ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประวัติศาสตร์ของอนาคต : เฉลิมฉลอง 100 ปีการอภิวัฒน์สยาม รำลึก 90 ปี 24 มิถุนายน 2475 ด้วยการมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง

24
มิถุนายน
2565

วันนี้บรรยากาศ การเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม ครึกครื้นเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ความสำคัญ ผ่านการจัดงานรื่นเริง งานนิทรรศการ งานเสวนา งานศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องและเชิดชูคุณค่าของการอภิวัฒน์กันอย่างกว้างขวาง เป็นบรรยากาศของสังคมที่ผสมกลมกลืนกันระหว่างความปีติยินดีต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง กับความรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ผมยังจำได้ดีถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของสังคม มันน่าจะเริ่มจากปีที่แล้วที่มีการนำภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ของปรีดี พนมยงค์ กลับมาสร้างใหม่ในโอกาสครบรอบ 90 ปี ของการฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลได้สนับสนุนงบจำนวนมากในการจ้างผู้กำกับฝีมือดี นักเขียนบทระดับประเทศ นักคอมพิวเตอร์กราฟิกระดับโลก และนักแสดงชั้นนำมากมายมาร่วมสร้าง

“พระเจ้าช้างเผือก” ฉบับใหม่นี้ยังคงเส้นเรื่องที่ยึดโยงกับการสร้างสันติภาพที่ปรีดี พนมยงค์ เขียนไว้เมื่อ 90 ปีที่แล้วอย่างเคร่งครัด แต่ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งคอมพิวเตอร์กราฟิกภาพและเสียง มาทำให้หนังทันสมัย ตื่นตาตื่นใจ เหมาะสมกับยุคสมัย อีกทั้งผู้สร้างยังจงใจใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพูดคุยในหนังเหมือนต้นแบบของปรีดี ที่ตั้งใจสื่อสารกับคนทั้งโลก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นอย่างมาก คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ปลุกชีวิตวงการสร้างหนังในประเทศให้กลับมาคึกคัก นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศพร้อมลงทุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ไทยเพื่อส่งออกกันอย่างกว้างขวาง

อันที่จริง เมื่อมองย้อนกลับไป ผมเห็นว่าจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และครั้งใหม่นี้ น่าจะอยู่ที่การเลือกตั้งปี 2566 ผมจำได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นประชาชนตื่นตัวทางการเมืองกันอย่างแพร่หลาย ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ข้าวของสินค้าราคาแพง และความเสื่อมของสถาบันทหารในขณะนั้น ทำให้ประชาชนนิยมชมชอบพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม นักวิชาการและสื่อมวลชนพร้อมใจกันกดดันพรรคการเมืองทุกพรรคให้ทำสัตยาบันก่อนการเลือกตั้งว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญและนำทหารออกจากการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองกลับมาเป็นประชาธิปไตย

ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งสามารถตั้งรัฐบาลได้โดยสมาชิกวุฒิสภาไม่กล้าขัดขวางเนื่องจากแรงกดดันจากสังคม รัฐบาลเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 4 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ผมอดชื่นชมความกล้าหาญของหนุ่มสาวในสังคมยุคนั้นไม่ได้ พวกเขารณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงเนื้อหาและความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งมีเนื้อหาที่ก้าวหน้ามาก 

หลายเรื่องเป็นเรื่องที่พยายามกันมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่นเรื่องสภาเดี่ยว ซึ่งมีในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยในปี 2475 หรือหลายเรื่องพยายามกันมาหลายสิบปี เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งเริ่มที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ประเด็นสำคัญเหล่านี้ ต้องอาศัยการอธิบายและรณรงค์อย่างสูง หนุ่มสาวยุคนั้นลงทุนด้วยแรงและเวลา รณรงค์เพื่ออนาคตของพวกเขาและลูกหลาน แต่มันก็คุ้มค่า ประชาชนลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อต้นปี 2570 อย่างถล่มทลาย

รัฐบาลใหม่ยังผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยและหลักการประชาธิปไตย โดยอาศัยการอธิบายและการพูคคุย จนทุกฝ่ายเห็นด้วยกันเป็นมติสังคม ผมคงไม่กล่าวเกินจริงนักว่าหลักเสรีภาพ ความปลอดภัย และ ความเสมอภาค ซึ่งเป็น 3 ใน 6 เสาหลักของหลักการคณะราษฎร สามารถปักหลักลงรากลึกในสังคมไทยได้ในยุคนี้

