ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “ยุคเศรษฐกิจจีน ต้องรัดเข็มขัด” (ตอนที่ 28)

2
มีนาคม
2567

จากใจผู้เขียน

นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต

ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์

ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

“ขบวนการก้าวกระโดดครั้งใหญ่” ใน พ.ศ. 2501 ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ขอเพียงอย่างเดียว ภายใน 10 ปี อุตสาหกรรมจีนต้องก้าวให้ทันมหาอำนาจอย่างอังกฤษ

 

เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย ภัยธรรมชาติมาเยือนทั่วประเทศจีน บางภาคแห้งแล้ง บางภาคประสบอุทกภัย

ข้าวปลาธัญญาหารขาดแคลน รัฐบาลออกบัตรปันส่วนข้าวสาร แป้งสาลี ธัญพืชต่างๆ น้ำมันพืช เนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งผ้าฝ้ายสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้า ล้วนต้องใช้บัตรปันส่วนทั้งนั้น ใช่ว่าใครมีเงินแล้วจะซื้อสิ่งเหล่านี้ได้ตามใจก็หาไม่ เสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน

ก่อนการปลดแอกในปีพุทธศักราช 2492 ภายในกองทัพประชาชนจีนและหลังจากนั้นอีกหลายปี  หน่วยงานกองทัพและรัฐบาลรับประทานอาหารที่เรียกว่า ต้ากว๋อฝ้าน (กระทะใหญ่) ยกเว้นผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนแล้ว ทุกคนรับประทานอาหารเหมือนกันหมด มีบ้างเช่นกันว่า ในวันหยุดเทศกาลหรือวันนักขัตฤกษ์ ครอบครัวเล็กๆ นั่งล้อมวงทำเจี๊ยวจือรับประทานกัน แทบจะหาเนื้อสัตว์ในไส้ผักกาดขาวไม่พบเลย

เศรษฐกิจแสนเข็ญที่กระหน่ำครั้งนี้ เป็นความเคยชินของคนจีนกระทั่งเป็นประเพณีแล้ว

นักศึกษารวมทั้งอาจารย์กลับมากินอาหาร “กระทะใบใหญ่” อีก

ธัญญาหารประเภทแป้งสาลี ข้าวเจ้า มีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ข้าวฟ่าง ที่คนจีนเรียกว่า “ธัญญาหารหยาบ”

เวลาผันเปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์โภชนาการก็พัฒนาไปไกล “ธัญญาหารหยาบ” กลายเป็นธัญญาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์เสียยิ่งกว่าข้าวเจ้าข้าวสาลีที่ขัดขาว

บัตรปันส่วนอาหารชายและหญิงไม่เท่ากัน ประมาณคนละ 25–30 ชั่ง[1] กับข้าวมีแต่ผัดผักกับซีอิ๊ว ผู้คนบริโภคธัญญาหารเป็นหลัก ถึงกระนั้นก็ไม่เพียงพอสำหรับกระเพาะนักศึกษาชายในวัยหนุ่มแน่น พวกเขามักจะขอบัตรปันส่วนของนักศึกษาหญิงที่มีปริมาณบริโภคน้อยกว่าเสมอ

นักศึกษาต่างชาติได้สิทธิพิเศษ ไม่จำกัดทั้งชนิดและปริมาณของอาหาร รวมทั้งโปรตีนประเภทเนื้อสัตว์ ทำเอาน้ำหนักปลายขึ้นถึง 70 กิโล(กรัม) กว่าๆ!

ปลายออกกำลังกายด้วยการวิ่งรอบๆ สนามฟุตบอล ส่วนเพื่อนๆ ต้องงดการออกกำลังกายและเคลื่อนไหวให้น้อยลง จะได้ไม่ให้ร่างกายเผาผลาญพลังงาน เหมือน “กบจำศีล” อย่างไรอย่างนั้น

ยุคนี้ โรคตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ขาดสารอาหาร เป็นกันในหมู่ชาวจีนอย่างแพร่หลาย

ความอัตคัดขัดสนในประเทศจีน ยังมีสาเหตุที่สำคัญมากๆ อีกประการหนึ่ง ค่ายสังคมนิยมแต่เดิมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นพี่เบิ้มได้แตกเป็นสองฝักสองฝ่าย สหภาพโซเวียตและเหล่าประเทศยุโรปตะวันออก ประกอบด้วย บัลกาเรีย โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย ฮังการี เยอรมนีตะวันออก และโรมาเนีย เป็นพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งนำโดยประเทศจีน มีเกาหลีเหนือ และอัลบาเนียซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในประเทศยุโรปที่เข้าร่วมส่วนเวียดนามเหนือต้องวางตัวเป็นกลางระหว่างพี่เบิ้มทั้งสอง สงครามเวียดนามโดยการรุกรานของจักรวรรดินิยมอเมริกาใกล้จะระเบิด เวียดนามเหนือมีความจำเป็นต้องพึ่งพาพี่เบิ้ม

ยูโกสลาเวีย อีกประเทศหนึ่งในยุโรปตะวันออก นำโดยนายพลตีโต้ไม่สังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็น “ลัทธิแก้ไขฯ” บ้าง ผู้ทรยศอุดมการณ์สังคมนิยมบ้าง ฯลฯ

ระหว่างนั้น สงครามด้านโฆษณาชวนเชื่อของสองฝ่ายมีให้เห็นทางหนังสือพิมพ์และวิทยุ จีนเรียกฝ่ายสหภาพโซเวียตว่า “ลัทธิแก้” ซึ่งย่อมาจาก “ลัทธิที่ดัดแปลงแก้ไขหลักการของลัทธิมาร์กซ-เลนิน” มีเป้าหมายฟื้นคืนชีพระบอบทุนนิยม จีนนั้นถือว่าตนยืนหยัดในคัมภีร์ลัทธิมาร์กซ-เลนินและความคิดเหมาเจ๋อตุ๊ง ยึดถือหลักการสากลนิยมแห่งชนชั้นกรรมาชีพ สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศในโลกที่ 3 ที่ด้อยพัฒนาและตกเป็นอาณานิคมของมหาประเทศ ซึ่งเป็นที่มาที่สหภาโซเวียตเรียกจีนว่าเป็น “ลัทธิคัมภีร์”

ต่างฝ่ายยึดเอาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นที่ตั้ง อุดมการณ์สังคมนิยม เหลือเพียงเป็นคำขวัญที่เป็นนามธรรม

ปลายก็เหมือนชาวจีนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารด้านเดียว

สหภาพโซเวียตกับประเทศจีนมีพรมแดนติดต่อกันหลายพันกิโลเมตร การปักเขตชายแดนระหว่างสองประเทศมีปัญหามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซียกับจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิ้ง ความขัดแย้งทวีความรุนแรงถึงขั้นปะทะด้วยอาวุธจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มหามิตรกลายเป็นศัตรู

ปลายจำได้ว่ามาเมืองจีนใหม่ๆ ชาวโซเวียตได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี คนจีนมีพรสวรรค์ด้านการเรียนภาษาต่างประเทศอยู่แล้ว การเรียนภาษารัสเซียเป็นกระแสยอดนิยม แม้พนักงานขายของร้านมิตรภาพก็พูดภาษารัสเซียได้คล่องแคล่ว ทว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป มิตรที่ชาวจีนยกย่องเปลี่ยนจากคนโซเวียตเป็นชาอัลบาเนีย  ด้วยผู้นำอัลบาเนียรวมหัวจมท้ายกับจีนคัดค้านลัทธิแก้ไขฯ นักศึกษาอัลบาเนียในจีนได้สิทธิพิเศษต่างๆ นานาเหนือนักศึกษาต่างชาติอื่นๆ

ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1950 สงครามในคาบสมุทรเกาหลี สหภาพโซเวียต เคยสนับสนุนเกาหลีเหนือด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้าต่อกรกับจักรวรรดินิยมอเมริกาและพันธมิตรในนามกองทหารสหประชาชาติรวมทั้งกองทหารจากประเทศไทยด้วย ส่วนประเทศจีนส่งกำลังพลที่เป็นทหารอาสาสมัครเคียงข้างเกาหลีเหนือ บุตรชายคนหนึ่งของประธานเหมาเจ๋อตุ๊ง ที่สำเร็จการศึกษาจากสหภาพโซเวียตได้พลีชีพในสมรภูมิเกาหลีนี้

สงครามยุติลง ได้แบ่งเกาหลีออกเป็นสองประเทศ เหนือเส้นรุ้งที่ 38 เป็นเกาหลีเหนือ ใต้เส้นรุ่งที่ 38 เป็นเกาหลีใต้

สหภาพโซเวียตเรียกร้องให้จีนชดใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่ายุทธปัจจัยในสงครามเกาหลี

จีนกำลังประสบภัยพิบัติธรรมชาติ เศรษฐกิจสู่ขาลง จะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้ “หนี้” จำนวนมหาศาล ทางเดียวเท่านั้น ก็คือดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด นำทรัพย์ในดินสินในน้ำและพืชผลการเกษตรมาเป็นเงินชดใช้หนี้สินที่มิใช่จีนเป็นผู้ก่อแต่ฝ่ายเดียวให้สหภาพโซเวียต

ด้วยความรักชาติ เพื่อนๆ ปลายไม่เคยปริปากบ่นถึงความยากลำบาก ทุกคนต้องเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประเทศชาติ

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ยุคเศรษฐกิจจีน ต้องรัดเข็มขัด,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสดงดาว, 2562), น. 340 - 343.

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] ชั่ง มาตราวัดแบบจีน 2 ชั่ง = 1 กิโลกรัม.