ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เมื่อ FORCE 136 มาอยู่ในธรรมศาสตร์

18
สิงหาคม
2564

เรือจ้างลำหนึ่งเบนหัวเรือออกจากสะพานท่าน้ำของบ้านไม้สองชั้นหลังหนึ่งริมฝั่งด้านธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้างวังหน้า คนแจวหันหัวเรือแจวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวเฉียงล่องมาทางใต้ ในท่ามกลางความืดของกลางคืนที่ครอบคลุมท้องน้ำและเลยพ้นสองฟากฝั่งออกไป พระนครและธนบุรีแอบแฝงอยู่ในทะเลของความมืดที่ทำให้ชาวเมืองรู้สึกมีความปลอดภัยมากกว่าที่จะมีความสว่าง คนที่อยู่ในเรือมองไม่เห็นอะไรห่างออกไปรอบๆ ละอองของความมืดกางกั้นไว้หมด คงมีแต่คนแจวเท่านั้นที่รู้ว่า จุดหมายที่จะไปส่งคนโดยสารเหล่านี้อยู่ตรงไหน

ลมที่อุ้มเกษรของไอน้ำโชยเฉื่อย ระลอกเล็กๆ ที่เกิดจากแรงลมปะทะกราบเรือแผ่วๆ ซ้ำซาก นานหลายนาทีที่คนแจวพาเคลื่อนที่ไปในความมืดโดยไม่สวนหรือเฉียดกับเรือลำอื่นใด ในกาลสมัยและยามเช่นนี้ ผู้คนรีบรุดกลับบ้านกันแต่ก่อนพลบ พอค่ำท้องน้ำเจ้าพระยาก็เกือบร้าง

ในที่สุดคนแจวก็พาเรือของเขาแล่นเอื่อยๆ เลียบตลิ่งของฝั่งพระนคร ริมตลิ่งนั้นมีเขื่อนคอนกรีดกั้นสูงระดับดินบนฝั่ง มองเห็นได้ตะคุ่มๆ แล้วเขาก็วาดหัวเรือเข้าไปเกยตรงช่องเว้าของเขื่อนที่ทำขั้นบันไดไว้สำหรับขึ้นลง ใกล้ๆ นั้นมีต้นสนสูงชะลูดยืนเล่นลมอยู่

มีใครคนหนึ่ง หรือ สองคนให้สัญญาณด้วยไฟฉายขนาดเล็กแล้วยังเอากระดาษดำปิดขอบกระจกให้เหลือช่องสำหรับแสงไฟลอดออกมาพอเห็นได้ในระยะสองสามเมตร คนโดยสารก้าวขึ้นจากหัวเรือพร้อมกับหิ้วเข้าของที่ติดตัวมา มีเสียงพึมพำทักทายกันเบาๆ ระหว่างคนบนฝั่งที่รอรับอยู่ กับคนที่ข้ามฟากมากับเรือ แล้วคนเหล่านั้นก็เดินหายไปในความมืด

เมื่อคนโดยสารขึ้นหมดแล้ว เรือจ้างลำนั้นก็หันหัวออก ทั้งคนและเรือหายวับไปในมวลความมืดของท้องน้ำ

เรือจ้างลำนั้นเป็นเรือจ้างธรรมดาที่เห็นแจวพาคนข้ามฟากระหว่างฝั่งพระนครกับธนบุรีหรือเลยลึกเข้าไปในคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกน้อย แต่กิจกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การรับส่งคนโดยสารตามปกติ คนแจวก็ไม่ใช่มืออาชีพ แต่เป็นพนักงานชั้นผู้น้อยคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และคนโดยสารก็ไม่ใช่บุคคลธรรมดาๆ อีกเหมือนกัน

คืนวันนั้นเป็นวันใดวันหนึ่งในระยะสามเดือนที่สองของปี พ.ศ. 2488 ราวสามสี่เดือน ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาจะยุติลงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ด้วยการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของกองทัพญี่ปุ่น

“เมื่อข้างหน้าไม่มีกระจกสำหรับมองข้างหลังเหมือนอยู่ในรถยนต์ ผมขออนุญาตเหลียวหน้ามองข้ามไหล่ไปข้างหลังตามเส้นทางเดินของชีวิตที่ผ่านมาแต่หนหลัง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือจะพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ผมได้เคยอาศัยร่มไม้ชายคาศึกษาเล่าเรียน และอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้อยู่ใกล้ชิด ไปกินไปนอนอยู่นานวัน