เมื่อกล่าวถึง “หลัก 6 ประการ” แล้ว ผมคงต้องกล่าวถึงความเสมอภาคและเอกราชทางด้านเศรษฐกิจด้วย ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศไทย ณ เวลานั้นห่างขึ้นทุกวัน คนรวยรวยมากยิ่งขึ้น คนจนไม่มีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ดี รัฐบาลใช้เวลาหลายปี ปรับปรุงกฎหมายผูกขาดทางเศรษฐกิจหลายฉบับให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก มีช่องทางทำมาหากิน ปรับปรุงการใช้งบประมาณ ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นลง และนำเงินเหล่านั้นมาสร้างงานและสร้างรัฐสวัสดิการ

ผลของชุดนโยบายเหล่านี้ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต รัฐสวัสดิการทำให้ประชาชนมีโอกาสไขว่คว้าความฝันของตัวเอง เป็นรากฐานสำคัญของความเสมอภาค ประชาชนมีงานทำ สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่รัฐบาลสร้างขึ้นทำให้เกิดเทคโนโลยีภายในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นับเป็นการประกาศเอกราชทางด้านเศรษฐกิจของไทยยุคใหม่

ความสำเร็จของรัฐบาลทำให้พรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้ความไว้วางใจจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกหลายสมัย เสถียรภาพทางการเมืองทำให้พวกเขาผลักดันนโยบายได้อย่างต่อเนื่องคงเส้นคงวา อาจจะมีนอกลู่นอกทางไปบ้างบางครั้งบางคราว แต่ด้วยการเตือนสติจากประชาชนที่ใส่ใจการเมือง ประเทศไทยจึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังทิศที่ควรจะเป็น

อันที่จริง การเฉลิมฉลองในปีนี้จะครึกครื้นเท่านี้ไม่ได้เลย หากรัฐบาลไม่สร้างการตระหนักรู้ต่อการอภิวัฒน์ 2475 และการเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตยเป็นระยะๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏขึ้นใหม่ที่วงเวียนหลักสี่ เพื่อรำลึก 95 ปี วีรกรรมของ แปลก พิบูลสงคราม ในการปราบกบฏบวรเดชในปี 2571 และการที่รัฐบาลได้ใช้งบประมาณรัฐ เข้าซื้อบ้านที่ปรีดีเคยพักอาศัยที่ประเทศฝรั่งเศสก่อนเสียชีวิต แล้วปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาในปีต่อมา

ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การรำลึก 100 ปีอภิวัฒน์สยามในปีนี้ มีการสถาปนา วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี ให้กลับมาเป็น “วันชาติ” และเป็นวันหยุดประจำปีอีกครั้ง นับเป็นการให้ความสำคัญต่อวันที่ 24 มิถุนายน อย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อมองย้อนหลังไปสิบปี ผมมองเห็นถึงการไม่ยอมแพ้ของผู้รักประชาธิปไตย ที่กระตือรือร้นทางการเมือง รณรงค์อย่างแข็งขัน ปักธงทางความคิด จนเราสร้างประเทศไทยที่เจริญก้าวหน้าและประชาธิปไตยที่มั่นคงได้ในรอบสิบปีที่ผ่านมา 

หากมีใครบอกว่า ประเทศในปี 2575 จะหน้าตาแบบนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว คงไม่มีใครเชื่อ แต่มันก็เป็นจริงแล้ว มันเป็นการเดินทางของความหวังที่ใช้เวลา 100 ปี ดังนั้น ขอให้เราอย่าหมดหวังต่ออนาคตและต่อมนุษยชาติและอย่าหยุดเชื่อมั่นในพลังของประชาชน

ดังที่ปรีดีเคยกล่าวไว้ในวารสาร อมธ. ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2516 ว่า “มวลราษฎรไม่อาจหวังพึ่งบุคคลใดแต่คนเดียวหรือคณะเดียวเท่านั้น นอกจากพลังของมวลราษฎรเองซึ่งเป็นพลังอันแท้จริง”