เนื่องในโอกาสครบรอบ 89 ปี ของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญ และวันนี้เคยเป็นวันชาติไทย แต่ว่าถูกยกเลิกไป เวลานี้ประเทศของเรากำลังประสบปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจาก COVID-19 แพร่ระบาด
ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนั้น ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในวันนี้วิทยากรทั้งหลายที่จะมาร่วมเสวนาก็จะได้ร่วมกันมองว่า “เราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร”
ผู้ที่สนใจในเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สนใจในเรื่องรัฐสวัสดิการ สนใจในเรื่องประชาธิปไตย ย่อมเห็นถึงบทบาทของคณะราษฎร และย่อมเห็นถึงบทบาทของ “ปรีดี พนมยงค์”
ในเวลานี้ลูกสาวของท่านอาจารย์ปรีดี ได้มาร่วมอยู่ในงานแห่งนี้ท่าน ‘อาจารย์สุดา พนมยงค์’ เรามีอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘ศาสตราจารย์พิเศษดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกองหน้าของประชาธิปไตย
เรามีนักวิชาการยืนหยัดอยู่บนแถวหน้าของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ‘ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์’
เรามีผู้เชี่ยวชาญทางการเศรษฐกิจไทย และชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมของเศรษฐกิจไทยอย่าง ‘ศาสตราจารย์กิตติคุณผาสุก พงษ์ไพจิตร’
เรามีอดีตนักการเมืองที่เคยผลักดันระบบสวัสดิการให้กับประเทศสมัยเป็นรัฐบาลท่าน ‘อาจารย์โภคิน พลกุล’ ‘ดร.สุชาติ ธาดาธํารงเวช’
เรามีนักการเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นความหวังของประเทศ เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ แต่ถูกอำนาจเผด็จการสกัดกั้น ‘คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’
เรามี ‘อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ ซึ่งศึกษาเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างมาก และต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ให้ได้
คณะราษฎร: ต้นแบบแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ
หากย้อนกลับไป 89 ปีที่แล้ว บทบาทของปรีดี พนมยงค์ และ บทบาทของคณะราษฎร “คณะราษฎร” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ไม่ใช่คนคนหนึ่งเท่านั้น แต่คนเหล่านี้คือตัวแทนความคิดของผู้ที่มีความกล้าหาญ เสียสละ และต้องการต่อสู้ให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
การกำเนิดขึ้นของประชาธิปไตยไทยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม เป็นจุดเริ่มต้นของสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ว่าประชาธิปไตยไทยช่างลุ่มๆ ดอนๆ คดเคี้ยว 89 ปีแล้วที่เรายังไปไม่ถึงไหน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราย้อนกลับไปเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เราจะพบว่าการก่อการของคณะราษฎร ยึดถือสันติวิธี พยายามดำเนินการทุกอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่ให้มีความรุนแรงและสูญเสียเลือดเนื้อ เช่น การจัดการของการปกครองของประเทศอื่นๆ และต้องถือว่าเป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบและสันติ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการปฏิวัติสังคมในจีน ในสหภาพโซเวียต ในตุรกี ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นที่ได้ดำเนินการยึดอำนาจอย่างเฉียบพลันด้วยความละมุนละม่อม และในขณะเดียวกันที่รัชกาลที่ 7 เห็นแก่ความสงบของบ้านเมืองยอมทำตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร
แรงกระเพื่อมเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นภายหลัง เนื่องจากมีการโต้กับการ “อภิวัฒน์” หรือ “เคาน์เตอร์” Revolution ของกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ปรีดี พนมยงค์ และ คณะราษฎร คือ สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ปรีดี พนมยงค์ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและที่สำคัญที่สุดจิตวิญญาณของ ปรีดี พนมยงค์ คือ จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่อความเป็นธรรม เพื่อความเท่าเทียม
