ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

19 กันยายน 2549: รัฐประหารที่ยากจะคิดว่าจะเกิดขึ้น

19
กันยายน
2564

ภาพ: รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
Photo by:  PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

19 กันยายน 2564 ครบรอบ 15 ปีการรัฐประหารครั้งที่ 12 ของไทย ย้อนกลับไปยังเวลานั้นแทบไม่มีใครคิดว่าเครื่องมือทางการเมืองโบราณเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย แม้ประเทศไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการรัฐประหารถึง 11 ครั้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเมือง ก็ล่วงผ่านมานานพอ จนหลายคนเผลอลืมว่าเหตุการณ์นี้จะกลับมา 

 

เดินตามแบบฉบับการยึดอำนาจ

กล่าวได้ว่าการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 แทบจะเดินตามแบบฉบับการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นั่นคือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจ แล้วสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาปกครอง 

 


ภาพ: เหตุการณ์วันรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534
ที่มา: ข่าวสด

 

ในส่วนการรัฐประหารก่อนหน้า 19 กันยายน 2549 พบว่าต้องย้อนไปถึงปี 2534 หรือกว่า 15 ปี เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ‘พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ’ ก่อนจะจุดชนวนความรุนแรงทางการเมืองตามมาใน “เหตุการณ์พฤษภาคม 2535” เมื่อประชาชนหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจให้ประชาชนและให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ก่อนที่เหตุการณ์จะจบลงแบบโศกนาฏกรรมด้วยการที่กองทัพตัดสินใจปราบปรามประชาชน

ความรุนแรงนับจากนั้น นำมาซึ่งการเสื่อมเกียรติยศของกองทัพเป็นอย่างมาก มากเสียจนกระทั่งผู้บัญชาการกองทัพในเวลาต่อมา ต้องยืนยันอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “จะนำทหารกลับสู่กรมกอง” หนึ่งในผู้นำเหล่าทัพที่ประกาศนั้นคือ ‘พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์’ อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก

จนกระทั่งการเมืองไทยเดินมาจนถึงปลายทศวรรษ 2540 การออกมาขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในช่วงปลายปี 2548 จนถึง 2549 โดยโจมตีว่ารัฐบาลมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นและหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ก็เริ่มจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่หนักหน่วงมากขึ้น จนกระทั่ง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผู้นำรัฐบาลที่นำพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างล้นหลามในปี 2544 และ 2548 ต้องประกาศยุบสภาในที่สุด และมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ท่ามกลางการบอยคอต ปฏิเสธการลงเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์

กระนั้นก็ยังไม่สามารถยุติเชื้อไฟของการขับไล่รัฐบาล เมื่อมีการเรียกร้องนายกพระราชทานฯ หรือ การเสนอให้มีการใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนักวิชาการ ปัญญาชน จำนวนหนึ่งอธิบายว่า วิธีการนี้จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง

ถึงที่สุดเรื่องดังกล่าวก็ยุติลง หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ มีพระราชดำรัสในวันที่ 25 เมษายน 2549 โดยมีใจความสำคัญ 2 เรื่อง คือ ให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่หารือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่การพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้องของนักวิชาการ ปัญญาชนจำนวนหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่าเป็นสิ่งที่เกินเลยในทางพระราชอำนาจ จุดนี้เองทำให้จุดเดือดทางการเมืองคลายตัว

ถัดจากนี้ “ตุลาการภิวัตน์” กลับกลายเป็นปมปัญหาชนิดใหม่ ที่ก่อตัวตามมาในวิกฤติการเมืองสีเสื้อ (2549-2557) ซึ่งเรื้อรังไปอีกหลายปี แม้ว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 และกลับมาบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่รัฐบาลก็ยังต้องประสบกับความไร้เสถียรภาพ เนื่องจากยังมีการต่อต้านของกลุ่มการเมือง จนกระทั่งทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีถึงกับประกาศว่ามี “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ต้องการกำจัดเขาออกจากอำนาจ

และแล้วการยึดอำนาจก็มาถึง ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่นายกรัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจที่สหประชาชาติ ‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’ ประธานองคมนตรี พาผู้นำคณะรัฐประหาร นำโดย ‘พลเอก สนธิ บุญรัตนกลิน’ และสมาขิกคณะรัฐประหารคนอื่น เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระราชีนีสิริกิติ์ กลางดึกวันที่ 19 กันยายน 2549 สัญญาณการยึดอำนาจสำเร็จจึงเริ่มขึ้น  

 

รัฐประหารในบริบทที่โลกสากลไม่ยอมรับ 

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การรัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับในโลกสากลอีกต่อไป ยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว แทบจะไม่มีประเทศใช้วิธีการนี้เพื่อเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง เฉกเช่นที่เคยเกิดในเอเชียหรือลาตินอเมริกาในยุคสงครามเย็น

ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับกับการรัฐประหารในไทยครั้งนั้น พบว่ามีไม่กี่ประเทศที่เลือกใช้วิธีการนี้ ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในปากีสถานเอง ‘พลเอก เปอร์เวส มูชาราฟ’ ได้ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจเมื่อปี 1999 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของปากีสถานตกต่ำลงอย่างรุนแรง การรัฐประหารในปากีสถานสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ณ หมู่บ้านคาร์กิลในแคชเมียร์ จนเป็นช่องโหว่ในการทำรัฐประหารของ พลเอก เปอร์เวซ มูชาราฟ