แม้ว่าความหลังเหล่านั้นบางส่วนจะมองไม่สู้แจ่มชัดนักในรายละเอียด เพราะต้องผ่านม่านหมอกของกาลเวลาอันยาวนานเข้ามาพรางความทรงจำ จนลางเลือนไปบ้างก็ตาม”

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมมีโอกาสสำรวจภูมิประเทศรอบๆ ตัว มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยจากสมัยที่ผมเรียนอยู่ ตัวตึกที่ผมมาอยู่นั้นอยู่มาทางด้านท่าช้างวังหน้า ห่างออกมาจากตัวตึกโดม สมัยผมเรียนยังเป็นที่ว่างอยู่ ตอนนี้เป็นตึกสองชั้น ด้านหน้าหันหาแม่น้ำ มีระเบียงยาวทั้งสองชั้น มีขอบกันเป็นคอนกรีตสูงแต่ระดับเอว ภายในตัวตึกเป็นห้องโถงโล่งเพื่อเป็นที่นักศึกษาฟังคำบรรยาย แต่ขณะนั้นไม่มีโต๊ะเก้าอี้เลย

ส่วนด้านปลายของตึกกั้นเป็นห้องหนึ่งต่างหาก คงจะสำหรับเป็นที่ห้องทํางานหรือที่พักของอาจารย์ก่อนหรือหลังการบรรยาย ตลอดความยาวของห้องโถงมีบานประตูหลายบานเปิดออกไปสู่ระเบียง ด้านหลังเป็นกำแพงตลอด มีหน้าต่างแต่มองไม่เห็นอะไร นอกจากกำแพงของวังหน้าซึ่งเป็นกรมศิลปากร ตึกนี้สร้างขึ้นใหม่ แต่ยังไม่ทันได้ใช้เพราะเกิดสงครามมหาอาเซียบูรพาขึ้นเสียก่อน

ตึกที่ผมกล่าวถึงนี้ บัดนี้ไม่มีแล้ว กลายเป็นตัวตึกที่ตั้งของคณะรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน

ด้านหน้าตึก มีถนนที่ตัดตรงมาจากทางเข้าออกด้านท่าพระจันทร์ไปออกประตูทางด้านท่าช้างวังหน้า ขณะนั้นมีกำแพงและมีประตูใหญ่ทำด้วยไม้ซึ่งเปิดเฉพาะเวลารถเข้าออก มีประตูเล็กเจาะอยู่ในประตูใหญ่ที่เปิดใช้สำหรับคนเดินเข้าออก ประตูด้านนี้โดยปกติปิดอยู่ตลอดเวลา

เลยถนนออกไป ยังไม่มีตัวอาคารเหมือนปัจจุบัน แต่เป็นสนามหญ้า มีตึกเก่าๆ เตี้ยๆ ขนาดย่อมอยู่หลังหนึ่ง เลยจากนั้นไปก็ถึงตลิ่งริมแม่น้ำ

สมัยที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ หน้าตึกโดมเป็นสนามไปจนถึงเขื่อนริมแม่น้ำ แต่ในระยะเวลาที่ผมกล่าวถึง มีโรงเรือนชั่วคราวปลูกอยู่หลายหลังในบริเวณสนาม เพราะเป็นที่พักอาศัยในการกักกันชนชาติศัตรูสมัยสงครามญี่ปุ่น เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามเข้ากับญี่ปุ่นต่อพันธมิตรแล้ว บุคคลสัญชาติประเทศพันธมิตรถูกส่งตัวมากักกันอยู่ที่นี่ แต่เมื่อผมเข้าไปอยู่ในตึกด้านติดกับท่าช้างวังหน้านั้นเป็นเวลาภายหลังที่ได้มีการตกลงแลกเปลี่ยนบุคคลที่ถูกกักกันของแต่ละฝ่ายที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศของตนได้รับการส่งตัวกลับไปแล้ว ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเดินทางกลับก็ถูกโยกย้ายไปกักกันในที่อื่น โรงเรือนชั่วคราวเหล่านี้จึงว่างและถูกรื้อไปบางส่วน