สังคมโลกพระศรีอาริย์ที่อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ในหนังสือหลายเล่ม ซึ่งท่านเคยพูดเอาไว้เกิดขึ้นความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ในบ้านเมืองต่างๆ ในสังคมก็จะดำรงอยู่ ปัญหา COVID-19 ได้ตอกย้ำปัญหาในเชิงโครงสร้างอันนี้ให้แจ่มชัดขึ้น
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมักจะมีความก้าวหน้าขึ้น เมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย และถดถอยทุกครั้งเมื่อมีรัฐประหาร หรือ การปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นโลกพระศรีอาริย์ตามแนวความคิดและการนำเสนอของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ก็ดี หรือแนวความคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมที่ผมพยายามพัฒนาต่อยอดจากปัญญาชน นักคิดหลายๆ ท่าน รวมทั้งเค้าโครงสมุดปกเหลืองก็ดี ล้วนมีเป้าหมายและมีพื้นฐานเดียวกันคือ “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่มีรากฐานมาจากประชาธิปไตยทางการเมืองที่มั่นคง” ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการ ระบบสวัสดิการที่รัฐจัดบริการประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
โลกพระศรีอาริย์ของปรีดี พนมยงค์ เป็นเหมือนสังคมและรัฐในอุดมคติ ตามความเชื่อของพุทธศาสนาแล้ว เมื่อสิ้นสมัยสมณโคดมแล้ว ก็จะเข้าสู่โลกพระศรีอาริย์ ผู้คนมีความสุข มีศีลธรรม มีความสงบสุข มีความเท่าเทียม มีแต่ความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ไม่มีการเบียดเบียนกัน มีต้นกัลปพฤกษ์ไว้บันดาลสิ่งที่ต้องการได้ตลอดเวลา ซึ่งก็เหมือนระบบรัฐสวัสดิการ
ส่วนแนวคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมนั้น ต้องให้ระบบเศรษฐกิจมีสมดุลเป็นธรรมและสมดุลด้วย เกิดดุลภาพใหม่ๆ ที่เป็นธรรม ภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาส โอกาสในการที่จะผลักดันสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น
ภายใต้วิกฤตแห่งโรคระบาด: ภราดรภาพนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2544 มีการผลักดันโดยพรรคไทยรักไทยให้เกิด 30 บาทรักษาทุกโลก หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วันนี้เรามาฟังท่านอาจารย์ผาสุกว่าภายใต้วิกฤต COVID-19 เราจะผลักดันให้เกิดการบำนาญถ้วนหน้าได้หรือไม่ โอกาสจะเป็นไปได้หรือไม่แค่ไหนอย่างไร
เราไปดูแกนความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เราจะเห็นได้ว่าท่านนั้นยึดถือแนวทางภราดรภาพนิยม เพราะว่าจะเป็นแนวทางที่ผู้คนในสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอย่างสันติ พื้นฐานความคิดของลัทธิโซลิดาลิสม์ หรือ ภราดรภาพนิยม มองว่ามนุษย์ชาติสามารถรวมกันเป็นร่างอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งตรงนี้จะช่วยทำให้เราเห็นภาพชัดว่า COVID-19 จะรอดเพียงแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ แต่ทุกประเทศจะต้องรอดพร้อมๆ กัน
เมื่อมนุษยชาติรวมเข้าเป็นร่างอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็จะมีบุคคลแต่ละคนเป็นส่วนประกอบ การกระทำของแต่ละบุคคลจะมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ดีหรือเป็นการกระทำที่เลว ดังนั้นบุคคลจึงมีหนี้สินต่อกัน และเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน
แนวคิดภาพบนพื้นฐานของศีลธรรมมากกว่าการบังคับทางกฎหมาย คือเราคาดหวังกับจิตสำนึก เราคาดหวังกับพลังที่เป็น Soft Power ในขณะเดียวกันแค่นั้นยังไม่พอ ต้องอาศัยกฎหมายด้วย การกระทำแต่ละอย่างของเราไม่ว่าจะดีหรือเลวมีผลกระทบต่อคนอื่น เพราะฉะนั้นสภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำมาก การผลักดันกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภาษีทรัพย์สิน การผลักดันเรื่องสวัสดิการพื้นฐานบางเรื่องซึ่งประเทศไทยไม่มีก็ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น
เราดูแนวความคิดของภราดรนิยมซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาในปัจจุบัน แต่เราต้องเข้าใจว่าหลายคนที่ผลักดันรัฐสวัสดิการต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ไทยควรเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่”
ในเรื่องของแนวความคิดระบบสวัสดิการ โดยเฉพาะรัฐสวัสดิการ แนวหนึ่งก็จะเน้นไปที่กลไกการตลาดมากหน่อย และจะต้องมีการคัดกรองก่อน อีกแนวหนึ่งก็คือ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งก็คือ “ระบบเงินถ้วนหน้า” หรือ Universal Basic Income
อย่างไรก็ตาม พวกอนุรักษนิยมฝ่ายขวา หรือ เสรีนิยมสุดโต่ง มักจะโจมตีรัฐสวัสดิการหรือการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐว่าเป็นการสร้างภาระทางการคลัง บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว ลดทอนแรงจูงใจของภาคธุรกิจในการประกอบการเชิงผลกำไรหรือเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการผูกขาดโดยรัฐ ในบางเรื่องอาจจะทำลายการแข่งขันในระยะยาว
ส่วนพวกมาร์กซิสต์ก็โจมตีว่า รัฐสวัสดิการเป็นการถ่วงเวลาในการปฏิวัติสังคมของชนชั้นกรรมาชีพ อย่างไรก็ตาม ประเทศทุนนิยมนำความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการมาใช้ควบคู่ไปทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ทุนนิยมก็ปรับตัวและดำรงอยู่ได้เป็นทุนนิยมแบบรัฐสวัสดิการเหมือนประเทศสแกนดิเนเวีย ส่วนระบบเศรษฐกิจที่วางแผนส่วนกลางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หลายประเทศล่มสลายไป เพราะอาจจะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์
เมื่อย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทยจะพบข้อเท็จจริงก็คือประเทศที่มีระบบสวัสดิการแบบรัฐสวัสดิการรายได้ภาษีต่อ GDP 35 - 45 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ขณะที่ไทยมีอยู่ที่ระดับ 15 - 17 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าเราต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐ เราต้องปฏิรูประบบภาษี ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถเป็นรัฐสวัสดิการได้
ในขณะเดียวกัน เพราะว่าภาษีเทียบกับ GDP จะเป็นตัวบอกว่าระบบสวัสดิการจะมีความยั่งยืนหรือไม่ และในขณะเดียวกันฐานะการเงินการคลังจะสนับสนุนไหวหรือไม่
ประเด็นที่หนึ่งที่อยากจะให้วิทยากรได้ขยาย ประเด็นที่สองก็คือว่าประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาซึ่งก็ไม่ใช่สวัสดิการเต็มรูปแบบ มีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ประเทศไทยมีแค่ไหนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเงินส่วนหนึ่งก็ยังเอาไปซื้ออาวุธกันอยู่ เงินก็เอาไปใช้จ่ายในสิ่งซึ่งจำเป็นมากในสภาวะที่บ้านเมืองมีปัญหา นี่คือประเด็นที่ผมฝากไว้
ประชาธิปไตยของประชาชน ประชาธิปไตยสมบูรณ์: ทางออกของวิกฤต
ผมขออนุญาตเสนอทางออกของวิกฤต คือ ประชาธิปไตยของประชาชน ประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวความคิดของปรีดี พนมยงค์ และเศรษฐกิจต้องเป็นเศรษฐกิจดุลยธรรมก็คือจะทำต้องให้เกิดความสมดุลด้วย นอกจากเป็นธรรมแล้วต้องสมดุลตามสภาวะเหตุปัจจัยความพร้อมของประเทศ
ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอระยะยาวว่าจะต้องขับเคลื่อนกันอย่างไร
ประเด็นที่ 1 ต้องผลักดันให้เกิดความคืบหน้าของรัฐสวัสดิการพร้อมปฏิรูปรายได้ภาครัฐ เวลานี้มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่จะมีปัญหาความยั่งยืนทางการเงิน จะต้องทำอย่างไร นี่คือโจทย์ แล้วเราจะผลักดันเรื่องระบบชราภาพ บำนาญชราภาพ สวัสดิการชราภาพ จะเอาเงินจากส่วนไหนซึ่ง อาจารย์ผาสุก จะช่วยขยายความได้