มูชาราฟอ้างว่า “เพื่อให้อำนาจต่อสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation) เข้ามามีบทบาทและทำงานอย่างเต็มศักยภาพในการแก้ไขข้อพิพาทพื้นที่ความขัดแย้งแคชเมียร์ เพราะไม่อยากให้ต่างประเทศคิดว่าปากีสถานได้รับอำนาจมากกว่าประเทศอื่นๆ”

ก่อนที่ มูชาราฟ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปี 2007 เขาได้ประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญและบังคับใช้กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนที่ไม่พอใจคณะรัฐประหารอยู่แล้วได้ใช้โอกาสนี้ประท้วงอย่างหนัก ที่สุดพลเอก เปอร์เวซ มูชาราฟ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งภายในปี 2008 ก่อนจะหลบหนีออกนอกประเทศ 

กรณีนี้ไม่ต่างจากพม่าที่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลเอ็นแอลดี และสืบทอดอำนาจมายาวนานหลายทศวรรษ ก็จำต้องผ่อนคลายการเมืองในปี 2008 เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบโดยคณะรัฐประหารกลับเข้ามามีอำนาจ 

อีกหนึ่งการยึดอำนาจที่เกิดหลังกรณีของไทยเพียง 2 เดือน ได้เกิดขึ้นในฟิจิ ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ฟิจิต้องปกครองด้วยภายใต้อำนาจของกองทัพเมื่อ ‘นายพลแฟรงค์ ไบนิมารามา’ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนนำโดย ‘นายเลซามี เคเรส’ สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวางให้แก่ประชาชน

ทว่า นายพลไบนิมารามา อ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้ว่า ต้องการให้ประเทศนั้นกลับมามีความมั่นคง และนำความเป็นปกติกลับคืนสู่ชีวิตประชาชนทุกคน พร้อมทั้งกล่าวว่ารัฐบาลนายเลซามี เคเรส ทุจริตคอร์รัปชั่น จนนำมาสู่การประณามจากนานาชาติแต่จนถึงที่สุดให้หลังการยึดอำนาจราวๆ 8 ปี ฟิจิก็ยอมให้มีการจัดการเลือกตั้ง

จะเห็นได้ว่า แม้การรัฐประหารในช่วงเวลาดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ประเทศ แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมบางประการคือการสัญญาว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนในเวลาที่แน่นอน

การรัฐประหารของไทยก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเกิดขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจจากหลายฝ่าย เพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน ไทยเป็นผู้นำการประชุมครั้งสำคัญของโลกสากล และยังเล่นบทบาทนำในการจรรโลงสันติภาพทั้งในกรณี ติมอร์ เลสเต และการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2003 แต่คณะรัฐประหารไทยก็ได้สัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี 

 

ความแปลกใหม่ของการยึดอำนาจ

ดังที่เรียนไปว่า รัฐประหารนับตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา มักมีข้ออ้างในการยึดอำนาจวนเวียนอยู่ 3-4 ประการ อาทิ การทุจริตของรัฐบาล ความไร้เถียรภาพทางการเมือง และปัญหาว่าด้วยความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น

การรัฐประหารในปี 2549 ก็เดินตามรอยการยึดอำนาจรุ่นก่อน โดยผู้นำการรัฐประหารคือพลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน อธิบายเหตุผลในการยึดอำนาจในวันรุ่งขึ้นว่า เป็นเพราะการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทยรักไทย นำมาซึ่งความแตกแยกในหมู่ประชาชน การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต และ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในบางโอกาสหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นจริงเพียงใด นี่อาจจะไม่ชอบธรรมเพียงพอในการออกใบอนุญาตในการยึดอำนาจ

ก่อนการยึดอำนาจ กล่าวได้ว่าความนิยมในตัวผู้นำและรัฐบาลไทยรักไทยตกต่ำลงอย่างมาก จากกระแสการต่อต้านรัฐบาล และการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 จบลงและเป็นโมฆะในภายหลังก็สืบเนื่องจากการบอยคอตการเลือกตั้งของบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายค้าน การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็อ่อนแรงลง

เมื่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาถึง คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นฉบับที่ถือกันว่าก้าวหน้าที่สุดฉบับหนึ่ง นอกเหนือไปจากฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2475,  ฉบับ 2489 และ ฉบับ 2517

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้มีการยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการใช้กฎอัยการศึกปกครองประเทศนานกว่า 2 เดือนทั้งที่ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม

แต่หลังจากยึดอำนาจไปราว 1 เดือน จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ระหว่างนี้พบว่ามีการใช้ประกาศคณะปฏิรูป 36 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูป 20 ฉบับ โดยมุ่งเน้นไปยังการควบคุมการเคลื่อนไหวของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล การโยกย้ายกำลังพล และข้าราชการ ก่อนจะมีการแต่งตั้งพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นการรัฐประหารที่ยึดแบบฉบับดั้งเดิมของไทย แต่ก็นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่การรัฐประหารมีสถาบันองคมนตรีเข้ามาบทบาทอย่างสูง

กระนั้น 19 กันยายน 2549 ก็เพียงฉากแรกของการรัฐประหารครั้งหนึ่งในไทยอีกครั้ง เพราะหลังจากนั้นเพียง 8 ปี การทำรัฐประหารก็เกิดขึ้นอีกครั้ง และเป้าหมายในการควบคุมมิใช่นักการเมืองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่คือประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหมด ที่สำคัญคือ เป็นการครองอำนาจของคณะรัฐประหารที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา 

 

หมายเหตุ:

  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