จากบริเวณหน้าตึกโดมมาถึงเขตที่ผมอยู่ มีกำแพงไม้กั้นซึ่งทำขึ้นสมัยการกักกันนั้น คล้ายกับจะแบ่งเป็นเขตชั้นในหรืออะไรทำนองนั้น มีเรือนไม้ใต้ถุนสูงอยู่หลังหนึ่ง ผู้ที่เคยอยู่โรงเรือนนี้คงจะมีฐานะพิเศษกว่าคนอื่นหน่อย แต่ตอนนั้นก็ไม่มีคนอยู่แล้ว

บริเวณที่แยกจากตึกโดมโดยกำแพงไม้กั้นกับกำแพงที่จะพาออกไปทางท่าช้างวังหน้า ในตัวตึกที่สร้างใหม่เป็นที่อยู่อาศัยของคนที่อพยพมาจากบ้านริมฝั่งแม่น้ำด้านธนบุรีในตอนกลางคืนที่ผมกล่าวข้างต้น นับเป็นเขตที่ไม่มีคนพลุกพล่านเหมาะสมแก่การทำงานพิเศษที่ต้องปกปิดเป็นความลับสุดยอด

ผู้ที่อยู่ใหม่ประกอบด้วย ‘พลจัตวา วี. เอช.เจคส์’ และ ‘พันตรีทอม ฮอบบ์’ นายทหารอังกฤษจากหน่วย Force 136 ซึ่งอยู่ในห้องปลายตัวตึกชั้นสองด้านท่าช้างวังหน้า ถัดออกมาในห้องโถงเป็นที่พักและที่ทำงานของเสรีไทยที่เป็นนายทหารอังกฤษ ถัดมาอีกทางด้านปลายอีกด้านหนึ่งเป็นที่อยู่ของเด็กไทยสี่ห้าคนที่ทำหน้าที่ดูแลและพิทักษ์นายทหารอังกฤษและเสรีไทยในการอยู่กินและทํางานของเขา

ผมเป็นคนหนึ่งในจำนวนบุคคลประเภทที่กล่าวถึงทีหลังนี้

พวกเราซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 คน คือ คันถชิต อินทชาติ, สละ ศิวรักษ์, สวัสดิ์ เอกอุ่น และผม คุ้นกับงานนี้มาแล้วจากที่บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะได้เริ่มงานกันตั้งแต่รับนายทหารอังกฤษทั้งสองคนที่เล็ดลอดเข้ามาประจำทำงานร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยในกรุงเทพฯ

งานของเราเกี่ยวกับดูแลการกินอยู่ และการรักษาความปลอดภัยให้แก่นายทหารอังกฤษและเสรีไทยสายอังกฤษที่มาอยู่เป็นประจำคนหนึ่งหรือสองคน พวกผมทั้ง 4 คนต่างเป็นเด็กธรรมศาสตร์และทำงานอยู่แห่งเดียวกัน จึงทำงานร่วมกันอย่างดี

หลังจากที่อยู่บ้านริมแม่น้ำมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผมจำไม่ได้ว่านานกี่มากน้อย ทางผู้ใหญ่ก็สั่งให้ย้าย ทั้งนี้เพราะว่า การทำงานลับย่อมไม่ควรจะอยู่ประจำที่แห่งใดแห่งหนึ่งนานเกินไป การย้ายมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด ผู้คนไม่พลุกพล่านแล้ว ผู้ใหญ่ยังคิดเตรียมการไว้เมื่อมีปัญหาถ้าเกิดข่าวรั่วไหลไปถึงหูญี่ปุ่น หรือฝ่ายไหนด้วยกันก็ดี อาจกลบเกลื่อนได้ว่า นายทหารฝรั่งสองคนนั้นเป็นบุคคลที่ถูกกักกันที่ตกค้างอยู่ เนื่องจากที่ธรรมศาสตร์เคยเป็นที่กักกันคนชาติศัตรูมาแล้ว แต่เราก็หวังกันว่าทั้งสองอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น

งานที่เสรีไทยสายอังกฤษทำ คือ การติดต่อทางวิทยุระหว่างหน่วย 136 ในกรุงเทพฯ กับสำนักงานใหญ่ของเขาในอินเดีย ด้วยการเข้ารหัส ถอดรหัส พร้อมทั้งการรับและการส่งข่าวสารเหล่านั้นด้วยรหัสทางวิทยุ

นายทหารอังกฤษที่เป็นคนไทยเหล่านี้มาอยู่ประจำตั้งแต่นายทหารอังกฤษเข้ามาอยู่ที่บ้านฝั่งธน มาประจำอยู่คนหนึ่งหรือสองคนตลอดเวลา แต่ตัวบุคคลสับเปลี่ยนกันบ่อย คนหนึ่งย้ายออกไปคนใหม่เข้ามาแทน นอกจากนั้นที่ธรรมศาสตร์ยังเป็นที่พักผ่อนของนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ เมื่อโยกย้ายเขตทำงานในท้องถิ่นอื่นๆ ของเมืองไทย จะมาพักค้างคืนหนึ่ง หรือสองคืน ที่ค่ายในธรรมศาสตร์แล้วเดินทางต่อไป บางคนเข้ามาเวลากลางวัน ก็แต่งตัวแบบพลเรือนธรรมดา ส่วนที่มาตอนกลางคืนบางคนแต่งเครื่องแบบทหารอังกฤษ

นายทหารเสรีไทยเหล่านี้มีชื่อรหัสแต่ก็เป็นภาษาไทย ซึ่งพวกเราไม่มีหน้าที่ไปถามว่า ชื่อจริงเขาชื่ออะไร มาทราบเอาก็ภายหลังเมื่อสงครามยุติลงแล้ว

บางครั้งเมื่อมีคนมาพักอยู่หลายคน ยามเย็นเราก็จัดวงตะกร้อเพื่อยืดเส้นยืดสายตรงที่ว่างระหว่างตัวตึกกับเรือนไม้ใต้ถุนสูง ในจำนวนเสรีไทยสายอังกฤษที่มาพักอยู่ชั่วคราวและได้ลงเล่นตะกร้อกับพวกเราและเสรีไทยสายอังกฤษบางคนที่พวกเราจำท่านได้ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อน คือ ‘พันตรีอรุณ’ หรือ ‘ท่านชิ้น’ ที่พวกเราต้องใช้สรรพนามตัวเองว่า “กระหม่อม”

งานหลักที่พวกผมทำก็เป็นการอยู่ยามในตอนกลางคืน ทางด้านแม่น้ำซึ่งเปิดโล่ง ด้านอื่นเป็นที่แน่ใจได้พอสมควรว่าจะไม่มีใครบุกเข้ามาจู่โจมได้ เพราะมีรั้วรอบขอบชิด แต่ทางด้านแม่น้ำเป็นจุดอ่อนจึงวางยามในตอนกลางคืนไปจนสว่าง สถานที่อยู่ยามก็เป็นตึกเก่าๆ ชั้นเดียวที่อยู่ใกล้เขื่อนกับการเฝ้าประตูด้านท่าช้างวังหน้า

เมื่อมีบุคคลสำคัญของขบวนการเสรีไทยในไทยมาติดต่อเจรจากับนายทหารอังกฤษเราเป็นผู้เปิดประตูพาขึ้นไป พบแล้วลงมาอยู่ชั้นล่างพวกเราคนหนึ่งคอยเฝ้าที่ประตูซึ่งก็มีฝ่ายรักษาความปลอดภัยของผู้ใหญ่ที่มาพบเฝ้าอยู่ด้วย อีกส่วนหนึ่งเข้ามาอยู่ข้างใน แต่คอยอยู่ชั้นล่าง พวกเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร นอกจากจะเคยรู้จักกันมาก่อน เพราะการทำงานเช่นนี้ไม่ใช่ธุระที่จะต้องไปถาม และพวกที่มาเขาก็ไม่ถามเหมือนกันว่าเราเป็นใคร ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน งานใครก็งานใคร

การพบปะเหล่านี้ส่วนมากกระทำในเวลากลางคืน บางที่เป็นคณะใหญ่ท่านผู้ใหญ่ที่มาส่วนมากพวกเรารู้จักท่านดีอยู่แล้วบางครั้งมีมาพบในตอนกลางวันซึ่งมักจะมาเพียงคนเดียว

