดินทาง 15,000 กิโลเมตร
- ตอนที่ 9 - บ้านหลังใหม่
- ตอนที่ 10 - ปู้หวา
- ตอนที่ 11 - พระราชวังต้องห้าม
- ตอนที่ 12 - ตามล่าหาสายลับ
- ตอนที่ 13 - น้ำพริกแอปเปิ้ล
- ตอนที่ 14 - กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ
- ตอนที่ 15 - ยามดอกเหมยบาน
- ตอนที่ 16 - สวนสนามวันเมย์เดย์
- ตอนที่ 17 - กำแพงสีเขียว
- ตอนที่ 18 - ลาก่อนเพื่อนรัก
- ตอนที่ 19 - จดหมายจากกว่างโจ๊ว
- ตอนที่ 20 - โรบินสัน ครูโซ
- ตอนที่ 21 - สัตว์รัก สัตว์เลี้ยง
- ตอนที่ 22 - เสียงกลองรบลั่น นกกระจอกเข้ารัง
- ตอนที่ 23 - ทองคำสีดำ
- ตอนที่ 24 - ถลุงเหล็กกล้า
- ตอนที่ 25 - สุ. จิ. ปุ. ลิ.
- ตอนที่ 26 - ปณิธานของเทียนไขเล่มน้อย
- ตอนที่ 27 - มวลหมู่นักศึกษา
- ตอนที่ 28 - ยุคเศรษฐกิจจีน ต้องรัดเข็มขัด
[1] ซื้อหม่าเชี้ยน (Sīmǎ Qiān) (พ.ศ. ๓๙๘ หรือ ๓๘๘-?) นักประวัติศาสตร์ นักวรรณกรรม และนักคิดในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก.