ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“จากน้ำประปาถึงภาษี” การเมืองท้องถิ่นกับคุณภาพชีวิตประชาชน

5
กรกฎาคม
2564

 

 

 

เรื่องที่อยากจะพูด คือ เรื่องเล็กๆ อย่าง “น้ำประปา” ของเทศบาลเพื่อจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำประปาในประเทศไทยได้จะต้องจัดการอย่างไรกับโครงสร้าง ซึ่งแน่นอนที่สุดเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการสังคม เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย

ก่อนอื่นผมอยากจะเล่าว่า ทุกท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า วันนี้ผมถูกตัดสิทธิ์การเมืองระดับชาติ 10 ปี แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไป ผมได้ก่อตั้ง “คณะก้าวหน้า” ขึ้น ซึ่งคณะก้าวหน้าได้ลงมาทำงานการเมืองท้องถิ่น เพราะเราเห็นว่าการเมืองท้องถิ่นสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่น้อยไปกว่าการเมืองระดับชาติ

ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการเมืองท้องถิ่น หลายคนอาจจะนึกถึงถนนหนทาง นึกถึงไฟฟ้า และนึกถึงน้ำประปา ซึ่งคุณภาพของการเมืองท้องถิ่น จะสะท้อนมาถึงคุณภาพของชีวิตประชาชน เวลาเรานึกถึงสวัสดิการสังคมในระดับชาติ เราจะนึกถึงตามแผนภาพนี้ 

 

 

เราจะนึกถึงสวัสดิการของเด็กยากจน เราจะนึกถึงสวัสดิการเรียนฟรี เราอาจจะนึกถึงเบี้ยยังชีพของคนพิการ เราอาจจะนึกถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่มันมีสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนของภาครัฐอีกหลายส่วนที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น

ทุกท่านครับการทำงานในระดับท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าทำให้เราเห็นถึงปัญหา ยืนยันถึงปัญหาและความจำเป็นในการยุติระบบรับราชการรวมศูนย์

 

 

ผมอยากจะยกตัวอย่างให้ดูถึงเทศบาลหนึ่ง ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจกับเรา เลือกตัวแทนของคณะก้าวหน้าให้เข้าไปเป็นนายกเทศมนตรี ให้เข้าไปบริหารเทศบาล ที่นี่ครับ “จังหวัดร้อยเอ็ด เทศบาลตำบลอาจสามารถ”

เทศบาลนี้ไม่ใช่เทศบาลใหญ่ มีประชากรประมาณ 4,000 คน เนื้อที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร น้ำประปาของเทศบาลนี้ได้รับการถ่ายโอนมาจากการประปาส่วนภูมิภาค เทศบาลนี้บริหารโรงผลิตน้ำประปาสำหรับประชาชน 4,000 คนในเทศบาลด้วยตัวเอง 

 

 

ก่อนอื่น ผมอยากจะเล่าถึงกระบวนการผลิตน้ำประปาสั้นๆ อย่างแรก กระบวนการผลิตน้ำประปาจะมีการดึงและสูบน้ำดิบขึ้นมาจากแม่น้ำชี หลังจากสูบน้ำดิบขึ้นมาที่จากแม่น้ำชีจะเข้าสู่กระบวนการตกตะกอนโดยใส่สารส้มผสมลงไป หลังจากนั้นเอามาเก็บไว้ในถังน้ำใส ซึ่งมีการใส่คลอรีน และนำน้ำขึ้นถังหอสูง เพื่อใช้แรงโน้มถ่วงส่งน้ำไปสู่ครัวเรือนของประชาชน นี่คือกระบวนการผลิตน้ำประปาคร่าวๆ

หลายคนอาจบอกว่าเรื่องน้ำประปาเป็นเรื่องเล็ก แต่ในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ห่างไกล ปัญหาน้ำประปายังเป็นปัญหาใหญ่ และปัญหานี้สำหรับผม มันเป็นปัญหาของศตวรรษที่ 20 ไม่ใช่ปัญหาของศตวรรษที่ 21 แน่ๆ คือผมถามว่าเราไม่มีทรัพยากร เราไม่มีความรู้

เราไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดการปัญหานี้หรือไม่?
ผมคิดว่าไม่ใช่
แต่ทำไมหลายที่ยังประสบกับปัญหานี้?

น้ำประปาไม่เพียงพอต่อการใช้งาน น้ำประปาขุ่น ไม่สามารถเอามาทำความสะอาดร่างกาย ไม่สามารถเอามาซักเสื้อผ้าได้ อย่าลืมว่าน้ำเป็นเครื่องอุปโภคที่สำคัญในชีวิตประจำวันมาก น้ำประปาสะอาดหรือไม่สะอาดส่งผลต่อต้นทุนในการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน

 

 

ผมอยากให้ดูสภาพปัจจุบันของโรงผลิตน้ำประปาที่เทศบาลแห่งนี้ ซึ่งจากที่ได้เดินลงไปทำงานการเมืองท้องถิ่น และเห็นโรงผลิตน้ำประปามาหลายที่ เดี๋ยวผมจะยืนยันว่าลักษณะของโรงผลิตน้ำประปาส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับที่นี่ทั่วประเทศ

ที่นี่คือห้องเก็บสารเคมี ห้องเก็บคลอรีน ห้องเก็บสารส้ม ปกติสารเคมีพวกนี้ต้องเก็บโดยที่ไม่ให้มัน expose กับ oxygen คือ มันต้องเก็บในระบบที่มันไม่ทำให้สูญเสียคุณสมบัติของตัวมันที่จะผสมกับน้ำและทำให้น้ำมีคุณภาพดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการเก็บสารที่จะต้องนำไปปรุงน้ำ หรือ ผสมน้ำ ถูกจัดเก็บโดยไม่มีมาตรฐาน ทำให้เมื่อเอาไปปรุงกับน้ำแล้วน้ำจึงไม่ได้มาตรฐาน

 

 

 

ตัวอย่างต่อไป คือ โครงสร้างของโรงผลิตน้ำประปาที่ผุพัง ไม่มีการบำรุงรักษา และห้องเครื่องจักรที่ใช้ในการวางเครื่องสูบน้ำซึ่งก็ถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีการบำรุงรักษาอย่างดีพอ

ทุกท่านครับภาพที่ให้เห็นเป็นภาพจริง และผมเชื่อว่านี่คือสภาพของโรงผลิตน้ำประปาส่วนใหญ่ที่อยู่ในเทศบาลหรืออยู่ในอบต. ที่ได้รับการถ่ายโอนจากการประปาส่วนภูมิภาคมาแล้ว ผมไม่มีภาพนี้ครับ นายกเทศมนตรีของคณะก้าวหน้าได้รับตำแหน่งกันประมาณเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทยอยรับกันแต่ละที่ต่างกัน หลังจากรับตำแหน่งเราเห็นว่าเรื่องน้ำประปาเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นจะต้องพัฒนาน้ำประปาให้สะอาด มีเพียงพอใช้ตลอดปี และในระยะกลางต้องทำให้ดื่มได้เหมือนในต่างประเทศ นี่คือเป้าหมายของพวกเรา 

 

 

สิ่งที่เราทำ คือ รูปด้านซ้ายมือที่ท่านเห็น คือรูปของถังน้ำใสไม่มีการล้างตะกอนในถังน้ำใสตั้งแต่ถ่ายโอนมาจากการประปาส่วนภูมิภาค 20 ปีมาแล้ว ตอนที่เราเริ่มเข้าไปทำความสะอาด โคลนหรือตะกอนสูงเท่าเข่าในถังน้ำใส อีกอันหนึ่งก็คือตะกอนในบ่อตกตะกอนไม่มีการระบายออก เราเริ่มเข้าไปทำสิ่งเหล่านั้น 

 

 

รูปด้านซ้ายมือเป็นรูปสารส้ม เวลาตกตะกอนสารส้มก็ไม่มีการผสมอย่างเป็นสัดส่วน ถูกผูกไว้ สิ่งที่เราทำก็คือติดตั้งอุปกรณ์ที่มีการควบคุมการผสมสารเคมีที่ใช้ในการปรุงน้ำ เพื่อให้มีปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการปรุงน้ำอย่างเหมาะสม 

 

 

สิ่งที่เราทำต่อไป คือ เราซื้อเครื่องตรวจ ลงทุนกับเครื่องทดสอบ ทุกท่านเชื่อไหมครับ โรงผลิตน้ำประปาที่เป็นของอปท. ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่มีเครื่องตรวจสอบคุณภาพ ทำตามยถากรรม เราไม่รู้ว่าน้ำมีความกระด้างเท่าไหร่ เราไม่รู้ว่าคุณภาพความขุ่นของน้ำได้ตามมาตรฐานหรือไม่ เราไม่รู้ว่าค่าความเป็นกรดเป็นด่างของมันเท่าไหร่ ไม่มีเครื่องมือตรวจแม้แต่ชิ้นเดียว

สิ่งที่เราทำเป็นอย่างแรกก็คือซื้อเครื่องมือตรวจ เพื่อยืนยันกับประชาชนให้ได้ว่าน้ำที่ผลิตจากโรงน้ำประปานี้ได้คุณภาพ เพื่อให้จะยืนยันสูตรการผสมสารเคมีในการปรุงน้ำให้ได้ว่าจะต้องใช้สารส้มเท่านี้ เมื่อความขุ่นเป็นเท่านี้ จะต้องใช้คลอรีนเท่านี้ ต้องยืนยันให้ได้ จึงต้องมีเครื่องมือตรวจ

 

 

หลังจากที่เราเริ่มทำงานมาได้เดือนนึง เรามีการตรวจหน้างาน 4 - 5 ครั้ง จากรูปภาพคือมาตรฐานความขุ่น ผมยกตัวอย่างให้ดูแค่ค่าเดียว ความขุ่นครั้งแรกที่เราเข้าไปทำงาน น้ำประปามีค่าความขุ่นเป็น NTU (Nephelometric Turbidity Units) และน้ำประปาในเทศบาลนี้ มีค่าความขุ่นอยู่ที่  7 NTU กว่าๆ ซึ่งมาตรฐานน้ำประปาที่สะอาดต้องอยู่ที่ 5 NTU 

 

 

 

หลังจากที่เราปรับปรุง ล้างบ่อตกตะกอน ล้างบ่อถังน้ำใส ปรับปรุงวิธีการใส่สารปรุงน้ำเข้าไป เราทำให้ความขุ่นของน้ำอยู่ในค่ามาตรฐานได้ แต่ยังไม่พอ เราอยากจะทำมากกว่านี้ สิ่งที่เราทำก็คือเราเอากริดน้ำ เราเอาท่อส่งน้ำเป็นกริดใน Google Earth เพื่อที่จะลองดูว่ากริดน้ำเป็นอย่างไร กริดน้ำมีความสำคัญอย่างไร ที่บ้านของท่านต้องติดเครื่องสูบน้ำประปาหรือเปล่า ต้องติดเครื่องสูบน้ำไหม ที่ต้องติดเครื่องสูบน้ำเพราะอะไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้น 2 เพราะอะไร เพราะน้ำประปาแรงดันส่งไม่ถึงใช่ไหมครับ เพราะระหว่างทางมันอาจจะมีการรั่วของท่อน้ำทำให้น้ำประปาไปถึงบ้านเรือนที่อยู่ปลายทางไม่ถึง เราจึงติดกริด เราทำกริดแบบนี้ แล้วเราวัดความดันที่ปลายทางของแต่ละเส้นของกริด เพื่อดูว่าความดันของแต่ละที่นั้นเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้ยืนยันว่า น้ำที่ส่งออกจากเทศบาล โรงประปาของเทศบาลมีแรงดันเพียงพอที่จะส่งให้ถึงประชาชน

 

 

เราอยากทำอะไรต่อไปอีก เราอยากจะเปลี่ยนมิเตอร์ครับ มิเตอร์ปัจจุบันคือมิเตอร์ที่ต้องใช้คนจดว่าแต่ละครัวเรือนใช้น้ำไปกี่หน่วย เอาหน่วยไปคำนวณเป็นเงิน แล้วก็ไปทำเป็นบิลส่งไปที่ครัวเรือน แต่ถ้าเราติดสมาร์ทมิเตอร์ที่เป็นแบบ IoT ได้เท่าไหร่ ข้อมูลการใช้น้ำจะถูกส่งไปที่ฝ่ายการคลังทันที เมื่อฝ่ายการคลังได้รับไม่ต้องเขียนบิล ไม่ต้องนั่งทำบิล Auto Generated บิลและให้ประชาชนเลือกได้ว่าจะจ่ายค่าน้ำในรูปแบบไหน ถ้ายังคุ้นเคยกับแบบเดิมก็เดินมาจ่ายที่เทศบาลด้วยเงินสดได้ แต่ถ้าต้องการจะจ่ายด้วยการโอนบัญชีก็สามารถทำได้ นั่นคือสิ่งที่พวกเราอยากทำ

 

 

พวกเราจะติดเซ็นเซอร์วัดความขุ่น วัดค่ากรดด่าง วัดค่าการนำไฟฟ้าเพื่อพิสูจน์โลหะหนักว่าน้ำของเราไม่มีโลหะหนัก ถ้าเราติดเซ็นเซอร์ที่เป็น IoT อย่างนี้ได้ซึ่งเทคโนโลยีทำได้อยู่แล้วปัจจุบันนี้

เราสามารถดึงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้กลับเข้ามาที่ศูนย์ควบคุม เครื่องรับประกันได้ว่า น้ำที่ผลิตจากเทศบาลของเราดื่มได้จริงๆ ดังนั้นที่ผมนำเสนอมามีส่วนที่ทำไปแล้วที่ไม่ต้องใช้เงิน คือการดูดตะกอนออก คือการเปลี่ยนวิธีผสมสารปรุงน้ำ แล้วก็เป็นส่วนที่ใช้เงินก็คือการติดตั้ง Smart Meter (มิเตอร์อัจฉริยะ) การติดตั้ง Pressure Gauge (เกจวัดแรงดัน) ที่เป็น Smart Pressure Gauge ในการที่จะทำสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ สำหรับเทศบาลนี้ ต้องใช้เงิน 10 ล้านบาท

 

 

ทุกท่านครับ ปัญหามันคือระดับเทศบาล อย่างเทศบาลที่นี่ นี่คือข้อมูลจริง มีงบลงทุนเหลือจากที่ใช้ในการดำเนินการเพียงแค่ปีละ 2 ล้านบาท ถ้าผมอยากจะทำให้น้ำดื่มของทุกเทศบาลในประเทศไทยดื่มได้ สะอาด มีเพียงพอใช้ตลอดปี ผมต้องใช้เงินลงทุนของเทศบาล 4 ปีโดยไม่ต้องทำถนน โดยไม่ต้องทำไฟ โดยไม่ต้องไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย 4 ปีเก็บเงินลงทุนทำระบบน้ำนี้ แล้วถามว่าเรื่องอื่นยังไงครับ ถ้าไม่ทำถนนก็โดนประชาชนด่า แต่ก็ทำถนน เจียดไปทำด้วย เมื่อไหร่น้ำปะปาถึงจะเสร็จสมบูรณ์ และการันตีให้กับประชาชนได้ว่าน้ำประปาที่ผลิตจากโรงน้ำประปากินได้จริงๆ ต้องใช้เวลา 4 ปีเป็นอย่างน้อย

 

 

เรื่องนี้จึงนำไปสู่ความคิดปัญหาสำคัญมากในสังคมไทย ถ้าเราจะพูดถึงการยกระดับบริการของภาครัฐที่ให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผมอยากจะชี้ชวนให้ทุกท่านเห็นถึงปัญหาของระบบราชการรวมศูนย์ ลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นประชาชนคนธรรมดา 1 คน เราจ่ายภาษี 2 ทาง ภาษีทางแรก เราจ่ายให้กับรัฐบาลปกครองศูนย์กลาง ภาษีทางที่สอง เราจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าที่บ้านท่านจะเป็นอบต. ไม่ว่าที่บ้านถ้าจะเป็นเทศบาล ก็จ่ายภาษี 2 ทาง ภาษีที่จ่ายตรงให้กับอบต. เทศบาลน้อยมาก อย่างเทศบาลที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่มีรายได้เพียงปีละ 50 ล้าน หักค่าใช้จ่ายดำเนินการออกไป เหลืองบลงทุนเพียงปีละ 2 ล้านบาทซึ่งยังต้องดูแลสวนสาธารณะ ดูแลศูนย์เด็กเล็ก ดูแลถนน ดูแลไฟฟ้า ดูแลระบบผลิตน้ำประปา แต่ขณะที่ภาษีส่วนใหญ่เราจ่ายให้รัฐบาลที่อยู่ส่วนกลาง

 

 

ปัญหาคือจ่ายส่วนกลางแล้ว ให้ระบบราชการเป็นคนแจกจ่าย ว่าจะเอางบมาจากภาษีไปทำที่ไหน เราจะรู้ได้อย่างไรว่างบควรจะเอาไปทำท่องเที่ยวที่สุราษฎร์ธานีหรือควรจะมาเอาน้ำ ทำน้ำประปาที่อาจสามารถ หรือเราจะเอาภาษีส่วนนี้มาทำเรื่องโรงเรียนที่เพชรบูรณ์ ใครเป็นคนตัดสินว่าจะเอาภาษีไปทำอะไร จะไปทำระบบกักเก็บน้ำสำหรับเกษตรกรที่ร้อยเอ็ด หรือ จะเอาไปพัฒนาแปรรูปสินค้าการเกษตรที่ลำพูน ใครเป็นคนตัดสินใจ

คำถามคือว่าเรากำลังพูดถึงระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม แต่ปัจจุบันภาษีของเราส่วนใหญ่ถูกเอาไปให้ที่รัฐส่วนกลาง และส่วนกลางเป็นคนแจกจ่ายเองควรจะได้รับอะไร โครงการไหนควรจะได้รับการพัฒนา และนี่คือปัญหาที่สำคัญที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย

พูดง่ายๆ นักการเมืองสมัยก่อนเป็นนักการเมือง เป็นสส.ที่เก่งคือดึงงบประมาณเข้าพื้นที่ได้ใช่ไหมครับ นี่คือนิยามการเป็นสส. ที่มีประสิทธิภาพสมัยก่อน ใครดึงงบประมาณเข้าพื้นที่มากถือว่าเป็นสส.ที่เก่ง มีการใช้งบตัวนี้สร้างความสวามิภักดิ์ทางการเมือง นี่คือนิยามของระบบอุปถัมภ์ ถ้าคุณไม่สวามิภักดิ์ทางการเมืองกับผม คุณจะไม่ได้รับงบ ยิ่งปีหลังยิ่งชัดเจนมาก ถ้าคุณไม่สวามิภักดิ์กับระบบคสช. คุณจะไม่ได้งบอะไรเลย คุณจะไม่ได้งบพัฒนา นอกจากนี้งบที่ออกแบบมาจากราชการส่วนกลาง เมื่อลงไปถึงพื้นที่ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน มันจึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน

เราเห็นบางที่มีเลนส์จักรยานสวยงาม แต่ไม่มีคนขี่จักรยาน ใช้เป็นที่จอดรถ ประชาชนก็ไม่ได้อยากได้เล่นจักรยานที่นั่นเขาอยากได้คลองไส้ไก่ เพื่อเป็นทางชลประทาน เราจึงเห็นสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการบำรุงรักษา ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในพื้นที่ และที่สำคัญครับมันไม่ได้พัฒนาประชาธิปไตย มันไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน เป็นเจ้าของภาษีร่วมกัน ประชาชนให้คนส่วนใหญ่จึงไม่อยากจ่ายภาษี เพราะไม่รู้ว่าจะจ่ายภาษีไปทำไม

และประการสุดท้ายก็คือ ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถกำหนดอนาคตของพวกเขา เขา ไม่สามารถกำหนดการพัฒนาของพวกเขาเองได้ว่า พวกเขาจะเอาการท่องเที่ยว หรือเอาเกษตรกรรม อยากจะเอาการพาณิชย์ หรืออยากจะเอาการแปรรูปสินค้าการเกษตร เขาไม่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ พลังการพัฒนาของประเทศไทยที่อยู่ในต่างจังหวัดทั้งหมด จึงถูกกักขังไว้คอขวด มันจึงเป็นระบบราชการรวมศูนย์ที่ทำให้พลังในการพัฒนาประเทศถูกกักขังอยู่

 

 

ผมอยากให้ดูตัวอย่างของกรณีของประเทศญี่ปุ่น กรณีประเทศญี่ปุ่น ถ้าเป็นคุณเป็นพนักงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำเดือนหนึ่งก็จะได้อยู่ประมาณ 200,000 เยน คือ 60,000 บาท 200,000 เยนนี้ รายได้ส่วนนี้นำไปจ่ายภาษีให้ในระดับเทศบาลเยอะที่สุด ก็คือประมาณ 3.9 % และหลังจากนั้นจ่ายให้จังหวัดประมาณ 2.4 % แล้วถึงจะจ่ายให้รัฐบาลศูนย์กลางประมาณ 2.1 % ท่านจะเห็นว่ารัฐที่ได้รับส่วนแบ่งของภาษีรายได้ส่วนบุคคลมากที่สุดในญี่ปุ่นคือเทศบาลขึ้นระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และระดับระดับจังหวัดในญี่ปุ่นได้ 2% ต่างๆ ส่วนโตเกียวหรือรัฐส่วนกลางได้เพียง 0.1 % นี่คือรายได้บุคคลธรรมดา

 

 

ผมยกตัวอย่างต่อไป ในประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนรายได้ส่วนกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นจาก100 % ในญี่ปุ่นราชการส่วนกลางได้ 42% ท้องถิ่นได้ 57 % แต่ในประเทศไทยส่วนกลางจาก 100% ของภาษีได้ไป 70 % ส่วนท้องถิ่นได้ไป 29% 

 

 

ดังนั้น ถ้าเราอยากพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจริงๆ อย่าลืมว่าภารกิจของท้องถิ่นมีแต่เรื่องน้ำประปา มีเรื่องถนน เรื่องการเก็บขยะมูลฝอย การจัดการขยะ ตั้งแต่สวนสาธารณะจนถึงการดูแลผู้สูงอายุ ตั้งแต่เรื่องศูนย์เด็กเล็กจนถึงเรื่องสุขภาพของประชาชน จนถึงเรื่องสวนสาธารณะ แต่อปท. แต่ละที่มีงบลงทุนเหลือเพียงแค่ 2 ล้านบาทต่อปี

ถ้าอปท. ตัวแทนทั่วประเทศ เทศบาลกับอบต. ทั่วประเทศ 7,000 แห่งเนี่ยอยากจะทำให้น้ำประปาดื่มได้ ถ้าใช้ที่เดียวกัน ใช้สเกลเท่ากัน ผมให้ 2 เท่าเลยจาก 10 ล้านเป็น 20 ล้านมี 7,000 แห่ง แสนสี่หมื่นล้าน สำหรับน้ำประปาที่สะอาด สำหรับน้ำประปาที่ดื่มได้ สำหรับผมไม่แพงเลยครับ ไม่แพงเลยนะแสนสี่หมื่นล้าน

คำถามคือ ยังไงก็ทำไม่ได้เพราะถ้าโครงสร้างการจัดสรรภาษียังไม่เป็นธรรมแบบนี้ คุณต้องใช้เวลาถึง 4 ปีที่จะเก็บเงินให้ได้ 10 ล้าน โดยไม่ต้องลงทุนอย่างอื่นเลย ไม่ต้องลงทุนเรื่องเด็ก ไม่ต้องลงทุนเรื่องถนน 4 ปีเพื่อจะทำให้ได้อย่างนี้

 

สำหรับผม เรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจยังมีอีกมิติหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทที่จะต้องแก้ไข ซึ่งจะต้องปฏิรูปและเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศที่จำเป็นเพื่อให้ประเทศเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย 4 ด้านด้วยกันนั่นก็คือ

  1. การปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์ ยุติการผูกขาดอำนาจและงบประมาณที่กรุงเทพฯ 
  2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 
  3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
  4. ปฏิรูปกองทัพ

ต้องทำ 4 อย่างนี้พร้อมกันไปด้วยกันเท่านั้น เราถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการอภิวัฒน์สยาม 2475 ได้ 4 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดกันมาเมื่อ 89 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ยังทำไม่สำเร็จ 4 เรื่องที่ผมพูดคณะราษฎรเคยทำมาแล้ว เคยพยายามที่จะทำอะไรแล้ววันนี้ยังทำไม่สำเร็จ

ผมเชื้อเชิญทุกท่านในภาวะสังคมเช่นนี้อาจจะอยู่ในภาวะสังคมที่หลายคนหมดหวังหมดกำลังใจ ผมอยากจะเชื้อเชิญว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง อย่าเพิ่งหมดกำลังใจมีแต่การเดินหน้าร่วมกันต่อสู้ร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม มีแต่จะต้องใช้แรงของประชาชนเท่านั้น มาร่วมกันทำภารกิจ 2475 ที่ยังไม่บรรลุผลให้เสร็จที่รุ่นเราครับ

 

 

ที่มา: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ. PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ห้องประชุมพูนศุข

หมายเหตุ: เรียบเรียงและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