ถ้าผมจำไม่ผิด ดูเหมือนจะมีครั้งหนึ่งหรือสองครั้งที่มีนายทหารอเมริกันจากหน่วยโอเอสเอสได้มาพบด้วยโดยมีเสรีไทยระดับผู้ใหญ่เป็นคนนำมา

“พวกเรารู้สึกว่า เราเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ ในสายงานที่กว้างขวางๆ จากการเก็บถ้อยคำที่ตกหล่นมาปะติดปะต่อ เช่น เสรีไทยสายอังกฤษบอกว่า เขามาจากที่ไหนและจะไปที่ไหนเมื่อมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น และได้เห็นข้าวของต่างๆ ที่มีคนขนมาให้ ส่วนมากเป็นอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ในการปฏิบัติงาน มีตั้งแต่กาแฟ บุหรี่ อาหารกระป๋อง เนยแข็ง ยา วิตามิน ส่วนของอย่างอื่นอยู่ในห่อหรือในกล่องที่นายทหารอังกฤษเก็บเอาเข้าไปในห้องไม่ให้ใครเห็น”

สิ่งที่พวกเราบางคน รวมทั้งผมด้วยอยากได้มาก คือ บุหรี่อังกฤษ เพราะตอนนั้นบุหรี่ขาดแคลนมากแต่เราก็ไม่ได้สูบ เพราะเขากลัวว่าเราจะเอาก้นไปทิ้งเรี่ยราดทำให้เสียความลับได้

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้อยู่ในธรรมศาสตร์อย่างโดดเดี่ยวแต่ลำพัง ได้มีการวางเส้นสายเกี่ยวกับความปลอดภัยรอบนอกด้วย เช่น วันหนึ่ง เราได้รับแจ้งว่า มีนายทหารญี่ปุ่นมาขอพบท่านเลขาธิการมหาวิทยาลัย คือ ‘อาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์’ โดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าจึงบอกให้เราคอยระวังและเตรียมพร้อมไว้ เพราะอาจจะเป็นการเข้ามาดูเนื่องจากมีความสงสัยก็ได้ แต่เหตุการณ์ก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไร

เย็นวันหนึ่งเราได้รับแจ้งว่า มีรถทหารญี่ปุ่นแล่นเอื่อยๆ ไปรอบๆ มหาวิทยาลัยจากท่าพระจันทร์ไปทางท่าช้าง การติดต่อทางวิทยุหยุดหมดเพราะเกรงว่ารถคันนั้นอาจแล่นตรวจกระแสคลื่นวิทยุก็ได้ ในสมัยนั้นเครื่องมือทางอิเลคทรอนิกส์ยังไม่ก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ การตรวจจับคลื่นวิทยุอาจทำได้ แต่ไม่ง่ายนัก เพื่อความไม่ประมาทจึงหยุดการรับส่งและพวกเราแอบไปคอยเฝ้าที่ประตูด้านท่าช้างวังหน้ากับที่ริมแม่น้ำ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อีกวันหนึ่ง เป็นเวลาบ่าย น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงจนเห็นเลนจากเขื่อนทอดยาวไปสองสามวา ปรากฏว่าตรงด้านหน้าตึกเก่ามีเรือท้องแบนสร้างด้วยไม้ ที่ญี่ปุ่นใช้ลำเลียงสัมภาระมาเกยติดชายเลนอยู่ ในเรือนั้นว่างเปล่า ไม่มีคน แต่จะมีของอะไรอยู่ในท้องเรือหรือไม่ มองไม่เห็น เราส่งข่าวนี้ไปให้ท่านเลขาธิการมหาวิทยาลัยทราบ เกรงว่าจะเป็นลูกไม้ของญี่ปุ่นปล่อยให้เรือมาเกยตื้นแล้วจะส่งทหารตามมาเอาเรือแล้วก็ถือโอกาสขึ้นมาดูข้างบนรวมทั้งตึกที่พวกเราอยู่

ท่านเลขาธิการซึ่งเป็นผู้ดูแลเราอยู่ห่างๆ ซึ่งเป็นงานหนึ่งในหลายๆ อย่างที่ท่านทำ บอกให้พวกเราเฉยไว้ ท่านส่งพนักงานของมหาวิทยาลัยไปใสเรือลำนั้นออกจากเลนที่เกยอยู่ให้มันลอยเท้งเต้งต่อไปตามสายน้ำ

เหตุการณ์ก็ผ่านไปโดยไม่มีพัฒนาการอย่างอื่นติดตามมา หลายวันผ่านไปเราสรุปเอาว่า มันคงเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า จะเป็นการตั้งใจลองเชิงของญี่ปุ่น

แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เป็นเวลาราวเที่ยงวัน อากาศแจ่มใส มีเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น ผมเดินออกมาที่ระเบียงตรงมุมปลายตึกด้านต่อจากตึกโดม จากมุมนี้มองเห็นด้านหลังของตึกโดมและส่วนหนึ่งของสนามฟุตบอลเสียงเครื่องบินครางกระหึ่ม แล้วก็มีเครื่องบินฝูงหนึ่งมาปรากฏตัวเหนือบริเวณสนามหลวงในระยะค่อนข้างต่ำ เครื่องบินฝูงนี้ได้ทิ้งร่มลงมาหลายร่ม แต่ไม่มีพลร่ม เห็นแต่เป็นหีบห่อหรือกล่องใหญ่ลอยโตงเตงลงมา

ขณะที่ผมกำลังมองเพลินอยู่นั้น เสียงปืนกลอากาศแผดสนั่นหวั่นไหว มันคงปลิวมาจากเครื่องบินลำหนึ่งหรือหลายลำในฝูงนั้น ผมมองเห็นฝุ่นกระจุยที่กำแพงตึกด้านหลังของตึกโดม แล้วมีลูกหนึ่งแล่นมาชนกำแพงตึกที่ผมยืนอยู่ ห่างไปจากตัวผมทางซ้ายมือแต่เฉียงลงไปทางใต้ราวสักสองวา

ผมจึงได้สติว่านี่มันลูกปืนจริงๆ จึงหลบวูบเข้ามาข้างใน แล้วเอาเรื่องที่เห็นไปเล่าให้เสรีไทยที่ทำหน้าที่รับส่งวิทยุฟัง ผมรู้สึกว่าเขาเฉยๆ ไม่เห็นตื่นเต้นอะไร เมื่อนายทหารอังกฤษสองคนนั้นทราบเขาก็เฉย ผมมาทราบภายหลังว่า การมาทิ้งร่มครั้งนี้ เป็นงานของกองทัพอากาศอังกฤษที่ได้นัดหมายกันไว้ล่วงหน้ากับขบวนการเสรีไทยของเราแล้ว ของที่เอามาทิ้งลงกับร่มที่สนามหลวงเป็นพวกเวชภัณฑ์ ซึ่งฝ่ายเราทางพื้นดินเตรียมตัวไว้พร้อม เข้าไปเก็บในทันทีทันใดที่ตกลงมาถึงพื้นดินและขนขึ้นรถขับหายไปในเวลาไม่กี่นาที

อย่างไรก็ดี พลจัตวาเจคส์ ได้ลงมาแกะเอาลูกปืนที่ฝังอยู่ในกำแพงตึกชั้นล่างด้านในที่มีรอยร้าวให้เห็นอยู่ เพราะความแรงของการปะทะและความแข็งและหนาของกำแพง ลูกปืนลูกนั้นแบนเหมือนดินสอพอง

ถ้าจะยิงขู่ ก็น่าจะยิงขึ้นฟ้า ผมนึกอยู่ในใจทำไมต้องยิงลงมาต่ำด้วยธรรมศาสตร์เลยโดนลูกหลงสามสี่นัด

ผมจำไม่ได้ว่าได้มาอยู่ในธรรมศาสตร์เป็นเวลานานเท่าใด แต่ก็อย่างที่ผมเรียนไว้แต่แรกว่า การปฏิบัติงานลับย่อมจะอยู่ประจำที่แห่งเดียวนานนักไม่ได้ เมื่อทางฝ่ายผู้ใหญ่เห็นสมควรว่า ค่ายนี้ควรจะย้ายออกไปจากธรรมศาสตร์ได้แล้ว พวกเราก็อพยพกันออกไป

จากธรรมศาสตร์ เราย้ายไปอยู่ในบริเวณโรงเรียนวชิราวุธ

สงครามยังไม่ยุติ

แต่เรื่องต่อไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

 

ที่มา:  หนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2539 หน้า 43-50