ประเด็นที่ 2 ประเด็นการปฏิรูปตลาดแรงงาน อาจารย์แล จะเป็นผู้ให้ข้อมูลการต่อสู้ของขบวนการแรงงานเพื่อให้เกิดอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 สู้กันมา 20 กว่าปีแล้ว ทำไมยังไม่เกิดเสียที ทั้งที่มันง่าย แค่ยอมเซ็นรับอนุสัญญาข้อนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการรวมตัวของขบวนผู้ใช้แรงงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานสามารถมีอำนาจต่อรองมากขึ้น มีสิทธิ์มากขึ้นในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน
ประเด็นที่ 3 รัฐสภาจะผ่านกฎหมายประชามติ ควรจัดให้มีการถามความเห็นประชาชนด้วยว่า ประชาชนต้องการร่างฉบับใหม่โดยสสร. ที่มาจากประชาชนหรือไม่ ถามเลย ถามประชาชน ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องมาบอกว่ามวลชนกลุ่มนี้เอา มวลชนกลุ่มนั้นไม่เอา ถามประชาชนเลย นี่ประชาธิปไตยทางตรง ประชามติก็ผ่านไปแล้ว
ประเด็นที่ 4 ต้องรักษาสิทธิมนุษยชน พื้นที่ประชาธิปไตย พื้นที่สันติวิธี พื้นที่สำหรับคนเห็นต่างเอาไว้ให้ได้ การรักษาพื้นที่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าขึ้น เกิดขึ้นอย่างสันติแต่น่าจะใช้เวลายาวนานแต่จะสันติ การต่อสู้ระหว่างพลังผมเรียกว่า “ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย” หรือ นักวิชาการบางท่านอาจจะเรียกว่า Deep State หรือ “รัฐพันลึกต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งวันนี้มีฝ่ายประชาธิปไตยมาทั้งนั้น
พอดีเราไม่เชิญฝ่ายปรปักษ์ แต่ว่าจริงๆ เราก็ให้พื้นที่ในการแสดงความเห็นเข้ามาได้ทาง Facebook เปิดพื้นที่เต็มที่
ทีนี้การต่อสู้คงจะยืดเยื้อ คงไม่ใช่ 5 ปี แต่จะยาวนานมากกว่านั้น เมื่อยาวนาน เราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีความเห็นที่แตกต่าง แล้วก็ต่อสู้กันด้วยเหตุด้วยผล ต่อสู้บนวิถีทางรัฐสภา ตั้งพรรคการเมืองมาสู้กัน นี่สิประเทศก็จะไปได้ ไม่มีรัฐประหาร ไม่มีความรุนแรงอีก
ประเด็นที่ 5 ต้องเอาชนะความไม่ไว้วางใจต่อกันด้วยการสานเสวนา เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ อันนี้เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลมากที่สุดเพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถทำให้เกิดความไว้วางใจ อย่างเนลสัน เมนดาลา เราดูอย่างหลายประเทศ เขาแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงด้วยการเปิดพื้นที่และมีความไว้วางใจต่อคนมีอำนาจ ว่าจะแก้ปัญหาให้ได้
ผมก็ฝากประเด็นไว้เท่านี้แล้วก็คงจะไม่ใช้เวลามากกว่านี้ เนื่องจากว่าเรามีวิทยากรซึ่งมีประสบการณ์สูง มีองค์ความรู้ทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวมาเยอะก็จะได้มาขยายความต่อ ขอขอบคุณและขออนุญาตที่จะเปิดงานการเสวนาในวันนี้
ที่มา:
- ปาฐกถานำ โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ห้องประชุมพูนศุข ดำเนินรายการโดย ดร.วิโรจน์ อาลี
หมายเหตุ: เรียบเรียงและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ
- PRIDI Talks
- PRIDI Talks 11
- อนุสรณ์ ธรรมใจ
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ปรีดี พนมยงค์
- การอภิวัฒน์สยาม
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- 24 มิถุนายน 2475
- คณะราษฎร
- Covid-19
- โควิด 19
- สุดา พนมยงค์
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- แล ดิลกวิทยรัตน์
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร
- โภคิน พลกุล
- สุชาติ ธาดาธํารงเวช
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
- ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
- ภราดรภาพนิยม
- สังคมนิยมประชาธิปไตย
- รัฐสวัสดิการ
- Universal Basic Income
- วิโรจน์ อาลี
- วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
- ห้องประชุมพูนศุข